ทำไมฉันจึงถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นเสมอ?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ทำไมฉันจึงถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นเสมอ?
“ฉันรู้สึกหงุดหงิดมาก ๆ เวลาที่พ่อแม่หรือครูเปรียบเทียบฉันกับคนอื่น.”—มีอา. *
“การเปรียบเทียบทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ เพราะฉันก็อยากเป็นเหมือนคนที่ถูกนำไปเปรียบเทียบให้มากกว่านี้อยู่แล้ว.”—เอพริล.
ที่โรงเรียน คุณถูกครูดุว่าไม่เก่งวิชาเลขคณิตเท่ากับเพื่อนในชั้น. ที่บ้าน พ่อแม่ติว่าคุณไม่เรียบร้อยเท่ากับพี่สาว. บางคนบอกว่า “แม่เธอสวยมากเลยตอนที่อายุเท่ากับเธอ!” นี่เป็นคำพูดที่เสียดแทงหัวใจเนื่องจากคำพูดดังกล่าวทำให้คุณนึกสงสัยว่าคนนั้นคิดว่าคุณหน้าตาขี้เหร่. คุณอยากจะร้องตะโกนออกมาว่า “ทำไมไม่มีใครมองเห็นตัวฉัน บ้าง? ทำไมฉันจึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น อยู่เรื่อย?”
ทำไมการเปรียบเทียบจึงทำให้รู้สึกเจ็บปวดใจมาก? การเปรียบเทียบมีประโยชน์บ้าง ไหม? คุณจะทำอย่างไรเวลาที่มีคนนำคุณไปเปรียบเทียบกับคนอื่น?
ทำไมการเปรียบเทียบจึงทำให้เจ็บปวดใจ?
เหตุผลหนึ่งที่การเปรียบเทียบทำให้รู้สึกเจ็บปวดใจก็คือ บางครั้งมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว. จริง ๆ แล้ว สิ่งที่คนอื่นพูดออกมาดัง ๆ อาจเป็นสิ่งที่คุณพูดกับตัวเองอยู่บ่อย ๆ. เพื่อเป็นตัวอย่าง เบกกี ยอมรับว่า “หนูมองพวกที่เป็นดาวเด่นในโรงเรียนและคิดว่า ‘ถ้าเพียงแต่ฉันเป็นอย่างพวกเขา คนอื่น ๆ คงจะชอบฉันมากกว่านี้.’”
อะไรทำให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหว? เอาละ ขอพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย, อารมณ์ความรู้สึก, และจิตใจของคุณ. ร่างกายของคุณอาจกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว. สายสัมพันธ์ของคุณกับพ่อแม่ก็มีความยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น. เจตคติที่คุณมีต่อเพศตรงข้ามก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง. ดังนั้น คุณอาจสงสัยว่า ‘การเจริญเติบโตของฉันเป็นปกติดีไหม?’
บางที คุณอาจรู้สึกว่าวิธีเดียวที่คุณจะรู้ได้ก็คือ โดยเปรียบเทียบตัวคุณเองกับเยาวชนคนอื่น ๆ ซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวกัน. และนี่คือกับดัก! ถ้าพวกเขาดูเหมือน รับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ดีกว่าคุณ คุณก็จะรู้สึกไม่สบายใจ. แล้วเมื่อผู้ใหญ่บางคนถามว่า ‘ทำไมเธอเป็นอย่างคนนั้นคนนี้บ้างไม่ได้?’ คุณอาจรู้สึกว่าสิ่งที่คุณกลัวนักกลัวหนาเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว คือที่ว่าคุณไม่ปกติ!
เอพริลชี้ถึงอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมการเปรียบเทียบจึงทำให้รู้สึกเจ็บปวดใจ. เธอบอกว่า “เมื่อมีคนเปรียบเทียบ
คุณกับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนใกล้ชิดของคุณ นั่นอาจทำให้เกิดความรู้สึกอิจฉาริษยาและความไม่พอใจได้.” มีอารู้ดีว่าความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร. พ่อแม่กับครูของเธอดูเหมือนจะเอาเธอไปเปรียบเทียบกับพี่สาวของเธออยู่เสมอ ๆ. มีอากล่าวว่า “พวกเขาบอกฉันว่าพี่สาวทำอะไรบ้างตอนที่พี่อายุเท่าฉัน.” ผลเป็นอย่างไร? “มันทำให้ฉันรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังแข่งกับพี่สาวอยู่. บางครั้งฉันถึงกับโกรธเธอด้วยซ้ำ.”การเปรียบเทียบอาจก่อผลเสียมากจริง ๆ. ลองคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับสหายที่ใกล้ชิดที่สุดของพระเยซู. ในคืนสุดท้ายก่อนที่พระเยซูจะสิ้นพระชนม์ “มีการเถียงกัน” ท่ามกลางพวกอัครสาวก. ทำไม? พวกเขาเปรียบเทียบกันเองและเถียงกันว่า “ใครจะนับว่าเป็นใหญ่.” (ลูกา 22:24) แน่นอน การเปรียบเทียบบางอย่างอาจก่อความเสียหายได้. แต่การเปรียบเทียบทุกอย่าง เลยไหมที่ก่อความเสียหาย?
ข้อดีของการเปรียบเทียบ
ลองคิดถึงชายหนุ่มที่ชื่อดานิเอลกับเพื่อนชาวฮีบรูสามคนซึ่งมีการกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล. คนหนุ่มเหล่านี้ไม่ต้องการกินอาหารอันโอชะของกษัตริย์บาบิโลนซึ่งเป็นอาหารที่พระบัญญัติของพระเจ้าห้ามไม่ให้กิน. (เลวีติโก 11:4-8) เพื่อจะให้ผู้ดูแลช่วยพวกเขา ดานิเอลเสนอให้มีการทดสอบ. ท่านเสนอขอให้พวกท่านกินแต่อาหารซึ่งถูกต้องตามพระบัญญัติของพระเจ้าเป็นเวลาสิบวัน แล้วให้ผู้ดูแลเปรียบเทียบเด็กหนุ่มชาวฮีบรูเหล่านี้กับเด็กหนุ่มอื่น ๆ ในราชสำนัก. ผลเป็นอย่างไร?
คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า “พอครบสิบวันแล้ว, ใบหน้าของ [เด็กหนุ่มชาวฮีบรู] ดูงามขึ้นและอ้วนกว่าคนหนุ่มอื่น ๆ ที่กินอาหารเครื่องเสวย.” (ดานิเอล 1:6-16) ขอสังเกตว่าผลดีที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะดานิเอลกับเพื่อนของท่านมีอะไรเหนือกว่าคนหนุ่มคนอื่น ๆ อยู่แล้ว. แต่ที่สำคัญ ผลดีเกิดขึ้นเนื่องจากเด็กหนุ่มชาวฮีบรูเลือกจะเชื่อฟังกฎหมายที่พระเจ้าประทานแก่ประชาชนของพระองค์ต่างหาก.
คุณมีสภาพการณ์คล้าย ๆ กับเด็กหนุ่มชาวฮีบรูเหล่านี้ไหม? ถ้าคุณดำเนินชีวิตตามมาตรฐานด้านศีลธรรมของคัมภีร์ไบเบิล คุณจะแตกต่างจากหนุ่มสาวคนอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด. บางคนที่สังเกตความแตกต่างนี้อาจไม่เข้าใจและ ‘กล่าวนินทาคุณ.’ (1 เปโตร 4:3, 4) แต่คนอื่น ๆ จะเห็นผลดีของความประพฤติที่ดีของคุณ และพวกเขาอาจถึงกับอยากเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาด้วยซ้ำ. (1 เปโตร 2:12) ในสภาพการณ์เช่นนี้ การถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นอาจเป็นผลดี.
นอกจากนี้ การเปรียบเทียบอาจมีประโยชน์ในอีกทางหนึ่งด้วย. ตัวอย่างเช่น คุณ อาจคิดว่าคุณทำงานบ้านในส่วนของคุณได้ดีอยู่แล้ว อย่างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพี่หรือน้องของคุณ. แต่พ่อแม่ ของคุณอาจไม่ได้คิดเหมือนคุณ. เพื่อช่วยปรับความคิดของคุณ ท่านอาจใช้ตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลและขอให้คุณเปรียบเทียบเจตคติและการกระทำของคุณกับบุคคลหนึ่งในพระคัมภีร์.
เพื่อเป็นตัวอย่าง พ่อแม่อาจเตือนคุณให้ระลึกว่า แม้พระเยซูจะถูกเรียกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ แต่พระองค์ก็เต็มใจล้างเท้าของเหล่าสาวกของพระองค์. (โยฮัน 13:12-15) แล้วพ่อแม่อาจสนับสนุนคุณให้เลียนแบบเจตคติของพระเยซูที่ถ่อมใจและพร้อมรับงานหนัก. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนคริสเตียนทุกคน ทั้งหนุ่มสาวและคนสูงอายุ ให้หมั่นเปรียบเทียบตัวเองกับพระคริสต์และพยายาม “ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) การเปรียบเทียบแบบนี้ทำให้เรามีความถ่อมใจอยู่เสมอและช่วยเราพัฒนาบุคลิกภาพที่ทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยมากขึ้น.
การรับมือกับการเปรียบเทียบในเชิงลบ
จริงอยู่ คุณอาจรู้สึกไม่พอใจและท้อใจก็ได้เมื่อคุณถูกเปรียบเทียบในเชิงลบกับพี่ ๆ น้อง ๆ หรือคนรุ่นเดียวกับคุณ. คุณจะรับมือได้อย่างไร? กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาดกล่าวว่า “คนที่เข้าใจเรื่องราวอย่างลึกซึ้งย่อมไม่โกรธเร็ว.” สุภาษิต 19:11, ล.ม.) ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งช่วยได้อย่างไร? คุณอาจไม่เห็นด้วย แต่จริง ๆ แล้วคนที่เอาตัวคุณไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เช่น พ่อแม่หรือครู คงจะหวังดีกับคุณ. แคทีกล่าวว่า “เมื่อมีคนนำฉันไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ฉันถามตัวเองว่า ‘พวกเขาพยายามจะช่วยฉันให้ปรับปรุงเรื่องใด?’” แคทีพบว่าโดยการคิดในแง่บวกเช่นนี้ โอกาสที่เธอจะท้อใจหรือไม่พอใจก็มีน้อยลง.
(แต่จะว่าอย่างไร ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเป้าของการเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา? ตัวอย่างเช่น พ่อแม่อาจดูเหมือนชอบเอาคุณไปเปรียบเทียบกับพี่หรือน้องของคุณในเชิงลบอยู่เสมอ. คุณอาจเข้าไปพูดกับพ่อแม่และชี้แจงด้วยความนับถือว่าการเปรียบเทียบเช่นนั้นทำให้คุณรู้สึกอย่างไร. พ่อแม่คุณอาจไม่รู้ตัวว่าการเปรียบเทียบเช่นนั้นก่อผลที่ไม่ดีอย่างไรกับคุณ.
แต่จงจำไว้ว่า นอกจากมี “วาระสำหรับเจรจา” แล้วก็มี “วาระสำหรับอมพะนำ” ด้วย. (ท่านผู้ประกาศ 3:7) แทนที่จะระเบิดอารมณ์ออกมาในครั้งหน้าเมื่อคุณถูกนำไปเปรียบเทียบ จงรอกระทั่งคุณอารมณ์เย็นลงก่อน แล้วค่อยพูดกับพ่อแม่หรือใครก็ตามที่เอาคุณไปเปรียบเทียบในเชิงลบ. ถ้าคุณทำอย่างนั้น คำพูดของคุณจะมีแรงโน้มน้าวใจมากขึ้น.—สุภาษิต 16:23.
บ่อยครั้ง คุณอาจทำให้ความเจ็บปวดจากการถูกเปรียบเทียบในเชิงลบลดน้อยลงได้โดยคำนึงถึงจุดดีของคุณ. อัครสาวกเปาโลบอกติโมเธียวว่า “อย่าให้ผู้ใดหมิ่นประมาทความหนุ่มแน่นของท่าน.” (1 ติโมเธียว 4:12) ติโมเธียวยังมีอายุค่อนข้างน้อยเมื่อท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคริสเตียนผู้ดูแล. ดังนั้น บางคนอาจมองว่าติโมเธียวเทียบไม่ได้กับชายคนอื่น ๆ ที่มีอายุมากกว่าและมีประสบการณ์มากกว่า. แต่การเปรียบเทียบเช่นนั้นไม่ถูกต้อง. แม้ว่ายังหนุ่ม แต่ติโมเธียวก็ได้รับประสบการณ์มากมายขณะที่เดินทางไปกับเปาโล. ติโมเธียวรู้วิธีใช้พระคำของพระเจ้าอย่างมีประสิทธิภาพ. และท่านห่วงใยพี่น้องฝ่ายวิญญาณของท่านด้วยความจริงใจ.—1 โกรินโธ 4:17; ฟิลิปปอย 2:19, 20.
ดังนั้น คราวหน้าถ้าคุณรู้สึกไม่สบายใจกับการถูกเปรียบเทียบในเชิงลบ ให้ถามตัวเองว่า ‘การวิจารณ์เช่นนี้มีเหตุผลไหม?’ ถ้าสิ่งที่พูดมานั้นมีความจริงอยู่บ้าง ก็จงพยายามเรียนรู้จากสิ่งนั้น. อย่างไรก็ตาม ถ้าการเปรียบเทียบเป็นแบบเหมารวม เช่น “ทำไมเธอจะเป็นเหมือนพี่ชายของเธออีกสักหน่อยไม่ได้นะ?” ก็จงมองคำพูดนั้นตามความเป็นจริง. จงพยายามเต็มที่ที่จะคิดถึงแง่บวกของการเปรียบเทียบนั้น.
พระยะโฮวาพระเจ้าไม่ได้วัดคุณค่าของคุณโดยเปรียบเทียบกับมนุษย์ไม่สมบูรณ์อีกคนหนึ่ง. (ฆะลาเตีย 6:4) พระองค์มองลึกกว่าสิ่งที่ปรากฏภายนอกและเข้าใจว่าโดยเนื้อแท้คุณเป็นคนอย่างไร. (1 ซามูเอล 16:7) จริงทีเดียว พระยะโฮวาไม่เพียงแต่เห็นว่าคุณเป็นคนอย่างไร พระองค์ยังเห็นว่าคุณพยายามจะทำตัวอย่างไรด้วย. (เฮ็บราย 4:12, 13) พระองค์ไม่ได้คาดหมายว่าคุณจะไม่ทำผิดพลาดเลย และพระองค์ยังมองหาสิ่งดีในตัวคุณ. (บทเพลงสรรเสริญ 130:3, 4) แค่รู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็ช่วยคุณให้รับมือได้แล้วหากคุณถูกเปรียบเทียบกับคนอื่น.
ถ้าต้องการอ่านบทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า” เพิ่มเติม ให้ดาวน์โหลดตื่นเถิด! ฉบับอื่น ๆ จากเว็บไซต์ www.pr418.com
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ชื่อต่าง ๆ เป็นนามสมมุติ.
สิ่งที่พึงใคร่ครวญ
▪ การเปรียบเทียบแบบไหนที่ทำให้คุณไม่พอใจ?
▪ ถ้าพ่อแม่เอาคุณไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเสมอ ๆ คุณจะทำอย่างไรกับเรื่องนั้น?
[คำโปรยหน้า 12]
“ฉันคงจะชอบมากกว่าถ้าคนที่ให้คำแนะนำฉันไม่ได้กล่าวถึงชื่อของอีกคนหนึ่งและบอกว่า ‘คุณควรจะเอาอย่างคนนั้นคนนี้’ แต่พูดถึงคุณลักษณะที่ดีของฉันก่อนแล้วค่อยช่วยฉันให้เห็นจุดอ่อนของฉันด้วยความกรุณา.”—นาตาลี
[ภาพหน้า 13]
คุณอาจต้องการจะชี้แจงด้วยความนับถือว่าการเปรียบเทียบทำให้คุณรู้สึกเช่นไร