ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สะพานเทาเวอร์—ประตูสู่ลอนดอน

สะพานเทาเวอร์—ประตูสู่ลอนดอน

สะพาน​เทาเวอร์—ประตู​สู่​ลอนดอน

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บริเตน

ชาว​ต่าง​ชาติ​ที่​ไม่​เคย​เดิน​ทาง​ไป​อังกฤษ​รู้​จัก​ที่​แห่ง​นี้. ทุก​ปี​มี​นัก​ท่อง​เที่ยว​มา​ชม​หลาย​หมื่น​หลาย​แสน​คน. ชาว​ลอนดอน​ข้าม​ไป​มา​อยู่​ทุก​วัน โดย​ที่​พวก​เขา​อาจ​ไม่​ได้​หยุด​มอง​หรือ​คิด​ถึง​ความ​เป็น​มา​ของ​มัน​ด้วย​ซ้ำ. นี่​เป็น​หนึ่ง​ใน​สัญลักษณ์​ที่​มี​ชื่อเสียง​ที่​สุด​ของ​ลอนดอน—สะพาน​เทาเวอร์.

อย่า​สับสน​ว่า​นี่​เป็น​สะพาน​เดียว​กับ​สะพาน​ลอนดอน​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ กัน​นั้น สะพาน​เทาเวอร์​มี​ความ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เทาเวอร์​ออฟ​ลอนดอน (ป้อม​ปราการ​แห่ง​ลอนดอน) ที่​อยู่​ใกล้​กัน. ย้อน​ไป​ใน​ปี 1872 รัฐสภา​อังกฤษ​พิจารณา​ร่าง​กฎหมาย​เพื่อ​อนุมัติ​เรื่อง​การ​สร้าง​สะพาน​ข้าม​แม่น้ำ​เทมส์. แม้​ถูก​ต่อ​ต้าน​จาก​ผู้​บังคับ​การ​เทาเวอร์​ออฟ​ลอนดอน แต่​รัฐสภา​ก็​ตัดสิน​ใจ​ดำเนิน​การ​สร้าง​สะพาน​อีก​โดย​ให้​สะพาน​นี้​มี​รูป​แบบ​คล้าย​กับ​เทาเวอร์​ออฟ​ลอนดอน. สะพาน​เทาเวอร์​ใน​ปัจจุบัน​มี​จุด​เริ่ม​ต้น​จาก​ร่าง​กฎหมาย​ดัง​กล่าว.

ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 18 และ 19 มี​การ​สร้าง​สะพาน​หลาย​แห่ง​เชื่อม​ระหว่าง​สอง​ฝั่ง​ของ​แม่น้ำ​เทมส์ และ​สะพาน​ที่​มี​ชื่อเสียง​ที่​สุด​คือ​สะพาน​โอลด์​ลอนดอน. พอ​ถึง​ปี 1750 สะพาน​ดัง​กล่าว​อยู่​ใน​สภาพ​ชำรุด​ทรุดโทรม​และ​การ​จราจร​บริเวณ​สะพาน​ก็​มี​ลักษณะ​เป็น​คอ​ขวด. ใต้​สะพาน​มี​เรือ​จาก​ทั่ว​ทุก​มุม​โลก​แย่ง​กัน​หา​ที่​จอด​ใน​ท่า​เรือ​ที่​แน่น​ขนัด. ใน​สมัย​นั้น มี​เรือ​เข้า​มา​จอด​เทียบ​ท่า​กัน​มาก​มาย​จน​กล่าว​กัน​ว่า ผู้​คน​สามารถ​เดิน​ข้าม​ดาดฟ้า​เรือ​ที่​จอด​ติด ๆ กัน​ได้​ไกล​หลาย​กิโลเมตร.

โดย​การ​สนับสนุน​จาก​นคร​ลอนดอน ฮอเรส โจนส์ สถาปนิก​ประจำ​นคร​นี้​ได้​เสนอ​ให้​สร้าง​สะพาน​ชัก​แบบ​กอทิก​ถัด​จาก​สะพาน​ลอนดอน​ลง​ไป​ทาง​ปาก​แม่น้ำ. เรือ​ที่​ล่อง​ขึ้น​แม่น้ำ​เทมส์​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​สามารถ​แล่น​ผ่าน​สะพาน​นี้​ไป​ยัง​ท่า​เรือ​ได้. การ​ออก​แบบ​ใน​ลักษณะ​นี้​ทำ​ให้​หลาย​คน​ถือ​ว่า​นี่​เป็น​สะพาน​รูป​แบบ​ใหม่.

รูป​แบบ​ที่​ไม่​เหมือน​ใคร

โจนส์​ได้​เดิน​ทาง​ไป​หลาย​ประเทศ และ​สะพาน​ชัก​ขนาด​เล็ก​ที่​ทอด​ข้าม​ลำ​คลอง​ใน​เนเธอร์แลนด์​ทำ​ให้​เขา​เกิด​ความ​คิด​ที่​จะ​สร้าง​สะพาน​หก​ซึ่ง​เป็น​แบบ​ที่​ใช้​แท่น​ถ่วง​น้ำหนัก. สะพาน​เทาเวอร์​ที่​มี​ชื่อเสียง​ใน​ปัจจุบัน​จึง​ถือ​กำเนิด​ขึ้น​มา​จาก​แบบ​ร่าง​ของ​ทีม​งาน​ของ​เขา โดย​ถูก​ออก​แบบ​ให้​ใช้​วิธี​สร้าง​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม​ใน​สมัย​นั้น​โดย​ให้​มี​โครง​สร้าง​เป็น​เหล็ก​และ​ก่อ​อิฐ​หุ้ม​ด้าน​นอก.

สะพาน​เทาเวอร์​ประกอบ​ด้วย​หอคอย​คู่​ขนาด​ใหญ่​ที่​เชื่อม​ต่อ​กัน​ด้วย​ทาง​เดิน​ลอย​ฟ้า​ขนาด​สอง​ช่อง​ทาง​ซึ่ง​อยู่​เหนือ​ถนน​ประมาณ 34 เมตร​และ​อยู่​เหนือ​ระดับ​น้ำ​ช่วง​ที่​สูง​ที่​สุด​โดย​เฉลี่ย​ประมาณ 42 เมตร. ถนน​จาก​แต่​ละ​ฝั่ง​ของ​แม่น้ำ​มา​สิ้น​สุด​ที่​สะพาน​ถ่วง​น้ำหนัก​ซึ่ง​ยก​ขึ้น​ได้​คล้าย​กระดาน​หก. ส่วน​ที่​ยก​ขึ้น​ลง​ได้​เหมือน​กระดาน​หก​ซึ่ง​มี​ขนาด​ใหญ่​โต​มโหฬาร​นี้​แต่​ละ​ข้าง​มี​น้ำหนัก​ประมาณ 1,200 ตัน และ​แยก​ตัว​ออก​จาก​กัน แล้ว​ยก​ตัว​ขึ้น​ใน​แนว​ตั้ง​ทำ​มุม 86 องศา. เรือ​ที่​มี​ระวาง​บรรทุก 10,000 ตัน​สามารถ​แล่น​ผ่าน​ไป​ได้​สบาย ๆ.

พลัง​ที่​ใช้​ยก​สะพาน

พลัง​งาน​ทั้ง​หมด​ที่​ใช้​ใน​การ​ยก​สะพาน, การ​ขับ​เคลื่อน​ลิฟต์​ขน​ผู้​โดยสาร​จาก​ระดับ​ถนน​ขึ้น​ไป​ยัง​ทาง​เดิน​ลอย​ฟ้า, และ​แม้​แต่​การ​ควบคุม​สัญญาณ​จราจร​ล้วน​อาศัย​พลัง​ไฮดรอลิก. ใช่​แล้ว มี​การ​ใช้​พลัง​น้ำ​เพื่อ​ทำ​ให้​สะพาน​นี้​ทำ​งาน​ได้! และ​น้ำ​ที่​ใช้​ใน​การ​ผลิต​พลัง​งาน​ก็​มี​อยู่​เหลือ​เฟือ ทำ​ให้​มี​พลัง​งาน​มาก​กว่า​ที่​ต้องการ​ถึง​สอง​เท่า.

มี​การ​ติด​ตั้ง​หม้อ​ต้ม​น้ำ​ด้วย​ถ่าน​หิน​สี่​หม้อ​ไว้​ที่​บริเวณ​เชิง​สะพาน​ทาง​ทิศ​ใต้ ซึ่ง​ทำ​หน้า​ที่​ผลิต​ไอ​น้ำ​ที่​มี​แรง​ดัน​ระหว่าง 75 ถึง 80 ปอนด์​ต่อ​ตาราง​นิ้ว​สำหรับ​ขับ​ดัน​เครื่อง​ปั๊ม​น้ำ​ขนาด​มหึมา​สอง​ตัว แล้ว​ปั๊ม​ทั้ง​สอง​ตัว​นี้​ก็​ทำ​หน้า​ที่​ปั๊ม​น้ำ​ด้วย​แรง​ดัน 850 ปอนด์​ต่อ​ตาราง​นิ้ว. เพื่อ​จะ​เก็บ​พลัง​งาน​ที่​จำเป็น​สำหรับ​ยก​สะพาน​ได้​อย่าง​ต่อ​เนื่อง จึง​มี​ถัง​ขนาด​ใหญ่​หก​ถัง​ไว้​สำหรับ​เก็บ​กัก​น้ำ​ที่​อัด​แรง​ดัน. ถัง​เหล่า​นี้​จะ​จ่าย​พลัง​งาน​ให้​เครื่องจักร​แปด​เครื่อง​ที่​ควบคุม​การ​ยก​สะพาน. เมื่อ​เปิด​สวิตช์​เครื่องจักร สะพาน​ที่​ถ่วง​น้ำหนัก​ทั้ง​สอง​ข้าง​จะ​ยก​ขึ้น​บน​เพลา​ซึ่ง​มี​เส้น​ผ่า​ศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร. สะพาน​ถูก​ยก​ขึ้น​เต็ม​ที่​โดย​ใช้​เวลา​เพียง​หนึ่ง​นาที​เท่า​นั้น.

การ​ชม​สะพาน​เทาเวอร์​ใน​ปัจจุบัน

ทุก​วัน​นี้​มี​การ​ใช้​พลัง​ไฟฟ้า​แทน​พลัง​ไอ​น้ำ. แต่​เช่น​เดียว​กับ​ใน​อดีต เมื่อ​ใด​ก็​ตาม​ที่​สะพาน​เทาเวอร์​ยก​ขึ้น การ​จราจร​ก็​จะ​หยุด​นิ่ง. ผู้​คน​ที่​เดิน​ผ่าน​ไป​มา, นัก​ท่อง​เที่ยว, และ​ผู้​มา​เยือน​คน​อื่น ๆ ต่าง​ก็​รู้สึก​อัศจรรย์​ใจ​เมื่อ​เห็น​การ​ทำ​งาน​ของ​สะพาน.

เมื่อ​มี​เสียง​สัญญาณ​เตือน, ที่​กั้น​ถนน​ถูก​ดึง​ลง​มา, รถ​คัน​สุด​ท้าย​แล่น​ข้าม​สะพาน​ไป​แล้ว, และ​ผู้​ควบคุม​สะพาน​ให้​สัญญาณ​ว่า​ไม่​มี​อะไร​อยู่​บน​สะพาน​แล้ว. สลัก​สี่​ตัว​ที่​เชื่อม​ต่อ​สะพาน​ทั้ง​สอง​ข้าง​ถูก​ปลด​ออก​อย่าง​เงียบ​เชียบ และ​สะพาน​ก็​ถูก​ยก​ขึ้น. จาก​นั้น ทุก​คน​จะ​หัน​ไป​มอง​ที่​แม่น้ำ. สายตา​ทุก​คู่​จะ​จับ​จ้อง​ไป​ยัง​เรือ​ที่​แล่น​ผ่าน​เข้า​มา ไม่​ว่า​จะ​เป็น​เรือ​โยง, เรือ​นำ​เที่ยว, หรือ​เรือใบ​ก็​ตาม. ครู่​ต่อ​มา​สัญญาณ​ก็​เปลี่ยน​ไป. สะพาน​ก็​ทอด​ตัว​ลง​มา​ตาม​เดิม แผง​กั้น​ถนน​ถูก​ยก​ออก. จักรยาน​ทั้ง​หลาย​ที่​ออ​อยู่​ด้าน​หน้า​ก็​จะ​พุ่ง​ทะยาน​ออก​ไป​ก่อน. ไม่​กี่​วินาที​ต่อ​มา สะพาน​เทาเวอร์​ก็​จะ​สงบ​นิ่ง​จน​กว่า​จะ​มี​เรือ​ผ่าน​มา.

ผู้​ชม​ที่​สนใจ​ใคร่​รู้​ไม่​ได้​เพียง​แต่​เฝ้า​ดู​ตอน​ที่​สะพาน​ถูก​ยก​ขึ้น​ยก​ลง​เท่า​นั้น. พวก​เขา​รวม​ทั้ง​คน​อื่น ๆ ขึ้น​ลิฟต์​ไป​บน​หอ​สะพาน​ที่​อยู่​ด้าน​ทิศ​เหนือ​เพื่อ​ชม​ประวัติ​ความ​เป็น​มา​ที่​น่า​ประทับใจ​ของ​สะพาน​แห่ง​นี้​โดย​ละเอียด ใน​นิทรรศการ “สัมผัส​สะพาน​เทาเวอร์” ซึ่ง​มี​การ​อธิบาย​อย่าง​ละเอียด​โดย​ใช้​หุ่น​จำลอง​ที่​เคลื่อน​ไหว​ได้. มี​การ​จัด​แสดง​ภาพ​วาด​บน​ผืน​ผ้า​ใบ​เกี่ยว​กับ​ความ​สำเร็จ​ทาง​วิศวกรรม​และ​พิธี​เปิด​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​อลังการ รวม​ทั้ง​ภาพ​ถ่าย​โบราณ​และ​กระดาน​จัด​แสดง​ต่าง ๆ ยิ่ง​ทำ​ให้​รู้สึก​ประทับใจ​สะพาน​เทาเวอร์.

ผู้​ชม​สามารถ​มอง​เห็น​ทิวทัศน์​ที่​งดงาม​ของ​กรุง​ลอนดอน​ได้​จาก​ทาง​เดิน​ลอย​ฟ้า. เมื่อ​มอง​ไป​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ตก​ก็​จะ​เห็น​มหา​วิหาร​เซนต์​ปอล​และ​ที่​ทำ​การ​ธนาคาร​ต่าง ๆ ใน​ย่าน​การ​เงิน และ​อาคาร​ที่​เห็น​ไกล ๆ ก็​คือ​ที่​ทำ​การ​ไปรษณีย์. ส่วน​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ออก บาง​คน​คง​คาด​ว่า​น่า​จะ​ได้​เห็น​ท่า​เรือ แต่​ท่า​เรือ​เหล่า​นั้น​ได้​ย้าย​ไป​อยู่​ทาง​ปาก​แม่น้ำ​ไกล​ออก​ไป​จาก​มหา​นคร​สมัย​ใหม่​แล้ว. บริเวณ​ที่​เคย​เป็น​ท่า​เรือ​ที่​เรียก​ว่า​ย่าน​ด็อกแลนด์ ซึ่ง​เป็น​เขต​เมือง​ที่​บูรณะ​ขึ้น​ใหม่​นั้น​ก็​เริ่ม​มี​การ​สร้าง​อาคาร​รูป​แบบ​ใหม่​ผุด​ขึ้น​มา​แทน. น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ, น่า​ประทับใจ, น่า​สนใจ​จริง ๆ—ใช่​แล้ว ถ้อย​คำ​ทั้ง​หมด​นี้​เป็น​คำ​พรรณนา​ที่​เหมาะเจาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​ได้​ชม​วิว​ทิวทัศน์​จาก​สัญลักษณ์​ที่​มี​ชื่อเสียง​ของ​กรุง​ลอนดอน​แห่ง​นี้.

ถ้า​คุณ​ไป​เที่ยว​ลอนดอน ลอง​ไป​ชม​สิ่ง​ก่อ​สร้าง​ที่​มี​ความ​สำคัญ​ทาง​ประวัติศาสตร์​แห่ง​นี้​ให้​ละเอียด​สิ. การ​ไป​ชม​สะพาน​ที่​ถือ​เป็น​ความ​สำเร็จ​ทาง​วิศวกรรม​ครั้ง​ยิ่ง​ใหญ่​นี้​จะ​อยู่​ใน​ความ​ทรง​จำ​ของ​คุณ​ไป​อีก​นาน.

[ภาพ​หน้า 16]

ปั๊ม​พลัง​ไอ​น้ำ​หนึ่ง​ใน​สอง​ตัว​ที่​เคย​จ่าย​พลัง​งาน​ให้​กับ​เครื่องจักร

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Copyright Tower Bridge Exhibition

[ภาพ​หน้า 16, 17]

สะพาน​ทั้ง​สอง​ข้าง​ถูก​ยก​ขึ้น​เต็ม​ที่​โดย​ใช้​เวลา​ไม่​ถึง​หนึ่ง​นาที

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

©Alan Copson/Agency Jon Arnold Images/age fotostock

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 15]

© Brian Lawrence/SuperStock