ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“การทดลองอันศักดิ์สิทธิ์” ของพวกเควกเกอร์

“การทดลองอันศักดิ์สิทธิ์” ของพวกเควกเกอร์

“การ​ทดลอง​อัน​ศักดิ์สิทธิ์” ของ​พวก​เควกเกอร์

ใน​เดือน​กรกฎาคม 1656 เรือ​สวอลโลว์ จาก​เกาะ​บาร์เบโดส​ใน​หมู่​เกาะ​อินดิส​ตะวัน​ตก​ได้​มา​ทอด​สมอ​ที่​เมือง​บอสตัน แมสซาชูเซตส์ ใน​ที่​ซึ่ง​ปัจจุบัน​คือ​สหรัฐ​อเมริกา. ริชาร์ด เบลลิงแฮม รอง​ผู้​ว่า​การ​นิคม​แมสซาชูเซตส์ มี​คำ​สั่ง​ห้าม​ผู้​โดยสาร​สอง​คน​คือ แมรี ฟิชเชอร์ และ​แอนน์ ออสติน ออก​จาก​เรือ. ใน​บรรดา​สิ่ง​ของ​ที่​ทั้ง​สอง​คน​นำ​ติด​ตัว​มา​ด้วย​มี​หนังสือ 100 เล่ม​ซึ่ง​พูด​กัน​ว่า​มี “หลัก​คำ​สอน​ที่​เสื่อม​ทราม, ผิด​หลัก​ศาสนา, และ​หมิ่น​ประมาท.”

มี​การ​เผา​หนังสือ​เหล่า​นั้น​กลาง​ตลาด. จาก​นั้น​ผู้​หญิง​ทั้ง​สอง​คน​ก็​ถูก​นำ​ไป​ขัง, ถูก​เปลื้อง​เสื้อ​ผ้า​จน​เปลือย​เปล่า, และ​ถูก​ตรวจ​หา​สัญลักษณ์​ของ​แม่มด. หน้าต่าง​ห้อง​ขัง​ถูก​ปิด​สนิท และ​ทั้ง​สอง​ถูก​ขัง​อยู่​ใน​ความ​มืด​นาน​ถึง​ห้า​สัปดาห์. คน​ที่​กล้า​คุย​กับ​พวก​เธอ​ต้อง​เสี่ยง​ต่อ​การ​ถูก​ปรับ​เป็น​เงิน​ห้า​ปอนด์. สุด​ท้าย แมรี ฟิชเชอร์​และ​แอนน์ ออสติน ก็​ถูก​ส่ง​ตัว​กลับ​ไป​ที่​เกาะ​บาร์เบโดส.

ผู้​บันทึก​เหตุ​การณ์​ซึ่ง​อยู่​ใน​สมัย​นั้น​ได้​ถาม​บรรดา​เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​ปกครอง​ของ​เมือง​นั้น​ว่า “เหตุ​ใด​การ​มา​ของ​สตรี​สอง​คน​จึง​ทำ​ให้​พวก​ท่าน​หวาด​กลัว​กัน​มาก​ถึง​เพียง​นี้ ราว​กับ​มี​กอง​ทหาร​ที่​น่า​เกรง​ขาม​กำลัง​รุกล้ำ​พรม​แดน​ของ​พวก​ท่าน”? ที่​จริง ผู้​หญิง “อันตราย” สอง​คน​นี้​เป็น​มิชชันนารี​คู่​แรก​ของ​พวก​เควกเกอร์​ที่​มา​ถึง​อเมริกา​เหนือ. พวก​เควกเกอร์​เป็น​ใคร และ​เหตุ​ใด​พวก​เขา​จึง​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​ภัย​คุกคาม?

สมาคม​มิตร​สหาย

เควกเกอร์ หรือ​สมาคม​มิตร​สหาย เริ่ม​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่ 17 ใน​ประเทศ​อังกฤษ. ผู้​ก่อ​ตั้ง​นิกาย​นี้​คือ​จอร์ช ฟอกซ์ (ปี 1624-1691) บุตร​ชาย​ของ​ช่าง​ทอ​ผ้า​ซึ่ง​เกิด​ที่​เมือง​เลสเตอร์เชียร์. หลัง​จาก​เขา​อ้าง​ว่า​ได้​ยิน​เสียง​อัน​อัศจรรย์ ฟอกซ์​สรุป​ว่า​เขา​สามารถ​สนทนา​กับ​พระเจ้า​ได้​โดย​ตรง​และ​ได้​รับ​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​โดย​ไม่​ต้อง​อาศัย​มนุษย์​คน​ใด​เป็น​สื่อ​กลาง. หนังสือ​ประวัติศาสตร์​ศาสนา​ของ​ชาว​อเมริกัน (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ปี​ที่​ถือ​กัน​มา​นาน​แล้ว​ว่า​เป็น​ปี​ที่​สมาคม​มิตร​สหาย​ถูก​ก่อ​ตั้ง​ก็​คือ​ปี 1652.”

นิกาย​นี้​ถูก​เรียก​ว่า​เควกเกอร์ (ผู้​ที่​ตัว​สั่น) ได้​อย่าง​ไร? แหล่ง​อ้างอิง​หนึ่ง​กล่าว​ว่า พวก​เขา “ตัว​สั่น​เทิ้ม​ก่อน​ที่​จะ​ได้​รับ​การ​เปิด​เผย​จาก​พระเจ้า.” อีก​แหล่ง​หนึ่ง​กล่าว​ว่า พวก​เขา “ตัว​สั่น​เนื่อง​จาก​สัมผัส​ได้​ถึง​ความ​น่า​เกรง​ขาม​ของ​ความ​บริสุทธิ์​อัน​เหลือ​คณนา​และ​อำนาจ​อัน​ใหญ่​ยิ่ง​ของ​พระเจ้า.” จุด​มุ่ง​หมาย​ของ​พวก​เควกเกอร์​คือ​เพื่อ​จะ​แสวง​หา​ความ​จริง​ทาง​ศาสนา​และ​ฟื้นฟู​ศาสนา​คริสเตียน​แบบ​ดั้งเดิม.

ใน​เรื่อง​การ​ชี้​นำ พวก​เขา​อ้าง​ว่า​ไว้​วางใจ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์, ผู้​พยากรณ์​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล, เหล่า​อัครสาวก​ของ​พระ​คริสต์, และ “แสง​สว่าง” ภาย​ใน​หรือ “เสียง” ของ​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​อ้าง​ว่า​เป็น​ความ​จริง​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ. ด้วย​เหตุ​นั้น การ​ประชุม​โดย​พื้น​ฐาน​แล้ว​ก็​คือ​ช่วง​ที่​พวก​เขา​นั่ง​เงียบ ๆ ด้วย​กัน​เป็น​กลุ่ม​ซึ่ง​แต่​ละ​คน​ก็​ต้อง​พยายาม​หา​การ​ชี้​นำ​จาก​พระเจ้า. ใคร​ที่​ได้​รับ​ข่าวสาร​จาก​พระเจ้า​ก็​จะ​พูด​ได้. *

พวก​เควกเกอร์​เชื่อ​ใน​ความ​ยุติธรรม, ความ​ซื่อ​สัตย์​อย่าง​ที่​ไม่​มี​การ​อะลุ่มอล่วย, วิถี​ชีวิต​แบบ​เรียบ​ง่าย, และ​ไม่​ใช้​ความ​รุนแรง. พวก​เขา​ยัง​เชื่อ​ว่า​คริสเตียน​ทุก​คน รวม​ทั้ง​ผู้​หญิง ควร​เข้า​ร่วม​ใน​งาน​รับใช้​พระเจ้า. เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ปฏิเสธ​ศาสนจักร, ไม่​เน้น​ความ​หรูหรา​และ​พิธีกรรม, และ​อ้าง​ว่า​พวก​เขา​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​จาก​เสียง​ที่​มา​จาก​ภาย​ใน​ไม่​ใช่​โดย​ทาง​ชน​ชั้น​นัก​เทศน์​นัก​บวช จึง​เป็น​เหตุ​ให้​หลาย​คน​กลัว​และ​สงสัย​พวก​เควกเกอร์. แต่​สิ่ง​ที่​น่า​เป็น​ห่วง​ที่​สุด​ใน​บรรดา​สิ่ง​ต่าง ๆ ทั้ง​หมด​ก็​คือ ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ใน​งาน​มิชชันนารี​ของ​พวก​เขา ซึ่ง​ยั่ว​ยุ​ให้​เกิด​โทโส, การ​กลุ้ม​รุม​ทำ​ร้าย, และ​การ​แทรกแซง​จาก​ทาง​การ.

ใน​อังกฤษ พวก​เควกเกอร์​ถูก​ข่มเหง​และ​ถูก​จำ​คุก และ​ใน​นิว​อิงแลนด์ พวก​เขา​ถูก​เนรเทศ​และ​ถึง​กับ​ถูก​ฆ่า​ด้วย​ซ้ำ. ตัว​อย่าง​เช่น ระหว่าง​ปี 1659 ถึง​ปี 1661 เหล่า​มิชชันนารี เช่น แมรี ไดเออร์, วิลเลียม เลดดรา, วิลเลียม โรบินสัน, และ​มาร์มาดุค สตีเฟนสัน ถูก​แขวน​คอ​ใน​บอสตัน. ส่วน​คน​อื่น ๆ ถูก​จับ​ใส่​ตรวน, ถูก​ตี​ตรา, หรือ​ถูก​เฆี่ยน. บาง​คน​ถูก​ตัด​หู. ชาย​คน​หนึ่ง​ชื่อ​วิลเลียม เบรนด์ ถูก​เฆี่ยน 117 ครั้ง​บน​หลัง​ที่​เปลือย​เปล่า​ด้วย​เชือก​ที่​ชุบ​น้ำมัน​ดิน. แม้​จะ​ถูก​ทารุณ​เช่น​นี้ แต่​พวก​เควกเกอร์​กลับ​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น.

วิลเลียม เพนน์​และ “การ​ทดลอง​อัน​ศักดิ์สิทธิ์”

เริ่ม​ตั้ง​แต่​ปี 1681 ชีวิต​ของ​พวก​เควกเกอร์​ใน​อเมริกา​เหนือ​ก็​เปลี่ยน​ไป​จาก​หน้า​มือ​เป็น​หลัง​มือ. โดย​อาศัย​สิ่ง​ที่​เรียก​ว่า “การ​ทดลอง​อัน​ศักดิ์สิทธิ์” เกี่ยว​กับ​การ​ปกครอง วิลเลียม เพนน์ (ปี 1644-1718) ชาย​หนุ่ม​ชาว​อังกฤษ​ซึ่ง​เข้า​มา​เป็น​สมาชิก​สมาคม​มิตร​สหาย ได้​ตั้ง​อาณานิคม​ที่​อาศัย​อุดมการณ์​ของ​เควกเกอร์​และ​บริหาร​โดย​เควกเกอร์. เพนน์​เป็น​บุตร​ชาย​ของ​พล​เรือ​เอก​อังกฤษ แต่​เขา​ปฏิเสธ​ที่​จะ​จับ​อาวุธ​และ​เขา​เอง​เคย​ถูก​จำ​คุก​เนื่อง​จาก​การ​เผยแพร่​และ​งาน​เขียน​เกี่ยว​กับ​แนว​คิด​ของ​เขา.

เพื่อ​ชำระ​หนี้​ที่​ค้าง​กับ​บิดา​ของ​เขา กษัตริย์​อังกฤษ​ได้​พระราชทาน​ที่​ดิน​ผืน​ใหญ่​ใน​อเมริกา​เหนือ​ให้​กับ​เพนน์. พระ​บรมราชานุญาต​ที่​เพนน์​ได้​รับ​ทำ​ให้​เขา​มี​อำนาจ​แทบ​จะ​ไร้​ขีด​จำกัด​เหนือ​อาณานิคม​ใหม่​ซึ่ง​มี​ชื่อ​ว่า​เพนซิลเวเนีย หมาย​ถึง “ป่า​ไม้​ของ​เพนน์” เพื่อ​ระลึก​ถึง​พล​เรือ​เอก​เพนน์. ที่​นั่น​จะ​เป็น​ที่​ที่​ผู้​คน​จาก​ทุก​ศาสนา​จะ​ได้​รับ​เสรีภาพ​อย่าง​เต็ม​ที่.

ใน​ตอน​แรก เพนน์​ส่ง​ลูก​พี่​ลูก​น้อง​ที่​ชื่อ​วิลเลียม มาร์กแฮม ไป​อเมริกา​ฐานะ​ตัว​แทน​ของ​เขา​เพื่อ​จะ​แน่​ใจ​ได้​ว่า​ชาว​ยุโรป​กลุ่ม​เล็ก ๆ ที่​อาศัย​อยู่​ใน​อาณานิคม​ใหม่​นี้​ยัง​ซื่อ​สัตย์​ภักดี​อยู่​หรือ​ไม่​และ​เพื่อ​กว้าน​ซื้อ​ที่​ดิน​จาก​ชน​พื้นเมือง​อเมริกัน. ใน​ปี 1682 เพนน์​ได้​ล่อง​เรือ​ขึ้น​มา​ตาม​แม่น้ำ​เดลาแวร์​และ​ได้​เห็น​อาณานิคม​ของ​เขา​เป็น​ครั้ง​แรก. เขา​ร่าง​สนธิสัญญา​ที่​ให้​ความ​เป็น​ธรรม​กับ​ชน​พื้นเมือง​ที่​ชักกามาซอน (ปัจจุบัน​คือ​เมือง​เคนซิงตัน ซึ่ง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ฟิลาเดลเฟีย). ต่อ​มา เขา​วาง​แผน​และ​ตั้ง​ชื่อ​ถิ่น​ฐาน​แห่ง​ใหม่​ซึ่ง​อยู่​ห่าง​จาก​ชักกามาซอน​ไม่​ถึง​หนึ่ง​ไมล์ โดย​เรียก​ที่​นั่น​ว่า​ฟิลาเดลเฟีย มี​ความ​หมาย​ว่า “ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง.” เมือง​นั้น​เจริญ​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว.

เพนน์​กลับ​ไป​อังกฤษ​และ​โฆษณา​อาณานิคม​ใหม่​เพื่อ​กระตุ้น​ให้​ผู้​คน​ย้าย​ไป​อยู่​ที่​นั่น. เขา​เขียน​ว่า​ที่​นั่น​มี​ที่​ดิน​และ​ผืน​ป่า​ที่​อุดม​สมบูรณ์, แม่น้ำ​ที่​งดงาม, สัตว์​ป่า, และ​ขน​สัตว์. เขา​สัญญา​ว่า​รัฐบาล​ใหม่​จะ​สนับสนุน​เรื่อง​การ​ยอม​ให้​มี​ศาสนา​อื่น​และ​การ​อยู่​ร่วม​กัน​อย่าง​มี​สันติ​สุข. ทุก​คน​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​อย่าง​ดี ไม่​ว่า​จะ​เป็น​พ่อค้า, คน​ยาก​จน, และ​ผู้​มี​อุดมการณ์​ซึ่ง​กระตือรือร้น​ที่​จะ​สนับสนุน​ให้​มี​รัฐบาล​ที่​ดี.

ความ​หวัง​ที่​จะ​ได้​รับ​การ​บรรเทา​จาก​ความ​เสื่อม​ทราม​ทาง​สังคม​และ​การ​เมือง​ใน​ยุโรป​ดึงดูด​พวก​เควกเกอร์​ที่​อยู่​ใน​อังกฤษ​และ​ไอร์แลนด์​เหนือ​ให้​ไป​ที่​นั่น. พวก​เมนโนไนต์​และ​นิกาย​อื่น​ที่​คล้าย ๆ กัน​ซึ่ง​อยู่​ใน​ประเทศ​แถบ​ลุ่ม​แม่น้ำ​ไรน์​ใน​ยุโรป​ก็​อพยพ​ไป​ที่​นั่น​ด้วย. ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​กลุ่ม​แรก​ส่วน​ใหญ่​คือ​พวก​เควกเกอร์ และ​เพนน์​ได้​กล่าว​ถึง​จุด​เริ่ม​ต้น​ที่​ดู​เหมือน​จะ​นำ​ไป​สู่​อนาคต​ที่​รุ่ง​โรจน์​ของ​อาณานิคม. ใน​ปี 1683 เขา​เขียน​ว่า “ได้​มี​การ​จัด​ประชุม​สมัชชา​ใหญ่​สอง​ครั้ง . . . และ​มี​การ​ผ่าน​กฎหมาย​อย่าง​น้อย​เจ็ด​สิบ​ข้อ​โดย​ไม่​มี​ใคร​คัดค้าน.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​มอง​ใน​แง่​ดี​เช่น​นี้​ไม่​ได้​มี​อยู่​ตลอด​ไป.

การ​ทดลอง​เริ่ม​ล้มเหลว

กฎบัตร​ที่​บังคับ​ใช้​ใน​อาณานิคม​ของ​เพนน์​เปิด​โอกาส​ให้​ทุก​คน​ใช้​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ได้​อย่าง​อิสระ​เสรี. ด้วย​เหตุ​นั้น เมื่อ​จำเป็น​ต้อง​ใช้​ความ​รุนแรง​เพื่อ​รักษา​กฎหมาย​และ​ความ​เป็น​ระเบียบ​เรียบร้อย การ​ที่​พวก​เควกเกอร์​ไม่​ต้องการ​ใช้​ความ​รุนแรง​จึง​เป็น​ปัญหา​ใหญ่​สำหรับ​พวก​เขา และ​นับ​วัน​ปัญหา​ดัง​กล่าว​ก็​จะ​ยิ่ง​หนัก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. ใน​ตอน​แรก เพนน์​เลี่ยง​ปัญหา​นี้​โดย​แต่ง​ตั้ง​คน​ที่​ไม่​ได้​เป็น​เควกเกอร์​ให้​เป็น​เจ้าหน้าที่ ดัง​ที่​เขา​กล่าว​ว่า “บาง​ครั้ง​บาง​คราว​เรา​ก็​ต้อง​เข้มงวด​กับ​เพื่อน​บ้าน​ของ​เรา​บ้าง.” ใน​ปี 1689 ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​ทำ​สงคราม​กับ​ฝรั่งเศส​ยิ่ง​ทำ​ให้​พวก​เควกเกอร์​ที่​เคร่ง​ศาสนา​รู้สึก​ลำบาก​ใจ​มาก​ขึ้น.

สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​มาก​ยิ่ง​ขึ้น​ก็​คือ ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ใหม่​จำนวน​มาก​ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ใช่​พวก​เควกเกอร์ ได้​อพยพ​เข้า​มา​และ​ริบ​เอา​ที่​ดิน​จาก​ชน​พื้นเมือง​อเมริกัน. ดัง​นั้น​เมื่อ​เควกเกอร์​กลาย​เป็น​ชน​กลุ่ม​น้อย ความ​สัมพันธ์​กับ​ชน​พื้นเมือง​ก็​เริ่ม​เลว​ร้าย​ลง​เรื่อย ๆ.

อำนาจ​ทาง​การ​เมือง​ของ​เควกเกอร์​ก็​มา​ถึง​จุด​พลิก​ผัน​เมื่อ​ผู้​ว่า​การ​และ​ที่​ปรึกษา​ของ​เขา​ได้​ประกาศ​สงคราม​กับ​ชน​เผ่า​เดลาแวร์​และ​เผ่า​ชอว์นี​ใน​ปี 1756. เพื่อ​เป็น​การ​ตอบ​โต้ พวก​เควกเกอร์​ถอน​ตัว​จาก​รัฐบาล​อัน​เป็น​การ​ปิด​ฉาก​การ​ปกครอง​ของ​พวก​เขา. ด้วย​เหตุ​นั้น หลัง​จาก​ผ่าน​ไป​ประมาณ 75 ปี “การ​ทดลอง​อัน​ศักดิ์สิทธิ์” เกี่ยว​กับ​การ​ปกครอง​จึง​เป็น​อัน​สิ้น​สุด​ลง.

ต่อ​มา ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​เพื่อ​ศาสนา​ของ​พวก​เควกเกอร์​ก็​เริ่ม​ลด​ลง​เนื่อง​จาก​พวก​เขา​มี​ทรัพย์​สมบัติ​มาก​ขึ้น. แซมมูเอล ฟาเธอร์กิลล์​ซึ่ง​เป็น​เควกเกอร์​ได้​กล่าว​ว่า “เนื่อง​จาก​ความ​โน้ม​เอียง​และ​ผล​ประโยชน์​ของ​พวก​เขา [ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ที่​เป็น​เควกเกอร์] รวม​จุด​อยู่​ที่​โลก​นี้ บุตร​หลาน​ของ​พวก​เขา​จึง​ไม่​ได้​รับ​การ​สอน​เกี่ยว​กับ​หลักการ​ซึ่ง​พวก​เขา​เอง​ก็​ลืม​ไป​แล้ว.” ต่อ​มา​ก็​เริ่ม​มี​การ​แตก​ลัทธิ​ต่าง ๆ ออก​ไป.

เพนน์​และ​เหล่า​ผู้​สนับสนุน​เขา​อาจ​มี​ความ​ปรารถนา​ดี​และ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ช่วง​หนึ่ง อย่าง​ไร​ก็​ตาม พวก​เขา​เข้าใจ​ผิด​หรือ​ไม่​ได้​ใส่​ใจ​ต่อ​คำ​สอน​ของ​พระ​เยซู​ที่​ว่า พระองค์​และ​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์ “ไม่​อยู่​ฝ่าย​โลก.” (โยฮัน 17:16) ดัง​นั้น โดย​หลักการ​แล้ว โครงการ​ใด ๆ ที่​พยายาม​จะ​หลอม​รวม​ศาสนา​เข้า​กับ​การ​เมือง​ของ​โลก​ซึ่ง​ไม่​ว่า​จะ​ทำ​ด้วย​ความ​ตั้งใจ​ที่​ดี​เพียง​ไร​ก็​ตาม ก็​จะ​ไม่​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระเจ้า​หรือ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์. (ยาโกโบ 4:4; 1 โยฮัน 5:19) ฉะนั้น โครงการ​เหล่า​นั้น​จึง​ไม่​มี​วัน​บรรลุ​ผล​สำเร็จ.—บทเพลง​สรรเสริญ 127:1.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 8 ทุก​วัน​นี้ คริสตจักร​ของ​เควกเกอร์​หลาย​แห่ง​มี​นัก​เทศน์​ที่​ได้​รับ​เงิน​ค่า​ประกอบ​พิธี​แบบ​ที่​เป็น​ระบบ​ระเบียบ​มาก​ขึ้น.

[กรอบ​หน้า 12]

“ราชอาณาจักร ของ​เรา​มิ​ได้​เป็น ส่วน​ของ​โลก​นี้”

เหตุ​ใด​พระ​เยซู​ตรัส​ถ้อย​คำ​ดัง​ที่​บันทึก​ใน​โยฮัน 18:36 (ล.ม.)? เรา​จะ​ทราบ​คำ​ตอบ​อย่าง​ชัดเจน​เมื่อ​เข้าใจ​ว่า​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​คือ​อะไร. ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​เป็น​สาระ​สำคัญ​แห่ง​คำ​สอน​ของ​พระ​เยซู ที่​จริง​แล้ว​เป็น​รัฐบาล​โลก​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ปกครอง. (ยะซายา 9:6, 7; ลูกา 4:43) แทน​ที่​จะ​ดำเนิน​การ​ผ่าน​ทาง​การ​ปกครอง​โดย​มนุษย์ ราชอาณาจักร​นี้​จะ​ขจัด​การ​ปกครอง​โดย​มนุษย์​ให้​หมด​ไป​และ​จะ​กลาย​เป็น​รัฐบาล​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​ปกครอง​โลก. (ดานิเอล 2:44; 7:13, 14) นี่​คือ​เหตุ​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​ใน​คำ​อธิษฐาน​แบบ​อย่าง​ว่า “ขอ​ให้​ราชอาณาจักร​ของ​พระองค์​มา​เถิด. ขอ​ให้​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์​สำเร็จ​บน​แผ่นดิน​โลก​เช่น​เดียว​กับ​ใน​สวรรค์.” (มัดธาย 6:9, 10, ล.ม.) คน​ที่​ยินยอม​อ่อนน้อม​ต่อ​ราชอาณาจักร​นั้น​จะ​มี​คุณภาพ​ชีวิต​ที่​ดี​ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​บุรุษ​ที่​มี​ความ​จริง​ใจ เช่น วิลเลียม เพนน์ ไม่​สามารถ​ทำ​ได้​สำเร็จ—คน​เหล่า​นั้น​จะ​มี​สุขภาพ​ร่าง​กาย​ที่​แข็งแรง​และ​มี​ชีวิต​ไม่​สิ้น​สุด​ใน​สิ่ง​แวด​ล้อม​ที่​เป็น​อุทยาน​อัน​สงบ​สุข.—ลูกา 23:43; วิวรณ์ 21:3, 4.

[ภาพ​หน้า 10]

การ​ประชุม​ของ​พวก​เควกเกอร์​ที่​ฟิลาเดลเฟีย ศตวรรษ​ที่ 19

[ภาพ​หน้า 10]

แมรี ไดเออร์ เควกเกอร์​ที่​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ประหาร​ใน​นิคม​แมสซาชูเซตส์เบย์

[ภาพ​หน้า 11]

พวก​เควกเกอร์​ออก​จาก​อังกฤษ ศตวรรษ​ที่ 17

[ภาพ​หน้า 11]

วิลเลียม เพนน์ ทำ​สนธิสัญญา​กับ​ชน​พื้นเมือง​อเมริกัน​ใน​ปี 1682

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 10]

Both pictures: © North Wind Picture Archives

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 11]

Boats: © North Wind Picture Archives; treaty: Brown Brothers