ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ชีวิตสมรสจะต้านทานมรสุมได้ไหม?

ชีวิตสมรสจะต้านทานมรสุมได้ไหม?

ชีวิต​สมรส​จะ​ต้านทาน​มรสุม​ได้​ไหม?

“ซึ่ง​พระเจ้า​ได้​ผูก​พัน​กัน​แล้ว อย่า​ให้​มนุษย์​ทำ​ให้​พราก​จาก​กัน​เลย.”—มัดธาย 19:6.

บ้าน​ที่​ดู​มั่นคง​แข็งแรง​ถูก​มรสุม​กวาด​ทำลาย​ไป​จน​เหลือ​แต่​ฐาน​ราก โครง​สร้าง​ของ​บ้าน​พัง​เสียหาย​ไม่​มี​ชิ้น​ดี. เมื่อ​มรสุม​ร้าย​พัด​กระหน่ำ​พื้น​ที่​หลาย​แห่ง​ของ​โลก​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้ คุณภาพ​และ​ความ​แข็งแรง​ทนทาน​ของ​อาคาร​นับ​ไม่​ถ้วน​ถูก​ทดสอบ​อย่าง​หนัก​หน่วง​ที่​สุด.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม มรสุม​อีก​อย่าง​หนึ่ง​กำลัง​ก่อ​ผล​เสียหาย​อย่าง​ใหญ่​หลวง​ต่อ​ฐาน​ราก​และ​โครง​สร้าง​ของ​สถาบัน​การ​สมรส​อัน​เก่า​แก่. สเตฟานี คูนทซ์ นัก​ประวัติศาสตร์​ด้าน​ครอบครัว​กล่าว​ว่า “ไม่​ว่า​จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น การ​สมรส​ไม่​ใช่​เรื่อง​สำคัญ​ทั้ง​ใน​ชีวิต​ส่วน​ตัว​และ​ใน​สังคม​อีก​ต่อ​ไป​แล้ว.”

คุณ​เห็น​ผล​กระทบ​ของ​แนว​โน้ม​นี้​ไหม? คุณ​คิด​ว่า​การ​สมรส​กำลัง​สูญ​เสีย​ฐานะ​อัน​มี​เกียรติ​ใน​สังคม​ไหม? หาก​เป็น​เช่น​นั้น เหตุ​ใด​จึง​เกิด​แนว​โน้ม​เช่น​นี้? และ​มี​ความ​หวัง​อะไร​ใน​การ​ปก​ป้อง​หรือ​รักษา​ความ​สุข​ใน​ชีวิต​สมรส? แต่​ประการ​แรก อะไร​เป็น​เหตุ​ให้​การ​สมรส​ตก​อยู่​ใน​อันตราย​เช่น​นั้น?

การ​สมรส​ถูก​โจมตี

การ​สมรส​ไม่​ได้​ถูก​โจมตี​แค่​ใน​ระยะ​หลัง ๆ นี้​เท่า​นั้น แต่​เกิด​ขึ้น​นับ​ตั้ง​แต่​เริ่ม​ต้น​ประวัติศาสตร์​มนุษย์​เลย​ที​เดียว. คุณลักษณะ​และ​ทัศนะ​ที่​พัฒนา​ขึ้น​ใน​มนุษย์​คู่​แรก​ซึ่ง​เป็น​บิดา​มารดา​ของ​เรา​ได้​ทำ​ให้​การ​สมรส​ประสบ​ภาวะ​วิกฤติ​ดัง​ที่​เรา​เผชิญ​ใน​ทุก​วัน​นี้. อาดาม​และ​ฮาวา​ทำ​บาป​เมื่อ​พวก​เขา​พ่าย​แพ้​แก่​ความ​ปรารถนา​อัน​เห็น​แก่​ตัว และ​ด้วย​เหตุ​นี้ ‘บาป​จึง​เข้า​มา​ใน​โลก.’ (โรม 5:12, ฉบับ​แปล​ใหม่) บันทึก​ทาง​ประวัติศาสตร์​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น “ความ​คิด​นึก​ใน​ใจ​ของ [มนุษย์] ล้วน​เป็น​ความ​ชั่ว​เสมอ​ไป.”—เยเนซิศ 6:5.

แทบ​ไม่​มี​อะไร​เปลี่ยน​แปลง​นับ​แต่​นั้น​มา. แนว​โน้ม​อันตราย​อย่าง​หนึ่ง​ที่​บ่อน​ทำลาย​การ​สมรส​ก็​คือ​การ​มุ่ง​สนอง​ความ​เห็น​แก่​ตัว​อย่าง​ที่​ไม่​มี​การ​เหนี่ยว​รั้ง. การ​สมรส​เอง​อาจ​ดู​เหมือน​เป็น​สถาบัน​ที่​ล้า​สมัย ใช้​ไม่​ได้​อีก​ต่อ​ไป​ใน​โลก​ยุค​ปัจจุบัน​ซึ่ง​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​ศีลธรรม​แบบ​ใหม่. นอก​จาก​นั้น การ​เปลี่ยน​แปลง​กฎหมาย​ที่​ทำ​ให้​การ​หย่าร้าง​เป็น​เรื่อง​ง่าย​ขึ้น ทำ​ให้​การ​หย่าร้าง​เป็น​เรื่อง​ที่​ไม่​น่า​อับอาย​เหมือน​เมื่อ​ก่อน.

คน​ที่​ขาด​ความ​อด​ทน ซึ่ง​ต้องการ​เห็น​ผล​เร็ว ๆ และ​สนอง​ความ​ต้องการ​ของ​ตน​ทันที ก็​แทบ​ไม่​ใส่​ใจ​หรือ​ไม่​สนใจ​ว่า​การ​หย่าร้าง​จะ​ก่อ​ผล​เช่น​ไร. คำ​สัญญา​ที่​น่า​ดึงดูด​ใจ​เรื่อง​อิสรภาพ​และ​เสรีภาพ​ได้​ล่อ​ลวง​พวก​เขา​ให้​หลง​เชื่อ​ว่า​การ​หย่าร้าง​เป็น​หน​ทาง​ที่​จะ​นำ​ไป​สู่​ความ​สุข.

ส่วน​คน​อื่น ๆ เมื่อ​เผชิญ​กับ​ปัญหา​ที่​เป็น​เหมือน​ขวาก​หนาม​ใน​ชีวิต​สมรส พวก​เขา​ก็​หัน​ไป​หา​นัก​บำบัด​และ​ผู้​ให้​คำ​ปรึกษา​ด้าน​ชีวิต​สมรส​หรือ​อ่าน​หนังสือ​ที่​เขียน​โดย​นัก​วิชาการ​เหล่า​นั้น. น่า​เศร้า “ผู้​เชี่ยวชาญ” ด้าน​ชีวิต​สมรส​บาง​คน​ใน​ปัจจุบัน​สนับสนุน​ให้​หย่าร้าง​แทน​ที่​จะ​ให้​รักษา​สาย​สมรส​ไว้. ดัง​ที่​หนังสือ​การ​สนับสนุน​การ​สมรส (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ไว้ “อาจ​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ประวัติศาสตร์​มนุษย์ ที่​การ​สมรส​ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​ผู้​คน​ควร​จะ​ให้​ความ​นับถือ กลับ​ถูก​โจมตี​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​และ​ยัง​ประสบ​ผล​สำเร็จ​อย่าง​น่า​แปลก​ใจ. บาง​ครั้ง​การ​โจมตี​ก็​มา​ตรง ๆ และ​อาศัย​แนว​คิด​เฉพาะ​ของ ‘พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ’ ซึ่ง​เชื่อ​ว่า​คำ​สาบาน​ว่า​จะ​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​กัน​ตลอด​ชีวิต​นั้น​ไม่​ตรง​กับ​สภาพ​ความ​เป็น​จริง​หรือ​เป็น​ภาระ​หนัก.”

ทัศนะ​ที่​เปลี่ยน​ไป

แนว​คิด​เกี่ยว​กับ​สถานภาพ​และ​จุด​ประสงค์​ของ​การ​สมรส​ก็​เปลี่ยน​ไป​ด้วย. คุณ​อาจ​สังเกต​ว่า เมื่อ​ก่อน​ผู้​คน​ให้​ความ​สำคัญ​กับ​ความ​ซื่อ​สัตย์​และ​การ​สนับสนุน​คู่​สมรส แต่​ตอน​นี้​ต่าง​ฝ่าย​ต่าง​ต้องการ​ให้​ความ​สำเร็จ​ส่วน​ตัว​มา​ก่อน​โดย​มัก​จะ​ไม่​คำนึง​ถึง​ผล​ประโยชน์​ของ​คู่​สมรส. การ​เปลี่ยน​ทัศนะ​เกี่ยว​กับ​การ​สมรส​ซึ่ง​มา​เป็น​แบบ​ที่​มุ่ง​แต่​ตัว​เอง​นี้ “เริ่ม​ขึ้น​ใน​ทศวรรษ 1960 และ​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว​ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1970” วารสาร​เพื่อ​ชีวิต​สมรส​และ​ครอบครัว (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว. เหตุ​ผล​แบบ​เดิม​ซึ่ง​ทำ​ให้​ผู้​คน​แต่งงาน​กัน เช่น ต้องการ​ความ​รัก, ความ​ใกล้​ชิด, ความ​ซื่อ​สัตย์, ลูก, และ​การ​มี​เป้าหมาย​ร่วม​กัน กลับ​ไม่​มี​ความ​สำคัญ​อีก​ต่อ​ไป.

การ​เปลี่ยน​แปลง​ใน​เรื่อง​อื่น ๆ อีก​หลาย​อย่าง​ที่​เพิ่ง​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ส่ง​ผล​ให้​การ​สมรส​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง​เร็ว​ขึ้น​ใน​หลาย​ดินแดน. ประการ​แรก บทบาท​ดั้งเดิม​ของ​ผู้​ชาย​ซึ่ง​มี​หน้า​ที่​หา​เลี้ยง​ครอบครัว​และ​ผู้​หญิง​ซึ่ง​คอย​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​บ้าน ก็​ได้​เปลี่ยน​ไป​ใน​หลาย​ประเทศ. เนื่อง​จาก​ผู้​หญิง​เริ่ม​ออก​ไป​ทำ​งาน​นอก​บ้าน​เพื่อ​หา​เงิน ครอบครัว​ที่​ทั้ง​สามี​ภรรยา​ออก​ไป​ทำ​งาน​อาชีพ​จึง​มี​จำนวน​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​น่า​สังเกต. ประการ​ที่​สอง การ​มี​บุตร​นอก​สาย​สมรส​เป็น​เรื่อง​ที่​ผู้​คน​ยอม​รับ​กัน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ส่ง​ผล​ให้​ครอบครัว​ที่​มี​บิดา​มารดา​ฝ่าย​เดียว​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น. ประการ​ที่​สาม การ​อยู่​กิน​กัน​โดย​ไม่​ได้​แต่งงาน​กำลัง​เพิ่ม​มาก​ขึ้น. (ดู​กรอบ “มั่นคง​น้อย​กว่า​การ​สมรส”) ประการ​ที่​สี่ การ​แต่งงาน​ของ​คน​เพศ​เดียว​กัน​และ​การ​เคลื่อน​ไหว​เพื่อ​ให้​การ​แต่งงาน​ของ​พวก​เขา​เป็น​เรื่อง​ที่​ถูก​กฎหมาย​ก็​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​อย่าง​กว้างขวาง. แนว​โน้ม​เหล่า​นี้​ใน​ปัจจุบัน​มี​อิทธิพล​ต่อ​ทัศนะ​ของ​คุณ​ใน​เรื่อง​การ​สมรส​ไหม?

อัตรา​การ​หย่าร้าง​เพิ่ม​ขึ้น

ให้​เรา​พิจารณา​บาง​ประเทศ​เพื่อ​จะ​ดู​ว่า การ​หย่าร้าง​ที่​แพร่​หลาย​ไป​ทั่ว​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​พัง​ทลาย​มาก​ขึ้น​เพียง​ไร. ใน​สหรัฐ รายงาน​หนึ่ง​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​กล่าว​ว่า “จำนวน​คู่​สมรส​ที่​หย่าร้าง​กัน​ระหว่าง​ช่วง​ปี 1970 ถึง 1996 มี​เพิ่ม​ขึ้น​ถึง​สี่​เท่า.” มี​การ​กะ​ประมาณ​ว่า ผู้​ใหญ่ 1 ใน 5 คน​มี​ชีวิต​สมรส​ที่​ลงเอย​ด้วย​การ​หย่าร้าง. ใคร​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ประสบ​ความ​ล้มเหลว​ใน​ชีวิต​สมรส​มาก​ที่​สุด? จาก​สถิติ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์​ของ​การ​หย่าร้าง​ทั้ง​หมด​เกิด​ขึ้น​ภาย​ใน​ช่วง 10 ปี​แรก.

ประเทศ​อื่น ๆ ก็​มี​อัตรา​การ​หย่าร้าง​พุ่ง​สูง​ขึ้น​เช่น​กัน. จำนวน​การ​หย่าร้าง​ใน​อังกฤษ​และ​เวลส์​สูง​ถึง 153,490 ราย​ใน​ปี 2004. มี​การ​คาด​หมาย​ว่า​ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์​ของ​การ​สมรส​ใน​ออสเตรเลีย​จะ​ลงเอย​ด้วย​การ​หย่าร้าง. ภาย​ใน​ปี​เดียว​คือ​จาก​ปี 2002 ถึง​ปี 2003 การ​หย่าร้าง​ใน​สาธารณรัฐ​เกาหลี​มี​มาก​ถึง 21,800 ราย​เมื่อ​เทียบ​กับ​จำนวน​การ​หย่าร้าง​ทั้ง​หมด 167,100 ราย. ใน​ญี่ปุ่น คู่​สมรส​ทุก ๆ 1 ใน 4 คู่​ลงเอย​ด้วย​การ​หย่าร้าง ซึ่ง​เกือบ​จะ​เท่า​กับ​อัตรา​การ​หย่าร้าง​ของ​ยุโรป​ใน​ปัจจุบัน. ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ครอบครัว​จาก​มหาวิทยาลัย​กาชาด​ญี่ปุ่น​กล่าว​ว่า “สมัย​ก่อน การ​ลงเอย​ด้วย​การ​หย่าร้าง​ถือ​เป็น​เรื่อง​เลว​ร้าย​ที่​สุด​ใน​ชีวิต​สมรส. แต่​ใน​ปัจจุบัน​นี้ การ​หย่าร้าง​กลาย​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ใน​ชีวิต​ไป​แล้ว.”

ใน​หลาย​ประเทศ สถาบัน​ศาสนา​และ​ขนบธรรมเนียม​ใน​สังคม​มี​บทบาท​สำคัญ​ต่อ​ความ​มั่นคง​ของ​ชีวิต​สมรส. อย่าง​ไร​ก็​ตาม สิ่ง​เหล่า​นี้​ไม่​อาจ​หยุด​ยั้ง​กระแส​สังคม​ที่​ยอม​รับ​การ​หย่าร้าง​มาก​ขึ้น. ตัว​อย่าง​เช่น ขอ​พิจารณา​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก ซึ่ง​ถือ​ว่า​การ​สมรส​เป็น​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์. ใน​ปี 1983 คริสตจักร​ผ่อน​ผัน​เรื่อง​กฎ​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​พันธะ​การ​สมรส​และ​เป็น​ผล​ให้​ชาว​คาทอลิก​ยุติ​การ​สมรส​ง่าย​ขึ้น. ฉะนั้น การ​ประกาศ​ว่า​การ​สมรส​เป็น​โมฆะ​จึง​เพิ่ม​ขึ้น​นับ​แต่​นั้น​มา.

เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ค่า​นิยม​ที่​ช่วย​ผูก​มัด​ชีวิต​สมรส​เอา​ไว้​กำลัง​จะ​สูญ​หาย​ไป. แต่​ใช่​ว่า​สาเหตุ​ทุก​อย่าง​จะ​เห็น​ได้​อย่าง​ชัดเจน. ที่​จริง นอก​จาก​ความ​เสื่อม​ของ​สังคม​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว มี​สาเหตุ​สำคัญ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​ล้มเหลว ซึ่ง​สาเหตุ​นี้​ได้​ถูก​บดบัง​ไว้​จน​มนุษย์​ส่วน​ใหญ่​มอง​ไม่​เห็น.

สาเหตุ​ของ​มรสุม​ที่​ถูก​บดบัง​ไว้

คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เรา​ว่า ซาตาน​พญา​มาร​ซึ่ง​เป็น​แบบ​ฉบับ​ของ​ความ​เห็น​แก่​ตัว ได้​แผ่​อิทธิพล​อัน​ร้ายกาจ​ที่​มอง​ไม่​เห็น​เหนือ​ผู้​คน​บน​โลก​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ. เหตุ​ใด​จึง​เป็น​เช่น​นั้น? เพราะ​มัน​ถูก​ขับ​ไล่​ลง​มา​จาก​สวรรค์​ให้​อยู่​แต่​บริเวณ​แผ่นดิน​โลก​และ​กำลัง​โกรธ​มาก​ที​เดียว. ที่​จริง มัน​ตั้งใจ​จะ​ก่อ​ความ “วิบัติ” หรือ​ความ​เดือดร้อน​ให้​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้ และ​สถาบัน​การ​สมรส​ที่​พระเจ้า​จัด​เตรียม​ขึ้น​ก็​เป็น​หนึ่ง​ใน​เป้า​แห่ง​ความ​โกรธ​แค้น​ของ​ซาตาน.—วิวรณ์ 12:9, 12.

เมื่อ​กล่าว​ถึง​ตอน​ที่​ซาตาน​ถูก​ขับ​ไล่​จาก​สวรรค์ พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “เพราะ​ความ​ชั่ว​ทวี​ขึ้น, ความ​รัก​ของ​คน​เป็น​อัน​มาก​จะ​เยือกเย็น​ลง.” (มัดธาย 24:12) อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ใน​ทำนอง​เดียว​กัน​ว่า “เพราะ​ว่า​คน​จะ​เป็น​คน​รัก​ตัว​เอง, เป็น​คน​รัก​เงิน, อวด​ตัว, จองหอง, เป็น​คน​หมิ่น​ประมาท, ไม่​เชื่อ​ฟัง​บิดา​มารดา, อกตัญญู, ไม่​ภักดี, ไม่​มี​ความ​รักใคร่​ตาม​ธรรมชาติ, ไม่​ยอม​ตก​ลง​กัน, เป็น​คน​ใส่​ร้าย, ไม่​มี​การ​ควบคุม​ตน​เอง, ดุ​ร้าย, ไม่​รัก​ความ​ดี, เป็น​คน​ทรยศ, หัวดื้อ, เย่อหยิ่ง​จองหอง, เป็น​คน​รัก​การ​สนุกสนาน​แทน​ที่​จะ​รัก​พระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:2-4, ล.ม.) ลักษณะ​นิสัย​ที่​น่า​รังเกียจ​เช่น​นี้​มี​อยู่​เสมอ​มา​ใน​ระดับ​หนึ่ง แต่​ก็​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​ผิด​สังเกต​ใน​ปัจจุบัน ดัง​ที่​คน​ส่วน​ใหญ่​ก็​ยอม​รับ.

เมื่อ​คำนึง​ถึง​มรสุม​ที่​โจมตี​สถาบัน​การ​สมรส เรา​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ป้องกัน​ตัว​เรา​เอง​และ​เพื่อ​จะ​มี​ชีวิต​สมรส​ที่​มี​ความ​สุข​แท้​และ​ยั่งยืน? บทความ​ถัด​ไป​จะ​ตรวจ​สอบ​คำ​ถาม​นี้.

[คำ​โปรย​หน้า 5]

“ใน​สังคม​ปัจจุบัน​ที่​พร้อม​จะ​โยน​สิ่ง​ที่​ไม่​ต้องการ​ทิ้ง​ไป​ได้​ทุก​เมื่อ ผู้​คน​ก็​อาจ​คิด​เช่น​นี้​กับ​การ​สมรส.”—ซานดรา เดวิส ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​กฎหมาย​ครอบครัว

[กรอบ/ภาพ​หน้า 4]

“มั่นคง​น้อย​กว่า​การ​สมรส”

“เพศ​ตรง​ข้าม​หลาย​คู่​อยู่​กิน​ด้วย​กัน​โดย​ไม่​สมรส. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​สัมพันธ์​เช่น​นั้น​มี​ความ “มั่นคง​น้อย​กว่า​การ​สมรส” ด้วย​ซ้ำ ดัง​ที่​ศูนย์​ควบคุม​และ​ป้องกัน​โรค​แห่ง​สหรัฐ​รายงาน​ไว้. บาง​คู่​อยู่​ด้วย​กัน​เพื่อ​ดู​ว่า​เข้า​กัน​ได้​ไหม​ก่อน​ที่​จะ​สมรส. การ​อยู่​กิน​ด้วย​กัน​ก่อน​จะ​สมรส​ช่วย​ให้​คู่​สมรส​ที่​เข้า​กัน​ไม่​ได้​มี​จำนวน​ลด​ลง​และ​ช่วย​ปรับ​ปรุง​ชีวิต​สมรส​ให้​ดี​ขึ้น​ใน​ภาย​หลัง​ไหม? ตาม​ที่​กล่าว​ใน​วารสาร​เพื่อ​ชีวิต​สมรส​และ​ครอบครัว (ภาษา​อังกฤษ) หลักฐาน​บ่ง​ชี้​ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม. วารสาร นี้​กล่าว​ว่า “ท่ามกลาง​คน​ที่​สมรส​แล้ว คน​ที่​อยู่​กิน​ด้วย​กัน​ก่อน​จะ​แต่งงาน​มี​ความ​พึง​พอ​ใจ​ใน​ชีวิต​สมรส​น้อย​กว่า . . . , มี​รายงาน​เรื่อง​ปัญหา​ชีวิต​สมรส​มาก​กว่า, และ . . . มี​โอกาส​ที่​จะ​ประสบ​ความ​ล้มเหลว​สูง​กว่า.”

[กรอบ/ภาพ​หน้า 5]

ช่วง​ชีวิต​และ​การ​สมรส

ผู้​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​มี​อายุ​ยืน​ยาว​ขึ้น. แม้​เป็น​แนว​โน้ม​ใน​แง่​ดี แต่​ก็​ทำ​ให้​มี​ความ​เครียด​มาก​ขึ้น​ใน​ชีวิต​สมรส. ใน​อดีต สิ่ง​ที่​ยุติ​สาย​สมรส​คือ​ความ​ตาย​แต่​ใน​ปัจจุบัน​คือ​การ​หย่าร้าง. ขอ​พิจารณา​โรค​ประหลาด​เกี่ยว​กับ​การ​สมรส​ซึ่ง​มี​ผล​ต่อ​ผู้​หญิง​ใน​ญี่ปุ่น​ที่​แต่งงาน​มา​นาน​แล้ว. ตาม​ที่​เดอะ วอชิงตัน โพสต์ กล่าว​ไว้ ผู้​เชี่ยวชาญ​เรียก​โรค​นี้​ว่า “อาร์​เอช​เอส” หรือ “โรค​สามี​ปลด​เกษียณ (retired husband syndrome).” เมื่อ​คิด​ถึง​การ​ปลด​เกษียณ​ของ​สามี ภรรยา​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​แต่งงาน​มา 40 ปี​แล้ว​กล่าว​ว่า เมื่อ​ถึง​เวลา​นั้น​เธอ​คิด​ว่า “ตอน​นั้น​ฉัน​จะ​ต้อง​หย่า​กับ​เขา​แน่. การ​ที่​ต้อง​คอย​ปรนนิบัติ​รับใช้​เมื่อ​เขา​กลับ​มา​จาก​ที่​ทำ​งาน​มัน​ก็​แย่​พอ​อยู่​แล้ว. แต่​ถ้า​เขา​อยู่​บ้าน​ตลอด​เวลา ก็​คง​จะ​เป็น​เรื่อง​ที่​เหลือ​ทน​จริง ๆ.”