ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความเป็นมาของการถ่ายภาพ

ความเป็นมาของการถ่ายภาพ

ความ​เป็น​มา​ของ​การ​ถ่าย​ภาพ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​สวีเดน

มี​เรื่อง​เล่า​กัน​ว่า จัมบาติสตา เดลลา พอร์ตา (ปี 1535?-1615) นัก​ฟิสิกส์​ชาว​อิตาลี​ทำ​ให้​แขก​ของ​เขา​ตกใจ​กลัว. บน​ผนัง​ที่​อยู่​ตรง​หน้า​พวก​เขา มี​ภาพ​คน​ตัว​เล็ก ๆ เดิน​ไป​มา​ใน​ลักษณะ​กลับ​หัว. ผู้​ชม​ลน​ลาน​ออก​จาก​ห้อง​ด้วย​ความ​กลัว​สุด​ขีด. เดลลา พอร์ตา ถูก​จับ​ใน​ข้อ​หา​ใช้​เวทมนตร์!

นี่​เป็น​ผล​จาก​การ​พยายาม​ให้​ความ​บันเทิง​กับ​แขก​ของ​เขา​โดย​การ​แนะ​นำ​ให้​พวก​เขา​รู้​จัก​กล้อง​ออบสคูรา ซึ่ง​ใน​ภาษา​ลาติน​มี​ความ​หมาย​ว่า “ห้อง​มืด.” หลักการ​ทำ​งาน​ของ​กล้อง​ออบสคูรา​เป็น​หลักการ​ง่าย ๆ แต่​ผล​ที่​ได้​นั้น​น่า​ทึ่ง​มาก. กล้อง​ถ่าย​รูป​แบบ​นี้​ทำ​งาน​อย่าง​ไร?

เมื่อ​แสง​จาก​ภาย​นอก​ผ่าน​รู​เล็ก ๆ เข้า​ไป​ใน​กล่อง​มืด​หรือ​ห้อง​มืด ภาพ​ทิวทัศน์​จาก​ภาย​นอก​ใน​ลักษณะ​กลับ​หัว​จะ​ปรากฏ​บน​ฝา​ผนัง​ที่​อยู่​ฝั่ง​ตรง​ข้าม​กับ​รู​รับ​แสง. ภาพ​ที่​แขก​ของ​เดลลา พอร์ตา​เห็น​ที่​จริง​ก็​คือ​ภาพ​ของ​นัก​แสดง​ที่​อยู่​นอก​ห้อง​นั้น. กล้อง​ออบสคูรา​คือ​ที่​มา​ของ​กล้อง​ถ่าย​รูป​ใน​ปัจจุบัน. ทุก​วัน​นี้ คุณ​อาจ​เป็น​หนึ่ง​ใน​จำนวน​หลาย​ล้าน​คน​ที่​มี​กล้อง​ถ่าย​รูป หรือ​อย่าง​น้อย​ก็​เคย​ใช้​กล้อง​ถ่าย​รูป​ราคา​ไม่​แพง​แบบ​ใช้​แล้ว​ทิ้ง​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม​กัน.

กล้อง​ออบสคูรา​ไม่​ใช่​สิ่ง​ประดิษฐ์​ใหม่​ใน​สมัย​ของ​เดลลา พอร์ตา. อาริสโตเติล (ปี 384-322 ก่อน​สากล​ศักราช) เป็น​ผู้​พบ​หลักการ​ที่​นำ​มา​ใช้​กับ​กล้อง​ถ่าย​รูป​ใน​เวลา​ต่อ​มา. ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 10 อัลฮาเซน​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​อาหรับ​ได้​อธิบาย​หลักการ​ทำ​งาน​ของ​กล้อง​ออบสคูรา​ไว้​อย่าง​ชัดเจน และ​ใน​ศตวรรษ​ที่ 15 จิตรกร​เลโอนาร์โด ดา วินชี ได้​เขียน​เกี่ยว​กับ​หลักการ​นี้​ใน​สมุด​บันทึก​ของ​เขา. ใน​ศตวรรษ​ที่ 16 การ​นำ​เลนส์​เข้า​มา​ใช้​ทำ​ให้​กล้อง​ออบสคูรา​มี​ความ​คม​ชัด​ยิ่ง​ขึ้น และ​จิตรกร​หลาย​คน​ก็​ใช้​เลนส์​เพื่อ​ช่วย​ให้​ภาพ​ที่​วาด​นั้น​มี​ความ​ลึก​และ​มี​สัดส่วน​ที่​ถูก​ต้อง. แม้​จะ​พยายาม​คิด​ค้น​กัน​มาก​มาย การ​รักษา​ภาพ​ถ่าย​ให้​คง​อยู่​ถาวร​ก็​เพิ่ง​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ช่วง​ก่อน​ศตวรรษ​ที่ 19 นี้​เอง.

ช่าง​ภาพ​คน​แรก​ของ​โลก

โชเซฟ นิเซฟอร์ นิเอปส์ นัก​ฟิสิกส์​ชาว​ฝรั่งเศส​อาจ​เริ่ม​คิด​ค้น​วิธี​ทำ​ภาพ​ถ่าย​ถาวร​ตั้ง​แต่​ปี 1816. แต่​เขา​ประสบ​ความ​สำเร็จ​จริง ๆ ครั้ง​แรก​ตอน​ที่​ทำ​การ​ทดลอง​กลวิธี​พิมพ์​หิน (lithography) และ​พบ​โดย​บังเอิญ​ว่า​เขา​สามารถ​ใช้​สาร​ไว​แสง​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​น้ำมัน​ดิน (bitumen of Judea). ต่อ​มา​ใน​ช่วง​กลาง​ทศวรรษ 1820 เขา​ใส่​แผ่น​ดีบุก​ผสม​ตะกั่ว​เคลือบ​น้ำมัน​ดิน​ใน​กล้อง​ออบสคูรา ตั้ง​กล้อง​หัน​ไป​ทาง​หน้าต่าง​บ้าน​ของ​เขา​และ​เปิด​หน้า​กล้อง​รับ​แสง​เป็น​เวลา​ประมาณ​แปด​ชั่วโมง. แม้​แต่​ช่าง​ภาพ​มือ​สมัคร​เล่น​ใน​ปัจจุบัน​ที่​มี​ประสบการณ์​น้อย​ที่​สุด​ก็​คง​ไม่​รู้สึก​ภูมิ​ใจ​ใน​ภาพ​ถ่าย​ที่​ไม่​คม​ชัด​ของ​บ้าน, ต้น​ไม้, และ​ยุ้ง​ฉาง แต่​นิเอปส์​ก็​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​ภูมิ​ใจ​ใน​ผล​งาน​ของ​เขา. อาจ​กล่าว​ได้​ว่า​นี่​คือ​ภาพ​ถ่าย​ถาวร​ภาพ​แรก!

เพื่อ​พัฒนา​วิธี​ของ​เขา​ให้​ดี​ยิ่ง​ขึ้น นิเอปส์​ได้​เข้า​เป็น​หุ้น​ส่วน​กับ​หลุยส์ ดาแกร์ นัก​ธุรกิจ​ผู้​มี​ความ​คิด​สร้าง​สรรค์. ไม่​กี่​ปี​หลัง​จาก​นิเอปส์​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1833 ดาแกร์​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ก้าว​หน้า​ที่​สำคัญ​บาง​อย่าง. เขา​ใช้​ซิลเวอร์​ไอโอไดด์​เคลือบ​บน​แผ่น​ทองแดง. สาร​เคลือบ​นี้​ปรากฏ​ว่า​มี​ความ​ไว​แสง​มาก​กว่า​น้ำมัน​ดิน. เขา​พบ​โดย​บังเอิญ​ว่า เมื่อ​นำ​แผ่น​โลหะ​นั้น​ไป​อัง​ไอ​ปรอท ภาพ​ที่​ได้​ก็​จะ​ชัด​ขึ้น. วิธี​นี้​ช่วย​ลด​เวลา​เปิด​หน้า​กล้อง​ได้​มาก​ที​เดียว. ต่อ​มา​เมื่อ​ดาแกร์​ค้น​พบ​ว่า​การ​ล้าง​แผ่น​โลหะ​ด้วย​น้ำ​เกลือ​จะ​ช่วย​ป้องกัน​ไม่​ให้​ภาพ​เปลี่ยน​เป็น​สี​ดำ​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป การ​ถ่าย​ภาพ​ก็​พร้อม​ที่​จะ​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​อย่าง​ล้น​หลาม​จาก​สาธารณชน.

ปรากฏ​สู่​สายตา​ชาว​โลก

เมื่อ​มี​การ​เปิด​ตัว​วิธี​ถ่าย​ภาพ​ที่​ดาแกร์​คิด​ค้น​ขึ้น​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า ดาแกโรไทป์ (daguerreotype) ใน​ปี 1839 ผู้​คน​ตอบรับ​อย่าง​ล้น​หลาม. นัก​วิชาการ​เฮลมุท เกินส์ไฮม์ เขียน​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ​ความ​เป็น​มา​ของ​การ​ถ่าย​ภาพ (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “บาง​ที​อาจ​ไม่​เคย​มี​สิ่ง​ประดิษฐ์​ใด​ใน​โลก​ที่​จะ​ได้​รับ​ความ​สนใจ​จาก​ผู้​คน​ทั่ว​โลก​ได้​เร็ว​และ​มาก​เท่า​กับ​ดาแกโรไทป์.” ผู้​ที่​เห็น​การ​ถ่าย​ภาพ​แบบ​ดาแกโรไทป์​ซึ่ง​นำ​มา​แสดง​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​เขียน​ว่า “หนึ่ง​ชั่วโมง​ต่อ​มา ร้าน​ขาย​อุปกรณ์​แว่นตา​ทุก​ร้าน​แน่น​ขนัด​ไป​ด้วย​ผู้​คน แต่​ก็​ไม่​มี​อุปกรณ์​มาก​พอ​ที่​จะ​สนอง​ความ​ต้องการ​ของ​ผู้​คน​มาก​มาย​ที่​อยาก​เป็น​ช่าง​ถ่าย​ภาพ​ดาแกโรไทป์; ไม่​กี่​วัน​ต่อ​มา คุณ​จะ​เห็น​ว่า​ทุก​จัตุรัส​ใน​กรุง​ปารีส​จะ​มี​กล่อง​ดำ​สาม​ขา​ตั้ง​อยู่​หน้า​โบสถ์​และ​ราชวัง​ต่าง ๆ. ทั้ง​นัก​ฟิสิกส์, นัก​เคมี​และ​ผู้​มี​การ​ศึกษา​ทั้ง​หลาย​ใน​เมือง​หลวง​แห่ง​นี้​ต่าง​ก็​ขัด​ถู​แผ่น​เงิน และ​แม้​แต่​พ่อค้า​ผู้​มี​อัน​จะ​กิน​ก็​ยาก​ที่​จะ​ปฏิเสธ​การ​แสวง​หา​ความ​พึง​พอ​ใจ​จาก​ความ​ก้าว​หน้า​ครั้ง​ใหม่​นี้ โดย​ยอม​ให้​เงิน​ของ​ตน​บาง​ส่วน​ระเหย​ไป​กับ​ไอโอดีน​และ​หมด​ไป​กับ​ไอ​ปรอท.” หนังสือ​พิมพ์​ใน​ปารีส​รีบ​ตั้ง​ชื่อ​ความ​คลั่งไคล้​นี้​ว่า ดาแกเรโอไทโปแมนี (daguerréotypomanie).

คุณภาพ​ที่​ดี​เยี่ยม​ของ​ภาพ​ถ่าย​แบบ​ดาแกโรไทป์​กระตุ้น​ให้​จอห์น เฮอร์เชล นัก​วิทยาศาสตร์​ชาว​อังกฤษ​เขียน​ว่า “ไม่​ได้​พูด​เกิน​จริง​เลย​ที่​จะ​เรียก​ภาพ​ถ่าย​เหล่า​นั้น​ว่า​สิ่ง​มหัศจรรย์.” บาง​คน​ถึง​กับ​บอก​ว่า​สิ่ง​ประดิษฐ์​นั้น​เกิด​จาก​อำนาจ​วิเศษ.

แต่​ไม่​ใช่​ทุก​คน​จะ​ยกย่อง​สิ่ง​ประดิษฐ์​ใหม่​นี้. บาง​คน​ลังเล​ที่​จะ​ยอม​รับ​เพราะ​เหตุ​ผล​ทาง​ศาสนา. ใน​ปี 1856 กษัตริย์​แห่ง​เนเปิลส์​ประกาศ​ห้าม​ใช้​กล้อง​ถ่าย​รูป อาจ​เป็น​เพราะ​คิด​ว่า​กล้อง​ถ่าย​รูป​เกี่ยว​ข้อง​กับ “ดวง​ตา​แห่ง​ความ​ชั่ว​ร้าย.” เมื่อ​เห็น​ดาแกโรไทป์ จิตรกร​ชาว​ฝรั่งเศส​พอล เดราโรช ถึง​กับ​อุทาน​ว่า “นับ​แต่​วัน​นี้​ไป การ​วาด​ภาพ​จบ​สิ้น​แล้ว!” สิ่ง​ประดิษฐ์​นี้​ยัง​ทำ​ให้​บรรดา​จิตรกร​เกิด​ความ​วิตก​กังวล​อย่าง​มาก​เนื่อง​จาก​พวก​เขา​เชื่อ​ว่า​การ​ถ่าย​ภาพ​จะ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​อาชีพ​ของ​พวก​เขา​ด้วย. นัก​วิจารณ์​คน​หนึ่ง​พูด​ถึง​ความ​กลัว​ของ​บาง​คน​ว่า “การ​ถ่าย​ภาพ​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ภาพ​ที่​เหมือน​จริง​อย่าง​มาก​อาจ​ทำ​ให้​แนว​คิด​เรื่อง​ความ​งาม​ของ​คน​เรา​หมด​ความ​หมาย.” นอก​จาก​นี้​มี​การ​วิจารณ์​ว่า ภาพ​ถ่าย​เสนอ​ภาพ​ตาม​ความ​เป็น​จริง​อย่าง​ที่​ไม่​มี​วัน​ลบ​เลือน​ได้ ซึ่ง​ได้​ทำลาย​ภาพ​ลวง​ตา​อัน​น่า​ทะนุถนอม​ของ​ความ​งาม​และ​ความ​หนุ่มแน่น​จน​หมด​ไป.

ดาแกร์​กับ​ทัลบอต

นัก​ฟิสิกส์​ชาว​อังกฤษ​วิลเลียม เฮนรี ฟอกซ์ ทัลบอต เชื่อ​ว่า​เขา​เป็น​ผู้​คิด​ค้น​การ​ถ่าย​ภาพ และ​ด้วย​เหตุ​นี้​เขา​จึง​รู้สึก​ตกใจ​เมื่อ​ดาแกร์​ประกาศ​สิ่ง​ประดิษฐ์​ของ​ตน. ทัลบอต​ใส่​แผ่น​กระดาษ​ที่​เคลือบ​ด้วย​ซิลเวอร์​คลอไรด์​เข้า​ไป​ใน​กล้อง​ออบสคูรา. เขา​ใช้​ขี้ผึ้ง​ทา​บน​ภาพ​เนกาทิฟ​ที่​ถ่าย​เสร็จ​แล้ว (ภาพ​ที่​มี​สี​ตรง​ข้าม​กับ​ความ​จริง) เพื่อ​ให้​ภาพ​โปร่ง​แสง นำ​ภาพ​นั้น​มา​อัด​ลง​บน​กระดาษ​เคลือบ​อีก​แผ่น​หนึ่ง แล้ว​เอา​ไป​ตาก​แดด จึง​ได้​ภาพ​พอซิทิฟ (ภาพ​ที่​มี​สี​ตรง​กับ​ความ​จริง).

แม้​ตอน​แรก​ไม่​ค่อย​ได้​รับ​ความ​นิยม​มาก​นัก แถม​ภาพ​ที่​ได้​ก็​ยัง​มี​คุณภาพ​ต่ำ​กว่า แต่​กรรมวิธี​การ​อัด​ภาพ​ของ​ทัลบอต​ก็​ดี​กว่า​มาก. วิธี​ดัง​กล่าว​ทำ​ให้​ภาพ​เนกาทิฟ​ใบ​เดียว​สามารถ​นำ​ไป​อัด​ภาพ​ได้​หลาย​ใบ และ​กระดาษ​ก็​มี​ราคา​ถูก​กว่า​และ​ถือ​ง่าย​กว่า​ภาพ​แบบ​ดาแกโรไทป์​ที่​แตก​ง่าย. การ​ถ่าย​ภาพ​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ยัง​คง​อาศัย​หลักการ​ของ​ทัลบอต ใน​ขณะ​ที่​วิธี​ถ่าย​ภาพ​แบบ​ดาแกโรไทป์​แม้​จะ​เป็น​ที่​นิยม​มาก​ใน​ตอน​แรก แต่​ใน​ที่​สุด​วิธี​ถ่าย​ภาพ​แบบ​นี้​ก็​ไม่​เป็น​ที่​นิยม​อีก​ต่อ​ไป.

อย่าง​ไร​ก็​ดี ไม่​ใช่​แค่​นิเอปส์, ดาแกร์, และ​ทัลบอต​เท่า​นั้น​ที่​ต้องการ​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า​เป็น​บิดา​แห่ง​การ​ถ่าย​ภาพ. หลัง​จาก​การ​ประกาศ​ผล​งาน​ของ​ดาแกร์​ใน​ปี 1839 มี​อีก​อย่าง​น้อย 24 คน—จาก​นอร์เวย์​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ซีก​โลก​เหนือ​จน​ถึง​บราซิล​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ซีก​โลก​ใต้—ที่​อ้าง​ว่า​เป็น​ผู้​คิด​ค้น​วิธี​การ​ถ่าย​ภาพ.

การ​เปลี่ยน​แปลง​ครั้ง​สำคัญ​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​ถ่าย​ภาพ

นัก​ปฏิรูป​สังคม​เจคอบ ออกัส รีส เป็น​คน​หนึ่ง​ที่​เล็ง​เห็น​ตั้ง​แต่​แรก​ว่า​การ​ถ่าย​ภาพ​เป็น​โอกาส​อัน​ดี​เยี่ยม​ที่​จะ​ทำ​ให้​สาธารณชน​ได้​เห็น​ถึง​ความ​ยาก​จน​และ​ความ​ทุกข์​ของ​มนุษย์. ใน​ปี 1880 เขา​เริ่ม​ถ่าย​ภาพ​แหล่ง​เสื่อม​โทรม​ใน​นคร​นิวยอร์ก​ยาม​ค่ำ​คืน โดย​เผา​ผง​แมกนีเซียม​ใน​กระทะ​เพื่อ​ทำ​เป็น​แสง​แฟลช แต่​ก็​เป็น​วิธี​ที่​อันตราย. เขา​เคย​ทำ​ไฟ​ไหม้​สอง​ครั้ง​ใน​บ้าน​ตอน​ที่​เขา​กำลัง​ถ่าย​ภาพ และ​ทำ​ไฟ​ไหม้​เสื้อ​ผ้า​ของ​เขา​เอง​หนึ่ง​ครั้ง. กล่าว​กัน​ว่า ภาพ​ของ​เขา​คือ​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​กระตุ้น​ให้​ประธานาธิบดี​ทีโอดอร์ รูสเวลต์ ทำ​การ​ปฏิรูป​สังคม​หลาย​ครั้ง​เมื่อ​เขา​ย้าย​เข้า​มา​ใน​ทำเนียบ​ขาว​ฐานะ​ประธานาธิบดี. ภาพ​ชุด​ทิวทัศน์​ที่​งดงาม​ซึ่ง​ถ่าย​โดย​วิลเลียม เฮนรี แจ็กสัน มี​ส่วน​กระตุ้น​ให้​สภา​นิติ​บัญญัติ​ของ​สหรัฐ​เลือก​เยลโลสโตน​เป็น​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​แห่ง​แรก​ของ​โลก​ใน​ปี 1872.

ใคร ๆ ก็​มี​โอกาส​เป็น​ช่าง​ภาพ​ได้

ช่วง​ปลาย​ทศวรรษ 1880 หลาย​คน​ที่​ต้องการ​เป็น​ช่าง​ภาพ​ยัง​ต้อง​อด​ใจ​ไว้​ก่อน​เนื่อง​จาก​การ​ถ่าย​ภาพ​มี​ค่า​ใช้​จ่าย​สูง​และ​ยุ่งยาก​ซับซ้อน. แต่​เมื่อ​จอร์จ อีสต์แมน​ประดิษฐ์​กล้อง​โกดัก​ขึ้น​ใน​ปี 1888 ซึ่ง​เป็น​กล้อง​ถ่าย​รูป​แบบ​กล่อง​ที่​ใช้​งาน​ง่าย​พร้อม​กับ​มี​ม้วน​ฟิล์ม​ที่​มี​ความ​ยืดหยุ่น​บรรจุ​อยู่​ใน​กล้อง เขา​จึง​เปิด​ทาง​ให้​ทุก​คน​มี​โอกาส​เป็น​ช่าง​ภาพ​ได้.

หลัง​จาก​ถ่าย​จน​ฟิล์ม​หมด​ม้วน​แล้ว ลูก​ค้า​จะ​ส่ง​กล้อง​ถ่าย​รูป​ทั้ง​กล้อง​ไป​ที่​โรง​งาน. ฟิล์ม​จะ​ถูก​นำ​ไป​ล้าง ส่วน​กล้อง​ก็​จะ​มี​การ​ใส่​ฟิล์ม​ใหม่​ลง​ไป​แล้ว​ก็​ส่ง​กลับ​ไป​ให้​ลูก​ค้า​พร้อม​กับ​รูป​ที่​อัด​แล้ว โดย​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​ไม่​แพง​สำหรับ​งาน​ทั้ง​หมด​นี้. คำ​ขวัญ​ที่​ว่า “คุณ​เพียง​แค่​กด​ปุ่ม ที่​เหลือ​เป็น​หน้า​ที่​ของ​เรา” นั้น​ไม่​ใช่ คำ​พูด​เกิน​จริง​เลย.

มา​ถึง​ตอน​นี้ การ​ถ่าย​ภาพ​กลาย​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​ผู้​คน​ไป​แล้ว และ​จำนวน​รูป​ถ่าย​ใน​ปัจจุบัน​ซึ่ง​มี​หลาย​พัน​ล้าน​ใบ​ต่อ​ปี​ก็​บ่ง​ชี้​ว่า​การ​ถ่าย​รูป​ยัง​คง​เป็น​ที่​นิยม​ไม่​เสื่อม​คลาย. และ​ยิ่ง​ตอน​นี้​มี​กล้อง​ดิจิตอล​ซึ่ง​บอก​ความ​ละเอียด​ของ​ภาพ​เป็น​ล้าน​พิกเซล​ก็​ยิ่ง​ทำ​ให้​การ​ถ่าย​รูป​เป็น​ที่​นิยม​มาก​ขึ้น. กล้อง​ชนิด​นี้​มี​เมมโมรีสติก​แผ่น​เล็ก ๆ ที่​เก็บ​ภาพ​ได้​นับ​ร้อย. เพียง​แค่​มี​คอมพิวเตอร์​และ​เครื่อง​พิมพ์​ภาพ​ก็​สามารถ​พิมพ์​ภาพ​คุณภาพ​ดี​ออก​มา​ได้​แล้ว. ไม่​สงสัย​เลย​ว่า​การ​ถ่าย​ภาพ​ก้าว​หน้า​ไป​มาก​จริง ๆ.

[ภาพ​หน้า 20]

ภาพ​ดาแกโรไทป์​ซึ่ง​แสดง​ให้​เห็น​ทิวทัศน์​โดย​รอบ​ของ​กรุง​ปารีส ประมาณ​ปี 1845

[ภาพ​หน้า 20]

ภาพ​ถ่าย​จำลอง​ที่​อาจ​เป็น​ภาพ​แรก ประมาณ​ปี 1826

[ภาพ​หน้า 20]

ภาพ​วาด​กล้อง​ออบสคูรา จิตรกร​หลาย​คน​ใช้​กล้อง​นี้

[ภาพ​หน้า 21]

นิเอปส์

[ภาพ​หน้า 23]

ภาพ​ดาแกโรไทป์​ใน​ปี 1844 ของ​หลุยส์ ดาแกร์​ผู้​ประดิษฐ์​และ​กล้อง​ของ​เขา

[ภาพ​หน้า 23]

โรง​ถ่าย​ของ​วิลเลียม ทัลบอต และ​กล้อง​ถ่าย​รูป​ของ​เขา ประมาณ​ปี 1845

[ภาพ​หน้า 23]

ภาพ​ปี 1890 ของ​จอร์จ อีสต์แมน​ที่​กำลัง​ถือ​กล้อง​โกดัก​หมาย​เลข 2 และ​ถัด​ไป​คือ​กล้อง​หมาย​เลข 1 ของ​เขา​รวม​ทั้ง​แกน​ม้วน​ฟิล์ม

[ภาพ​หน้า 23]

กล้อง​ดิจิตอล​สมัย​ใหม่​ที่​บันทึก​ภาพ​ด้วย​ความ​ละเอียด​หลาย​ล้าน​พิกเซล

[ภาพ​หน้า 23]

ภาพ​ทิวทัศน์​เยลโลสโตน โดย​ดับเบิลยู. เอช. แจ็กสัน ปี 1871

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 20]

Panoramic of Paris: Photo by Bernard Hoffman/Time Life Pictures/Getty Images; Niepce’s photograph: Photo by Joseph Niepce/Getty Images; camera obscura: Culver Pictures

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 22]

Page 23: Talbot’s studio: Photo by William Henry Fox Talbot & Nicholaas Henneman/Getty Images; Talbot’s camera: Photo by Spencer Arnold/Getty Images; Kodak photo, Kodak camera, and Daguerre camera: Courtesy George Eastman House; Yellowstone: Library of Congress, Prints & Photographs Division, LC-USZ62-52482