มารู้จักผู้คนในติมอร์ตะวันออก
มารู้จักผู้คนในติมอร์ตะวันออก
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
ติมอร์ตะวันออก หรือติมอร์-เลสเต เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่อยู่ครึ่งฝั่งตะวันออกของเกาะติมอร์. ทั้งคำว่า “ติมอร์” ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษามาเลย์และคำว่าเลสเต จากภาษาโปรตุเกสต่างก็มีความหมายว่า “ตะวันออก.” คนไทยโดยทั่วไปเรียกประเทศนี้ว่าติมอร์ตะวันออก. ชื่อนี้นับว่าเหมาะเพราะเกาะนี้ตั้งอยู่ริมสุดทางตะวันออกของหมู่เกาะอินโดนีเซีย.
ติมอร์ตะวันออกมีพื้นที่ประมาณ 14,800 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วก็มีขนาดเล็กกว่าจังหวัดอุบลราชธานีเล็กน้อย. แม้มีขนาดเล็ก แต่เกาะนี้ก็มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ผสมผสานกันระหว่างเอเชียและออสเตรเลีย. เกาะนี้มีป่าเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งมีป่ายูคาลิปตัสและทุ่งหญ้าที่แห้งแล้ง. มีสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ทั้งที่พบได้ในออสเตรเลียและเอเชีย. ตัวอย่างเช่น สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องและนกพันธุ์ต่าง ๆ ของออสเตรเลียอาศัยอยู่ร่วมกับลิงพันธุ์ต่าง ๆ ของเอเชียและจระเข้น้ำเค็มเขตร้อน. แล้วผู้คนในติมอร์ตะวันออกล่ะ? คุณอยากรู้จักพวกเขาไหม?
ความทรงจำในยุคอาณานิคม
นักเดินเรือชาวโปรตุเกสอาจมาถึงติมอร์ตะวันออกครั้งแรกประมาณปี 1514. ในเวลานั้น บริเวณไหล่เขาถูกปกคลุมไปด้วยป่าไม้จันทน์อันกว้างใหญ่. การค้าไม้จันทน์ให้ผลกำไรดีมาก และแค่ไม้ชนิดนี้เพียงอย่างเดียวก็ทำให้โปรตุเกสมีเหตุผลพอที่จะตั้งเมืองหน้าด่านเพื่อทำการค้าขึ้นบนเกาะนี้. คริสตจักรคาทอลิกก็ให้ความสนใจดินแดนนี้เช่นกันและต้องการส่งมิชชันนารีเพื่อมาเปลี่ยนศาสนาของชนพื้นเมือง. ด้วยแรงกระตุ้นจากสองปัจจัยนี้ ชาวโปรตุเกสจึงเริ่มยึดดินแดนนี้เป็นอาณานิคมในปี 1556.
อย่างไรก็ดี ติมอร์ตะวันออกยังคงเป็นอาณานิคมหน้าด่านที่อยู่ห่างไกลและไม่ได้รับความสนใจมากนัก. เมื่อชาวดัตช์ยึดฝั่งตะวันตกของเกาะติมอร์ไว้ได้ในปี 1656 ชาวโปรตุเกสจึงถอนกำลังไปอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะ. ในที่สุด หลังจากเป็นเมืองขึ้นมากว่า 400 ปี โปรตุเกสก็ถอนตัวออกไปอย่างสิ้นเชิงในปี 1975.
ปีเดียวกันนั้นเองได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น. ในช่วง 24 ปีต่อมา ชาวติมอร์ตะวันออกประมาณ 200,000 คน หรือประมาณหนึ่งในสามของประชากรเสียชีวิตเนื่องจากการสู้รบ. ในปี 1999 คลื่นแห่งความรุนแรงแผ่ลามไปทั่วประเทศ บ้านเรือนมากถึง 85 เปอร์เซ็นต์ถูกทำลายและระบบสาธารณูปโภคเสียหายอย่างหนัก. ประชาชนหลายแสนคนหนีขึ้นไปบนภูเขา. ในที่สุด องค์การสหประชาชาติก็เข้าแทรกแซงเพื่อหยุดยั้งความหายนะและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ.
นับแต่นั้นมา ชาวติมอร์พยายามกอบกู้ชีวิตที่พังทลายไปแล้วขึ้นมาใหม่. ในเดือนพฤษภาคม 2002 ติมอร์ตะวันออกหรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการและกลายเป็นประเทศใหม่.
ชุมทางแห่งวัฒนธรรม
การค้าที่ทำมานานหลายศตวรรษ, การอพยพเข้ามาของประชาชนจากทวีปเอเชียและทวีปออสเตรเลีย, และการตั้งอาณานิคมของชาวยุโรปทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมและภาษาทั่วติมอร์ตะวันออก. ขณะที่ยังคงมีการใช้ภาษาโปรตุเกสในแวดวงธุรกิจและราชการ แต่ประชากร 80 เปอร์เซ็นต์ใช้ภาษากลางที่เรียกว่าเตตุม ซึ่งยืมคำศัพท์โปรตุเกสมาใช้หลายคำ. ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มที่กระจายอยู่ทั่วประเทศใช้ภาษาพูดอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 22 ภาษา.
ในเขตชนบท ราชาของชนกลุ่มน้อยแต่ละกลุ่มยังคงมีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน. พวกเขานำหน้าในพิธีกรรม, แบ่งสรรปันส่วนที่ดิน, และธรรมเนียมประเพณีอื่น ๆ ขณะที่หัวหน้าหมู่บ้านที่ได้รับการเลือกตั้งจะดูแลด้านการบริหาร.
ศาสนาที่นับถือกันในประเทศเป็นการผสมผสานระหว่างการนับถือวิญญาณในธรรมชาติที่สืบทอดกันมากับศาสนาคาทอลิกที่ถูกนำเข้ามา. การนมัสการบรรพบุรุษ, เวทมนตร์คาถา, และการถือผีแทรกซึมอยู่ในทุกแง่มุมของชีวิต. ผู้ที่ไปโบสถ์เป็นประจำมักขอคำแนะนำจากมาทันโดอ็อก หรือหมอผีประจำท้องถิ่น เพื่อทำนายอนาคต, รักษาโรค, หรือป้องกันวิญญาณร้าย.
ผู้คนที่อยากรู้อยากเห็นและมีน้ำใจรับรองแขก
ชาวติมอร์ตะวันออกมีนิสัยร่าเริง, อยากรู้อยากเห็น, และมีน้ำใจรับรองแขก. ประธานาธิบดีเคย์ ราลา ซานานา กุสเมา กล่าวว่า “เราชอบเรียนรู้, พูดคุย, คบหา, และพบปะสนทนาแม้แต่กับคนแปลกหน้า.”
แขกที่ได้รับเชิญให้มาร่วมรับประทานอาหารเย็นกับครอบครัวชาวติมอร์ มักจะได้ทานอาหารกับหัวหน้าครอบครัว. ส่วนภรรยาและลูก ๆ ของครอบครัวนั้นจะทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารแล้วจึงค่อยรับประทานทีหลัง. การตักอาหารแต่น้อยในตอนแรกถือเป็นการกระทำที่สุภาพ. จากนั้น แขกก็จะสามารถให้เกียรติผู้ทำอาหารโดยขอเติมอาหารเป็นครั้งที่สอง.
อาหารส่วนใหญ่ของชาวติมอร์ก็มีข้าว, ข้าวโพด, หรือมันสำปะหลังโดยรับประทานกับผักใบเขียวและผักชนิดอื่น ๆ. อาหารพิเศษชนิดหนึ่งของชาวติมอร์คือซาโบโก เป็นอาหารรสเลิศซึ่งทำจากปลาซาร์ดีนคลุกเคล้ากับน้ำมะขามเปียกและเครื่องเทศ แล้วนำไปห่อด้วยใบปาล์ม. แต่เนื้อสัตว์มีราคาแพงมาก.
เสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็ก ๆ
ติมอร์ตะวันออกเป็นประเทศที่มีเด็ก ๆ เป็นจำนวนมาก. เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรเป็นเด็ก และหลายครอบครัวมีลูก 10 ถึง 12 คนอาศัยอยู่ในบ้าน.
เมื่อไปโรงเรียน บ่อยครั้งเด็ก ๆ จะเดินจับมือกัน—เด็กผู้ชายจับมือกับเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจับมือกับเด็กผู้หญิง—หัวเราะและร้องเพลงไปด้วยกัน. สิ่งที่สอนในโรงเรียนไม่ได้มีแค่วิชาความรู้เท่านั้น แต่ยังสอนเรื่องวิธีใช้ชีวิตและความประพฤติที่ถูกต้องด้วย.
เด็ก ๆ ชาวติมอร์ไม่เคยเล่นคนเดียวหรือเล่นเงียบ ๆ เด็ก ๆ ที่อยู่ละแวกเดียวกันจะมาเล่นด้วยกันทุกคน! เกมที่นิยมเล่นกันก็คือดูดูคาร์เรตา หรือเกมดันรถ. วงล้อของจักรยานถูกสมมุติให้เป็นรถยนต์. เด็ก ๆ จะใช้กิ่งไม้บังคับและตีหรือดันวงล้อจักรยานให้กลิ้งไปตามถนนพร้อมกับวิ่งตามไปหัวเราะไป.
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของเด็ก ๆ ชาวติมอร์ไม่ได้มีแต่การเล่นสนุกตลอดเวลา. ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจต้องทำงานบดเมล็ดข้าวโพดโดยใช้แท่งเหล็กหนัก ๆ. กระนั้น พวกเขาก็ทำงานอย่างมีความสุขและดูเหมือนไม่รู้ตัวเลยว่าจริง ๆ แล้ว พวกเขาเกิดมาในประเทศที่อยู่ในหนึ่งในสิบของประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก.
ความสับสนวุ่นวายเมื่อกลายเป็นชาติใหม่
ความยากจนข้นแค้นส่งผลให้ชาวติมอร์มีชีวิตที่ไม่มั่นคง. สี่สิบเปอร์เซ็นต์ของประชากรดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 55 บาทต่อวัน—ซึ่งเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำสุดที่ซื้อได้แค่อาหาร
พื้น ๆ และของจำเป็นในบ้าน. ระบบสาธารณูปโภคขาดแคลน. รายงานฉบับหนึ่งของรัฐบาลกล่าวว่า “ประชาชนสามในสี่ของประเทศไม่มีไฟฟ้าใช้ ประชาชนสามในห้าไม่มีการสุขาภิบาลที่ปลอดภัยและครึ่งหนึ่งของประชากรไม่มีน้ำดื่มที่สะอาด.”เนื่องจากสภาพการณ์เช่นนี้ ปัญหาสุขภาพจึงขยายวงกว้างออกไป. ภาวะทุโภชนาการ, มาลาเรีย, วัณโรค, และโรคอื่น ๆ ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 50 ปี. เด็ก ๆ ประมาณ 1 ใน 10 คนตายก่อนอายุห้าขวบ. ช่วงปี 2004 มีแพทย์ไม่ถึง 50 คนที่ดูแลรักษาประชากรประมาณ 800,000 คน.
ตอนนี้รัฐบาลจากหลายชาติกำลังร่วมมือกับสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือชาวติมอร์ในการฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหาย. เนื่องจากมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากมายในทะเลติมอร์ จึงยังคงมีความหวังที่สถานการณ์ความยากจนในติมอร์จะดีขึ้น. อย่างไรก็ดี สิ่งที่มีค่าที่สุดในติมอร์ตะวันออกคือประชาชนที่ไม่ย่อท้อและถ่อมใจ. หญิงชาวติมอร์คนหนึ่งบอกกับตื่นเถิด! ว่า “เรายากจนก็จริงแต่ไม่เคยย่อท้อ!”
“ข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า”
ช่วงไม่กี่ปีมานี้พยานพระยะโฮวาได้นำ “ข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า” ไปบอกชาวติมอร์ตะวันออก. (ยะซายา 52:7, ล.ม.; โรม 10:14, 15) ในปี 2005 ประชาคมของพยานพระยะโฮวาประชาคมเดียวในติมอร์ตะวันออกได้ใช้เวลาเกือบ 30,000 ชั่วโมงในการบอกคนอื่น ๆ เกี่ยวกับคำสัญญาอันยอดเยี่ยมจากคัมภีร์ไบเบิล เรื่องอุทยานบนแผ่นดินโลกที่ใกล้เข้ามา.—บทเพลงสรรเสริญ 37:10, 11; 2 เปโตร 3:13.
การเรียนรู้ความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้บางคนหลุดพ้นจากแอกที่กดขี่ของลัทธิภูตผีปิศาจ. ตัวอย่างเช่น เจคอบ ชายที่รักครอบครัวซึ่งมีลูกห้าคน ปฏิบัติตามพิธีกรรมของลัทธิภูตผีปิศาจที่สืบทอดกันมานานอย่างเคร่งครัด. เขาถวายสัตว์เพื่อเซ่นไหว้วิญญาณคนตายเป็นประจำ. พิธีกรรมนี้ทำให้ครอบครัวของเขาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก. ไก่สำหรับเซ่นไหว้ตัวหนึ่งมีราคาเกือบเท่าค่าจ้างหนึ่งวัน ส่วนการเซ่นไหว้แพะหรือหมูในโอกาสพิเศษต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่ากับค่าจ้างหลายสัปดาห์.
ต่อมา ฟรานซิสกา ภรรยาของเจคอบเริ่มศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวา. เธอได้ให้เจคอบดูข้อคัมภีร์ที่พิสูจน์ว่าคนตายไม่รับรู้อะไรและไม่สามารถทำอันตรายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้. (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10; ยะเอศเคล 18:4) โดยยอมรับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าว ทั้งสองตัดสินใจเลิกพิธีกรรมเหล่านั้น. ผลก็คือ ด้วยความโกรธ ญาติพี่น้องประกาศตัดขาดจากพวกเขาและบอกว่าอีกไม่ช้าวิญญาณจะมาฆ่าพวกเขาเป็นการแก้แค้น. อย่างไรก็ตาม เจคอบและฟรานซิสกายืนหยัดมั่นคงโดยกล่าวว่า “พระยะโฮวาจะคุ้มครองเรา.”
ขณะเดียวกัน เจคอบเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนกับครอบครัว. นี่ส่งผลให้เขาเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น. แม้เขาเคยสูบบุหรี่วันละซองมานานหลายปี แต่เขาก็เลิกสูบ. นอกจากนี้ เขายังหัดอ่านและเขียนด้วย. ในช่วงเดียวกัน ฟรานซิสกาก็เลิกเคี้ยวหมาก. ที่สุด ในปี 2005 เจคอบและฟรานซิสกาได้รับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวา. ทุกวันนี้ พวกเขาใช้เงินอย่างสุขุมในการให้ลูก ๆ ได้เรียนหนังสือและจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่จำเป็น.
จริงทีเดียว ดังที่พระเยซูได้บอกไว้ล่วงหน้า ข่าวดีเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้ากำลังได้รับการประกาศ “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” แม้แต่กับผู้คนที่มีใจเอื้อเฟื้อ, มีน้ำใจต้อนรับแขก, และอยากรู้อยากเห็นซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศเล็ก ๆ เช่นติมอร์ตะวันออกแห่งนี้.—กิจการ 1:8; มัดธาย 24:14.
[กรอบ/ภาพหน้า 17]
“ได้เส้นด้ายกับกระสวย”
“ได้เส้นด้ายกับกระสวย” เป็นสำนวนที่ชาวติมอร์เคยใช้เพื่อแจ้งให้รู้ว่าเด็กที่เกิดมาเป็นเด็กผู้หญิง. นี่เป็นการพรรณนาบทบาทของสตรีชาวติมอร์ฐานะช่างทอไทส์ หรือผ้าทอผืนยาวที่ใช้ในการประดับตกแต่ง. มีการนำไทส์ มาทำเป็นชุดที่สวยงามสำหรับงานพิธีกรรม, ผ้าห่ม, และมรดกประจำตระกูล. ผู้หญิงสูงอายุจะสอนลูก ๆ หลาน ๆ ที่เป็นผู้หญิงให้ปลูก, เก็บเกี่ยว, ปั่น, ย้อม, และทอฝ้ายให้เป็นผืนผ้าที่มีลวดลายสีสันสวยงาม. ไทส์ผืนเดียวอาจใช้เวลาทำหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของการทอผ้า. เนื่องจากแต่ละภูมิภาคมีลวดลายเฉพาะของตน ผู้เชี่ยวชาญจึงสามารถบอกได้ทันทีว่าไทส์ผืนนั้นทำมาจากที่ไหน.
[แผนที่หน้า 14]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ปาปัวนิวกินี
อินโดนีเซีย
ติมอร์ตะวันออก
ออสเตรเลีย
[ภาพหน้า 15]
บ้านหลังคาทรงกรวยตามแบบดั้งเดิม
[ภาพหน้า 16]
“ดูดูคาร์เรตา”—เกมที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ
[ภาพหน้า 16, 17]
เจคอบและครอบครัว