ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ชีวิตในหุบเขามรณะ

ชีวิตในหุบเขามรณะ

ชีวิต​ใน​หุบเขา​มรณะ

ใน​ปี 1848 มี​การ​ค้น​พบ​ทองคำ​ใกล้​กับ​เมือง​แซ​ครา​เมน​โต รัฐ​แคลิฟอร์เนีย สหรัฐ​อเมริกา. ปี​ถัด​มา นัก​ขุด​ทอง​ประมาณ 80,000 คน​พา​กัน​หลั่งไหล​เข้า​มา​ใน​รัฐ​นี้​ด้วย​หวัง​ว่า​จะ​ร่ำรวย​ภาย​ใน​ชั่ว​ข้าม​คืน. ใน​วัน​ที่ 25 ธันวาคม 1849 คน​กลุ่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​เดิน​ทาง​มา​กับ​ขบวน​รถ​ม้า​ราว ๆ 100 คัน​ที่​ออก​มา​จาก​เมือง​ซอลต์เลกซิตี​และ​มุ่ง​หน้า​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก ได้​เข้า​สู่​หุบเขา​ซึ่ง​ปัจจุบัน​เรียก​ว่า​หุบเขา​มรณะ หรือ​เดทแวลลีย์ (Death Valley). พวก​เขา​หวัง​ว่า​พื้น​ที่​ที่​เป็น​แอ่ง​อัน​แห้ง​แล้ง​แห่ง​นี้​ใกล้​กับ​พรม​แดน​ระหว่าง​แคลิฟอร์เนีย​และ​เนวาดา จะ​เป็น​ทาง​ลัด​ไป​สู่​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง.

ใน​ช่วง​ฤดู​นั้น​หุบเขา​แห่ง​นี้​มี​อากาศ​เย็น แต่​ลักษณะ​ภูมิ​ประเทศ​ก็​สร้าง​ความ​ยาก​ลำบาก​ใน​การ​เดิน​ทาง​มาก. คน​กลุ่ม​นั้น​แยก​ออก​เป็น​กลุ่ม​ย่อย ๆ และ​แยก​ย้าย​กัน​ไป​คน​ละ​เส้น​ทาง. กลุ่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ผู้​หญิง​และ​เด็ก​เดิน​ทาง​มา​ด้วย หา​ทาง​ออก​จาก​หุบเขา​โดย​พยายาม​ข้าม​เทือก​เขา​ฝั่ง​ตะวัน​ตก แต่​ไม่​สำเร็จ. เนื่อง​จาก​เหนื่อย​ล้า​และ​เสบียง​ใกล้​หมด พวก​เขา​จึง​ตั้ง​แคมป์​ที่​น้ำพุ​แห่ง​หนึ่ง​ใกล้​กับ​ลำ​ห้วย​ซึ่ง​ใน​ปัจจุบัน​ชื่อ​เฟอร์เนซครีก จาก​นั้น​ก็​ย้าย​ไป​ที่​บ่อ​น้ำ​แห่ง​หนึ่ง ซึ่ง​ต่อ​มา​ถูก​ตั้ง​ชื่อ​ว่า​บ่อ​น้ำ​ของ​เบนเนตต์. จาก​ที่​ตั้ง​แคมป์ ชาย​หนุ่ม​วัย 20 ปี​สอง​คน​ชื่อ วิลเลียม แมนลี กับ จอห์น โรเจอร์ส ได้​ออก​เดิน​ทาง​ไป​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ. ส่วน​คน​ที่​เหลือ​รอ​อยู่​ที่​บ่อ​น้ำ​นั้น.

แมนลี​กับ​โรเจอร์ส​คาด​ว่า​จะ​ไป​ถึง​นคร​ลอสแอนเจลิส​ภาย​ใน​ไม่​กี่​วัน. แต่​พวก​เขา​ไม่​รู้​ว่า เมือง​นั้น​อยู่​ห่าง​ออก​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ราว ๆ 300 กิโลเมตร. หลัง​จาก​เดิน​เท้า​นาน​เกือบ​สอง​สัปดาห์ พวก​เขา​ก็​ไป​ถึง​หุบเขา​ซานเฟอร์นันโด ซึ่ง​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​เมือง​นั้น. ที่​นั่น พวก​เขา​หา​เสบียง​และ​รีบ​บ่าย​หน้า​กลับ​ทันที.

เมื่อ​กลับ​มา​ถึง​ที่​ตั้ง​แคมป์​หลัง​จาก​ที่​เขา​ทั้ง​สอง​จาก​ไป 25 วัน พวก​เขา​มอง​ไม่​เห็น​ใคร​เลย. แมนลี​ลั่น​กระสุน​ปืน แล้ว​ชาย​คน​หนึ่ง​ก็​โผล่​ออก​มา​จาก​ใต้​รถ​ม้า. แมนลี​เขียน​ใน​ภาย​หลัง​ว่า “ชาย​คน​นั้น​ชู​แขน​ขึ้น​สอง​ข้าง​และ​ร้อง​ตะโกน​ว่า ‘พ่อ​หนุ่ม​สอง​คน​นั้น​กลับ​มา​แล้ว. พ่อ​หนุ่ม​สอง​คน​นั้น​กลับ​มา​แล้ว!’” คน​อื่น ๆ ก็​โผล่​ออก​มา​ด้วย และ​พวก​เขา​ต่าง​ก็​รู้สึก​ตื่นเต้น​ดีใจ​จน​พูด​ไม่​ออก. เนื่อง​จาก​แมนลี​กับ​โรเจอร์ส ทุก​คน​จึง​รอด​ชีวิต​ออก​มา​ได้ ยก​เว้น​ชาย​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ออก​ไป​จาก​ที่​ตั้ง​แคมป์​เพื่อ​เดิน​ออก​จาก​หุบเขา​นั้น​ตาม​ลำพัง. ขณะ​ที่​ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​กลุ่ม​นี้​กำลัง​จะ​ออก​เดิน​ทาง มี​การ​เล่า​กัน​ว่า ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​ได้​หัน​กลับ​ไป​มอง​และ​กล่าว​ว่า ‘ลา​ก่อน หุบเขา​มรณะ!’ และ​นั่น​ก็​กลาย​มา​เป็น​ชื่อ​ของ​หุบเขา​นี้​ใน​ที่​สุด.

ดินแดน​แห่ง​ความ​เป็น​ที่​สุด

หุบเขา​มรณะ​มี​ความ​ยาว​ประมาณ 225 กิโลเมตร กว้าง​ตั้ง​แต่ 8 ถึง 24 กิโลเมตร และ​เป็น​จุด​ที่​แห้ง​แล้ง​ที่​สุด, ต่ำ​ที่​สุด, และ​ร้อน​ที่​สุด​ใน​อเมริกา​เหนือ. เคย​มี​การ​บันทึก​อุณหภูมิ​ของ​อากาศ​ที่​ลำ​ห้วย​เฟอร์เนซครีก​ว่า​สูง​ถึง 57 องศา​เซลเซียส ส่วน​อุณหภูมิ​ของ​พื้น​ดิน​เคย​ร้อน​จัด​ถึง 94 องศา หรือ​ต่ำ​กว่า​จุด​เดือด​ของ​น้ำ​ที่​ระดับ​น้ำ​ทะเล​เพียง 6 องศา! *

ปริมาณ​น้ำ​ฝน​โดย​เฉลี่ย​ต่อ​ปี​มี​ไม่​ถึง 50 มิลลิเมตร และ​บาง​ปี​ไม่​มี​ฝน​ตก​เลย​แม้​แต่​หยด​เดียว. พื้น​ที่​ที่​ต่ำ​ที่​สุด​ของ​ซีก​โลก​ตะวัน​ตก​อยู่​ที่​หุบเขา​ใกล้​กับ​หนอง​น้ำ​เค็ม​แห่ง​หนึ่ง​ที่​แบดวอเตอร์ ซึ่ง​ต่ำ​กว่า​ระดับ​น้ำ​ทะเล 86 เมตร. ห่าง​ออก​ไป​เพียง 140 กิโลเมตร​ก็​เป็น​ที่​ตั้ง​ของ​เขา​วิทนีย์​ซึ่ง​มี​ความ​สูง 4,418 เมตร และ​เป็น​จุด​ที่​สูง​ที่​สุด​ใน​สหรัฐ​นอก​เหนือ​จาก​อะแลสกา.

พอ​ถึง​ปี 1850 มี​ผู้​พบ​ทองคำ​เล็ก​น้อย​ใน​หุบเขา​ที่​ซอลต์สปริง. นัก​ขุด​ทอง​ยัง​พบ​แร่​เงิน, ทองแดง, และ​ตะกั่ว​ใน​บริเวณ​นั้น​ด้วย. เมือง​ของ​คน​งาน​เหมือง​ที่​มี​ชื่อ​สะดุด​หู​ผุด​ขึ้น​ทั่ว​หุบเขา เช่น เมือง​บุลล์ฟรอก, กรีนวอเตอร์, ไรโอไลต์, และ​สกีดู. แต่​เมื่อ​สิน​แร่​ต่าง ๆ หมด​ไป เมือง​ที่​เฟื่องฟู​ขึ้น​มา​อย่าง​รวด​เร็ว​เหล่า​นี้​ก็​กลับ​กลาย​เป็น​เมือง​ร้าง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ปี 1880 มี​การ​ค้น​พบ​แร่​บอแรกซ์​ใน​หุบเขา​มรณะ สาร​ประกอบ​นี้​มี​ลักษณะ​เป็น​ผลึก​สี​ขาว​ใช้​ใน​การ​ผลิต​สบู่​และ​ผลิตภัณฑ์​อื่น ๆ และ​นั่น​นำ​ไป​สู่​ช่วง​แห่ง​การ​ทำ​เหมือง​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​หุบเขา​นี้. กระทั่ง​ถึง​ปี 1888 กลุ่ม​คน​งาน​พร้อม​กับ​ล่อ 18 ตัว​และ​ม้า​อีก 2 ตัว​ได้​ลาก​รถ​ขน​แร่​ขนาด 5 เมตร​สอง​คัน​ซึ่ง​บรรทุก​แร่​บอแรกซ์​อยู่​เต็ม​คัน​และ​เดิน​ทาง​อย่าง​ทรหด​เป็น​ระยะ​ทาง 270 กิโลเมตร​ไป​ถึง​เมือง​โมฮาวี. แต่​ไม่​มี​การ​ขน​ส่ง​แร่​ใน​ช่วง​เดือน​มิถุนายน​ถึง​เดือน​กันยายน เนื่อง​จาก​อากาศ​ร้อน​เกิน​ไป​สำหรับ​ทั้ง​คน​และ​สัตว์.

หุบเขา​มรณะ​ถูก​กำหนด​ให้​เป็น​อนุสรณ์​สถาน​แห่ง​ชาติ​ใน​ปี 1933. มี​การ​ขยาย​ขอบ​เขต​ออก​ไป​เรื่อย ๆ จน​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่ 3.3 ล้าน​เอเคอร์. ใน​ปี 1994 พื้น​ที่​นี้​กลาย​เป็น​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​หุบเขา​มรณะ ซึ่ง​เป็น​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​ที่​มี​ขนาด​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ภาคพื้น​ทวีป​ของ​สหรัฐ.

หุบเขา​มรณะ​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​สรรพชีวิต

ถ้า​ใคร​จะ​คิด​ว่า​หุบเขา​มรณะ​ไม่​มี​สิ่ง​มี​ชีวิต​ใด ๆ อาศัย​อยู่​เลย​ก็​นับ​ว่า​มี​เหตุ​ผล​ที่​ฟัง​ขึ้น. กระนั้น มี​สัตว์​หลาย​ร้อย​ชนิด​ผ่าน​มา​หรือ​อาศัย​อยู่​ใน​หุบเขา​นี้ ซึ่ง​มี​หลาย​ชนิด​เป็น​สัตว์​ที่​ออก​หา​กิน​ตอน​กลางคืน เพื่อ​หลบ​ความ​ร้อน. สัตว์​เลี้ยง​ลูก​ด้วย​นม​ที่​มี​ขนาด​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​ที่​นี่​คือ​แกะ​บิกฮอร์น​ทะเล​ทราย​ผู้​งาม​สง่า ซึ่ง​เดิน​จาก​เทือก​เขา​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ เข้า​มา​ใน​หุบเขา​นี้​เป็น​ครั้ง​คราว. สัตว์​ชนิด​อื่น ๆ รวม​ไป​ถึง​แบดเจอร์, ค้างคาว, แมว​ป่า​บ็อบแคต, หมา​ป่า​โคโยตี, หมา​จิ้งจอก​คิต, หนู​แคงการู, สิงโต​ภูเขา, เม่น, กระต่าย, สกังก์, ลา​ป่า, กิ้งก่า, งู, และ​เต่า​ทะเล​ทราย. สัตว์​จำพวก​นก​ก็​รวม​ไป​ถึง​นก​เป็ด​น้ำ, เหยี่ยว, นก​ยาง, นก​คุ่ม, กา, นก​เด้าดิน, แร้ง, และ​นก​อีก​หลาย​ร้อย​ชนิด.

สัตว์​ที่​ทรหด​อด​ทน​ที่​สุด​ชนิด​หนึ่ง​คือ​หนู​แคงการู. มัน​สามารถ​อยู่​ได้​ตลอด​ชีวิต​โดย​ไม่​กิน​น้ำ​แม้​แต่​หยด​เดียว! หนังสือ​อ้างอิง​เล่ม​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “น้ำ​ทั้ง​หมด​ที่​มัน​ต้องการ​เพื่อ​จะ​อยู่​รอด​ได้​สามารถ​ผลิต​ขึ้น​ใน​ร่าง​กาย​ของ​มัน​จาก​แป้ง​และ​ไขมัน​ของ​เมล็ด​พืช​แห้ง ๆ ที่​มัน​กิน.” และ​ไต​ของ​มัน​สามารถ​กรอง​ปัสสาวะ​ที่​มี​ความ​เข้มข้น​ได้​มาก​กว่า​ไต​ของ​มนุษย์​ถึง​ห้า​เท่า. สัตว์​ฟัน​แทะ​ตัว​เล็ก ๆ ที่​อยู่​ใน​รู​นี้​หลบ​ความ​ร้อน​ตอน​กลางวัน​โดย​ออก​หา​กิน​ใน​ตอน​กลางคืน.

พืช​มาก​กว่า​หนึ่ง​พัน​ชนิด​เจริญ​เติบโต​ได้​ดี​ใน​หุบเขา​นี้. ชาว​อินเดียน​แดง​เผ่า​โชโชน ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ที่​นี่​มา​กว่า​หนึ่ง​พัน​ปี​แล้ว เที่ยว​เก็บ​พืช​ใน​ท้องถิ่น​มา​ทำ​อาหาร​และ​เป็น​วัตถุ​ดิบ​ที่​ใช้​ใน​การ​ทำ​เป็น​ภาชนะ​ต่าง ๆ. พวก​เขา​พูด​กัน​ว่า ถ้า​คุณ​รู้​ว่า​คุณ​ต้อง​มอง​หา​อะไร คุณ​จะ​พบ​อาหาร​มาก​มาย​ใน​หุบเขา​มรณะ.

เมื่อ​ทะเล​ทราย​มี​ดอกไม้​บาน​สะพรั่ง

เป็น​ครั้ง​คราว หุบเขา​มรณะ​จะ​อวด​ให้​เห็น​ภาพ​อัน​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​ของ​ดอกไม้​ป่า​นานา​พันธุ์. ดอกไม้​เหล่า​นี้​งอก​จาก​เมล็ด​จำนวน​นับ​ไม่​ถ้วน​ที่​พัก​ตัว​อยู่​ใน​ดิน—บาง​ครั้ง​นาน​หลาย​สิบ​ปี—เพื่อ​รอ​ให้​มี​น้ำ​ฝน​ปริมาณ​ที่​พอ​เหมาะ​และ​อุณหภูมิ​ที่​พอ​ดี​เพื่อ​จะ​งอก​ขึ้น​ได้. ทิม โครซานต์ นัก​พฤกษศาสตร์​ของ​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​กล่าว​ว่า “บาง​ที​เรา​ไม่​เห็น​ดอกไม้​บาน​เลย​เป็น​เวลา​หลาย​ปี.”

แต่​ใน​ฤดู​หนาว​ปี 2004/2005 หุบเขา​มรณะ​มี​ฝน​ตก​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​บันทึก​มา หรือ​มาก​กว่า​ปริมาณ​ปกติ​สาม​เท่า. ผล​ก็​คือ​มี​ดอกไม้​ป่า​บาน​สะพรั่ง​กว่า 50 ชนิด เช่น ลาร์กสเปอร์, ไลแลค, กล้วยไม้, ป๊อปปี้, พริมโรส, ทานตะวัน, และ​เวอร์เบนาส. นัก​ท่อง​เที่ยว​คน​หนึ่ง​บอก​ว่า​หุบเขา​นี้​มี​กลิ่น​เหมือน​ร้าน​ดอกไม้. แน่นอน ดอกไม้​หลาก​หลาย​ชนิด​เย้า​ยวน​ใจ​ผึ้ง​และ​แมลง​ต่าง ๆ ด้วย. ดัง​นั้น เมื่อ​หุบเขา​มรณะ​มี​ดอกไม้​บาน ก็​จะ​มี​เสียง​หึ่ง ๆ ของ​เหล่า​แมลง​จำนวน​นับ​ไม่​ถ้วน​เช่น​กัน.

ถ้า​คุณ​จะ​มา​เที่ยว​ที่​หุบเขา​แห่ง​ความ​เป็น​ที่​สุด​นี้​ละ​ก็ ขอ​ให้​หา​ยาน​พาหนะ​ที่​ไว้​ใจ​ได้​จริง ๆ และ​เอา​น้ำ​ดื่ม​ไป​ให้​เพียง​พอ. และ​ถ้า​คุณ​มา​ใน​ช่วง​ที่​ดอกไม้​บาน​ซึ่ง​ฝูง​ผึ้ง​ก็​มา​ด้วย คุณ​ก็​คง​อยาก​จะ​นำ​กล้อง​ถ่าย​รูป​มา​เช่น​กัน. สมาชิก​ครอบครัว​และ​เพื่อน ๆ ที่​บ้าน​จะ​รู้สึก​ทึ่ง​เมื่อ​รู้​ว่า​มี​สิ่ง​มี​ชีวิต​มาก​มาย​เพียง​ไร​ใน​หุบเขา​มรณะ​นี้.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 อุณหภูมิ​ที่​สูง​ที่​สุด​ตาม​สถิติ​โลก​ใน​ปัจจุบัน​คือ 58.0 องศา​เซลเซียส​ซึ่ง​บันทึก​ไว้​เมื่อ​ปี 1922 ที่​ประเทศ​ลิเบีย. แต่​เมื่อ​มอง​อุณหภูมิ​โดย​รวม​ใน​ฤดู​ร้อน​แล้ว ดู​เหมือน​ว่า​หุบเขา​มรณะ​เป็น​สถาน​ที่​ที่​ร้อน​ที่​สุด​ใน​โลก.

[คำ​โปรย​หน้า 15]

จุด​ที่​แห้ง​แล้ง​ที่​สุด, ต่ำ​ที่​สุด, และ​ร้อน​ที่​สุด​ใน​อเมริกา​เหนือ

[กรอบ/ภาพ​หน้า 17]

ปลา​ใน​ทะเล​ทราย!

ปลา​ตัว​เล็ก ๆ ที่​น่า​ทึ่ง​สี่​ชนิด​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​ปลา​พัปฟิช​ทะเล​ทราย​อาศัย​อยู่​ใน​หุบเขา​มรณะ. ใน​ฤดู​หนาว ปลา​ขนาด 6 เซนติเมตร​สี​เงิน​นี้​จะ​นอน​อยู่​นิ่ง ๆ ใน​โคลน​ก้น​ลำธาร​และ​หนอง​น้ำ. แล้ว​เมื่อ​แสง​อาทิตย์​ของ​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​สาด​ส่อง​ลง​มา​ให้​ความ​อบอุ่น​แก่​ผืน​น้ำ มัน​ก็​จะ​ตื่น​ขึ้น​ออก​มา​จาก​โคลน​และ​ผสม​พันธุ์. ปลา​ตัว​ผู้​จะ​เปลี่ยน​เป็น​สี​ฟ้า​เหลือบ และ​ปก​ป้อง​ถิ่น​ที่​อยู่​ของ​มัน​อย่าง​ดุ​ร้าย​ถ้า​มี​ปลา​ตัว​ผู้​ตัว​อื่น​เข้า​มา​ใน​เขต​ของ​มัน. แต่​ไม่​นาน อากาศ​ที่​ร้อน​จัด​ใน​ฤดู​ร้อน​ก็​ทำ​ให้​น้ำ​ระเหย​ไป​จน​เกือบ​จะ​แห้ง​ขอด และ​ปลา​พัปฟิช​ก็​ตาย​เป็น​จำนวน​มาก. ปลา​ที่​รอด​อยู่​ได้​ก็​ต้อง​ทน​อยู่​ใน​น้ำ​ที่​เค็ม​จัด​และ​อาจ​มี​อุณหภูมิ​สูง​ถึง 44 องศา​เซลเซียส.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Top fish: © Neil Mishalov--www.mishalov.com; bottom fish: Donald W. Sada, Desert Research Institute

[แผนที่​หน้า 14]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

สหรัฐ​อเมริกา

แคลิฟอร์เนีย

อุทยาน​แห่ง​ชาติ​หุบเขา​มรณะ

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 15]

Mules: Courtesy of The Bancroft Library/University of California, Berkeley

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 16]

Burros: ©Joseph C. Dovala/age fotostock; top panorama: © Neil Mishalov--www.mishalov.com; flowers: Photo by David McNew/Getty Images