ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมื่อปลาทำให้คุณป่วย

เมื่อปลาทำให้คุณป่วย

เมื่อ​ปลา​ทำ​ให้​คุณ​ป่วย

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ฟิจิ

จะ​กิน​หรือ​ไม่​กิน—อะเรบอนโต​ไม่​รู้​ว่า​จะ​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​ไร​ดี. เขา​รู้​ว่า​เป็น​การ​เสี่ยง​ที่​จะ​กิน แต่​เขา​กำลัง​หิว. และ​ปลา​ย่าง​ตัว​นี้​ช่าง​หอม​น่า​กิน​เสีย​จริง. ใน​ที่​สุด​ความ​อยาก​กิน​ของ​เขา​ก็​ชนะ. แต่​เมื่อ​เริ่ม​มี​อาการ​คลื่นเหียน​และ​ปวด​ท้อง แล้ว​ก็​อาเจียน​และ​ท้องร่วง เขา​คิด​ว่า​ถ้า​ไม่​ได้​กิน​ปลา​นั้น​เข้า​ไป​ก็​คง​จะ​ดี​กว่า.

ตอน​ที่​เพื่อน ๆ รีบ​ส่ง​ตัว​อะเรบอนโต​ไป​ถึง​โรง​พยาบาล​ใน​เกาะ​เล็ก ๆ แถบ​แปซิฟิก​ที่​เขา​อาศัย​อยู่ เขา​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​เกือบ​หมด​สติ, ขาด​น้ำ, เจ็บ​หน้า​อก, ความ​ดัน​โลหิต​ต่ำ​ถึง​ขั้น​อันตราย, และ​ชีพ​จร​เต้น​ช้า. ใน​ช่วง​สอง​สาม​วัน​หลัง​จาก​นั้น นอก​จาก​จะ​ปวด​หัว, มึน​งง, และ​หมด​เรี่ยว​แรง​แล้ว เขา​ก็​รู้สึก​ชา​ที่​ขา, เจ็บ​เวลา​ปัสสาวะ, และ​มี​ความ​รู้สึก​กลับ​กัน คือ​เย็น​กลับ​รู้สึก​ร้อน และ​ร้อน​กลับ​รู้สึก​เย็น. หลัง​จาก​แปด​วัน​ผ่าน​ไป ชีพ​จร​ของ​เขา​ก็​กลับ​สู่​ภาวะ​ปกติ แต่​ยัง​มี​อาการ​ชา​และ​อ่อน​เพลีย​อยู่​อีก​หลาย​สัปดาห์.

อะเรบอนโต​เป็น​เหยื่อ​ของ​สาร​พิษ​ที่​เกิด​ขึ้น​ตาม​ธรรมชาติ​และ​เป็น​อันตราย​มาก​ซึ่ง​ปน​เปื้อน​อยู่​ใน​ปลา​ที่​อาศัย​ตาม​พืด​หิน​ปะการัง​ใน​แถบ​เขต​ร้อน​ซึ่ง​ตาม​ปกติ​เป็น​ปลา​ที่​กิน​ได้. ภาวะ​นี้​ซึ่ง​เรียก​ว่า​ภาวะ​พิษ​ซีกัวเตรา​ที่​อยู่​ใน​ปลา (ซีเอฟพี) เกิด​ขึ้น​ใน​เขต​ร้อน​และ​เขต​กึ่ง​เขต​ร้อน​ใน​มหาสมุทร​อินเดีย​และ​แปซิฟิก​และ​ใน​ทะเล​แคริบเบียน. ใน​บริเวณ​ที่​กล่าว​มา​นี้ ปลา​ที่​จับ​ได้​ใน​ท้องถิ่น​เป็น​แหล่ง​อาหาร​สำคัญ.

ซีเอฟพี​ไม่​ใช่​โรค​ใหม่. ที่​จริง​โรค​นี้​เป็น​ภัย​ร้ายแรง​ของ​นัก​สำรวจ​ทาง​ทะเล​ชาว​ยุโรป. นัก​ท่อง​เที่ยว​หลาย​คน​ใน​ปัจจุบัน​ก็​ได้​รับ​ผล​กระทบ​ที่​ร้ายกาจ​ของ​มัน​เช่น​กัน. เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​ว่า​โรค​นี้​ทำ​ให้​อุตสาหกรรม​ประมง​และ​ท่อง​เที่ยว​ของ​ประเทศ​ที่​เป็น​หมู่​เกาะ​หลาย​ประเทศ​ไม่​เจริญ​เติบโต​เท่า​ที่​ควร. ยิ่ง​กว่า​นั้น การ​ค้า​ปลา​ที่​อยู่​ตาม​พืด​ปะการัง​ระหว่าง​ประเทศ​ทั้ง​ปลา​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่​หรือ​ปลา​แช่​แข็ง​ก็​ทำ​ให้​ผล​กระทบ​จาก​โรค​ซีเอฟพี​มี​แผ่​ไป​กว้าง​ไกล​กว่า​ประเทศ​เขต​ร้อน ออก​ไป​ยัง​ภูมิภาค​ที่​โรค​นี้​ยัง​ไม่​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย. *

อะไร​ทำ​ให้​ปลา​ที่​อยู่​ตาม​พืด​ปะการัง​กลาย​เป็น​พิษ? จะ​รู้​ได้​ไหม​ว่า​ปลา​ตัว​ใด​เป็น​พิษ? ขอ​พิจารณา​ผล​จาก​การ​ค้นคว้า​หลาย​ทศวรรษ​ที่​ผ่าน​มา.

ระบุ​ต้น​เหตุ

โดย​ทั่ว​ไป​เชื่อ​กัน​ว่า​จุลชีพ​ชนิด​หนึ่ง​ที่​เรียก​ว่า​ไดโนแฟลเจลเลต​เป็น​ที่​มา​ของ​พิษ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​โรค​ซีเอฟพี. * จุลชีพ​ชนิด​นี้​อาศัย​อยู่​บน​ปะการัง​ที่​ตาย​แล้ว​และ​เกาะ​ติด​อยู่​กับ​สาหร่าย. ปลา​ตัว​เล็ก ๆ ตอด​กิน​สาหร่าย​และ​กิน​พิษ​ที่​ไดโนแฟลเจลเลต​ผลิต​ขึ้น ซึ่ง​เรียก​ว่า​พิษ​ซีกัวทอกซิน. จาก​นั้น​ปลา​ตัว​ที่​ใหญ่​กว่า​ก็​จะ​กิน​ปลา​เหล่า​นี้ ซึ่ง​ก็​จะ​ถูก​ปลา​ตัว​อื่น​กิน​เป็น​ทอด ๆ ทำ​ให้​พิษ​สะสม​ไป​ถึง​ห่วง​โซ่​อาหาร​ตอน​บน ๆ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดู​เหมือน​พวก​ปลา​จะ​ไม่​เป็น​อะไร.

พิษ​ซีกัวทอกซิน​เป็น​สาร​พิษ​จาก​สิ่ง​มี​ชีวิต​ที่​มี​พิษ​ร้ายแรง​ที่​สุด​ชนิด​หนึ่ง​เท่า​ที่​รู้​จัก​กัน. น่า​ดีใจ “มี​ปลา​เพียง​ไม่​กี่​ชนิด​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​โรค​ซีเอฟพี” เอกสาร​ของ​รัฐบาล​ออสเตรเลีย​กล่าว. ซีกัวทอกซิน​ไม่​ได้​ทำ​ให้​ปลา​นั้น​มี​รูป​ร่าง​หน้า​ตา, กลิ่น, หรือ​รสชาติ​เปลี่ยน​ไป และ​การ​ทำ​ให้​สุก, การ​ตาก​แห้ง, การ​ทำ​ปลา​เค็ม, การ​รม​ควัน, หรือ​การ​หมัก​ก็​ไม่​อาจ​ทำ​ให้​พิษ​นี้​สลาย​ไป​ได้. ใน​กรณี​ของ​อะเรบอนโต ปลา​ตัว​ที่​เขา​กิน​นั้น​ไม่​มี​อะไร​เตือน​เขา​เลย​ว่า​มี​อันตราย​ซ่อน​อยู่ จน​กระทั่ง​เขา​มี​อาการ​อย่าง​รุนแรง​ใน​ระบบ​ทาง​เดิน​อาหาร, ระบบ​หัวใจ​และ​หลอด​เลือด, และ​ระบบ​ประสาท.

การ​วินิจฉัย​และ​การ​รักษา

ใน​ปัจจุบัน ยัง​ไม่​มี​การ​ทดสอบ​ใน​ห้อง​ทดลอง​เพื่อ​หา​โรค​ซีเอฟพี​ใน​มนุษย์. การ​วินิจฉัย​อาศัย​อาการ​หลาย​อย่าง​ที่​ปรากฏ​ให้​เห็น ซึ่ง​มัก​เกิด​ขึ้น​ภาย​ใน​ไม่​กี่​ชั่วโมง​หลัง​จาก​กิน​ปลา​เข้า​ไป​และ​อาจ​ยืน​ยัน​โดย​การ​ทดสอบ​หา​พิษ​จาก​ปลา​ที่​เหลือ. (ดู​กรอบ​หน้า​ตรง​ข้าม.) ถ้า​คุณ​สงสัย​ว่า​เป็น​โรค​ซีเอฟพี ก็​นับ​ว่า​สุขุม​ที่​จะ​ไป​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​แพทย์. แม้​ว่า​ยัง​ไม่​ค้น​พบ​ยา​แก้​พิษ แต่​การ​รักษา​อาจ​บรรเทา​อาการ​บาง​อย่าง ซึ่ง​ตาม​ปกติ​มัก​จะ​ทุเลา​ลง​เอง​ภาย​ใน​ไม่​กี่​วัน. อย่าง​ไร​ก็​ดี โรค​ซีเอฟพี​อาจ​ทำ​ให้​อ่อน​เพลีย และ​การ​รักษา​ตั้ง​แต่​เนิ่น ๆ อาจ​ป้องกัน​ไม่​ให้​โรค​นี้​ส่ง​ผล​กระทบ​อย่าง​ยืดเยื้อ.

ความ​รุนแรง​ของ​อาการ​มี​หลาย​ระดับ​ซึ่ง​ก็​ขึ้น​อยู่​กับ​ปัจจัย​หลาย​อย่าง. ปัจจัย​เหล่า​นี้​รวม​ไป​ถึง​ระดับ​ของ​พิษ​ที่​อยู่​ใน​ตัว​ปลา, ปริมาณ​ที่​กิน​เข้า​ไป​และ​กิน​ส่วน​ไหน​ของ​ปลา, ระดับ​ของ​ซีกัวทอกซิน​ที่​มี​อยู่​ใน​ตัว​คนไข้​อยู่​แล้ว, และ​ปลา​นั้น​มา​จาก​แถบ​ไหน เพราะ​ดู​เหมือน​ว่า​พิษ​จาก​แต่​ละ​ภูมิภาค​จะ​แตกต่าง​กัน​อยู่​บ้าง. แทน​ที่​จะ​สร้าง​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ต่อ​ต้าน​พิษ​นี้ มนุษย์​กลับ​ไว​ต่อ​พิษ​นี้​มาก​ขึ้น ทำ​ให้​การ​ถูก​พิษ​ซ้ำ​มี​อาการ​รุนแรง​ยิ่ง​ขึ้น! การ​บริโภค​แอลกอฮอล์​ก็​ยิ่ง​ทำ​ให้​อาการ​ทรุด​หนัก​ลง​เช่น​กัน. เพื่อ​จะ​เลี่ยง​ไม่​ให้​เกิด​อาการ​ขึ้น​อีก คนไข้​ควร​งด​กิน​ปลา​เป็น​เวลา​สาม​ถึง​หก​เดือน​หลัง​จาก​เป็น​โรค​ซีเอฟพี หนังสือ​เล่ม​หนึ่ง​เกี่ยว​กับ​โรค​ที่​แพร่​หลาย​นี้​อธิบาย.

ผู้​ป่วย​ที่​มี​อาการ​หนัก​อาจ​ป่วย​อยู่​นาน​หลาย​สัปดาห์​หรือ​หลาย​เดือน และ​บาง​ครั้ง​หลาย​ปี ซึ่ง​ทำ​ให้​มี​อาการ​คล้าย​กับ​โรค​อ่อน​เพลีย​เรื้อรัง. ใน​กรณี​ที่​เกิด​ขึ้น​ไม่​บ่อย​นัก จะ​เกิด​การ​เสีย​ชีวิต​จาก​ภาวะ​ช็อก, หัวใจ​หรือ​ระบบ​การ​หายใจ​ล้มเหลว, หรือ​ภาวะ​ขาด​น้ำ. แต่​ใน​กรณี​เหล่า​นี้ ตาม​ปกติ​มัก​เกิด​ขึ้น​เนื่อง​จาก​ผู้​ป่วย​กิน​เนื้อ​เยื่อ​ที่​มี​พิษ​สะสม​อยู่​มาก เช่น ส่วน​หัว​หรือ​อวัยวะ​ภาย​ใน​ของ​ปลา.

เรื่อง​ที่​ยัง​เป็น​ปริศนา​อยู่

ปลา​เกือบ​ทุก​ชนิด​ที่​อยู่​ตาม​แนว​ปะการัง​และ​สัตว์​ที่​กิน​ปลา​เหล่า​นั้น​เป็น​อาหาร​ก็​มี​โอกาส​ได้​รับ​พิษ​ซีกัวทอกซิน​ด้วย. แต่​เรื่อง​นี้​เป็น​เรื่อง​น่า​ฉงน. ปลา​จาก​พืด​ปะการัง​ใน​บริเวณ​หนึ่ง​อาจ​มี​พิษ​สูง​มาก แต่​ปลา​ชนิด​เดียว​กัน​ที่​จับ​ได้​ใน​บริเวณ​ใกล้​เคียง​กัน​นั้น​อาจ​ปลอด​ภัย​ดี. ปลา​ชนิด​ที่​มัก​จะ​พบ​ว่า​มี​พิษ​ใน​ส่วน​หนึ่ง​ของ​โลก​อาจ​ถือ​ว่า​ปลอด​พิษ​ใน​อีก​ส่วน​หนึ่ง​ของ​โลก. เนื่อง​จาก​การ​ปล่อย​พิษ​ของ​ไดโนแฟลเจลเลต​ไม่​แน่นอน​การ​เกิด​พิษ​ใน​ปลา​จึง​ไม่​อาจ​คาด​เดา​ได้.

ที่​ทำ​ให้​ปัญหา​ยุ่งยาก​ขึ้น​อีก​ก็​คือ ยัง​ไม่​มี​การ​ทดสอบ​ที่​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​ไม่​แพง​และ​เชื่อถือ​ได้​ที่​ว่า ปลา​ตัว​ใด​มี​พิษ. เท่า​ที่​เจ้าหน้าที่​สาธารณสุข​จะ​ทำ​ได้​ใน​ตอน​นี้​คือ​แจ้ง​ให้​ประชาชน​ทราบ​ว่า​ปลา​ชนิด​ใด​ควร​เลี่ยง​และ​ปลา​ชนิด​นั้น​อาจ​จับ​มา​จาก​ที่​ใด ซึ่ง​เป็น​ข้อมูล​ที่​ได้​จาก​รายงาน​การ​เกิด​โรค​ซีเอฟพี. ปลา​ชนิด​ที่​น่า​สงสัย​ที่​สุด​ก็​มี​ปลา​น้ำ​ดอกไม้, ปลา​เก๋า, ปลา​อินทรี, ปลา​กะพง​แดง, ปลา​กะ​รัง, ปลา​กะพง, และ​ปลา​ไหล​มอเรย์. ปลา​อายุ​มาก ๆ ตัว​โต ๆ มัก​จะ​มี​ความ​เสี่ยง​สูง​กว่า. ใน​บาง​แห่ง เป็น​การ​ผิด​กฎหมาย​ที่​จะ​ขาย​ปลา​ที่​อาจ​ไม่​ปลอด​ภัย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว ปลา​ทะเล​ที่​ไม่​ได้​กิน​ปลา​ที่​อาศัย​ตาม​พืด​ปะการัง​และ​ปลา​ที่​ไม่​ได้​มา​จาก​เขต​ร้อน​นั้น​ถือ​ว่า​ปลอด​ภัย.

คาด​กัน​ว่า​จะ​มี​โรค​ซีเอฟพี​เพิ่ม​มาก​ขึ้น. ส่วน​หนึ่ง​เนื่อง​จาก​ปะการัง​ที่​ตาย​แล้ว​ทำ​ให้​เกิด​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​เอื้ออำนวย​ให้​ไดโนแฟลเจลเลต​ที่​มี​พิษ​เพิ่ม​ทวี​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว และ​รายงาน​บ่ง​ชี้​ว่า​แนว​ปะการัง​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ กำลัง​ป่วย​หรือ​ไม่​ก็​กำลัง​ตาย.

แม้​ว่า​โรค​ซีเอฟพี​จะ​คาด​การณ์​ได้​ลำบาก แต่​คุณ​ก็​ลด​ความ​เสี่ยง​ลง​ได้​โดย​ทำ​ตาม​หลักการ​พื้น​ฐาน​บาง​อย่าง (ดู​กรอบ​ข้าง​บน.) อะเรบอนโต​เกือบ​เสีย​ชีวิต​เพราะ​ไม่​ได้​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​เหล่า​นี้. เขา​กิน​หัว​และ​เนื้อ​ปลา​กะ​รัง​ที่​จับ​ได้​ใน​ท้องถิ่น​ทั้ง ๆ ที่​รู้​ว่า​มี​ความ​เสี่ยง​สูง. เขา​เคย​กิน​ปลา​ชนิด​นี้​มา​ก่อน​โดย​ไม่​ป่วย และ​มั่น​ใจ​มาก​เกิน​ไป​เช่น​เดียว​กับ​ชาว​เกาะ​หลาย ๆ คน.

ที่​กล่าว​มา​ทั้ง​หมด​นี้​หมาย​ความ​ว่า​คุณ​ควร​งด​กิน​อาหาร​ทะเล​ทุก​ชนิด​ไหม บาง​ที​ขณะ​ที่​ไป​พัก​ร้อน​อยู่​ใน​ประเทศ​เขต​ร้อน? ไม่​เลย. สิ่ง​ที่​สุขุม​คือ​เอา​ใจ​ใส่​ฟัง​คำ​เตือน​และ​เลือก​ปลา​ที่​คุณ​กิน​อย่าง​ฉลาด.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 6 เนื่อง​จาก​การ​วินิจฉัย​โรค​ผิด​และ​การ​ไม่​ได้​รายงาน​ทุก​กรณี จึง​ไม่​ทราบ​ว่า​แท้​จริง​แล้ว​ทั่ว​โลก​มี​ผู้​ป่วย​ด้วย​โรค​นี้​จำนวน​เท่า​ไร. แหล่ง​อ้างอิง​ต่าง ๆ กะ​ประมาณ​ว่า​ทั่ว​โลก​มี​ผู้​ป่วย​ด้วย​โรค​นี้​ประมาณ 50,000 ราย​ต่อ​ปี.

^ วรรค 9 ไดโนแฟลเจลเลต​มี​ชื่อ​ชนิด​พันธุ์​คือ​Gambierdiscus toxicus.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 21]

อาการ​ที่​เกิด​ขึ้น​ทั่ว​ไป

▪ ท้องร่วง, คลื่นเหียน, อาเจียน, เป็น​ตะคริว​ที่​ท้อง

▪ หนาว​สั่น, เหงื่อ​ออก, มึน​งง, ปวด​ศีรษะ, คัน

▪ ชา​หรือ​เป็น​เหน็บ​บริเวณ​ปาก, มือ, หรือ​เท้า

▪ มี​ความ​รู้สึก​กลับ​กัน เย็น​กลับ​รู้สึก​ร้อน และ​ร้อน​กลับ​รู้สึก​เย็น

▪ ปวด​กล้ามเนื้อ​และ​ข้อ​ต่อ และ​ปวด​เมื่อ​ปัสสาวะ

▪ ชีพ​จร​เต้น​ช้า, ความ​ดัน​โลหิต​ต่ำ, อ่อน​เพลีย

[กรอบ/ภาพ​หน้า 21]

ลด​ความ​เสี่ยง

▪ สอบ​ถาม​กรม​ประมง​หรือ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​การ​ประมง​ว่า​ควร​เลี่ยง​ปลา​ชนิด​ใด​และ​บริเวณ​ใด​ที่​มี​การ​จับ​ปลา​ที่​มี​พิษ​ได้.

▪ ไม่​ควร​กิน​ปลา​ที่​จับ​จาก​บริเวณ​ที่​เพิ่ง​มี​รายงาน​เกี่ยว​กับ​โรค​ซีกัวเตรา.

▪ ไม่​ควร​กิน​ปลา​ที่​อยู่​ตาม​พืด​ปะการัง​ที่​อายุ​มาก ๆ ตัว​โต ๆ.

▪ อย่า​กิน​หัว, ตับ, หรือ​อวัยวะ​ภาย​ใน​อื่น ๆ ของ​ปลา.

▪ ทันที​ที่​คุณ​จับ​ปลา​ที่​อยู่​ตาม​พืด​ปะการัง​ได้ ให้​รีบ​ผ่า​ท้อง​เอา​ไส้​พุง​ออก​ให้​หมด​แล้ว​ล้าง​ให้​สะอาด.

[ภาพ​หน้า 20, 21]

ปลา​ที่​มัก​ก่อ​ให้​เกิด​โรค​นี้

(ชื่อ​ที่​เรียก​กัน​ทั่ว​ไป​อาจ​ต่าง​กัน)

ปลา​น้ำ​ดอกไม้

ปลา​เก๋า

ปลา​กะ​รัง

ปลา​กะพง

ปลา​อินทรี

ปลา​ไหล​มอเรย์

[ภาพ​หน้า 20]

ไดโนแฟลเจลเลต แหล่ง​ที่​มา​ของ​พิษ

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 20]

All fish except eel: Illustrated by Diane Rome Peebles - Provided by the Florida Fish and Wildlife Conservation Commission, Division of Marine Fisheries Management; eel: Photo by John E. Randall; dinoflagellate: Image by D. Patterson and R. Andersen, provided courtesy of micro*scope (http://microscope.mbl.edu)

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 21]

Fish backgrounds: Illustrated by Diane Rome Peebles - Provided by the Florida Fish and Wildlife Conservation Commission, Division of Marine Fisheries Management