ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การให้เลือดในการรักษามีอนาคตที่ราบรื่นไหม?

การให้เลือดในการรักษามีอนาคตที่ราบรื่นไหม?

การ​ให้​เลือด​ใน​การ​รักษา​มี​อนาคต​ที่​ราบรื่น​ไหม?

“การ​รักษา​โดย​การ​ถ่าย​เลือด​จะ​ยัง​คง​เป็น​เหมือน​กับ​การ​เดิน​ฝ่า​ป่า​ดิบ​เขต​ร้อน ซึ่ง​แม้​เส้น​ทาง​จะ​เป็น​ที่​รู้​จัก​และ​ไม่​มี​อุปสรรค แต่​ก็​ยัง​ต้อง​เดิน​ด้วย​ความ​ระมัดระวัง​และ​อันตราย​ใหม่ ๆ และ​ที่​มอง​ไม่​เห็น​อาจ​จะ​ก่อ​อันตราย​แก่​คน​ที่​ไม่​ระมัด​ระวัง.”—ดร. เอียน เอ็ม. แฟรงคลิน, ศาสตราจารย์​สาขา​เวชศาสตร์​บริการ​โลหิต.

หลัง​จาก​การ​แพร่​ระบาด​ของ​เอดส์​ไป​ทั่ว​โลก​ทำ​ให้​เลือด​กลาย​เป็น​ที่​สนใจ​ของ​สาธารณชน​ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1980 ก็​มี​ความ​พยายาม​กัน​มาก​ขึ้น​เพื่อ​กำจัด “อันตราย . . . ที่​แฝง​อยู่” ใน​เลือด. กระนั้น อุปสรรค​ใหญ่ ๆ ยัง​คง​มี​อยู่. เมื่อ​เดือน​มิถุนายน 2005 องค์การ​อนามัย​โลก​ยอม​รับ​ว่า “โอกาส​ที่​จะ​ได้​รับ​การ​ถ่าย​เลือด​อย่าง​ปลอด​ภัย . . . แตกต่าง​กัน​มาก​ใน​แต่​ละ​ประเทศ.” ทำไม​จึง​เป็น​เช่น​นั้น?

ใน​หลาย​ประเทศ​ไม่​มี​โครงการ​ประสาน​ความ​ร่วม​มือ​กัน​ใน​ระดับ​ชาติ​ที่​ทำ​ให้​มั่น​ใจ​ใน​เรื่อง​มาตรฐาน​ด้าน​ความ​ปลอด​ภัย​ใน​การ​เจาะ​เก็บ, การ​ตรวจ​สอบ, และ​การ​ขน​ส่ง​เลือด​กับ​ผลิตภัณฑ์​จาก​เลือด. บาง​ครั้ง เลือด​ที่​หา​มา​ได้​ก็​ถูก​เก็บ​ไว้​ใน​สภาพ​ที่​เป็น​อันตราย​มาก​ด้วย​ซ้ำ คือ​เก็บ​ไว้​ใน​ตู้​เย็น​แบบ​ที่​ใช้​ตาม​บ้าน​และ​ใน​กล่อง​ปิกนิก​แช่​เย็น! เมื่อ​ไม่​มี​การ​กำหนด​มาตรฐาน​ด้าน​ความ​ปลอด​ภัย​อย่าง​เหมาะ​สม ผู้​ป่วย​ก็​อาจ​ได้​รับ​ผล​กระทบ​ที่​เป็น​อันตราย​จาก​เลือด​ที่​ได้​จาก​คน​ที่​อยู่​ห่าง​ไกล​ออก​ไป​หลาย​ร้อย​หลาย​พัน​กิโลเมตร.

เลือด​ปลอด​เชื้อ—เป้าหมาย​ที่​ยาก​จะ​บรรลุ

บาง​ประเทศ​อ้าง​ว่า​เลือด​ใน​คลัง​ของ​ตน​มี​ความ​ปลอด​ภัย​ยิ่ง​กว่า​แต่​ก่อน. ถึง​กระนั้น ก็​ยัง​มี​เหตุ​ผล​ที่​ต้อง​ระวัง. หน้า​แรก​ของ “เอกสาร​เผยแพร่​ข้อมูล” ซึ่ง​สาม​หน่วย​งาน​ที่​ให้​บริการ​ด้าน​โลหิต​ของ​สหรัฐ​ร่วม​กัน​จัด​ทำ​ขึ้น มี​ข้อ​ความ​กล่าว​ว่า “คำ​เตือน: เนื่อง​จาก​เลือด​ครบ​ส่วน​และ​ส่วน​ประกอบ​ของ​เลือด​ได้​มา​จาก​เลือด​มนุษย์ เลือด​และ​ส่วน​ประกอบ​ของ​เลือด​จึง​อาจ​เสี่ยง​ต่อ​การ​แพร่​เชื้อ​ต่าง ๆ เช่น ไวรัส . . . การ​คัดเลือก​ผู้​บริจาค​โลหิต​อย่าง​ระมัดระวัง​และ​การ​ตรวจ​ทาง​ห้อง​ปฏิบัติการ​ที่​ทำ​กัน​อยู่​ไม่​ได้​ขจัด​อันตราย​เหล่า​นี้​ให้​หมด​ไป.”

มี​เหตุ​ผล​หนักแน่น​ที​เดียว​ที่ พีเตอร์ คาร์รอลลัน เจ้าหน้าที่​ระดับ​สูง​ของ​สหพันธ์​สภา​กาชาด​และ​สภา​เสี้ยว​วง​เดือน​แดง​ระหว่าง​ประเทศ กล่าว​ว่า “เรา​ไม่​อาจ​ให้​คำ​รับประกัน​ได้​อย่าง​เต็ม​ที่​ว่า​เลือด​ที่​เรา​มี​อยู่​นั้น​ปลอด​ภัย.” เขา​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า “จะ​มี​เชื้อ​ก่อ​โรค​ชนิด​ใหม่ ๆ ปรากฏ​ขึ้น​ได้​เสมอ ซึ่ง​ขณะ​นี้​ยัง​ไม่​มี​การ​ตรวจ​พบ.”

แล้ว​ถ้า​มี​เชื้อ​ก่อ​โรค​ชนิด​ใหม่​ปรากฏ​ขึ้น เป็น​เชื้อ​ที่​คล้าย​กับ​เอดส์ อยู่​ใน​สภาพ​พาหะ​เป็น​เวลา​นาน​โดย​ไม่​สามารถ​ตรวจ​พบ​ได้ แต่​ก็​แพร่​ออก​ไป​ได้​ทันที​โดย​ทาง​เลือด​ล่ะ? ใน​การ​บรรยาย ณ การ​สัมมนา​ทาง​การ​แพทย์​ที่​กรุง​ปราก สาธารณรัฐ​เช็ก​ใน​เดือน​เมษายน ปี 2005 นพ. ฮาร์วีย์ จี. ไคลน์ จาก​สถาบัน​สุขภาพ​แห่ง​ชาติ​ของ​สหรัฐ ได้​พรรณนา​ถึง​โอกาส​ที่​จะ​เกิด​การ​แพร่​เชื้อ​เช่น​นั้น​ว่า​น่า​วิตก. เขา​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า “ผู้​ทำ​หน้า​ที่​รับ​บริจาค​เลือด​คง​จะ​ไม่​สามารถ​ป้องกัน​การ​ระบาด​ของ​เชื้อ​ก่อ​โรค​อัน​เกิด​จาก​การ​ถ่าย​เลือด​ได้ เหมือน​กับ​ที่​เคย​เป็น​เมื่อ​ครั้ง​ที่​เอดส์​เริ่ม​ระบาด​ใหม่ ๆ.”

ความ​ผิด​พลาด​และ​ปฏิกิริยา​จาก​การ​ให้​เลือด

อันตราย​ร้ายแรง​ที่​สุด​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ให้​เลือด​แก่​ผู้​ป่วย​ใน​ประเทศ​ที่​เจริญ​แล้ว​คือ​อะไร? ก็​คือ​ความ​ผิด​พลาด​ใน​การ​ปฏิบัติ​งาน และ​ปฏิกิริยา​ที่​เกิด​จาก​ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน. หนังสือ​พิมพ์​เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ รายงาน​เกี่ยว​กับ​การ​ศึกษา​วิจัย​ใน​แคนาดา​เมื่อ​ปี 2001 ว่า การ​ให้​เลือด​หลาย​พัน​ราย​มี​ความ​ผิด​พลาด​ที่​เป็น​อันตราย​ถึง​ตาย​เนื่อง​จาก “การ​เจาะ​เลือด​ส่ง​ตรวจ​จาก​ผู้​ป่วย​ผิด​คน ติด​ป้าย​ผิด​ที่​หลอด​เก็บ​ตัว​อย่าง​เลือด และ​ขอ​เลือด​ให้​แก่​ผู้​ป่วย​ผิด​คน.” ความ​ผิด​พลาด​ใน​ลักษณะ​เดียว​กัน​นี้​เป็น​เหตุ​ให้​ผู้​ป่วย​ใน​สหรัฐ​เสีย​ชีวิต​อย่าง​น้อย 441 คน ระหว่าง​ปี 1995 ถึง​ปี 2001.

คน​ที่​รับ​เลือด​จาก​ผู้​อื่น​ส่วน​ใหญ่​จะ​เผชิญ​ความ​เสี่ยง​คล้าย ๆ กับ​คน​ที่​รับ​การ​ปลูก​ถ่าย​อวัยวะ. ปฏิกิริยา​ตอบ​สนอง​ของ​ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน​คือ คอย​ต่อ​ต้าน​เนื้อ​เยื่อ​ที่​แปลกปลอม. บาง​กรณี การ​ให้​เลือด​จะ​กด​ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ของ​ร่าง​กาย​ให้​ไม่​สามารถ​ทำ​งาน​ได้​ตาม​ปกติ. การ​กด​ภูมิ​คุ้ม​กัน​จะ​ทำ​ให้​ผู้​ป่วย​ติด​เชื้อ​หลัง​การ​ผ่าตัด​ได้​ง่าย​ขึ้น และ​เสี่ยง​ต่อ​การ​ติด​เชื้อ​ไวรัส​ที่​สงบ​อยู่​ก่อน​หน้า​นี้. ไม่​น่า​ประหลาด​ใจ​เลย​ที่​ศาสตราจารย์​เอียน เอ็ม. แฟรงคลิน​ที่​มี​การ​ยก​คำ​พูด​ของ​เขา​มา​กล่าว​ใน​ตอน​ต้น​ของ​บทความ​นี้​จะ​แนะ​แพทย์​ทั้ง​หลาย​ให้ “คิด​สัก​ครั้ง แล้ว​ก็​คิด​อีก และ​ก็​คิด​อีก​ที ก่อน​จะ​ให้​เลือด​แก่​ผู้​ป่วย.”

ผู้​เชี่ยวชาญ​แสดง​ความ​เห็น​ตรง​ไป​ตรง​มา

เมื่อ​รู้​เช่น​นี้ บุคลากร​ทาง​การ​แพทย์​จำนวน​มาก​ขึ้น​จึง​หัน​มา​พิจารณา​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​และ​ระมัดระวัง​กัน​มาก​ขึ้น​ใน​เรื่อง​การ​ให้​เลือด​เพื่อ​การ​รักษา. หนังสือ​ความ​รู้​เรื่อง​เลือด​ฉบับ​ย่อ​ของ​เดลีย์ (ภาษา​อังกฤษ) รายงาน​ว่า “แพทย์​บาง​คน​ถือ​ว่า​เลือด​ที่​รับ​จาก​ผู้​อื่น​เป็น​ยา​อันตราย และ​เชื่อ​ว่า​จะ​ถูก​ห้าม​ใช้ ถ้า​มี​การ​ประเมิน​พิษ​ภัย​ของ​เลือด​บริจาค​ด้วย​มาตรฐาน​เดียว​กัน​กับ​ที่​ใช้​ใน​การ​ประเมิน​ยา​ตัว​อื่น ๆ.”

ปลาย​ปี 2004 ศาสตราจารย์​บรูซ สปิซ กล่าว​เกี่ยว​กับ​การ​ให้​ส่วน​ประกอบ​หลัก​ของ​เลือด​แก่​ผู้​ป่วย​ที่​รับ​การ​ผ่าตัด​หัวใจ​ว่า “หา​บทความ [ทาง​การ​แพทย์] ได้​ยาก​มาก​ที่​ให้​หลักฐาน​แสดง​ว่า การ​ให้​เลือด​จะ​ทำ​ให้​ผล​การ​ผ่าตัด​หัวใจ​ออก​มา​ดี​กว่า.” ที่​จริง เขา​เขียน​ว่า การ​ให้​เลือด​เช่น​นั้น​หลาย​กรณี “อาจ​ก่อ​ผล​ร้าย​มาก​กว่า​ผล​ดี​ใน​ผู้​ป่วย​แทบ​ทุก​ราย ไม่​รวม​ถึง​กรณี​อุบัติเหตุ” การ​ให้​เลือด​ทำ​ให้​มี “ความ​เสี่ยง​ต่อ​ภาวะ​ปอด​อักเสบ, การ​ติด​เชื้อ, กล้ามเนื้อ​หัวใจ​ขาด​เลือด​เฉียบ​พลัน, และ​หลอด​เลือด​สมอง​อุดตัน” สูง​ขึ้น.

หลาย​คน​ประหลาด​ใจ​เมื่อ​รู้​ว่า​เกณฑ์​การ​ให้​เลือด​ไม่​ได้​มี​มาตรฐาน​เดียว​อย่าง​ที่​ใคร ๆ อาจ​คิด​กัน. เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ นพ. เก​เบรี​ยล เพดราซา ได้​เตือน​เพื่อน​หมอ​ใน​ชิลี​ให้​ระลึก​ว่า “การ​ให้​เลือด​เป็น​เวช​ปฏิบัติ​ที่​ไม่​อาจ​กำหนด​อะไร​ลง​ไป​แน่นอน​ได้” ทำ​ให้ “ยาก​ที่​จะ . . . ใช้​เกณฑ์​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​ที่​จะ​ยอม​รับ​กัน​เป็น​สากล.” ไม่​น่า​ประหลาด​ใจ​เลย​ที่ ไบรอัน มักแคลลันด์ ผู้​อำนวย​การ​ศูนย์​บริการ​โลหิต​แห่ง​เอดินบะระ​และ​สกอตแลนด์ ขอ​ให้​แพทย์ “ระลึก​เสมอ​ว่า​การ​ให้​เลือด​คือ​การ​ปลูก​ถ่าย​เนื้อ​เยื่อ จึง​เป็น​การ​ตัดสิน​ใจ​ที่​ไม่​ใช่​เรื่อง​เล็ก ๆ.” เขา​เสนอ​แนะ​ให้​แพทย์​ลอง​คิด​ดู​ว่า “ถ้า​ตัว​ฉัน​เอง​หรือ​ลูก​เป็น​ผู้​ป่วย ฉัน​จะ​ยอม​รับ​เอา​การ​ถ่าย​เลือด​ไหม?”

จริง ๆ แล้ว บุคลากร​ทาง​การ​แพทย์​จำนวน​ไม่​น้อย​ที่​เผย​ความ​รู้สึก​ของ​ตน​เหมือน​กับ​ที่​แพทย์​สาขา​โลหิต​วิทยา​คน​หนึ่ง​ได้​บอก​ตื่นเถิด! ว่า “พวก​เรา​ที่​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​เวชศาสตร์​บริการ​โลหิต​ไม่​อยาก​รับ​เลือด หรือ​ให้​เลือด​แก่​ใคร.” ถ้า​ผู้​ที่​ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม​อย่าง​ดี​ใน​วงการ​แพทย์​บาง​คน​ยัง​รู้สึก​อย่าง​นี้ ผู้​ป่วย​น่า​จะ​มี​ความ​รู้สึก​อย่าง​ไร?

วิธี​การ​รักษา​จะ​เปลี่ยน​ไป​ไหม?

คุณ​อาจ​สงสัย​ว่า ‘ถ้า​การ​รักษา​ด้วย​การ​ถ่าย​เลือด​เต็ม​ไป​ด้วย​อันตราย แล้ว​ทำไม​ยัง​คง​มี​การ​ใช้​เลือด​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย​อยู่​ล่ะ โดย​เฉพาะ​เมื่อ​มี​ทาง​เลือก​อื่น ๆ อีก?’ เหตุ​ผล​หนึ่ง​คือ​แพทย์​หลาย​คน​เพียง​แต่​ไม่​กล้า​เปลี่ยน​วิธี​รักษา หรือ​ไม่​ก็​เพราะ​ไม่​รู้​ว่า​ปัจจุบัน​มี​วิธี​การ​รักษา​แบบ​อื่น​เป็น​ทาง​เลือก​แทน​การ​ให้​เลือด​กัน​แล้ว. ตาม​ที่​บทความ​หนึ่ง​ใน​วารสาร​ทรานส์ฟิวชัน กล่าว “แพทย์​ตัดสิน​ใจ​ให้​เลือด​โดย​อาศัย​สิ่ง​ที่​ได้​รับ​การ​สอน​มา​ใน​อดีต, สิ่ง​ที่​ถือ​ปฏิบัติ​ตาม ๆ กัน, และ ‘ความ​เห็น​ที่​สรุป​เอา​จาก​การ​ตรวจ​ผู้​ป่วย.’”

นอก​จาก​นี้ ความ​ชำนาญ​ของ​ศัลยแพทย์​ก็​เป็น​อีก​ปัจจัย​ที่​สำคัญ. พญ. เบเวอรี ฮันท์ แห่ง​ลอนดอน ประเทศ​อังกฤษ เขียน​ว่า “ปริมาณ​เลือด​ที่​สูญ​เสีย​จาก​การ​ผ่าตัด​โดย​ศัลยแพทย์​แต่​ละ​คน​นั้น​ต่าง​กัน​มาก และ​กำลัง​มี​ความ​สนใจ​กัน​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​ฝึก​อบรม​ศัลยแพทย์​ใน​เรื่อง​เทคนิค​การ​ห้าม​เลือด​ระหว่าง​การ​ผ่าตัด​ให้​มาก​พอ.” บาง​คน​อ้าง​ว่า​ค่า​ใช้​จ่าย​ใน​การ​รักษา​ด้วย​ทาง​เลือก​อื่น​แทน​การ​ให้​เลือด​นั้น​สูง​เกิน​ไป ทั้ง ๆ ที่​รายงาน​ต่าง ๆ เผย​ให้​เห็น​ว่า​ไม่​ได้​เป็น​เช่น​นั้น. ไม่​ว่า​อย่าง​ไร แพทย์​หลาย​คน​คง​เห็น​ด้วย​กับ​ผู้​อำนวย​การ​แพทย์ นพ. ไมเคิล โรส ที่​กล่าว​ว่า “แท้​จริง​แล้ว ผู้​ป่วย​คน​ใด​ที่​ผ่าตัด​โดย​ไม่​รับ​เลือด ก็​คือ​ผู้​ที่​ได้​รับ​การ​รักษา​ที่​มี​คุณภาพ​สูง​สุด​เท่า​ที่​มี​อยู่.” *

การ​รักษา​ที่​มี​คุณภาพ​สูง​สุด—นี่​ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​คุณ​ต้องการ​หรอก​หรือ? ถ้า​อย่าง​นั้น คุณ​ก็​คิด​เหมือน​กับ​ผู้​ที่​นำ​วารสาร​ฉบับ​นี้​มา​ให้​คุณ. โปรด​อ่าน​ต่อ​ไป​เพื่อ​จะ​ทราบ​จุด​ยืน​ที่​น่า​สนใจ​ของ​พวก​เขา​ใน​เรื่อง​การ​ถ่าย​เลือด.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 19 ดู​กรอบ “ทาง​เลือก​อื่น​แทน​การ​ถ่าย​เลือด” หน้า 8.

[คำ​โปรย​หน้า 6]

“คิด​สัก​ครั้ง แล้ว​ก็​คิด​อีก และ​ก็​คิด​อีก​ที ก่อน​จะ​ให้​เลือด​แก่​ผู้​ป่วย.”—ศาสตราจารย์​เอียน เอ็ม. แฟรงคลิน

[คำ​โปรย​หน้า 6]

“ถ้า​ตัว​ฉัน​เอง​หรือ​ลูก​เป็น​ผู้​ป่วย ฉัน​จะ​ยอม​รับ​เอา​การ​ถ่าย​เลือด​ไหม?”—ไบรอัน มักแคลลันด์

[กรอบ/ภาพ​หน้า 7]

เสีย​ชีวิต​เพราะ Trali

การ​บาดเจ็บ​ของ​เนื้อ​เยื่อ​ปอด​อย่าง​เฉียบ​พลัน​เหตุ​จาก​การ​ถ่าย​เลือด (Transfusion-Related Acute Lung Injury หรือ TRALI) ซึ่ง​มี​การ​รายงาน​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ช่วง​ต้น​ทศวรรษ 1990 นั้น เป็น​ปฏิกิริยา​ตอบ​สนอง​ของ​ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ที่​เป็น​อันตราย​ถึง​ชีวิต​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​หลัง​จาก​ได้​รับ​การ​ถ่าย​เลือด. ปัจจุบัน​เป็น​ที่​รู้​กัน​ดี​ว่า TRALI ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​หลาย​ร้อย​ราย​ใน​แต่​ละ​ปี. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​เชี่ยวชาญ​สงสัย​ว่า​จำนวน​ผู้​เสีย​ชีวิต​ที่​แท้​จริง​อาจ​สูง​กว่า​นี้​มาก​นัก เนื่อง​จาก​บุคลากร​ทาง​การ​แพทย์​หลาย​คน​ยัง​ไม่​รู้​จัก​ลักษณะ​อาการ​ของ TRALI. แม้​จะ​ยัง​ไม่​ทราบ​แน่ชัด​ว่า​อะไร​เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ปฏิกิริยา​เช่น​นี้ แต่​ตาม​ที่​วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ กล่าว​ไว้ เลือด​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ปฏิกิริยา​ดัง​กล่าว “ดู​เหมือน​ส่วน​ใหญ่​จะ​มา​จาก​ผู้​คน​ที่​เคย​ได้​รับ​เลือด​หลาก​หลาย​หมู่ เช่น . . . คน​ที่​เคย​ได้​รับ​การ​ถ่าย​เลือด​หลาย ๆ ครั้ง.” รายงาน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า ทุก​วัน​นี้ TRALI เป็น​สาเหตุ​สำคัญ​อันดับ​ต้น ๆ ของ​การ​เสีย​ชีวิต​เนื่อง​จาก​การ​ถ่าย​เลือด​ใน​สหรัฐ​และ​อังกฤษ และ​สร้าง “ปัญหา​แก่​ธนาคาร​เลือด​หนัก​กว่า​โรค​ที่​โด่งดัง​อย่าง​เช่น​เอดส์​ที่​เกิด​จาก​เชื้อ​เอช​ไอ​วี​เสีย​อีก.”

[กรอบ/แผนภูมิ​หน้า 8, 9]

ส่วน​ประกอบ​ของ เลือด

ปกติ​แล้ว​ผู้​บริจาค​เลือด​จะ​บริจาค​เลือด​ครบ​ส่วน. แต่​ใน​หลาย​กรณี พวก​เขา​บริจาค​เฉพาะ​พลาสมา (น้ำ​เลือด). ขณะ​ที่​บาง​ประเทศ​จะ​ให้​เลือด​ครบ​ส่วน​แก่​ผู้​ป่วย แต่​ใน​ประเทศ​ส่วน​ใหญ่​จะ​มี​การ​แยก​ส่วน​ประกอบ​หลัก​ของ​เลือด​ก่อน​นำ​ไป​ตรวจ​สอบ​และ​ใช้​ใน​การ​รักษา. ขอ​ให้​สังเกต​ส่วน​ประกอบ​หลัก​สี่​อย่าง​ของ​เลือด หน้า​ที่​ของ​ส่วน​ประกอบ​แต่​ละ​อย่าง และ​แต่​ละ​อย่าง​มี​อัตรา​ส่วน​ร้อย​ละ​เท่า​ไร​ของ​ปริมาตร​เลือด​ทั้ง​หมด.

พลาสมา มี​ปริมาณ 52–62 เปอร์เซ็นต์​ของ​เลือด​ครบ​ส่วน. พลาสมา​เป็น​ของ​เหลว​ใส​สี​เหลือง​อ่อน​ที่​มี​เม็ด​เลือด​ขาว, โปรตีน, กับ​สาร​อื่น ๆ แขวน​ลอย​อยู่ และ​ทำ​หน้า​ที่​ลำเลียง​สาร​เหล่า​นี้.

น้ำ​เป็น​ส่วน​ประกอบ 91.5 เปอร์เซ็นต์​ของ​พลาสมา. โปรตีน​ต่าง ๆ ที่​เป็น​ส่วน​ประกอบ​ย่อย​ของ​พลาสมา​นั้น เป็น​ส่วน​ประกอบ 7 เปอร์เซ็นต์​ของ​พลาสมา (เป็น​อัลบูมิน​ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์, โกลบู​ลิน​ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์, และ​ไฟบริโนเจน​ไม่​ถึง 1 เปอร์เซ็นต์). ส่วน​ที่​เหลือ​อีก 1.5 เปอร์เซ็นต์​ของ​พลาสมา​เป็น​สาร​อื่น ๆ เช่น สาร​อาหาร, ฮอร์โมน, ก๊าซ​ที่​ใช้​ใน​กระบวนการ​หายใจ, เกลือ​แร่, วิตามิน, และ​ของ​เสีย​ที่​มี​ไนโตรเจน​เป็น​องค์​ประกอบ.

เม็ด​เลือด​ขาว (ลิวโคไซต์) มี​ปริมาณ​ไม่​ถึง 1 เปอร์เซ็นต์​ของ​เลือด​ครบ​ส่วน. เม็ด​เลือด​ขาว​โจมตี​และ​ทำลาย​สิ่ง​แปลกปลอม​ที่​อาจ​เป็น​อันตราย.

เกล็ด​เลือด (ธรอมโบไซต์) มี​ปริมาณ​ไม่​ถึง 1 เปอร์เซ็นต์​ใน​เลือด​ครบ​ส่วน. เกล็ด​เลือด​จะ​จับ​ตัว​กัน​เป็น​ลิ่ม​เลือด​อุด​ปิด​ปาก​แผล​ไม่​ให้​เลือด​ไหล​ออก.

เม็ด​เลือด​แดง (อิริโธรไซต์) มี​ปริมาณ 38-48 เปอร์เซ็นต์​ใน​เลือด​ครบ​ส่วน. เม็ด​เลือด​แดง​ทำ​หน้า​ที่​หล่อ​เลี้ยง​เซลล์​เนื้อ​เยื่อ โดย​นำ​ออกซิเจน​ไป​เลี้ยง​เนื้อ​เยื่อ และ​ลำเลียง​คาร์บอนไดออกไซด์​ออก​ไป.

มาก​เช่น​เดียว​กับ​พลาสมา​ที่​สามารถ​แยก​เป็น​ส่วน​ประกอบ​ย่อย ๆ ได้ ส่วน​ประกอบ​หลัก​อื่น ๆ ของ​เลือด​ก็​สามารถ​แยก​เป็น​ส่วน​ประกอบ​ย่อย​ได้​เช่น​กัน. ตัว​อย่าง​เช่น ฮีโมโกลบิน​เป็น​ส่วน​ประกอบ​ย่อย​ของ​เซลล์​เม็ด​เลือด​แดง.

[แผนภูมิ]

พลาสมา

น้ำ 91.5%

โปรตีน 7%

อัลบูมิน

โกลบูลิน

ไฟบริโนเจน

สาร​อื่น ๆ 1.5%

สาร​อาหาร

ฮอร์โมน

ก๊าซ​ที่​ใช้​ใน​กระบวนการ​หายใจ

เกลือ​แร่

วิตามิน

ของ​เสีย​ที่​มี​ไนโตรเจน​เป็น​องค์​ประกอบ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Page 9: Blood components in circles: This project has been funded in whole or in part with federal funds from the National Cancer Institute, National Institutes of Health, under contract N01-CO-12400. The content of this publication does not necessarily reflect the views or policies of the Department of Health and Human Services, nor does mention of trade names, commercial products, or organizations imply endorsement by the U.S. Government

[กรอบ/ภาพ​หน้า 8, 9]

ทาง​เลือก​อื่น​แทน​การ​ถ่าย​เลือด

มาก​กว่า​หก​ปี​มา​แล้ว​ที่​คณะ​กรรมการ​ประสาน​งาน​กับ​โรง​พยาบาล​เพื่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​โลก​ได้​แจก​จ่าย​วีดิทัศน์ เรื่อง​วิธี​การ​รักษา​ที่​ใช้​แทน​การ​ถ่าย​เลือด—ง่าย, ปลอด​ภัย, ได้​ผล จำนวน​หลาย​หมื่น​ตลับ​ใน 25 ภาษา​ให้​แก่​ผู้​ทำ​งาน​ใน​วงการ​แพทย์. * วีดิทัศน์​ดัง​กล่าว​แสดง​ให้​เห็น​การ​ที่​แพทย์​ผู้​มี​ชื่อเสียง​ของ​โลก​กล่าว​ถึง​วิธี​ต่าง ๆ ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ซึ่ง​กำลัง​ใช้​กัน​อยู่​เพื่อ​รักษา​ผู้​ป่วย​โดย​ไม่​มี​การ​ถ่าย​เลือด. ผู้​คน​กำลัง​สนใจ​วีดิทัศน์​เรื่อง​นี้. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง หลัง​จาก​ชม​วีดิทัศน์​เรื่อง​นี้​ใน​ปลาย​ปี 2001 ศูนย์​บริการ​โลหิต​แห่ง​ชาติ (NBS) ของ​สหราชอาณาจักร​ได้​ส่ง​จดหมาย​พร้อม​วีดิทัศน์​นี้​หนึ่ง​ม้วน​ถึง​ผู้​จัด​การ​ธนาคาร​เลือด​ทุก​แห่ง​และ​นัก​โลหิต​วิทยา​ระดับ​ที่​ปรึกษา​ทุก​คน​ทั่ว​ประเทศ. มี​การ​สนับสนุน​ให้​คน​เหล่า​นี้​ชม​วีดิทัศน์​เรื่อง​นี้ เนื่อง​จาก​เป็น​ที่ “ยอม​รับ​กัน​มาก​ขึ้น​ว่า​เป้าหมาย​อย่าง​หนึ่ง​ของ​การ​รักษา​ที่​ดี​คือ หลีก​เลี่ยง​การ​ถ่าย​เลือด​เมื่อ​มี​ทาง​รักษา​ได้​โดย​วิธี​การ​อื่น.” จดหมาย​ดัง​กล่าว​ยอม​รับ​ว่า “เนื้อหา​โดย​รวม [ของ​วีดิทัศน์​นี้] น่า​ยกย่อง​และ​เป็น​สิ่ง​ที่​ศูนย์​บริการ​โลหิต​แห่ง​ชาติ​สนับสนุน​เต็ม​ที่.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 57 เชิญ​ติด​ต่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​ขอ​ชม​สารคดี​ชุด​ใน​รูป​แบบ​ดี​วี​ดี เรื่อง​การ​รักษา​ที่​ใช้​แทน​การ​ถ่าย​เลือด ผลิต​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 9]

การ​แยก​ส่วน การ​ใช้​ส่วน​ประกอบ​ย่อย​ของ​เลือด​ใน​การ​รักษา

วิทยาศาสตร์​และ​เทคโนโลยี​ที่​ก้าว​หน้า​ทำ​ให้​สามารถ​จำแนก​และ​สกัด​ส่วน​ประกอบ​ย่อย​ของ​เลือด​ด้วย​กระบวนการ​ที่​เรียก​ว่า​การ​แยก​ส่วน. ยก​ตัว​อย่าง น้ำ​ทะเล ซึ่ง 96.5 เปอร์เซ็นต์​เป็น​น้ำ​นั้น สามารถ​นำ​ไป​ผ่าน​กระบวนการ​แยก​ส่วน​เพื่อ​ให้​ได้​สาร​อื่น ๆ ใน​น้ำ​ทะเล เช่น แมกนีเซียม, โบรมีน, และ​เกลือ. เช่น​เดียว​กัน พลาสมา ซึ่ง​เป็น​ส่วน​ประกอบ​มาก​กว่า​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ปริมาตร​เลือด​ครบ​ส่วน เป็น​น้ำ​มาก​กว่า 90 เปอร์เซ็นต์​และ​สามารถ​นำ​ไป​ผ่าน​กระบวนการ​เพื่อ​ให้​ได้​ส่วน​ประกอบ​ย่อย ซึ่ง​รวม​ถึง โปรตีน​ชนิด​ต่าง ๆ เช่น อัลบูมิน, ไฟบริโนเจน, และ​โกลบูลิน​ชนิด​ย่อย ๆ อีก​หลาย​ชนิด.

ใน​ส่วน​หนึ่ง​ของ​การ​รักษา แพทย์​อาจ​เสนอ​ให้​ใช้​ส่วน​ประกอบ​ย่อย​ของ​พลาสมา​ใน​ขนาด​เข้มข้น. ตัว​อย่าง​ของ​ส่วน​ประกอบ​ย่อย​เช่น​นั้น​คือ​ไครโอปริซิปิเตท ซึ่ง​เป็น​สาร​โปรตีน​ส่วน​ตะกอน​ที่​ได้​จาก​การ​ละลาย​พลาสมา​สด​แช่​แข็ง. ส่วน​ที่​ไม่​ละลาย​น้ำ​ของ​พลาสมา​นี้​มี​ปัจจัย​การ​แข็งตัว​อยู่​มาก และ​ปกติ​แล้ว​จะ​ให้​แก่​ผู้​ป่วย​เพื่อ​หยุด​อาการ​เลือด​ออก. นอก​จาก​นี้ การ​รักษา​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ใช้​ยา​ที่​มี​ส่วน​ประกอบ​ย่อย​ของ​เลือด​ผสม​อยู่​ด้วย ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ปริมาณ​เล็ก​น้อย​หรือ​เป็น​ส่วน​ประกอบ​สำคัญ. * โปรตีน​บาง​ชนิด​ใน​พลาสมา​ถูก​นำ​มา​ใช้​เป็น​ยา​ฉีด​ซึ่ง​จะ​ช่วย​ผู้​ป่วย​มี​ภูมิ​คุ้ม​กัน​มาก​ขึ้น​หลัง​จาก​ได้​รับ​เชื้อ​ก่อ​โรค. ส่วน​ประกอบ​ย่อย​ของ​เลือด​ที่​ใช้​ใน​ทาง​เวชกรรม​นั้น เกือบ​ทั้ง​หมด​เป็น​โปรตีน​ที่​อยู่​ใน​พลาสมา​ของ​เลือด.

ตาม​ที่​กล่าว​ใน​วารสาร​ไซเยนซ์ นิวส์ “จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้ นัก​วิทยาศาสตร์​ค้น​พบ​โปรตีน​ที่​ไหล​เวียน​อยู่​ตาม​ปกติ​ใน​กระแส​เลือด​ของ​มนุษย์​ไป​ได้​แล้ว​เพียง​ไม่​กี่​ร้อย​ชนิด​จาก​ทั้ง​หมด​ที่​คาด​ว่า​จะ​มี​อยู่​หลาย​พัน​ชนิด.” เมื่อ​ความ​เข้าใจ​ใน​เรื่อง​เลือด​มี​มาก​ขึ้น​ใน​อนาคต ก็​คง​จะ​มี​ผลิต​ภัณฑ์​ใหม่ ๆ ที่​ได้​จาก​โปรตีน​เหล่า​นี้​ปรากฏ​ออก​มา.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 63 มี​การ​ใช้​ส่วน​ประกอบ​ย่อย​จาก​เลือด​สัตว์​ใน​ผลิตภัณฑ์​ยา​บาง​ตัว​ด้วย.

[ภาพ​หน้า 6, 7]

บุคลากร​ทาง​การ​แพทย์​ระวัง​อย่าง​มาก​ที่​จะ​ไม่​ให้​ร่าง​กาย​สัมผัส​เลือด​โดย​ตรง