ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อาศัยอยู่ใต้เงื้อมเงาของยักษ์ใหญ่ที่หลับอยู่

อาศัยอยู่ใต้เงื้อมเงาของยักษ์ใหญ่ที่หลับอยู่

อาศัย​อยู่​ใต้​เงื้อม​เงา​ของ​ยักษ์​ใหญ่​ที่​หลับ​อยู่

ภูเขา​ไฟ​เป็น​แหล่ง​แห่ง​ปริศนา​มา​ช้า​นาน. พวก​มัน​อาจ​หลับใหล​ไป​นาน นับ​ร้อย ๆ ปี แล้ว​จู่ ๆ ก็​ตื่น​ขึ้น​อย่าง​ที่​ทั้ง​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​และ​น่า​สะพรึงกลัว. ภาย​ใน​เวลา​เพียง​ไม่​กี่​นาที​ที่​ภูเขา​ไฟ​ระเบิด มัน​สามารถ​ทำ​ให้ แถบ​ชนบท​พินาศ​ย่อยยับ​และ​ล้าง​ผลาญ​สิ่ง​มี​ชีวิต.

ไม่​มี​ใคร​สงสัย​ใน​เรื่อง​อันตราย​ของ​ภูเขา​ไฟ. ใน​ช่วง​สาม​ศตวรรษ​ที่​ผ่าน​มา มัน​คร่า​ชีวิต​ผู้​คน​มา​แล้ว​นับ​แสน. แน่​ล่ะ พวก​เรา​ส่วน​ใหญ่​อาศัย​อยู่​ใน​ระยะ​ที่​ปลอด​ภัย​จาก​ยักษ์​ใหญ่​ที่​นอน​หลับ​เหล่า​นี้ แต่​ประชากร​โลก​หลาย​ล้าน​คน​อาศัย​อยู่​ใกล้​กับ​ภูเขา​ไฟ​ที่​ยัง​คุ​กรุ่น​อยู่. ตัว​อย่าง​เช่น กรุง​กีโต เมือง​หลวง​ของ​เอกวาดอร์ อยู่​ห่าง​จาก​ภูเขา​ไฟ​พิชินชา​ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​เพียง​เล็ก​น้อย. ภูเขา​ไฟ​โปโปคาเตเพตเติล ซึ่ง​ใน​ภาษา​แอซเทก​มี​ความ​หมาย​ว่า “ภูเขา​พ่น​ควัน” อยู่​ห่าง​จาก​กรุง​เม็กซิโก​ซิตี​ไป​ประมาณ 60 กิโลเมตร. เมือง​ใหญ่ ๆ อย่าง​โอ๊คแลนด์​ของ​นิวซีแลนด์​และ​เนเปิลส์​ของ​อิตาลี​ก็​ตั้ง​อยู่​บน​ภูเขา​ไฟ​หรือ​ที่​เชิง​ภูเขา​ไฟ. รวม​ทั้ง​หมด​แล้ว​มี​ประชากร​หลาย​ล้าน​คน​อาศัย​อยู่​ใน​บริเวณ​ที่​เป็น​ไป​ได้​ว่า​พลัง​งาน​โลก​ซึ่ง​อยู่​ใต้​พิภพ​อาจ​คำราม​เสียง​ดัง​สนั่น​หวั่นไหว ปลุก​ยักษ์​ใหญ่​ที่​หลับใหล​อยู่​ให้​ตื่น​ขึ้น​มา.

ยักษ์​ใหญ่​จอม​วาย​ร้าย

ชาว​เมือง​เนเปิลส์​ใช้​ชีวิต​อยู่​ร่วม​กับ​ภูเขา​ไฟ​เวซูเวียส​มา​ราว 3,000 ปี​แล้ว. ภูเขา​ลูก​นี้​อยู่​ห่าง​จาก​เมือง​เนเปิลส์​ไป​เพียง 11 กิโลเมตร​เท่า​นั้น. มัน​เป็น​ภูเขา​รูป​กรวย​ตั้ง​อยู่​ภาย​ใน​ขอบ​ของ​ภูเขา​เก่า​แก่​ที่​ชื่อ มอนเต ซอม​มา. ภูเขา​ไฟ​เวซูเวียส​ติด​อันดับ​ภูเขา​ไฟ​ที่​อันตราย​ที่​สุด​ใน​โลก. เนื่อง​จาก​ฐาน​ของ​ภูเขา​ไฟ​ลูก​นี้​อยู่​ต่ำ​กว่า​ระดับ​น้ำ​ทะเล มัน​จึง​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า​ที่​มอง​เห็น​มาก.

ภูเขา​ไฟ​เวซูเวียส​มี​ประวัติการ​ระเบิด​ที่​ยาว​นาน. มัน​เคย​ระเบิด​มา​แล้ว​มาก​กว่า 50 ครั้ง​นับ​ตั้ง​แต่​การ​ระเบิด​อัน​โด่งดัง​เมื่อ​ปี​สากล​ศักราช 79 ที่​ทำ​ให้​เมือง​ปอมเปอี​และ​เฮอร์คิวเลเนียม​เสียหาย​ยับเยิน. ประมาณ 4,000 คน​เสีย​ชีวิต​ใน​การ​ระเบิด​ที่​รุนแรง​เมื่อ​ปี 1631. ใน​ครั้ง​นั้น​มี​การ​ใช้​คำ​ว่า “ลาวา” เป็น​ครั้ง​แรก. คำ​นี้​แผลง​มา​จาก​คำ​ภาษา​ลาติน ลาบิ แปล​ว่า “ไหล” จึง​ใช้​พรรณนา​ภาพ​ลาวา​ที่​ไหล​บ่า​ลง​มา​ตาม​เนิน​เขา​สูง​ชัน​ของ​เวซูเวียส​ได้​อย่าง​เหมาะเจาะ.

ภูเขา​ไฟ​เวซูเวียส​ยัง​คง​คุ​กรุ่น​มา​ตลอด​หลาย​ร้อย​ปี. มัน​ปะทุ​ขึ้น​ใน​ปี 1944 ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ทักทาย​กองทัพ​พันธมิตร​ด้วย​กลุ่ม​เถ้า​ธุลี​ที่​หนา​ทึบ. เมือง​มัสซา​และ​ซาน เซบาสเตียโน​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ กัน​นั้น​ก็​ปก​คลุม​ไป​ด้วย​เถ้า​ธุลี เช่น​เดียว​กับ​รถไฟ​เคเบิล​เลียบ​เขา​ที่​โด่งดัง​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​เพราะ​เพลง​พื้นเมือง​ของ​อิตาลี​ที่​ชื่อ “ฟูนิคูลิ ฟูนิคูลา.”

ทุก​วัน​นี้ ประชากร​ใน​เมือง​เนเปิลส์​ใช้​ชีวิต​ราว​กับ​จะ​ลืม​ว่า​อันตราย​อยู่​ใกล้​แค่​เอื้อม. บรรดา​นัก​ท่อง​เที่ยว​อัศจรรย์​ใจ​กับ​สถาน​ที่​เด่น ๆ ทาง​ประวัติศาสตร์​และ​สถาปัตยกรรม. ร้าน​ค้า​และ​ร้าน​กาแฟ​ต่าง​ก็​มี​งาน​ยุ่ง​ตลอด​ทั้ง​วัน และ​ใบ​เรือ​สี​ขาว​ก็​แต่ง​แต้ม​อยู่​ทั่ว​อ่าว​เนเปิลส์. ภูเขา​ไฟ​เวซูเวียส​ยัง​คง​เป็น​สถาน​ที่​ที่​ได้​รับ​ความ​นิยม และ​คน​ทั่ว​ไป​มอง​ภูเขา​ไฟ​แห่ง​นี้​เป็น​เหมือน​มิตร​มาก​กว่า​จะ​เป็น​ยักษ์​ใหญ่​น่า​กลัว​ที่​นอน​หลับ​อยู่.

โอ๊คแลนด์—เมือง​แห่ง​ภูเขา​ไฟ

โอ๊คแลนด์ เมือง​ท่า​ของ​นิวซีแลนด์​มี​กรวย​ภูเขา​ไฟ​กระจัด​กระจาย​อยู่​ทั่ว​เมือง. ที่​จริง มี​พลเมือง​มาก​กว่า​หนึ่ง​ล้าน​คน​อาศัย​อยู่​ท่ามกลาง​ภูเขา​ไฟ​ลูก​เล็ก​ลูก​น้อย 48 ลูก. แอ่ง​ภูเขา​ไฟ​เก่า​แก่​ทำ​ให้​มี​อ่าว​จอด​เรือ​เกิด​ขึ้น​สอง​แห่ง โดย​มี​เกาะ​ต่าง ๆ หลง​เหลือ​มา​จาก​การ​ระเบิด​ของ​ภูเขา​ไฟ. เกาะ​ที่​เห็น​ได้​ชัด​ที่​สุด​คือ​เกาะ​แรงกิโทโท อายุ 600 ปี ซึ่ง​ผุด​ขึ้น​มา​จาก​น้ำ​ใน​รูป​ทรง​ที่​ได้​สมมาตร​เหมือน​กับ​ภูเขา​ไฟ​เวซูเวียส. ใน​ตอน​ที่​เกาะ​แห่ง​นี้​เกิด​ขึ้น หมู่​บ้าน​ชาว​เมารี​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ ก็​ถูก​ฝัง​อยู่​ใน​เถ้า​ธุลี.

ชาว​เมือง​โอ๊คแลนด์​เรียน​รู้​ที่​จะ​อาศัย​อยู่​ร่วม​กับ​ภูเขา​ไฟ​ของ​พวก​เขา. กรวย​ภูเขา​ไฟ​ลูก​หนึ่ง​ที่​ชื่อ มาอันกาคิคิ ทุก​วัน​นี้​กลาย​เป็น​สวน​สาธารณะ​และ​ฟาร์ม​เลี้ยง​แกะ​อยู่​ใจ​กลาง​เมือง​โอ๊คแลนด์. ภูเขา​ไฟ​บาง​ลูก​ปัจจุบัน​กลาย​เป็น​ทะเลสาบ, สวน​สาธารณะ, หรือ​ที่​เล่น​กีฬา. มี​ภูเขา​ไฟ​ลูก​หนึ่ง​กลาย​เป็น​สุสาน. ชาว​เมือง​จำนวน​มาก​เลือก​ที่​จะ​ตั้ง​บ้าน​เรือน​อยู่​บน​ที่​ลาด​เชิง​ภูเขา​ไฟ​เพื่อ​จะ​ได้​ชม​ทัศนียภาพ​อัน​งดงาม​ได้​ใน​มุม​กว้าง.

ชน​กลุ่ม​แรก​ที่​เข้า​มา​อาศัย​ใน​บริเวณ​เมือง​โอ๊คแลนด์​คือ​ชาว​เมารี และ​หลัง​จาก​นั้น​เมื่อ 180 ปี​ก่อน​ก็​มี​ชาว​ยุโรป​เข้า​มา. ใน​ตอน​นั้น​ดู​เหมือน​ว่า​ไม่​ค่อย​มี​ใคร​คิด​ถึง​อดีต​ของ​บริเวณ​นั้น​ที่​เคย​เป็น​ภูเขา​ไฟ​เท่า​ไร​นัก. ผู้​คน​เห็น​แต่​ว่า​ผืน​ดิน​บริเวณ​นี้​ยัง​ว่าง​อยู่​และ​อยู่​ใกล้​ทะเล ทั้ง​ยัง​มี​ดิน​ที่​อุดม​สมบูรณ์. ปัจจัย​สุด​ท้าย​นี้​ยัง​เป็น​ลักษณะ​ของ​ดิน​ภูเขา​ไฟ​ซึ่ง​มี​อยู่​ใน​ส่วน​อื่น ๆ ของ​โลก​ด้วย. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​อินโดนีเซีย บาง​ภูมิภาค​ที่​ปลูก​ข้าว​ได้​ดี​ที่​สุด​อยู่​ใน​เขต​ภูเขา​ไฟ​ที่​ยัง​คุ​กรุ่น​อยู่. ดิน​ใน​พื้น​ที่​การ​เกษตร​ที่​ดี​ที่​สุด​ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​สหรัฐ​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เป็น​ดิน​จาก​ภูเขา​ไฟ. ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​เหมาะ​สม ผืน​ดิน​ที่​ถูก​กลบ​ด้วย​ลาวา​สามารถ​งอก​พืช​พรรณ​ใหม่​ได้​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​ถึง​ปี​หลัง​การ​ระเบิด.

ระบบ​เตือน​ภัย​ล่วง​หน้า

หลาย​คน​อาจ​สงสัย​ว่า ‘การ​อาศัย​อยู่​ใกล้​ภูเขา​ไฟ​จะ​ไม่​เสี่ยง​อันตราย​หรือ?’ แน่นอน​ว่า​คำ​ตอบ​คือ เสี่ยง. แต่​นัก​วิทยาศาสตร์​สามารถ​เฝ้า​ดู​แผ่นดิน​ไหว​และ​การ​ปะทุ​ของ​ภูเขา​ไฟ​ได้​อย่าง​ใกล้​ชิด. ตัว​อย่าง​เช่น สำนัก​สำรวจ​ทาง​ธรณี​วิทยา​ของ​สหรัฐ​ได้​จับตา​ดู​ภูเขา​ไฟ​ที่​ยัง​คุ​กรุ่น​อยู่​ทั่ว​โลก รวม​ถึง​ภูเขา​ไฟ​ใน​เนเปิลส์​และ​โอ๊คแลนด์ และ​ได้​วาง​แผน​สำหรับ​กรณี​ฉุกเฉิน​เอา​ไว้​แล้ว. นัก​วิทยาศาสตร์​ใช้​ดาว​เทียม​ที่​มี​ระบบ​กำหนด​ตำแหน่ง​บน​พื้น​โลก​และ​โครง​ข่าย​วัด​แรง​สั่น​สะเทือน​ของ​แผ่นดิน​ไหว​ซึ่ง​ทำ​งาน​ตลอด 24 ชั่วโมง ทำ​ให้​พวก​เขา​สามารถ​ตรวจ​จับ​การ​เคลื่อน​ตัว​ของ​แมก​มา​หรือ​หิน​หนืด​ใต้​พื้น​ดิน​ได้.

ภูเขา​ไฟ​เวซูเวียส​ถูก​จับตา​มอง​อยู่​ตลอด​เวลา. ใน​การ​เฝ้า​ระวัง​เป็น​พิเศษ​เพื่อ​ลด​ความ​ผิด​พลาด หน่วย​งาน​ของ​อิตาลี​ได้​พัฒนา​แผนการ​ฉุกเฉิน​ขึ้น​เพื่อ​รับมือ​กับ​การ​ระเบิด​ใน​ระดับ​ความ​รุนแรง​เดียว​กับ​ที่​เคย​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​ปี 1631. ผู้​เชี่ยวชาญ​อ้าง​ว่า จะ​มี​การ​เตือน​ภัย​แก่​ผู้​ที่​อาศัย​ใน​เขต​อันตราย​และ​อพยพ​พวก​เขา​ออก​ไป​ก่อน ที่​จะ​เกิด​การ​ระเบิด.

เมือง​โอ๊คแลนด์​ตั้ง​อยู่​ใน​บริเวณ​ที่​นัก​วิทยาศาสตร์​เรียก​ว่า เขต​ภูเขา​ไฟ​เกิด​ใหม่. นั่น​หมาย​ความ​ว่า แทน​ที่​ภูเขา​ไฟ​ลูก​เดิม​จะ​ปะทุ​ขึ้น อาจ​มี​ภูเขา​ไฟ​ลูก​ใหม่​เกิด​ขึ้น​ใน​อีก​ที่​หนึ่ง. ผู้​เชี่ยวชาญ​กล่าว​ว่า​เหตุ​การณ์​นี้​จะ​เกิด​ขึ้น​ก็​ต่อ​เมื่อ​มี​แผ่นดิน​ไหว​ก่อน​หน้า​นั้น​หลาย​วัน​ไป​จน​ถึง​หลาย​สัปดาห์. การ​เตือน​ล่วง​หน้า​เช่น​นี้​น่า​จะ​ทำ​ให้​ประชาชน​มี​เวลา​หนี​ไป​ยัง​ที่​ปลอด​ภัย​ได้​ทัน.

คำนึง​ถึง​ความ​เสี่ยง​เสมอ

ถึง​แม้​ว่า​การ​เฝ้า​ดู​ภูเขา​ไฟ​จะ​เป็น​งาน​ที่​สำคัญ​มาก แต่​งาน​นี้​จะ​ไม่​เกิด​ประโยชน์​อัน​ใด​เลย​หาก​ไม่​มี​ใคร​ใส่​ใจ​ฟัง​คำ​เตือน. ใน​ปี 1985 เจ้าหน้าที่​ใน​เมือง​อาร์​เม​โร ประเทศ​โคลัมเบีย ได้​รับ​การ​เตือน​ว่า​ภูเขา​ไฟ​เนวาโด เดล รูอิซ​กำลัง​จะ​ระเบิด​แล้ว. ขณะ​ที่​ภูเขา​ไฟ​ซึ่ง​อยู่​ห่าง​ออก​ไป 50 กิโลเมตร ส่ง​เสียง​เตือน​อย่าง​ชัดเจน ประชาชน​ใน​เมือง​ได้​รับ​คำ​เตือน​เพียง​ว่า​ให้​อยู่​ใน​ความ​สงบ. มาก​กว่า 21,000 คน​เสีย​ชีวิต​เนื่อง​จาก​โคลน​ถล่ม​ลง​มา​ท่วม​เมือง.

ถึง​แม้​ว่า​ภัย​พิบัติ​เช่น​นั้น​จะ​ไม่​เกิด​ขึ้น​บ่อย​นัก แต่​ใน​ยาม​สงบ​ซึ่ง​ไม่​มี​การ​ระเบิด​ของ​ภูเขา​ไฟ​ก็​เป็น​ช่วง​สำหรับ​การ​วิจัย​และ​การ​เตรียม​การ. ฉะนั้น การ​เฝ้า​ดู​ต่อ​ไป, การ​เตรียม​ตัว​อย่าง​เพียง​พอ, และ​การ​ให้​ความ​รู้​แก่​ประชาชน​สามารถ​ช่วย​ลด​ความ​เสี่ยง​ที่​อาจ​เกิด​แก่​ผู้​คน​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใต้​เงื้อม​เงา​ของ​ยักษ์​ใหญ่​ที่​หลับ​อยู่.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 16]

จง​เตรียม​พร้อม!

คุณ​พร้อม​จะ​เจอ​กับ​ภัย​ธรรมชาติ​ไหม? คุณ​ควร​จะ​รู้​ว่า​บริเวณ​ที่​คุณ​อยู่​มี​ความ​เสี่ยง​อะไร​บ้าง. จง​วาง​แผน​ล่วง​หน้า​ว่า​จะ​พบ​กัน​ที่​ไหน​หาก​สมาชิก​ครอบครัว​ต้อง​พลัด​พราก​จาก​กัน​และ​จะ​บอก​กับ​ใคร​ว่า​คุณ​อยู่​ที่​ไหน. จง​เตรียม​ของ​จำเป็น​ไว้​เพื่อ​ใช้​ใน​ยาม​ฉุกเฉิน รวม​ทั้ง​อาหาร​และ​น้ำ, ชุด​เครื่อง​มือ​ปฐม​พยาบาล, เสื้อ​ผ้า, วิทยุ, ไฟ​ฉาย​ที่​กัน​น้ำ​ได้​และ​ถ่าน​สำรอง. จง​เตรียม​ไว้​ให้​มาก​พอ​ที่​คุณ​จะ​ใช้​ได้​หลาย ๆ วัน.

[ภาพ​หน้า 15]

ผู้​มา​ชม​กำลัง​เดิน​อยู่​ใกล้ ๆ ปาก​ปล่อง​ภูเขา​ไฟ​เวซูเวียส

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

©Danilo Donadoni/Marka/age fotostock

[ภาพ​หน้า 15]

เมือง​เนเปิลส์ ประเทศ​อิตาลี อยู่​เบื้อง​หน้า​ภูเขา​ไฟ​เวซูเวียส

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Tom Pfeiffer

[ภาพ​หน้า 15]

ภาพ​วาด​ของ​จิตรกร​เกี่ยว​กับ​การ​ระเบิด​ครั้ง​ใหญ่​เมื่อ​ปี​สากล​ศักราช 79 ซึ่ง​ทำลาย​เมือง​ปอมเปอี​กับ​เฮอร์คิวเลเนียม

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© North Wind Picture Archives

[ภาพ​หน้า 16]

เกาะ​แรงกิโทโท หนึ่ง​ใน​เกาะ​ภูเขา​ไฟ​ที่​มี​อยู่​มาก​มาย​ใน​โอ๊คแลนด์

[ภาพ​หน้า 16, 17]

ภาพ​บน​และ​ขวา: ภูเขา​โปโปคาเตเพตเติล ประเทศ​เม็กซิโก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

AFP/Getty Images

Jorge Silva/AFP/Getty Images

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 14]

USGS, Cascades Volcano Observatory