ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ช่วยเยาวชนรับมือกับข้อท้าทาย

ช่วยเยาวชนรับมือกับข้อท้าทาย

ช่วย​เยาวชน​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย

ตั้ง​แต่​ไหน​แต่​ไร​มา โลก​นี้, รูป​แบบ​ชีวิต, และ​ความ​นิยม​ของ​โลก​เปลี่ยน​แปลง​อยู่​ตลอด​เวลา. ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เป็น​เพราะ​เทคโนโลยี​สมัย​ใหม่ การ​เปลี่ยน​แปลง​เหล่า​นี้​จึง​เห็น​ได้​ชัดเจน​ยิ่ง​ขึ้น​ใน​ปัจจุบัน. สิ่ง​ที่​นิยม​กัน​เมื่อ​วาน​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ล้า​สมัย​ใน​วัน​นี้ และ​สิ่ง​ที่​นิยม​กัน​ใน​วัน​นี้​จะ​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ตก​ยุค​ใน​วัน​พรุ่ง​นี้. การ​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​รวด​เร็ว​เช่น​นี้​ก่อ​ผล​กระทบ​อย่าง​มาก​ต่อ​เยาวชน.

การ​ปฏิวัติ​สังคม

ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ เทคโนโลยี​ได้​กระตุ้น​ให้​เกิด​การ​ปฏิวัติ​ซึ่ง​ส่ง​ผล​กระทบ​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​เยาวชน. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​หลาย​ประเทศ​โทรศัพท์​มือ​ถือ​และ​คอมพิวเตอร์​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ขาด​ไม่​ได้​ใน​สังคม​วัยรุ่น. เว็บไซต์​เครือข่าย​ทาง​สังคม​ได้​เปิด​ทาง​เลือก​ใหม่ ๆ มาก​มาย. เด็ก​สาว​วัย 19 ปี​คน​หนึ่ง​ใน​ออสเตรเลีย​กล่าว​ว่า “ใน​ชีวิต​จริง​คุณ​อาจ​เป็น​คน​ที่​ไม่​ค่อย​มี​เพื่อน แต่​จู่ ๆ คุณ​ก็​มี​เพื่อน​เป็น​ร้อย​คน​ทาง​อินเทอร์เน็ต.”

แทบ​ไม่​มี​ใคร​จะ​ปฏิเสธ​ว่า​โทรศัพท์​มือ​ถือ​และ​อินเทอร์เน็ต​มี​ประโยชน์​หลาย​อย่าง. แต่​สำหรับ​หลาย​คน​แล้ว เครื่อง​มือ​เหล่า​นี้​ดู​เหมือน​กลาย​เป็น​สิ่ง​เสพ​ติด. อาจารย์​ใน​มหาวิทยาลัย​คน​หนึ่ง​ชื่อ​โดนัลด์ โรเบิตส์ กล่าว​ว่า นัก​ศึกษา​บาง​คน “ไม่​สามารถ​ปล่อย​เวลา​เพียง​ไม่​กี่​นาที​ระหว่าง​เปลี่ยน​ชั่วโมง​เรียน​คาบ 10 โมง​เช้า​กับ​คาบ 11 โมง​เช้า​ให้​ผ่าน​ไป​โดย​ไม่​ได้​คุย​โทรศัพท์​มือ​ถือ. ผม​คิด​ว่า พวก​เขา​ดู​เหมือน​อึดอัด​ใจ​ถ้า​ไม่​ได้​คุย​กับ​ใคร ทำนอง​ว่า ‘ฉัน​ทน​ความ​เงียบ​ไม่​ได้.’”

เยาวชน​บาง​คน​ถึง​กับ​ยอม​รับ​ว่า​พวก​เขา​รู้สึก​ติด​เครื่อง​มือ​เหล่า​นั้น. สเตฟานี​วัย 16 ปี​กล่าว​ว่า “หนู​ติด​การ​ส่ง​ข้อ​ความ​แบบ​ทันที (instant messaging) และ​ติด​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ของ​หนู​มาก เพราะ​ว่า​นั่น​เป็น​ช่อง​ทาง​ที่​หนู​ติด​ต่อ​กับ​เพื่อน ๆ ได้​ตลอด​เวลา. เมื่อ​หนู​กลับ​ถึง​บ้าน หนู​ก็​ต่อ​อินเทอร์เน็ต​ทันที และ​อยู่​อย่าง​นั้น . . . บาง​ครั้ง​กว่า​จะ​เลิก​ก็​ตี​สาม.” ค่า​โทรศัพท์​แต่​ละ​เดือน​ของ​สเตฟานี​อยู่​ที่ 100 ถึง 500 ดอลลาร์ (ประมาณ 3,700 บาท​ถึง 18,500 บาท). เธอ​บอก​ว่า “ตอน​นี้ หนู​เป็น​หนี้​คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ที่​ใช้​โทรศัพท์​เกิน​จำนวน​เงิน​ที่​กำหนด​ไว้​เป็น​เงิน​มาก​กว่า 2,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 75,000 บาท). แต่​หนู​ชิน​กับ​การ​พก​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ติด​ตัว​ตลอด​เวลา​จน​ไม่​สามารถ​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​ปกติ​ได้​ถ้า​ไม่​มี​มือ​ถือ.”

ปัญหา​อาจ​ไม่​ใช่​แค่​เรื่อง​เงิน​เท่า​นั้น. ขณะ​ที่​ทำ​การ​วิจัย​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ครอบครัว นัก​มานุษยวิทยา​ชื่อ​เอลี​นอร์ ออคส์ พบ​ว่า เมื่อ​พ่อ​หรือ​แม่​ที่​ไป​ทำ​งาน​กลับ​มา​ถึง​บ้าน ฝ่าย​สามี​หรือ​ภรรยา​ที่​อยู่​บ้าน​กับ​ลูก ๆ ก็​มัว​แต่​ยุ่ง​อยู่​กับ​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​กำลัง​ทำ​อยู่​จน 2 ใน 3 ครั้ง​พวก​เขา​ไม่​พูด​ทักทาย​กัน​ด้วย​ซ้ำ! พวก​เขา​เอา​แต่​จ้อง​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​ของ​ตน​อยู่​ตลอด​เวลา. ออคส์​กล่าว​ว่า “นอก​จาก​นั้น เรา​ยัง​เห็น​ว่า​เป็น​เรื่อง​ยาก​เพียง​ใด​ที่​พ่อ​แม่​จะ​เจาะ​เข้า​ไป​ใน​โลก​ของ​ลูก ๆ ได้.” เธอ​เสริม​ว่า ใน​ระหว่าง​การ​วิจัย​เคย​มี​การ​สังเกต​ว่า​พ่อ​แม่​ได้​ถอย​ห่าง​จาก​ลูก​ที่​กำลัง​หมกมุ่น​อยู่​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​ทำ​อยู่.

เครือข่าย​สังคม​บน​อินเทอร์เน็ต—ไม่​มี​พิษ​ภัย​จริง​หรือ?

พ่อ​แม่​และ​คน​ใน​วงการ​ศึกษา​หลาย​คน​เป็น​ห่วง​เรื่อง​ที่​เยาวชน​ใช้​เวลา​กับ​สิ่ง​ที่​เรียก​ว่า​เครือข่าย​สังคม​ทาง​อินเทอร์เน็ต​มาก​เกิน​ไป. เครือข่าย​ดัง​กล่าว​ก็​คือ​เว็บไซต์​ใน​อินเทอร์เน็ต​ที่​ให้​สมาชิก​สร้าง​เว็บเพจ​ของ​ตัว​เอง​และ​แต่ง​เติม​ด้วย​รูป​ภาพ, วิดีโอ, และ​ข้อ​ความ​บันทึก​ประจำ​วัน​ลง​ไป โดย​เรียก​กัน​ว่า​บล็อก (blog).

สิ่ง​ที่​น่า​ดึงดูด​ใจ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​เว็บไซต์​แบบ​นี้​ก็​คือ มัน​ทำ​ให้​เหล่า​สมาชิก​ติด​ต่อ​กับ​เพื่อน ๆ ได้​ตลอด​เวลา. อีก​สิ่ง​หนึ่ง​คือ​การ​สร้าง​เว็บเพจ​ทำ​ให้​เยาวชน​สามารถ​แสดง​ตัว​ตน​ของ​เขา​ออก​มา เพื่อ “บอก​เล่า​ความ​รู้สึก​ของ​เขา.” เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​ว่า​ทำไม​เรื่อง​นี้​จึง​น่า​ดึงดูด​ใจ เพราะ​วัยรุ่น​เป็น​วัย​ที่​กำลัง​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​ตัว​เอง​และ​อยาก​เปิด​เผย​ความ​รู้สึก​ของ​ตัว​เอง​ใน​วิธี​ที่​ทำ​ให้​คน​อื่น​ประทับใจ​และ​ซาบซึ้ง.

แต่​ปัญหา​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​คือ บาง​คน​ปลอม​ตัว​เป็น​อีก​บุคคล​หนึ่ง​ใน​เว็บไซต์ ซึ่ง​เป็น​แบบ​ที่​พวก​เขา​อยาก​จะ​เป็น ไม่​ใช่​ตัว​ของ​พวก​เขา​จริง ๆ. เด็ก​หนุ่ม​วัย 15 ปี​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “มี​เด็ก​คน​หนึ่ง​ใน​ชั้น​เรียน​ของ​ผม​ที่​บอก​ว่า​เขา​อายุ 21 ปี​และ​อยู่​ใน​ลาสเวกัส.” เด็ก​ทั้ง​สอง​คน​นี้​อยู่​ห่าง​จาก​เมือง​นั้น​ใน​สหรัฐ​ราว ๆ 1,600 กิโลเมตร.

การ​หลอก​ลวง​เช่น​นี้​เกิด​ขึ้น​บ่อย​ที​เดียว. เด็ก​สาว​ชาว​ออสเตรเลีย​วัย 18 ปี​เล่า​ให้​ฟัง​ว่า “คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ก็​ได้​ใน​อินเทอร์เน็ต. คุณ​จะ​เป็น​อีก​บุคคล​หนึ่ง​เลย​ก็​ได้ เพราะ​ไม่​มี​ใคร​รู้​จัก​คุณ​จริง ๆ. คุณ​รู้สึก​มั่น​ใจ. คุณ​สามารถ​แต่ง​เรื่อง​ขึ้น​มา​เพื่อ​ทำ​ให้​คุณ​ดู​เป็น​คน​น่า​สนใจ​ยิ่ง​ขึ้น. คุณ​จะ​ลง​รูป​ของ​คุณ​ซึ่ง​สวม​สิ่ง​ที่​คุณ​จะ​ไม่​มี​วัน​สวม​หรือ​ทำ​อะไร​ที่​คุณ​จะ​ไม่​มี​วัน​ทำ​ใน​ชีวิต​จริง​ก็​ได้. คุณ​สามารถ​เขียน​สิ่ง​ที่​คุณ​จะ​ไม่​มี​วัน​พูด​ออก​มา​จริง ๆ ก็​ได้. คุณ​รู้สึก​เหมือน​กับ​ว่า​คุณ​สามารถ​ทำ​อะไร​ก็​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​รับผิดชอบ เพราะ​ไม่​มี​ใคร​มอง​เห็น​ตัว​คุณ. ไม่​มี​ใคร​รู้​จัก​ตัว​จริง​ของ​คุณ.”

เช่น​เดียว​กับ​การ​สื่อสาร​แบบ​อื่น ๆ เครือข่าย​สังคม​ทาง​อินเทอร์เน็ต​สามารถ​ใช้​ให้​เกิด​ประโยชน์​หรือ​เกิด​โทษ​ก็​ได้. ใน​ฐานะ​ที่​คุณ​เป็น​พ่อ​แม่ คุณ​รู้​ไหม​ว่า​ลูก​ของ​คุณ​กำลัง​ทำ​อะไร​ใน​อินเทอร์เน็ต? คุณ​กำลัง​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ไหม​ว่า​ลูก​ของ​คุณ​ใช้​เวลา​อย่าง​สุขุม? * (เอเฟโซ 5:15, 16) ยิ่ง​กว่า​นั้น การ​ใช้​อินเทอร์เน็ต​ใน​ทาง​ผิด​อาจ​ทำ​ให้​เยาวชน​มี​โอกาส​ได้​รับ​อันตราย​ร้ายแรง​หลาย​อย่าง. มี​อันตราย​อะไร​บ้าง?

ด้าน​ที่​เลว​ร้าย​กว่า​ของ​โลก​ไซเบอร์

การ​ที่​ผู้​ใช้​อินเทอร์เน็ต​สามารถ​ปก​ปิด​ตัว​เอง​ทำ​ให้​อินเทอร์เน็ต​กลาย​เป็น​ที่​ที่​นัก​ล่อ​ลวง​เด็ก​เข้า​มา​แสวง​ประโยชน์​ได้. เยาวชน​อาจ​ตก​หลุมพราง​ถ้า​พวก​เขา​ให้​ข้อมูล​ส่วน​ตัว​ทาง​อินเทอร์เน็ต​และ​ยอม​ไป​พบ​กับ​คน​ที่​เขา​ติด​ต่อ​ด้วย​ตัว​เอง. บาง​คน​แย้ง​ว่า “เด็ก ๆ มี​โอกาส​เผชิญ​กับ​ภัย​ร้ายแรง​ของ​ความ​รุนแรง​และ​การ​ถูก​ทำ​ร้าย​ใน​บ้าน​ของ​ตัว​เอง​หรือ​ที่​สนาม​เด็ก​เล่น​มาก​กว่า​เสีย​อีก. แต่​พ่อ​แม่​ส่วน​ใหญ่​ก็​ถือ​ว่า​เป็น​สิ่ง​ที่​น่า​กลัว​ถ้า​นัก​ล่อ​ลวง​ทาง​เพศ​จะ​สามารถ​เข้า​มา​ใน​บ้าน​ของ​ตน​ผ่าน​ทาง​จอ​คอมพิวเตอร์​และ​ทำลาย​ความ​ไร้เดียงสา​ของ​ลูก ๆ” หนังสือ​คู่มือ​ดู​แล​ลูก 911 (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว.

เทคโนโลยี​เพื่อ​การ​สื่อสาร​ยัง​ถูก​ใช้​อย่าง​ผิด ๆ ใน​วิธี​อื่น​ด้วย. เยาวชน​บาง​คน​เข้า​ร่วม​ใน “การ​กลั่นแกล้ง​ทาง​ไซเบอร์” ซึ่ง​รวม​ไป​ถึง​การ​ล้อเลียน, การ​กีด​กัน, การ​รังควาน, หรือ​การ​ข่มขู่​อย่าง​ไม่​หยุดหย่อน. มี​การ​ตั้ง​เว็บไซต์​ขึ้น​มา​โดย​เฉพาะ​เพื่อ​ทำ​ให้​คน​ใด​คน​หนึ่ง​อับอาย​ขายหน้า และ​อีเมล, แชตรูม, และ​สิ่ง​อื่น ๆ ทำนอง​นี้​ก็​กลาย​เป็น​เครื่อง​มือ​ที่​ใช้​เพื่อ​ใส่​ร้าย​ป้าย​สี​กัน. ผู้​อำนวย​การ​กลุ่ม​รักษา​ความ​ปลอด​ภัย​ใน​อินเทอร์เน็ต​คน​หนึ่ง​เชื่อ​ว่า​อาจ​มี​เด็ก​มาก​ถึง 80 เปอร์เซ็นต์​ที่​มี​อายุ​ระหว่าง 10 ถึง 14 ปี​ได้​รับ​ผล​กระทบ​ไม่​ทาง​ตรง​ก็​ทาง​อ้อม​จาก​การ​กลั่นแกล้ง​ทาง​ไซเบอร์.

จริง​อยู่ การ​กลั่นแกล้ง​ไม่​ใช่​เรื่อง​ใหม่. แต่​ใน​สมัย​นี้ ข่าว​ลือ, การ​นินทา, และ​การ​ใส่​ร้าย​สามารถ​ไป​ไกล​กว่า​และ​เร็ว​กว่า​ใน​สมัย​ก่อน​อย่าง​ไม่​อาจ​เทียบ​ได้. บ่อย​ครั้ง​มัน​ร้ายแรง​กว่า​เมื่อ​ก่อน​ด้วย. ใน​บาง​กรณี มี​การ​นำ​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ที่​มี​กล้อง​ใน​ตัว​ไป​ถ่าย​ภาพ​หรือ​วิดีโอ​ที่​อนาจาร​และ​ทำ​ให้​อับอาย​ขายหน้า​ได้ บาง​ที​อาจ​ถ่าย​จาก​ห้อง​เปลี่ยน​เสื้อ​ผ้า​หรือ​ห้อง​อาบ​น้ำ​ของ​โรง​เรียน. จาก​นั้น​ก็​นำ​รูป​ภาพ​เหล่า​นี้​ไป​ลง​ใน​อินเทอร์เน็ต​และ​ส่ง​ให้​คน​ที่​อยาก​ดู​กี่​คน​ก็​ได้.

ผู้​คน​เป็น​ห่วง​มาก​ขึ้น

เรื่อง​เช่น​นี้​กระตุ้น​ให้​กรม​นิติ​บัญญัติ​และ​ความ​ปลอด​ภัย​ของ​สาธารณชน​ใน​รัฐ​นิวเจอร์ซีย์ สหรัฐ​ฯ ส่ง​จดหมาย​ไป​ยัง​พ่อ​แม่​ผู้​ปกครอง เพื่อ​กระตุ้น​พวก​เขา​ให้ “ช่วย​เรา​จัด​การ​กับ​ความ​กังวล​ที่​กำลัง​เกิด​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​การ​ที่​เด็ก ๆ ใช้​อินเทอร์เน็ต​อย่าง​ไม่​เหมาะ​ไม่​ควร ทั้ง​ใน​และ​นอก​โรง​เรียน.” จดหมาย​ฉบับ​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​ความ​กังวล​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​เรื่อง​การ​เปิด​เผย​ข้อมูล​ส่วน​ตัว​และ​รูป​ภาพ​ทาง​อินเทอร์เน็ต. เว็บไซต์​ที่​เปิด​เผย​ราย​ละเอียด​เหล่า​นี้​มัก​จะ​ดึงดูด​ทั้ง​หนุ่ม​สาว​และ​ผู้​ใหญ่​ที่​ไร้​ศีลธรรม. จดหมาย​นั้น​กล่าว​ว่า “ใน​ฐานะ​พ่อ​แม่ คุณ​จำเป็น​ต้อง​รู้​ว่า​ความ​ห่วงใย​ใน​เรื่อง​เหล่า​นี้​เป็น​เรื่อง​จริง​ที​เดียว และ​คุณ​อาจ​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​ป้องกัน​ลูก​ของ​คุณ​ให้​ปลอด​ภัย​โดย​พยายาม​รับ​ข้อมูล​ใหม่ ๆ มาก​ขึ้น​และ​เข้า​ไป​มี​ส่วน​ดู​แล​การ​ใช้​อินเทอร์เน็ต​ของ​ลูก.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม พ่อ​แม่​บาง​คน​แทบ​ไม่​รู้​เลย​ว่า​ลูก ๆ กำลัง​ทำ​อะไร​ใน​อินเทอร์เน็ต. คุณ​แม่​คน​หนึ่ง ซึ่ง​จับตา​ดู​สิ่ง​ที่​ลูก​สาว​วัย 16 ปี​ของ​เธอ​ทำ​ใน​อินเทอร์เน็ต​อย่าง​ใกล้​ชิด​กล่าว​ว่า “พ่อ​แม่​คง​จะ​ตกตะลึง​และ​รู้สึก​อับอาย​ขายหน้า​มาก​ถ้า​พวก​เขา​รู้​ว่า ลูก​ของ​ตน​กำลัง​เปิด​เผย​อะไร​และ​พูด​คุย​กัน​เรื่อง​อะไร​ทาง​อินเทอร์เน็ต.” ตาม​คำ​กล่าว​ของ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ความ​ปลอด​ภัย​ใน​อินเทอร์เน็ต เยาวชน​บาง​คน​ลง​รูป​ภาพ​ที่​ยั่วยวน​ทาง​เพศ​อย่าง​มาก.

ผล​เสีย

ความ​กังวล​ทั้ง​หมด​นี้​เป็น​เพียง​ความ​หวาด​ระแวง​เกิน​เหตุ​ของ​ผู้​ใหญ่​ที่​ลืม​ชีวิต​วัยรุ่น​ไป​แล้ว​อย่าง​นั้น​ไหม? ตัว​เลข​ทาง​สถิติ​ไม่​ได้​บ่ง​ชี้​เช่น​นั้น​เลย. ลอง​คิด​ดู ใน​บาง​พื้น​ที่ เกือบ​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​วัยรุ่น​ทั้ง​ผู้​ชาย​และ​ผู้​หญิง​อายุ​ระหว่าง 15 ถึง 17 ปี​เคย​มี​เพศ​สัมพันธ์​แล้ว. มาก​กว่า​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​วัยรุ่น​อายุ​ระหว่าง 13 ถึง 19 ปี​บอก​ว่า​พวก​เขา​เคย​ร่วม​เพศ​ทาง​ปาก.

เทคโนโลยี​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​สถิติ​ที่​น่า​เป็น​ห่วง​นี้​ไหม? ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย. รายงาน​จาก​วารสาร​นิวยอร์ก​ไทมส์ กล่าว​ว่า “โทรศัพท์​มือ​ถือ​และ​อินเทอร์เน็ต ซึ่ง​ทำ​ให้​วัยรุ่น​มี​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน ทำ​ให้​การ​มี​เพศ​สัมพันธ์​แบบ​ชั่ว​ครั้ง​ชั่ว​คราว​ทำ​ได้​ง่าย​ขึ้น​มาก.” ที่​จริง การ​แอบ​นัด​พบ​กับ​เพศ​ตรง​ข้าม​นั้น​ง่าย​มาก เพียง​เคาะ​แป้น​พิมพ์​คอมพิวเตอร์​ไม่​กี่​ที​ก็​ได้​แล้ว. ใน​การ​สำรวจ​ครั้ง​หนึ่ง มาก​กว่า 4 ใน 5 ของ​เด็ก​สาว​ยอม​รับ​ว่า​พวก​เธอ​ไม่​ได้​ระวัง​ตัว​อย่าง​ที่​ควร​จะ​เป็น​เมื่อ​ใช้​อินเทอร์เน็ต.

คน​ที่​เข้า​ไป​ใน​อินเทอร์เน็ต​เพื่อ​หา​คู่​นัด​พบ​หรือ​หา​คน​ที่​จะ​มี​เพศ​สัมพันธ์​แบบ​ชั่ว​ครั้ง​ชั่ว​คราว​ด้วย​จะ​ได้​มาก​กว่า​ที่​เขา​คาด​คิด​เสีย​อีก. เจนนิเฟอร์ เวลช์ แห่ง​กรม​ตำรวจ​นคร​โน​วา​โต​ใน​รัฐ​แคลิฟอร์เนีย กล่าว​ว่า ‘เรา​ได้​เห็น​การ​ทำ​ร้าย​ทาง​เพศ​มี​มาก​ขึ้น.’ เธอ​กล่าว​ว่า เหยื่อ​หลาย​คน​ติด​ต่อ​เป็น​ครั้ง​แรก​กับ​ผู้​ทำ​ร้าย​พวก​เขา​ทาง​อินเทอร์เน็ต​และ​ต่อ​มา​ก็​ยอม​ไป​พบ​กับ​คน​นั้น​ด้วย​ตัว​เอง.

จง​ระวัง “ปัญญา​ของ​โลก”!

คอลัมน์​ที่​ให้​คำ​ปรึกษา​แก่​วัยรุ่น​ใน​หนังสือ​พิมพ์​และ​นิตยสาร​ต่าง ๆ มัก​จะ​อะลุ่มอล่วย​ใน​เรื่อง​หนุ่ม​สาว​และ​เพศ​สัมพันธ์. แม้​ว่า​พวก​เขา​เห็น​ชอบ​กับ​การ​งด​เว้น​การ​มี​เพศ​สัมพันธ์​หรือ​การ​รักษา​ความ​บริสุทธิ์​ทาง​ศีลธรรม แต่​เป้าหมาย​หลัก​ของ​พวก​เขา​ก็​คือ สนับสนุน​ให้​มี​เพศ​สัมพันธ์​แบบ “ปลอด​ภัย” แทน​ที่​จะ​งด การ​มี​เพศ​สัมพันธ์. ดู​เหมือน​มี​การ​หา​เหตุ​ผล​อย่าง​นี้: ‘เรา​ห้าม​พวก​เขา​ไม่​ได้ ดัง​นั้น อย่าง​น้อย​เรา​ก็​สอน​เขา​ให้​รู้​จัก​รับผิดชอบ​ได้.’

ใน​บทความ​ที่​อยู่​ใน​เว็บไซต์​สำหรับ​วัยรุ่น​เว็บไซต์​หนึ่ง​ที่​ได้​รับ​ความ​นับถือ ประเด็น​ที่​ว่า​ควร​จะ​มี​เพศ​สัมพันธ์​หรือ​ไม่​นั้น มี​ปัจจัย​สาม​ประการ​เท่า​นั้น​ที่​ต้อง​พิจารณา​คือ (1) ความ​เสี่ยง​ที่​จะ​ตั้ง​ครรภ์, (2) ความ​เสี่ยง​ที่​จะ​ติด​โรค​ติด​ต่อ​ทาง​เพศ​สัมพันธ์, และ (3) ความ​สำคัญ​ของ​การ​ตัดสิน​ว่า​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​มี​ความ​พร้อม​ทาง​อารมณ์​สำหรับ​ประสบการณ์​นั้น​หรือ​ไม่. เว็บไซต์​นั้น​กล่าว​ว่า “สุด​ท้าย​แล้ว คุณ​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​เอง.” มี​การ​กล่าว​ถึง​การ​ปรึกษา​เรื่อง​นี้​กับ​พ่อ​แม่​เพียง​เล็ก​น้อย. และ​ไม่​มี​การ​พูด​ถึง​เลย​ด้วย​ซ้ำ​ว่า​การ​มี​เพศ​สัมพันธ์​แบบ​นั้น​เป็น​สิ่ง​ที่​ถูก​หรือ​ผิด.

ถ้า​คุณ​เป็น​พ่อ​เป็น​แม่ แน่นอน​ว่า​คุณ​คง​ต้องการ​สิ่ง​ที่​ดี​กว่า “ปัญญา​ของ​โลก” ที่​เชื่อถือ​ไม่​ได้​และ​โง่​เขลา​ใน​การ​นำ​ทาง​ลูก​คุณ. (1 โกรินโธ 1:20) คุณ​จะ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​ดำเนิน​ชีวิต​ผ่าน​วัย​หนุ่ม​สาว​และ​หลีก​เลี่ยง​อันตราย​ที่​กล่าว​ไป​แล้ว​ใน​บทความ​นี้​ได้​อย่าง​ไร? คำ​ตอบ​อาจ​ไม่​ง่าย​เหมือน​กับ​การ​ถอด​ปลั๊ก​คอมพิวเตอร์​หรือ​ยึด​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ไป. วิธี​แก้​แบบ​ผิว​เผิน​คง​เข้า​ถึง​หัวใจ​ได้​ยาก. (สุภาษิต 4:23) ขอ​ให้​คิด​ถึง​ด้วย​ว่า การ​ที่​ลูก​ของ​คุณ​ใช้​อุปกรณ์​บาง​อย่าง เช่น โทรศัพท์​มือ​ถือ​และ​อินเทอร์เน็ต​นั้น ก็​เนื่อง​จาก​เขา​มี​ความ​ต้องการ​บาง​อย่าง​ที่​คุณ​ใน​ฐานะ​พ่อ​แม่​อาจ​ให้​ได้​ดี​กว่า​มาก. ความ​ต้องการ​เหล่า​นี้​คือ​อะไร​บ้าง?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 13 แทน​ที่​จะ​เอา​แต่​ตำหนิ​อินเทอร์เน็ต พ่อ​แม่​ควร​ทำ​ความ​คุ้น​เคย​กับ​เว็บไซต์​ที่​ลูก ๆ เข้า​ไป​ดู​บ่อย ๆ. โดย​วิธี​นี้ คุณ​สามารถ​ช่วย​ลูก ๆ ให้ “ฝึก​หัด​ความ​คิด​ของ​เขา​จน​สังเกต​ได้​ว่า​ไหน​ดี​ไหน​ชั่ว.” (เฮ็บราย 5:14) บทเรียน​จาก​พ่อ​แม่​เช่น​นี้​จะ​มี​ประโยชน์​ต่อ​ลูก ๆ จน​เขา​เติบโต​ขึ้น​เป็น​ผู้​ใหญ่.

[คำ​โปรย​หน้า 4]

“เมื่อ​หนู​กลับ​ถึง​บ้าน หนู​ก็​ต่อ​อินเทอร์เน็ต​ทันที และ​อยู่​อย่าง​นั้น . . . บาง​ครั้ง​กว่า​จะ​เลิก​ก็​ตี​สาม”

[คำ​โปรย​หน้า 5]

“คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ก็​ได้​ใน​อินเทอร์เน็ต. คุณ​จะ​เป็น​อีก​บุคคล​หนึ่ง​เลย​ก็​ได้ เพราะ​ไม่​มี​ใคร​รู้​จัก​คุณ​จริง ๆ”

[คำ​โปรย​หน้า 7]

“พ่อ​แม่​คง​จะ​ตกตะลึง​และ​รู้สึก​อับอาย​ขายหน้า​มาก​ถ้า​พวก​เขา​รู้​ว่า​ลูก​ของ​ตน​กำลัง​เปิด​เผย​อะไร​และ​พูด​คุย​กัน​เรื่อง​อะไร​ทาง​อินเทอร์เน็ต”

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6]

เครือข่าย​ทาง​สังคม​เรื่อง​ราว​ของ​เด็ก​สาว​คน​หนึ่ง

“หนู​เริ่ม​ใช้​เว็บเพจ​ของ​โรง​เรียน​เพื่อ​ติด​ต่อ​กับ​เด็ก​นัก​เรียน​คน​อื่น ๆ และ​คุณ​ครู​ได้. หนู​เริ่ม​จาก​สัปดาห์​ละ​หนึ่ง​ชั่วโมง. จาก​นั้น​ไม่​นาน​หนู​ก็​เริ่ม​ใช้​ทุก​วัน. หนู​ติด​อินเทอร์เน็ต​มาก​จน​กระทั่ง​ใน​ตอน​ที่​ไม่​ได้​ใช้ หนู​ก็​จะ​คิด​ถึง​มัน. หนู​ไม่​สามารถ​จดจ่อ​กับ​สิ่ง​อื่น​ได้​เลย. หนู​ทำ​การ​บ้าน​ไม่​ทัน, หนู​ไม่​สามารถ​ตั้งใจ​ฟัง​การ​ประชุม​คริสเตียน​ได้, และ​หนู​ถึง​กับ​เลิก​สนใจ​คน​ที่​เป็น​เพื่อน​แท้​ของ​หนู​ด้วย​ซ้ำ. ใน​ที่​สุด พ่อ​แม่​ก็​รู้​ว่า​เกิด​อะไร​ขึ้น​และ​จำกัด​เวลา​การ​ใช้​อินเทอร์เน็ต​ของ​หนู. นั่น​เป็น​เรื่อง​ยาก​สำหรับ​หนู. ตอน​นั้น​หนู​โกรธ​มาก. แต่​ตอน​นี้​หนู​มี​ความ​สุข​ที่​ปัญหา​ลงเอย​ด้วย​ดี และ​หนู​สามารถ​ปรับ​ตัว​ได้. หนู​ไม่​อยาก​ติด​อินเทอร์เน็ต​อีก​แล้ว!”—บีอังกา.