สอนลูกสาวให้พร้อมก่อนมีประจำเดือนครั้งแรก
สอนลูกสาวให้พร้อมก่อนมีประจำเดือนครั้งแรก
วัยเริ่มเจริญพันธุ์เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย.สิ่งที่บ่งบอกว่าเด็กผู้หญิงเข้าสู่วัยเริ่มเจริญพันธุ์คือการมีประจำเดือนครั้งแรก.
การมีประจำเดือนครั้งแรกอาจเป็นช่วงที่เด็กผู้หญิงรู้สึกเครียดและมักเกิดความรู้สึกหลายอย่างปะปนกัน. เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเริ่มเจริญพันธุ์ การมีประจำเดือนครั้งแรกอาจสร้างความสับสนงุนงง. สาเหตุที่เด็กผู้หญิงหลายคนกลัวและกังวลเรื่องการมีรอบเดือนครั้งแรก ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะมีความรู้ความเข้าใจที่ผิด ๆ หรือที่พบบ่อยกว่านั้นก็คือ ขาดความรู้ความเข้าใจ.
เด็กผู้หญิงที่รู้สึกว่าตัวเองพร้อมแล้วมักไม่ค่อยตกใจหรือกังวลเมื่อมีประจำเดือนครั้งแรก. อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาวิจัยแสดงว่าเด็กผู้หญิงหลายคนไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับวันนั้น. ในการสำรวจครั้งหนึ่งซึ่งมีผู้เข้าร่วมจาก 23 ประเทศ พบว่าเกือบหนึ่งในสามของผู้ตอบคำถามบอกว่าไม่มีใครบอกเรื่องนั้นกับพวกเธอก่อนที่พวกเธอจะมีประจำเดือนครั้งแรก. เนื่องจากไม่เคยรู้เรื่องนั้นมาก่อน เด็กผู้หญิงจึงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อประจำเดือนมาครั้งแรก.
ประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดบางเรื่องเกี่ยวกับการมีประจำเดือนครั้งแรกที่มีการรายงานนั้นเป็นประสบการณ์ของผู้หญิงที่ไม่เคยได้รับความรู้เกี่ยวกับการมีประจำเดือนเลย. ในการศึกษาวิจัยครั้งหนึ่ง เมื่อพวกผู้หญิง
เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการมีประจำเดือนครั้งแรก พวกเธอใช้คำว่า “ตกใจ,” “เจ็บปวด,” “อับอาย,” และ “กลัว.”ตามปกติแล้ว คนเรามักตกใจกลัวเมื่อเห็นเลือด เนื่องจากการมีเลือดออกมักเกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดหรือการบาดเจ็บ. ฉะนั้น จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า ถ้าเด็กหญิงไม่ได้รับคำอธิบายที่เหมาะสมหรือขาดการเตรียมตัวแล้วละก็ ความเข้าใจทางวัฒนธรรมแบบเหมารวม, ความเชื่อตามตำนาน หรือแม้แต่เพียงความไม่รู้ ก็อาจทำให้เธอเข้าใจผิดว่าการมีประจำเดือนนั้นเกี่ยวข้องกับโรคหรืออาการบาดเจ็บ หรือมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย.
ลูกสาวของคุณจำเป็นต้องรู้ว่าการมีเลือดออกเนื่องจากประจำเดือนเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับเด็กผู้หญิงทุกคนที่มีสุขภาพดี. ในฐานะพ่อแม่ คุณสามารถช่วยลูกให้คลายความกังวลหรือหวาดกลัวได้. จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
พ่อแม่มีบทบาทสำคัญมาก
แหล่งที่ให้ข้อมูลเรื่องประจำเดือนนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นครูที่โรงเรียน, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข, เอกสารหรือหนังสือ, และแม้แต่ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา. พ่อแม่หลายคนพบว่าแหล่งเหล่านี้มักจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเรื่องการเกิดประจำเดือนตามกระบวนการทางชีววิทยา รวมทั้งการรักษาสุขอนามัยระหว่างมีประจำเดือน. กระนั้นก็ตาม เด็กหญิงอาจมีข้อสงสัยและจำเป็นต้องรู้บางเรื่องที่แหล่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้บอกไว้. ถึงแม้พวกเธอจะรู้ว่าควรทำอย่างไรเมื่อประจำเดือนมา แต่ก็มักไม่แน่ใจว่าจะรับมืออย่างไรกับอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีประจำเดือน.
คุณย่าคุณยาย, พี่สาว, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นแม่สามารถช่วยให้ความรู้เพิ่มเติมและให้การหนุนใจที่จำเป็นแก่เด็กหญิงได้. ส่วนใหญ่แล้วเด็กมักถือว่าแม่คือผู้ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับประจำเดือนได้ดีที่สุด.
แล้วผู้เป็นพ่อล่ะ? เด็กผู้หญิงหลายคนรู้สึกอายที่จะพูดกับพ่อเรื่องประจำเดือน. เด็กบางคนต้องการให้พ่อช่วยเหลือทางอ้อม คือเพียงแต่คอยช่วยเป็นกำลังใจและเข้าใจพวกเธอ ส่วนบางคนก็ไม่อยากให้พ่อเข้ามาเกี่ยวข้องเลย.
ในหลายประเทศ ครอบครัวที่มีบิดาฝ่ายเดียวได้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา. * ด้วยเหตุนี้ บิดาจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องเรียนรู้วิธีสอนลูกสาวเรื่องประจำเดือน. พวกเขาจำเป็นต้องรู้ข้อเท็จจริงพื้นฐานเกี่ยวกับประจำเดือนรวมถึงการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ทั้งทางกายและอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกสาว. ผู้เป็นบิดาอาจขอคำแนะนำที่ใช้ได้จริงและความช่วยเหลือในเรื่องนี้จากมารดาหรือพี่สาวน้องสาวของตน.
ควรเริ่มพูดเรื่องนี้เมื่อไร?
ในประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐ, เกาหลีใต้, และบางส่วนของยุโรปตะวันตก อายุเฉลี่ยของเด็กผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกคือประมาณ 12 หรือ 13 ปี แต่อาจมีบางคนที่ประจำเดือนมาตั้งแต่อายุเพียง 8 ปี หรือบางคนกว่าจะมีประจำเดือนก็อายุ 16 หรือ 17 ปีแล้ว. ในส่วนต่าง ๆ ของทวีปแอฟริกาและเอเชีย อายุเฉลี่ยของเด็กที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกดูเหมือนจะมากกว่า. ตัวอย่างเช่น ในไนจีเรียอายุเฉลี่ยของเด็กที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกคือ 15 ปี. ปัจจัยหลายอย่างอาจมีผลต่อเวลาที่เริ่มมีประจำเดือน เช่น พันธุกรรม, ฐานะทางเศรษฐกิจ, อาหาร, กิจกรรมที่ทำ, และระดับความสูงของถิ่นที่อยู่.
นับว่าดีที่สุดหากคุณพูดเรื่องนี้กับลูกสาวก่อน ที่ลูกจะเริ่มมีประจำเดือน. ดังนั้น คุณควรเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและประจำเดือนกับลูกสาวเสียแต่เนิ่น ๆ โดยอาจเริ่มเมื่อลูกอายุประมาณแปดขวบ. คุณอาจรู้สึกว่าเร็วเกินไป แต่เมื่อลูกสาวของคุณอายุได้แปดถึงสิบ
ขวบ ก็เป็นไปได้ว่าร่างกายภายในเริ่มเจริญเต็มที่แล้วและพร้อมที่จะตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน. คุณจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่มาพร้อมกับการเข้าสู่วัยเริ่มเจริญพันธุ์ เช่น เริ่มมีหน้าอกและมีขนบนร่างกายมากขึ้น. ก่อนเริ่มมีประจำเดือน เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว (ทั้งส่วนสูงและน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก.)จะพูดเรื่องนี้อย่างไร?
เด็กผู้หญิงที่ใกล้จะมีประจำเดือนเป็นครั้งแรกมักอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตนเอง. พวกเธออาจได้ยินเพื่อนผู้หญิงที่โรงเรียนคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้. พวกเธออาจมีคำถาม แต่หลายคนไม่รู้จะถามอย่างไร. เด็ก ๆ อาจรู้สึกอายที่จะพูดเรื่องนี้.
ผู้ที่เป็นพ่อแม่ก็อาจมีปัญหาอย่างเดียวกัน. แม้ว่าตามปกติแล้ว แม่จะเป็นคนแรกที่พูดกับลูกเรื่องประจำเดือน แต่ผู้เป็นแม่มักรู้สึกไม่มั่นใจหรือกระอักกระอ่วนที่จะพูดเรื่องนี้. บางทีคุณเองอาจรู้สึกอย่างเดียวกัน. ถ้าเช่นนั้นคุณจะเริ่มพูดเรื่องประจำเดือนกับลูกสาวได้อย่างไร?
เด็กหญิงที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นและกำลังจะมีประจำเดือนเป็นครั้งแรกจะเข้าใจได้ดีกว่าถ้าแม่อธิบายให้ฟังแบบง่าย ๆ และตรงไปตรงมา. นี่อาจรวมถึงการอธิบายว่าประจำเดือนจะมาบ่อยแค่ไหน, นานเท่าไร, หรือจะเสียเลือดมากน้อยเท่าไร. ดังนั้น เมื่อสอนลูกเกี่ยวกับการมีประจำเดือนในตอนแรก ๆ คงจะดีที่สุดถ้าจะเน้นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงและนำไปใช้ได้จริงเมื่อมีประจำเดือน. นอกจากนี้ คุณอาจต้องตอบคำถามต่าง ๆ เช่น เมื่อประจำเดือนมาหนูจะรู้สึกอย่างไร? หรือจะมีอะไรเกิดขึ้นกับหนูบ้าง?
หลังจากนั้น คุณอาจอธิบายเกี่ยวกับการมีประจำเดือนตามกระบวนการทางชีววิทยา. บ่อยครั้ง คุณสามารถหาหนังสือหรือเอกสารทางวิชาการได้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือจากห้องสมุดหรือร้านหนังสือ. แหล่งข้อมูลเหล่านั้นอาจช่วยอธิบายรายละเอียดได้. เด็กหญิงบางคนอาจชอบอ่านด้วยตนเองมากกว่า แต่บางคนอาจรู้สึกสบายใจถ้าได้อ่านเรื่องนั้นกับคุณ.
จงเลือกสถานที่ที่เงียบ ๆ เมื่อจะคุยกับลูก. จงเริ่มด้วยเรื่องง่าย ๆ เกี่ยวกับการเติบโตและการเจริญวัยเต็มที่. บางทีคุณอาจพูดว่า “อีกไม่นานลูกก็จะมีประสบการณ์แบบเดียวกับที่เด็กผู้หญิงทุกคนต้องมี. ลูกรู้ไหมว่าคืออะไร?” หรือมารดาอาจเริ่มโดยพูดถึงตนเอง เช่น “เมื่อแม่อายุเท่าลูก แม่เริ่มสงสัยว่าการมีประจำเดือนนั้นเป็นอย่างไร. แม่เคยคุยเรื่องนี้กับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน. เพื่อน ๆ ของลูกเริ่มคุยเรื่องนี้กันหรือยังจ้ะ?” จงพูดคุยกันเพื่อดูว่าลูกรู้อะไรเกี่ยวกับประจำเดือนแล้วบ้างและแก้ไขสิ่งที่อาจเป็นความเข้าใจ
ที่ผิด ๆ. จงเตรียมตัวไว้เผื่อว่าเมื่อพูดคุยกันครั้งแรกคุณอาจต้องเป็นฝ่ายพูดเองเป็นส่วนใหญ่หรืออาจจะทั้งหมด.ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยประสบความวิตกกังวลมาแล้วตอนที่มีประจำเดือนครั้งแรก คุณอาจนึกถึงประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับเรื่องนี้. ตอนนั้นคุณจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง? คุณอยากรู้อะไร? ข้อมูลใดที่เป็นประโยชน์? จงพยายามสอนให้ลูกมีทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับประจำเดือนทั้งในเรื่องประโยชน์และความไม่สะดวกสบายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีประจำเดือน. จงพร้อมที่จะตอบคำถามด้วยความเต็มใจ.
ความพยายามที่ต่อเนื่อง
คุณควรมองว่าการสอนลูกให้มีความรู้เกี่ยวกับประจำเดือนเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่พูดคุยกันเพียงครั้งเดียว. คุณไม่จำเป็นต้องอธิบายรายละเอียดทุกอย่างในครั้งเดียว. การได้รับข้อมูลมากเกินไปในคราวเดียวอาจทำให้เด็กรับไม่ไหว. เด็กเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้ทีละน้อย. นอกจากนั้น อาจจำเป็นต้องพูดคุยเรื่องเดิมซ้ำอีกในโอกาสอื่น ๆ ด้วย. เมื่อพวกเธอโตเป็นสาวแล้ว ก็จะเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ได้มากขึ้น.
ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือ ทัศนคติต่อการมีประจำเดือนจะเปลี่ยนไปตลอดช่วงที่พวกเธอเป็นวัยรุ่น. เมื่อลูกสาวของคุณมีประจำเดือนได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็มักจะมีเรื่องใหม่ ๆ ที่ทำให้เธอกังวลและสงสัย. ดังนั้น คุณต้องคอยให้คำแนะนำและตอบข้อสงสัยของลูกต่อ ๆ ไป. จงพูดคุยเฉพาะเรื่องที่จะเป็นประโยชน์อีกทั้งเหมาะกับวัยและความเข้าใจของลูกมากที่สุด.
เป็นฝ่ายริเริ่ม
แต่คุณจะทำอย่างไรถ้าลูกสาวดูเหมือนจะไม่สนใจเรื่องนี้เอาเสียเลย? อาจเป็นได้ว่าลูกไม่เต็มใจที่จะพูดเรื่องส่วนตัว. หรือลูกอาจเพียงต้องการเวลาปรับตัวสักระยะหนึ่งจนกว่าจะรู้ว่าควรถามอะไรบ้าง. ลูกอาจถึงกับพูดว่าเขารู้ทุกอย่างที่อยากรู้อยู่แล้ว.
จากการศึกษาวิจัยรายหนึ่งเกี่ยวกับเด็กชั้นประถมปีที่หกในสหรัฐอเมริกา เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองพร้อมแล้วสำหรับการมีประจำเดือนครั้งแรก. แต่เมื่อซักถามเพิ่มเติมก็เห็นได้ชัดว่าพวกเด็ก ๆ ยังไม่รู้อะไรมากนักและสะท้อนให้เห็นว่าหลายสิ่งที่เด็ก ๆ เชื่อว่าเป็นความจริงนั้นแท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิดซึ่งเกิดจากความเชื่อทางวัฒนธรรมแบบเหมารวมและความเชื่อตามตำนาน. ดังนั้น ถึงแม้ลูกสาวของคุณจะบอกว่าเธอพร้อมแล้วสำหรับการมีประจำเดือนครั้งแรก คุณก็ยังจำเป็นต้องพูดคุยเรื่องนั้นกับลูกอยู่.
ดูเหมือนว่า ส่วนใหญ่แล้วคุณที่เป็นพ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายเริ่มและอธิบายเรื่องนั้นเสียเอง. ที่จริงแล้วนี่เป็นหน้าที่รับผิดชอบของคุณในฐานะบิดามารดา. ไม่ว่าตอนนั้นลูกสาวของคุณจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม เธอจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากคุณ. คุณอาจรู้สึกคับข้องใจและกลัวว่าจะทำหน้าที่นี้ได้ไม่ดีพอ แต่อย่าเพิ่งท้อ. จงอดทน. ในที่สุดลูกสาวของคุณจะมองเห็นว่าความพยายามของคุณนั้นมีค่ามากเพียงไร.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 12 ในญี่ปุ่น จำนวนครอบครัวที่มีบิดาฝ่ายเดียวได้เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2003. ในสหรัฐ 1 ใน 6 ของครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาฝ่ายเดียวเป็นครอบครัวที่มีแต่บิดาฝ่ายเดียว.
[คำโปรยหน้า 11]
ดีที่สุดที่คุณจะพูดคุยกับลูกสาวก่อนที่ลูกจะเริ่มมีประจำเดือน
[กรอบหน้า 13]
จะพูดกับลูกสาวอย่างไรเรื่องประจำเดือน?
❖ ดูว่าลูกรู้อะไรแล้วบ้าง. แก้ไขความเข้าใจที่ผิด ๆ. ทำให้แน่ใจว่าทั้งคุณและลูกมีข้อมูลที่ถูกต้อง.
❖ แบ่งปันประสบการณ์ของคุณ. คิดถึงประสบการณ์ของคุณเองเมื่อเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก และเล่าให้ลูกฟัง โดยวิธีนี้คุณจะช่วยลูกได้ในด้านจิตใจและอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกต้องการมาก.
❖ ให้ข้อมูลที่ใช้ได้จริง. คำถามทั่ว ๆ ไปที่เด็กผู้หญิงมักถามก็คือ “หนูจะทำอย่างไรถ้าประจำเดือนมาตอนอยู่ที่โรงเรียน?” “หนูจะใช้ผ้าอนามัยแบบไหนดี?” “จะใช้อย่างไร?”
❖ อธิบายด้วยคำพูดง่าย ๆ. ปรับเรื่องให้เหมาะกับวัยและความเข้าใจของลูก.
❖ ช่วยลูกให้เรียนรู้ต่อ ๆ ไป. เริ่มพูดคุยเรื่องนี้กับลูกก่อนที่ลูกจะมีประจำเดือนครั้งแรก และก็ให้พูดคุยกันต่อไปเมื่อเห็นว่าจำเป็น แม้ลูกจะเริ่มมีประจำเดือนแล้วก็ตาม.
[ภาพหน้า 12, 13]
เข้าใจความรู้สึกของลูก. ลูกสาวของคุณอาจรู้สึกลังเลใจที่จะพูดเรื่องส่วนตัว