ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กษัตริย์ผู้แสวงหาสติปัญญา

กษัตริย์ผู้แสวงหาสติปัญญา

กษัตริย์​ผู้​แสวง​หา​สติ​ปัญญา

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​สเปน

ศตวรรษ​ที่ 13 เป็น​ยุค​ของ​การ​ไม่​ยอม​รับ​ความ​เชื่อ​อื่น​และ​มี​การ​ใช้​ความ​รุนแรง​มาก​ที่​สุด. ยุโรป​เกิด​ความ​สับสน​วุ่นวาย​เนื่อง​จาก​ศาล​ศาสนา​อัน​ฉาวโฉ่​และ​สงคราม​ครูเสด​ที่​เป็น​เหตุ​ให้​ผู้​คน​ล้ม​ตาย. กระนั้น ท่ามกลาง​ยุค​ที่​มี​แต่​การ​นอง​เลือด​เช่น​นี้ กษัตริย์​สเปน​องค์​หนึ่ง​พยายาม​ส่ง​เสริม​ให้​ผู้​คน​ใน​ยุค​นั้น​ใช้​ความ​มี​เหตุ​ผล. กษัตริย์​องค์​นี้​มี​นาม​ว่า​อัลฟองโซ​ที่ 10 ซึ่ง​มี​อีก​ฉายา​หนึ่ง​ว่า​อัลฟองโซ​ผู้​ปราดเปรื่อง.

กษัตริย์​องค์​นี้​มี​ชื่อเสียง​ใน​เรื่อง​การ​กระตุ้น​ให้​เกิด​การ​ตื่น​ตัว​ทาง​วัฒนธรรม ซึ่ง​บาง​ครั้ง​มี​การ​เรียก​ช่วง​เวลา​นั้น​ว่า​ยุค​ฟื้นฟู​ศิลปวิทยา​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 13. ท่าน​นำ​ความ​รู้​ใหม่ ๆ จาก​ดินแดน​อัน​ไกล​โพ้น​เข้า​มา​ยัง​สเปน. ท่าน​สนใจ​งาน​ศิลปะ, ประวัติศาสตร์, กฎหมาย, และ​วิทยาศาสตร์​เป็น​พิเศษ. สิ่ง​นี้​ส่ง​ผล​กระทบ​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​วัฒนธรรม​ของ​สเปน​รวม​ถึง​ส่วน​อื่น ๆ ของ​ยุโรป. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น​ก็​คือ การ​ที่​ท่าน​สนับสนุน​การ​เรียน​รู้​มี​ส่วน​ช่วย​ใน​การ​ส่ง​เสริม​คัมภีร์​ไบเบิล​บริสุทธิ์ พระ​คำ​ของ​พระเจ้า.

อัลฟองโซ​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​ก่อ​ตั้ง​สถาบัน​การ​ศึกษา​ที่​ผู้​มี​วิชา​ความ​รู้​ทั้ง​ชาว​ยิว, มุสลิม, และ “คริสเตียน” จะ​สามารถ​ทำ​งาน​ร่วม​กัน. เพื่อ​ให้​พวก​เขา​ทำ​งาน​ได้​สะดวก​ขึ้น กษัตริย์​ได้​สร้าง​หอ​สมุด​แห่ง​ชาติ​ซึ่ง​เป็น​หนึ่ง​ใน​หอ​สมุด​แห่ง​ชาติ​แห่ง​แรก ๆ ของ​โลก​พร้อม​ทั้ง​ให้​เงิน​ทุน​สนับสนุน​ด้วย.

กษัตริย์​อัลฟองโซ​เอง​มี​ส่วน​ร่วม​อย่าง​แข็งขัน​ใน​การ​เขียน​และ​รวบ​รวม​งาน​เขียน​หลาย​ชิ้น​เกี่ยว​กับ​กฎหมาย, วิทยาศาสตร์, และ​ประวัติศาสตร์. ท่าน​ส่ง​เสริม​ให้​มี​การ​สร้าง​สรรค์​ผล​งาน​ด้าน​วรรณกรรม​และ​บท​กวี​นิพนธ์​ซึ่ง​เป็น​งาน​ที่​ท่าน​เชี่ยวชาญ​เป็น​พิเศษ ดัง​เห็น​ได้​ใน​คานทิกา​ที่​มี​ชื่อเสียง​ของ​ท่าน. * เพลง​เหล่า​นี้​เขียน​ใน​ภาษา​กัลยาโก (กาลีเซีย) ซึ่ง​เป็น​ภาษา​ที่​ใช้​ใน​การ​แต่ง​เนื้อ​เพลง​ของ​ยุค​นั้น.

กลุ่ม​ผู้​แปล

อัลฟองโซ​เป็น​ผู้​อุปถัมภ์​กลุ่ม​ผู้​แปล​ใน​โตเลโด. หนังสือ​ลา เอสคูเอลา เด ตราดุกโตเรส เด โตเลโด (กลุ่ม​ผู้​แปล​ใน​โตเลโด, ภาษา​สเปน) อธิบาย​ว่า “งาน​ของ​กษัตริย์​คือ​การ​เลือก​ทั้ง​ผู้​แปล​และ​งาน​ที่​จะ​แปล. ท่าน​ตรวจ​แก้​งาน​แปล​ต่าง ๆ, สนับสนุน​ให้​มี​การ​อภิปราย​ใน​หมู่​ปัญญาชน, และ​ส่ง​เสริม​ให้​มี​การ​สร้าง​ผล​งาน​ใหม่ ๆ.”

เหล่า​ผู้​คง​แก่​เรียน​ใน​โตเลโด​เริ่ม​แปล​งาน​เขียน​ที่​เป็น​ภาษา​อาหรับ​ออก​มา​เป็น​จำนวน​มาก. ก่อน​หน้า​นี้​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​มุสลิม​ได้​แปล​งาน​เขียน​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​เกี่ยว​กับ​อารยธรรม​กรีก, อินเดีย, เปอร์เซีย, และ​ซีเรีย​เป็น​ภาษา​อาหรับ​ไว้​แล้ว. คลัง​แห่ง​ความ​รู้​ที่​ได้​มา​นี้​เป็น​ประโยชน์​สำหรับ​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​อิสลาม​ที่​จะ​ทำ​การ​พัฒนา​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​ใน​แวดวง​คณิตศาสตร์, ดาราศาสตร์, ประวัติศาสตร์, และ​ภูมิศาสตร์. ส่วน​กลุ่ม​ผู้​แปล​ที่​โตเลโด​พยายาม​ใช้​ประโยชน์​จาก​คลัง​ความ​รู้​ที่​มี​อยู่​นี้. โดย​วิธี​ใด? โดย​การ​แปล​งาน​เขียน​ภาษา​อาหรับ​ชิ้น​สำคัญ ๆ เป็น​ภาษา​ลาติน​และ​สเปน.

ข่าว​คราว​ความ​สำเร็จ​ของ​ผู้​คง​แก่​เรียน​ใน​โตเลโด​ได้​แพร่​สะพัด​ไป​ยัง​ประเทศ​อื่น ๆ. ไม่​นาน เหล่า​ผู้​มี​การ​ศึกษา​จาก​มหาวิทยาลัย​ต่าง ๆ ทาง​ตอน​เหนือ​ของ​ยุโรป​ได้​พา​กัน​มา​ยัง​โตเลโด. ทั้ง​หมด​นี้​มี​บทบาท​สำคัญ​ยิ่ง​ต่อ​ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​วิทยาศาสตร์​และ​วรรณกรรม​ของ​ชาติ​ตะวัน​ตก. ที่​จริง โครงการ​แปล​ที่​ใหญ่​โต​เช่น​นี้​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​การ​พัฒนา​ยุค​ฟื้นฟู​ศิลปวิทยา.

ความ​บากบั่น​พยายาม​ของ​เหล่า​ผู้​คง​แก่​เรียน​ใน​โตเลโด​ได้​ช่วย​แพทย์​ให้​มี​โอกาส​อ่าน​ตำรา​แพทย์​ของ​กาเลน, ฮิปโปกราติส, และ​อะวิเซนนา ซึ่ง​หนังสือ​หลักการ​แพทย์ ของ​ท่าน​กลาย​เป็น​ตำรา​แพทย์​ขั้น​พื้น​ฐาน​ที่​ใช้​ใน​มหาวิทยาลัย​ต่าง ๆ ใน​ชาติ​ตะวัน​ตก​จน​กระทั่ง​ศตวรรษ​ที่ 17. นัก​ดาราศาสตร์​ก็​สามารถ​อ่าน​งาน​เขียน​ของ​ปโตเลมี​และ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​วิชา​คณิตศาสตร์​สาขา​ตรีโกณมิติ​ของ​อาหรับ​และ​ตาราง​คำนวณ​การ​โคจร​ของ​ดวง​ดาว​ต่าง ๆ ของ​อัลคอวาริสมี. *

อัลฟองโซ​ต้องการ​ทำ​ให้​งาน​แปล​เหล่า​นี้​เป็น​สิ่ง​ที่​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​เข้าใจ​ได้. ความ​คิด​ริเริ่ม​เช่น​นี้​ทำ​ให้​ภาษา​สเปน​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ฐานะ​สื่อ​กลาง​ที่​ใช้​ใน​การ​เผยแพร่​แนว​คิด​ทาง​วิทยาศาสตร์​และ​วรรณกรรม. โครงการ​ที่​อัลฟองโซ​เริ่ม​ไว้​นี้​ช่วย​เปลี่ยน​ความ​คิด​ของ​คน​ทั่ว​ไป​ที่​ว่า​ภาษา​ลาติน​เป็น​ภาษา​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​ใช้​กัน​ใน​งาน​เขียน​ทาง​วิทยาศาสตร์​และ​วัฒนธรรม.

อัลฟองซีน​ไบเบิล

ประสบการณ์​ที่​เหล่า​ผู้​คง​แก่​เรียน​ใน​โตเลโด​ได้​รับ​จาก​การ​แปล​หนังสือ​ต่าง ๆ มาก​มาย​ปรากฏ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​กษัตริย์​อัลฟองโซ​สั่ง​ให้​แปล​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​สเปน. ตาม​ที่​ฮวน เด มาเรียนา นัก​ประวัติศาสตร์​สเปน​กล่าว​ไว้ กษัตริย์​สนับสนุน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ครั้ง​นี้​โดย​หวัง​ว่า​การ​ทำ​เช่น​นี้​จะ​ทำ​ให้​ภาษา​สเปน​ได้​รับ​การ​ขัด​เกลา​และ​มี​คำ​ศัพท์​ใหม่​เพิ่ม​ขึ้น. ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ยุค​แรก ๆ เช่น​นี้​ได้​มี​ส่วน​ใน​การ​พัฒนา​ภาษา​สเปน​อย่าง​แน่นอน.

กษัตริย์​ถือ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ประโยชน์​สำหรับ​การ​สั่ง​สอน​มนุษยชาติ. ท่าน​เขียน​ไว้​ใน​คำนำ​ของ​โครนิคา เด เอสปันญา ดัง​นี้: “ถ้า​เรา​พิจารณา​ประโยชน์​ที่​ได้​รับ​จาก​พระ​คัมภีร์​ศักดิ์สิทธิ์ เรา​จะ​เห็น​ว่า​การ​สอน​ที่​เรา​ได้​รับ​จาก​คัมภีร์​นั้น​เป็น​เรื่อง​เกี่ยว​กับ​การ​สร้าง​โลก, ประวัติ​ของ​ปฐม​บรรพบุรุษ, . . . คำ​สัญญา​เรื่อง​การ​มา​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า, และ​การ​ทน​ทุกข์​ใน​ช่วง​พระ​กระยาหาร​มื้อ​สุด​ท้าย​จน​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์, การ​คืน​พระ​ชนม์, และ​การ​เสด็จ​ขึ้น​สู่​สวรรค์.”

นอก​จาก​นั้น ท่าน​ยัง​ดู​แล​โครงการ​ใหญ่​ด้าน​วรรณกรรม​ที่​ท่าน​เรียก​ว่า​เคเนรัล เอสโตเรีย (ประวัติศาสตร์​ทั่ว​ไป, ภาษา​สเปน). โครงการ​นี้​รวม​ถึง​การ​แปล​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​เป็น​ภาษา​สเปน​ด้วย. (มี​การ​แปล​ส่วน​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​เพิ่ม​เติม​ที​หลัง.) ผล​งาน​ที่​น่า​ประทับใจ​นี้​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ​อัลฟองซีน​ไบเบิล (บิบลิอา อัลฟองซีนา) ซึ่ง​เป็น​งาน​ชิ้น​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​พระ​คัมภีร์​ที่​ผลิต​ใน​ยุค​กลาง. มี​การ​ทำ​สำเนา​ออก​มา​หลาย​ครั้ง​และ​มี​การ​แปล​บาง​ส่วน​เป็น​ภาษา​โปรตุเกส​และ​คาตาลัน.

มรดก​ของ​อัลฟองโซ

หนังสือ​ต่าง ๆ จาก​สมัย​ของ​อัลฟองโซ​ได้​ช่วย​ปก​ปัก​รักษา​ความ​รู้​ด้าน​พระ​คัมภีร์​ใน​ยุค​ที่​มืดมน​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ. เนื่อง​จาก​งาน​แปล​เหล่า​นี้ ความ​สนใจ​ที่​จะ​ผลิต​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ท้องถิ่น​จึง​เกิด​ขึ้น. ช่วง​สอง​ศตวรรษ​ต่อ​มา ได้​มี​การ​ผลิต​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​อื่น ๆ ออก​มา​ใน​ภาษา​สเปน.

การ​ประดิษฐ์​เครื่อง​พิมพ์​และ​การ​ทำ​งาน​อย่าง​ไม่​รู้​จัก​เหน็ด​เหนื่อย​ของ​เหล่า​ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​สเปน​และ​ใน​ประเทศ​อื่น ๆ ของ​ยุโรป​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 16 ได้​สาน​ต่อ​งาน​ที่​อัลฟองโซ​และ​คน​ร่วม​สมัย​กับ​ท่าน​ได้​เริ่ม​ไว้. ผู้​คน​ทั่ว​ยุโรป​สามารถ​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​ของ​ตน​ได้​ใน​ที่​สุด. แม้​รัชกาล​ของ​กษัตริย์​อัลฟองโซ​ที่ 10 จะ​เต็ม​ไป​ด้วย​สงคราม​และ​การ​ขืน​อำนาจ แต่​ความ​พยายาม​ใน​การ​แสวง​หา​ความ​รู้​ของ​ท่าน​ได้​ช่วย​ให้​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​มี​โอกาส​ได้​รับ​สติ​ปัญญา​จาก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 6 คานทิกา​คือ​การ​แต่ง​เพลง​ใน​ช่วง​ยุค​กลาง​โดย​มี​นัก​ร้อง​ที่​เดิน​ทาง​ไป​ให้​ความ​บันเทิง​แก่​เหล่า​ชน​ชั้น​สูง​ตาม​ที่​ต่าง ๆ.

^ วรรค 11 อัลคอวาริสมี​เป็น​นัก​คณิตศาสตร์​ชาว​เปอร์เซีย​ที่​มี​ชื่อเสียง​ใน​ศตวรรษ​ที่​เก้า เขา​คิด​ค้น​พีชคณิต​และ​นำ​แนว​คิด​ทาง​คณิตศาสตร์​ของ​ชาว​อินเดีย​มา​ใช้ เช่น การ​ใช้​ตัว​เลข​อารบิก​รวม​ถึง​แนว​คิด​เรื่อง​เลข​ศูนย์​และ​หลัก​พื้น​ฐาน​ของ​วิชา​เลข​คณิต. คำ​ว่า “อัลกอริทึม” (ขั้น​ตอน​วิธี​ที่​ใช้​ใน​การ​แก้​ปัญหา​ทาง​คณิตศาสตร์) ได้​มา​จาก​ชื่อ​ของ​เขา.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 14]

การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​สเปน​ใน​ยุค​แรก ๆ

โครงการ​ของ​อัลฟองโซ​ที่ 10 ไม่​ใช่​โครงการ​แรก​ที่​มี​การ​แปล​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​พระ​คัมภีร์​เป็น​ภาษา​สเปน. ไม่​กี่​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น เอร์มันนุส อะเลมันนุส ผู้​แปล​คน​หนึ่ง​ของ​กลุ่ม​ผู้​แปล​ใน​โตเลโด​ได้​แปล​พระ​ธรรม​บทเพลง​สรรเสริญ​จาก​ภาษา​ฮีบรู​เป็น​ภาษา​สเปน​โดย​ตรง. นอก​จาก​นี้ ช่วง​ต้น ๆ ของ​ศตวรรษ​ที่ 13 ได้​มี​การ​แปล​บิบลิอา เมดีเอวัล โรมานเซีย​ดา พรีอัลฟองซีนา (คัมภีร์​ไบเบิล​โรมันซ์​ยุค​กลาง​ก่อน​สมัย​อัลฟองโซ). (ดู​ภาพ​ซ้าย.) ถือ​กัน​ว่า​งาน​ชิ้น​นี้​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​สเปน​ครบ​ชุด​ที่​เป็น​ฉบับ​เก่า​แก่​ที่​สุด. ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า​ฉบับ​แปล​นี้​มี​อิทธิพล​ต่อ​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ที่​อัลฟองโซ​ที่ 10 ให้​การ​สนับสนุน​ใน​อีก​ไม่​กี่​ปี​ต่อ​มา.

เกี่ยว​กับ​ฉบับ​แปล​ก่อน​สมัย​อัลฟองโซ​นี้ โทมัส มอนต์กอเมอรี ผู้​คง​แก่​เรียน​ได้​กล่าว​ว่า “ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​ได้​ผลิตผล​งาน​ชิ้น​เยี่ยม​ที่​ถือ​ว่า​มี​ความ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ทั้ง​ยัง​ใช้​ภาษา​ที่​สละสลวย​ด้วย. ฉบับ​แปล​นี้​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​ของ​ฉบับ​แปล​วัลเกต​ได้​อย่าง​ครบ​ถ้วน​โดย​ไม่​ใช้​คำ​อธิบาย​หรือ​คำ​ภาษา​ลาติน​มาก​เกิน​ความ​จำเป็น. ภาษา​ที่​ใช้​จึง​เรียบ​ง่าย​และ​ชัดเจน ซึ่ง​จำเป็น​สำหรับ​จัด​ทำ​คัมภีร์​ไบเบิล​สำหรับ​คน​ที่​ไม่​รู้​ภาษา​ลาติน.”

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Bible: Patrimonio Nacional. Real Biblioteca de El Escorial

[ภาพ​หน้า 12, 13]

รูป​ปั้น​ของ​อัลฟองโซ​ที่ 10 ตรง​ทาง​เข้า​หอ​สมุด​แห่ง​ชาติ​ของ​สเปน กรุง​มาดริด

[ภาพ​หน้า 13]

กษัตริย์​กับ​เหล่า​ผู้​แปล​จาก​โตเลโด (บน) และ​นัก​คัด​ลอก (ล่าง); กิตติคุณ​ลูกา​ใน“บิบลิอา อัลฟองซีนา” (ภาพ​ล่าง​สุด)

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 13]

All photos except statue of Alfonso X: Oronoz