ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การย้อมผ้าในอดีตและปัจจุบัน

การย้อมผ้าในอดีตและปัจจุบัน

การ​ย้อม​ผ้า​ใน​อดีต​และ​ปัจจุบัน

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บริเตน

คุณ​เคย​สังเกต​ไหม​ว่า​สี​มี​อิทธิพล​ต่อ​อารมณ์​ของ​คน​เรา? ไม่​แปลก​ที่​ตลอด​ประวัติศาสตร์ มนุษย์​เลือก​ที่​จะ​เพิ่ม​สี​สัน​ให้​กับ​ผืน​ผ้า​โดย​ใช้​กรรมวิธี​ที่​เรียก​กัน​ว่า​การ​ย้อม​สี.

เมื่อ​เรา​ซื้อ​เสื้อ​ผ้า​และ​เครื่อง​ประดับ​หรือ​วัสดุ​ที่​นำ​มา​ทำ​สิ่ง​เหล่า​นี้ เรา​ไม่​ต้องการ​ให้​สี​ตก​หรือ​ค่อย ๆ ซีด​จาง​ไป. เพื่อ​เรียน​รู้​ว่า​มี​การ​ใช้​กรรมวิธี​ใด​บ้าง​ที่​ทำ​ให้​สี​ติด​ทน​นาน​บน​เนื้อ​ผ้า​และ​รู้​ว่า​เทคนิค​การ​ย้อม​ผ้า​ที่​สืบ​ทอด​กัน​มา​ได้​พัฒนา​ขึ้น​อย่าง​ไร เรา​จึง​ได้​ไป​ชม​พิพิธภัณฑ์​สี​เอสดีซี ที่​เมือง​แบรด​ฟอร์ด ทาง​ภาค​เหนือ​ของ​อังกฤษ. * ณ พิพิธภัณฑ์​แห่ง​นี้ เรา​ได้​เห็น​ตัว​อย่าง​วัสดุ​พิเศษ​บาง​ชนิด​ที่​ถูก​ใช้​เป็น​สี​ย้อม​มา​ตลอด​หลาย​ศตวรรษ.

สี​ย้อม​ยุค​แรก ๆ

จน​ถึง​ช่วง​ครึ่ง​หลัง​ของ​ศตวรรษ​ที่ 19 วัสดุ​ที่​ใช้​สำหรับ​การ​ย้อม​ผ้า​ทั้ง​หมด​มา​จาก​ธรรมชาติ เช่น พืช, แมลง, และ​หอย. ตัว​อย่าง​เช่น ต้น​โวด​ให้​สี​ย้อม​สี​คราม (1), ต้น​เวลด์​ให้​สี​ย้อม​สี​เหลือง (2), และ​ต้น​แมดเดอร์​ให้​สี​ย้อม​สี​แดง. สี​ย้อม​สี​ดำ​ได้​มา​จาก​ต้น​ล็อก​วูด และ​ไลเค็น​ที่​เรียก​ว่า​อาร์คิล​ให้​สี​ย้อม​สี​ม่วง. หอย​หนาม (murex shellfish) ให้​สี​ย้อม​สี​ม่วง​ที่​มี​ราคา​แพง​มาก ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​สี​ไท​เรียน หรือ​สี​ม่วง​จักรพรรดิ (3). สี​ย้อม​นี้​ใช้​ย้อม​พระ​ภูษา​ของ​จักรพรรดิ​โรมัน.

เป็น​เวลา​นาน​ก่อน​ที่​จะ​มี​จักรพรรดิ​โรมัน บุคคล​ที่​มี​ชื่อเสียง​และ​มั่งคั่ง​สวม​เสื้อ​ผ้า​ที่​ย้อม​ด้วย​วัสดุ​ให้​สี​ตาม​ธรรมชาติ. (เอศเธระ 8:15) ตัว​อย่าง​เช่น สี​ย้อม​สี​แดง​ได้​มา​จาก​แมลง​เคอร์เมส​ตัว​เมีย (4). ดู​เหมือน​ว่า​นี่​เป็น​แมลง​ที่​ให้​สี​ย้อม​สี​แดง​ที่​ใช้​ทำ​เครื่อง​ตกแต่ง​พลับพลา​ใน​สมัย​อิสราเอล​โบราณ รวม​ถึง​เสื้อ​ผ้า​สำหรับ​มหา​ปุโรหิต​ของ​อิสราเอล.—เอ็กโซโด 28:5; 36:8.

กรรมวิธี​ใน​การ​ย้อม

ผลิตภัณฑ์​ที่​จัด​แสดง​ไว้​ใน​พิพิธภัณฑ์​สี​แสดง​ให้​เห็น​ว่า การ​ย้อม​มี​กรรมวิธี​ที่​สลับ​ซับซ้อน​มาก​กว่า​แค่​การ​จุ่ม​ด้าย​หรือ​ผ้า​ลง​ไป​ใน​สี​ย้อม. ใน​หลาย​กรณี ขั้น​ตอน​หนึ่ง​ระหว่าง​การ​ย้อม​จะ​มี​การ​ใช้​สาร​ช่วย​สี​ติด ซึ่ง​เป็น​สาร​ที่​จับ​ทั้ง​เส้นใย​และ​สี​ย้อม. โดย​การ​ใช้​สาร​ชนิด​นี้ สี​ย้อม​จะ​ติด​เส้นใย​ได้​ทน​นาน​และ​ทำ​ให้​สี​ไม่​ตก​เมื่อ​โดน​น้ำ. มี​สาร​เคมี​หลาย​ตัว​ถูก​ใช้​เป็น​สาร​ช่วย​สี​ติด ซึ่ง​บาง​ตัว​เป็น​อันตราย​หาก​ถูก​ผิวหนัง.

การ​ย้อม​สี​บาง​กรรมวิธี​ก็​ทำ​ให้​เกิด​กลิ่น​ที่​ไม่​พึง​ประสงค์. กรรมวิธี​หนึ่ง​ซึ่ง​ซับซ้อน​และ​ใช้​เวลา​นาน​ก็​คือ​การ​ผลิต​สี​แดง​ตุรกี. กรรมวิธี​นี้​ใช้​ย้อม​ผ้า​ฝ้าย​และ​ทำ​ให้​ผ้า​มี​สี​แดง​สด​โดย​ไม่​ซีด​จาง​แม้​จะ​ตาก​แดด, ซัก, หรือ​ฟอก​ขาว. ครั้ง​หนึ่ง กรรมวิธี​ดัง​กล่าว​มี​ขั้น​ตอน​ต่าง ๆ ถึง 38 ขั้น​ตอน​และ​ใช้​เวลา​นาน​ถึง​สี่​เดือน​กว่า​จะ​เสร็จ! ผ้า​ที่​สวย​ที่​สุด​บาง​ชิ้น​ที่​นำ​มา​แสดง​ใน​พิพิธภัณฑ์​เป็น​ผ้า​ที่​ย้อม​ด้วย​สี​แดง​ตุรกี (5).

การ​คิด​ค้น​สี​ย้อม​สังเคราะห์

เป็น​ที่​ยอม​รับ​กัน​ว่า วิลเลียม เฮนรี เพอร์กิน เป็น​ผู้​ผลิต​สี​ย้อม​แรก​ที่​ไม่​ได้​เป็น​สี​ย้อม​จาก​ธรรมชาติ​ใน​ปี 1856. นิทรรศการ​ใน​พิพิธภัณฑ์​ดัง​กล่าว​อธิบาย​ถึง​เรื่อง​ที่​เพอร์กิน​ได้​ค้น​พบ​สี​ย้อม​สี​ม่วง​สด. ช่วง​ปลาย​ศตวรรษ​ที่ 19 มี​การ​พัฒนา​สี​ย้อม​สังเคราะห์​ที่​มี​สี​สัน​สดใส​อีก​หลาย​สี. ปัจจุบัน​นี้​มี​การ​ผลิต​สี​ย้อม​สังเคราะห์​มาก​กว่า 8,000 ชนิด (6). ผลิตภัณฑ์​ธรรมชาติ​ที่​ยัง​ใช้​อยู่​เป็น​ประจำ​ก็​มี​แค่​ล็อก​วูด​และ​เพลี้ย​คอชีนีล.

ใน​ห้อง​แสดง​สี​และ​สิ่ง​ทอ​ของ​พิพิธภัณฑ์​สี​มี​การ​อธิบาย​ถึง​กรรมวิธี​พิเศษ​ที่​จำเป็น​สำหรับ​การ​ย้อม​วัสดุ​สังเคราะห์​ใน​ปัจจุบัน เช่น เรยอน. วิสโคสเรยอน​ชนิด​ที่​นิยม​ใช้​มาก​ที่​สุด​ใน​ขณะ​นี้​ถูก​ผลิต​ใน​เชิง​พาณิชย์​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1905. เนื่อง​จาก​วิสโคสเรยอน​มี​คุณสมบัติ​ทาง​เคมี​คล้าย​กับ​ผ้า​ฝ้าย สี​ย้อม​ส่วน​ใหญ่​ที่​มี​อยู่​ใน​เวลา​นั้น​จึง​ใช้​ได้​ดี. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ต้อง​มี​การ​พัฒนา​สี​ย้อม​ชนิด​ใหม่ ๆ หลาย​ชนิด​เพื่อ​ใช้​สำหรับ​ผ้า​ใย​สังเคราะห์​ที่​นำ​สมัย​ยิ่ง​ขึ้น เช่น เส้นใย​สังเคราะห์​อะซีเตด, โพลี​เอสเตอร์, ไนลอน, และ​อะคริลิก.

ข้อ​ท้าทาย​ใน​การ​ทำ​ให้​สี​ติด​ทน​นาน

เมื่อ​เรา​ซื้อ​เสื้อ​ผ้า​หรือ​ผ้า​เป็น​ผืน ๆ เรา​ต้องการ​ให้​ผ้า​เหล่า​นั้น​มี​สี​ที่​ไม่​ซีด​จาง​ลง​ไป​เรื่อย ๆ. กระนั้น ผ้า​หลาย​ชนิด​มี​สี​ซีด​ลง​เมื่อ​ตาก​แดด​หรือ​ซัก​หลาย ๆ ครั้ง โดย​เฉพาะ​ถ้า​ใช้​สาร​ซัก​ฟอก. บาง​ครั้ง ผ้า​อาจ​มี​สี​ผิด​เพี้ยน​ไป​เมื่อ​โดน​เหงื่อ​หรือ​อาจ​เปลี่ยน​สี​ไป​เลย​เมื่อ​ซัก​รวม​กับ​ผ้า​อื่น ๆ. สี​ที่​ติด​ทน​นาน​ใน​ช่วง​การ​ซัก​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​โมเลกุล​ของ​สี​ย้อม​ยึด​ติด​กับ​เส้นใย​ได้​ดี​ขนาด​ไหน. การ​ซัก​หลาย ๆ ครั้ง​และ​ผล​ของ​การ​ใช้​สาร​ซัก​ฟอก​ชนิด​ที่​ขจัด​รอย​เปื้อน​จะ​ทำ​ให้​สี​ย้อม​หลุด​ออก​จาก​เส้นใย​จึง​ส่ง​ผล​ให้​ผ้า​สี​ซีด​ลง. ผู้​ผลิต​สี​ย้อม​ทดสอบ​ผลิตภัณฑ์​ของ​ตน​เพื่อ​ดู​ว่า​การ​ถูก​แสง​แดด, การ​ซัก, สาร​ซัก​ฟอก, และ​การ​ถูก​เหงื่อ​อยู่​ใน​ระดับ​ที่​ยอม​รับ​ได้​หรือ​ไม่.

การ​เยี่ยม​ชม​ทำ​ให้​เรา​อยาก​รู้​มาก​ขึ้น​ว่า​เสื้อ​ผ้า​ของ​เรา​ทำ​มา​จาก​วัสดุ​ชนิด​ใด. แต่​ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น เรา​ได้​ความ​กระจ่าง​เกี่ยว​กับ​กระบวนการ​ต่าง ๆ ที่​น่า​ทึ่ง​ซึ่ง​มี​การ​ใช้​กัน​เพื่อ​ทำ​ให้​สี​ของ​เสื้อ​ผ้า​ติด​ทน​นาน​แม้​จะ​ซัก​บ่อย ๆ ก็​ตาม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 เอสดีซี ย่อ​มา​จาก Society of Dyers and Colourists หรือ​สมาคม​ช่าง​ย้อม​สี​และ​นัก​ผสม​สี เป็น​สมาคม​ที่​ทำ​งาน​ด้าน​การ​พัฒนา​สี.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 24]

Photos 1-4: Courtesy of the Colour Museum, Bradford (www.colour-experience.org)

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 25]

Photo 5: Courtesy of the Colour Museum, Bradford (www.colour-experience.org); Photo 6: Clariant International Ltd., Switzerland