ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ไหม—“ราชินีแห่งเส้นใย”

ไหม—“ราชินีแห่งเส้นใย”

ไหม—“ราชินี​แห่ง​เส้นใย”

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ญี่ปุ่น

พัสตราภรณ์​ที่​งดงาม​ที่​สุด​ใน​โลก​บาง​อย่าง รวม​ทั้ง​กิโมโน​ของ​ญี่ปุ่น, ส่าหรี​ของ​อินเดีย, และ​ฮันบก ของ​เกาหลี ต่าง​ก็​มี​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​เหมือน​กัน. นั่น​คือ ชุด​เหล่า​นี้​มัก​ทำ​จาก​ผ้า​ไหม​ซึ่ง​เป็น​ผ้า​เนื้อ​มัน​วาว​ที่​ถูก​เรียก​ว่า​ราชินี​แห่ง​เส้นใย. ตั้ง​แต่​ชน​ชั้น​กษัตริย์​ใน​อดีต​ไป​จน​ถึง​สามัญ​ชน​ใน​ปัจจุบัน ผู้​คน​ทั่ว​โลก​ต่าง​หลง​เสน่ห์​ความ​งาม​หรู​ของ​ผ้า​ไหม. แต่​ผ้า​ไหม​ก็​ใช่​ว่า​จะ​มี​ให้​ซื้อ​หา​ได้​ทั่ว​ไป​เช่น​นี้​เสมอ​มา.

ใน​สมัย​โบราณ​มี​การ​ทำ​ผ้า​ไหม​เฉพาะ​แต่​ใน​ประเทศ​จีน​เท่า​นั้น. ไม่​มี​ชาติ​อื่น​ใด​รู้​วิธี​ทำ​ผ้า​ไหม และ​หาก​ผู้​ใด​ใน​เมือง​จีน​แพร่งพราย​ความ​ลับ​การ​ผลิต​ผ้า​จาก​หนอน​ไหม ผู้​นั้น​อาจ​ถูก​ประหาร​ชีวิต​เยี่ยง​ผู้​ทรยศ​ต่อ​บ้าน​เมือง. การ​ที่​จีน​เป็น​ผู้​ผูก​ขาด​การ​ผลิต​ผ้า​ไหม​ทำ​ให้​ผ้า​ไหม​มี​ราคา​ค่อนข้าง​สูง​อย่าง​ไม่​น่า​แปลก​ใจ. ตัว​อย่าง​เช่น ทั่ว​จักรวรรดิ​โรมัน ผ้า​ไหม​มี​ค่า​ราว​กับ​ทองคำ​เลย​ที​เดียว.

ใน​ที่​สุด เปอร์เซีย​ได้​เข้า​มา​ควบคุม​การ​ส่ง​ออก​ผ้า​ไหม​ทั้ง​หมด​จาก​จีน. แต่​ผ้า​ไหม​ยัง​คง​มี​ราคา​สูง และ​ความ​พยายาม​ที่​จะ​ซื้อ​ขาย​ผ้า​ไหม​โดย​ไม่​ผ่าน​พ่อค้า​ชาว​เปอร์เซีย​ก็​ไม่​เป็น​ผล. ต่อ​มา จักรพรรดิ​จัสติเนียน​แห่ง​ไบแซนไทน์​ได้​ทรง​คิด​แผนการ​ขึ้น. ประมาณ​ปี​สากล​ศักราช 550 พระองค์​ได้​ส่ง​พระ​สอง​รูป​ไป​ปฏิบัติ​ภารกิจ​ลับ​ใน​จีน. สอง​ปี​ต่อ​มา​พระ​สอง​รูป​นั้น​ก็​กลับ​มา. ใน​ช่อง​กลวง​ของ​ไม้เท้า​ที่​ทำ​จาก​ไม้​ไผ่ มี​สิ่ง​มี​ค่า​ซึ่ง​รอ​คอย​กัน​มา​นาน​ซ่อน​อยู่ นั่น​คือ ไข่​ของ​หนอน​ไหม. ความ​ลับ​ของ​ผ้า​ไหม​จึง​ถูก​เปิด​เผย. การ​ผูก​ขาด​การ​ทำ​ผ้า​ไหม​ก็​สิ้น​สุด​ลง.

ความ​ลับ​ของ​ผ้า​ไหม

ผ้า​ไหม​ผลิต​จาก​หนอน​ไหม หรือ​ตัว​อ่อน​ของ​ผีเสื้อ​ไหม. หนอน​ไหม​มี​หลาย​ร้อย​ชนิด แต่​ชนิด​ที่​ผลิต​ไหม​ได้​คุณภาพ​ดี​ที่​สุด​มี​ชื่อ​ทาง​วิทยาศาสตร์​ว่า บอมบิกซ์ มอริ. การ​ทำ​ผ้า​ไหม​จะ​ต้อง​ใช้​หนอน​ไหม​จำนวน​มาก จึง​ทำ​ให้​เกิด​อุตสาหกรรม​การ​เลี้ยง​ไหม​ขึ้น. ครอบครัว​ของ​โชอิชิ คาวาฮาราดะ ซึ่ง​อยู่​ใน​จังหวัด​กุมมะ ประเทศ​ญี่ปุ่น เป็น​หนึ่ง​ใน​ประมาณ 2,000 ครัว​เรือน​ใน​ญี่ปุ่น​ที่​ยัง​คง​ทำ​งาน​อัน​แสน​เหนื่อย​ยาก​นี้. บ้าน​สอง​ชั้น​ของ​เขา​ซึ่ง​สร้าง​ให้​เหมาะ​สำหรับ​การ​เลี้ยง​ไหม​นั้น​ตั้ง​อยู่​บน​เนิน​ที่​มอง​ลง​มา​เห็น​สวน​ต้น​หม่อน (1).

หนอน​ไหม​ตัว​เมีย​จะ​วาง​ไข่​มาก​ถึง 500 ฟอง แต่​ละ​ฟอง​มี​ขนาด​เท่า​หัว​เข็ม​หมุด (2). หลัง​จาก 20 วัน ไข่​จะ​ฟัก​เป็น​ตัว. หนอน​ไหม​ตัว​เล็ก ๆ เหล่า​นี้​จะ​หิว​ตลอด​เวลา. พวก​มัน​กิน​ใบ​หม่อน​ทั้ง​กลางวัน​กลางคืน และ​กิน​ใบ​หม่อน​เพียง​อย่าง​เดียว เท่า​นั้น (3, 4). เพียง 18 วัน หนอน​ไหม​จะ​โต​ขึ้น​ถึง 70 เท่า​และ​จะ​ลอก​คราบ​สี่​ครั้ง.

ใน​ฟาร์ม​ของ​คุณ​คาวาฮาราดะ​มี​หนอน​ไหม​ที่​เลี้ยง​ไว้ 120,000 ตัว. เสียง​กิน​ของ​มัน​ไม่​ต่าง​อะไร​กับ​เสียง​ห่า​ฝน​ที่​ตก​ลง​บน​ใบ​ไม้. เมื่อ​หนอน​ไหม​โต​เต็ม​ที่​มัน​จะ​มี​น้ำหนัก​ตัว​เพิ่ม​ขึ้น​ถึง 10,000 เท่า​เลย​ที​เดียว! ตอน​นี้​ก็​ได้​เวลา​ปั่น​ใย​สร้าง​รัง​กัน​แล้ว.

นัก​ปั่น​ด้าย​ที่​เงียบ​กริบ

เมื่อ​โต​เต็ม​ที่​แล้ว หนอน​ไหม​จะ​มี​ลำ​ตัว​ใส บอก​ให้​รู้​ว่า​ถึง​เวลา​เริ่ม​ปั่น​ใย​สร้าง​รัง​แล้ว. เมื่อ​หนอน​ไหม​เริ่ม​หงุดหงิด​งุ่นง่าน​และ​มอง​หา​ที่​สร้าง​รัง​ห่อ​หุ้ม​ตัว​เอง ก็​ถึง​เวลา​ต้อง​ย้าย​มัน​ออก​มา​ใส่​ใน​กระบะ​เลี้ยง​ไหม​ซึ่ง​แบ่ง​เป็น​ช่อง​สี่​เหลี่ยม​เล็ก ๆ หลาย ๆ ช่อง. เมื่อ​อยู่​ใน​ช่อง​เหล่า​นั้น หนอน​ไหม​จะ​พ่น​ใย​สี​ขาว​เส้น​บาง ๆ ออก​มา (5), ห่อ​หุ้ม​ตัว​มัน​เอง​ไว้​ด้วย​ไหม.

นี่​เป็น​ช่วง​ที่​ยุ่ง​ที่​สุด​สำหรับ​คุณ​คาวาฮาราดะ เนื่อง​จาก​หนอน​ไหม​ทั้ง 120,000 ตัว​จะ​เริ่ม​พ่น​ใย​สร้าง​รัง​ใน​เวลา​ไล่เลี่ย​กัน. กระบะ​เลี้ยง​หนอน​ไหม​จะ​ถูก​แขวน​ไว้​เป็น​แถว ๆ บน​ชั้น​สอง​ของ​บ้าน​ซึ่ง​มี​อากาศ​เย็น​และ​ถ่าย​เท​ได้​ดี (6).

ใน​ระหว่าง​นี้ จะ​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​น่า​ทึ่ง​เกิด​ขึ้น​ภาย​ใน​ตัว​หนอน​ไหม. ใบ​หม่อน​ที่​ย่อย​แล้ว​จะ​กลาย​ไป​เป็น​ไฟโบรอิน หรือ​โปรตีน​ชนิด​หนึ่ง​ที่​อยู่​ใน​ต่อม​คู่​หนึ่ง​ซึ่ง​ยาว​ตลอด​ลำ​ตัว​ของ​หนอน​ไหม. ขณะ​ที่​โปรตีน​ไฟโบรอิน​ถูก​ขับ​ผ่าน​ต่อม​คู่​นี้ มัน​จะ​ถูก​เคลือบ​ด้วย​สาร​เหนียว ๆ คล้าย​กาว​ซึ่ง​เรียก​ว่า​เซริซิน. ก่อน​จะ​ถูก​พ่น​ออก​มา​จาก​อวัยวะ​พ่น​ใย​ซึ่ง​อยู่​ที่​ปาก​ของ​หนอน​ไหม สาร​เซริซิน​นี้​จะ​ทำ​ให้​ใย​ไฟโบรอิน​สอง​เส้น​ติด​เข้า​ด้วย​กัน. เมื่อ​สัมผัส​กับ​อากาศ เส้น​ไหม​ที่​ยัง​เป็น​ของ​เหลว​นี้​จะ​แข็งตัว​กลาย​เป็น​เส้นใย​เดี่ยว.

เมื่อ​หนอน​ไหม​เริ่ม​พ่น​ใย​ออก​มา​แล้ว มัน​จะ​ไม่​หยุด​ทำ​งาน​จน​กว่า​ไหม​จะ​หมด. หนอน​ไหม​จะ​พ่น​ใย​ออก​มา​ด้วย​ความ​เร็ว​ประมาณ 30 ถึง 40 เซนติเมตร​ต่อ​นาที ใน​ระหว่าง​นี้​มัน​จะ​ส่าย​หัว​ของ​มัน​ไป​มา​ตลอด​เวลา. ข้อมูล​จาก​แหล่ง​หนึ่ง​กะ​ประมาณ​ว่า กว่า​หนอน​ไหม​จะ​ทำ​รัง​เสร็จ​มัน​ก็​ต้อง​ส่าย​หัว​ของ​มัน​ประมาณ 150,000 ครั้ง. หลัง​จาก​พ่น​ใย​อยู่​นาน​สอง​วัน​สอง​คืน หนอน​ไหม​จะ​ผลิต​เส้นใย​เดี่ยว​ที่​วัด​ได้​ยาว​ถึง 1,500 เมตร ซึ่ง​ยาว​กว่า​ความ​สูง​ของ​ตึก​ระฟ้า​ถึง​สี่​เท่า​เลย​ที​เดียว!

ใน​เวลา​เพียง​หนึ่ง​สัปดาห์ คุณ​คาวาฮาราดะ​จะ​เก็บ​รัง​ไหม 120,000 รัง​ของ​เขา​ให้​เสร็จ​แล้ว​ส่ง​ต่อ​ไป​ยัง​โรง​งาน. จะ​ต้อง​ใช้​รัง​ไหม​ประมาณ 9,000 รัง​เพื่อ​ทอ​เป็น​กิโมโน​ผืน​หนึ่ง และ​ใช้​ประมาณ 140 รัง​สำหรับ​ทำ​เนกไท ส่วน​ผ้า​พัน​คอ​อาจ​ต้อง​ใช้​รัง​ไหม​มาก​กว่า 100 รัง.

วิธี​ทำ​ผ้า​ไหม

ขั้น​ตอน​การ​ดึง​เส้น​ไหม​ออก​จาก​รัง​แล้ว​พัน​เข้า​กับ​แกน​นั้น​เรียก​ว่า การ​สาว​ไหม. การ​สาว​ไหม​มี​ความ​เป็น​มา​อย่าง​ไร? มี​ตำนาน​และ​เรื่อง​เล่า​ขาน​มาก​มาย. ตำนาน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า พระ​มเหสี​ของ​จักรพรรดิ​จีน​พระองค์​หนึ่ง​ชื่อ​ว่า​พระ​นาง​ซีหลิงซื่อ ทรง​สังเกต​ว่า​มี​รัง​ไหม​ตก​มา​จาก​ต้น​หม่อน​ลง​ไป​อยู่​ใน​ถ้วย​น้ำ​ชา​ของ​พระ​นาง. เมื่อ​พยายาม​จะ​หยิบ​รัง​ไหม​ขึ้น​มา พระ​นาง​ก็​เห็น​ว่า​มี​เส้น​ไหม​ละเอียด​ติด​มา​ด้วย. นี่​คือ​จุด​เริ่ม​ต้น​ของ​การ​สาว​ไหม ซึ่ง​ปัจจุบัน​นิยม​ทำ​โดย​ใช้​เครื่องจักร.

เพื่อ​รัง​ไหม​จะ​ขาย​ได้​ราคา จะ​ต้อง​ทำ​ให้​ดักแด้​ที่​อยู่​ภาย​ใน​รัง​ตาย​ก่อน​ที่​มัน​จะ​กลาย​เป็น​ผีเสื้อ. เกษตรกร​จะ​ใช้​ความ​ร้อน​ฆ่า​ตัว​ดักแด้. รัง​ไหม​ที่​เสีย​จะ​ถูก​คัด​ออก เหลือ​แต่​รัง​ที่​ดี​ซึ่ง​พร้อม​จะ​นำ​ไป​ผลิต​ใน​ขั้น​ต่อ​ไป. ขั้น​แรก จะ​ต้อง​ต้ม​รัง​ไหม​ใน​น้ำ​ร้อน​ให้​กาว​เซริซิน​ที่​ยึด​เส้น​ไหม​ละลาย​เพื่อ​จะ​ดึง​ใย​ไหม​ออก​มา​ได้. จาก​นั้น​ใช้​เครื่อง​สาว​ไหม​แบบ​มี​แปรง​หมุน​จับ​ปลาย​เส้นใย​ขึ้น​มา​เพื่อ​เริ่ม​สาว (7). เส้นใย​เหล่า​นี้​สามารถ​ทำ​ให้​เป็น​เส้น​ด้าย​ที่​มี​ขนาด​ตาม​ต้องการ​ได้​ด้วย​การ​ดึง​เส้นใย​จาก​สอง​รัง​หรือ​หลาย ๆ รัง​มา​รวม​เป็น​เส้น​เดียว. ขณะ​ที่​เส้น​ด้าย​ถูก​สาว​ขึ้น​ไป​พัน​กับ​แกน​มัน​ก็​จะ​แห้ง. เส้น​ไหม​ดิบ​นี้​จะ​ถูก​นำ​ไป​กรอ​อีก​ครั้ง​โดย​ใช้​แกน​ที่​ใหญ่​ขึ้น เพื่อ​แยก​เส้น​ไหม​เป็น​ไจ ๆ ตาม​ความ​ยาว​และ​น้ำหนัก​ที่​ต้องการ (8, 9).

คุณ​อาจ​รู้สึก​ว่า​เนื้อ​ผ้า​ไหม​นั้น​นุ่ม​เนียน​จน​อยาก​จะ​เอา​แก้ม​ไป​สัมผัส. อะไร​ทำ​ให้​ผ้า​ไหม​มี​ความ​นุ่ม​เนียน​ต่าง​จาก​ผ้า​ชนิด​อื่น? ปัจจัย​อย่าง​หนึ่ง​คือ​การ​ฟอก​เพื่อ​ขจัด​กาว​ไหม​หรือ​เซริซิน​ที่​เคลือบ​ไฟโบรอิน​อยู่. เส้น​ไหม​ที่​ยัง​ไม่​ได้​ฟอก​กาว​เมื่อ​สัมผัส​จะ​รู้สึก​หยาบ​และ​จะ​ย้อม​สี​ได้​ยาก. ผ้า​ชีฟอง​มี​เนื้อ​ผ้า​เป็น​เส้น ๆ เนื่อง​จาก​ยัง​มี​กาว​เซริซิน​หลง​เหลือ​อยู่​บ้าง.

ปัจจัย​ที่​สอง​ซึ่ง​เป็น​ตัว​กำหนด​ความ​นุ่ม​เนียน​ของ​ผ้า​ไหม​นั้น​อยู่​ที่​ว่า​ได้​มี​การ​บิด​เกลียว​เส้น​ไหม​มาก​น้อย​เท่า​ไร. ผ้า​ฮาบูตาเอ​ของ​ญี่ปุ่น​เป็น​ผ้า​ที่​ให้​สัมผัส​นุ่มนวล​และ​เรียบ​เนียน. ผ้า​ชนิด​นี้​มี​การ​บิด​เกลียว​เล็ก​น้อย​หรือ​ไม่​บิด​เลย. ตรง​กัน​ข้าม​กับ​ผ้า​เครป​ที่​มี​เนื้อ​แข็ง​และ​ยับ​ย่น เนื่อง​จาก​มี​การ​บิด​เกลียว​มาก.

ขั้น​ตอน​ที่​สำคัญ​อีก​ขั้น​ตอน​หนึ่ง​คือ​การ​ย้อม​สี. เส้น​ไหม​สามารถ​ย้อม​สี​ได้​ง่าย. โครง​สร้าง​ของ​ไฟโบรอิน​ทำ​ให้​สี​ย้อม​ซึม​เข้า​ไป​ใน​เส้น​ไหม​ได้​ดี สี​จึง​ติด​ทน​นาน. นอก​จาก​นั้น เส้นใย​ไหม​ยัง​ต่าง​จาก​เส้นใย​สังเคราะห์ เนื่อง​จาก​ไหม​มี​ทั้ง​ไอออน​บวก​และ​ลบ ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า​ไม่​ว่า​จะ​ใช้​สี​อะไร​ย้อม​ก็​มัก​จะ​ติด​ดี. ไหม​สามารถ​นำ​ไป​ย้อม​เมื่อ​ยัง​เป็น​เส้น​ด้าย​ก่อน​นำ​ไป​ทอ​บน​หูก (10) หรือ​จะ​ย้อม​เมื่อ​ทอ​เป็น​ผืน​แล้ว​ก็​ได้. สำหรับ​การ​ย้อม​สี​กิโมโน​แบบ​ยูเซน ที่​มี​ชื่อเสียง​นั้น​จะ​มี​การ​ลอก​ลวด​ลาย​ลง​ไป​และ​ย้อม​สี​ด้วย​มือ​หลัง​จาก​ทอ​เป็น​ผืน​แล้ว.

แม้​ว่า​ปัจจุบัน​ผ้า​ไหม​ส่วน​ใหญ่​จะ​ผลิต​กัน​ใน​ประเทศ​ต่าง ๆ เช่น จีน​และ​อินเดีย แต่​ใน​ด้าน​การ​ออก​แบบ​ชุด​ผ้า​ไหม ก็​ยัง​ไม่​มี​ใคร​เป็น​เลิศ​กว่า​นัก​ออก​แบบ​แฟชั่น​ใน​ฝรั่งเศส​และ​อิตาลี. แน่นอน​ว่า​ทุก​วัน​นี้​มี​การ​ใช้​เส้นใย​สังเคราะห์​อย่าง​เช่น​เรยอน​หรือ​ไนลอน​เพื่อ​ผลิต​ผ้า​หลาย​ชนิด​ที่​ราคา​ไม่​แพง. แต่​ก็​ยัง​ไม่​มี​ผ้า​ชนิด​ใด​สู้​ผ้า​ไหม​ได้. ภัณฑารักษ์​ของ​พิพิธภัณฑ์​ผ้า​ไหม​ใน​โยโกฮามา ประเทศ​ญี่ปุ่น กล่าว​ว่า “แม้​จะ​อาศัย​ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​วิทยาศาสตร์​ของ​โลก​ปัจจุบัน​ก็​ไม่​สามารถ​สังเคราะห์​ผ้า​ไหม​ขึ้น​มา​ได้. เรา​รู้​ทุก​อย่าง ตั้ง​แต่​สูตร​โมเลกุล​ไป​จน​ถึง​โครง​สร้าง​ของ​มัน แต่​เรา​ก็​ไม่​สามารถ​จะ​เลียน​แบบ​ได้. ผม​จึง​เรียก​สิ่ง​นี้​ว่า​ความ​ลึกลับ​ของ​ผ้า​ไหม.”

[กรอบ/ภาพ​หน้า 26]

คุณสมบัติ​ของ​ผ้า​ไหม

ทนทาน: เส้นใย​ไหม​มี​ความ​แข็งแรง​ทนทาน​พอ ๆ กับ​เส้นใย​เหล็ก​กล้า​ที่​มี​ขนาด​เท่า​กัน.

เงา​งาม: ผ้า​ไหม​มี​เนื้อ​เป็น​มัน​วาว​สวย​งาม​เหมือน​เนื้อ​มุก. ที่​เป็น​เช่น​นี้​เนื่อง​จาก​ไฟโบรอิน​ที่​เป็น​ตัว​ทำ​ให้​แสง​กระจาย​ออก​ไป​นั้น​มี​โครง​สร้าง​เป็น​ชั้น ๆ เหมือน​ปริซึม.

อ่อนโยน​ต่อ​ผิว: กรด​อะมิโน​ที่​เป็น​ส่วน​ประกอบ​ของ​ผ้า​ไหม​มี​ความ​อ่อนโยน​ต่อ​ผิว. กล่าว​กัน​ว่า​ผ้า​ไหม​ป้องกัน​ไม่​ให้​เกิด​โรค​ผิวหนัง​ได้​หลาย​ชนิด. เครื่อง​สำอาง​บาง​ชนิด​ก็​ผลิต​จาก​ผง​ไหม.

ดูด​ซับ​ความ​ชื้น​ได้​ดี: กรด​อะมิโน​และ​ช่อง​ว่าง​เล็ก ๆ ใน​เส้นใย​ไหม​จะ​ดูด​ซับ​และ​ระบาย​เหงื่อ​ได้​ดี ทำ​ให้​ผิว​ของ​คุณ​ไม่​ชื้น​และ​รู้สึก​เย็น​สบาย​ใน​ฤดู​ร้อน.

กัน​ความ​ร้อน: ผ้า​ไหม​เป็น​ผ้า​ที่​ไหม้​ช้า​และ​เมื่อ​ติด​ไฟ​จะ​ไม่​ปล่อย​แก๊ส​พิษ​ออก​มา.

ปก​ป้อง​ได้​ดี: ผ้า​ไหม​จะ​ดูด​ซับ​รังสี​อัลตราไวโอเลต จึง​ช่วย​ปก​ป้อง​ผิวหนัง​ได้.

ไม่​เกิด​ไฟฟ้า​สถิต​ได้​ง่าย: เนื่อง​จาก​ผ้า​ไหม​มี​ทั้ง​ไอออน​บวก​และ​ลบ​เป็น​ส่วน​ประกอบ​และ​ดูด​ซับ​ความ​ชื้น​ได้​ดี จึง​ไม่​เกิด​ไฟฟ้า​สถิต​ได้​ง่าย​เหมือน​ผ้า​ชนิด​อื่น​บาง​ชนิด.

การ​ดู​แล​รักษา​ผ้า​ไหม

การ​ซัก: ตาม​ปกติ​แล้ว​ชุด​ที่​ตัด​จาก​ผ้า​ไหม​จะ​เหมาะ​กับ​การ​ซัก​แห้ง​มาก​ที่​สุด. ถ้า​คุณ​ซัก​ผ้า​ไหม​เอง​ที่​บ้าน ให้​ซัก​ด้วย​น้ำ​อุ่น (ที่​อุณหภูมิ​ประมาณ 30 องศา​เซลเซียส) โดย​ใช้​น้ำ​ยา​ซัก​ผ้า​ที่​มี​ค่า​เป็น​กลาง ไม่​เป็น​กรด​หรือ​ด่าง. ขยี้​เบา ๆ และ​อย่า​บิด​หรือ​ขยำ​ผ้า. ผึ่ง​ลม​ให้​แห้ง.

การ​รีด: วาง​ผ้า​ผืน​หนึ่ง​ทับ​บน​ผ้า​ไหม​ก่อน​แล้ว​จึง​รีด. พยายาม​รีด​ไป​ทาง​เดียว​กับ​เส้นใย​ผ้า โดย​ใช้​อุณหภูมิ​ประมาณ 130 องศา​เซลเซียส. ใช้​ไอ​น้ำ​เพียง​เล็ก​น้อย​หรือ​ไม่​ใช้​เลย.

การ​ขจัด​รอย​เปื้อน: ถ้า​ต้อง​รีบ​ขจัด​รอย​เปื้อน​ทันที ให้​วาง​ผ้า​ไหม​บน​ผ้า​แห้ง​ผืน​หนึ่ง​โดย​คว่ำ​ด้าน​ที่​เปื้อน​ลง. ใช้​ผ้า​หมาด ๆ ตี​ตรง​ด้าน​หลัง​รอย​เปื้อน แต่​อย่า​ถู. จาก​นั้น​ส่ง​ไป​ซัก​แห้ง.

การ​เก็บ​รักษา: อย่า​เก็บ​ใน​ที่​ชื้น ระวัง​ผีเสื้อ​กลางคืน และ​อย่า​ให้​ผ้า​ถูก​แสง. ใช้​ไม้​แขวน​เสื้อ​ที่​หุ้ม​ด้วย​ฟองน้ำ หรือ​วาง​ไว้​ราบ ๆ โดย​พยายาม​ให้​มี​รอย​พับ​น้อย​ที่​สุด.

[ภาพ​หน้า 25]

รัง​ไหม

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 26]

Photos 7-9: Matsuida Machi, Annaka City, Gunma Prefecture, Japan; 10 and close-up pattern: Kiryu City, Gunma Prefecture, Japan