ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

หมู่เกาะสฟาลบาร์—ดินแดนแห่งชายฝั่งอันหนาวเย็น

หมู่เกาะสฟาลบาร์—ดินแดนแห่งชายฝั่งอันหนาวเย็น

หมู่​เกาะ​สฟาลบาร์—ดินแดน​แห่ง​ชายฝั่ง​อัน​หนาว​เย็น

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​นอร์เวย์

เครื่องบิน​ของ​เรา​กำลัง​บิน​อยู่​ใน​เมฆ​หนา​ทึบ และ​เรา​มอง​ไม่​เห็น​อะไร​เลย. ทันใด​นั้น​เครื่องบิน​ของ​เรา​ก็​โผล่​พ้น​เมฆ​ออก​มา​และ​ทิวทัศน์​สี​ขาว​แห่ง​อาร์กติก​ที่​อยู่​เบื้อง​ล่าง​ก็​ปรากฏ​แก่​สายตา​ของ​เรา. ภาพ​นั้น​งดงาม​จับ​ใจ​จริง ๆ! เรา​จ้อง​มอง​ด้วย​ความ​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​เมื่อ​เห็น​ธาร​น้ำ​แข็ง, ฟยอร์ด (อ่าว​แคบ) สี​ฟ้า​อ่อน, และ​ภูเขา​ที่​ปก​คลุม​ด้วย​หิมะ. ดินแดน​อัน​ร้าง​เปล่า​ที่​มี​แต่​หิมะ​และ​น้ำ​แข็ง​ทอด​ยาว​ออก​ไป​ไกล​สุด​สายตา. นี่​คือ​สฟาลบาร์ หมู่​เกาะ​แห่ง​หนึ่ง​ใกล้ ๆ ขั้ว​โลก​เหนือ ตั้ง​อยู่​ระหว่าง​ละติจูด 74 ถึง 81 องศา​เหนือ และ​เรา​มา​ที่​นี่​เพื่อ​เยี่ยม​ชม​หมู่​เกาะ​นี้!

ชื่อ​สฟาลบาร์​ซึ่ง​หมาย​ถึง “ชายฝั่ง​อัน​หนาว​เย็น” ปรากฏ​ครั้ง​แรก​เมื่อ​ปี 1194 ใน​หนังสือ​ประจำ​ปี​ของ​ชาว​ไอซ์แลนด์. แต่ “การ​ค้น​พบ” ดินแดน​แห่ง​นี้​ใน​อีก 400 ปี​ต่อ​มา คือ​ใน​ปี 1596 ได้​ทำ​ให้​หมู่​เกาะ​สฟาลบาร์​ปรากฏ​บน​แผนที่​โลก. ใน​ปี​นั้น คณะ​นัก​สำรวจ​ชาว​ดัตช์​นำ​โดย​วิลเลม บาเร็นตส์ ได้​แล่น​เรือ​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ. วัน​หนึ่ง ลูกเรือ​ที่​เฝ้า​สังเกตการณ์​มอง​เห็น​แผ่นดิน​ที่​ไม่​รู้​จัก​บน​ขอบ​ฟ้า ซึ่ง​ดู​เป็น​เทือก​เขา​ที่​ขรุขระ. คณะ​นัก​สำรวจ​นั้น​ได้​เดิน​ทาง​มา​ถึง​ฝั่ง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​หมู่​เกาะ​สฟาลบาร์ ซึ่ง​บาเร็นตส์​เรียก​ว่า “สปิตสเบอร์เกน” ซึ่ง​หมาย​ถึง “ภูเขา​ยอด​แหลม.” ปัจจุบัน​ชื่อ​นี้​เป็น​ชื่อ​ของ​เกาะ​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​หมู่​เกาะ​นี้. การ​ค้น​พบ​ของ​บาเร็นตส์​ปู​ทาง​ไป​สู่​ยุค​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​กิจกรรม​ใน​เขต​พื้น​ที่​สฟาลบาร์ ซึ่ง​รวม​ไป​ถึง​การ​ล่า​วาฬ, การ​ล่า​แมว​น้ำ, การ​ดัก​จับ​สัตว์​เพื่อ​เอา​ขน​ของ​มัน​และ​การ​สำรวจ, และ​ใน​ยุค​หลัง ๆ มี​การ​ทำ​เหมือง​ถ่าน​หิน, การ​ค้นคว้า​ทาง​วิทยาศาสตร์, และ​การ​ท่อง​เที่ยว. ตลอด​หลาย​ปี มี​หลาย​ประเทศ​ที่​ได้​เข้า​ร่วม​ใน​กิจกรรม​เหล่า​นี้ แต่​นับ​จาก​ปี 1925 หมู่​เกาะ​นี้​ได้​ตก​เป็น​ของ​นอร์เวย์.

ดินแดน​ที่​เป็น​ชั้น​ดิน​เย็น​แข็ง​คงตัว​และ​แสง​เหนือ

เครื่องบิน​ของ​เรา​ลด​ระดับ​ลง​เหนือ​อ่าว​แคบ​ไอซ์ฟยอร์ด และ​ร่อน​ลง​จอด​ที่​สนามบิน​สฟาลบาร์. เรา​เช่า​รถยนต์​และ​ขับ​ไป​ยัง​เมือง​ลองเยียร์เบียน ซึ่ง​ถูก​ตั้ง​ชื่อ​ตาม​ชื่อ​ของ​จอห์น เอ็ม. ลองเยียร์ นัก​ลง​ทุน​ราย​ใหญ่​ชาว​อเมริกัน​ที่​เข้า​มา​ทำ​เหมือง​แร่ ซึ่ง​เป็น​ผู้​ก่อ​ตั้ง​เหมือง​ถ่าน​หิน​แห่ง​แรก​ใน​พื้น​ที่​นี้​ใน​ปี 1906. ลองเยียร์เบียน​เป็น​ชุมชน​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​สฟาลบาร์ มี​ประชากร​ราว ๆ 2,000 คน. ใช่​แล้ว ท่ามกลาง​พื้น​ที่​อัน​กว้าง​ใหญ่​ซึ่ง​มี​ธรรมชาติ​ที่​แทบ​จะ​ไม่​เคย​มี​ผู้​บุกรุก เรา​พบ​เมือง​อัน​ทัน​สมัย​พร้อม​ด้วย​สิ่ง​อำนวย​ความ​สะดวก​ที่​มี​พบ​เห็น​ได้​ทั่ว​ไป เช่น ซูเปอร์มาร์เกต, ที่​ทำ​การ​ไปรษณีย์, ธนาคาร, ห้อง​สมุด​สาธารณะ, โรง​เรียน, โรง​เรียน​อนุบาล, โรงแรม, ร้าน​กาแฟ​และ​ร้าน​อาหาร, โรง​พยาบาล, และ​หนังสือ​พิมพ์​ท้องถิ่น. เนื่อง​จาก​ตั้ง​อยู่​เลย​ละติจูด 78 องศา​เหนือ​ขึ้น​ไป​อีก ลองเยียร์เบียน​จึง​เป็น​ชุมชน​ใหญ่​ขนาด​นี้​ที่​อยู่​เหนือ​สุด​ของ​โลก.

เรา​เข้า​พัก​ใน​เกสต์เฮาส์​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​เคย​เป็น​ที่​พัก​ของ​คน​งาน​เหมือง​ถ่าน​หิน. ที่​นี่​สามารถ​มอง​ลง​ไป​เห็น​ลองเยียร์เบียน​และ​ทิวทัศน์​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​ของ​ภูเขา​ยอร์ทฟเยเลต. ตอน​นี้​เป็น​เดือน​ตุลาคม และ​มี​หิมะ​ปก​คลุม​ตาม​ภูเขา. ที่​ก้น​หุบเขา​ยัง​ไม่​มี​หิมะ แต่​พื้น​ดิน​นั้น​เย็น​จน​แข็งตัว. นี่​คือ​ดินแดน​แห่ง​ชั้น​ดิน​เย็น​แข็ง​คงตัว. มี​เพียง​หน้า​ดิน​เท่า​นั้น​ที่​คลาย​ความ​เย็น​และ​อ่อน​ตัว​ลง​เป็น​ช่วง​สั้น ๆ ใน​ฤดู​ร้อน. กระนั้น เนื่อง​จาก​กระแส​ลม​กับ​กระแส​น้ำ​ที่​เหมาะ​สม ภูมิอากาศ​ที่​นี่​จึง​ไม่​หนาว​เหน็บ​เท่า​กับ​พื้น​ที่​อื่น ๆ ใน​ละติจูด​เดียว​กัน. จาก​ที่​ที่​เรา​พัก​อยู่ เรา​สามารถ​เห็น​แสง​อาทิตย์​ส่อง​กระทบ​เทือก​เขา ขณะ​ที่​หุบเขา​เบื้อง​ล่าง​ดู​เป็น​สี​น้ำเงิน​เพราะ​อยู่​ใน​เงา​แสง​อาทิตย์. ใน​บริเวณ​เมือง​ลองเยียร์เบียน ดวง​อาทิตย์​จะ​ไม่​โผล่​ขึ้น​มา​เหนือ​ขอบ​ฟ้า​เลย​ตั้ง​แต่​วัน​ที่ 26 ตุลาคม​ถึง 16 กุมภาพันธ์. แต่​แสง​ออโรรา​หรือ​แสง​เหนือ​มัก​จะ​ส่อง​แสง​ให้​ท้องฟ้า​ที่​มืด​มิด​ใน​ฤดู​หนาว​ดู​สว่างไสว. ใน​ทาง​กลับ​กัน หมู่​เกาะ​สฟาลบาร์​จะ​เห็น​อาทิตย์​เที่ยง​คืน​ใน​ช่วง​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​และ​ฤดู​ร้อน และ​ใน​ลองเยียร์​เบียน​จะ​เห็น​ปรากฏการณ์​ดัง​กล่าว​ตั้ง​แต่​วัน​ที่ 20 เมษายน​ถึง 23 สิงหาคม.

ชีวิต​พืช​และ​สัตว์

ตอน​นี้​อุณหภูมิ​อยู่​ที่​ลบ 8 องศา​เซลเซียส และ​ลม​หนาว​พัด​มา​อย่าง​รุนแรง แต่​ท้องฟ้า​ดู​ใส​กระจ่าง. เรา​พร้อม​แล้ว​สำหรับ​การ​เดิน​ทาง. มัคคุเทศก์​ของ​เรา​พา​เรา​เดิน​ขึ้น​เขา​ซอร์กูฟอเกน และ​เดิน​ลง​ไป​ที่​ธาร​น้ำ​แข็ง​ใกล้​ลองเยียร์เบียน. ขณะ​ที่​เรา​เดิน​ขึ้น​ไป​บน​เนิน​เขา​ที่​เย็น​จน​แข็งตัว เขา​เล่า​ให้​เรา​ฟัง​ว่า​ที่​นี่​มี​ดอกไม้​สวย​งาม​หลาย​ชนิด​งอก​ขึ้น​ใน​ช่วง​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​และ​ฤดู​ร้อน. ที่​จริง หมู่​เกาะ​สฟาลบาร์​มี​พืช​พรรณ​อุดม​สมบูรณ์​จน​น่า​ประหลาด​ใจ คือ​มี​ไม้​ดอก​ราว ๆ 170 ชนิด. ดอกไม้​สอง​ชนิด​ที่​พบ​เห็น​ได้​ทั่ว​ไป​คือ​ดอก​ป๊อปปี้​สฟาลบาร์​สี​เหลือง​หรือ​สี​ขาว และ​ดอก​แซกซิเฟรจ​สี​ม่วง​ที่​หอม​หวล.

เมื่อ​เดิน​ขึ้น​ไป​ตาม​ไหล่​เขา​ที่​มี​หิมะ​ปก​คลุม​ไป​เรื่อย ๆ เรา​เห็น​รอย​เท้า​นก​ทาร์มิแกน​สฟาลบาร์ ซึ่ง​เป็น​นก​ชนิด​เดียว​ที่​อาศัย​ใน​หมู่​เกาะ​สฟาลบาร์​ตลอด​ทั้ง​ปี. นก​ชนิด​อื่น ๆ ทั้ง​หมด​เป็น​นก​ย้าย​ถิ่น เช่น นก​บรึนนิคส์กิลลิมอต, นก​อั๊ค​น้อย, นก​นาง​นวล​ชนิด​ต่าง ๆ, และ​นก​เด้าดิน​สี​ม่วง. ที่​น่า​สนใจ​เป็น​พิเศษ​คือ​นก​นาง​นวล​แกลบ​อาร์กติก. นก​นาง​นวล​แกลบ​หลาย​ตัว​อพยพ​ไป​ไกล​ถึง​อีก​สุด​ขั้ว​โลก​หนึ่ง คือ​แอนตาร์กติกา.

เรา​ยัง​ได้​พบ​รอย​เท้า​ของ​สุนัข​จิ้งจอก​อาร์กติก​เข้า​โดย​บังเอิญ. สุนัข​เจ้า​เล่ห์​พวก​นี้​ชอบ​กิน​ซาก​สัตว์​เป็น​อาหาร โดย​จะ​กิน​ซาก​ศพ​และ​สิ่ง​ที่​สัตว์​ตัว​อื่น ๆ เหลือ​ทิ้ง​ไว้ แต่​ก็​กิน​อาหาร​อย่าง​อื่น​ด้วย คือ​ลูก​นก​และ​ไข่​นก. สุนัข​จิ้งจอก​ชนิด​นี้​เป็น​สัตว์​เลี้ยง​ลูก​ด้วย​นม​ที่​อยู่​บน​บก​แท้ ๆ หนึ่ง​ใน​สอง​ชนิด​ที่​เป็น​สัตว์​ประจำ​ถิ่น​ของ​หมู่​เกาะ​สฟาลบาร์. อีก​ชนิด​หนึ่ง​คือ​กวาง​เรนเดียร์​สฟาลบาร์​ที่​เป็น​มิตร. เรา​เห็น​กวาง​เรนเดียร์​ใน​ระยะ​ใกล้​หลาย​ครั้ง​ระหว่าง​ที่​เรา​อยู่​ใน​สฟาลบาร์. มัน​มอง​เรา​อย่าง​สงบ​และ​ยอม​ให้​เรา​ขยับ​เข้า​ไป​ใกล้ ๆ เพื่อ​ถ่าย​รูป​ก่อน​ที่​มัน​จะ​ถอย​หนี​ไป. กวาง​เรนเดียร์​นี้​มี​ขา​สั้น​และ​มี​ขน​หนา​ที่​ดู​น่า​อบอุ่น. ตอน​นี้​ซึ่ง​เป็น​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง มัน​ก็​ค่อนข้าง​จะ​อ้วน​จ้ำม่ำ​ไป​สัก​หน่อย. มัน​มี​ชั้น​ไขมัน​พิเศษ​เป็น​แหล่ง​อาหาร​สำรอง​ซึ่ง​จำเป็น​สำหรับ​ฤดู​หนาว.

หลาย​คน​ถือ​ว่า​หมี​ขั้ว​โลก ราชัน​แห่ง​อาร์กติก เป็น​สัตว์​เลี้ยง​ลูก​ด้วย​นม​ที่​อยู่​ใน​ทะเล เนื่อง​จาก​มัน​ใช้​เวลา​ส่วน​ใหญ่​ของ​มัน​อยู่​ตาม​แผ่น​น้ำ​แข็ง​เพื่อ​ล่า​แมว​น้ำ. แต่​คุณ​อาจ​พบ​หมี​ขั้ว​โลก​ที่​เดิน​ท่อง​ไป​แทบ​ทุก​แห่ง​ใน​สฟาลบาร์​เพียง​ลำพัง. มัคคุเทศก์​ของ​เรา​หวัง​ว่า​เรา​จะ​ไม่​เจอ​กับ​มัน. หมี​ขั้ว​โลก​อาจ​ดุ​มาก และ​มัคคุเทศก์​ของ​เรา​จึง​ต้อง​นำ​ปืน​ยาว​ไป​ด้วย​เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย. ตั้ง​แต่​ปี 1973 มี​การ​สั่ง​ห้าม​ล่า​หมี​ขั้ว​โลก​โดย​เด็ดขาด และ​ถ้า​มี​การ​ฆ่า​หมี​เกิด​ขึ้น ก็​จะ​มี​การ​สอบสวน. แม้​ว่า​ใน​ปัจจุบัน​ประชากร​หมี​ขั้ว​โลก​จะ​มี​ค่อนข้าง​มาก​ใน​เขต​สฟาลบาร์ แต่​ก็​ยัง​มี​ความ​กังวล​กัน​มาก​เกี่ยว​กับ​อนาคต​ของ​สัตว์​ที่​สง่า​งาม​และ​น่า​เกรง​ขาม​ชนิด​นี้. อาร์กติก​อาจ​ดู​ขาว​สะอาด​บริสุทธิ์​และ​สดชื่น แต่​สาร​เคมี​ที่​เป็น​พิษ​หลาย​ตัว เช่น พีซีบี มี​ผล​กระทบ​ต่อ​สิ่ง​แวด​ล้อม. สาร​พิษ​จะ​สะสม​อยู่​ใน​ตัว​หมี​ขั้ว​โลก เพราะ​มัน​อยู่​บน​ยอด​สุด​ของ​ห่วง​โซ่​อาหาร และ​นี่​ดู​เหมือน​ทำ​ให้​ความ​สามารถ​ใน​การ​สืบ​พันธุ์​ของ​มัน​ลด​ลง.

เรา​มา​ถึง​ยอด​เขา​ซอร์กูฟอเกน และ​ได้​เห็น​ทัศนียภาพ​อัน​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​ของ​ภูเขา​หลาย​ลูก​ซึ่ง​มี​ยอด​เขา​สี​ขาว​อยู่​ไกล​ลิบ. ส่วน​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้ ก็​มี​ภูเขา​ทรง​กลม​ที่​น่า​ประทับใจ​ชื่อ​นือร์เดนเชิล์ดฟเยเลต์ สะท้อน​แสง​อาทิตย์​เป็น​ประกาย. เบื้อง​ล่าง​ของ​เรา​คือ​ลองเยียร์เบียน และ​สูง​ขึ้น​ไป​คือ​ท้องฟ้า​สี​น้ำเงิน​แห่ง​อาร์กติก. เรา​รู้สึก​เหมือน​กับ​ว่า​กำลัง​ยืน​อยู่​บน​ยอด​สูง​สุด​ของ​ลูก​โลก​จริง ๆ. เรา​กิน​ขนมปัง​และ​ดื่ม​เครื่อง​ดื่ม​แบล็กเคอร์แรนต์​ที่​นัก​ไต่​เขา​มัก​จะ​ดื่ม​กัน​บ่อย ๆ อัน​ประกอบ​ด้วย​น้ำ​แบล็กเคอร์แรนต์, น้ำตาล, และ​น้ำ​ร้อน ซึ่ง​ทำ​ให้​เรา​สดชื่น​ขึ้น และ​พร้อม​ที่​จะ​เดิน​ลง​จาก​เขา​โดย​ทาง​ธาร​น้ำ​แข็ง​ลองเยียร์เบียน.

การ​ทำ​เหมือง​ถ่าน​หิน​และ​สัตว์​ที่​เสี่ยง​ต่อ​การ​สูญ​พันธุ์

การ​ไป​เยือน​เหมือง​ถ่าน​หิน​ที่​เลิก​กิจการ​แล้ว​เป็น​ประสบการณ์​ที่​น่า​สนใจ​อีก​อย่าง​หนึ่ง. มัคคุเทศก์​รูป​ร่าง​ล่ำสัน​ของ​เรา ซึ่ง​เคย​เป็น​คน​งาน​เหมือง​มา​หลาย​ปี นำ​เรา​ชม​เหมือง​หมาย​เลข 3 ซึ่ง​อยู่​นอก​ลองเยียร์เบียน​ไป​ไม่​ไกล. เรา​สวม​เสื้อ​คลุม​และ​หมวก​นิรภัย​ซึ่ง​มี​หลอด​ไฟ​ติด​อยู่​ที่​หน้าผาก และ​เดิน​ตาม​เขา​เข้า​ไป​ใน​ช่อง​ที่​เจาะ​ใน​ภูเขา. เขา​บอก​เรา​ว่า​เหมือง​ถ่าน​หิน​เป็น​กิจกรรม​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​สฟาลบาร์​มา​ตั้ง​แต่​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 20. เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ที่​คน​งาน​เหมือง​มี​ชีวิต​ที่​ลำบาก​มาก. พวก​เขา​มัก​จะ​ต้อง​ใช้​ทั้ง​มือ​และ​เข่า​คลาน​ไป​ตาม​อุโมงค์​ที่​เจาะ​ไว้​ยาว​เหยียด ใน​ชั้น​ถ่าน​หิน​ที่​เจาะ​เป็น​แนว​ราบ​ซึ่ง​บาง​แห่ง​สูง​เพียง​สอง​ฟุต. เรา​มี​โอกาส​ลอง​คลาน​เข้า​ไป​ด้วย​และ​รู้สึก​ว่า​การ​ทำ​งาน​ที่​นี่​คง​ไม่​น่า​สนุก​เลย. งาน​ของ​พวก​เขา​หนัก​มาก อากาศ​เต็ม​ไป​ด้วย​ผง​ถ่าน​หิน​และ​ผง​หิน, เสียง​ก็​ดัง​มาก, และ​มี​อันตราย​จาก​การ​ระเบิด​และ​การ​พัง​ทลาย​ลง​อยู่​เสมอ. ปัจจุบัน มี​การ​ใช้​วิธี​ทำ​เหมือง​ที่​ทัน​สมัย. การ​ทำ​เหมือง​ถ่าน​หิน​ยัง​คง​มี​ความ​สำคัญ​ต่อ​เศรษฐกิจ​ของ​สฟาลบาร์ แต่​ใน​ช่วง​ไม่​กี่​สิบ​ปี​มา​นี้ การ​ท่อง​เที่ยว​มี​ความ​สำคัญ​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ.

ผู้​คน​มัก​ไม่​คำนึง​ถึง​ความ​บอบบาง​ของ​ชีวิต​ตาม​ธรรมชาติ​ใน​แถบ​อาร์กติก. บาง​ครั้ง มี​การ​ล่า​วาฬ, วอลรัส, กวาง​เรนเดียร์, หมี​ขั้ว​โลก, และ​สัตว์​อื่น ๆ จน​สัตว์​บาง​ชนิด​ใน​สฟาลบาร์​เสี่ยง​ต่อ​การ​สูญ​พันธุ์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม กฎ​ข้อ​บังคับ​เรื่อง​การ​อนุรักษ์​ได้​ช่วย​สัตว์​ที่​เสี่ยง​ต่อ​การ​สูญ​พันธุ์​ให้​กลับ​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น​อีก​ครั้ง.

อุทยาน​ของ​นัก​ธรณี​วิทยา

สฟาลบาร์​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น “อุทยาน​ของ​นัก​ธรณี​วิทยา.” เนื่อง​จาก​มี​พืช​พรรณ​น้อย​มาก ภูมิทัศน์​ที่​นี่​จึง​ดู​เหมือน​กับ​หนังสือ​รูป​ภาพ​อัน​งดงาม​ทาง​ธรณี​วิทยา. เรา​สังเกต​ดู​โครง​สร้าง​ทาง​ธรณี​วิทยา​ที่​มี​ลักษณะ​พิเศษ​ของ​เทือก​เขา​ต่าง ๆ ซึ่ง​มอง​เห็น​ชั้น​ของ​หิน​ได้​ชัดเจน​และ​ดู​ราว​กับ​ขนม​เค้ก​ที่​มี​หลาย​ชั้น​ขนาด​ยักษ์. มี​การ​ขุด​พบ​หิน​จาก​ทุก​ยุค​ทุก​สมัย​ใน​ประวัติศาสตร์​โลก. บาง​ชั้น​เกิด​จาก​ทราย​และ​ดิน​เหนียว ส่วน​บาง​ชั้น​เกิด​จาก​อินทรีย์​วัตถุ. ตลอด​หลาย​ยุค​หลาย​สมัย พืช​และ​สัตว์​ที่​ตาย​แล้ว​มาก​มาย​ถูก​ฝัง​อยู่​ใน​ดิน​เหนียว​และ​ถูก​เก็บ​รักษา​ไว้​จน​เป็น​ฟอสซิล. ที่​จริง มี​การ​พบ​ฟอสซิล​ใน​หิน​จาก​ยุค​ทาง​ธรณี​วิทยา​ทุก​ยุค.

ใน​พิพิธภัณฑสถาน​สฟาลบาร์ เรา​ศึกษา​ฟอสซิล​จำนวน​หนึ่ง​ของ​พืช​และ​สัตว์​ที่​ชอบ​อากาศ​ร้อน ซึ่ง​แสดง​ว่า ครั้ง​หนึ่ง​ภูมิอากาศ​ใน​หมู่​เกาะ​นี้​เคย​อบอุ่น​กว่า​สมัย​นี้​มาก​นัก. ใน​สฟาลบาร์ บาง​จุด​มี​ชั้น​ถ่าน​หิน​หนา​ถึง 5 เมตร​ที​เดียว! ใน​ชั้น​ถ่าน​หิน มี​การ​พบ​ซาก​ฟอสซิล​ของ​ทั้ง​ต้น​สน​และ​ต้น​ไม้​ผลัด​ใบ. ฟอสซิล​รอย​เท้า​ของ​อิกัวโนดอน​ซึ่ง​เป็น​ไดโนเสาร์​กิน​พืช​ก็​เป็น​หลักฐาน​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​แสดง​ว่า​เมื่อ​ก่อน​ที่​นี่​มี​ภูมิอากาศ​อบอุ่น​กว่า​และ​มี​พืช​ผัก​อุดม​สมบูรณ์​กว่า.

การ​ที่​สภาพ​ภูมิอากาศ​เปลี่ยน​ไป​มาก​มาย​เช่น​นี้​จะ​อธิบาย​ได้​อย่าง​ไร? เรา​ถาม​นัก​ธรณี​วิทยา​ชื่อ ตูร์ฟินน์ ชาร์เนต ตัว​แทน​ของ​หน่วย​งาน​ที่​ดู​แล​การ​ทำ​เหมือง​ใน​เมือง​ลองเยียร์เบียน. เขา​บอก​เรา​ว่า​นัก​ธรณี​วิทยา​ส่วน​ใหญ่​คิด​ว่า​เหตุ​ผล​หลัก​คือ​การ​เคลื่อน​ตัว​ของ​ทวีป. นัก​ธรณี​วิทยา​กล่าว​ว่า​สฟาลบาร์​ตั้ง​อยู่​บน​แผ่น​เปลือก​โลก​ที่​เคลื่อน​ตัว​ขึ้น​มา​ทาง​เหนือ​นาน​มา​แล้ว โดย​หมู่​เกาะ​นี้​อาจ​จะ​เคย​อยู่​ไกล​ลง​ไป​ทาง​ใต้​จน​เกือบ​ถึง​เส้น​ศูนย์​สูตร. ตาม​การ​ตรวจ​สอบ​จาก​ดาว​เทียม​ที่​ทัน​สมัย สฟาลบาร์​ยัง​คง​เคลื่อน​ตัว​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ปี​ละ​ราว ๆ สอง​เซนติเมตร.

ขณะ​ที่​เครื่องบิน​ของ​เรา​ออก​จาก​สฟาลบาร์ เรา​รู้สึก​ว่า​การ​เที่ยว​ชม​ของ​เรา​นั้น​ทำ​ให้​เรา​มี​หลาย​สิ่ง​ที่​ต้อง​คิด​ใคร่ครวญ. ภูมิทัศน์​อัน​กว้าง​ใหญ่​ของ​อาร์กติก, สัตว์​ที่​ปรับ​ตัว​ได้​ดี, และ​บรรดา​พืช​ชนิด​ต่าง ๆ ทำ​ให้​เรา​คิด​ถึง​ความ​หลาก​หลาย​ของ​การ​ทรง​สร้าง, ความ​กระจ้อยร่อย​ของ​มนุษย์, และ​วิธี​ที่​มนุษย์​เรา​เอา​ใจ​ใส่​ทำ​หน้า​ที่​ใน​การ​ดู​แล​แผ่นดิน​โลก. เมื่อ​บิน​ลง​ไป​ทาง​ใต้​เรื่อย ๆ เรา​ก็​ได้​เห็น​ดินแดน​แห่ง​ชายฝั่ง​อัน​หนาว​เย็น​เป็น​ครั้ง​สุด​ท้าย โดย​ที่​ยอด​เขา​ที่​มี​หิมะ​ปก​คลุม​บาง​ยอด​ก็​สูง​ทะลุ​เหนือ​ชั้น​เมฆ​ขึ้น​ไป​และ​มอง​เห็น​เป็น​สี​ชมพู​อ่อน​เมื่อ​กระทบ​แสง​ของ​ดวง​อาทิตย์​ยาม​เย็น.

[แผนที่​หน้า 24]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ขั้ว​โลก​เหนือ

กรีนแลนด์

สฟาลบาร์

ลองเยียร์เบียน

75°น

ไอซ์แลนด์

นอร์เวย์

60°น

รัสเซีย

[ภาพ​หน้า 25]

ชุมชน​ลองเยียร์เบียน

[ภาพ​หน้า 25]

พืช​ดอก​หลาย​ชนิด เช่น ดอก​แซกซิเฟรจ​สี​ม่วง อยู่​รอด​ได้​ใน​ภูมิอากาศ​ที่​ทารุณ​แถบ​อาร์กติก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Knut Erik Weman

[ภาพ​หน้า 26]

นก​ทาร์มิแกนสฟาลบาร์ และ​กวาง​เรนเดียร์​สฟาลบาร์

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Knut Erik Weman