ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สิ่งที่ยั่งยืนกว่าศิลปะ

สิ่งที่ยั่งยืนกว่าศิลปะ

สิ่ง​ที่​ยั่งยืน​กว่า​ศิลปะ

เล่า​โดย​ราเกล กอยวิสโต

ใน​ปี 1950 โครง​งาน​ประติมากรรม​ที่​ดิฉัน​เสนอ​เพื่อ​สร้าง​อนุสาวรีย์​ให้​เป็น​เกียรติ​แก่​ผู้​เสีย​ชีวิต​ใน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง​ได้​รับ​รางวัล​จาก​การ​แข่งขัน​ระดับ​ประเทศ. หนึ่ง​ปี​หลัง​จาก​นั้น มี​การ​จัด​พิธี​อัน​ทรง​เกียรติ​เพื่อ​เปิด​อนุสาวรีย์​หิน​แกรนิต​ขนาด​มหึมา​ของ​ดิฉัน​ใน​เมือง​ตูซุลา ประเทศ​ฟินแลนด์ แต่​ดิฉัน​ไม่​ได้​เข้า​ร่วม. ขอ​ให้​ดิฉัน​อธิบาย​ว่า​เพราะ​อะไร.

ดิฉัน​เกิด​ใน​ปี 1917 เป็น​ลูก​คน​สุด​ท้อง​ของ​ครอบครัว​ที่​มี​ลูก​แปด​คน​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใน​หมู่​บ้าน​แห่ง​หนึ่ง​แถบ​ชนบท​ทาง​ตอน​ใต้​ของ​ฟินแลนด์. แม้​เรา​จะ​ยาก​จน แต่​ดิฉัน​ก็​มี​ความ​สุข​และ​รู้สึก​มั่นคง​ปลอด​ภัย. พ่อ​แม่​ของ​ดิฉัน​เป็น​คน​มี​เหตุ​ผล​และ​ยำเกรง​พระเจ้า และ​ท่าน​สอน​ให้​เรา​เห็น​ความ​สำคัญ​ของ​การ​เรียน​รู้​เรื่อง​พระเจ้า. คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​พ่อ​ซื้อ​มา​ได้​รับ​ความ​นับถือ​อย่าง​สูง​ใน​บ้าน​ของ​เรา.

เมื่อ​เป็น​เด็ก ฉัน​ชอบ​เอา​ไม้​มา​แกะ​สลัก​เป็น​รูป​เล็ก ๆ. พวก​ญาติ ๆ คิด​ว่า​ผล​งาน​ของ​ฉัน​เยี่ยม​มาก พวก​เขา​จึง​สนับสนุน​ให้​ฉัน​เรียน​ศิลปะ. ใน​ที่​สุด มหาวิทยาลัย​อุตสาหกรรม​ศิลป์​ที่​เฮลซิงกิ​ก็​ตอบรับ​ใบ​สมัคร​ของ​ดิฉัน. สถาบัน​การ​ศึกษา​ชั้น​ยอด​แห่ง​นี้​เป็น​ศูนย์​รวม​การ​สร้าง​สรรค์​งาน​ศิลปะ​ของ​ฟินแลนด์ และ​เป็น​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​สำหรับ​เด็ก​ต่าง​จังหวัด​อย่าง​ดิฉัน แล้ว​ดิฉัน​ก็​ถูก​กลืน​เข้า​ไป​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​นั้น. เมื่อ​จบ​การ​ศึกษา​ใน​ปี 1947 ดิฉัน​คิด​ว่า​ดิฉัน​สามารถ​จะ​ฝาก​บาง​สิ่ง​ที่​ยั่งยืน​ไว้​ใน​โลก​นี้​ได้.

จุด​เปลี่ยน

แต่​แล้ว​เป้าหมาย​ของ​ดิฉัน​ก็​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง. วัน​หนึ่ง พี่​สาว​ที่​ชื่อ​เอาเน มา​หา​ดิฉัน​และ​บอก​ด้วย​ความ​ตื่นเต้น​ว่า “พี่​พบ​ความ​จริง​แล้ว!” เธอ​ได้​รับ​หนังสือ “จง​ให้​พระเจ้า​เป็น​องค์​สัตย์​จริง” ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ดิฉัน​ไม่​ได้​รู้สึก​ประทับใจ​อะไร. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน ดิฉัน​สังเกต​ว่า​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​ที่​เคย​เรียน​ด้วย​กัน​ที่​มหาวิทยาลัย​ก็​มี​หนังสือ​นี้​ด้วย. เมื่อ​ดิฉัน​ทำ​ท่า​ดูแคลน​หนังสือ​นั้น เธอ​ก็​โต้​กลับ​มา​ว่า “หยุด​หัวเราะ​นะ! หนังสือ​เล่ม​นี้​จะ​ช่วย​ให้​เธอ​เข้าใจ​คัมภีร์​ไบเบิล.” ดิฉัน​รับ​หนังสือ​เล่ม​นั้น​มา แล้ว​อ่าน​อย่าง​ที่​แทบ​จะ​เรียก​ได้​ว่า​รวด​เดียว​จบ. ดิฉัน​ไม่​หัวเราะ​เยาะ​อีก​แล้ว อัน​ที่​จริง ดิฉัน​เชื่อ​ว่า​พวก​พยาน​ฯ มี​ความ​จริง. ดิฉัน​ยัง​ได้​เข้าใจ​ด้วย​ว่า​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​กำลัง​เสนอ​สิ่ง​หนึ่ง​ให้​แก่​ดิฉัน​ซึ่ง​ศิลปะ​ไม่​อาจ​ให้​ได้ นั่น​คือ ชีวิต​นิรันดร์.

ใน​ตอน​แรก​ที่​ดิฉัน​เพิ่ง​จะ​เริ่ม​รู้​จัก​กับ​พวก​พยาน​ฯ พวก​เขา​ไม่​ได้​เชิญ​ดิฉัน​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​ของ​พวก​เขา. ดิฉัน​จึง​คิด​ว่า​การ​ประชุม​คง​จัด​ขึ้น​สำหรับ​สมาชิก​เท่า​นั้น. ดัง​นั้น ดิฉัน​จึง​เข้า​ไป​ถาม​ว่า​จะ​ร่วม​ประชุม​ด้วย​ได้​ไหม. ดิฉัน​ดีใจ​มาก​ที่​รู้​ว่า​ทุก​คน​สามารถ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ของ​คริสเตียน​ได้. การ​ร่วม​ประชุม​เสริม​ความ​เชื่อ​ของ​ดิฉัน และ​ทำ​ให้​ดิฉัน​ตัดสิน​ใจ​อุทิศ​ชีวิต​แด่​พระ​ยะโฮวา. ดิฉัน​ประกาศ​การ​ตัดสิน​ใจ​นี้​ให้​คน​อื่น ๆ ได้​ทราบ​เมื่อ​รับ​บัพติสมา​พร้อม​กับ​พี่​สาว​ใน​วัน​ที่ 19 พฤศจิกายน 1950. เรา​ดีใจ​มาก​ที่​ใน​ที่​สุด​พี่​สาว​ของ​ดิฉัน​อีก​สี่​คน​และ​คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ที่​รัก​ของ​เรา​ก็​มา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เช่น​กัน.

ดิฉัน​ควร​เลือก​อาชีพ​อะไร?

ขณะ​ที่​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​พยาน​ฯ ดิฉัน​ก็​ก้าว​หน้า​ใน​งาน​อาชีพ​ทาง​ศิลปะ. หลัง​จบ​การ​ศึกษา​จาก​มหาวิทยาลัย​ศิลปะ ดิฉัน​ทำ​งาน​เป็น​ผู้​ช่วย​ของ​อาจารย์​ด้าน​ประติมากรรม​คน​หนึ่ง. ตอน​นั้น​เอง​ที่​โครง​งาน​ของ​ดิฉัน​สำหรับ​สร้าง​อนุสาวรีย์​เพื่อ​รำลึก​ถึง​ผู้​เสีย​ชีวิต​ใน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ได้​รับ​รางวัล​ชนะ​เลิศ​ระดับ​ประเทศ ดัง​ที่​กล่าว​ไป​ใน​ตอน​ต้น. ผล​งาน​ที่​ดิฉัน​นำ​เสนอ​มี​ชื่อ​ว่า “เส้น​ทาง​ที่​ไม่​หวน​กลับ” ซึ่ง​สะท้อน​ถึง​ทัศนะ​ของ​ดิฉัน​ที่​ปรับ​เปลี่ยน​ใหม่​ใน​เรื่อง​สงคราม. (ยะซายา 2:4; มัดธาย 26:52) เมื่อ​มี​การ​เปิด​ผ้า​คลุม​รูป​ปั้น​ซึ่ง​มี​ความ​สูง​กว่า 5 เมตร ดิฉัน​ไม่​ได้​ไป​ร่วม​ด้วย​เนื่อง​จาก​นั่น​เป็น​พิธี​ที่​แสดง​ความ​รัก​ชาติ​และ​ไม่​สอดคล้อง​กับ​ความ​เชื่อ​ของ​ดิฉัน​ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก.

เมื่อ​ชื่อเสียง​ของ​ดิฉัน​ใน​ฐานะ​ศิลปิน​โด่งดัง​ขึ้น ดิฉัน​ก็​กลาย​เป็น​ที่​รู้​จัก​พร้อม​กับ​มี​คน​มา​เสนอ​งาน​ดี ๆ ให้​ทำ​มาก​มาย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดิฉัน​ได้​ประเมิน​ดู​ว่า​อะไร​คือ​สิ่ง​สำคัญ​ใน​ชีวิต. ถึง​แม้​ดิฉัน​จะ​รัก​งาน​ศิลปะ แต่​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​ช่วย​คน​อื่น​ให้​มา​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา​นั้น​แรง​กล้า​ยิ่ง​กว่า. เพราะ​เหตุ​นี้ ใน​ปี 1953 ดิฉัน​จึง​เริ่ม​เป็น​ไพโอเนียร์ ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เรียก​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

บาง​ครั้ง​มี​คน​บอก​ดิฉัน​ว่า​ดิฉัน​ปล่อย​ให้​พรสวรรค์​ที่​มี​เสีย​ไป​เปล่า ๆ. แต่​ดิฉัน​ทราบ​ดี​ว่า​ความ​สำเร็จ​ใด ๆ ของ​ตัว​เอง​ใน​ฐานะ​ประ​ติ​มา​กร​จะ​คง​อยู่​เพียง​ชั่ว​คราว. แม้​แต่​อนุสาวรีย์​หิน​แกรนิต​ก็​จะ​พัง​ทลาย​ไป​ใน​ที่​สุด. แต่​ใน​ฐานะ​ไพโอเนียร์ ดิฉัน​สามารถ​ใช้​เวลา​ส่วน​ใหญ่​ของ​ดิฉัน​เพื่อ​ช่วย​คน​อื่น​ให้​เข้า​มา​เดิน​บน​เส้น​ทาง​สู่​ชีวิต​นิรันดร์! (โยฮัน 17:3) กระนั้น ดิฉัน​ก็​ไม่​ได้​ทิ้ง​งาน​ประติมากรรม. บาง​ครั้ง​บาง​คราว​ดิฉัน​จะ​แกะ​รูป​ปั้น​เล็ก ๆ เล่น​สนุก ๆ แล้ว​ก็​ขาย​รูป​เหล่า​นั้น​เพื่อ​จะ​มี​ราย​ได้​เลี้ยง​ตัว​เอง.

ย้าย​ไป​ยัง​เขต​ชนบท

ใน​ปี 1957 หลัง​จาก​รับใช้​เป็น​ไพโอเนียร์​ใน​เฮลซิงกิ​ได้​สี่​ปี สำนักงาน​สาขา​ฟินแลนด์​ได้​เชิญ​ดิฉัน​ไป​รับใช้​ใน​ยะลาสยาร์วิ ซึ่ง​เป็น​ชุมชน​ชนบท​ที่​อยู่​ใน​เขต​ออสโตรบอทเนีย​ใต้. ดิฉัน​เดิน​ทาง​ไป​สมทบ​กับ​อันยา เกโต ซึ่ง​อายุ​น้อย​กว่า​ดิฉัน 17 ปี. ถึง​แม้​ดิฉัน​จะ​ไม่​รู้​จัก​อันยา แต่​ดิฉัน​ก็​ตอบรับ​งาน​มอบหมาย​นี้​ด้วย​ความ​ยินดี​และ​ย้าย​ไป​อยู่​กับ​เธอ. อันยา​กับ​ฉัน​เป็น​พยาน​ฯ เพียง​สอง​คน​ใน​เขต​นั้น เรา​จึง​ทำ​งาน​รับใช้​ด้วย​กัน​เกือบ​ตลอด​เวลา. ไม่​นาน​เรา​ก็​กลาย​เป็น​เพื่อน​คู่​หู​ที่​ไม่​เคย​พราก​จาก​กัน​เลย.

การ​ย้าย​ไป​ที่​ยะลาสยาร์วิ​หมาย​ถึง​การ​กลับ​ไป​ใช้​ชีวิต​ใน​สภาพ​ที่​เรียบ​ง่าย​แบบ​ชนบท​อีก​ครั้ง​หนึ่ง คล้าย​กับ​ที่​ดิฉัน​เคย​อยู่​ก่อน​จะ​เข้า​มา​สู่​แวดวง​ศิลปิน​ใน​เมือง​หลวง​เมื่อ 20 ปี​ก่อน. ฤดู​หนาว​ที่​นี่​โหด​ร้าย​เหลือ​เกิน และ​บาง​ครั้ง​เรา​ต้อง​เดิน​ลุย​หิมะ​ที่​กอง​สูง​จน​ถึง​สะโพก​ของ​เรา. เรา​อาศัย​ใน​บ้าน​ไม้​หลัง​เล็ก ๆ ซึ่ง​ไม่​มี​สิ่ง​อำนวย​ความ​สะดวก​เลย. เรา​ไป​ตัก​น้ำ​จาก​น้ำพุ​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ และ​บาง​ครั้ง​พอ​ตก​กลางคืน​น้ำ​ที่​เรา​ตัก​มา​ไว้​ใน​บ้าน​ก็​กลาย​เป็น​น้ำ​แข็ง. แต่​เรา​ก็​มี​ทุก​สิ่ง​ที่​เรา​จำเป็น​ต้อง​มี. (1 ติโมเธียว 6:8) ตอน​นั้น​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​มี​ความ​สุข​และ​เต็ม​ไป​ด้วย​กิจกรรม.

ยุ่ง​อยู่​กับ​งาน​ที่​มี​คุณค่า

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ตอน​แรก​ความ​พยายาม​ของ​เรา​ดู​เหมือน​ไม่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​เท่า​ไร​นัก เนื่อง​จาก​คน​ใน​ท้องถิ่น​มี​อคติ​ต่อ​เรา. เพื่อ​ช่วย​ให้​พวก​เขา​เข้าใจ​งาน​ของ​เรา เรา​จึง​จัด​ฉาย​ภาพยนตร์​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทำ​ขึ้น เช่น สมาคม​โลก​ใหม่​ใน​ภาค​ปฏิบัติ และ​ความ​สุข​แห่ง​สมาคม​โลก​ใหม่. ภาพยนตร์​สอง​เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​พวก​เขา​คุ้น​เคย​กับ​เรา​และ​องค์การ​ของ​เรา ช่วย​ให้​พวก​เขา​มอง​เห็น​ว่า​กิจกรรม​ของ​เรา​ส่ง​ผล​กระทบ​ใน​ทาง​ที่​ดี​ต่อ​ผู้​คน​ทั่ว​โลก. ผู้​คน​มาก​มาย​มา​ชม​ภาพยนตร์​เหล่า​นี้.

ใน​โอกาส​หนึ่ง เอโร มูไรเนน ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​ฉาย​ภาพยนตร์​เรื่อง​สมาคม​โลก​ใหม่​ใน​ภาค​ปฏิบัติ ที่​ศาลา​ประชาคม​แห่ง​หนึ่ง. สถาน​ที่​เนืองแน่น​ไป​ด้วย​ผู้​คน​จน​ดิฉัน​ต้อง​ไป​ยืน​อยู่​ที่​มุม​ห้อง​ซึ่ง​ไกล​ที่​สุด. ดิฉัน​ต้อง​ยืน​ขา​เดียว เอา​หลัง​พิง​ฝา​ไว้ เนื่อง​จาก​บน​พื้น​ไม่​มี​ที่​ให้​วาง​เท้า​อีก​ข้าง​หนึ่ง​ได้. หลัง​จาก​ภาพยนตร์​จบ​ลง มี​หลาย​คน​เข้า​มา​หา​เรา​และ​ขอ​ให้​เรา​ไป​เยี่ยม.

นอก​จาก​นี้ เรา​ยัง​ใช้​เครื่อง​เล่น​เทป​เครื่อง​ใหญ่​เปิด​เทป​คำ​บรรยาย​เรื่อง​คัมภีร์​ไบเบิล​ตาม​บ้าน​ชาว​ไร่​ชาว​นา. ครั้ง​หนึ่ง​เรา​ตก​ลง​ว่า​จะ​เปิด​เทป​คำ​บรรยาย​เรื่อง​หนึ่ง​ตอน 1 ทุ่ม ที่​บ้าน​ของ​ครอบครัว​หนึ่ง และ​เรา​ได้​เชิญ​คน​ทั้ง​หมู่​บ้าน​มา​ชุมนุม​กัน. เช้า​ตรู่​วัน​นั้น เรา​ขี่​จักรยาน​ไป​ประกาศ​ที่​หมู่​บ้าน​หนึ่ง ซึ่ง​อยู่​ห่าง​ออก​ไป 25 กิโลเมตร โดย​คิด​ว่า​จะ​กลับ​มา​ทัน​ก่อน​ค่ำ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ตอน​ที่​เรา​ออก​มา​จาก​หมู่​บ้าน ฝน​ที่​ตก​ลง​มา​ก่อน​หน้า​นั้น​ได้​ทำ​ให้​ถนน​เฉอะ​แฉะ​ไป​ด้วย​โคลน.

ใน​ที่​สุด จักรยาน​ของ​เรา​ก็​มี​โคลน​เกาะ​หนา​จน​ล้อ​หมุน​ไม่​ได้ เรา​จึง​ต้อง​แบก​มัน​กลับ​บ้าน. ผล​ก็​คือ เรา​ไม่​สามารถ​จะ​ออก​จาก​บ้าน​ตาม​เวลา​ที่​วาง​แผน​ไว้​จน​กระทั่ง​ค่ำ​แล้ว. เรา​เอา​เครื่อง​เล่น​เทป​ที่​หนัก​อึ้ง​ไป​ด้วย และ​ไป​ถึง​ที่​นั่น​ตอน​สี่​ทุ่ม. เรา​ค่อนข้าง​แน่​ใจ​ว่า​ทุก​คน​คง​กลับ​บ้าน​กัน​หมด​แล้ว. แต่​เรา​ก็​ต้อง​แปลก​ใจ​ที่​ยัง​มี​คน​รอ​เรา​อยู่​เต็ม​บ้าน! หลัง​จาก​ฟัง​คำ​บรรยาย​แล้ว​ก็​ยัง​สนทนา​กัน​ต่อ​อย่าง​ออก​รส​ออก​ชาติ. ใน​ที่​สุด​เรา​ก็​ได้​กลับ​มา​ถึง​บ้าน​ใน​ตอน​เช้า​มืด เรา​เหนื่อย​จน​สาย​ตัว​แทบ​ขาด​แต่​ก็​มี​ความ​สุข​มาก!

ระยะ​ทาง​ระหว่าง​หมู่​บ้าน​แต่​ละ​แห่ง​ไกล​กัน​มาก พยาน​ฯ ใน​เขต​นี้​จึง​ช่วย​เรา​ซื้อ​รถ​คัน​หนึ่ง เป็น​รถ​รัสเซีย​รุ่น​เก่า. นั่น​ทำ​ให้​งาน​ประกาศ​ของ​เรา​ง่าย​ขึ้น​มาก. ต่อ​มา ใคร ๆ ก็​รู้​จัก​รถ​ของ​เรา เพราะ​ระหว่าง​ที่​บิชอป​ผู้​ดู​แล​แขวง​ปกครอง​นี้​มา​เยี่ยม เขา​ได้​ห้าม​ประชาชน​ใน​แขวง​ปกครอง​ของ​เขา​ไม่​ให้​ต้อนรับ​เรา​เข้า​บ้าน. เขา​พูด​ถึง​ผู้​หญิง​สอง​คน​กับ​รถ​สี​น้ำเงิน. คำ​เตือน​นี้​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ผู้​คน​ใน​ทันที. พวก​เขา​อยาก​รู้​ว่า​ใคร​คือ​ผู้​หญิง​สอง​คน​นั้น​และ​อะไร​ทำ​ให้​พวก​เธอ​เป็น​ตัว​อันตราย​ขนาด​นั้น! ความ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​ของ​พวก​เขา​ทำ​ให้​เรา​ได้​สนทนา​เรื่อง​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​อย่าง​ดี​กับ​หลาย​คน. ถ้อย​คำ​ของ​ยะซายา​เป็น​ความ​จริง​ที​เดียว​ที่​ว่า “ไม่​มี​เครื่อง​มือ​อัน​ใด​ที่​สร้าง​ไว้​ประหาร​เจ้า​จะ​สัมฤทธิ์​ผล.”—ยะซายา 54:17.

ใน​ที่​สุด งาน​ของ​เรา​ก็​เกิด​ผล. เรา​เริ่ม​จัด​การ​ประชุม​ทุก​สัปดาห์​ร่วม​กับ​ผู้​สนใจ​กลุ่ม​เล็ก ๆ. ใน​ที่​สุด​กลุ่ม​ของ​เรา​ก็​ใหญ่​ขึ้น และ​ใน​ปี 1962 ประชาคม​ก็​ถูก​ตั้ง​ขึ้น โดย​มี​พยาน​ฯ 18 คน ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ผู้​หญิง. สอง​ปี​ต่อ​มา อันยา​กับ​ดิฉัน​ถูก​ย้าย​ไป​ยัง​เทศบาล​อือลิสตาโร​ซึ่ง​อยู่​ใน​ภูมิภาค​เดียว​กัน.

สิ่ง​แวด​ล้อม​ที่​เป็น​แรง​บันดาล​ใจ

เรา​ชอบ​ความ​สวย​งาม​และ​ความ​สงบ​เงียบ​แบบ​ชนบท​ใน​เขต​มอบหมาย​ใหม่​ของ​เรา แต่​ที่​เรา​ชอบ​เป็น​พิเศษ​คือ​ผู้​คน. ส่วน​ใหญ่​แล้ว​พวก​เขา​เป็น​คน​มี​น้ำใจ​เอื้อเฟื้อ​และ​เป็น​มิตร. จริง​อยู่ หลาย​คน​เป็น​พวก​เคร่ง​ศาสนา​และ​รัก​ชาติ​อย่าง​รุนแรง และ​บาง​ครั้ง​พวก​เขา​ก็​บอก​ปัด​เรา​อย่าง​โกรธ​เคือง แต่​ก็​ยัง​มี​คน​ที่​แสดง​ความ​นับถือ​อย่าง​มาก​ต่อ​คัมภีร์​ไบเบิล. หลาย​ครั้ง​เมื่อ​เรา​หยิบ​คัมภีร์​ไบเบิล​ออก​มา พวก​ผู้​หญิง​จะ​หยุด​ทำ​งาน​บ้าน​เพื่อ​ฟัง​เรา​และ​พวก​ผู้​ชาย​จะ​ถอด​หมวก​ออก ทั้ง​ที่​ปกติ​แล้ว​พวก​เขา​แทบ​ไม่​เคย​ให้​มัน​ห่าง​จาก​ศีรษะ​เลย. บาง​ครั้ง​เมื่อ​เรา​กำลัง​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล คน​ทั้ง​บ้าน​และ​แม้​แต่​เพื่อน​บ้าน​ก็​จะ​มา​นั่ง​ฟัง​ด้วย.

คน​ที่​จริง​ใจ​และ​ซื่อ​สัตย์​ที่​ดิฉัน​พบ​ใน​งาน​รับใช้​เป็น​แรง​บันดาล​ใจ​ให้​ดิฉัน​สร้าง​สรรค์​งาน​ศิลปะ. เมื่อ​ใด​ที่​มี​เวลา ดิฉัน​จะ​เอา​ดิน​เหนียว​มา​ปั้น​หรือ​แกะ​เป็น​รูป​ต่าง ๆ. เนื่อง​จาก​สิ่ง​ที่​ดึงดูด​ใจ​ดิฉัน​อยู่​เสมอ​ก็​คือ​ลักษณะ​ที่​มี​เสน่ห์​และ​อารมณ์​ขัน​ของ​ผู้​คน ดัง​นั้น รูป​ปั้น​ของ​ดิฉัน​จึง​เป็น​รูป​คน​เกือบ​ทั้ง​หมด. มี​หลาย​ชิ้น​เป็น​รูป​ผู้​หญิง​กำลัง​ทำ​งาน​บ้าน. บทความ​ใน​นิตยสาร​ฉบับ​หนึ่ง​พูด​ถึง​ผล​งาน​ของ​ดิฉัน​ว่า “รูป​ปั้น​เหล่า​นี้​ถ่ายทอด​ความ​รู้สึก​อบอุ่น​ของ​ดิน​และ​ความ​สงบ​สุข พร้อม ๆ กับ​อารมณ์​ขัน​และ​ดุลยภาพ​ที่​ผ่อน​คลาย . . . ความ​รัก​อัน​อบอุ่น​ต่อ​ผู้​คน​บวก​กับ​ทักษะ​ทาง​ศิลปะ​ที่​ยอด​เยี่ยม​คือ​พลัง​สร้าง​สรรค์​ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง​รูป​เหล่า​นี้.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดิฉัน​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​ใช้​เวลา​มาก​เกิน​ไป​กับ​งาน​ศิลปะ. ดิฉัน​ยึด​มั่น​กับ​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​ดิฉัน​ที่​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​เต็ม​เวลา.

ใน​ปี 1973 มี​การ​เสนอ​งาน​หนึ่ง​ให้​ดิฉัน​ทำ ซึ่ง​ดิฉัน​ไม่​คิด​จะ​ปฏิเสธ​เลย. ดิฉัน​ถูก​ขอ​ให้​แกะ​รูป​นูน​ขนาด​ใหญ่​บน​แผ่นดิน​เหนียว​สำหรับ​ห้อง​โถง​รับ​แขก​แห่ง​ใหม่​ของ​สำนักงาน​สาขา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ฟินแลนด์​ซึ่ง​อยู่​ที่​วาน​ตา. หัวข้อ​ของ​ภาพ​ที่​มี​การ​เลือก​ไว้​คือ​บทเพลง​สรรเสริญ 96:11-13. ดิฉัน​มี​ความ​สุข​จริง ๆ ที่​ได้​ใช้​ทักษะ​ที่​มี​เพื่อ​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา!

เนื่อง​จาก​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​ดิฉัน​ได้​สร้าง​สรรค์​งาน​ศิลปะ​ตาม​ความ​พอ​ใจ​ส่วน​ตัว​ใน​ช่วง​ที่​เป็น​ไพโอเนียร์ ดิฉัน​จึง​ประหลาด​ใจ​ที่​ได้​รับ​เงิน​บำนาญ​สำหรับ​ศิลปิน​ใน​ตอน​ปลาย​ทศวรรษ 1970. แน่​ละ ดิฉัน​รู้สึก​ขอบคุณ​สำหรับ​เงิน​ช่วยเหลือ​นั้น แต่​ใน​ใจ​ดิฉัน​คิด​ว่า ‘นี่​นะ​หรือ​คือ​ทั้ง​หมด​ที่​ดิฉัน​จะ​ได้​รับ​หาก​ดิฉัน​ทุ่มเท​ชีวิต​ให้​กับ​ศิลปะ? คือ​เงิน​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​มา​บ้าง​เพื่อ​ชีวิต​ใน​วัย​เกษียณ​ของ​ดิฉัน​จะ​มั่นคง​ขึ้น​อย่าง​นั้น​หรือ?’ มัน​ช่าง​น้อย​นิด​เมื่อ​เทียบ​กับ​ชีวิต​นิรันดร์​ที่​เรา​จะ​ได้​รับ​เป็น​รางวัล! —1 ติโมเธียว 6:12.

กลับ​สู่​เมือง​กรุง

ปี 1974 มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ครั้ง​ใหญ่​พอ​ดู​ใน​ชีวิต​และ​งาน​รับใช้​ของ​เรา. เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ไป​เมือง​ใหญ่​ชื่อ​ตูร์กุ. เวลา​นั้น​มี​การ​ก่อ​สร้าง​อพาร์ตเมนต์​ใหม่ ๆ ขึ้น​มาก​มาย​ใน​เมือง​นั้น และ​ผู้​คน​ที่​หลั่งไหล​เข้า​มา​ทำ​ให้​มี​ความ​ต้องการ​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​เพิ่ม​ขึ้น. ตอน​แรก​เรา​ไม่​ชอบ​เขต​มอบหมาย​ใหม่​ของ​เรา​เท่า​ไร​นัก. การ​ประกาศ​กับ​คน​ใน​เมือง​ใหญ่​ดู​จะ​ยาก​กว่า เพราะ​พวก​เขา​ส่วน​ใหญ่​ตอบรับ​ด้วย​ท่าที​เฉยเมย. แต่​พวก​เรา​ก็​ค่อย ๆ ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​เขต​งาน​ใหม่ และ​เรา​พบ​คน​มาก​มาย​ที่​หยั่ง​รู้​ค่า​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.

ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา อันยา​กับ​ดิฉัน​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​ช่วย​คน​มาก​กว่า 40 คน​ให้​อุทิศ​ชีวิต​แด่​พระ​ยะโฮวา. ลูก​ฝ่าย​วิญญาณ​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​หัวใจ​เรา​ชื่น​บาน​จริง ๆ! (3 โยฮัน 4) ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​สุขภาพ​ของ​ดิฉัน​แย่​ลง​เรื่อย ๆ แต่​ดิฉัน​กลับ​ยิ่ง​รู้สึก​ว่า​ได้​รับ​การ​หนุน​หลัง​จาก​พระ​ยะโฮวา, ความ​รัก​จาก​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม, และ​การ “เสริม​กำลัง” จาก​อันยา เพื่อน​ไพโอเนียร์​ที่​รัก​ของ​ดิฉัน มาก​เหลือ​เกิน. (โกโลซาย 4:11; บทเพลง​สรรเสริญ 55:22) ตอน​ที่​ดิฉัน​พบ​กับ​อันยา​เมื่อ 50 ปี​ที่​แล้ว ดิฉัน​คิด​ว่า​เรา​ทั้ง​สอง​คน​คง​นึก​ไม่​ถึง​ว่า​จะ​เป็น​ไพโอเนียร์​คู่​กัน​ไป​ตลอด​ชีวิต.

มี​คำ​พูด​หนึ่ง​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี นั่น​คือ “ชีวิต​นั้น​แสน​สั้น แต่​ศิลปะ​คง​อยู่​นิรันดร์.” แต่​คำ​พูด​นี้​ไม่​เคย​เป็น​คำ​ขวัญ​ประจำ​ใจ​ของ​ดิฉัน. ดิฉัน​เห็น​พ้อง​กับ​คำ​กล่าว​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ที่ 2 โกรินโธ 4:18 ที่​บอก​ว่า “สิ่ง​ของ​ซึ่ง​แล​เห็น​อยู่​นั้น​เป็น​ของ​ไม่​ยั่งยืน แต่​สิ่ง​ซึ่ง​แล​ไม่​เห็น​นั้น​ก็​ถาวร​อยู่​นิรันดร์.” ความ​ยินดี​ทั้ง​หมด​ที่​ดิฉัน​ได้​รับ​ตอน​ที่​เป็น​ศิลปิน​ล้วน​แต่​เป็น “สิ่ง​ของ​ซึ่ง​แล​เห็น” ซึ่ง​ไม่​ยั่งยืน. แน่นอน​ว่า สิ่ง​เหล่า​นั้น​ไม่​อาจ​เทียบ​ได้​กับ​ความ​ยินดี​ที่​ดิฉัน​ได้​รับ​จาก​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา อีก​ทั้ง​ไม่​ได้​ให้​ชีวิต​นิรันดร์​ด้วย. ดิฉัน​รู้สึก​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​เหลือ​ล้น​ที่​ดิฉัน​ได้​อุทิศ​ชีวิต​เพื่อ “สิ่ง​ของ​ซึ่ง​แล​ไม่​เห็น” ซึ่ง​ยั่งยืน​กว่า​ศิลปะ!

[ภาพ​หน้า 19]

ขณะ​ที่​ทำ​อนุสาวรีย์​หิน​แกรนิต

[ภาพ​หน้า 21]

กับ​อันยา (ซ้าย) ปี 1957

[ภาพ​หน้า 22]

กับ​อันยา (ขวา) ใน​ปัจจุบัน