การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
▪ “การดูโทรทัศน์ตลอดทั้งวัน, การที่ครอบครัวไม่ได้รับประทานอาหารร่วมกัน, และแม้แต่รถเข็นเด็กที่ออกแบบให้เด็กมองไปข้างหน้า” เป็นอุปสรรคต่อการสื่อความระหว่างพ่อแม่และลูก. ผลที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งก็คือ เด็ก ๆ ที่เริ่มไปโรงเรียนจะ “หันไปใช้วิธีกรีดเสียงร้อง” เมื่อพวกเขาไม่สามารถเผยความรู้สึกของตนได้.—หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์ บริเตน.
▪ 23 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่เกิดในสเปนเป็นลูกนอกสมรส. ในฝรั่งเศสมี 43 เปอร์เซ็นต์, เดนมาร์กมี 45 เปอร์เซ็นต์, และสวีเดน 55 เปอร์เซ็นต์.—วารสารอินสตีตูโต เด โปลีตีกา ฟามิลีอาร์ สเปน.
▪ ชาวบริเตนหนึ่งในสามคนนอนหลับน้อยกว่าห้าชั่วโมงในแต่ละคืน ส่งผลให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะ “ไม่ค่อยมีสมาธิ, ขี้หลงขี้ลืม, [และ] อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ.” นอกจากนั้น การนอนหลับไม่เพียงพออาจเพิ่ม “ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน, โรคเบาหวาน, โรคซึมเศร้า, การหย่าร้าง, และการมีอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ร้ายแรง.”—หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์ บริเตน.
ความรุนแรง “เพื่อแก้เซ็งเท่านั้น”
หนังสือพิมพ์เอล ปาอิส ของสเปนกล่าวว่า “การทุบตีและการทำลายศักดิ์ศรีของคนอื่นแถมยังบันทึกภาพไว้ในโทรศัพท์มือถือกำลังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่วัยรุ่น.” ผู้ถูกทำร้ายบางคนไม่มีทางฟื้นตัวได้เลยหลังถูกทุบตีอย่างหนัก. เหตุใดเยาวชนจึงก่ออาชญากรรมเช่นนั้น? นิตยสาร เอกซ์แอล อธิบายว่า “พวกเขาไม่ได้ทำเช่นนั้นเพื่อต้องการปล้นหรือเพราะรู้สึกเหยียดผิวหรือเพราะเขาเป็นสมาชิกในแก๊งอันธพาล. พวกเขาทำร้ายคนอื่น ซึ่งถือว่าเป็นแง่มุมใหม่ของอาชญากรรมแบบนี้ ก็เพื่อแก้เซ็งเท่านั้น.” บีเธนเต การ์ริโด นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาโดยเฉพาะกล่าวว่า “บางครั้งพวกเขาเมาแต่บางครั้งก็ไม่. กระนั้น สิ่งที่เหมือนกันก็คือพวกเขาขาดความสำนึกผิด.”
โรคในเขตร้อนถูกเมิน
นักวิจัยทางการแพทย์ละเลยโรคส่วนใหญ่ในเขตร้อน. เพราะเหตุใด? ไมเคิล เฟอร์กูสัน นักอณูชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยดันดีแห่งสกอตแลนด์กล่าวว่า “เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ . . . อุตสาหกรรมยาไม่ได้แสวงหา [การรักษาใหม่ ๆ.]” บริษัทยาไม่มีแรงจูงใจทางการเงินในการศึกษาวิจัยเพราะพวกเขาไม่เห็นโอกาสที่จะถอนทุนคืนได้. บริษัทเหล่านี้ชอบผลิตยาที่ขายได้กำไรมาก ๆ สำหรับอาการของโรคต่าง ๆ เช่น ยารักษาโรคอัลไซเมอร์, โรคอ้วน, และการหมดสมรรถภาพทางเพศ. ตามที่วารสารนิว ไซเยนติสต์ กล่าวไว้ ขณะนี้มีการกะประมาณว่า “ทุกปีมีประชาชนราว 1 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตเพราะมาลาเรีย ขณะที่ยังไม่สามารถหาวิธีรักษาที่ปลอดภัยและใช้ได้ผล.”
“ผู้บริโภค” ตัวน้อย
ตามที่มหาวิทยาลัยลา ซาเปียนซาในกรุงโรม ประเทศอิตาลีรายงาน เด็กอายุราวสามขวบสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้ายี่ห้อต่าง ๆ ในท้องตลาดได้ และเมื่ออายุแปดขวบพวกเขาก็กลายเป็น “ผู้บริโภค.” หนังสือพิมพ์ลา เรพุบบลีกา กล่าวว่าการโฆษณาในโทรทัศน์ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของเด็ก เปลี่ยนพวกเขาให้เป็น “จอมเผด็จการ” ตัวน้อย ๆ ที่รบเร้าพ่อแม่ให้ซื้อผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งให้. หนังสือพิมพ์นั้นกล่าวว่า “อันตรายก็คือ เด็ก ๆ จะมีชีวิตอยู่ในโลกที่ไม่เป็นความจริงและเชื่อว่านั่นเป็นโลกจริง ๆ ซึ่งทุกสิ่งที่โลกดังกล่าวเสนอ (และมีการซื้อ) คือสิ่งที่จำเป็นต้องมี.”
หุ่น “ตั้งครรภ์”
แต่ไหนแต่ไรมา บุคลากรที่ดูแลหญิงตั้งครรภ์ต้องเรียนรู้งานของตนโดยอาศัยคนไข้ที่มีชีวิต. แต่สำนักข่าวแอสโซซิเอตเตด เพรสกล่าวว่า ตอนนี้ “หุ่นจำลองการคลอดบุตร” ที่ได้รับการตั้งชื่อว่าโนเอลล์ “กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก.” หุ่น “ตั้งครรภ์” ถูกตั้งโปรแกรมให้มีชีพจรและการขยายปากมดลูกที่เหมือนจริง อาจมีการตั้งโปรแกรมให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง รวมทั้งให้มีการคลอดแบบค่อนข้างเร็วและการเจ็บท้องคลอดนานกว่าปกติ. “ทารก” ที่โนเอลล์คลอดออกมาอาจมีสุขภาพดี ผิวเป็นสีชมพูหรือตัวเขียวคล้ำน่ากลัวซึ่งบ่งชี้ว่าขาดออกซิเจน. เหตุใดจึงต้องฝึกโดยใช้หุ่นจำลอง? รายงานนั้นกล่าวว่า “ถ้าเกิดความผิดพลาดกับหุ่นยนต์ราคา 20,000 ดอลลาร์ก็ยังดีกว่าเกิดกับคนไข้ที่มีชีวิต.”