หนอนจักรพรรดิรสเลิศ
หนอนจักรพรรดิรสเลิศ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในแซมเบีย
บางคนไม่ชอบกินหนอน. แต่หลายคนชอบกินอาหารรสเลิศที่ไร้กระดูกนี้. อาหารยอดนิยมสำหรับหลายประเทศในแอฟริกาก็คือตัวแก้วของผีเสื้อกลางคืนจักรพรรดิอิมบราเซีย เบลินา (Imbrasia belina). ในดินแดนนั้น หนอนชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อหนอนผีเสื้อโมเพน ซึ่งได้ชื่อมาจากต้นโมเพนที่มันชอบกินเป็นอาหาร. ในเขตชนบท ชาวบ้านหลายชุมชนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อที่จะเก็บอาหารอันโอชะที่อุดมด้วยสารอาหารซึ่งคลานกระดืบ ๆ นี้. คีธ เล็กเกตต์จากสมาคมอนุรักษ์แห่งคาลาฮารีกล่าวว่า “หนอนชนิดนี้เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญมาก.” นอกจากนั้น มันยังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศของป่าไม้สะวันนาที่มักจะแห้งแล้งและไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์.
เมื่อฝนตกทั่วแอฟริกาใต้ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ผืนดินก็กลับมีชีวิตชีวา. ดักแด้นับล้านที่อยู่ใต้ดินซึ่งอยู่ได้โดยไม่ต้องกินอาหารตอนนี้ได้กลายเป็นผีเสื้อกลางคืนที่สวยงามแล้ว. ในช่วงห้าถึงหกสัปดาห์ ไข่ใบจิ๋วของมันจะกลายเป็นตัวอ่อน แล้วก็เป็น “ไส้กรอก” ตัวอวบอ้วนที่มีสีสัน.
ในเขตที่อาหารหลักคืออาหารประเภทแป้ง เช่น มันสำปะหลังและข้าวโพด ตัวแก้วเหล่านี้ถือเป็นอาหารเสริมที่ดีทีเดียว. แม้หนอนไม่ใช่อาหารโปรดของพวกเราหลายคน แต่หนอนชนิดนี้มีโปรตีนมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ มันจึงเป็นอาหารที่มีคุณค่าโดยเฉพาะในประเทศที่แหล่งโปรตีนชั้นดีมีราคาแพงหรือขาดแคลน. ตัวแก้วที่รับประทานได้จำนวนหนึ่งมีสารอาหารเทียบเท่ากับเนื้อหรือปลาหนึ่งส่วน ซึ่งให้สารอาหารประมาณสามในสี่ส่วนของปริมาณโปรตีน, วิตามิน, และแร่ธาตุที่ร่างกายผู้ใหญ่ต้องได้รับในแต่ละวัน. จริงทีเดียว สิ่งมีชีวิตตัวน้อยนี้ช่างอุดมด้วยสารอาหาร!
ผู้ที่รับประทานตัวแก้วคงสงสัยว่า เหตุใดเกษตรกรในประเทศอื่นที่ทำการเพาะปลูกเพื่อการค้าจึงใช้เงินซื้อสารเคมีแพง ๆ มาทำลายแมลงที่อุดมด้วยสารอาหารเหล่านี้. เมื่อหนอนนับล้าน ๆ เหล่านี้กินอาหาร มันจะเปลี่ยนใบไม้ที่มักไม่อร่อยและบางครั้งก็เป็นพิษให้กลายเป็นอาหารที่มีคุณค่า. มันทำสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือทางการเกษตรราคาแพงและไม่ต้องจ้างสัตวแพทย์! การเก็บตัวแก้วก็เก็บด้วยมือ มันจึงเป็นผลผลิตที่มีค่าซึ่งไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก.
หนอนผีเสื้อโมเพนมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และรักษาความสมดุลทางนิเวศวิทยาให้กับป่าไม้พุ่ม. แม้เราจะรู้สึกทึ่งเมื่อคิดถึงขนาดตัวและปริมาณอาหารที่ช้างแอฟริกากินเข้าไป แต่ความสามารถในการกินและการย่อยอาหารของมันก็ดูเป็นเรื่องธรรมดาไปเลยเมื่อเทียบกับหนอนผีเสื้อโมเพนตัวกระจ้อยร่อย. ในช่วงเวลาสั้น ๆ ราวหกสัปดาห์ ตัวแก้วจำนวนมากจะสวาปามใบไม้ประมาณสิบเท่าและขับถ่ายมูลออกมาเกือบสี่เท่าเมื่อเทียบกับช้างซึ่งกินอาหารในพื้นที่หากินเท่า ๆ กัน. ไม่แปลกใจเลยที่ตัวแก้วจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 4,000 เท่า! ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่การเก็บหนอนอย่างไม่มีการควบคุมจะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินและความสมดุลทางนิเวศวิทยาของพื้นที่นั้น.
มีการเก็บหนอนเหล่านี้อย่างไร? ทุก ๆ ฤดูฝน พวกผู้หญิงในเขตชนบทจะมารวมตัวกันเพื่อเก็บหนอนผีเสื้อโมเพนรอบแรกซึ่งปกติแล้วจะมีการเก็บปีละสองรอบ. พวกเขาใช้เวลาเก็บหนอนนานหลายสัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะเอาไส้ออก, นำไปต้ม, และตากให้แห้ง. อย่างไรก็ตาม การเก็บและการเตรียมอาหารโดยใช้ตัวแก้วที่กินได้ชนิดอื่น ๆ จะต้องมีการเอาใจใส่เป็นพิเศษ. สำหรับหนอนบางชนิด จะต้องมีการถอนขนหรือหนามที่เอาไว้ป้องกันตัวมันออกไป. นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังขณะเตรียมอาหารด้วย เพราะตัวแก้วบางชนิดกินพืชที่เป็นพิษต่อมนุษย์. เมื่อทำเสร็จแล้ว ตัวแก้วตากแห้งก็สามารถนำมารับประทานได้เหมือนขนมกรุบกรอบ แต่บ่อยครั้งจะมีการนำไปแช่น้ำและต้มเป็นสตู หรือผัดกับมะเขือเทศและหัวหอม.
การคิดถึงการรับประทานตัวแก้วอาจทำให้คุณรู้สึกอยากลองหรือไม่ก็รู้สึกคลื่นไส้. คุณอาจเลือกที่จะไม่กินของแปลกตัวน้อย ๆ นี้. แต่จำไว้ว่า พวกมันเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง และเป็นแหล่งที่ช่วยให้หลายครอบครัวในแอฟริกามีรายได้เสริม.
[ภาพหน้า 26]
หนอนผีเสื้อโมเพนมีโปรตีนสูงซึ่งทำให้มันเป็นสินค้าที่มีคุณค่า
[ภาพหน้า 27]
ในระยะที่เป็นตัวแก้ว หนอนผีเสื้อโมเพนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 4,000 เท่า