คุณค่าที่แท้จริงของเลือด
คุณค่าที่แท้จริงของเลือด
“มวลมนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ด้วยสิ่งเดียวกันสิ่งนั้นคือเลือด. เลือดค้ำจุนชีวิตมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะมีสีผิว, เผ่าพันธุ์, หรือศาสนาใด.”—ประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ.
ไม่ต้องสงสัยคำกล่าวนั้นเป็นความจริงในระดับหนึ่ง. เลือดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ทุกคน. เลือดเป็นทรัพยากรที่ล้ำค่า. แต่คุณมั่นใจหรือว่าเลือดปลอดภัยและเป็นการฉลาดสุขุมที่มนุษย์จะให้เลือดของตนเพื่อใช้รักษาผู้อื่น?
ดังที่เราได้ทราบแล้ว ประเทศต่าง ๆ ในโลกมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยแตกต่างกันมาก และการใช้เลือดในการรักษามีความเสี่ยงมากกว่าที่หลาย ๆ คนคิด. นอกจากนี้ แพทย์ก็มีความแตกต่างกันมากในการใช้เลือดด้วย ขึ้นอยู่กับการศึกษา, ความเชี่ยวชาญ, และทัศนะของแต่ละคน. กระนั้น แพทย์หลายคนก็ระมัดระวังกันมากขึ้นในเรื่องการให้เลือด. แพทย์จำนวนมากและมากขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเลือดที่จะรักษาแบบที่หลีกเลี่ยงการใช้เลือดมากกว่า.
ข้อเท็จจริงเหล่านี้นำเรากลับไปยังคำถามที่ยกขึ้นมาในตอนต้นของบทความแรกในบทความชุดนี้. แล้วอะไรที่ทำให้เลือดมีค่ามากขนาดนั้น? ถ้าการใช้เลือดในทางเวชกรรมเป็นที่แคลงใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เลือดจะมีคุณค่าในทางอื่นไหม?
ทัศนะของพระผู้สร้างของเราในเรื่องเลือด
ย้อนไปในสมัยโนฮา บรรพบุรุษของมนุษยชาติทั้งมวล พระเจ้าตั้งกฎหมายข้อหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว. ขณะที่อนุญาตให้มนุษย์กินเนื้อสัตว์ได้ แต่พระองค์ห้ามไม่ให้กินเลือดของมัน. (เยเนซิศ 9:4) พระองค์ให้เหตุผลไว้ด้วย โดยบอกว่าเลือด คือชีวิตของคนและสัตว์. ภายหลังพระองค์ตรัสว่า “ชีวิตของเนื้อหนังอยู่ในเลือด.” ในสายพระเนตรของพระผู้สร้าง เลือดถือว่าศักดิ์สิทธิ์. เลือดเป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตซึ่งเป็นของประทานอันล้ำค่าที่พระเจ้ามอบให้แต่ละชีวิตได้ครอบครอง. พระเจ้ากล่าวย้ำหลักการนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า.—เลวีติโก 3:17; 17:10, 11, 14, ฉบับแปลใหม่; พระบัญญัติ 12:16, 23.
ไม่นานหลังจากมีการก่อตั้งศาสนาคริสเตียนเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน คริสเตียนก็ได้รับพระบัญชาจากพระเจ้าให้ ‘ละเว้น จากเลือด.’ ข้อห้ามนี้ไม่ได้มีขึ้นเพราะเป็นห่วงว่าเลือดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่เพราะเลือดมีความศักดิ์สิทธิ์. (กิจการ 15:19, 20, 29, ล.ม.) บางคนอ้างว่าข้อห้ามที่พระเจ้าสั่งไว้นี้ใช้กับเรื่องการกินเลือดเท่านั้น แต่คำว่า “ละเว้น” ก็บ่งถึงความหมายชัดอยู่ในตัวแล้ว. ถ้าแพทย์สั่งให้เราละเว้นหรือให้งดแอลกอฮอล์ เราคงไม่คิดว่าข้อห้ามนี้เปิดทางให้เราฉีดแอลกอฮอล์เข้าเส้นเลือดได้.
คัมภีร์ไบเบิลอธิบายต่อไปอีกถึงเหตุผลที่เลือดมีความศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้น. พระโลหิตของพระเยซูคริสต์ที่หลั่งออก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตมนุษย์ที่พระองค์ทรงสละเพื่อมนุษยชาตินั้น เป็นพื้นฐานสำหรับความหวังของคริสเตียน. พระโลหิตของพระเยซูที่หลั่งออกเป็นพื้นฐานสำหรับการไถ่บาปและความหวังในเรื่องชีวิตนิรันดร์. เมื่อคริสเตียนละเว้นจากเลือด แท้จริงแล้วก็เท่ากับเขากำลังแสดงความเชื่อว่า มีแต่พระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่จะสามารถไถ่เขาได้จริง ๆ และช่วยชีวิตเขาให้รอดได้.—เอเฟโซ 1:7.
พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันดีว่าปฏิบัติตามคำสั่งในคัมภีร์ไบเบิลอย่างเคร่งครัด. พวกเขาไม่ยอมรับการถ่ายเลือดในทุกกรณีที่เกี่ยวข้องกับการใช้เลือดครบส่วนหรือส่วนประกอบหลักสี่อย่างของเลือด คือ เม็ดเลือดแดง, พลาสมา, เม็ดเลือดขาว, และเกล็ดเลือด. สำหรับส่วนประกอบย่อยที่แยกได้จากส่วนประกอบหลักเหล่านั้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบย่อยดังกล่าวผสมอยู่นั้น คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวอะไรไว้. ดังนั้น
พยานพระยะโฮวาแต่ละคนจะต้องตัดสินใจในเรื่องนั้นด้วยตัวเอง. การที่พยานพระยะโฮวามีจุดยืนที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักดังที่กล่าวไปนี้หมายความว่า พวกเขาไม่ยอมรับการรักษาทางการแพทย์ หรือมองว่าชีวิตและสุขภาพของพวกเขาเป็นเรื่องไม่สำคัญไหม? เปล่าเลย!—ดูกรอบ “ทัศนะของพยานพระยะโฮวาในเรื่องสุขภาพ.”ภายในไม่กี่ปีมานี้เอง แพทย์จำนวนไม่น้อยยอมรับว่าพยานพระยะโฮวาได้รับประโยชน์จากการรักษาเนื่องจากพวกเขายึดมั่นกับมาตรฐานในคัมภีร์ไบเบิล. ตัวอย่างเช่น ไม่นานมานี้แพทย์ศัลยกรรมประสาทคนหนึ่งก็ได้พูดสนับสนุนให้เลือกวิธีการรักษาด้วยทางเลือกอื่นที่ใช้แทนการให้เลือด. เขากล่าวว่า “นี่เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด ไม่ใช่เฉพาะสำหรับพยานพระยะโฮวาเท่านั้น แต่สำหรับทุกคน.”
การตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอาจก่อความเครียดอย่างมากและบ่อยครั้งก็ยากที่จะตัดสินใจ. เกี่ยวกับการให้เลือดที่ปฏิบัติกันเป็นเรื่องทั่วไปนั้น ขอสังเกตคำพูดของ นพ. เดฟ วิลเลียมส์ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินหายใจและผู้อำนวยการแพทย์ ที่กล่าวว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องคำนึงถึงความประสงค์ของผู้ป่วย . . . และเราต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเกี่ยวกับสิ่งใด ๆ ที่เราใส่เข้าไปในร่างกายของเรา.” คำพูดดังกล่าวดูจะเป็นความจริง—และเป็นความจริงในทุกวันนี้ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา.
[กรอบ/ภาพหน้า 11]
สารนำออกซิเจนที่อาศัยฮีโมโกลบินคืออะไร?
ภายในเซลล์เม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์มีฮีโมโกลบินอยู่ประมาณ 300 ล้านโมเลกุล. เซลล์เม็ดเลือดแดงที่โตเต็มที่แล้วจะมีฮีโมโกลบินอยู่ราวหนึ่งในสามของปริมาตรเซลล์. ฮีโมโกลบินแต่ละโมเลกุลประกอบด้วยสายโกลบินซึ่งเป็นโปรตีน กับสารสีที่เรียกว่าฮีม—ซึ่งมีหนึ่งอะตอมของธาตุเหล็กรวมอยู่ด้วย. เมื่อเม็ดเลือดแดงผ่านไปที่ปอด โมเลกุลของออกซิเจนจะแทรกเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือด แล้วเกาะติดโมเลกุลของฮีโมโกลบิน. ไม่กี่วินาทีต่อมา ออกซิเจนจะถูกปล่อยเข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตเซลล์ต่าง ๆ.
ปัจจุบัน ผู้ผลิตบางรายผลิตฮีโมโกลบิน โดยสกัดจากเม็ดเลือดแดงของมนุษย์หรือวัว. ฮีโมโกลบินที่สกัดจากเม็ดเลือดแดงจะถูกนำไปกรองเพื่อแยกเอาสารเจือปนออก จากนั้นจะถูกนำไปปรับโครงสร้างทางเคมีและทำให้บริสุทธิ์ แล้วจึงเจือด้วยสารละลายและบรรจุหีบห่อ. ผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้ มีชื่อว่า สารละลายฮีโมโกลบินหรือสารนำออกซิเจนที่อาศัยฮีโมโกลบิน (Hemoglobin-Based Oxygen Carrier หรือ HBOC). เนื่องจากฮีมทำให้เลือดมีสีแดงเข้ม ถุงสารละลายฮีโมโกลบินดังกล่าวจึงดูคล้ายถุงบรรจุเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่ถูกนำมาสกัดเอาฮีโมโกลบิน.
ต่างจากเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งต้องแช่เย็นและทิ้งไปในไม่กี่สัปดาห์ สารละลายฮีโมโกลบินสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องนานหลายเดือนก่อนถูกนำไปใช้. และเนื่องจากสารละลายฮีโมโกลบินไม่มีเยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งมีแอนติเจนที่พิเศษเฉพาะ ปฏิกิริยารุนแรงจากการที่เลือดไม่เข้าชนิดกันจึงไม่เกิดขึ้น. อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับส่วนประกอบย่อยชนิดอื่น ๆ ของเลือดแล้ว สารละลายฮีโมโกลบินก่อให้เกิดข้อท้าทายมากขึ้นสำหรับคริสเตียนที่คำนึงถึงสติรู้สึกผิดชอบและปรารถนาจะเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าในเรื่องเลือด. ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น? ตราบใดที่สารละลายฮีโมโกลบินทำมาจากส่วนประกอบของเลือด จึงอาจเกิดข้อคัดค้านได้สองประการ. หนึ่ง สารละลายฮีโมโกลบินทำหน้าที่หลักของส่วนประกอบหลักของเลือด. สอง ฮีโมโกลบินซึ่งนำไปใช้ผลิตสารละลายดังกล่าวเป็นส่วนประกอบสำคัญของส่วนประกอบหลักนั้น. เกี่ยวกับสารละลายนี้และผลิตภัณฑ์อื่นที่คล้าย ๆ กัน คริสเตียนเผชิญการตัดสินใจที่สำคัญทีเดียว. พวกเขาต้องใคร่ครวญหลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลที่เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ของเลือดอย่างถี่ถ้วนพร้อมด้วยการอธิษฐาน. แต่ละคนต้องตัดสินใจโดยอาศัยสติรู้สึกผิดชอบของตนเองที่ได้รับการฝึกฝนจากคัมภีร์ไบเบิล ด้วยความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวาเอาไว้.—ฆะลาเตีย 6:5.
[รูปภาพ]
โมเลกุลฮีโมโกลบิน
[กรอบ/ภาพหน้า 12]
ทางเลือกอันเป็นที่ปรารถนา
หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า “โรงพยาบาลจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังเสนอทางเลือกอย่างหนึ่งในการรักษา นั่นคือ ศัลยกรรม ‘แบบปลอดการถ่ายเลือด.’” หนังสือพิมพ์นี้กล่าวว่า “จากตอนแรกที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เหมาะกับพยานพระยะโฮวา . . . วิธีการรักษานี้กลายมาเป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่ และหลายโรงพยาบาลกำลังโฆษณาให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงแผนการรักษาด้วยศัลยกรรมแบบปลอดการถ่ายเลือดที่มีในโรงพยาบาลของตน.” โรงพยาบาลทั่วโลกกำลังพบว่าการนำเทคนิคต่าง ๆ ที่ลดการให้เลือดมาใช้มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วย. ปัจจุบัน มีแพทย์หลายพันคนที่กำลังรักษาผู้ป่วยโดยไม่พึ่งการให้เลือด.
[กรอบ/ภาพหน้า 12]
ทัศนะของพยานพระยะโฮวาในเรื่องสุขภาพ
พยานพระยะโฮวา ซึ่งบางคนในพวกเขาก็เป็นแพทย์และพยาบาล เป็นที่รู้จักตลอดทั่วโลกว่าไม่ยอมรับการถ่ายเลือดในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการใช้เลือดครบส่วนหรือส่วนประกอบหลักของเลือด. จุดยืนที่พวกเขามีอย่างเป็นเอกภาพในเรื่องนี้เกิดจากคำสอนที่มนุษย์คิดขึ้น หรือเกิดจากการเชื่อว่าความเชื่อศรัทธาของคนเราจะช่วยรักษาโรคได้อย่างนั้นไหม? ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย.
เนื่องจากถือว่าชีวิตเป็นของประทานจากพระเจ้า พยานพระยะโฮวาจึงพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อดำเนินชีวิตประสานกับการชี้นำจากคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า “มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:16, 17, ล.ม.; วิวรณ์ 4:11) คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนให้ผู้นมัสการพระเจ้าหลีกเลี่ยงการกระทำและนิสัยใด ๆ ที่ก่อผลเสียต่อสุขภาพหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น การกินมากเกินควร, การสูบบุหรี่หรือเคี้ยวยาเส้น, การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป, และการใช้ยาเสพติดเพื่อความเพลิดเพลิน.—สุภาษิต 23:20; 2 โกรินโธ 7:1.
โดยการรักษาร่างกายและสภาพแวดล้อมให้สะอาด และออกกำลังกายบ้างเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ เราก็กำลังปฏิบัติตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิล. (มัดธาย 7:12; 1 ติโมเธียว 4:8) เมื่อพยานพระยะโฮวาเจ็บป่วย พวกเขาแสดงความมีเหตุผลโดยแสวงหาการรักษาทางการแพทย์ และยอมรับวิธีรักษาส่วนใหญ่ที่มีอยู่. (ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.) จริงอยู่ พวกเขาเชื่อฟังคำสั่งจากคัมภีร์ไบเบิลที่ให้ “ละเว้นเสมอ . . . จากเลือด” โดยจะขอรับการรักษาด้วยวิธีที่ไม่มีการให้เลือดเท่านั้น. (กิจการ 15:29, ล.ม.) และการเลือกวิธีนี้บ่อยครั้งปรากฏว่าทำให้ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพดีกว่า.