ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เธอรักสิ่งที่เธอเรียนรู้

เธอรักสิ่งที่เธอเรียนรู้

เธอ​รัก​สิ่ง​ที่​เธอ​เรียน​รู้

ไม่​นาน​มา​นี้​มี​การ​พบ​จดหมาย​ของ​สตรี​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เพิ่ง​เขียน​ก่อน​ที่​เธอ​จะ​เสีย​ชีวิต​ด้วย​โรค​มะเร็ง​ใน​เดือน​พฤษภาคม 2004. เธอ​ยัง​เขียน​จดหมาย​ฉบับ​นั้น​ไม่​เสร็จ เพราะ​ดู​เหมือน​ว่า​สุขภาพ​ของ​เธอ​ทรุด​ลง​กะทันหัน. กระนั้น คน​ที่​ได้​อ่าน​จดหมาย​ที่​ยัง​ไม่​ได้​ส่ง​ฉบับ​นั้น​ใน​ภาย​หลัง​ต่าง​ก็​รู้สึก​สะเทือน​ใจ​จน​อด​ร้องไห้​ไม่​ได้​และ​ได้​รับ​การ​เสริม​สร้าง​ความ​เชื่อ​ใน​พระเจ้า​มาก​ยิ่ง​ขึ้น.

ใน​จดหมาย​นั้น ซูซาน​ซึ่ง​เป็น​ผู้​เขียน​ได้​พูด​ถึง​ตัว​เธอ​เอง​ว่า​เธอ​ยัง​เป็น​เด็ก​อยู่​ตอน​ที่​เธอ​โทรศัพท์​ไป​หา​ผู้​ปกครอง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​รัฐ​คอนเนตทิคัต สหรัฐ​อเมริกา​เป็น​ครั้ง​แรก. เธอ​เล่า​ต่อ​ไป​ถึง​สถานการณ์​ที่​เธอ​ต้อง​เผชิญ​ใน​ช่วง​วัยรุ่น. จดหมาย​ที่​น่า​ประทับใจ​ฉบับ​นั้น​ถูก​ส่ง​ถึง​มือ​แม่​ของ​ซูซาน​เมื่อ​ปลาย​ปี​ที่​แล้ว และ​แม่​ของ​ซูซาน​ได้​ส่ง​สำเนา​ของ​จดหมาย​นั้น​ไป​ยัง​สำนักงาน​ใหญ่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​นิวยอร์ก.

ซูซาน​เขียน​ว่า ใน​ปี 1973 เธอ​พบ​หมาย​เลข​โทรศัพท์​ของ​ผู้​ปกครอง​คน​หนึ่ง​ใน​รัฐ​คอนเนตทิคัต​ใน​สมุด​โทรศัพท์. เธอ​อธิบาย​ว่า “ปี​นั้น​ดิฉัน​อายุ 14 ปี ดิฉัน​มี​โอกาส​อ่าน​วารสาร​หอสังเกตการณ์ กับ​ตื่นเถิด! และ​คิด​ว่า​นี่​คือ​ความ​จริง. เนื่อง​จาก​ดิฉัน​ไม่​เคย​พบ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เลย ดิฉัน​จึง​หา​เบอร์​โทรศัพท์​ของ​พวก​เขา​ใน​สมุด​โทรศัพท์​และ​เลือก​เบอร์​หนึ่ง​ที่​มี​หมาย​เลข​ใกล้​เคียง​กับ​เบอร์​บ้าน​ของ​ดิฉัน. เมื่อ​บราเดอร์​เกนริค​รับ​สาย เขา​ก็​รู้สึก​แปลก​ใจ​ที่​รู้​ว่า​ดิฉัน​ไม่​เคย​พบ​พยาน​ฯ มา​ก่อน.” *

ปัญหา​ที่​น่า​หนัก​ใจ

ใน​จดหมาย​ซูซาน​อธิบาย​ว่า ตอน​อายุ​สิบ​ขวบ​เธอ​ถูก​ส่ง​ไป​อยู่​กับ​น้า​สาว​ที่​รัฐ​คอนเนตทิคัต. ที​แรก​คาด​ว่า​จะ​อยู่​ชั่ว​คราว แต่​ต่อ​มา​ซูซาน​บอก​กับ​แม่​ซึ่ง​อยู่​ที่​รัฐ​ฟลอริดา​คน​เดียว​ว่า เธอ​อยาก​อยู่​กับ​น้า​สาว​ต่อ​ไป. ซูซาน​เขียน​ใน​จดหมาย​ว่า​สภาพการณ์​ของ​เธอ​คล้าย​กับ “สิ่ง​ที่​เรียก​กัน​ว่า​สตอกโฮล์ม​ซินโดรม คือ​การ​ที่​คน​เรา​มี​ความ​ผูก​พัน​กับ​คน​ที่​ข่มเหง​เขา.” * เธอ​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​เลว​ร้าย.

“น้า​ของ​ดิฉัน​กับ​คู่​รัก​ของ​เธอ​ปฏิบัติ​ต่อ​ดิฉัน​อย่าง​เลว​ร้าย​มาก. ยิ่ง​กว่า​นั้น มี​คน​นอก​เพียง​ไม่​กี่​คน​ที่​เข้า​มา​ใน​บ้าน​ได้. เมื่อ​ดิฉัน​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ไป​โรง​เรียน ดิฉัน​ไม่​ได้​รับประทาน​อาหาร​กลางวัน​อีก​ทั้ง​ไม่​มี​เสื้อ​ผ้า​ดี ๆ ใส่ แม้​ว่า​คุณ​แม่​ของ​ดิฉัน​จะ​ส่ง​เงิน​มา​ให้​มาก​มาย​ก็​ตาม. ดิฉัน​มี​ชุด​ชั้น​ใน​อยู่​เพียง​ชุด​เดียว ขณะ​ที่​ลูก​สาว​ของ​คุณ​น้า​สอง​คน​ซึ่ง​อายุ​น้อย​กว่า​ดิฉัน​ไม่​กี่​ปี​มี​ทุก​สิ่ง.” เธอ​เล่า​เรื่อง​นี้​เมื่อ​อธิบาย​ว่า​อะไร​ทำ​ให้​เธอ​คิด​ว่า​เธอ​จะ​ถูก​ต่อ​ต้าน​อย่าง​หนัก​แน่นอน​หาก​น้า​ของ​เธอ​รู้​ว่า​เธอ​กำลัง​สนใจ​จะ​เรียน​คัมภีร์​ไบเบิล.

วิธี​ที่​ซูซาน​ได้​รับ​ความ​รู้​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล

ซูซาน​เล่า​ว่า “บราเดอร์​เกนริค​แนะ​นำ​ให้​ดิฉัน​รู้​จัก​กับ​ลอรา​พี่​น้อง​หญิง​อาวุโส​คน​หนึ่ง เธอ​ใช้​เวลา​กับ​ดิฉัน​มาก​ที​เดียว​เพื่อ​ตอบ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​เรา​มัก​จะ​นัด​พบ​กัน​ที่​ร้าน​ซัก​ผ้า.” ซูซาน​อธิบาย​ว่า จน​ถึง​ตอน​นั้น​เธอ​ไม่​เคย​ตัดสิน​ใจ​อะไร​ได้​อย่าง​อิสระ แต่​หลัง​การ​พิจารณา​กัน​ครั้ง​นั้น​และ​อ่าน​หนังสือ​ที่​อาศัย​พระ​คัมภีร์ เช่น ความ​จริง​ซึ่ง​นำ​ไป​สู่​ชีวิต​ถาวร เธอ​ก็​เริ่ม​ตัดสิน​ใจ​ด้วย​ตัว​เอง.

ซูซาน​เล่า​ต่อ​ว่า “ตอน​นั้น​เป็น​คืน​วัน​ศุกร์​เมื่อ​ดิฉัน​บอก​กับ​น้า​ว่า​ดิฉัน​ได้​ไป​คุย​กับ​พยาน​ฯ. เธอ​สั่ง​ห้าม​ไม่​ให้​ดิฉัน​นอน​ใน​คืน​นั้น โดย​ให้​ดิฉัน​ไป​ยืน​อยู่​ใน​ห้อง​ครัว. หลัง​จาก​นั้น ดิฉัน​ยิ่ง​ตั้งใจ​แน่วแน่​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​เป็น​พยาน​ฯ.”

นับ​แต่​นั้น​มา บราเดอร์​เกนริค​ให้​หนังสือ​หลาย​เล่ม​กับ​ซูซาน​เพื่อ​ช่วย​เธอ​ให้​เข้าใจ​คัมภีร์​ไบเบิล. ซูซาน​เขียน​ว่า “ดิฉัน​ชอบ​หนังสือ​ประจำ​ปี​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา 1974 มาก เพราะ​หนังสือ​เล่ม​นี้​ช่วย​ให้​ดิฉัน​รู้​ว่า​พยาน​ฯ ใน​เยอรมนี​สมัย​นาซี​อด​ทน​ต่อ​การ​ข่มเหง​ได้​อย่าง​ไร​ทั้ง​ก่อน​และ​ใน​ช่วง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2. . . . ตอน​นั้น​เอง​ที่​ดิฉัน​ขอ​ให้​ผู้​ปกครอง​ส่ง​เทป​เพลง​ราชอาณาจักร​เพื่อ​ที่​ดิฉัน​จะ​ได้​ฝึก​ร้อง​เพลง. ใน​เวลา​เพียง​หนึ่ง​ปี​ดิฉัน​สามารถ​ร้อง​เพลง​ใน​หนังสือ​เพลง​ปี 1966 ที่​ชื่อ ‘ร้อง​เพลง​และ​มี​ดนตรี​คลอ​เสียง​ใน​ใจ​ของ​ท่าน’ ได้​ทั้ง 119 เพลง.”

“ขณะ​เดียว​กัน บราเดอร์​เกนริค​ยัง​ให้​เทป​คำ​บรรยาย​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล, ละคร, และ​คำ​บรรยาย​การ​ประชุม​ใหญ่​แก่​ดิฉัน. เขา​จะ​วาง​ของ​เหล่า​นี้​ไว้​ที่​ถนน​หมาย​เลข 10 ใกล้​เสา​โทรศัพท์​ต้น​หนึ่ง และ​ดิฉัน​จะ​ไป​เอา​ของ​ที่​นั่น. . . . สภาพการณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ตอน​นั้น​เริ่ม​ทำ​ให้​ดิฉัน​ข้องขัดใจ เพราะ​ดิฉัน​ได้​ทำ​ความ​ก้าว​หน้า​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้​แล้ว​แต่​ก็​ยัง​ไม่​ได้​เข้า​ร่วม​ประชุม​สัก​รายการ​เดียว. ดัง​นั้น ดิฉัน​จึง​คิด​ว่า​ดิฉัน​กำลัง​จะ​หมด​แรง.”

ซูซาน​เล่า​ว่า สอง​สาม​ปี​ต่อ​มา​ยิ่ง​ลำบาก​มาก​ขึ้น. เธอ​ได้​เลิก​ติด​ต่อ​กับ​พยาน​ฯ ที่​เธอ​รู้​จัก​ซึ่ง​มี​เพียง​สอง​คน​เท่า​นั้น. แต่​ใน​ขณะ​นั้น​เธอ​บอก​ว่า “การ​ฝึก​ร้อง​เพลง​ทั้ง​หมด​นั้น​ทำ​ให้​ดิฉัน​รู้สึก​ทุกข์​ใจ.” เพราะ​เหตุ​ใด? “เพราะ​เนื้อ​เพลง เช่น ‘ทหาร​ของ​ยาห์​ไม่​แสวง​หา​ความ​สบาย’ มัก​จะ​ผุด​ขึ้น​มา​ใน​ใจ​ของ​ดิฉัน. ดิฉัน​รู้​ว่า​เนื้อ​เพลง​เหล่า​นี้​เขียน​ขึ้น​โดย​พยาน​ฯ คน​หนึ่ง​ที่​อยู่​ใน​ค่าย​กัก​กัน​เยอรมนี​สมัย​นาซี​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 และ​นั่น​ทำ​ให้​ดิฉัน​รู้สึก​ผิด​ยิ่ง​ขึ้น. ดิฉัน​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​คน​ขี้ขลาด​และ​คิด​ว่า​พระ​ยะโฮวา​คง​จะ​ละ​ทิ้ง​ดิฉัน​แล้ว.” *

เป็น​อิสระ​ใน​ที่​สุด

“จุด​พลิก​ผัน​ของ​ชีวิต​เกิด​ขึ้น​ใน​วัน​เกิด​ครบ​รอบ 18 ปี​ของ​ดิฉัน. หลาย​ปี​มา​แล้ว​ที่​ไม่​มี​พยาน​ฯ มา​ประกาศ​ที่​บ้าน​เรา​เพราะ​บ้าน​เรา​อยู่​ใน​ราย​ชื่อ ‘อย่า​ไป​เยี่ยม.’ แต่​วัน​นั้น​มี​พยาน​ฯ จาก​อีก​ประชาคม​หนึ่ง​มา​ที่​บ้าน และ​ดิฉัน​สามารถ​คุย​กับ​เธอ​ได้​เพราะ​ไม่​มี​คน​อื่น​อยู่​บ้าน. ดิฉัน​จำ​ได้​ว่า​นั่น​เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​ได้​อยู่​บ้าน​คน​เดียว​ใน​วัน​เสาร์. ดิฉัน​ลง​ความ​เห็น​ว่า​นี่​เป็น​ข้อ​พิสูจน์​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​ละ​ทิ้ง​ดิฉัน. ดัง​นั้น ดิฉัน​จึง​โทร​หา​บราเดอร์​เกนริค​ซึ่ง​เป็น​คน​ที่​ดิฉัน​ติด​ต่อ​ตั้ง​แต่​แรก โดย​บอก​เขา​ว่า​ดิฉัน​พร้อม​จะ​ย้าย​ออก​จาก​บ้าน​แล้ว​และ​ถาม​เขา​ว่า​มี​คำ​แนะ​นำ​อะไร​หรือ​ไม่. ใน​ที่​สุด​ก็​มี​คน​มา​ช่วย​ดิฉัน​ย้าย​ออก​จาก​บ้าน.”

ซูซาน​ย้าย​ไป​อยู่​อีก​ที่​หนึ่ง​ใน​เดือน​เมษายน 1977. เธอ​เขียน​เพิ่ม​เติม​ใน​จดหมาย​ว่า “ใน​ปี​ต่อ​มา ใน​ที่​สุด​ดิฉัน​ก็​สามารถ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ทุก​รายการ​รวม​ถึง​การ​ประชุม​ใหญ่ และ​ดิฉัน​เริ่ม​เข้า​ร่วม​การ​ประกาศ. ดิฉัน​ติด​ต่อ​กับ​คุณ​แม่​อีก​ครั้ง. คุณ​แม่​ไม่​รู้​เลย​ว่า​ดิฉัน​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​เลว​ร้าย​แค่​ไหน​ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา และ​ท่าน​รู้สึก​ตกใจ​มาก. ท่าน​ให้​การ​ช่วยเหลือ​ดิฉัน​ทันที​และ​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ดิฉัน​มี​ทุก​สิ่ง​ที่​จำเป็น. คุณ​แม่​ได้​ย้าย​ไป​อยู่​ที่​อะแลสกา​ไม่​กี่​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น. เนื่อง​จาก​คุณ​แม่​สนใจ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​มาก ดิฉัน​จึง​ย้าย​ไป​อยู่​กับ​ท่าน​ที่​อะแลสกา​ใน​ปี 1978. ใน​ที่​สุด ท่าน​เข้า​มา​เป็น​พยาน​ฯ และ​ยัง​คง​ซื่อ​สัตย์​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้.

“หลัง​จาก​เริ่ม​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม บราเดอร์​เกนริค​วาง​แผนที่​จะ​พา​พี่​น้อง​กลุ่ม​หนึ่ง​ไป​เยี่ยม​ชม​สำนักงาน​ใหญ่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​บรุกลิน นิวยอร์ก และ​เชิญ​ดิฉัน​ไป​ด้วย. นั่น​เป็น​หนึ่ง​ใน​ของ​ขวัญ​ที่​มี​ประโยชน์​ถาวร​มาก​ที่​สุด​ใน​บรรดา​ของ​ขวัญ​ที่​ดิฉัน​ได้​รับ เพราะ​การ​เยี่ยม​ชม​คราว​นั้น​จุด​ประกาย​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ไม่​มี​วัน​ลืม​เลือน. เรื่อง​ทั้ง​หมด​ก็​เป็น​อย่าง​นี้​แหละ​ค่ะ. ดิฉัน​เขียน​จดหมาย​ฉบับ​นี้​อย่าง​รวบรัด​ก็​เพราะ​อยาก​ให้​เสร็จ​ทัน​เวลา.”

ถ้อย​คำ​ข้าง​ต้น​ตัด​ทอน​มา​จาก​จดหมาย​หก​หน้า​ครึ่ง​ที่​เขียน​โดย​ไม่​เว้น​บรรทัด. ตอน​ท้าย​ของ​จดหมาย​ที่​ซูซาน​เขียน เธอ​บอก​ว่า “ดิฉัน​ป่วย​หนัก​ต้อง​เข้า​โรง​พยาบาล​เมื่อ​เดือน​ที่​แล้ว​และ​คิด​ว่า​คง​ไม่​รอด . . . ดิฉัน​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ว่า ขอ​ให้​ดิฉัน​มี​อาการ​ดี​ขึ้น​อีก​สัก​สอง​อาทิตย์ ดิฉัน​อยาก​จัด​การ​อะไร​บาง​อย่าง​ให้​เรียบร้อย. . . . ดิฉัน​ไม่​ได้​หวัง​ว่า​จะ​มี​ชีวิต​อยู่​นาน​กว่า​นี้ แต่​ต้อง​ขอ​บอก​ว่า​การ​อยู่​ใน​ความ​จริง​ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​วิเศษ​ที่​สุด เป็น​ชีวิต​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​คน​เรา​อาจ​คาด​หวัง​ได้.”

ใน​จดหมาย​ไม่​มี​การ​เซ็น​ชื่อ​ลง​ท้าย​ทั้ง​ไม่​ได้​ส่ง​ไป​ที่​ไหน. คน​ที่​พบ​จดหมาย​นี้​ไม่​รู้​ว่า​ควร​จะ​ส่ง​ไป​ให้​ใคร. แต่​ดัง​ที่​กล่าว​ไว้​ตอน​ต้น จดหมาย​นี้​ถูก​ส่ง​ถึง​มือ​แม่​ของ​ซูซาน​ใน​ที่​สุด.

รู้​จัก​ซูซาน​มาก​ขึ้น

หลัง​จาก​ซูซาน​รับ​บัพติสมา​ใน​วัน​ที่ 14 เมษายน 1979 แม่​ของ​เธอ​ก็​เดิน​ทาง​กลับ​ไป​ที่​ฟลอริดา. ซูซาน​ยัง​อยู่​ที่​อะแลสกา​เนื่อง​จาก​เธอ​สนิทสนม​กับ​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​นอร์ทโพล. เธอ​เริ่ม​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​ฐานะ​ไพโอเนียร์​ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น. ใน​ที่​สุด​เธอ​ย้าย​ไป​อยู่​ที่​ฟลอริดา และ​ใน​ปี 1991 แต่งงาน​กับ​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​คน​หนึ่ง​ที่​เป็น​เพื่อน​ไพโอเนียร์​ด้วย​กัน​ซึ่ง​เสีย​ชีวิต​ไม่​นาน​หลัง​จาก​ที่​ซูซาน​เสีย​ชีวิต​แล้ว.

ซูซาน​และ​สามี​เป็น​คู่​สมรส​ที่​เป็น​ที่​รัก​ของ​ทุก​คน ซึ่ง​พวก​เขา​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​ด้วย​กัน​กระทั่ง​เธอ​ป่วย​หนัก​มาก​จน​พวก​เขา​ไม่​สามารถ​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​ได้​อีก​ต่อ​ไป. รวม​ทั้ง​หมด​แล้ว เธอ​อยู่​ใน​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​มาก​กว่า 20 ปี. งาน​ศพ​ของ​เธอ​ที่​จัด​ขึ้น​ใน​ฟลอริดา​ได้​มี​การ​เชื่อม​ต่อ​ทาง​โทรศัพท์​กับ​ประชาคม​นอร์ทโพล.

จดหมาย​ของ​ซูซาน​ช่วย​เรา​ให้​หยั่ง​รู้​ค่า​มาก​ขึ้น​ต่อ​พระ​พร​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้​รับ​และ​หยั่ง​รู้​ค่า​ใน​ความ​หวัง​อัน​ยอด​เยี่ยม​เรื่อง​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย. (กิจการ 24:15) ประสบการณ์​ชีวิต​เรื่อง​นี้​ช่วย​ให้​เรา​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​พระเจ้า​ทรง​อยู่​ใกล้​ทุก​คน ที่​เข้า​ใกล้​พระองค์!—ยาโกโบ 4:7, 8.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 บราเดอร์​เกนริค​และ​ภรรยา​เสีย​ชีวิต​ใน​อุบัติเหตุ​อัน​น่า​เศร้า​ใน​ปี 1993.

^ วรรค 6 ดู​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 22 ธันวาคม 1999 หน้า 7.

^ วรรค 13 หนังสือ​จง​ร้อง​เพลง​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา เพลง 29 “พยาน​ทั้ง​หลาย จง​รีบ​รุด​หน้า​ไป!”

[ภาพ​หน้า 23]

“การ​อยู่​ใน​ความ​จริง​ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​วิเศษ​ที่​สุด เป็น​ชีวิต​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​คน​เรา​อาจ​คาด​หวัง​ได้”

[ภาพ​หน้า 21]

ซูซาน​ขณะ​อายุ​สิบ​ขวบ

[ภาพ​หน้า 23]

ซูซาน​กับ​สามี เจมส์ ซีมัวร์