ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทีวี—ตัวขโมยเวลาหรือ?

ทีวี—ตัวขโมยเวลาหรือ?

ทีวี—ตัว​ขโมย​เวลา​หรือ?

ถ้า​มี​ใคร​สัก​คน​บอก​ว่า​จะ​ให้​เงิน​คุณ​สี่​สิบ​ล้าน​บาท โดย​มี​ข้อ​แม้​ว่า​คุณ​จะ​ต้อง​เลิก​ดู​โทรทัศน์​ไป​ตลอด​ชีวิต คุณ​จะ​รับ​ข้อ​เสนอ​นี้​ไหม? มี​การ​สำรวจ​เรื่อง​นี้​เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​ที่​ผ่าน​มา และ​หนึ่ง​ใน​สี่​ของ​ชาว​อเมริกัน​ตอบ​ว่า​พวก​เขา​จะ​ไม่​รับ. ใน​การ​สำรวจ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง มี​การ​สอบ​ถาม​พวก​ผู้​ชาย​ว่า​พวก​เขา​ต้องการ​อะไร​มาก​ที่​สุด​ใน​ชีวิต. คน​ส่วน​ใหญ่​ตอบ​ว่า​ต้องการ​สันติภาพ​และ​ความ​สุข. แต่​เรื่อง​นี้​มา​เป็น​อันดับ​สอง. สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ต้องการ​มาก​ที่​สุด​ใน​ชีวิต​ก็​คือ​โทรทัศน์​จอ​ยักษ์!

ตลอด​ทั่ว​โลก​ผู้​คน​นิยม​ดู​โทรทัศน์​กัน​อย่าง​มาก. ย้อน​ไป​ใน​ปี 1931 เมื่อ​โทรทัศน์​ถือ​กำเนิด​ขึ้น​ได้​ไม่​นาน ประธาน​บริษัท​วิทยุ​กระจาย​เสียง​แห่ง​อเมริกา​ได้​กล่าว​ว่า “อาจ​คาด​หมาย​ได้​อย่าง​สม​เหตุ​สม​ผล​ว่า ถ้า​มี​การ​พัฒนา​โทรทัศน์​อย่าง​สมบูรณ์​แบบ​แล้ว จำนวน​ผู้​ชม​โทรทัศน์​ก็​อาจ​เท่า​กับ​จำนวน​ประชากร​โลก​ทั้ง​หมด​ที​เดียว.” ถ้อย​คำ​นี้​อาจ​ฟัง​ดู​เกิน​จริง​ใน​สมัย​โน้น แต่​ปัจจุบัน​ไม่​เป็น​อย่าง​นั้น​แล้ว. ประมาณ​กัน​ว่า​ทั่ว​โลก​มี​เครื่อง​รับ​โทรทัศน์​ราว ๆ หนึ่ง​พัน​ห้า​ร้อย​ล้าน​เครื่อง และ​มี​ผู้​ชม​มาก​กว่า​จำนวน​นี้​อีก​หลาย​เท่า. ไม่​ว่า​คุณ​จะ​ชอบ​หรือ​ไม่​ชอบ โทรทัศน์​ก็​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​ชีวิต​ของ​ผู้​คน.

หลาย​คน​ใช้​เวลา​ไป​กับ​การ​ดู​โทรทัศน์​มาก​เสีย​จน​น่า​ตกใจ. ไม่​นาน​มา​นี้ การ​ศึกษา​วิจัย​ระดับ​โลก​แสดง​ว่า เฉลี่ย​แล้ว​ผู้​คน​ดู​ทีวี​วัน​ละ​สาม​ชั่วโมง​กว่า. ชาว​อเมริกา​เหนือ​ดู​ทีวี​วัน​ละ​สี่​ชั่วโมง​ครึ่ง ส่วน​ชาว​ญี่ปุ่น​ดู​ทีวี​มาก​ที่​สุด คือ​วัน​ละ​ห้า​ชั่วโมง. เมื่อ​เอา​เวลา​เหล่า​นี้​มา​รวม​กัน​ก็​นับ​ว่า​มาก​ที​เดียว. ถ้า​เรา​ดู​ทีวี​วัน​ละ​สี่​ชั่วโมง เมื่อ​เรา​มี​อายุ 60 ปี เรา​ก็​ใช้​เวลา​อยู่​หน้า​จอ​ทีวี​ไป​แล้ว​ถึง​สิบ​ปี. กระนั้น ไม่​มี​ใคร​ใน​พวก​เรา​ที่​อยาก​มี​คำ​จารึก​บน​หลุม​ศพ​ว่า “ผู้​ที่​นอน​อยู่​ที่​นี่​คือ​เพื่อน​ผู้​เป็น​ที่​รัก ซึ่ง​ได้​อุทิศ​เวลา​หนึ่ง​ใน​หก​ของ​ชีวิต​ไป​กับ​การ​ดู​ทีวี.”

ผู้​คน​ดู​โทรทัศน์​หลาย​ชั่วโมง​เพราะ​พวก​เขา​ชอบ​ไหม? ไม่​เสมอ​ไป. หลาย​คน​คิด​ว่า​เขา​ดู​ทีวี​มาก​เกิน​ไป​และ​รู้สึก​ผิด​ที่​ไม่​ได้​ใช้​เวลา​ให้​เป็น​ประโยชน์​มาก​กว่า​นั้น. บาง​คน​บอก​ว่า​พวก​เขา “ติด​ทีวี.” แน่นอน คุณ​ไม่​อาจ​จะ​ติด​ทีวี​เหมือน​กับ​ติด​ยา​เสพ​ติด แต่​กระนั้น​สอง​อย่าง​นี้​ก็​มี​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​คล้าย​กัน. คน​ที่​ติด​ยา​ใช้​เวลา​มาก​ใน​การ​เสพ​ยา. แม้​ว่า​พวก​เขา​ต้องการ​จะ​ลด​เวลา​ที่​ใช้​ใน​การ​เสพ​ยา​หรือ​เลิก​เสพ​ไป​เลย แต่​ก็​ทำ​ไม่​ได้. พวก​เขา​ต้อง​ตัด​กิจกรรม​ที่​สำคัญ​ทาง​สังคม​และ​ครอบครัว​ออก​ไป​เพื่อ​จะ​เสพ​ยา และ​พวก​เขา​มี​อาการ​ถอน​ยา​เมื่อ​ไม่​ได้​เสพ. อาการ​ทั้ง​หมด​นี้​อาจ​เกิด​กับ​คน​ที่​ดู​โทรทัศน์​มาก ๆ.

“ซึ่ง​จะ​กิน​น้ำ​ผึ้ง​มาก​เกิน​ไป​นั้น​ก็​ไม่​ดี” กษัตริย์​ซะโลโม​ผู้​ชาญ​ฉลาด​เขียน​ไว้. (สุภาษิต 25:27) หลักการ​เดียว​กัน​นี้​ใช้​ได้​กับ​การ​ดู​ทีวี. แม้​ว่า​โทรทัศน์​มี​อะไร​ที่​มี​ประโยชน์​มาก​มาย แต่​การ​ดู​โทรทัศน์​มาก​เกิน​ไป​อาจ​ทำ​ให้​เสีย​เวลา​ที่​ควร​จะ​ใช้​ร่วม​กับ​ครอบครัว, ทำ​ให้​ความ​สามารถ​ใน​การ​อ่าน​หนังสือ​และ​การ​เรียน​รู้​ของ​เด็ก​ลด​น้อย​ลง, และ​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เป็น​โรค​อ้วน. ถ้า​คุณ​ใช้​เวลา​มาก ๆ ใน​การ​ดู​ทีวี ก็​นับ​ว่า​ฉลาด​ที่​จะ​คิด​ใคร่ครวญ​ดู​ว่า​คุณ​ได้​รับ​ประโยชน์​อะไร​บ้าง. เวลา​ของ​เรา​มี​ค่า​มาก​เกิน​กว่า​จะ​เสีย​ไป​เปล่า ๆ ได้. นับ​ว่า​ฉลาด​ด้วย​ที่​คิด​ว่า​เรา​จะ​ดู​รายการ​อะไร​บ้าง. เรา​จะ​พิจารณา​หัวข้อ​นี้​ใน​บทความ​ถัด​ไป.