ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ชนเผ่าโรมา—พันปีที่มีทั้งสุขและทุกข์

ชนเผ่าโรมา—พันปีที่มีทั้งสุขและทุกข์

ชน​เผ่า​โรมา—พัน​ปี​ที่​มี​ทั้ง​สุข​และ​ทุกข์

งาน​นี้​ก็​คล้าย​กับ​งาน​สมรส​ทั่ว ๆ ไป​ที่​จัด​ขึ้น​อย่าง​ใหญ่​โต​ตาม​ธรรมเนียม​ที่​มี​มา​แต่​โบราณ. ใน​งาน​มี​อาหาร​และ​เครื่อง​ดื่ม​ให้​รับประทาน​อย่าง​เหลือ​เฟือ และ​มี​ดนตรี​บรรเลง​ขับ​กล่อม. ญาติ ๆ พา​กัน​เข้า​ไป​แสดง​ความ​ยินดี​กับ​เจ้าบ่าว​ที่​กำลัง​เขิน​อาย​และ​เจ้าสาว​ที่​ดู​อิ่มเอิบ​ด้วย​ความ​สุข. นี่​ไม่​ใช่​งาน​แต่งงาน แต่​เป็น​งาน​เลี้ยง​ฉลอง​การ​หมั้น​ใน​คืน​ก่อน​วัน​แต่งงาน​ซึ่ง​มี​ผู้​มา​ร่วม​แสดง​ความ​ยินดี​มาก​กว่า 600 คน. ใน​งาน​นี้ ครอบครัว​ของ​เจ้าบ่าว​จะ​มอบ​สินสอด​ทอง​หมั้น​ให้​พ่อ​แม่​ของ​ฝ่าย​หญิง. วัน​รุ่ง​ขึ้น เจ้าบ่าว​กับ​ครอบครัว​ก็​จะ​พา​เจ้าสาว​คน​ใหม่​ไป​ที่​บ้าน​ของ​เขา ซึ่ง​จะ​มี​การ​จัด​งาน​เลี้ยง​อีก​งาน​หนึ่ง​พร้อม​กับ​พิธี​แต่งงาน​จริง ๆ.

ญาติ​ทุก​คน​ของ​คู่​สมรส​ใหม่​พูด​คุย​กัน​ด้วย​ภาษา​โรมานี ภาษา​ที่​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​ภาษา​ต่าง​ถิ่น​ไม่​ว่า​จะ​อยู่​ใน​ประเทศ​ไหน. ภาษา​นี้​ซึ่ง​มี​ภาษา​ถิ่น​อีก​หลาก​หลาย​รวม​ถึง​ขนบธรรมเนียม​โบราณ​หลาย​อย่าง​และ​ประเพณี​แต่งงาน​เป็น​มรดก​ทาง​วัฒนธรรม​ของ​ชน​กลุ่ม​หนึ่ง​ที่​กระจัด​กระจาย​อยู่​ทั่ว​โลก แต่​พวก​เขา​ไม่​มี​กระทั่ง​ประเทศ​และ​รัฐบาล​ของ​ตน​เอง. พวก​เขา​คือ​ชน​เผ่า​โรมา. *

ชน​เผ่า​โรมา​เป็น​ใคร?

การ​ค้นคว้า​เกี่ยว​กับ​ภาษา, วัฒนธรรม, และ​เชื้อ​สาย​ของ​ชน​เผ่า​โรมา ทำ​ให้​พวก​เรา​ต้อง​ย้อน​เวลา​กลับ​ไป​ประมาณ 1,000 ปี​ทาง​ภาค​เหนือ​ของ​อินเดีย. ภาษา​ของ​ชน​เผ่า​โรมา หาก​ไม่​นับ​รวม​คำ​ที่​รับ​มา​ใน​ช่วง​หลัง ๆ นี้ แท้​จริง​แล้ว​ก็​มี​ต้นตอ​มา​จาก​ภาษา​อินเดีย. ยัง​ไม่​เป็น​ที่​ทราบ​แน่ชัด​ว่า​พวก​เขา​ออก​จาก​อินเดีย​ด้วย​เหตุ​ผล​อะไร. นัก​วิชาการ​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​บรรพบุรุษ​ของ​พวก​โรมา​อาจ​เคย​เป็น​ช่าง​ฝีมือ​และ​ผู้​ให้​ความ​บันเทิง​กับ​กอง​ทหาร​แต่​ต่อ​มา​คน​เหล่า​นี้​ได้​อพยพ​ออก​จาก​บ้าน​เกิด​เมือง​นอน​หลัง​จาก​ได้​รับ​ผล​พวง​อัน​เกิด​จาก​สงคราม. ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ใน​กรณี​ใด ชน​เผ่า​โรมา​ก็​มา​ถึง​ยุโรป​ก่อน​ปี​สากล​ศักราช 1300 โดย​อพยพ​มา​ทาง​เปอร์เซีย​และ​ตุรกี.

ความ​เข้าใจ​ที่​มี​อยู่​ทั่ว​ไป​ใน​ยุโรป​เกี่ยว​กับ​ชน​เผ่า​โรมา​นั้น​มี​สอง​ด้าน​ที่​ต่าง​กัน​สุด​ขั้ว. ใน​ด้าน​หนึ่ง ชน​เผ่า​โรมา​ถูก​จินตนาการ​ไว้​ใน​นิยาย​และ​ภาพยนตร์​บาง​เรื่อง​ว่า​เป็น​กลุ่ม​ชน​เร่ร่อน​ที่​โอบอ้อม​อารี ไร้​ความ​กังวล​ใด ๆ ผู้​ซึ่ง​บอก​เล่า​เรื่อง​ราว​ชีวิต​ที่​มี​ทั้ง​สุข​และ​ทุกข์​ผ่าน​บทเพลง​และ​การ​เต้น​รำ. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง​พวก​เขา​ถูก​ประณาม​ว่า​เป็น​คน​ไว้​ใจ​ไม่​ได้, ลึกลับ, และ​น่า​สงสัย—เป็น​คน​นอก, ถูก​โดด​เดี่ยว​และ​ถูก​ตัด​ออก​จาก​สังคม​รอบ​ข้าง. เพื่อ​ช่วย​เรา​ให้​เข้าใจ​ว่า​แนว​คิด​แบบ​เหมา​รวม​เช่น​ว่า​นี้​เกิด​จาก​อะไร ให้​เรา​มา​พิจารณา​อดีต​ที่​น่า​ทึ่ง​ของ​ชน​เผ่า​โรมา.

ยุค​แห่ง​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม

ใน​ยุค​กลาง โลก​ของ​ชาว​ยุโรป​ส่วน​ใหญ่​ถูก​จำกัด​อยู่​แค่​ใน​เมือง​หรือ​ใน​หมู่​บ้าน​ของ​ตน. ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​ชาว​บ้าน​หลาย​คน​ใน​ยุค​กลาง​จะ​รู้สึก​อย่าง​ไร​เมื่อ​เห็น​ครอบครัว​ชน​เผ่า​โรมา​อพยพ​มา​ถึง​ที่​นั่น​เป็น​ครั้ง​แรก. หลาย​สิ่ง​เกี่ยว​กับ​ชน​เผ่า​โรมา​คง​เป็น​เรื่อง​แปลก​ใหม่. นอก​จาก​ผู้​มา​ใหม่​จะ​มี​ผิว​ดำ, ตา​ดำ, และ​ผม​ดำ​แล้ว เสื้อ​ผ้า​ที่​สวม​ใส่​รวม​ทั้ง​กิริยา​ท่า​ทาง​และ​ภาษา​ก็​ต่าง​จาก​ชาว​ยุโรป​อย่าง​สิ้นเชิง ประกอบ​กับ​ชาว​โรมา​มัก​ชอบ​เก็บ​ตัว ซึ่ง​อาจ​เป็น​อุปนิสัย​ที่​ติด​ตัว​มา​ตั้ง​แต่​สมัย​ที่​พวก​เขา​อยู่​ใน​อินเดีย​ซึ่ง​มี​การ​แบ่ง​ชั้น​วรรณะ. ภาย​ใน​ไม่​กี่​ทศวรรษ ความ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​ของ​ชาว​ยุโรป​ที่​มี​ใน​ตอน​แรก​ก็​แปร​เปลี่ยน​เป็น​ความ​ไม่​ไว้​ใจ.

พวก​โรมา​ถูก​แยก​ออก​นอก​ชุมชน​จริง ๆ โดย​ถูก​บังคับ​ให้​ตั้ง​แคมป์​พัก​อาศัย​อยู่​นอก​หมู่​บ้าน​และ​ถูก​ห้าม​ไม่​ให้​เข้า​มา​ใน​หมู่​บ้าน​แม้​แต่​จะ​ซื้อ​หา​อาหาร​หรือ​ตัก​น้ำ​ก็​ไม่​ได้. มี​ข่าว​ลือ​เกี่ยว​กับ​พวก​เขา​ว่า “พวก​นั้น​จะ​มา​ขโมย​เด็ก และ​กิน​เด็ก​ด้วย​ซ้ำ!” บาง​ครั้ง​มี​การ​ออก​กฎ​ให้​ชาว​โรมา​ทำ​อาหาร​นอก​บ้าน​เพื่อ​ใคร​ก็​ตาม​จะ​สามารถ​ตรวจ​สอบ​อาหาร​ใน​หม้อ​ได้. การ​ตรวจ​สอบ​ที่​ว่า​นี้​บ่อย​ครั้ง​ก็​คือ​การ​ทำ​ให้​อาหาร​ที่​จะ​รับประทาน​ใน​วัน​นั้น​ถูก​เท​ทิ้ง​ลง​บน​พื้น. จึง​ไม่​แปลก​ที่​พวก​โรมา​บาง​คน​ขโมย​อาหาร​เพื่อ​ประทัง​ชีวิต.

พวก​โรมา​รับมือ​กับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​เช่น​นั้น​โดย​อยู่​ใกล้​ชิด​กับ​พวกพ้อง​ของ​ตน. เป็น​เวลา​นาน​หลาย​ศตวรรษ​มา​แล้ว​ที่​พวก​เขา​ช่วยเหลือ​เกื้อกูล​ซึ่ง​กัน​และ​กัน และ​มี​ชีวิต​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​สุข. ตาม​ธรรมเนียม​ที่​ปฏิบัติ​สืบ​ทอด​กัน​มา บิดา​มารดา​จะ​เอา​ใจ​ใส่​บุตร​ของ​ตน​เป็น​อย่าง​ดี และ​ลูก ๆ ก็​จะ​เอา​ใจ​ใส่​บิดา​มารดา​อย่าง​ดี​และ​คอย​ดู​แล​เมื่อ​บิดา​มารดา​แก่​ชรา. นอก​จาก​นี้ พวก​โรมา​หลาย​คน​รักษา​มาตรฐาน​ด้าน​ความ​ประพฤติ​และ​ความ​ถูก​ต้อง​ตาม​ธรรมเนียม​ประเพณี​ไว้​อย่าง​เหนียวแน่น.

ชีวิต​เร่ร่อน

เนื่อง​จาก​คน​ใน​ชุมชน​ไม่​ค่อย​ต้อนรับ​พวก​เขา ชาว​โรมา​จึง​ต้อง​ย้าย​ที่​อยู่​ไป​เรื่อย ๆ. ชีวิต​เร่ร่อน​เช่น​นี้​ทำ​ให้​ต้อง​มี​ทักษะ​ความ​ชำนาญ​หลาย ๆ ด้าน เช่น งาน​โลหะ, การ​ค้า​ขาย, และ​การ​ให้​ความ​บันเทิง. งาน​ที่​เป็น​ที่​ต้องการ​เหล่า​นี้​อย่าง​น้อย​ก็​ทำ​ให้​พวก​เขา​สามารถ​เลี้ยง​ดู​ครอบครัว​ของ​ตน​ได้. พวก​ผู้​หญิง​ชาว​โรมา​บาง​คน​ฉวย​ประโยชน์​จาก​ชื่อเสียง​ที่​ว่า​พวก​เขา​มี​ความ​สามารถ​ด้าน​พลัง​จิต​เพื่อ​หา​เงิน โดย​ทำที​ว่า​พวก​เขา​มี​ความ​สามารถ​นั้น​จริง ๆ. นอก​จาก​นั้น ชีวิต​เร่ร่อน​ยัง​ช่วย​ลด​ความ​เสี่ยง​ของ​การ​ปน​เปื้อน​ทาง​วัฒนธรรม​หรือ​ศีลธรรม​จาก​การ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​มาก​เกิน​ไป​กับ​กาดเจ—ใน​ภาษา​โรมานี​แปล​ว่า “ไม่​ใช่​ชาว​โรมา.” *

ใน​ขณะ​เดียว​กัน อคติ​ก็​ทำ​ให้​เกิด​การ​ข่มเหง. ชน​เผ่า​โรมา​ถูก​ขับ​ไล่​ออก​จาก​บาง​ส่วน​ของ​ยุโรป. ใน​ที่​อื่น ๆ ชาว​โรมา​ถูก​จับ​ไป​เป็น​ทาส​มา​นาน​หลาย​ศตวรรษ. การ​เลิก​ทาส​ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1860 ยิ่ง​กระตุ้น​ให้​ชาว​โรมา​กลุ่ม​ใหญ่​อพยพ​ไป​ยุโรป​ตะวัน​ตก​และ​อเมริกา. ไม่​ว่า​จะ​ไป​ที่​ไหน พวก​เขา​ก็​นำ​ภาษา, ขนบธรรมเนียม, และ​ความ​สามารถ​พิเศษ​ติด​ตัว​ไป​ด้วย.

แม้​ใน​ช่วง​ที่​ถูก​ข่มเหง บาง​ครั้ง​ชาว​โรมา​ก็​พอ​จะ​หา​ความ​สุข​ได้​บ้าง​จาก​ศิลปะ​การ​แสดง​ของ​ตน. ใน​สเปน การ​ผสมผสาน​วัฒนธรรม​ของ​ชาว​โรมา​กับ​วัฒนธรรม​อื่น ๆ ทำ​ให้​เกิด​ดนตรี​และ​การ​เต้น​รำ​แบบ​ฟลามิงโก ขณะ​ที่​ใน​ยุโรป​ตะวัน​ออก นัก​ดนตรี​ชาว​โรมา​ก็​รับ​เอา​เพลง​พื้นเมือง​ของ​คน​ใน​ท้องถิ่น โดย​เพิ่ม​ท่วง​ทำนอง​ที่​เป็น​รูป​แบบ​เฉพาะ​ของ​ตน​เข้า​ไป​ด้วย. วิธี​ที่​ชาว​โรมา​เล่น​ดนตรี​ได้​อย่าง​มี​พลัง​และ​เร้า​ความ​รู้สึก​มี​อิทธิพล​ต่อ​แม้​แต่​นัก​แต่ง​เพลง​คลาสสิก​หลาย​คน เช่น เบโทเฟน, บรามส์, ดโวชาร์ค, ไฮเดิน, ลิสต์, โมสาร์ท, ราคมานินอฟฟ์, ราเวน, รอสซินี, แซง-ฌอง, และ​ซาราซาเต.

ชน​เผ่า​โรมา​ใน​สมัย​ปัจจุบัน

ทุก​วัน​นี้​มี​ชน​เผ่า​โรมา​ประมาณ​สอง​ล้าน​ถึง​ห้า​ล้าน​คน—บาง​คน​บอก​ว่า​มาก​กว่า​นั้น—อาศัย​อยู่​เกือบ​ทั่ว​ทุก​มุม​โลก. โดย​มาก​อาศัย​อยู่​ใน​ยุโรป. ชาว​โรมา​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ต้อง​ใช้​ชีวิต​อย่าง​เร่ร่อน​ต่อ​ไป​อีก และ​บาง​คน​ก็​มี​ฐานะ​มั่งคั่ง. แต่​ใน​หลาย​ดินแดน ชน​เผ่า​โรมา​ยัง​คง​ถูก​นับ​รวม​อยู่​ใน​พวก​คน​จน​และ​คน​ด้อย​โอกาส และ​มัก​จะ​อาศัย​อยู่​ใน​แหล่ง​เสื่อม​โทรม.

ใน​ยุค​คอมมิวนิสต์​ของ​ยุโรป​ตะวัน​ออก ทฤษฎี​ทาง​การ​เมือง​ระบุ​ว่า​ราษฎร​ทุก​คน​มี​ความ​เสมอ​ภาค​กัน. รัฐบาล​พยายาม​ควบคุม​ชาว​โรมา​ซึ่ง​มี​วิถี​ชีวิต​แบบ​เร่ร่อน​โดย​หา​งาน​ให้​พวก​เขา​ทำ​และ​สร้าง​บ้าน​ให้​อยู่ ซึ่ง​ก็​ได้​ผล​บ้าง​ไม่​ได้​ผล​บ้าง. บาง​ครั้ง สิ่ง​นี้​ส่ง​ผล​ให้​พวก​เขา​มี​มาตรฐาน​ด้าน​สุขภาพ​และ​การ​ดำรง​ชีพ​ดี​ขึ้น​ใน​ระดับ​หนึ่ง. แต่​ก็​ไม่​อาจ​ลบ​ล้าง​ความ​รู้สึก​และ​ความ​คิด​ใน​แง่​ลบ​ที่​มี​ต่อ​กัน​มา​นาน​นับ​ศตวรรษ​ระหว่าง​ชาว​โรมา​และ​คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​โรมา.

การ​เปลี่ยน​แปลง​ทาง​การ​เมือง​ใน​ยุโรป​ตะวัน​ออก​ช่วง​ทศวรรษ 1990 ทำ​ให้​ชาว​โรมา​มี​ความ​หวัง​ที่​จะ​ได้​รับ​โอกาส​ใหม่ ๆ ใน​ชีวิต. แต่​การ​เปลี่ยน​แปลง​ดัง​กล่าว​ยิ่ง​เป็น​การ​ซ้ำ​เติม​แผล​เก่า เมื่อ​โครงการ​ช่วยเหลือ​ทาง​สังคม​มี​น้อย​ลง รวม​ทั้ง​การ​บังคับ​ใช้​กฎหมาย​เพื่อ​ขจัด​การ​เลือก​ปฏิบัติ​ก็​ไม่​เข้มงวด​เหมือน​แต่​ก่อน ส่ง​ผล​ให้​ชาว​โรมา​จำนวน​มาก​มี​ชีวิต​ที่​ยาก​ลำบาก​กว่า​เดิม​ทั้ง​ทาง​ด้าน​สังคม​และ​เศรษฐกิจ.

การ​แสวง​หา​ความ​หวัง​และ​ชีวิต​ที่​ดี​กว่า

นั่น​คือ​สภาพการณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​แอนเดรีย ซึ่ง​มี​ผม​สี​ดำ​เป็น​ประกาย ได้​มา​เข้า​เรียน​ใน​โรง​เรียน​ที่​ยุโรป​ตะวัน​ออก. เธอ​เป็น​นัก​เรียน​เพียง​คน​เดียว​ใน​ชั้น​เรียน​ที่​เป็น​ลูก​หลาน​ชาว​โรมา. แม้​จะ​มี​จิตใจ​ที่​เข้มแข็ง แต่​เธอ​ก็​ไม่​อาจ​กลั้น​น้ำตา​ไว้​ได้​เมื่อ​เธอ​เล่า​ถึง​ตอน​ที่​ถูก​เยาะเย้ย​และ​ไม่​มี​ใคร​คบหา​ด้วย. แอนเดรีย​จำ​ได้​ว่า “เมื่อ​มี​การ​เลือก​ผู้​ร่วม​ทีม​เพื่อ​เล่น​กีฬา ดิฉัน​มัก​จะ​ถูก​เลือก​เป็น​คน​สุด​ท้าย​เสมอ. ดิฉัน​อยาก​จะ​หนี​ไป​อยู่​ที่​อินเดีย​เสีย​เลย จะ​ได้​ไม่​ต้อง​เป็น​เป้า​สายตา​ของ​ใคร. ที่​จริง ครั้ง​หนึ่ง​มี​คน​ตะโกน​ใส่​เพื่อน​ของ​ฉัน​ว่า ‘กลับ​อินเดีย​ไป​ซะ!’ เพื่อน​คน​นั้น​ตอบ​ว่า ‘ถ้า​มี​เงิน​ฉัน​จะ​ไป​แน่.’ ไม่​มี​ที่​ไหน​ที่​เรา​รู้สึก​ว่า​อบอุ่น​ปลอด​ภัย. ไม่​มี​สัก​แห่ง​ที่​ต้อนรับ​พวก​เรา.” เนื่อง​จาก​มี​พรสวรรค์​ด้าน​การ​เต้น​รำ แอนเดรีย​จึง​ใฝ่ฝัน​ว่า​โดย​อาศัย​สิ่ง​นี้​เธอ​จะ​มี​ชื่อเสียง​และ​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ. แต่​ใน​ช่วง​ที่​เป็น​วัยรุ่น เธอ​พบ​บาง​สิ่ง​ที่​ดี​กว่า​นั้น​มาก​นัก.

แอนเดรีย​เล่า​ว่า “วัน​หนึ่ง​มี​หญิง​สาว​ชื่อ​พิรอสกา มา​ที่​บ้าน​ของ​เรา เธอ​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา. เธอ​เปิด​ให้​ดิฉัน​ดู​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​พระเจ้า​ไม่​เพียง​รัก​มนุษยชาติ​โดย​รวม​เท่า​นั้น แต่​พระองค์​ทรง​รัก​เรา​เป็น​ราย​บุคคล. เธอ​อธิบาย​ว่า​ดิฉัน​จะ​มี​สัมพันธภาพ​ที่​ดี​กับ​พระเจ้า​ได้​ถ้า​ดิฉัน​ต้องการ. นี่​ทำ​ให้​ดิฉัน​รู้สึก​ว่า​ที่​จริง​แล้ว​ดิฉัน​มี​ความ​สำคัญ​สำหรับ​ใคร​บาง​คน. การ​ที่​ได้​รู้​ว่า ใน​ทัศนะ​ของ​พระเจ้า​มนุษย์​ทุก​คน​เท่า​เทียม​กัน​หมด​ทำ​ให้​ดิฉัน​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เอง​มาก​ขึ้น.

“พิรอสกา​พา​ดิฉัน​ไป​ที่​การ​ประชุม​ของ​พยาน​ฯ ที่​นั่น​ดิฉัน​ได้​พบ​ทั้ง​คน​ที่​เป็น​ชาว​โรมา​และ​ไม่​ได้​เป็น​ชาว​โรมา และ​รู้สึก​ได้​เลย​ว่า​พวก​เขา​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน. ดิฉัน​พบ​เพื่อน​แท้​เป็น​พยาน​ฯ ที่​มี​ภูมิหลัง​ทั้ง​สอง​อย่าง. หลัง​จาก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​พิรอสกา​ประมาณ​หนึ่ง​ปี​ครึ่ง ดิฉัน​ก็​เข้า​มา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ด้วย.” ทุก​วัน​นี้ แอนเดรีย​กับ​สามี​เป็น​ผู้​เผยแพร่​ข่าว​ดี​เต็ม​เวลา โดย​สอน​คน​อื่น​เกี่ยว​กับ​ความ​รัก​อัน​อบอุ่น​ของ​พระเจ้า​ที่​มี​ต่อ​คน​ทุก​ชาติ.

“ยอม​รับ​ว่า​เท่า​เทียม​กัน”

เมื่อ​คิด​ถึง​ตอน​เป็น​เด็ก ไฮโร​ซึ่ง​เป็น​ชาว​โรมา​เล่า​ว่า “การ​คบหา​สมาคม​ที่​ไม่​ดี​กับ​เด็ก​หนุ่ม ๆ ที่​ชอบ​ทำ​เรื่อง​ผิด​กฎหมาย​ทำ​ให้​ผม​ต้อง​เดือดร้อน​อยู่​เป็น​ประจำ. ครั้ง​หนึ่ง ผม​ถูก​ตำรวจ​คุม​ขัง​ข้อ​หา​ขโมย​ของ​ตอน​ที่​ผม​คบหา​กับ​เด็ก​เหล่า​นั้น. เมื่อ​ตำรวจ​พา​ผม​มา​ส่ง​ที่​บ้าน ผม​กลัว​ปฏิกิริยา​ของ​แม่​มาก​กว่า​พวก​ตำรวจ​ด้วย​ซ้ำ เพราะ​เช่น​เดียว​กับ​ครอบครัว​ชาว​โรมา​หลาย​ครอบครัว ผม​ถูก​สอน​ว่า​การ​ขโมย​ของ​ของ​คน​อื่น​ถือ​เป็น​ความ​ผิด.”

เมื่อ​โต​ขึ้น ไฮโร​กับ​ครอบครัว​ได้​พบ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เช่น​กัน. ไฮโร​รู้สึก​ประทับใจ​คำ​สัญญา​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​จะ​ขจัด​ปัญหา​ต่าง ๆ ใน​สังคม​มนุษย์​รวม​ถึง​ความ​มี​อคติ​และ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม. เขา​เล่า​ว่า “ชาว​โรมา​ไม่​เคย​มี​รัฐบาล​ของ​ชาติ​ตน​เอง​ที่​ดู​แล​เอา​ใจ​ใส่​พวก​เขา. นั่น​เป็น​เหตุ​ที่​ผม​รู้สึก​ว่า​ชาว​โรมา​เข้าใจ​ดี​และ​หยั่ง​รู้​ค่า​สิ่ง​ที่​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​จะ​ทำ​เพื่อ​ทุก​คน. ผม​มอง​เห็น​ประโยชน์​เหล่า​นั้น​ตั้ง​แต่​ตอน​นี้​ด้วย​ซ้ำ. นับ​ตั้ง​แต่​ที่​ผม​ก้าว​เข้า​มา​ใน​หอ​ประชุม ผม​ก็​รู้สึก​อย่าง​เดียว​กับ​อัครสาวก​เปโตร​เมื่อ​ท่าน​กล่าว​ว่า ‘ข้าพเจ้า​เห็น​จริง​แล้ว​ว่า​พระเจ้า​ไม่​ทรง​เลือก​หน้า​ผู้​ใด แต่​ชาว​ชน​ใน​ประเทศ​ใด ๆ ที่​เกรง​กลัว​พระองค์​และ​ประพฤติ​ใน​ทาง​ชอบธรรม​ก็​เป็น​ที่​ชอบ​พระทัย​พระองค์.’ (กิจการ 10:34, 35) ผม​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​อย่าง​ที่​เท่า​เทียม​กับ​ทุก​คน. ผม​แทบ​ไม่​เชื่อ​หู​ตัว​เอง​เลย​เมื่อ​ได้​ยิน​คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​โรมา​เรียก​ผม​ว่า​พราลา ซึ่ง​ภาษา​โรมานี​แปล​ว่า ‘พี่​น้อง!’

“ตอน​แรก สมาชิก​บาง​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​ผม​ต่อ​ต้าน​ผม​อย่าง​หนัก. พวก​เขา​ไม่​เข้าใจ​ที่​ผม​ทำ​การ​เปลี่ยน​แปลง​หลาย​อย่าง​เพื่อ​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. แต่​ตอน​นี้ ญาติ​และ​ชุมชน​ชาว​โรมา​เห็น​แล้ว​ว่า​การ​ยืนหยัด​มั่นคง​เพื่อ​ทำ​ตาม​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า​ทำ​ให้​ผม​มี​ความ​สุข​และ​ได้​รับ​สิ่ง​ดี ๆ มาก​มาย. พวก​เขา​ส่วน​ใหญ่​ต้องการ​ปรับ​ปรุง​คุณภาพ​ชีวิต​ของ​ตน​เช่น​กัน.” ปัจจุบัน​นี้ ไฮโร​รับใช้​ฐานะ​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​และ​ผู้​เผยแพร่​ข่าว​ดี​เต็ม​เวลา. เมแกน ภรรยา​ของ​เขา​ซึ่ง​ไม่​ใช่​ชาว​โรมา​ก็​ได้​สอน​ชาว​โรมา​และ​คน​อื่น ๆ เช่น​กัน​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ช่วย​พวก​เขา​ให้​มี​ความ​สุข​ทั้ง​ใน​ขณะ​นี้​และ​ใน​อนาคต​ได้​อย่าง​ไร. เธอ​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​อย่าง​เต็ม​ใจ​จาก​ครอบครัว​ของ​สามี​และ​ชุมชน​ของ​เขา. พวก​เขา​ชอบ​ที่​ได้​รับ​ความ​สนใจ​เป็น​พิเศษ​จาก​คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​โรมา.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 ใน​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​โลก ชน​เผ่า​โรมา​ถูก​เรียก​ว่า​ยิปซี, กีตานอส, ซิกอยเนอร์, ซิกานี. คำ​เหล่า​นี้​ถือ​ว่า​เป็น​คำ​ที่​ดูถูก​เหยียด​หยาม. คำ​ว่า โรม (พหูพจน์ โรมา) ซึ่ง​ใน​ภาษา​ของ​พวก​เขา​หมาย​ถึง “คน” เป็น​คำ​ที่​ชาว​โรมา​ส่วน​ใหญ่​ใช้​เรียก​ตัว​เอง. ชน​เผ่า​ที่​พูด​ภาษา​โรมานี​บาง​กลุ่ม​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ​อื่น ๆ ด้วย เช่น ซินตี.

^ วรรค 12 แม้​ชาว​โรมา​บาง​คน​จะ​รักษา​ขนบธรรมเนียม​มาก​มาย​ไว้​อย่าง​เหนียวแน่น แต่​บ่อย​ครั้ง​พวก​เขา​ก็​นับถือ​ศาสนา​หลัก ๆ ของ​คน​ใน​ท้อง​ที่​ที่​พวก​เขา​อาศัย​อยู่​ด้วย.

[คำ​โปรย​หน้า 24]

ทุก​วัน​นี้​มี​ชาว​โรมา​อาศัย​อยู่​เกือบ​ทั่ว​ทุก​มุม​โลก

[กรอบ/ภาพ​หน้า 23]

ใน​ยุโรป​ยุค​นาซี ฮิตเลอร์​สังหาร​ชาว​โรมา​ประมาณ 400,000 คน​หรือ​มาก​กว่า​นั้น​ใน​ค่าย​มรณะ รวม​ทั้ง​ชาว​ยิว, พยาน​พระ​ยะโฮวา, และ​คน​อื่น ๆ. ใน​ปี 1940 ก่อน​ที่​การ​ฆ่า​ล้าง​เผ่า​พันธุ์​ของ​ฮิตเลอร์​จะ​เป็น​ที่​รู้​จัก​อย่าง​กว้างขวาง​ด้วย​ซ้ำ ชาร์ลี แชปลิน นัก​แสดง—ซึ่ง​ตัว​เขา​เอง​เป็น​ลูก​หลาน​ของ​ชาว​โรมา—ได้​สร้าง​ภาพยนตร์​ชื่อ​จอม​เผด็จการ ซึ่ง​เป็น​ภาพยนตร์​ล้อเลียน​ฮิตเลอร์​และ​ขบวนการ​นาซี. ศิลปิน​คน​อื่น ๆ ที่​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ซึ่ง​อ้าง​ว่า​สืบ​เชื้อ​สาย​มา​จาก​ชาว​โรมา​คือ ยูล บรินเนอร์ นัก​แสดง​ชาย, ริตา เฮย์เวิร์ธ นัก​แสดง​หญิง (ล่าง), ปาโบล ปิกัสโซ จิตรกร (ล่าง), แจงโก้ ไรน์ฮาร์ด นัก​ดนตรี​แจ๊ส, และ​เอสมา เรดเจโปวา นัก​ร้อง​ชาว​มาซิโดเนีย. นอก​จาก​นั้น​ยัง​มี​ชาว​โรมา​ที่​เป็น​วิศวกร, แพทย์, ศาสตราจารย์, และ​สมาชิก​รัฐสภา.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

AFP/Getty Images

Photo by Tony Vaccaro/Getty Images

[กรอบ/ภาพ​หน้า 26]

พยาน​ฯ ที่​เป็น​ชาว​โรมา

ชาว​โรมา​หลาย​คน​ได้​มา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา. บาง​คน​รับใช้​ฐานะ​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​และ​ผู้​รับใช้​เต็ม​เวลา​ประเภท​ไพโอเนียร์. เจ้าหน้าที่​ใน​ท้องถิ่น​และ​คน​อื่น​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​โรมา​ถือ​ว่า​พวก​เขา​เป็น​แบบ​อย่าง​ที่​ดี. พยาน​ฯ คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​ชาว​โรมา​ใน​สโลวาเกีย​เล่า​ว่า “วัน​หนึ่ง เพื่อน​บ้าน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​โรมา​มา​เคาะ​ประตู​อพาร์ตเมนต์​ของ​เรา. เขา​บอก​ว่า ‘ชีวิต​สมรส​ของ​ผม​กำลัง​ถึง​ขั้น​วิกฤติ แต่​ผม​รู้​ว่า​คุณ​ช่วย​เรา​ได้.’ เรา​ถาม​ว่า ‘ทำไม​คุณ​คิด​ว่า​เรา​ช่วย​คุณ​ได้?’ เขา​ตอบ​ว่า ‘ถ้า​พระเจ้า​ที่​คุณ​นมัสการ​ช่วย​ให้​ชาว​โรมา​อย่าง​คุณ​ปรับ​ปรุง​คุณภาพ​ชีวิต​ให้​ดี​ขึ้น​ได้ บาง​ที​พระองค์​อาจ​ช่วย​เรา​ได้​เช่น​กัน.’ เรา​ให้​หนังสือ​เขา​เล่ม​หนึ่ง เป็น​หนังสือ​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ครอบครัว​ที่​อาศัย​พระ​คัมภีร์​เป็น​หลัก ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

“ต่อ​มา​ภรรยา​ของ​เขา​ก็​มา​เคาะ​ประตู​ห้อง​ของ​เรา​และ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​แบบ​เดียว​กัน โดย​ไม่​รู้​ว่า​สามี​ก็​ได้​มา​หา​เรา​แล้ว. เธอ​บอก​ว่า ‘ไม่​มี​ใคร​ใน​อพาร์ตเมนต์​นี้​ช่วย​เรา​ได้.’ เรา​ให้​หนังสือ​แบบ​เดียว​กัน​นั้น​กับ​เธอ. ทั้ง​สามี​และ​ภรรยา​ต่าง​ก็​ขอร้อง​เรา​ว่า​อย่า​บอก​ให้​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง​รู้​เรื่อง​นี้. เวลา​ผ่าน​ไป​เดือน​ครึ่ง เรา​เริ่ม​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​สามี​ภรรยา​คู่​นี้. การ​ดำเนิน​ชีวิต​ที่​สอดคล้อง​กับ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​ช่วย​ยก​ระดับ​พวก​เรา​ขึ้น​ใน​สายตา​ของ​คน​ทั่ว​ไป จน​พวก​เขา​หัน​มา​หา​เรา​เพื่อ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ.”

[ภาพ​หน้า 26]

นาร์บัน, ฝรั่งเศส

กรานาดา, สเปน

“ชาว​โรมา​เข้าใจ​ดี​และ​หยั่ง​รู้​ค่า​สิ่ง​ที่​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​จะ​ทำ​เพื่อ​ทุก​คน.”—ไฮโร

[ภาพ​หน้า 22]

โปแลนด์

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Clive Shirley/Panos Pictures

[ภาพ​หน้า 22]

ชาว​โรมา​ใน​อังกฤษ ปี 1911

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

By courtesy of the University of Liverpool Library

[ภาพ​หน้า 22, 23]

สโลวาเกีย

[ภาพ​หน้า 23]

มาซิโดเนีย

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Mikkel Ostergaard/Panos Pictures

[ภาพ​หน้า 24]

โรมาเนีย

[ภาพ​หน้า 24]

มาซิโดเนีย

[ภาพ​หน้า 24, 25]

สาธารณรัฐ​เช็ก

[ภาพ​หน้า 24, 25]

สเปน

[ภาพ​หน้า 25]

เนื่อง​จาก​มี​พรสวรรค์​ด้าน​การ​เต้น​รำ แอนเดรีย​จึง​ใฝ่ฝัน​ว่า​โดย​อาศัย​สิ่ง​นี้​เธอ​จะ​มี​ชื่อเสียง​และ​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 24]

Romania: © Karen Robinson/Panos Pictures; Macedonia: © Mikkel Ostergaard/Panos Pictures; Czech Republic: © Julie Denesha/Panos Pictures