ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทำไมจึงมีคนจนมากมายในโลกที่มั่งคั่ง?

ทำไมจึงมีคนจนมากมายในโลกที่มั่งคั่ง?

ทำไม​จึง​มี​คน​จน​มาก​มาย​ใน​โลก​ที่​มั่งคั่ง?

“คน​จน​จะ​อยู่​กับ​ท่าน​เป็น​นิตย์” พระ​เยซู​คริสต์​ได้​ตรัส​ไว้​เช่น​นั้น​ใน​ศตวรรษ​แรก​แห่ง​สากล​ศักราช. (มัดธาย 26:11) นับ​ตั้ง​แต่​สมัย​ของ​พระ​เยซู​เรื่อย​มา​จน​ถึง​สมัย​ปัจจุบัน มี​คน​ยาก​จน​จำนวน​มาก​เสมอ​มา. แต่​ทำไม​จึง​มี​คน​จน​มาก​มาย​เหลือ​เกิน​ใน​โลก​ที่​มั่งคั่ง​อย่าง​ยิ่ง​นี้?

บาง​คน​เชื่อ​ว่า​ผู้​คน​จน​ลง​เพราะ​ได้​เลือก​ทำ​สิ่ง​ที่​ไม่​ค่อย​ฉลาด. เรื่อง​นี้​อาจ​จะ​จริง​ใน​บาง​กรณี. คน​ที่​จงใจ​มัวเมา​กับ​แอลกอฮอล์, ยา​เสพ​ติด, และ​การ​พนัน​คง​จะ​หมด​เนื้อ​หมด​ตัว​ได้​ง่าย ๆ. แต่​ไม่​ใช่​คน​จน​ทุก​คน​จะ​ยาก​จน​เพราะ​ได้​เลือก​ทำ​สิ่ง​ที่​ไม่​ค่อย​ฉลาด.

มี​คน​มาก​มาย​ที่​ตก​งาน​เพราะ​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง​ใน​อุตสาหกรรม. มี​คน​ทำ​งาน​มาก​มาย​ที่​ต้อง​สูญ​เสีย​เงิน​ที่​เก็บ​ออม​มา​ชั่ว​ชีวิต​ไป​กับ​ค่า​รักษา​พยาบาล​ที่​พุ่ง​สูง​ขึ้น. ใน​บรรดา​คน​จน​จำนวน​หลาย​ร้อย​ล้าน​คน​ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา ส่วน​ใหญ่​ยาก​จน​ไม่​ใช่​เพราะ​เขา​ทำ​อะไร​ผิด. สาเหตุ​ของ​ความ​ยาก​จน​มัก​จะ​อยู่​นอก​เหนือ​จาก​การ​ควบคุม​ของ​บุคคล​นั้น ๆ ดัง​ที่​เรา​จะ​ได้​เห็น​ต่อ​ไป.

บทเรียน​จาก​อดีต

ใน​ช่วง​ต้น​ทศวรรษ 1930 โลก​ประสบ​กับ​ความ​หายนะ​ทาง​การ​เงิน ซึ่ง​ต่อ​มา​เรียก​กัน​ว่า ภาวะ​เศรษฐกิจ​ตก​ต่ำ​ครั้ง​ใหญ่. ใน​ประเทศ​หนึ่ง คน​นับ​ล้าน​ตก​งาน และ​อีก​หลาย​แสน​ครอบครัว​ต้อง​สูญ​เสีย​บ้าน. แต่​ขณะ​ที่​หลาย​คน​ต้อง​หิว​โหย เกษตรกร​กลับ​เท​น้ำ​นม​ปริมาณ​มหาศาล​ทิ้ง​ลง​ท้อง​ร่อง และ​เจ้าหน้าที่​รัฐบาล​บังคับ​ให้​เกษตรกร​ฆ่า​ปศุสัตว์​หลาย​ล้าน​ตัว​ทิ้ง​ไป.

ทำไม​จึง​ทิ้ง​ของ​ให้​เสีย​เปล่า​เช่น​นี้? ระบบ​เศรษฐกิจ​กำหนด​ว่า​ผลิตผล​จาก​ฟาร์ม​และ​สินค้า​อื่น ๆ ต้อง​ขาย​ได้​กำไร. ทั้ง​น้ำ​นม, เนื้อ​สัตว์, และ​ธัญพืช​ต่าง​มี​ค่า​สูง​มาก​สำหรับ​คน​จน. แต่​เมื่อ​อาหาร​เหล่า​นี้​ไม่​สามารถ​ขาย​ให้​ได้​กำไร จึง​ถือ​กัน​ว่า​สิ่ง​เหล่า​นี้​เป็น​ของ​ไร้​ค่า และ​ต้อง​เอา​ไป​ทิ้ง.

การ​จลาจล​แย่ง​ชิง​อาหาร​ปะทุ​ขึ้น​ใน​หลาย​เมือง. ชาว​เมือง​บาง​คน เนื่อง​จาก​ไม่​สามารถ​ซื้อ​อาหาร​ให้​ครอบครัว​ของ​ตน​ได้ จึง​ใช้​ปืน​ปล้น​เอา​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ต้องการ. ส่วน​บาง​คน​ก็​อด​ตาย. เหตุ​การณ์​เหล่า​นี้​เคย​เกิด​ขึ้น​ใน​สหรัฐ. ใน​ช่วง​ต้น ๆ ของ​ภาวะ​เศรษฐกิจ​ตก​ต่ำ​ครั้ง​ใหญ่ ระบบ​การ​เงิน​อัน​ทรง​อิทธิพล​ของ​สหรัฐ​ทำ​ให้​คน​ที่​มี​ราย​ได้​น้อย​ที่​สุด​ต้อง​ผิด​หวัง. แทน​ที่​จะ​ให้​ความ​สำคัญ​อันดับ​แรก​แก่​ความ​จำเป็น​ของ​พลเมือง​ทุก​คน​ที่​ต้องการ​อาหาร, ที่​พัก​อาศัย, และ​งาน ระบบ​เศรษฐกิจ​กลับ​ถือ​ว่า​ความ​จำเป็น​เหล่า​นี้​เป็น​เพียง​ประเด็น​รอง​ลง​มา​จาก​การ​แสวง​หา​ผล​กำไร.

สภาพการณ์​ใน​ทุก​วัน​นี้

เศรษฐกิจ​โลก​ได้​ฟื้น​ตัว​จาก​ภาวะ​เศรษฐกิจ​ตก​ต่ำ​ครั้ง​ใหญ่​นั้น​แล้ว และ​ตอน​นี้​หลาย​คน​ดู​เหมือน​รวย​ขึ้น​และ​มี​ฐานะ​มั่นคง​กว่า​ที่​แล้ว ๆ มา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ท่ามกลาง​ความ​มั่งคั่ง​ที่​มี​อยู่ คน​จน​กลับ​แทบ​ไม่​มี​โอกาส​ปรับ​ปรุง​ความ​เป็น​อยู่​ของ​ตน​ให้​ดี​ขึ้น​เลย. ข่าว​เรื่อง​การ​ขาด​แคลน​อาหาร​และ​ความ​ยาก​จน​ใน​บาง​ประเทศ​มี​มาก​เสีย​จน​หลาย​คน​เบื่อ​ที่​จะ​อ่าน​ข่าว​เหล่า​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​ผู้​ลี้​ภัย​ต้อง​ขาด​อาหาร​จน​ตาย​เนื่อง​จาก​สงคราม, เมื่อ​อาหาร​ที่​เก็บ​ใน​โกดัง​เสีย​ไป​เนื่อง​จาก​การ​แทรกแซง​ทาง​การ​เมือง​และ​เมื่อ​ปัจจัย​ทาง​การ​ตลาด​ผลัก​ดัน​ให้​ราคา​สิ่ง​ของ​ที่​จำเป็น​ต่อ​การ​ดำรง​ชีพ​สูง​ขึ้น​จน​คน​จน​ไม่​อาจ​ซื้อ​หา​ได้ เรา​ก็​มอง​เห็น​ผล​ของ​ระบบ​ที่​ไม่​สามารถ​ดู​แล​พลเมือง​ที่​จำ​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​มาก​ที่​สุด​ของ​ตน​ได้. โครง​สร้าง​ทาง​เศรษฐกิจ​ของ​โลก​ละเลย​มนุษย์​หลาย​ล้าน​คน​ที่​ยาก​ไร้.

อัน​ที่​จริง ไม่​มี​ระบบ​เศรษฐกิจ​ระบบ​ใด​ที่​มนุษย์​คิด​ค้น​ขึ้น​เคย​จัด​หา​สิ่ง​จำเป็น​ทาง​วัตถุ​ให้​แก่​มนุษย์​ทุก​คน​ได้. ราว ๆ 3,000 ปี​ที่​แล้ว บุรุษ​ผู้​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ความ​เข้าใจ​ที่​เฉียบ​แหลม​ใน​เรื่อง​ชีวิต ลง​ความ​เห็น​ว่า “ข้า​ฯ ได้​หัน​กลับ​มา​ดู​บรรดา​การ​ข่มเหง​ที่​เกิด​ขึ้น​ภาย​ใต้​ดวง​อาทิตย์: และ​นี่​แน่ะ, น้ำตา​ของ​ผู้​ถูก​ข่มเหง​เป็น​ต้น, ไม่​มี​คน​เช็ด​ให้; ใน​มือ​ของ​ผู้​ข่มเหง​นั้น​ได้​กุม​อำนาจ​ไว้; แต่​ผู้​ถูก​ข่มเหง​นั้น​หา​มี​ผู้​เล้าโลม​ไม่.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 4:1) ใน​ยุค​นี้​ซึ่ง​มี​ความ​มั่งคั่ง​ทาง​วัตถุ​อย่าง​อุดม การ​ข่มเหง​ทาง​การ​เงิน​ก็​ยัง​คง​มี​อยู่​มาก​มาย.

หลาย​ล้าน​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​แทบ​ไม่​มี​โอกาส​ที่​จะ​ฉุด​ตัว​เอง​ให้​ออก​มา​จาก​หุบ​เหว​แห่ง​ความ​ยาก​จน. กระนั้น หลาย​คน​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​รับมือ​กับ​ปัญหา​ทาง​เศรษฐกิจ​ของ​ตน​อย่าง​ประสบ​ความ​สำเร็จ. คน​เหล่า​นี้​ยัง​มี​ความ​หวัง​ถึง​ชีวิต​ที่​ดี​กว่า​ใน​อนาคต​ด้วย.

[กรอบ​หน้า 5]

ดิ้นรน​เพื่อ​ความ​อยู่​รอด

ใน​หนังสือ​ชื่อ​ชน​ชั้น​แรงงาน​ที่​ยาก​จน—ผู้​ที่​ถูก​มอง​ข้าม​ใน​อเมริกา (ภาษา​อังกฤษ) นัก​เขียน​และ​นัก​หนังสือ​พิมพ์​ชื่อ​เดวิด เค. ชิปเลอร์ อธิบาย​สภาพการณ์​ของ​บาง​คน​ใน​สหรัฐ​ซึ่ง​มี​ชีวิต​อยู่​ที่​ริม​ขอบ​เหว​แห่ง​ความ​ยาก​จน​อย่าง​ไร: “อพาร์ตเมนต์​เก่า ๆ ทำ​ให้​อาการ​หอบ​ของ​ลูก​รุนแรง​ขึ้น, ซึ่ง​ทำ​ให้​ต้อง​เรียก​รถ​พยาบาล​มา, ซึ่ง​ทำ​ให้​ต้อง​ถูก​เรียก​เก็บ​ค่า​รักษา​พยาบาล​ที่​สูง​มาก​จน​จ่าย​ไม่​ไหว, ซึ่ง​ทำ​ให้​เสีย​ประวัติ​เครดิต, ซึ่ง​ทำ​ให้​อัตรา​ดอกเบี้ย​การ​ผ่อน​รถยนต์​สูง​ขึ้น​มาก, ซึ่ง​ทำ​ให้​ต้อง​ซื้อ​รถยนต์​มือ​สอง​ที่​ไว้​ใจ​ไม่​ได้, ซึ่ง​ทำ​ให้​ผู้​เป็น​แม่​อาจ​จะ​ไป​ทำ​งาน​สาย, ซึ่ง​ทำ​ให้​เธอ​ไม่​ค่อย​ได้​เลื่อน​ตำแหน่ง​และ​ได้​ขึ้น​เงิน​เดือน, ซึ่ง​ทำ​ให้​เธอ​จำ​ใจ​ต้อง​อยู่​ใน​อพาร์ตเมนต์​เก่า ๆ นั้น​ต่อ​ไป.” เด็ก​คน​นั้น​กับ​ผู้​เป็น​แม่​มี​ชีวิต​อยู่​โดย​ที่​ความ​หายนะ​อาจ​จะ​มา​เยือน​พวก​เขา​เมื่อ​ไร​ก็​ได้ แม้​ว่า​พวก​เขา​อยู่​ใน​ประเทศ​ที่​ร่ำรวย​ที่​สุด​ใน​โลก.

[กรอบ​หน้า 6]

ความ​ตั้งใจ​ที่​ดี​แค่​นี้​เพียง​พอ​ไหม?

ใน​เดือน​พฤศจิกายน 1993 ใน​อาคาร​ของ​รัฐบาล​หลัง​หนึ่ง​ใน​กรุง​วอชิงตัน ดี.ซี. เจ้าหน้าที่​กลุ่ม​หนึ่ง​กำลัง​พยายาม​แก้​ปัญหา​ใหญ่. เนื่อง​จาก​มี​เงิน​หลาย​ร้อย​ล้าน​ดอลลาร์​อยู่​ใน​มือ พวก​เจ้าหน้าที่​จึง​ต้องการ​จะ​ให้​คน​ที่​ไร้​ที่​อยู่​ใน​สหรัฐ​ได้​รับ​ประโยชน์. ขณะ​ที่​พวก​เขา​หารือ​กัน​อยู่​นั้น ตำรวจ, หน่วย​ดับ​เพลิง, และ​หน่วย​แพทย์​ฉุกเฉิน​ก็​มา​รวม​ตัว​กัน​ที่​ป้าย​รถ​ประจำ​ทาง​ที่​ถนน​ฝั่ง​ตรง​ข้าม. เจ้าหน้าที่​ประจำ​รถ​ฉุกเฉิน​กำลัง​เก็บ​ศพ​ของ​หญิง​ไร้​ที่​อยู่​คน​หนึ่ง. เธอ​เสีย​ชีวิต​อยู่​หน้า​กระทรวง​เคหะ​และ​การ​พัฒนา​เมือง​แห่ง​สหรัฐ ซึ่ง​เป็น​หน่วย​งาน​ที่​รับผิดชอบ​เรื่อง​การ​ช่วยเหลือ​คน​ที่​ไม่​มี​ที่​อยู่​อาศัย.

ต่อ​มา นัก​ข่าว​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ สัมภาษณ์​คน​ที่​ทำ​งาน​ใน​กระทรวง​นี้​คน​หนึ่ง ซึ่ง​พูด​ถึง​จำนวน​บุคลากร​ฉุกเฉิน​และ​ยาน​พาหนะ​ที่​อยู่​ใน​ที่​เกิด​เหตุ​นั้น​ว่า “เป็น​เรื่อง​แปลก​มาก​ที่​เห็น​ว่า​คน​คน​หนึ่ง​ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ​มาก​ขนาด​ไหน​ตอน​ที่​เขา​เสีย​ชีวิต​ไป​แล้ว แต่​ไม่​ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ​อะไร​เลย​แม้​แต่​น้อย​ก่อน​ที่​เขา​จะ​ตาย.”

[ภาพ​หน้า 4, 5]

แม่​ที่​อพยพ​เข้า​เมือง​กับ​ลูก​สาม​คน​ของ​เธอ​ใน​ช่วง​ภาวะ​เศรษฐกิจ​ตก​ต่ำ​ครั้ง​ใหญ่​ใน​ทศวรรษ 1930

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Dorothea Lange, FSA Collection, Library of Congress

[ภาพ​หน้า 6, 7]

ใน​โรง​งาน​เช่น​นี้ เงิน​เดือน​โดย​เฉลี่ย​คือ 490 บาท และ​คน​งาน​อาจ​ถูก​บังคับ​ให้​ทำ​งาน​สัปดาห์​ละ 70 ชั่วโมง

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Fernando Moleres/Panos Pictures