ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“หงส์ดำ” แห่งคลองเวนิซ

“หงส์ดำ” แห่งคลองเวนิซ

“หงส์​ดำ” แห่ง​คลอง​เวนิซ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​อิตาลี

มัน​ล่อง​ไป​ตาม​ลำ​คลอง​ผ่าน​บริเวณ​ที่​เป็น​กำแพง​ชื้น ๆ อยู่​ราย​รอบ, ลอด​ใต้​สะพาน​หิน​ที่​เป็น​ซุ้ม​โค้ง, ผ่าน​หน้าต่าง​ลาย​อะราเบสก์, และ​เฉลียง​ลอย​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ดอกไม้. มัน​มี​สี​ดำ, สง่า​งาม, และ​เงียบ​กริบ. เมื่อ​มอง​ไกล ๆ มัน​ดู​คล้าย​หงส์​ดำ. แม้​ตัว​มัน​จะ​ทำ​จาก​ไม้​และ​คอ​ของ​มัน​ก็​ไม่​อ่อน​นุ่ม​อีก​ทั้ง​ไม่​มี​ขน​เพราะ​ทำ​จาก​โลหะ แต่​มัน​ก็​ล่อง​ลอย​ไป​ตาม​ลำ​คลอง​ใน​เมือง​เวนิซ ประเทศ​อิตาลี ได้​เช่น​เดียว​กับ​นก​ที่​สง่า​งาม. มัน​คือ​กอนโดลา เรือ​ที่​มี​ชื่อเสียง​ที่​สุด​ใน​โลก​ตาม​ที่​บาง​คน​กล่าว. เรือ​ลำ​นี้​มี​ที่​มา​อย่าง​ไร? เหตุ​ใด​จึง​โด่งดัง​มาก​ขนาด​นี้? อะไร​ทำ​ให้​มัน​ต่าง​จาก​เรือ​ลำ​อื่น ๆ?

ที่​มา​ของ​มัน

ไม่​ง่าย​ที่​จะ​ระบุ​ลง​ไป​เลย​ว่า​เรือ​กอนโดลา​ลำ​แรก​ถูก​สร้าง​ขึ้น​เมื่อ​ใด แต่​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​มัน​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 11 สากล​ศักราช. ครั้ง​แรก​ที่​มี​การ​วาด​ภาพ​เรือ​กอนโดลา​เป็น​ภาพ​เขียน​ก็​คือ​ช่วง​ปลาย​ศตวรรษ​ที่ 15. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 17 และ 18 นี้​เอง​ที่​เรือ​ดัง​กล่าว​มี​รูป​ทรง​ที่​เป็น​เอกลักษณ์​เฉพาะ​ซึ่ง​ทำ​ให้​มัน​มี​ชื่อเสียง​และ​ต่าง​จาก​เรือ​อื่น ๆ ทั้ง​หมด. กอนโดลา​เป็น​เรือ​ท้อง​แบน​อยู่​แล้ว แต่​ใน​ช่วง​นั้น​เอง​ที่​เรือ​เริ่ม​มี​การ​พัฒนา​รูป​ทรง​ของ​เรือ​ให้​ยาว​ขึ้น​เป็น​พิเศษ​และ​มี​หัว​เรือ​เป็น​เหล็ก.

การ​สืบ​ค้น​ที่​มา​ของ​ชื่อ​กอนโดลา​ก็​นับ​ว่า​ยาก​พอ ๆ กัน. บาง​คน​กล่าว​ว่า คำ “กอนโดลา” มา​จาก​คำ​ภาษา​ละติน​กุมบูลา ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เรียก​เรือ​ขนาด​เล็ก หรือ​มา​จาก​คำ​กอนกูลา ที่​แผลง​มา​จาก​คำ​ว่า​กอนกา ซึ่ง​หมาย​ถึง “หอย.”

สัญลักษณ์​ของ​เวนิซ

สิ่ง​ที่​เรา​แน่​ใจ​ได้​เกี่ยว​กับ​เรือ​ดัง​กล่าว​ก็​คือ​ความ​เกี่ยว​ข้อง​กัน​อย่าง​ใกล้​ชิด​ระหว่าง​เรือ​กอนโดลา​กับ​เมือง​เวนิซ. ที่​จริง กอนโดลา​อาจ​เป็น​สัญลักษณ์​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​เมือง​นี้. ลอง​คิด​ถึง​ภาพ​ต่าง ๆ เกี่ยว​กับ​เมือง​เวนิซ​ดู​สิ ภาพ​เหล่า​นั้น​ต้อง​มี​เรือ​กอนโดลา.

มี​สิ่ง​อื่น​ด้วย​ที่​เชื่อม​โยง​เรือ​นี้​กับ​เมือง​เวนิซ. โรแบร์โต คน​แจว​เรือ​กอนโดลา​ซึ่ง​พา​นัก​ท่อง​เที่ยว​ล่อง​ไป​ตาม​ลำ​คลอง​ใน​เมือง​เวนิซ​กล่าว​ว่า การ​นั่ง​เรือ​กอนโดลา​ท่อง​เที่ยว​ไป​ตาม​ลำ​คลอง​ต่าง ๆ “เป็น​วิธี​ท่อง​เที่ยว​เมือง​เวนิซ​อีก​วิธี​หนึ่ง​ที่​ต่าง​ออก​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง. คุณ​ไม่​เพียง​เห็น​สถาน​ที่​ที่​น่า​สนใจ​ทั่ว​ไป​เท่า​นั้น แต่​คุณ​จะ​ได้​ค้น​พบ​แก่น​แท้​ของ​เมือง​เวนิซ.” โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเท นัก​เขียน​ชาว​เยอรมัน​ที่​มี​ชื่อเสียง​กล่าว​ว่า การ​ได้​ขึ้น​เรือ​นี้​ทำ​ให้​เขา​รู้สึก​เหมือน​เป็น “จ้าว​แห่ง​ทะเล​เอเดรียติก เช่น​เดียว​กับ​ชาว​เวนิซ​ทุก​คน​ที่​รู้สึก​อย่าง​นั้น​ขึ้น​มา​ทันที​ที่​ได้​เอน​กาย​อยู่​บน​เรือ​กอนโดลา.” โรแบร์โต​กล่าว​ว่า “จังหวะ​ที่​เชื่อง​ช้า​มาก​ของ​กอนโดลา​สอด​ประสาน​กับ​บรรยากาศ​ของ​เวนิซ​อย่าง​ลง​ตัว​ที​เดียว. เมื่อ​ได้​เอน​กาย​บน​เบาะ​นุ่ม ๆ คุณ​จะ​รู้สึก​ได้​เลย​ว่า​เวลา​ไม่​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​อีก​ต่อ​ไป.”

ลักษณะ​พิเศษ​ของ​กอนโดลา

เมื่อ​คุณ​สังเกต​ดู​เรือ​กอนโดลา คุณ​อาจ​แปลก​ใจ​ที่​เห็น​มัน​แล่น​ไป​ตรง ๆ ได้​ทั้ง ๆ ที่​มี​ไม้​พาย​อยู่​อัน​เดียว​ซึ่ง​ติด​อยู่​กับ​เสา​ด้าน​ขวา​ค่อน​ไป​ทาง​ท้าย​เรือ. ว่า​กัน​ตาม​เหตุ​ผล​แล้ว ถ้า​ไม่​ได้​พาย​เรือ​สลับ​ข้าง​กัน​ไป​เรื่อย ๆ เรือ​ก็​จะ​เห​ไป​ด้าน​เดียว​และ​วน​อยู่​ที่​เดิม—แต่​ไม่​เป็น​อย่าง​นั้น​กับ​เรือ​กอนโดลา. เพราะ​เหตุ​ใด? จิลแบร์โต เปนโซ ผู้​เชี่ยวชาญ​ใน​เรื่อง​ประวัติศาสตร์​เรือ​เขียน​ว่า “ถ้า​เรา​ใช้​อุปมา​เพื่อ​เปรียบ​เทียบ​โครง​สร้าง​ของ​เรือ​กอนโดลา​กับ​ส่วน​ลำ​ตัว​ของ​มนุษย์ โดย​กระดูก​งู​ของ​เรือ​เทียบ​ได้​กับ​กระดูก​สัน​หลัง และ​โครง​เรือ​เทียบ​ได้​กับ​ซี่​โครง เรา​ก็​อาจ​กล่าว​ได้​ว่า​เรือ​กอนโดลา​เป็น​โรค​กระดูก​สัน​หลัง​คด​อย่าง​หนัก.” พูด​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ ตัว​เรือ​ไม่​สมมาตร​กัน ด้าน​ขวา​แคบ​กว่า​ด้าน​ซ้าย​ถึง 24 เซนติเมตร. ผล​ก็​คือ เรือ​กอนโดลา​ลอย​น้ำ​โดย​ที่​ด้าน​ขวา​ของ​เรือ​จะ​จม​อยู่​ใน​น้ำ​มาก​กว่า​ด้าน​ซ้าย. การ​ที่​เรือ​เอียง​ไม่​เท่า​กัน​เช่น​นี้​ช่วย​ชดเชย​แรง​ผลัก​จาก​ไม้​พาย​ที่​มี​อยู่​อัน​เดียว​และ​ยัง​ชดเชย​น้ำหนัก​ของ​คน​แจว​เรือ​ที่​ไม่​ได้​ยืน​อยู่​ตรง​กลาง​ลำ​ขณะ​ที่​พาย​เรือ ทำ​ให้​เรือ​กอนโดลา​สามารถ​แล่น​ไป​ตรง ๆ ได้.

ส่วน​ที่​เป็น​ลักษณะ​เฉพาะ​ของ “หงส์” ตัว​นี้​ก็​คือ​ส่วน​คอ​หรือ​หัว​เรือ. ถ้า​ไม่​นับ​ส่วน​ท้าย​เรือ​ที่​เป็น​เหล็ก​แล้ว ส่วน​หัว​เรือ​เป็น​ส่วน​เดียว​ที่​ทำ​จาก​โลหะ. นัก​เขียน​ชื่อ​จิอันฟรังโก มูเนรอตโต เขียน​ว่า หัว​เรือ​กอนโดลา “โดด​เด่น​และ​มี​ลักษณะ​เฉพาะ ใคร​ก็​ตาม​ที่​ได้​เห็น​หัว​เรือ​กอนโดลา​เป็น​ครั้ง​แรก​จะ​จด​จำ​ไป​อีก​นาน.” แต่​เดิม ส่วน​ของ​หัว​เรือ​ที่​ทำ​จาก​เหล็ก​ทำ​หน้า​ที่​ถ่วง​น้ำหนัก​ของ​คน​แจว​ซึ่ง​อยู่​ท้าย​เรือ แต่​ปัจจุบัน​หัว​เรือ​ที่​เป็น​เหล็ก​เป็น​เพียง​อุปกรณ์​ประดับ​เรือ. ตาม​ที่​เล่า​สืบ​ต่อ​กัน​มา​นั้น ส่วน​ที่​เป็น​โลหะ​แผ่น​แบน ๆ หก​ซี่​ซึ่ง​ติด​อยู่​ที่​หัว​เรือ​หมาย​ถึง​หก​เซสทิรี หรือ​หก​เขต​ของ​เมือง​เวนิซ ขณะ​ที่​โลหะ​ชิ้น​เล็ก ๆ ที่​ยื่น​โผล่​ขึ้น​มา​ตรง​หลัง​คอ​นั้น​หมาย​ถึง​เกาะ​ของ​เวนิซ​ที่​ชื่อ​จู​เดก​กา. กล่าว​ได้​ว่า​โลหะ​ที่​หัว​เรือ​ซึ่ง​มี​ลักษณะ​โค้ง​สอง​ต่อ​คล้าย​ตัว​เอส​หมาย​ถึง​ลักษณะ​ของ​คลอง​แกรนด์แคแนล​ของ​เวนิซ.

สิ่ง​พิเศษ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ก็​คือ “ขน” สี​ดำ​ของ​กอนโดลา. มี​การ​ให้​คำ​อธิบาย​ไว้​สารพัด​อย่าง​ที่​ว่า​ทำไม​เรือ​เหล่า​นี้​ต้อง​เป็น​สี​ดำ. ตาม​ที่​แหล่ง​อ้างอิง​หนึ่ง​กล่าว​ไว้ ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 16 และ 17 มี​การ​ให้​ความ​สำคัญ​กับ​การ​โอ้อวด, สี​สัน, และ​ความ​หรูหรา​ของ​เรือ​กอนโดลา​มาก​เกิน​ไป​จน​สภา​สูง​ของ​เมือง​เวนิซ​ต้อง​เรียก​เก็บ​ค่า​ปรับ​จาก​เจ้าของ​เรือ​กอนโดลา​ที่​มี​สี​สัน​ฉูด​ฉาด​เกิน​ไป​เพื่อ​ให้​เกิด​ความ​พอ​ดี. แต่​หลาย​คน​ยินดี​จ่าย​ค่า​ปรับ​ยิ่ง​กว่า​ที่​จะ​เลิก​ประดับ​ประดา​เรือ​ของ​ตน. ผล​ก็​คือ ผู้​พิพากษา​ศาล​แขวง​ออก​กฎหมาย​ให้​เรือ​กอนโดลา​ทุก​ลำ​ทาสี​ดำ. อีก​คำ​อธิบาย​หนึ่ง​กล่าว​ว่า สี​ดำ​ถือ​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​ความ​โศก​เศร้า​ที่​มี​ต่อ​หลาย​แสน​คน​ที่​เสีย​ชีวิต​เนื่อง​จาก​กาฬโรค. แต่​ก็​มี​คำ​อธิบาย​อื่น​ที่​กล่าว​ว่า​การ​ทาสี​ดำ​บน​เรือ​กอนโดลา​ช่วย​ขับ​ผิว​ที่​ขาว​เปล่ง​ปลั่ง​ของ​สตรี​ผู้​สูง​ศักดิ์​ของ​เมือง​เวนิซ. แต่​ความ​จริง​ไม่​ได้​ซับซ้อน​ขนาด​นั้น. อย่าง​น้อย​ที่​สุด ใน​ตอน​แรก ๆ สี​ดำ​ได้​มา​จาก​น้ำมัน​ดิน​ที่​นำ​มา​ทา​เรือ​กอนโดลา​เพื่อ​กัน​น้ำ.

หลัง​จาก​ล่อง​ไป​เรื่อย ๆ ตาม​ลำ​น้ำ​บน​หลัง​หงส์​ดำ คุณ​ก็​กลับ​มา​ขึ้น​ฝั่ง​ที่​ท่า​น้ำ​ตรง​จุด​ที่​คุณ​ขึ้น​เรือ​ใน​ตอน​แรก. เมื่อ​คุณ​มอง​ตาม​หลัง​เรือ​กอนโดลา​ที่​แล่น​ห่าง​ออก​ไป คุณ​อาจ​นึก​สงสัย​ว่า สัก​พัก​หนึ่ง​หงส์​ตัว​นี้​อาจ​จะ​เอี้ยว​คอ​มา​สาง​ขน​บาง​หย่อม​ที่​ยัง​ไม่​เรียบ​ก็​ได้.

[ภาพ​หน้า 24]

โครง​เรือ​กอนโดลา​ไม่​สมมาตร​กัน

[ภาพ​หน้า 24, 25]

หัว​เรือ​ที่​มี​ลักษณะ​เฉพาะ

[ภาพ​หน้า 25]

โรแบร์โต คน​แจว​เรือ​กอนโดลา​ใน​ลำ​คลอง​เวนิซ

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 25]

© Medioimages