ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

นกชายเลน—นักเดินทางที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

นกชายเลน—นักเดินทางที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

นก​ชาย​เลน—นัก​เดิน​ทาง​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​สเปน

ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​ใช้​เวลา​สอง​เดือน​ใน​ช่วง​ฤดู​ร้อน​ของ​เขต​ทุนดรา​แถบ​อาร์กติก​ที่​ดวง​อาทิตย์​แทบ​ไม่​ตก​เลย. แต่​เมื่อ​ฤดู​หนาว​ใกล้​เข้า​มา คุณ​ก็​มุ่ง​หน้า​ไป​ทาง​อเมริกา​ใต้, ออสเตรเลีย, หรือ​แอฟริกา​ใต้. และ​ช่วง​ที่​เหลือ​ของ​ปี คุณ​ก็​ย้าย​ไป​เสาะ​หา​อาหาร​อัน​โอชะ​ตาม​ชายฝั่ง​ของ​ทุก​ทวีป. นี่​เป็น​วิถี​ชีวิต​ปกติ​ของ​นก​ชายเลน​หลาย​ชนิด​ทั่ว​โลก.

นก​ชายเลน ชื่อ​ก็​บอก​อยู่​แล้ว​ว่า​เป็น​นก​ที่​หา​กิน​ตาม​ชายฝั่ง​ตื้น ๆ. * ใน​เดือน​ที่​ทาง​แถบ​ซีก​โลก​เหนือ​มี​อากาศ​หนาว​ขึ้น นก​ชายเลน​เหล่า​นี้​ก็​จะ​มา​ชุมนุม​กัน​บริเวณ​ปาก​แม่น้ำ​ที่​เป็น​โคลน, ชาย​หาด, พื้น​ที่​ชายเลน, หรือ​ชายฝั่ง​ที่​มี​โขด​หิน ซึ่ง​ไม่​ค่อย​มี​ใคร​เข้า​ไป​รบกวน. ส่วน​ใน​เดือน​ที่​มี​อากาศ​อบอุ่น​ขึ้น​และ​นัก​ท่อง​เที่ยว​เริ่ม​มา​เที่ยว​ที่​ชาย​หาด นก​ชายเลน​ส่วน​ใหญ่​ก็​จะ​อพยพ​ย้าย​ถิ่น​ไป​ยัง​แถบ​อาร์กติก​และ​ภูมิภาค​ใกล้​เคียง ซึ่ง​ช่วง​ฤดู​ร้อน​สั้น ๆ ใน​พื้น​ที่​แถบ​นั้น​ทำ​ให้​มัน​มี​โอกาส​อยู่​อย่าง​สงบ​และ​มี​อาหาร​อุดม​สมบูรณ์​ที่​จำเป็น​สำหรับ​การ​เลี้ยง​ลูก​ของ​มัน.

นก​ชายเลน​มี​สี​สัน​ที่​ไม่​โดด​เด่น​เป็น​พิเศษ แต่​ลักษณะ​การ​บิน​ที่​สง่า​งาม​และ​ปีก​อัน​น่า​ทึ่ง​ของ​มัน​ก็​ทำ​ให้​ผู้​พบ​เห็น​จำนวน​นับ​ไม่​ถ้วน​รู้สึก​ประทับใจ​อย่าง​ยิ่ง. “[นก​ชายเลน] อาจ​บิน​เลียบ​ผิว​น้ำ​หรือ​บิน​ใน​ระดับ​ความ​สูง​ราว 6 กิโลเมตร​หรือ​มาก​กว่า​นั้น. มัน​เป็น​นัก​บิน​ที่​เชี่ยวชาญ​มาก​ทั้ง​ด้าน​อากาศ​และ​กระแส​ลม” หนังสือ​นก​ชายเลน—นัก​หา​กิน​ตาม​หาด​เลน​ผู้​งดงาม (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว.

ปลอด​ภัย​เมื่อ​อยู่​เป็น​ฝูง

นก​ชายเลน​มัก​จะ​อยู่​รวม​กัน​เป็น​ฝูง​ใหญ่​ใน​บริเวณ​ที่​มี​อาหาร​อุดม​สมบูรณ์. ดู​เหมือน​ว่า​มัน​อยู่​รวม​กัน​เป็น​ฝูง​เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย. นก​ล่า​เหยื่อ เช่น เหยี่ยว​เพเรกริน (Peregrine falcons) ชอบ​ไล่​ล่า​นก​ตัว​ที่​หลุด​ออก​มา​จาก​ฝูง เพราะ​มัน​อาจ​ไม่​กล้า​โจมตี​นก​ที่​อยู่​รวม​กัน​เป็น​ฝูง​ใหญ่. และ​เมื่อ​สายตา​ของ​นก​ชายเลน​นับ​พัน ๆ คู่​คอย​ช่วย​กัน​ดู​อย่าง​ระแวด​ระวัง​ก็​ย่อม​มี​โอกาส​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​มอง​เห็น​ผู้​ล่า​ก่อน​จะ​ถูก​โจมตี. เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​ระบบ​ป้องกัน​ภัย​แบบ​พิเศษ​นี้ นก​ชายเลน​มาก​มาย​หลาย​ชนิด​จึง​มา​อยู่​รวม​กัน​เป็น​ฝูง.

ภาพ​ของ​นก​ชายเลน​เมื่อ​เริ่ม​ออก​บิน​เป็น​ภาพ​ที่​น่า​ชม​มาก. นก​หลาย​ร้อย​หรือ​กระทั่ง​หลาย​พัน​ตัว​ที่​บิน​รวม​กัน​เป็น​ฝูง บิน​ลด​เลี้ยว​ไป​มา ร่อน​ขึ้น​และ​ถลา​ลง เหมือน​กับ​มี​มือ​ที่​มอง​ไม่​เห็น​มา​จัด​ให้​พวก​มัน​บิน​ใน​ลักษณะ​นั้น. คู่มือ​นก​ของ​โลก (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ไว้​ว่า “การ​ที่​นก​หลาย​หมื่น​ตัว​บิน​ไป​พร้อม​กัน​ด้วย​ความ​เร็ว​สูง​และ​สามารถ​เปลี่ยน​ทิศ​ทาง​ทันที​โดย​พร้อม​เพรียง​กัน​นับ​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​มหัศจรรย์​ที​เดียว.” จาก​การ​ศึกษา​ฝูง​นก​ชายเลน​ท้อง​ดำ (Dunlins) ซึ่ง​ถ่าย​ด้วย​ฟิล์ม​ที่​มี​ความ​ไว​แสง​สูง​ทำ​ให้​นัก​ปักษิน​วิทยา​ลง​ความ​เห็น​ว่า เมื่อ​นก​ตัว​หนึ่ง​เริ่ม​เปลี่ยน​ทิศ​ทาง ตัว​อื่น ๆ ใน​ฝูง​ก็​ทำ​ตาม​ทันที.

เดิน​ทาง​ได้​ทั่ว​โลก

นก​ชายเลน​บาง​ชนิด​เป็น​นัก​เดิน​ทาง​รอบ​โลก​จริง ๆ. ตัว​อย่าง​เช่น นก​น็อตเล็ก​หรือ​น็อตแดง (Red knots) และ​นก​คอ​สั้น​ตีน​ไว (Sanderlings) บิน​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ​เพื่อ​ผสม​พันธุ์​และ​สร้าง​รัง​ไกล​กว่า​นก​ชนิด​อื่น ๆ เกือบ​ทั้ง​หมด. นก​ชายเลน​อาจ​พบ​ได้​ตาม​ชายฝั่ง​ทะเล​แทบ​ทุก​แห่ง​บน​แผ่นดิน​โลก​และ​อาจ​บิน​เป็น​ระยะ​ทาง​ประมาณ 32,000 กิโลเมตร​ใน​การ​อพยพ​แต่​ละ​ปี.

แม้​การ​เดิน​ทาง​อพยพ​ใน​บาง​ครั้ง​ทำ​ให้​นก​ชายเลน​ต้อง​บิน​ข้าม​มหาสมุทร แต่​พวก​มัน​ก็​ว่าย​น้ำ​ไม่​ได้​และ​ไม่​เคย​หยุด​พัก​บน​ผิว​น้ำ​เลย. ดัง​นั้น มัน​จึง​ต้อง​สะสม​เชื้อเพลิง​ไว้​มาก ๆ ซึ่ง​เมื่อ​เทียบ​กัน​แล้ว​มี​สัดส่วน​มาก​กว่า​เชื้อเพลิง​ของ​เครื่องบิน​ไอพ่น​ขนาด​ใหญ่​ซึ่ง​ขณะ​บิน​ขึ้น​จะ​แบก​น้ำหนัก​เชื้อเพลิง​ไว้​ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์​ของ​น้ำหนัก​ทั้ง​หมด. นก​ชายเลน​ได้​เชื้อเพลิง​ทั้ง​หมด​นี้​อย่าง​ไร?

เดวิด แอตเทนโบรอฟ อธิบาย​ใน​หนังสือ​ชื่อ​ชีวิต​นก (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “มัน​สะสม [เชื้อเพลิง] ใน​รูป​ของ​ไขมัน และ​กิน​อาหาร​อย่าง​ตะกละ​ตะกลาม​ใน​บริเวณ​ที่​ลุ่ม​ราบ​ชายเลน​แถบ​ชายฝั่ง จน​ทำ​ให้​มัน​มี​น้ำหนัก​ตัว​เพิ่ม​ขึ้น​เกือบ​สอง​เท่า​ของ​น้ำหนัก​ตัว​ใน​ช่วง​ฤดู​ร้อน. ไขมัน​ที่​สำรอง​ไว้​นี้​มี​มาก​กว่า​ที่​สถิติ​อาจ​บอก​ด้วย​ซ้ำ เพราะ​อวัยวะ​ภาย​ใน​หลาย​อย่าง รวม​ทั้ง​สมอง​และ​อวัยวะ​ที่​ย่อย​อาหาร​จะ​หด​เล็ก​ลง​เพื่อ​จะ​มี​พื้น​ที่​เก็บ​เชื้อเพลิง​มาก​ขึ้น​และ​ไม่​ให้​มี​น้ำหนัก​ตัว​มาก​เกิน​ไป.”

นัก​เดิน​ทาง​ที่​น่า​ทึ่ง​อีก​ชนิด​หนึ่ง​คือ​นก​หัว​โต​หลัง​จุด​สี​ทอง (the Pacific golden plover) ซึ่ง​บิน​อพยพ​จาก​อะแลสกา​ไป​ยัง​หมู่​เกาะ​ฮาวาย. นอก​จาก​บิน​อย่าง​อด​ทน​เป็น​ระยะ​ทาง 4,500 กิโลเมตร​โดย​ไม่​จำเป็น​ต้อง​หยุด​พัก​แล้ว ความ​สามารถ​ใน​การ​หา​หมู่​เกาะ​ฮาวาย​กลาง​มหาสมุทร​ก็​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​ความ​มหัศจรรย์​ของ​ระบบ​นำ​ร่อง​ของ​สัตว์​ปีก. มี​การ​ติด​ตาม​การ​บิน​ของ​นก​หัว​โต​หลัง​จุด​สี​ทอง​ตัว​หนึ่ง ซึ่ง​ทำ​ให้​ทราบ​ว่า​มัน​ใช้​เวลา​เดิน​ทาง​ไม่​ถึง​สี่​วัน. นก​ที่​อายุ​มาก​แล้ว​ตัว​หนึ่ง​เคย​เดิน​ทาง​ไป​กลับ​อะแลสกา​และ​หมู่​เกาะ​ฮาวาย​มา​แล้ว​มาก​กว่า 20 เที่ยว!

ใน​ที่​สุด เมื่อ​เริ่ม​เข้า​มา​ใน​เขต​อาร์กติก​ซึ่ง​เป็น​ที่​สำหรับ​หา​คู่​และ​ผสม​พันธุ์​ทำ​รัง นัก​เดิน​ทาง​ที่​ทรหด​เหล่า​นี้​ก็​ต้อง​จัด​การ​ธุระ​ของ​พวก​มัน​อย่าง​รีบ​เร่ง. ภาย​ใน​สอง​สัปดาห์ พวก​มัน​จะ​ต้อง​หา​คู่, สร้าง​อาณา​เขต, และ​ทำ​รัง. จาก​นั้น​มัน​มี​เวลา​ประมาณ​สาม​สัปดาห์​เพื่อ​ฟัก​ไข่​และ​อีก​สาม​สัปดาห์​เพื่อ​เลี้ยง​ลูก. พอ​ถึง​ปลาย​เดือน​กรกฎาคม พวก​มัน​ก็​จะ​มุ่ง​หน้า​ลง​ใต้​อีก​ครั้ง.

ภัย​ของ​การ​อพยพ

การ​เดิน​ทาง​ไกล​อาจ​ทำ​ให้​นก​ชายเลน​เผชิญ​อันตราย​หลาย​อย่าง. ภัย​คุกคาม​ที่​น่า​กลัว​อย่าง​หนึ่ง​มา​จาก​มนุษย์. ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 จอห์น เจมส์ ออดูบอง นัก​ธรรมชาติ​วิทยา​รายงาน​ว่า นัก​ล่า​กลุ่ม​หนึ่ง​ยิง​นก​หัว​โต​หลัง​จุด​สี​ทอง​อีก​ชนิด​หนึ่ง (American golden plovers) 48,000 ตัว​ภาย​ใน​วัน​เดียว. ปัจจุบัน ประชากร​นก​ชนิด​นี้​ทั้ง​หมด​ที่​มี​อยู่​ทั่ว​โลก​ได้​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น​บ้าง แต่​ก็​ยัง​อาจ​จะ​น้อย​กว่า​จำนวน​ที่​ถูก​ฆ่า​ใน​วัน​นั้น.

ภัย​ที่​คุกคาม​นก​ชายเลน​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก​คือ การ​หด​หาย​ไป​ของ​พื้น​ที่​ชุ่ม​น้ำ. นก​ชายเลน​ไม่​สามารถ​ปรับ​ตัว​ให้​เข้า​กับ​สภาพ​เช่น​นั้น​ได้​ง่าย ๆ. หนังสือ​นก​ชายเลน—คู่มือ​การ​ดู​นก​ชายเลน​ทั่ว​โลก (ภาษา​อังกฤษ) อธิบาย​ว่า “พฤติกรรม​การ​ผสม​พันธุ์​ของ​นก​ชายเลน, การ​อพยพ​และ​การ​กลับ​ไป​ยัง​ถิ่น​ที่​มัน​เคย​อยู่​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​ได้​เกิด​ขึ้น​มา​นาน​หลาย​พัน​ปี​แล้ว และ​เป็น​เรื่อง​ง่าย​ดาย​เสีย​เหลือ​เกิน​ที่​มนุษย์​จะ​เปลี่ยน​แปลง​หรือ​ทำลาย​ถิ่น​ที่​อยู่​ของ​มัน.” นก​ชายเลน​นับ​ล้าน​ตัว​จะ​อยู่​รอด​หรือ​ไม่​นั้น​ขึ้น​อยู่​กับ​การ​อนุรักษ์​จุด​แวะ​พัก​ระหว่าง​ทาง​ซึ่ง​มี​เหลือ​อยู่​น้อย​มาก​แล้ว.

ตัว​อย่าง​ที่​เห็น​ได้​ชัด​คือ​อ่าว​เด​ลา​แวร์​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ฝั่ง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​นิวเจอร์ซีย์ สหรัฐ​อเมริกา. นก​น็อตเล็ก​หลาย​แสน​ตัว​มา​ชุมนุม​กัน​ที่​นั่น​ใน​ช่วง​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​เพื่อ​กิน​ไข่​แมง​ดา​ทะเล​จำนวน​มาก. นก​เหล่า​นี้​กำลัง​หิว​จัด​เพราะ​มัน​เพิ่ง​เสร็จ​สิ้น “เที่ยว​บิน​ที่​ยาว​นาน​ที่​สุด​โดย​ไม่​หยุด​พัก​เมื่อ​เทียบ​กับ​นก​ทุก​ชนิด​ใน​โลก.” ใน​เวลา​สอง​สัปดาห์ มัน​บิน​เป็น​ระยะ​ทาง 8,000 กิโลเมตร​จาก​ฝั่ง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​ของ​บราซิล ซึ่ง​ใน​ระหว่าง​นั้น​น้ำหนัก​ตัว​ของ​พวก​มัน​จะ​ลด​ลง​ครึ่ง​หนึ่ง.

ความ​พยายาม​ของ​นัก​อนุรักษ์​อาจ​ช่วย​ให้​แน่​ใจ​ได้​ว่า​จุด​ที่​นก​ชายเลน​ชอบ​ไป​แวะ​พัก​นั้น​จะ​ยัง​คง​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​สมบูรณ์​ต่อ​ไป. บาง​ที อาจ​มี​จุด​แวะ​พัก​แบบ​นั้น​สัก​ที่​หนึ่ง​ไม่​ไกล​จาก​บ้าน​ของ​คุณ. เมื่อ​คุณ​ได้​เฝ้า​ดู​ฝูง​นก​ชายเลน​บิน​วน​อยู่​เหนือ​คลื่น​ใน​ทะเล หรือ​ได้​ยิน​เสียง​ร้อง​ที่​น่า​ประทับใจ​ของ​พวก​มัน ก็​คง​ยาก​ที่​คุณ​จะ​ลืม​พวก​มัน​ได้.

ดัง​ที่​นัก​ธรรมชาติ​วิทยา​อาเทอร์ มอร์ริส เขียน​ไว้ “ทุก​คน​ที่​เฝ้า​ดู​นก​ชายเลน​มี​ความ​รู้สึก​เหมือน ๆ กัน​คือ เรา​แต่​ละ​คน​เคย​ยืน​อยู่​ที่​ชาย​หาด​หรือ​ชายเลน​อัน​เวิ้งว้าง​มา​นับ​ครั้ง​ไม่​ถ้วน และ​เฝ้า​ดู​ฝูง​นก​ชายเลน​ที่​กระพือ​ปีก​ให้​เห็น​เป็น​สี​ขาว​สลับ​ดำ​ขณะ​บิน​ลด​เลี้ยว​ไป​มา​อย่าง​พร้อม​เพรียง​กัน. และ​เมื่อ​เห็น​ภาพ​นี้​ที​ไร เรา​ก็​รู้สึก​เกรง​ขาม​และ​อัศจรรย์​ใจ​อย่าง​เหลือ​ล้น.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 นก​ชายเลน (Waders or shorebirds) อยู่​ใน​วงศ์​ที่​มี​ชื่อ​ทาง​วิทยาศาสตร์​ว่า​คาราดริอิ (Charadrii) และ​ใน​วงศ์​นี้​มี​มาก​กว่า 200 ชนิด.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 18]

นัก​เดิน​ทาง​รอบ​โลก​ผู้​ช่ำชอง

นก​น็อตเล็ก คง​เป็น​นก​ชนิด​หนึ่ง​ที่​เดิน​ทาง​ไกล​ที่​สุด. ตาม​ปกติ​แล้ว​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว นก​ที่​ทำ​รัง​ใน​เขต​เหนือ​สุด​ของ​แคนาดา​จะ​ไป​พัก​อยู่​ที่​ยุโรป​ตะวัน​ตก​หรือ​ไม่​ก็​ทาง​ใต้​สุด​ของ​อเมริกา​ใต้ (ไกล​กว่า 10,000 กิโลเมตร)

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

KK Hui

มี​การ​พบ​ฝูง​นก​ชายเลน​ท้อง​ดำ​เกือบ​หนึ่ง​ล้าน​ตัว​ที่​เนเธอร์แลนด์​และ​มอริเตเนีย

นก​ปาก​แอ่น​หาง​ลาย เดิน​ทาง​จาก​ไซบีเรีย​ซึ่ง เป็น​แหล่ง​ทำ​รัง​ไป​ยัง​ที่​ต่าง ๆ เช่น หมู่​เกาะ​บริติช, แอฟริกา​ใต้, ตะวัน​ออก​กลาง, ออสเตรเลีย, หรือ​นิวซีแลนด์

นก​คอ​สั้น​ตีน​ไว อาจ​พบ​ได้​ตาม​ชายฝั่ง​ทะเล​แทบ​ทุก​แห่ง​ทั่ว​โลก. บาง​ชนิด​อาจ​ทำ​รัง​ภาย​ใน​ระยะ 950 กิโลเมตร​จาก​ขั้ว​โลก​เหนือ

[ภาพ​หน้า 16, 17]

เพื่อ​จะ​ข้าม​มหาสมุทร​อัน​กว้าง​ใหญ่ นก​ชายเลน​ต้อง​สะสม​ไขมัน​ไว้​มาก ๆ เพราะ​มัน​หยุด​พัก​กลาง​ทะเล​ไม่​ได้

[ภาพ​หน้า 16, 17]

นก​คอ​สั้น​ตีน​ไว​อยู่​รวม​กัน​เป็น​ฝูง​ใหญ่​เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย

[ภาพ​หน้า 17]

นก​กิน​หอย​นางรม​ยุโรป​และ​เอเชีย

[ภาพ​หน้า 17]

นก​ทะเล​ขา​แดง​ลาย​จุด​หา​อาหาร​ใน​หนอง​น้ำ

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 16]

Top and bottom panoramic photos: © Richard Crossley/VIREO