จากอียิปต์สู่นครต่าง ๆ ทั่วโลก
จากอียิปต์สู่นครต่าง ๆ ทั่วโลก
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในอิตาลี
“สิ่งนี้ได้ ‘เดินทาง’ ออกไปจากถิ่นกำเนิดของมัน และกลายเป็นสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ซึ่งได้สร้างมันขึ้นมา” วารสารภาษาอิตาลีชื่ออาร์เชโอ กล่าว. ส่วนใหญ่ สิ่งนี้ได้ออกจากอียิปต์นานแล้วและถูกนำไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น อิสตันบูล, ลอนดอน, ปารีส, โรม, และนิวยอร์ก. นักท่องเที่ยวที่ไปยังกรุงโรมอาจสังเกตว่าจัตุรัสที่รู้จักกันดีที่สุดหลายแห่งในเมืองนี้มีสิ่งเหล่านี้ตั้งไว้เป็นเครื่องประดับ. สิ่งนั้นคืออะไร? เสาโอเบลิสก์นั่นเอง!
โอเบลิสก์คือเสาหินสี่เหลี่ยมที่มีลักษณะเรียวขึ้น และมียอดแหลมทรงพีระมิด. เสาต้นที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุถึง 4,000 ปี. แม้แต่เสาต้นใหม่ที่สุดก็ยังมีอายุราว ๆ 2,000 ปีแล้ว.
โดยทั่วไป โอเบลิสก์ทำจากหินแกรนิตสีแดง ซึ่งชาวอียิปต์โบราณขุดออกมาเป็นแท่งหินใหญ่และนำไปตั้งไว้ที่หน้าสุสานและวิหารต่าง ๆ. โอเบลิสก์บางต้นมีขนาดมหึมา. ต้นที่ใหญ่ที่สุดซึ่งยังคงตั้งอยู่ในปัจจุบันอยู่ที่จัตุรัสแห่งหนึ่งในกรุงโรมมีความสูงถึง 32 เมตรและหนักประมาณ 455 ตัน. โอเบลิสก์ส่วนใหญ่มีอักษรภาพสลักอยู่โดยรอบ.
วัตถุประสงค์ของอนุสาวรีย์เหล่านี้คือเพื่อถวายเกียรติแด่สุริยเทพรา. มีการตั้งโอเบลิสก์ไว้เพื่อขอบคุณเทพเจ้าองค์นี้สำหรับการปกป้องและสำหรับชัยชนะที่ประทานให้แก่กษัตริย์อียิปต์รวมทั้งเพื่อทูลขอความโปรดปราน. เชื่อกันว่ารูปทรงของโอเบลิสก์ได้มาจากรูปทรงของพีระมิด. มันเป็นสัญลักษณ์ของแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาเพื่อให้ความอบอุ่นและแสงสว่างแก่แผ่นดินโลก.
นอกจากนั้น โอเบลิสก์ถูกใช้เพื่อถวายเกียรติแก่ฟาโรห์. ข้อความที่จารึกบนโอเบลิสก์พรรณนาถึงกษัตริย์ชาวอียิปต์หลายองค์ว่า “เป็นที่รักของรา” หรือ “งดงาม . . . ราวกับอาทุม” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ในยามอัสดง. โอเบลิสก์ต้นหนึ่งกล่าวถึงอำนาจทางทหารของฟาโรห์ว่า “อำนาจของพระองค์เป็นเช่นอำนาจของมอนทู [เทพเจ้าแห่งสงคราม] เฉกเช่นกับโคที่เหยียบย่ำดินแดนของต่างชาติและฆ่าฟันเหล่ากบฏ.”
โอเบลิสก์ต้นแรก ๆ ถูกตั้งขึ้นในเมืองจูนูในอียิปต์ (คัมภีร์ไบเบิลเรียกเมืองโอน) ซึ่งคิดกันว่าหมายถึง “เมืองแห่งเสา” โดยอาจพาดพิงถึงโอเบลิสก์. ชาวกรีกเรียกเมืองจูนูว่า เฮลิโอโพลิส หมายถึง “เมืองแห่งดวงอาทิตย์” เนื่องจากเมืองนี้เป็นศูนย์กลางสำคัญที่ชาวอียิปต์ใช้ในการนมัสการดวงอาทิตย์. ชื่อภาษากรีกเฮลิโอโพลิสตรงกับชื่อภาษาฮีบรูคือ เบท-เชเมช (เบศเซเม็ศ) หมายถึง “นิเวศแห่งดวงอาทิตย์.”
ยิระมะยาซึ่งเป็นพระธรรมเชิงพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงการหัก ‘รูปเคารพ [“เสาศักดิ์สิทธิ์,” ฉบับแปลใหม่] แห่งเบศเซเม็ศ ซึ่งอยู่ในเมืองอายฆุบโต.’ นี่อาจกล่าวถึงโอเบลิสก์แห่งเมืองเฮลิโอโพลิส. พระเจ้าไม่พอพระทัยการนมัสการรูปเคารพที่สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแทน.—ยิระมะยา 43:10-13.
การขุดและการขนย้าย
เรารู้ว่าโอเบลิสก์สร้างขึ้นอย่างไรโดยดูได้จากโอเบลิสก์ต้นที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา. เสาต้นนี้ยังคงถูกทิ้งให้นอนอยู่ใกล้กับเมืองอัสวาน อียิปต์ ตรงที่มีการขุดเสาต้นนี้. หลังจากเลือกชั้นหินที่ดูเหมือนจะใช้ได้และแต่งให้เรียบแล้ว คนงานได้เจาะร่องรอบ ๆ หินที่จะกลายเป็นโอเบลิสก์. พวกเขาเจาะลงไปข้างใต้และเอาท่อนไม้อัดเข้าไปในร่องนั้นจนกระทั่งแท่งหินนั้นหลุดออกมา. จากนั้น แท่งหินขนาดใหญ่ก้อนเดียวนี้ซึ่งหนักราว ๆ 1,170 ตันและหนักมากกว่าหินก้อนใด ๆ ที่ชาวอียิปต์เคยขุดกันมา ก็น่าจะถูกลากลงมายังแม่น้ำไนล์และขนย้ายไปยังที่หมายปลายทางโดยเรือ.
แต่ปรากฏว่า โอเบลิสก์แห่งอัสวานถูกทิ้งไว้ตรงนั้นเมื่อคนงานเห็นว่ามันมีรอยร้าวที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้. ถ้ามีการสร้างต่อจนเสร็จ มันคงจะสูงถึง 42 เมตร และมีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 4 เมตร. มีการยกโอเบลิสก์ให้ตั้งขึ้นโดยวิธีใดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด.
จากอียิปต์สู่โรม
ในปี 30 ก่อน ส.ศ. อียิปต์กลายเป็นแคว้นหนึ่งของโรม. จักรพรรดิโรมันหลายองค์ต้องการจะนำอนุสาวรีย์อันทรง
เกียรติมาประดับไว้ที่เมืองหลวง ดังนั้น จึงมีโอเบลิสก์มากถึง 50 ต้นถูกขนย้ายมาที่กรุงโรม. การขนย้ายโอเบลิสก์หมายถึงการสร้างเรือขนาดใหญ่มากซึ่งออกแบบเพื่อจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะ. เมื่อไปถึงโรมแล้ว โอเบลิสก์ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับการนมัสการดวงอาทิตย์อย่างใกล้ชิด.เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลาย โรมก็ถูกปล้นสะดม. โอเบลิสก์ส่วนใหญ่ถูกโค่นลงมาและถูกทิ้งไว้อย่างนั้นโดยไม่มีใครคิดถึงมันอีก. อย่างไรก็ตาม สันตะปาปาหลายองค์สนใจที่จะตั้งเสาโอเบลิสก์บางต้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากซากหักพังของเมืองโบราณ. คริสตจักรโรมันคาทอลิกยอมรับว่าโอเบลิสก์เคย “ถูกกษัตริย์ชาวอียิปต์อุทิศให้แก่สุริยเทพ” และเสาเหล่านี้เคย “นำสง่าราศีที่ไร้คุณค่ามาสู่วิหารนอกรีตที่น่ารังเกียจ.”
การตั้งโอเบลิสก์ต้นแรกขึ้นใหม่ระหว่างสมัยของสันตะปาปาซิกซ์ตุสที่ 5 (1585-1590) มีขึ้นพร้อมกับการขับไล่ปิศาจและการอวยพร รวมทั้งการพรมน้ำศักดิ์สิทธิ์และการเผาเครื่องหอม. บิชอปคนหนึ่งร้องเป็นเพลงต่อหน้าโอเบลิสก์แห่งวาติกันว่า “ข้าขอขับปิศาจออกจากเจ้า ให้แบกกางเขนศักดิ์สิทธิ์และให้พ้นจากมลทินทุกอย่างจากสิ่งนอกรีตและภัยทุกอย่างจากความชั่วร้ายฝ่ายวิญญาณ.”
ดังนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวมาชมโอเบลิสก์ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโรมทุกวันนี้ เขาอาจคิดถึงความสามารถอันชาญฉลาดที่จำเป็นเพื่อขุด, ขนย้าย, และยกมันให้ตั้งขึ้น. นอกจากนั้น เขาอาจยังรู้สึกทึ่งเมื่อรู้ว่าอนุสาวรีย์ที่เคยใช้ในการนมัสการดวงอาทิตย์ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ใช้ประดับเมืองแห่งสันตะปาปา ซึ่งเป็นการผสมผสานที่แปลกจริง ๆ!
[ภาพหน้า 15]
ลุกซอร์ อียิปต์
[ภาพหน้า 15]
โรม
[ภาพหน้า 15]
นิวยอร์ก
[ภาพหน้า 15]
ปารีส