ผลไม้ยอดนิยมของนักปรุงน้ำหอม
ผลไม้ยอดนิยมของนักปรุงน้ำหอม
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในอิตาลี
น้ำหอมมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน. ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ใครก็ตามที่สามารถหาซื้อได้จะใช้น้ำหอมเพื่อทำให้บ้าน, เสื้อผ้า, ที่นอน, และร่างกายของตนมีกลิ่นหอม. ส่วนผสมของน้ำหอมก็มีทั้งว่านหางจระเข้, ยางสน, อบเชย, และเครื่องเทศอื่น ๆ.—สุภาษิต 7:17; เพลงไพเราะ 4:10, 14.
น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืชพรรณต่าง ๆ ยังคงเป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตน้ำหอม. เราได้มาที่กาลาเบรีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้สุดของคาบสมุทรอิตาลี เพื่อดูการผลิตส่วนผสมอย่างหนึ่งของน้ำหอม. เมื่อพูดถึงชื่อมะกรูดฝรั่ง (bergamot) คุณอาจไม่ค่อยรู้จักเท่าไรนัก แต่ก็อาจกล่าวได้ว่ากลิ่นของผลไม้ชนิดนี้มีอยู่ในน้ำหอมสตรีประมาณหนึ่งในสามและครึ่งหนึ่งของโคโลญผู้ชายในท้องตลาด. ให้เราพาคุณไปรู้จักกับมะกรูดฝรั่ง.
มะกรูดฝรั่งเป็นพืชตระกูลส้มที่มีใบเขียวสดตลอดปี. พืชชนิดนี้จะออกดอกช่วงฤดูใบไม้ผลิ และผลสีเหลืองผิวเรียบขนาดเท่าผลส้มของมันก็จะสุกในช่วงฤดูใบไม้ร่วงหรือต้นฤดูหนาว. ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่ามะกรูดฝรั่งเป็นพืชพันธุ์ผสม และแหล่งกำเนิดก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด. ไม่มีที่ไหนที่พบต้นมะกรูดฝรั่งขึ้นเอง อีกทั้งปลูกโดยเมล็ดก็ไม่ได้. ในการขยายพันธุ์ ผู้ปลูกจะนำกิ่งไปทาบกับพืชตระกูลส้มชนิดใกล้เคียงกัน เช่น มะนาว, หรือส้มเปรี้ยว.
สำหรับนักปรุงน้ำหอม มะกรูดฝรั่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่น. หนังสือเล่มหนึ่งอธิบายว่า น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากมะกรูดฝรั่งมีคุณสมบัติพิเศษ โดยช่วยให้ “กลิ่นต่าง ๆ ผสานกันอย่างลงตัว ทำให้กลิ่นของส่วนผสมทั้งหมดผสานกันเป็นหนึ่งเดียวเหมือนช่อดอกไม้ ช่อเดียว และทำให้กลิ่นแต่ละกลิ่นซึ่งเกิดจากการผสมผสานกันนั้นสดชื่นอย่างเป็นธรรมชาติ.” *
การเพาะปลูกในกาลาเบรีย
แหล่งอ้างอิงเก่าแก่หลายแหล่งบ่งชี้ว่า การปลูกมะกรูดฝรั่งในกาลาเบรียเริ่มต้นราว ๆ ช่วงศตวรรษที่ 18 และบางครั้งชาวบ้านก็เคยขายน้ำมันหอมระเหยให้กับนักเดินทางที่ผ่านมา. อย่างไรก็ตาม การปลูกมะกรูดฝรั่งเพื่อการค้าขึ้นอยู่กับการผลิตและการขายโคโลญ. ปี 1704 จัน ปาโอโล เฟมีนีส ชาวอิตาลีที่อพยพไปอยู่เยอรมนี ได้ผลิตน้ำหอมกลิ่นอ่อน ๆ ที่เขาตั้งชื่อว่าอะควา แอดมีราบิลิส หรือ “น้ำที่น่าหลงใหล.” ส่วนผสมหลักก็คือน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดฝรั่ง. มีการเรียกน้ำหอมนี้ว่าโอเดอโคโลญ ซึ่งหมายถึง “น้ำโคโลญ” หรือโคโลญนั่นเอง ตามชื่อเมืองที่มีการผลิตน้ำหอม.
มีการปลูกสวนมะกรูดฝรั่งในเมืองเรจโจ ประมาณปี 1750 และผลกำไรงามจากการขายน้ำมันหอมระเหยมะกรูดก็ยิ่งกระตุ้นให้มีการปลูกมะกรูดมากขึ้น. มะกรูดฝรั่งชอบอากาศอบอุ่นและพื้นที่ทางภาคใต้ก็ถูกกำบังไว้จากลมหนาวทางเหนือ แต่มะกรูดฝรั่งไม่ชอบลมแรง, อากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน, และการได้รับความชื้นเป็นเวลานาน ๆ. สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะที่สุดคือ
พื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทางใต้สุดของอิตาลี ซึ่งมีลักษณะยาวและแคบโดยกว้างเพียง 5 กิโลเมตรและยาว 150 กิโลเมตร. แม้มีการพยายามปลูกมะกรูดฝรั่งในพื้นที่อื่น ๆ แต่ผลผลิตของมะกรูดฝรั่งส่วนใหญ่ก็มาจากจังหวัดเรจโจ. อีกประเทศหนึ่งที่ปลูกมะกรูดฝรั่งมากคือโกตดิวัวร์ในแอฟริกา.น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดฝรั่งซึ่งเป็นน้ำมันสีเหลืองอมเขียวนั้นได้มาจากผิวมะกรูด. วิธีที่ทำกันมานานในการสกัดน้ำมันหอมระเหยคือการผ่ามะกรูดเป็นสองซีก, ควักเนื้อออก, และนำผิวมะกรูดไปบีบจนมีละอองน้ำมันหอมระเหยพ่นออกมาจากผิวด้านนอกของเปลือกที่เป็นสีเหลืองและจึงใช้ฟองน้ำซับเอาไว้. มะกรูดฝรั่งประมาณ 200 กิโลกรัมเมื่อนำไปผ่านกระบวนการสามารถผลิตน้ำมันหอมระเหยได้เพียงหนึ่งกิโลกรัม. ทุกวันนี้ มีการใช้เครื่องจักรในการสกัดน้ำมันหอมระเหยทุกชนิดซึ่งมีจานขัดหรือลูกกลิ้งเพื่อขูดเอาผิวของมะกรูดทั้งผลออกมา.
ไม่ค่อยรู้จักแต่ใช้อย่างกว้างขวาง
ผลไม้ชนิดนี้อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักสำหรับคนนอกเขตเมืองกาลาเบรีย แต่แหล่งอ้างอิงหนึ่งกล่าวว่า “ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ มะกรูดฝรั่งถือเป็นผลไม้วิเศษ.” กลิ่นหอมแบบมะกรูดฝรั่งไม่ได้มีแต่ในน้ำหอมเท่านั้น แต่ยังพบได้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สบู่, น้ำยาดับกลิ่น, ยาสีฟัน, และครีมบำรุงผิว. น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดฝรั่งมีสารที่ให้กลิ่น จึงมีการใช้น้ำมันหอมระเหยนี้ในไอศกรีม, น้ำชา, ขนมขบเคี้ยว, และเครื่องดื่ม. น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดมีสรรพคุณในการช่วยให้ผิวเป็นสีแทน จึงมีการนำมาเป็นส่วนผสมของครีมหรือโลชันสำหรับอาบแดด. เนื่องจากมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงมีการนำน้ำมันหอมระเหยนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมยา เช่น ยาฆ่าเชื้อในการผ่าตัด, ในวงการแพทย์ด้านดวงตา, และผิวหนัง. นอกจากนี้ มีการนำเพกทินมะกรูดซึ่งก็คือสารที่ก่อให้เกิดวุ้นที่มีประสิทธิภาพ ไปใช้ในการเตรียมยาห้ามเลือดและรักษาอาการท้องร่วง.
นักวิเคราะห์ได้แยกสารประกอบในน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดได้ประมาณ 350 ชนิดซึ่งทำให้มันมีกลิ่นหอมที่โดดเด่นและมีคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมากมาย. ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในผลไม้ชนิดเดียวเท่านั้น!
ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลอาจไม่รู้จักมะกรูดฝรั่งก็ได้. อย่างไรก็ดี คนที่ใคร่ครวญสรรพคุณของพืชตระกูลส้มชนิดนี้และสติปัญญาของพระผู้สร้างที่สร้างมันขึ้นมาก็ย่อมมีเหตุผลที่จะกล่าวซ้ำถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “จงสรรเสริญพระยะโฮวา . . . , ต้นไม้ที่เกิดผล.”—บทเพลงสรรเสริญ 148:1, 9.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 เช่นเดียวกับที่บางคนแพ้ละอองเรณูหรือดอกไม้ บางคนก็อาจแพ้น้ำหอมได้เช่นกัน. ตื่นเถิด! ไม่สนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ.
[ภาพหน้า 25]
มีการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดโดยการขูดผิวมะกรูดทั้งผลออกมา
[ที่มาของภาพ]
© Danilo Donadoni/Marka/age fotostock