ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เบลีซ แบริเออร์ รีฟ—มรดกโลก

เบลีซ แบริเออร์ รีฟ—มรดกโลก

เบลีซ แบริเออร์ รีฟ—มรดก​โลก

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​เม็กซิโก

“การ​เสื่อม​โทรม​หรือ​การ​สูญ​สลาย​ไป​ของ​สิ่ง​ใด ๆ ที่​เป็น​มรดก​ทาง​วัฒนธรรม​หรือ​ทาง​ธรรมชาติ​ถือ​เป็น​การ​ทำลาย​ล้าง​มรดก​ของ​ทุก​ชาติ​ใน​โลก. . . . นับ​ว่า​เป็น​พันธะ​หน้า​ที่​ของ​ประชาคม​โลก​โดย​รวม​ที่​จะ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​คุ้มครอง​มรดก​ทาง​วัฒนธรรม​และ​ทาง​ธรรมชาติ​อัน​มี​คุณค่า​มหาศาล​ต่อ​ชาว​โลก.” —จาก​การ​ประชุม​มรดก​โลก​ของ​ยูเนสโก.

สอดคล้อง​กับ​ถ้อย​แถลง​ข้าง​ต้น เขต​อนุรักษ์​เบลีซ แบริเออร์ รีฟ​จึง​ได้​รับ​การ​จารึก​ไว้​ให้​เป็น​มรดก​โลก​เมื่อ​ปี 1996. สถาน​ที่​แห่ง​นี้​จึง​มี​ฐานะ​เท่า​เทียม​กับ​มาชูปิกชู​ใน​เปรู, แกรนด์​แคนยอน​ใน​สหรัฐ, และ​สถาน​ที่​ที่​น่า​พิศวง​เช่น​เดียว​กัน​นี้​อีก​หลาย​แห่ง​ทั่ว​โลก. อะไร​ทำ​ให้​สถาน​ที่​แห่ง​นี้​มี “คุณค่า​มหาศาล​ต่อ​ชาว​โลก”?

มรดก​ที่​ควร​ค่า​แก่​การ​รักษา

เบลีซ แบริเออร์ รีฟ​เป็น​เทือก​ปะการัง​ที่​มี​ชีวิต​อยู่​ซึ่ง​ใหญ่​เป็น​อันดับ​สอง​ของ​โลก รอง​จาก​เกรต แบริเออร์ รีฟ​ใน​ออสเตรเลีย และ​เป็น​เทือก​ปะการัง​ที่​ยาว​ที่​สุด​ใน​ซีก​โลก​ตะวัน​ตก. เทือก​ปะการัง​นี้​มี​ความ​ยาว 300 กิโลเมตร​ตาม​แนว​คาบสมุทร​ยูกาตัง โดย​ครอบ​คลุม​ชายฝั่ง​ส่วน​ใหญ่​ของ​ประเทศ​เบลีซ​ใน​อเมริกา​กลาง. นอก​จาก​พืด​หิน​ปะการัง ซึ่ง​จริง ๆ แล้ว​มี​หลาย​ช่วง​ติด​ต่อ​กัน เขต​อนุรักษ์​นี้​ยัง​มี​คีย์ หรือ​เกาะ​ปริ่ม​น้ำ 450 เกาะ, และ​มี​เกาะ​ปะการัง​วง​แหวน​อีก​สาม​เกาะ ซึ่ง​ก็​คือ​พืด​หิน​ปะการัง​รูป​วง​แหวน​ที่​ล้อม​รอบ​ทะเลสาบ​น้ำ​เค็ม​อัน​งดงาม. พื้น​ที่​อนุรักษ์​ทาง​ทะเล​เจ็ด​แห่ง​ใน​เขต​อนุรักษ์​นี้ ซึ่ง​มี​พื้น​ที่​รวม​กัน​ทั้ง​หมด 960 ตาราง​กิโลเมตร ได้​รับ​การ​คุ้มครอง​เป็น​พิเศษ​ภาย​ใต้​อนุ​สัญญา​มรดก​โลก.

ความ​สำคัญ​ของ​การ​รักษา​พืด​หิน​ปะการัง​เห็น​ได้​จาก​ข้อ​ที่​ว่า​พืด​หิน​ปะการัง​เป็น​ที่​อาศัย​ของ​พืช​และ​สัตว์​ทะเล​ถึง​หนึ่ง​ใน​สี่​ของ​โลก. ที่​จริง ระบบ​นิเวศ​ของ​พืด​หิน​ปะการัง​เป็น​รอง​เพียง​แค่​ป่า​ดิบ​ชื้น​เท่า​นั้น​ใน​ด้าน​ความ​หลาก​หลาย​ทาง​ชีวภาพ. กระนั้น นัก​วิทยาศาสตร์​เตือน​ว่า 70 เปอร์เซ็นต์​ของ​ปะการัง​ทั้ง​หมด​ใน​โลก​จะ​ถูก​ทำลาย​ภาย​ใน​ระยะ​เวลา 20 ถึง 40 ปี​ข้าง​หน้า นอก​เสีย​จาก​มนุษย์​จะ​หยุด​การ​ก่อ​มลพิษ​ใน​ทะเล​ซึ่ง​มี​หลาย​แบบ, การ​ท่อง​เที่ยว​ที่​ขาด​การ​ควบคุม, และ​การ​กระทำ​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย เช่น การ​จับ​ปลา​ด้วย​สาร​ไซยาไนด์.

มี​การ​ระบุ​ชนิด​ของ​ปะการัง​แข็ง​เจ็ด​สิบ​ชนิด, ปะการัง​อ่อน 36 ชนิด, และ​ปลา 500 ชนิด​ใน​เขต​อนุรักษ์​เบลีซ แบริเออร์ รีฟ. เขต​อนุรักษ์​นี้​เป็น​ที่​อาศัย​ของ​สัตว์​ทะเล​ที่​ใกล้​หรือ​เสี่ยง​ต่อ​การ​สูญ​พันธุ์ เช่น เต่า​จะ​ละ​เม็ด, เต่า​ตนุ, และ​เต่ากระ รวม​ทั้ง​ตัว​มานา​ที (สัตว์​คล้าย​พะยูน) และ​จระเข้​อเมริกัน. จูเลียน โรบินสัน นัก​วิจัย​เกี่ยว​กับ​พืด​หิน​ปะการัง​กล่าว​ถึง​เรื่อง​ความ​หลาก​หลาย​ที่​น่า​ทึ่ง​ของ​สัตว์​และ​พืช​ใน​ทะเล​ของ​ที่​นี่​ว่า “เขต​อนุรักษ์​เบลีซ แบริเออร์ รีฟ​ให้​โอกาส​มาก​มาย​ที่​หา​ไม่​ได้​ใน​ที่​อื่น​แก่​ทั้ง​นัก​วิจัย​และ​นัก​ท่อง​เที่ยว. . . . ที่​นี่​เป็น​สถาน​ที่​หนึ่ง​ใน​ไม่​กี่​แห่ง​ที่​ยัง​หลง​เหลือ​อยู่​ซึ่ง​คุณ​สามารถ​ชม​ธรรมชาติ​อัน​ยอด​เยี่ยม​ที่​สุด​ได้ แต่​กระนั้น มัน​ก็​ยัง​ถูก​คุกคาม​เช่น​กัน.”

สิ่ง​ที่​อาจ​เป็น​ภัย​ต่อ​เทือก​ปะการัง​เบลีซ​มาก​ที่​สุด​ก็​คือ การ​ที่​ปะการัง​หลาย​สี​กลับ​มี​สี​ซีด​ลง. (ดู​กรอบ​หน้า 26.) เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก นิวส์ รายงาน​ว่า ใน​ช่วง​เดียว​กับ​ที่​มี​พายุ​เฮอร์ริเคน​มิตช์ ปะการัง​ได้​เกิด​มี​สี​ซีด​ลง​ครั้ง​ใหญ่​ใน​ปี 1997 และ 1998 ซึ่ง​ทำ​ให้​พื้น​ที่​ของ​ปะการัง​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่​ลด​ลง​ถึง 48 เปอร์เซ็นต์. อะไร​ทำ​ให้​เกิด​ความ​สูญ​เสีย​ครั้ง​ใหญ่​นี้? แม้​ว่า​ยัง​คง​มี​การ​ศึกษา​ค้นคว้า​กัน​อยู่ แต่​เมลานี แมก​ฟีลด์ นัก​วิทยาศาสตร์​ด้าน​ปะการัง กล่าว​ว่า “ภาวะ​ที่​ปะการัง​มี​สี​ซีด​ลง​นี้​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​มาก​กับ​อุณหภูมิ​ที่​สูง​ขึ้น​ของ​มหาสมุทร. . . . แสง​อัลตราไวโอเลต​ก็​ทำ​ให้​ปะการัง​มี​สี​ซีด​ลง​ด้วย และ​เมื่อ​ทั้ง​สอง​ปัจจัย​เกิด​ขึ้น​พร้อม​กัน ภาวะ​ที่​ปะการัง​มี​สี​ซีด​ลง​ครั้ง​เลว​ร้าย​ที่​สุด​จึง​เกิด​ขึ้น.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม น่า​ดีใจ​ที่​ดู​เหมือน​เทือก​ปะการัง​เบลีซ​กำลัง​ค่อย ๆ ฟื้น​ตัว. *

อุทยาน​ใต้​น้ำ

น้ำ​ที่​ใส​ดุจ​แก้ว​ใน​เขต​เทือก​ปะการัง​เบลีซ​ซึ่ง​มี​อุณหภูมิ​เฉลี่ย​ประมาณ 26 องศา​เซลเซียส​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​สำหรับ​นัก​ดำ​น้ำ​ทั้ง​แบบ​น้ำ​ลึก​และ​ที่​ระดับ​ผิว​น้ำ. เก้า​สิบ​เปอร์เซ็นต์​ของ​เทือก​ปะการัง​นี้​ยัง​ไม่​มี​การ​สำรวจ. เทือก​ปะการัง​นี้​อยู่​ห่าง​จาก​ชายฝั่ง​ไป​แค่​ไม่​กี่​ร้อย​เมตร​จาก​เมือง​ซาน​เปโดร​บน​เกาะ​อัมเบอร์กริสคีย์ และ​สามารถ​เดิน​ทาง​ไป​ถึง​ได้​ง่าย ๆ จาก​ที่​นั่น. และ​ห่าง​จาก​ซาน​เปโดร​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​อีก 6 กิโลเมตร​ก็​มี​เขต​อนุรักษ์​ทาง​ทะเล​โอลชาน ซึ่ง​เป็น​อุทยาน​ใต้​ทะเล​น้ำ​ตื้น​ที่​มี​พื้น​ที่ 8 ตาราง​กิโลเมตร​ซึ่ง​มี​แนว​ร่อง​น้ำ​ตัด​ผ่าน​พืด​หิน​ปะการัง.

สถาน​ที่​ที่​น่า​อัศจรรย์​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ของ​โลก​สำหรับ​การ​ดำ​น้ำ​คือ​หลุม​บลู​โฮล ซึ่ง​เป็น​พื้น​ที่​มรดก​โลก​ที่​ได้​รับ​การ​คุ้มครอง​ใน​เขต​อนุรักษ์​นี้ และ​อยู่​ห่าง​จาก​แผ่นดิน​ใหญ่​ของ​ประเทศ​เบลีซ​ประมาณ 100 กิโลเมตร​บน​เทือก​ปะการัง​ไลท์เฮาส์ รีฟ. บลู​โฮล​มี​ชื่อเสียง​ขึ้น​มา​เนื่อง​จาก​นัก​สมุทรศาสตร์​ชาว​ฝรั่งเศส​ชื่อ​ชาก-อีฟ กูสโต ระหว่าง​ที่​เขา​เดิน​ทาง​สำรวจ​เมื่อ​ปี 1970 โดย​ใช้​เรือ​วิจัย​คาลิปโซ. ท่ามกลาง​น้ำ​ทะเล​สี​เขียว​อม​ฟ้า บลู​โฮล​เป็น​ปล่อง​หินปูน​หรือ​หลุม​ยุบ​สี​คราม ซึ่ง​ขอบ​โดย​รอบ​เป็น​ปะการัง​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่. หลุม​บลู​โฮล​มี​เส้น​ผ่า​ศูนย์กลาง​ราว ๆ 300 เมตร​และ​ลึก​กว่า 120 เมตร. ก่อน​ที่​ระดับ​น้ำ​ทะเล​จะ​สูง​ขึ้น ที่​นี่​เคย​เป็น​ถ้ำ​ใต้​ดิน​มา​ก่อน และ​ต่อ​มา​เพดาน​ถ้ำ​ได้​ยุบ​ตัว​ลง. ผนัง​ด้าน​ข้าง​เป็น​แนว​ดิ่ง​ลึก​ลง​ไป​ราว ๆ 35 เมตร และ​ตั้ง​แต่​จุด​นั้น​ไป​ก็​มี​หิน​ย้อย​ขนาด​มหึมา​งอก​จาก​ชั้น​หิน​ที่​เป็น​ขั้น ๆ ลง​ไป. ทัศนียภาพ​ใต้​น้ำ​น่า​เกรง​ขาม​มาก ระยะ​ที่​มอง​เห็น​ได้​นั้น​ไกล​ถึง 60 เมตร. แทบ​ไม่​มี​สัตว์​น้ำ​ชนิด​ใด​อาศัย​อยู่​ใน​หลุม​นี้​นอก​จาก​ฉลาม. นัก​ดำ​น้ำ​ควร​สังเกต​ว่า​นี่​เป็น​การ​ดำ​แบบ​ดีคอมเพรสชัน ซึ่ง​ผู้​ไม่​มี​ประสบการณ์​ไม่​ควร​ลอง​ทำ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ดำ​บริเวณ​ผิว​น้ำ​ซึ่ง​ใส​ดุจ​แก้ว​เพื่อ​ชม​ปะการัง​รอบ ๆ ขอบ​หลุม​นั้น​ยอด​เยี่ยม​เช่น​กัน.

ใกล้ ๆ กัน​นั้น​ก็​มี​เขต​มรดก​โลก​อีก​เขต​หนึ่ง​ใน​บรรดา​เจ็ด​เขต นั่น​คือ​เกาะ​ฮาล์ฟมูนคีย์ เกาะ​อัน​สงบ​เงียบ​ซึ่ง​เป็น​ที่​อาศัย​อัน​ปลอด​ภัย​ของ​นก​บู๊บบี้​ตีน​แดง​ที่​หา​ยาก. มี​การ​พบ​เห็น​นก​ชนิด​อื่น ๆ ที่​นี่​อีก​ประมาณ 98 ชนิด​ด้วย. การ​ดำ​น้ำ​ที่​ฮาล์ฟมูนคีย์วอลล์ ซึ่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​ปะการัง​อ่อน​ที่​สวย​งาม​และ​ลึก​ลง​ไป​ถึง 1,000 เมตร​นั้น​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​มาก.

จาก​การ​ที่​ได้​มา​เยือน​เบลีซ แบริเออร์ รีฟ​โดย​ใช้​เวลา​สั้น ๆ นี้​ทำ​ให้​เห็น​ว่า​มี​เหตุ​ผล​ที่​ดี​ที่​จะ​อนุรักษ์​สมบัติ​อัน​ล้ำ​ค่า​แห่ง​นี้​เพื่อ​ความ​อัศจรรย์​ใจ​ของ​ชน​รุ่น​หลัง. การ​สูญ​เสีย​สถาน​ที่​แห่ง​นี้​ไป​ก็​คง​จะ​เป็น “การ​ทำลาย​ล้าง​มรดก​ของ​ทุก​ชาติ​ใน​โลก” อย่าง​แท้​จริง.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 บาง​ที​คน​ใน​ท้องถิ่น​แทบ​จะ​ทำ​อะไร​ไม่​ได้​เลย​เกี่ยว​กับ​ภาวะ​ที่​โลก​ร้อน​ขึ้น​ซึ่ง​ทำ​ให้​อุณหภูมิ​ของ​น้ำ​สูง​ขึ้น แต่​สถานะ​มรดก​โลก​ของ​เขต​อนุรักษ์​นี้​ทำ​ให้​ชาว​เบลีซ​พยายาม​ร่วม​มือ​กัน​มาก​ขึ้น​ใน​การ​คุ้มครอง​สถาน​ที่​แห่ง​นี้.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 26]

ปะการัง​มี​สี​ซีด​ลง

พืด​หิน​ปะการัง​เป็น​ผนัง​หิน​ที่​มี​ชีวิต​เกิด​จาก​สัตว์​กิน​เนื้อ​ชนิด​หนึ่ง​ที่​อยู่​รวม​กัน​เป็น​กลุ่ม​ซึ่ง​เรียก​ว่า​ตัว​ปะการัง (โพลิป) พวก​มัน​มี​เปลือก​หุ้ม​แข็ง​ที่​ทำ​จาก​แคลเซียม​คาร์บอเนต หรือ​หินปูน. ปะการัง​ที่​มี​ชีวิต​อยู่​จะ​ต่อ​เติม​โครง​สร้าง​จาก​ปะการัง​รุ่น​ก่อน ๆ ที่​ตาย​แล้ว. สาหร่าย​ขนาด​จิ๋ว (zooxanthellas) อาศัย​อยู่​ใน​เนื้อ​เยื่อ​ของ​ปะการัง​แบบ​ที่​มี​การ​พึ่ง​พา​อาศัย​กัน​และ​กัน โดย​ที่​มัน​จะ​ให้​ออกซิเจน​และ​สาร​อาหาร​ซึ่ง​ตัว​ปะการัง​ต้อง​ใช้ และ​ดูด​ซับ​เอา​คาร์บอนไดออกไซด์​จาก​ตัว​ปะการัง. เนื่อง​จาก​ปะการัง​ไว​ต่อ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ของ​อุณหภูมิ​ของ​น้ำ ตัว​ปะการัง​จะ​เริ่ม​ขับ​สาหร่าย​ออก​มา​เมื่อ​อุณหภูมิ​น้ำ​สูง​ขึ้น ทำ​ให้​มัน​สูญ​เสีย​เม็ด​สี​คลอโรฟิลล์​และ​ทำ​ให้​มัน​มี​สี​ซีด​ลง. เมื่อ​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​อ่อนแอ​เช่น​นี้ ปะการัง​ก็​เสี่ยง​ต่อ​การ​ติด​โรค​และ​ตาย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พืด​หิน​ปะการัง​นั้น​ทนทาน​มาก และ​สามารถ​ฟื้น​ตัว​ได้​เมื่อ​ได้​รับ​การ​ปก​ป้อง​คุ้มครอง.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Background: Copyright © 2006 Tony Rath Photography - www.trphoto.com

[แผนที่​หน้า 23]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

เม็กซิโก

เบลีซ

ทะเล​แคริบเบียน

มหาสมุทร​แปซิฟิก

[ภาพ​หน้า 23]

ภาพ​ถ่าย​จาก​ดาว​เทียม​ของ​เบลีซ ซึ่ง​มอง​เห็น​พืด​หิน​ปะการัง​ยาว 300 กิโลเมตร

[ภาพ​หน้า 24]

เกาะ​เรนดิซวูคีย์

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

©kevinschafer.com

[ภาพ​หน้า 24]

เต่า​กระ

[ภาพ​หน้า 24, 25]

หลุม​บลูโฮล​ที่​เทือก​ปะการัง​ไลท์เฮาส์ รีฟ ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​ที่​ถ้ำ​หินปูน​ยุบ​ตัว

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

©kevinschafer.com

[ภาพ​หน้า 25]

เบลีซ แบริเออร์ รีฟ​เป็น​ที่​อาศัย​ของ​ปลา 500 ชนิด

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Inset: © Paul Gallaher/Index Stock Imagery

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 23]

Satellite view: NASA/The Visible Earth (http://visibleearth.nasa.gov/); divers: © Paul Duda/Photo Researchers, Inc.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 24]

Copyright © Brandon Cole