“ถูกคุมขังเพราะความเชื่อ”
“ถูกคุมขังเพราะความเชื่อ”
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในโปแลนด์
จวบจนถึงทุกวันนี้ ข้อความอาร์ไบท์ มัคท์ ไฟร (งานทำให้เป็นอิสระ) ยังติดอยู่บนประตูเหล็กหน้าทางเข้าค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ซึ่งอยู่ทางใต้ของโปแลนด์ ห่างจากพรมแดนประเทศเช็กประมาณ 60 กิโลเมตร. * แต่ข้อความนี้ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ที่เดินเข้าไปในประตูเหล็กนั้นระหว่างปี 1940 ถึงปี 1945. ในช่วงนั้น มีคนเสียชีวิตในค่ายเอาชวิทซ์มากกว่าหนึ่งล้านคนเนื่องจากถูกพวกนาซีฆ่า. อย่างไรก็ตาม มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งสามารถได้รับอิสระเมื่อใดก็ได้.
คนเหล่านี้ต้องทำตามเงื่อนไขอะไรเพื่อจะถูกปล่อยเป็นอิสระ? พยานพระยะโฮวาไม่ว่าคนใดในค่ายถ้าลงชื่อในเอกสารซึ่งประกาศว่าเขาไม่ได้เป็นพยานฯ ที่ยังปฏิบัติงานอยู่อีกต่อไปก็จะสามารถถูกปล่อยตัวได้. พยานฯ ส่วนใหญ่ตัดสินใจอย่างไร? นักประวัติศาสตร์อิชท์วาน เดอัค กล่าวว่า พวกพยานฯ “ก็คล้ายกับคริสเตียนสมัยแรกซึ่งยอมถูกสิงโตกินมากกว่าจะยอมถวายบูชาแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ บนแท่นของจักรพรรดิโรมัน.” จุดยืนเช่นนี้สมควรได้รับการระลึกถึง และก็เป็นเช่นนั้นจริง.
เป็นเวลาสองเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2004 ห้องจัดแสดงหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเอาชวิทซ์-บีร์เคเนามีนิทรรศการซึ่งอุทิศให้พยานฯ โดยเฉพาะ. นิทรรศการนี้มีอรรถบทที่เหมาะสมว่า “ถูกคุมขังเพราะความเชื่อ—พยานพระยะโฮวาและระบอบนาซี.” มีกระดานนิทรรศการสำหรับแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ 27 กระดานซึ่งแสดงถึงความตั้งใจอันมั่นคงของเหล่าพยานฯ ที่จะรักษาความเป็นกลางแบบคริสเตียนระหว่างยุคนาซี.
ผู้มาชมนิทรรศการหลายคนรู้สึกประทับใจกับสำเนาจดหมายที่เดเลียนา ราเดมาเกอส์ ชาวเนเธอร์แลนด์ส่งออกมาจากที่คุมขัง. เธอเขียนไปถึงครอบครัวของเธอว่า “ฉันปฏิญาณว่าจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา. . . . ขอให้ทุกคนกล้าหาญและองอาจ. พระยะโฮวาทรงอยู่กับพวกเรา.” ในปี 1942 เดเลียนา ถูกส่งตัวมาที่ค่ายเอาชวิทซ์ และไม่ถึงสามสัปดาห์ต่อมาเธอก็เสียชีวิต.
มีพยานฯ ทั้งหมดประมาณ 400 คนในค่ายเอาชวิทซ์. ผู้รอดชีวิตสามคนมาร่วมงานเปิดนิทรรศการนี้ ซึ่งพวกเขาได้บอกเล่าประสบการณ์ของตนและตอบคำถามของผู้สื่อข่าว. พวกเขาแสดงความเข้มแข็งเหมือนอย่างที่เคยช่วยพวกเขาผ่านค่ายกักกันนี้มาได้.
ในหนังสือที่ชื่อ ถูกคุมขังเพราะความเชื่อ—พยานพระยะโฮวาในค่ายกักกันเอาชวิทซ์ (ภาษาโปแลนด์) ของเทเรซา วันทอร์ซีฮี นักวิจัยจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เธอเขียนว่า “จุดยืนของคนกลุ่มเล็ก ๆ นี้มีผลในทางบวกต่อนักโทษคนอื่น ๆ และทุก ๆ วันที่พวกเขาต้านทานด้วยความแน่วแน่ก็เสริมกำลังให้คนอื่นเชื่อมั่นว่าคนเราสามารถยืนหยัดกับหลักการที่ตนยึดมั่นไว้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพการณ์ใด ๆ ก็ตาม.”
ข้อเท็จจริงคือ การจำคุกและความตายไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ ซึ่งพระองค์เองก็ถูกจับและถูกประหารเพราะความเชื่อ. (ลูกา 22:54; 23:32, 33) ยาโกโบอัครสาวกของพระเยซูก็ถูกประหารด้วย. อัครสาวกเปโตรถูกจำคุก และอัครสาวกเปาโลถูกเฆี่ยนและถูกจำคุกหลายครั้ง.—กิจการ 12:2, 5; 16:22-25; 2 โกรินโธ 11:23.
ในทำนองเดียวกัน พยานพระยะโฮวาที่ยุโรปเป็นตัวอย่างอันดีเยี่ยมเรื่องความเชื่อในพระเจ้าระหว่างทศวรรษ 1930 และ 1940. น่าชมเชยที่ความเชื่อของคนเหล่านี้ได้รับการยอมรับที่เอาชวิทซ์.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ที่จริงค่ายเอาชวิทซ์มีส่วนหลัก ๆ สามส่วนคือ เอาชวิทซ์ 1 (ค่ายหลัก), เอาชวิทซ์ 2 (บีร์เคเนา), และเอาชวิทซ์ 3 (โมโนวิทซ์). ห้องแก๊สที่ฉาวโฉ่ส่วนใหญ่อยู่ที่บีร์เคเนา.
[ภาพหน้า 10]
ผู้รอดชีวิตสามคนจากค่ายเอาชวิทซ์กำลังถือป้ายชื่องานนิทรรศการ
[ภาพหน้า 11]
เดเลียนา ราเดมาเกอส์ กับจดหมายที่เธอเขียนขณะถูกคุมขัง
[ที่มาของภาพ]
Inset photos: Zdjęcie: Archiwum Państwowego Muzeum Auschwitz-Birkenau
[ที่มาของภาพหน้า 10]
Tower: Dzięki uprzejmości Państwowego Muzeum Auschwitz-Birkenau