บทสัมภาษณ์นักชีวเคมี
บทสัมภาษณ์นักชีวเคมี
เมื่อปี 1996 ศาสตราจารย์ไมเคิล เจ. บีฮี ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชาชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยลีไฮ รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อกล่องดำของดาร์วิน—ข้อท้าทายของวิวัฒนาการทางด้านชีวเคมี (ภาษาอังกฤษ). วารสารตื่นเถิด! ฉบับ 8 พฤษภาคม 1997 มีบทความชุดที่มีชื่อว่า “เรามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร?—โดยบังเอิญหรือมุ่งหมายจงใจ?” ซึ่งอ้างถึงหนังสือของบีฮี. ในช่วงราว ๆ สิบปีตั้งแต่ที่มีการตีพิมพ์หนังสือกล่องดำของดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์ด้านวิวัฒนาการได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อตอบโต้การอ้างเหตุผลของบีฮี. นักวิจารณ์ได้กล่าวหาบีฮีว่ายอมให้ความเชื่อทางศาสนาของตนเอง—เขานับถือศาสนาโรมันคาทอลิก—มาทำให้วิจารณญาณทางวิทยาศาสตร์ของเขาผิดเพี้ยนไป. ส่วนคนอื่น ๆ ก็อ้างว่าการหาเหตุผลของเขาไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์. ตื่นเถิด! ได้สัมภาษณ์ศาสตราจารย์บีฮีเพื่อจะได้รู้ว่าเหตุใดความคิดของเขาจึงก่อให้เกิดการโต้แย้งกันเช่นนี้.
ตื่นเถิด!: ทำไมคุณจึงคิดว่าชีวิตให้หลักฐานว่ามีการออกแบบโดยผู้มีเชาวน์ปัญญา?
ศาสตราจารย์บีฮี: เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นส่วนประกอบที่เป็นระเบียบซึ่งสลับซับซ้อนและปฏิบัติงานได้ เราก็ลงความเห็นว่าต้องมีการออกแบบ. ตัวอย่างเช่น เครื่องจักรกลที่เราใช้งานอยู่ทุกวัน เช่น เครื่องตัดหญ้า, รถยนต์, หรือแม้แต่สิ่งที่ง่ายกว่านั้น. ตัวอย่างที่ผมชอบใช้คือกับดักหนู. คุณลงความเห็นว่ากับดักหนูต้องได้รับการออกแบบมาเนื่องจากคุณเห็นส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ประกอบเข้าด้วยกันอย่างมีระเบียบเพื่อให้จับหนูได้.
ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปมากพอจนเผยให้เห็นชีวิตในระดับพื้นฐานที่สุด. และที่ทำให้เราแปลกใจมากคือ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบกลไกอันซับซ้อนซึ่งปฏิบัติงานได้ในชีวิตระดับโมเลกุล. ตัวอย่างเช่น ภายในเซลล์ที่มีชีวิตอยู่ มีโมเลกุลเล็ก ๆ ซึ่งเป็นเหมือน “รถบรรทุก” ที่ขนสินค้าจากส่วนหนึ่งของเซลล์ไปอีกส่วนหนึ่ง. มีโมเลกุลขนาดจิ๋วที่เป็น “ป้ายบอกทาง” ซึ่งบอก “รถบรรทุก” เหล่านี้ให้เลี้ยวไปทางซ้ายหรือไปทางขวา. เซลล์บางตัวมีโมเลกุลที่เป็น “เครื่องยนต์ติดท้าย” ซึ่งมีหน้าที่ขับเคลื่อนเซลล์ผ่านของเหลว. ถ้าเป็นกรณีอื่นแล้ว เมื่อเห็นได้ชัดถึงความสลับซับซ้อนที่ปฏิบัติงานได้เช่นนี้ ผู้คนก็จะลงความเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ถูกออกแบบมา. เราไม่มีคำอธิบายอย่างอื่นว่าทำไมจึงมีความซับซ้อนเช่นนี้ แม้ว่าจะมีคำอ้างของวิวัฒนาการแบบดาร์วินก็ตาม. เนื่องจากเราได้พบเห็นมาโดยตลอดว่าการจัดระเบียบเช่นนี้บ่งชี้ว่าต้องมีการออกแบบ จึงมีเหตุผลที่เราจะคิดว่าระบบต่าง ๆ ในระดับโมเลกุลเหล่านี้ก็ได้รับการออกแบบโดยผู้มีเชาวน์ปัญญาเช่นกัน.
ตื่นเถิด!: ในความเห็นของคุณ ทำไมเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เห็นพ้องกับข้อสรุปของคุณเกี่ยวกับการออกแบบโดยผู้มีเชาวน์ปัญญา?
ศาสตราจารย์บีฮี: นักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่เห็นพ้องกับข้อสรุปของผมเพราะพวกเขาเห็นว่าแนวคิดเรื่องการออกแบบโดยผู้มีเชาวน์
ปัญญาแสดงนัยถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนือวิทยาศาสตร์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือข้อสรุปนั้นดูเหมือนจะบ่งชี้ไปยังสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติอย่างชัดเจน. การลงความเห็นแบบนี้ทำให้หลายคนไม่สบายใจ. อย่างไรก็ตาม ผมได้รับการสอนเสมอมาว่า วิทยาศาสตร์สมควรจะดำเนินไปตามหลักฐาน ไม่ว่าหลักฐานนั้นจะชี้ไปที่ใด. ในทัศนะของผม นับว่าเป็นความขี้ขลาดที่จะไม่ยอมรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีหลักฐานบ่งชี้อย่างหนักแน่นเพียงเพราะคุณคิดว่ามันมีนัยทางปรัชญาที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา.ตื่นเถิด!: คุณจะตอบอย่างไรที่มีคนวิจารณ์ว่าการยอมรับแนวคิดเรื่องผู้ออกแบบที่มีเชาวน์ปัญญาเป็นการส่งเสริมความไม่รู้?
ศาสตราจารย์บีฮี: การลงความเห็นว่ามีการออกแบบไม่ได้เป็นผลจากความไม่รู้. เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เราไม่รู้; สิ่งนี้เกิดจากสิ่งที่เรารู้แล้ว. เมื่อดาร์วินพิมพ์หนังสือต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์ ของเขาเมื่อ 150 ปีที่แล้ว ชีวิตดูเหมือนไม่มีอะไรซับซ้อน. ตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์คิดว่าเซลล์เป็นสิ่งที่เรียบง่ายมากจนอาจจะโผล่ขึ้นมาเองได้จากทะเลโคลน. แต่นับจากนั้นมา วิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าเซลล์มีความซับซ้อนอย่างมาก ซับซ้อนมากกว่าเครื่องยนต์กลไกแห่งศตวรรษที่ 21 นี้เสียอีก. ความซับซ้อนที่ปฏิบัติงานได้ดังกล่าวแสดงถึงการออกแบบอย่างมีจุดมุ่งหมาย.
ตื่นเถิด!: วิทยาศาสตร์ได้ให้หลักฐานใด ๆ ไหมที่พิสูจน์ว่า วิวัฒนาการ โดยการคัดเลือกโดยธรรมชาติ อาจได้สร้างกลไกของโมเลกุลที่ซับซ้อนซึ่งคุณกล่าวถึง?
ศาสตราจารย์บีฮี: ถ้าคุณค้นดูในหนังสือวิทยาศาสตร์ คุณจะค้นพบว่าไม่มีใครได้พยายามอย่างจริงจัง ไม่ว่าเป็นการทดลองหรือการทำแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์อย่างละเอียด ซึ่งอธิบายว่ากลไกของโมเลกุลเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไรโดยอาศัยกระบวนการแบบดาร์วิน. เป็นอย่างนี้ทั้ง ๆ ที่ในช่วงสิบปีนับตั้งแต่ที่หนังสือของผมถูกตีพิมพ์ออกมา องค์กรทางวิทยาศาสตร์หลายองค์กร เช่น สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติและสมาคมเพื่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา ได้ร้องขอให้สมาชิกของตนทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อต่อต้านแนวคิดที่ว่าชีวิตแสดงหลักฐานของการออกแบบโดยผู้มีเชาวน์ปัญญา.
ตื่นเถิด!: คุณจะตอบอย่างไรที่มีคนอ้างถึงส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชและสัตว์โดยบอกว่าส่วนนั้นได้รับการออกแบบมาไม่ดี?
ศาสตราจารย์บีฮี: เพียงเพราะเราไม่รู้ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งในสิ่งมีชีวิตมีไว้เพื่ออะไรก็ไม่ได้หมายความว่าส่วนนั้นไม่มีบทบาทสำคัญ. ตัวอย่างคือ อวัยวะส่วนที่เรียกกันว่าอวัยวะเหลือค้างซึ่งเคยคิดกันว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ถูกออกแบบมาได้ไม่ดี. เพื่อเป็นตัวอย่าง เคยคิดกันว่าไส้ติ่งและต่อมทอนซิลเป็นอวัยวะเหลือค้างและมักจะถูกตัดทิ้งไปเป็นประจำ. แต่แล้วก็ค้นพบว่าอวัยวะเหล่านี้มีบทบาทในระบบภูมิคุ้มกันและตอนนี้ไม่ได้ถือกันว่าอวัยวะดังกล่าวเป็นอวัยวะเหลือค้างอีกต่อไปแล้ว.
อีกจุดหนึ่งที่ควรจำไว้คือ ในทางชีววิทยา บางสิ่งบางอย่างดูเหมือนเกิดขึ้นโดยบังเอิญ. แต่เพียงแค่รถยนต์ของผมมีรอยบุบหรือยางแบนก็ไม่ได้หมายความว่ารถยนต์หรือยางรถนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมา. เช่นเดียวกัน ข้อที่ว่าบางสิ่งเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุในทางชีววิทยาก็ไม่ได้หมายความว่ากลไกของโมเลกุลที่สลับซับซ้อนอย่างยิ่งของชีวิตนั้นเกิดขึ้นโดยบังเอิญ. ข้อโต้แย้งเช่นนั้นไม่มีเหตุผลโดยสิ้นเชิง.
[คำโปรยหน้า 12]
“ในทัศนะของผม นับว่าเป็นความขี้ขลาดที่จะไม่ยอมรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีหลักฐานบ่งชี้อย่างหนักแน่นเพียงเพราะคุณคิดว่ามันมีนัยทางปรัชญาที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา”