ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมื่อศีลธรรมเสื่อมลงอย่างน่าตกใจ

เมื่อศีลธรรมเสื่อมลงอย่างน่าตกใจ

เมื่อ​ศีลธรรม​เสื่อม​ลง​อย่าง​น่า​ตกใจ

คุณ​คิด​ว่า​สภาพ​ศีลธรรม​เริ่ม​เสื่อม​ลง​อย่าง​น่า​ตกใจ​ตั้ง​แต่​เมื่อ​ไร? ภาย​ใน​ชั่ว​ชีวิต​ของ​คุณ​หรือ​อาจ​เป็น​ชั่ว​ชีวิต​ของ​ญาติ​หรือ​เพื่อน ๆ ที่​มี​อายุ​มาก​กว่า​คุณ​ไหม? บาง​คน​บอก​ว่า​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1 ซึ่ง​ระเบิด​ขึ้น​ใน​ปี 1914 นำ​เอา​ความ​เสื่อม​ทราม​ทาง​ศีลธรรม​เข้า​มา​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน. ศาสตราจารย์​ด้าน​ประวัติศาสตร์ โรเบิร์ต โวล เขียน​ใน​หนังสือ​ชื่อ​คน​รุ่น 1914 (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “คน​ที่​รอด​ผ่าน​สงคราม​นั้น​มา​ได้​ไม่​อาจ​ลบ​ล้าง​ความ​คิด​ที่​ว่า​โลก​หนึ่ง​ได้​สิ้น​สุด​ไป​แล้ว และ​อีก​โลก​หนึ่ง​เริ่ม​ต้น​ขึ้น​ใน​เดือน​สิงหาคม ปี 1914.”

นัก​ประวัติศาสตร์​นอร์แมน แคนเทอร์ กล่าว​ว่า “ใน​ทุก​หน​ทุก​แห่ง มาตรฐาน​ของ​พฤติกรรม​ใน​สังคม​ซึ่ง​กำลัง​เสื่อม​ทราม​ลง​อยู่​แล้ว​ได้​ถูก​ทำลาย​จน​หมด​สิ้น. ถ้า​นัก​การ​เมือง​และ​พวก​นาย​พล​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​หลาย​ล้าน​คน​ที่​อยู่​ใน​ความ​ดู​แล​ของ​ตน​ราว​กับ​สัตว์​ที่​ถูก​ส่ง​ไป​ฆ่า แล้ว​จะ​มี​กฎเกณฑ์​ใด​ทาง​ศาสนา​หรือ​ทาง​จริยธรรม​ที่​สามารถ​ยับยั้ง​คน​เรา​ไว้​ไม่​ให้​ปฏิบัติ​ต่อ​กัน​ด้วย​ความ​โหด​ร้าย​ราว​กับ​สัตว์​ป่า​เล่า? . . . การ​เข่น​ฆ่า​กัน​ใน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง [1914-1918] ทำ​ให้​ชีวิต​มนุษย์​ดู​เหมือน​ไร้​ค่า​ไป​เลย.”

ใน​งาน​วิจัย​ที่​ละเอียด​ถี่ถ้วน​ชื่อ​เค้าโครง​แห่ง​ประวัติศาสตร์ (ภาษา​อังกฤษ) นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​อังกฤษ​ชื่อ เอช. จี. เวลส์ กล่าว​ว่า ตั้ง​แต่​มี​การ​ยอม​รับ​ทฤษฎี​วิวัฒนาการ “การ​เสื่อม​ถอย​ทาง​ศีลธรรม​อย่าง​แท้​จริง​ก็​ตาม​มา.” เพราะ​เหตุ​ใด? บาง​คน​เชื่อ​ว่า​มนุษย์​เป็น​เพียง​สัตว์​ชั้น​สูง​ชนิด​หนึ่ง. เวลส์ ซึ่ง​เป็น​นัก​วิวัฒนาการ​เช่น​กัน ได้​เขียน​ใน​ปี 1920 ว่า “พวก​เขา​ลง​ความ​เห็น​ว่า มนุษย์​เป็น​สัตว์​สังคม​เช่น​เดียว​กับ​สุนัข​ล่า​เนื้อ​พันธุ์​อินเดีย . . . ดัง​นั้น​จึง​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​เรื่อง​ถูก​ต้อง​แล้ว​ที่​สุนัข​ตัว​ใหญ่​ใน​ฝูง​มนุษย์​จะ​กลั่นแกล้ง​และ​ทำ​ให้​ตัว​อื่น ๆ ยอม​สยบ.”

จริง​ที​เดียว ดัง​ที่​แคนเทอร์​กล่าว​ไว้ สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง​มี​ผล​เสียหาย​อย่าง​ใหญ่​หลวง​ต่อ​ความ​รู้สึก​ทาง​ด้าน​ศีลธรรม​ของ​ผู้​คน. เขา​ชี้​แจง​ว่า “คน​รุ่น​เก่า ๆ ถูก​ทำ​ให้​หมด​ความ​น่า​เชื่อถือ​ใน​ทุก​ด้าน ตั้ง​แต่​การ​เมือง, การ​แต่ง​กาย, และ​เจตคติ​เรื่อง​เพศ.” คริสตจักร ซึ่ง​เอา​คำ​สอน​ของ​คริสเตียน​ไป​ขาย​เสีย​โดย​สนับสนุน​ทฤษฎี​วิวัฒนาการ​และ​ยุยง​ฝ่าย​ที่​ทำ​สงคราม​กัน มี​ส่วน​อย่าง​มาก​ใน​การ​ทำ​ให้​ศีลธรรม​เสื่อม​ลง. นาย​พล​จัตวา​ชาว​อังกฤษ​ชื่อ​แฟรงก์ โครเซอร์ เขียน​ว่า “คริสตจักร​ของ​พวก​คริสเตียน​เป็น​ผู้​ยุยง​ตัว​ฉกาจ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ความ​กระหาย​เลือด​และ​เรา​ได้​ใช้​คริสตจักร​นั้น​อย่าง​เต็ม​ที่.”

หลัก​ศีลธรรม​ถูก​ละ​ทิ้ง

ใน​ช่วง​ไม่​กี่​สิบ​ปี​หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1—หรือ​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ทศวรรษ 1920 ยุค​อัน​รุ่งเรือง​เฟื่องฟู—ค่า​นิยม​เก่า ๆ และ​ความ​เหนี่ยว​รั้ง​ตัว​ทาง​ด้าน​ศีลธรรม​ถูก​ละเลย​และ​ถูก​แทน​ที่​ด้วย​เจตคติ​แบบ​อะไร​ก็​ได้. นัก​ประวัติศาสตร์​เฟรเดอริก ลูอิส แอลเลน กล่าว​ว่า “ช่วง​สิบ​ปี​หลัง​สงคราม​อาจ​ถูก​เรียก​ได้​อย่าง​เหมาะ​สม​ว่า​ทศวรรษ​แห่ง​การ​ไร้​มารยาท. . . . ระบบ​ระเบียบ​แบบ​เก่า ๆ จบ​สิ้น​ลง​พร้อม ๆ กับ​ค่า​นิยม​ที่​ทำ​ให้​ชีวิต​มี​ความ​หมาย​และ​พึง​พอ​ใจ และ​ค่า​นิยม​ที่​จะ​มา​แทน​ที่​ก็​หา​ไม่​ได้​ง่าย ๆ.”

ภาวะ​เศรษฐกิจ​ตก​ต่ำ​ครั้ง​ใหญ่​ใน​ทศวรรษ 1930 ช่วย​ให้​หลาย​คน​ได้​สติ​โดย​ทำ​ให้​พวก​เขา​จม​ดิ่ง​ลง​สู่​ความ​แร้นแค้น. อย่าง​ไร​ก็​ดี เมื่อ​ทศวรรษ​นั้น​จบ​ลง โลก​ก็​เข้า​สู่​สงคราม​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ซึ่ง​ร้ายแรง​ยิ่ง​กว่า นั่น​คือ​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2. ไม่​นาน​นัก ชาติ​ต่าง ๆ ก็​สร้าง​อาวุธ​ทำลาย​ล้าง​อัน​น่า​พรั่นพรึง ฉุด​ให้​โลก​ขึ้น​มา​จาก​ภาวะ​เศรษฐกิจ​ตก​ต่ำ แต่​แล้ว​ก็​เหวี่ยง​โลก​ลง​ไป​สู่​ความ​ทุกข์​และ​ความ​หวาด​กลัว​เกิน​ที่​มนุษย์​จะ​นึก​ภาพ​ได้. เมื่อ​สงคราม​จบ​ลง เมือง​ต่าง ๆ หลาย​ร้อย​เมือง​เหลือ​แต่​ซาก​ปรัก​หัก​พัง; เมือง​สอง​เมือง​ใน​ญี่ปุ่น​ถูก​ทำลาย​อย่าง​ย่อยยับ​โดย​ที่​แต่​ละ​เมือง​โดน​ระเบิด​ปรมาณู​ถล่ม​เพียง​ลูก​เดียว! หลาย​ล้าน​คน​เสีย​ชีวิต​ใน​ค่าย​กัก​กัน​ที่​น่า​สยดสยอง. รวม​ทั้ง​หมด​แล้ว สงคราม​ครั้ง​นั้น​ทำ​ให้​ชาย, หญิง, และ​เด็ก ๆ สูญ​เสีย​ชีวิต​ไป​ราว ๆ 50 ล้าน​คน.

ช่วง​ที่​เกิด​สภาพการณ์​อัน​น่า​สยดสยอง​ใน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 แทน​ที่​จะ​ยึด​มั่น​กับ​มาตรฐาน​ทาง​ประเพณี​ที่​ยึด​ถือ​กัน​มา​นาน​ใน​เรื่อง​มารยาท ผู้​คน​กลับ​คิด​ค้น​หลัก​เกณฑ์​ด้าน​ความ​ประพฤติ​ขึ้น​มา​เอง. หนังสือ​ความ​รัก, เพศ และ​สงคราม—ค่า​นิยม​ที่​เปลี่ยน​ไป 1939-1945 (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ดู​เหมือน​ว่า​การ​เหนี่ยว​รั้ง​ตัว​ใน​เรื่อง​เพศ​ถูก​ระงับ​ไว้​ใน​ช่วง​นั้น ขณะ​ที่​ความ​ประพฤติ​แบบ​ที่​เหมาะ​กับ​สนาม​รบ​ได้​แทรกซึม​เข้า​มา​ใน​บ้าน​ของ​ผู้​คน. . . . ไม่​นาน​ความ​รีบ​เร่ง​และ​ความ​น่า​ตื่นเต้น​ของ​สงคราม​ก็​เซาะกร่อน​ความ​เหนี่ยว​รั้ง​ด้าน​ศีลธรรม และ​ชีวิต​ครอบครัว​ใน​หลาย​ด้าน​ก็​ดู​เหมือน​ไร้​ค่า​และ​แสน​สั้น​ราว​กับ​ชีวิต​ใน​สนาม​รบ.”

การ​ที่​ต้อง​เสี่ยง​กับ​ความ​ตาย​ตลอด​เวลา​ทำ​ให้​ผู้​คน​ปรารถนา​ที่​จะ​สร้าง​ความ​ผูก​พัน​ทาง​อารมณ์​ต่อ​กัน​มาก​ยิ่ง​ขึ้น รวม​ทั้ง​แม้​กระทั่ง​ความ​สัมพันธ์​แบบ​ฉาบฉวย. แม่บ้าน​ชาว​อังกฤษ​คน​หนึ่ง ซึ่ง​พยายาม​จะ​หา​เหตุ​ผล​สำหรับ​การ​ปล่อย​ตัว​ทาง​เพศ​ใน​ช่วง​ที่​วุ่นวาย​นั้น​กล่าว​ว่า “เรา​ไม่​ได้​ไร้​ศีลธรรม​จริง ๆ หรอก ก็​สงคราม​กำลัง​ดำเนิน​อยู่​นี่.” ทหาร​ชาว​อเมริกัน​คน​หนึ่ง​ยอม​รับ​ว่า “ตาม​มาตรฐาน​ของ​คน​ทั่ว​ไป​เรา​เป็น​คน​ไร้​ศีลธรรม แต่​ตอน​นั้น​เรา​อายุ​ยัง​น้อย​และ​อาจ​จะ​ตาย​ใน​วัน​ถัด​มา​ก็​ได้.”

ผู้​รอด​ชีวิต​จาก​สงคราม​ครั้ง​นั้น​หลาย​คน​ทน​ทุกข์​อัน​เนื่อง​มา​จาก​สิ่ง​ที่​น่า​สยดสยอง​ซึ่ง​พวก​เขา​ได้​เห็น. จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้ บาง​คน รวม​ทั้ง​คน​ที่​ใน​เวลา​นั้น​ยัง​เป็น​เด็ก ประสบ​กับ​ภาพ​ใน​อดีต​ที่​กลับ​มา​หลอก​หลอน​เขา หรือ​มี​ความ​รู้สึก​ว่า​เหตุ​การณ์​ร้าย ๆ นั้น​กำลัง​เกิด​ขึ้น​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. หลาย​คน​สูญ​เสีย​ความ​เชื่อ​ของ​ตน​ไป​พร้อม ๆ กับ​ความ​สำนึก​ด้าน​ศีลธรรม. โดย​ไม่​ยอม​รับ​อำนาจ​ใด ๆ ที่​จะ​ตั้ง​มาตรฐาน​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด ผู้​คน​เริ่ม​มอง​ว่า​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง​เป็น​เรื่อง​ของ​มุม​มอง​แต่​ละ​คน.

บรรทัดฐาน​ใหม่​ทาง​สังคม

หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 มี​การ​ตี​พิมพ์​งาน​วิจัย​เกี่ยว​กับ​พฤติกรรม​ทาง​เพศ​ของ​มนุษย์. งาน​วิจัย​ฉบับ​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ​ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1940 คือ​รายงาน​คินซีย์ ซึ่ง​มี​ความ​หนา​กว่า 800 หน้า. ผล​ที่​เกิด​จาก​เรื่อง​นี้​ก็​คือ หลาย​คน​เริ่ม​พูด​ถึง​เรื่อง​เพศ​อย่าง​เปิด​เผย ซึ่ง​ก่อน​หน้า​นั้น​ไม่​ได้​มี​การ​พูด​คุย​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย. แม้​ต่อ​มา​ภาย​หลัง​จะ​มี​การ​ยอม​รับ​ว่า​ตัว​เลข​สถิติ​ต่าง ๆ ใน​รายงาน​ฉบับ​นั้น​เกี่ยว​กับ​คน​ที่​มี​พฤติกรรม​แบบ​รัก​ร่วม​เพศ​และ​พฤติกรรม​ทาง​เพศ​ที่​เบี่ยง​เบน​แบบ​อื่น ๆ เป็น​ตัว​เลข​ที่​เกิน​ความ​เป็น​จริง แต่​งาน​วิจัย​นี้​ก็​เผย​ถึง​ความ​เสื่อม​ทราม​ทาง​ศีลธรรม​ที่​น่า​ตกใจ​ภาย​หลัง​สงคราม.

ใน​ช่วง​หนึ่ง มี​การ​พยายาม​รักษา​สิ่ง​ที่​เหมาะ​ที่​ควร​เอา​ไว้. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​วิทยุ, ภาพยนตร์, และ​โทรทัศน์ เนื้อหา​ที่​ผิด​ศีลธรรม​จะ​ถูก​ตัด​ออก​ไป. แต่​สภาพการณ์​เช่น​นี้​ไม่​ได้​มี​อยู่​นาน​นัก. วิลเลียม เบนเนตต์ ซึ่ง​เคย​เป็น​รัฐมนตรี​ว่า​การ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​แห่ง​สหรัฐ อธิบาย​ว่า “อย่าง​ไร​ก็​ตาม พอ​ถึง​ทศวรรษ 1960 อเมริกา​ก็​เริ่ม​ดำ​ดิ่ง​อย่าง​ไม่​หยุด​ยั้ง​ลง​สู่​สิ่ง​ที่​อาจ​เรียก​ว่า​การ​ทำลาย​ทาง​อารยธรรม.” และ​นี่​สะท้อน​ให้​เห็น​ใน​ดินแดน​อื่น ๆ อีก​หลาย​แห่ง. ทำไม​ศีลธรรม​จึง​เสื่อม​เร็ว​ยิ่ง​ขึ้น​ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1960?

ใน​ทศวรรษ​นั้น​เกิด​เหตุ​การณ์​สอง​อย่าง​เกือบ​จะ​พร้อม ๆ กัน คือ​มี​ขบวนการ​เรียก​ร้อง​สิทธิ​สตรี​และ​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ครั้ง​ใหญ่​ใน​เจตคติ​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​เพศ​พร้อม​กับ​สิ่ง​ที่​เรียก​กัน​ว่า ศีลธรรม​แบบ​ใหม่. นอก​จาก​นั้น มี​การ​คิด​ค้น​ยา​คุม​กำเนิด​ที่​ได้​ผล. ใน​เมื่อ​สามารถ​มี​เพศ​สัมพันธ์​โดย​ไม่​ต้อง​กลัว​การ​ตั้ง​ครรภ์ “รัก​แบบ​เสรี” หรือ “เพศ​สัมพันธ์​ที่​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​ไม่​มี​พันธะ​ผูก​มัด” ก็​เริ่ม​แพร่​หลาย​จน​เป็น​สิ่ง​ปกติ.

ใน​เวลา​เดียว​กัน หนังสือ​พิมพ์, ภาพยนตร์, และ​โทรทัศน์​ก็​ลด​มาตรฐาน​ทาง​ศีลธรรม​ของ​ตน​ลง. ต่อ​มา ซบิกนีเยฟ เบรชินสกี อดีต​ประธาน​สภา​ความ​มั่นคง​แห่ง​ชาติ​สหรัฐ กล่าว​เกี่ยว​กับ​ค่า​นิยม​ที่​มี​การ​นำ​เสนอ​ใน​ทีวี​ว่า “ค่า​นิยม​นั้น​ยกย่อง​การ​สนอง​ความ​ปรารถนา​ของ​ตน​เอง​อย่าง​ชัดเจน, ทำ​ให้​ความ​รุนแรง​และ​ความ​โหด​ร้าย​กลาย​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา, [และ] ส่ง​เสริม​การ​สำส่อน​ทาง​เพศ.”

พอ​ถึง​ทศวรรษ 1970 เครื่อง​เล่น​วิดีโอ​ก็​ได้​รับ​ความ​นิยม. มา​ตอน​นี้​เมื่อ​อยู่​ใน​บ้าน​ส่วน​ตัว ผู้​คน​สามารถ​ชม​สิ่ง​ที่​ผิด​ศีลธรรม​และ​เรื่อง​ที่​โจ่งแจ้ง​ทาง​เพศ​ซึ่ง​พวก​เขา​จะ​ไม่​มี​วัน​ยอม​ให้​คน​อื่น​เห็น​เขา​ว่า​เดิน​เข้า​ไป​ชม​สิ่ง​เหล่า​นั้น​ใน​โรง​ภาพยนตร์​สาธารณะ. ต่อ​มา โดย​ใช้​อินเทอร์เน็ต สื่อ​ลามก​ใน​แบบ​ที่​น่า​รังเกียจ​ที่​สุด​ก็​สามารถ​ชม​ได้​ทั่ว​โลก สำหรับ​ใคร​ก็​ตาม​ที่​มี​คอมพิวเตอร์.

ผล​กระทบ​นั้น​น่า​กลัว​ใน​หลาย ๆ ทาง. ผู้​คุม​คน​หนึ่ง​ใน​ทัณฑสถาน​แห่ง​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ​กล่าว​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ว่า “สิบ​ปี​ที่​แล้ว​เมื่อ​พวก​คน​หนุ่ม​สาว​เข้า​มา​ที่​นี่ ผม​เคย​พูด​กับ​เขา​ได้​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด. แต่​พวก​หนุ่ม​สาว​ที่​เข้า​มา​ที่​นี่​สมัย​นี้​ไม่​เข้าใจ​เลย​ว่า​ผม​กำลัง​พูด​เรื่อง​อะไร.”

คน​เรา​จะ​หัน​ไป​พึ่ง​อะไร​ได้?

เรา​ไม่​สามารถ​หัน​ไป​พึ่ง​คริสตจักร​ต่าง ๆ ใน​โลก​เพื่อ​จะ​ได้​การ​ชี้​นำ​ทาง​ศีลธรรม. แทน​ที่​จะ​ยึด​มั่น​กับ​หลักการ​อัน​ชอบธรรม​ดัง​ที่​พระ​เยซู​และ​ผู้​ติด​ตาม​ของ​พระองค์​ใน​ศตวรรษ​แรก​ได้​ทำ คริสตจักร​ต่าง ๆ ได้​พา​ตัว​เอง​ไป​เป็น​ส่วน​ของ​โลก​นี้​และ​ความ​ชั่ว​ร้าย​ใน​โลก. นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​ตั้ง​คำ​ถาม​ว่า “มี​สงคราม​ครั้ง​ใด​บ้าง​ที่​แต่​ละ​ฝ่าย​ไม่​ได้​อ้าง​ว่า​พระเจ้า​อยู่​ฝ่าย​ตน?” ใน​เรื่อง​การ​ยึด​มั่น​กับ​มาตรฐาน​ศีลธรรม​ของ​พระเจ้า นัก​เทศน์​ใน​นคร​นิวยอร์ก​คน​หนึ่ง​กล่าว​ไว้​เมื่อ​หลาย​ปี​ก่อน​ว่า “คริสตจักร​เป็น​องค์กร​เดียว​เท่า​นั้น​ใน​โลก​ที่​มี​ข้อ​เรียก​ร้อง​สำหรับ​การ​เข้า​เป็น​สมาชิก​น้อย​กว่า​ข้อ​เรียก​ร้อง​สำหรับ​การ​ขึ้น​รถ​โดยสาร.”

เห็น​ได้​ชัด ความ​เสื่อม​ลง​อย่าง​น่า​ตกใจ​ใน​ศีลธรรม​ของ​โลก​นี้​เรียก​ร้อง​ให้​มี​การ​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง. แต่​อะไร​ล่ะ? จำเป็น​ต้อง​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​อะไร? ใคร​จะ​ทำ​เช่น​นั้น และ​จะ​ทำ​ได้​อย่าง​ไร?

[คำ​โปรย​หน้า 5]

“การ​เข่น​ฆ่า​กัน​ใน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง [1914-1918] ทำ​ให้ คุณค่า​ของ​ชีวิต​มนุษย์​สูญ​สิ้น​ไป”

[กรอบ​หน้า 6]

ความ​ดี​กับ​ค่า​นิยม

ความ​ดี​เคย​เป็น​เรื่อง​ที่​ดู​ออก​ได้​ง่าย ๆ คือ​ดู​ว่า​เขา​ซื่อ​สัตย์, ภักดี, บริสุทธิ์, และ​มี​ศีลธรรม​หรือ​ไม่. มา​ปัจจุบัน​นี้ คำ​ว่า “ค่า​นิยม” ได้​เข้า​มา​แทน​ที่​คำ​ว่า “ความ​ดี.” แต่​มี​ปัญหา​ข้อ​หนึ่ง ดัง​ที่​นัก​ประวัติศาสตร์​เกอร์ทรูด ฮิมเมลฟาร์บ กล่าว​ไว้​ใน​หนังสือ​ชื่อ​การ​ทำ​ให้​สังคม​เสื่อม​ศีลธรรม (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “คน​เรา​ไม่​อาจ​พูด​ถึง​ความ​ดี​เหมือน​กับ​พูด​ถึง​ค่า​นิยม . . . โดย​บอก​ว่า​ทุก​คน​มี​สิทธิ์​เลือก​ความ​ดี​ของ​ตน​เอง.”

เธอ​กล่าว​ว่า ค่า​นิยม “อาจ​เป็น​ความ​ศรัทธา, ความ​คิด​เห็น, เจตคติ, ความ​รู้สึก, นิสัย, กฎ​ระเบียบ​ใน​สังคม, ความ​ชอบ​ส่วน​ตัว, อคติ, แม้​แต่​อุดมการณ์—อะไร​ก็​ตาม​ที่​คน​ใด​คน​หนึ่ง, กลุ่ม​ใด​กลุ่ม​หนึ่ง, หรือ​สังคม ถือ​ว่า​มี​ค่า ไม่​ว่า​เวลา​ใด​เวลา​หนึ่ง และ​ไม่​ว่า​ด้วย​เหตุ​ผล​ใด​เหตุ​ผล​หนึ่ง.” ใน​สังคม​เสรี​สมัย​ปัจจุบัน ผู้​คน​รู้สึก​ว่า​เป็น​การ​สม​ควร​ที่​จะ​เลือก​ค่า​นิยม​ของ​ตัว​เอง ดัง​เช่น​ที่​พวก​เขา​เลือก​ซื้อ​ของ​ใน​ซูเปอร์มาร์เกต. แต่​เมื่อ​เป็น​เช่น​นี้ จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​กับ​ความ​ดี​และ​ศีลธรรม​ที่​แท้​จริง?

[ภาพ​หน้า 6, 7]

ความ​บันเทิง​ที่​เสื่อม​ทราม​มี​มาก​ขึ้น​และ​หา​ได้​ง่าย​ขึ้น