ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

โตเลโด—การผสมผสานทางวัฒนธรรมในยุคกลางที่น่าประทับใจ

โตเลโด—การผสมผสานทางวัฒนธรรมในยุคกลางที่น่าประทับใจ

โตเลโด—การ​ผสมผสาน​ทาง​วัฒนธรรม​ใน​ยุค​กลาง​ที่​น่า​ประทับใจ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​สเปน

ใน​ใจ​กลาง​คาบสมุทร​ไอบีเรีย มี​เนิน​เขา​หิน​แกรนิต​ลูก​หนึ่ง​ทอด​ตัว​อยู่ ซึ่ง​มี​แม่น้ำ​ตากุส​โอบ​ล้อม​ทั้ง​สาม​ด้าน. ตลอด​หลาย​ศตวรรษ แม่น้ำ​สาย​นี้​ได้​กัด​เซาะ​ลง​ไป​จน​กลาย​เป็น​หน้าผา​สูง​ที่​ป้องกัน​เนิน​เขา​ทั้ง​สาม​ด้าน​นั้น​ไว้. บน​เนิน​เขา​ที่​มี​ข้อ​ได้​เปรียบ​ทาง​ยุทธศาสตร์​นี้​เอง​ที่​เป็น​ที่​ตั้ง​ของ​โตเลโด เมือง​ที่​หมาย​ถึง​สเปน​และ​วัฒนธรรม​สเปน.

ปัจจุบัน ถนน​แคบ ๆ ที่​คดเคี้ยว​ใน​บริเวณ​เมือง​เก่า​ของ​เมือง​โตเลโด​นั้น​นำ​นัก​ท่อง​เที่ยว​ย้อน​กลับ​ไป​สู่​ยุค​กลาง. ทั้ง​ประตู​เมือง, ปราสาท, และ​สะพาน​ต่าง ๆ ล้วน​ยัง​คง​รักษา​บรรยากาศ​แบบ​ยุค​กลาง และ​ป่าว​ประกาศ​โดย​ไร้​ถ้อย​คำ​ว่า​ใน​ยุค​นั้น​โตเลโด​เป็น​หนึ่ง​ใน​เมือง​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​ยุโรป.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม โตเลโด​ไม่​เหมือน​เมือง​ทั่ว ๆ ไป​ใน​ยุโรป. แม้​แต่​สถานี​รถไฟ​ก็​มี​กลิ่นอาย​แบบ​ตะวัน​ออก. การ​พิจารณา​ดู​โบราณ​สถาน​และ​รูป​สลัก​ต่าง ๆ อย่าง​ถี่ถ้วน​เผย​ให้​เห็น​ว่า เมือง​นี้​ได้​รับ​เอา​ศิลปะ​และ​วิทยา​การ​ของ​อารยธรรม​อัน​หลาก​หลาย​ซึ่ง​เจริญ​รุ่งเรือง​ใน​เมือง​นี้​มา​ตลอด​หลาย​ศตวรรษ. เมื่อ​ประมาณ 700 ปี​มา​แล้ว ซึ่ง​ถือ​เป็น​ยุค​ทอง​ของ​โตเลโด เมือง​นี้​ได้​กลาย​เป็น​แหล่ง​หลอม​รวม​วัฒนธรรม​ต่าง ๆ ของ​ยุค​กลาง​อย่าง​แท้​จริง.

นานา​วัฒนธรรม

ก่อน​ที่​ชาว​โรมัน​จะ​เข้า​มา​ใน​สเปน ชาว​เคลต์​และ​ชาว​ไอบีเรีย​ได้​สร้าง​เมือง​หนึ่ง​ไว้​แล้ว​บน​ชัยภูมิ​ที่​มี​ข้อ​ได้​เปรียบ​ทาง​ยุทธศาสตร์​นี้. ชาว​โรมัน​ตั้ง​ชื่อ​เมือง​นี้​ใหม่​ว่า​โตเลตุม (มา​จาก​คำ​โตลลีตุม ซึ่ง​หมาย​ถึง “ยก​ขึ้น​สูง”) และ​สถาปนา​เมือง​นี้​เป็น​นคร​หลวง​ประจำ​แคว้น​หนึ่ง​ของ​โรม. ลีวี นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​โรมัน​ได้​พรรณนา​ว่า โตเลโด​เป็น “เมือง​เล็ก​ก็​จริง​แต่​ได้​เปรียบ​ใน​เรื่อง​ชัยภูมิ.” เมื่อ​พวก​วิสิกอท​พิชิต​สเปน​หลัง​การ​ล่ม​สลาย​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน พวก​เขา​ก็​เลือก​เมือง​โตเลโด​เป็น​เมือง​หลวง. ช่วง​ศตวรรษ​ที่​หก ใน​เมือง​นี้​เอง​ที่​กษัตริย์​เรคคาเรด​ไม่​ยอม​รับ​นิกาย​อาริอุส ซึ่ง​ถือ​เป็น​ก้าว​หนึ่ง​ที่​ปู​ทาง​ให้​สเปน​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​คริสตจักร​คาทอลิก​แบบ​ดั้งเดิม และ​อาร์ชบิชอป​ที่​มี​ตำแหน่ง​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​คริสตจักร​ก็​อยู่​ที่​เมือง​โตเลโด.

สถานการณ์​ทาง​ศาสนา​เปลี่ยน​ไป​เมื่อ​โตเลโด​กลาย​เป็น​ส่วน​ที่​อยู่​ใน​การ​ปกครอง​ดู​แล​ของ​มุสลิม. ถนน​สาย​แคบ ๆ ใน​เมือง​เก่า​มี​อายุ​ย้อน​ไป​จน​ถึง​ยุค​นั้น ซึ่ง​อยู่​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 8 จน​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 11. ชาว​มุสลิม​ใน​โตเลโด​ยอม​ให้​มี​การ​อยู่​ร่วม​กัน​ใน​สังคม​แบบ​พหุ​วัฒนธรรม​ระหว่าง​คริสเตียน, ยิว, และ​มัวร์. ใน​ที่​สุด​เมื่อ​ถึง​ปี 1085 กษัตริย์​อัล​ฟอง​โซ​ที่ 6 (กษัตริย์​ชาว​คาทอลิก) ได้​พิชิต​เมือง​นี้. แม้​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ผู้​ปกครอง แต่​วัฒนธรรม​เหล่า​นี้​ก็​ยัง​คง​อยู่​ด้วย​กัน​ต่อ​ไป​อีก​หลาย​ศตวรรษ.

โบราณ​สถาน​ที่​น่า​ประทับใจ​ที่​สุด​หลาย​แห่ง​นั้น​มี​อายุ​ย้อน​หลัง​ไป​จน​ถึง​ยุค​กลาง. ผู้​ปกครอง​ชาว​คาทอลิก​ได้​ตั้ง​เมือง​นี้​เป็น​เมือง​หลวง​ของ​ตน ส่วน​พลเมือง​ที่​เป็น​ชาว​ยิว​ได้​แสดง​ฝีมือ​ใน​งาน​แกะ​สลัก​และ​การ​ค้า และ​ช่าง​ฝีมือ​ชาว​มุสลิม​ก็​ใช้​ความ​สามารถ​ของ​ตน​ใน​งาน​ด้าน​สถาปัตย์. ผู้​คง​แก่​เรียน​ของ​ทั้ง​สาม​ศาสนา​ที่​ต่าง​กัน​นี้​ทำ​งาน​ร่วม​กัน​ใน​กลุ่ม​ผู้​แปล. ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 12 และ 13 พวก​เขา​แปล​งาน​เขียน​เก่า​แก่​มาก​มาย​เป็น​ภาษา​ละติน​และ​สเปน. ชาว​ตะวัน​ตก​สามารถ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​ความ​รู้​มาก​มาย​ด้าน​วิทยาศาสตร์​ที่​เป็น​ภาษา​อาหรับ​ก็​เนื่อง​จาก​ผล​งาน​ของ​ผู้​แปล​เหล่า​นี้.

การ​เปิด​กว้าง​ทาง​ศาสนา​มา​ถึง​จุด​สิ้น​สุด​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 14 เมื่อ​พลเมือง​ชาว​ยิว​หลาย​พัน​คน​เสีย​ชีวิต​ใน​การ​สังหาร​หมู่​ด้วย​เหตุ​ผล​ทาง​ศาสนา. ตอน​ที่​โคลัมบัส​ค้น​พบ​อเมริกา ศาล​ศาสนา​ของ​สเปน​ได้​ตั้ง​ห้อง​พิจารณา​คดี​ใน​เมือง​โตเลโด และ​ทั้ง​ชาว​ยิว​กับ​ชาว​มุสลิม​ก็​ต้อง​เลือก​ระหว่าง​การ​ถูก​บังคับ​ให้​เปลี่ยน​ศาสนา​กับ​การ​ถูก​เนรเทศ.

อนุสรณ์​แห่ง​ความ​รุ่งเรือง​ใน​อดีต

ทุก​วัน​นี้ ใจ​กลาง​เมือง​โตเลโด​มี​โบราณ​สถาน​มาก​กว่า​หนึ่ง​ร้อย​แห่ง. เนื่อง​จาก​มี​โบราณ​สถาน​อยู่​มาก​มาย องค์การ​ศึกษา​วิทยาศาสตร์​และ​วัฒนธรรม​แห่ง​สหประชาชาติ​จึง​ประกาศ​ให้​เมือง​นี้​เป็น​เมือง​มรดก​โลก. โบราณ​สถาน​ยุค​กลาง​ที่​น่า​ประทับใจ​ที่​สุด​สอง​แห่ง​คือ สะพาน​ข้าม​แม่น้ำ​ตากุส สะพาน​หนึ่ง​ข้าม​มา​จาก​ฝั่ง​ตะวัน​ออก และ​ส่วน​อีก​สะพาน​หนึ่ง​ข้าม​มา​จาก​ฝั่ง​ตะวัน​ตก. และ​คง​ไม่​มี​นัก​ท่อง​เที่ยว​คน​ใด​มอง​ไม่​เห็น​ประตู​เมือง​ขนาด​ใหญ่​ที่​ชื่อ ปวยร์ตา นวยวา เด บีซากรา ซึ่ง​ช่วย​ป้องกัน​การ​บุก​ทะลวง​เข้า​ไป​ใน​เมือง​เก่า​ที่​มี​กำแพง​ล้อม​รอบ.

เมื่อ​มอง​จาก​ระยะ​ไกล เรา​จะ​เห็น​โบราณ​สถาน​สอง​แห่ง​ที่​โดด​เด่น ณ ขอบ​ฟ้า​เมือง​โตเลโด. ป้อม​ปราการ​ทรง​สี่​เหลี่ยม​ขนาด​ใหญ่​ที่​เรียก​ว่า อัล​คาซา ตั้ง​อยู่​ทาง​ฝั่ง​ตะวัน​ออก. ตลอด​หลาย​ศตวรรษ ป้อม​แห่ง​นี้​เคย​เป็น​แพรทอรีอุม​ของ​โรม (จวน​ผู้​ว่า​ราชการ), พระ​ราชวัง​ของ​ราชวงศ์​วิสิกอท, ป้อม​ปราการ​ของ​ชาว​อาหรับ, และ​พระ​ตำหนัก​ของ​กษัตริย์​สเปน. ปัจจุบัน ป้อม​นี้​กลาย​เป็น​พิพิธภัณฑ์​ทหาร​และ​เป็น​ห้อง​สมุด​ขนาด​ใหญ่. แต่​เนื่อง​จาก​โตเลโด​เป็น​เมือง​ที่​มี​ความ​สำคัญ​ทาง​ศาสนา มหา​วิหาร​แบบ​กอทิก​ที่​ใหญ่​โต​โอ่อ่า​จึง​ตั้ง​อยู่​ใจ​กลาง​เมือง.—ดู​กรอบ​ใน​หน้า 17.

มหา​วิหาร​และ​โบสถ์​อื่น ๆ ใน​โตเลโด​ต่าง​ก็​ตั้ง​แสดง​งาน​ศิลปะ​ของ​จิตรกร​ที่​มี​ชื่อเสียง​ผู้​หนึ่ง​ซึ่ง​ตั้ง​รกราก​ใน​โตเลโด. เขา​เป็น​ที่​รู้​จัก​ใน​ชื่อ เอล เกรโก ซึ่ง​หมาย​ถึง “คน​กรีก.” ชื่อ​จริง​ของ​เขา​คือ​โดเมนิกอส เทโอโตโกปูลอส. ใน​ย่าน​ที่​พัก​อาศัย​ที่​เขา​เคย​อยู่​ซึ่ง​เป็น​ชุมชน​เก่า​แก่​ของ​ชาว​ยิว ปัจจุบัน​มี​หอ​ศิลป์​เล็ก ๆ ที่​เก็บ​ภาพ​วาด​ของ​เขา​ไว้​เป็น​จำนวน​มาก.

บาง​ที โตเลโด​อาจ​เป็น​เมือง​ที่​สง่า​งาม​ที่​สุด​เมื่อ​มอง​ทิวทัศน์​เมือง​นี้​จาก​เนิน​เขา​ที่​อยู่​ทาง​ทิศ​ใต้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​การ​เที่ยว​ชม​ความ​งาม​ของ​เมือง​โตเลโด​ก็​คือ​การ​เดิน​ไป​ตาม​ถนน​แคบ ๆ ใน​เมือง. นัก​ท่อง​เที่ยว​อาจ​หลง​ทาง​สัก​พัก​หนึ่ง แต่​ไม่​นาน​เขา​ก็​จะ​รู้สึก​เพลิดเพลิน​กับ​ช่อง​ทาง​เดิน​ที่​มี​บรรยากาศ​เก่า ๆ, อาคาร​แบบ​โบราณ, เฉลียง​ลอย​ที่​ดู​หรูหรา, และ​ร้าน​ขาย​ของ​ที่​ระลึก​ที่​น่า​เข้า​ไป​ชม.

แม้​เมือง​โบราณ​แห่ง​นี้​ดู​เหมือน​จะ​คง​อยู่​ตราบ​นาน​เท่า​นาน แต่​ใน​ที่​สุด​ก็​ถึง​เวลา​ที่​นัก​ท่อง​เที่ยว​ต้อง​ลา​จาก​เมือง​นี้​ไป. จุด​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​การ​ร่ำ​ลา​ก็​คือ​ริม​ฝั่ง​แม่น้ำ​ตากุส​ทาง​ตอน​ใต้. ขณะ​ที่​วัน​แห่ง​การ​เยี่ยม​ชม​อย่าง​ใกล้​ชิด​จวน​จะ​สิ้น​สุด​ลง ดวง​อาทิตย์​ยาม​อัสดง​ฉาย​แสง​อัน​อบอุ่น​ลง​มา​ที่​เมือง​นี้ โบราณ​สถาน​ต่าง ๆ อัน​งดงาม​ก็​ดู​เหมือน​จะ​สะท้อน​ให้​เห็น​ถึง​ยุค​สมัย​อัน​รุ่งเรือง​ของ​เมือง​นี้​อีก​ครั้ง​หนึ่ง.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 17]

สาม​วัฒนธรรม​ใน​โตเลโด

ใน​ยุค​กลาง โตเลโด​ถูก​แบ่ง​ออก​เป็น​ส่วน​ต่าง ๆ สาม​ส่วน ซึ่ง​ทั้ง​คาทอลิก, ยิว, และ​มุสลิม​ต่าง​ก็​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​กฎหมาย​และ​ขนบธรรมเนียม​ของ​ตน​เอง. สถาน​นมัสการ​โบราณ​บาง​แห่ง​ของ​พวก​เขา​ตอน​นี้​ได้​รับ​ความ​สนใจ​จาก​นัก​ท่อง​เที่ยว​มาก​เป็น​พิเศษ.

➤ สุเหร่า​สมัย​ศตวรรษ​ที่​สิบ ซึ่ง​ปัจจุบัน​รู้​จัก​กัน​ว่า​คริสโต เด ลาลุซ เป็น​ตัว​อย่าง​ของ​งาน​ก่อ​อิฐ​ที่​ช่าง​ชาว​มุสลิม​มัก​จะ​ทำ​กัน​ใน​เวลา​นั้น. สุเหร่า​แห่ง​นี้​ตั้ง​อยู่​ใน​เขต​เมดินา​ซึ่ง​เหล่า​เศรษฐี​มุสลิม​เคย​อาศัย​อยู่​ที่​นั่น.

➤ แม้​จะ​ถูก​เปลี่ยน​เป็น​โบสถ์​คาทอลิก​ใน​ภาย​หลัง แต่​ธรรมศาลา​สอง​หลัง​จาก​ยุค​กลาง​เป็น​หลักฐาน​ยืน​ยัน​ถึง​ชุมชน​ชาว​ยิว​ขนาด​ใหญ่​ใน​โตเลโด ซึ่ง​ครั้ง​หนึ่ง​มี​จำนวน​ประชากร​ถึง​หนึ่ง​ใน​สาม. ซานตา มาเรีย ลา บลังกา เป็น​ธรรมศาลา​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด และ​ภาย​ใน​ซึ่ง​ดู​เหมือน​สุเหร่า​ที่​กล่าว​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้​ก็​มี​เสา​หิน​ที่​ตกแต่ง​อย่าง​วิจิตร​งดงาม. ธรรมศาลา​อีก​หลัง​หนึ่ง​ที่​ใหญ่​กว่า​นั้น​คือ เอล ทรานซิโต (ขวา) ปัจจุบัน​นี้​กลาย​เป็น​พิพิธภัณฑ์​ของ​พวก​เซฟาร์ดิ​ที่​เกี่ยว​กับ​วัฒนธรรม​ยิว.

➤ การ​ก่อ​สร้าง​มหา​วิหาร​แบบ​กอทิก​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​สเปน​เริ่ม​ต้น​ใน​ศตวรรษ​ที่ 13 และ​ต้อง​ใช้​เวลา​สร้าง​กว่า 200 ปี​จึง​จะ​แล้ว​เสร็จ.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 18]

ดาบ​คุณภาพ​เยี่ยม และ​มาร์ซิแพน​รส​เลิศ

เป็น​เวลา​กว่า​สอง​พัน​ปี​แล้ว​ที่​ช่าง​ตี​เหล็ก​เมือง​โตเลโด​ได้​ทำ​ดาบ​ขึ้น และ​ชื่อ​โตเลโด​ก็​หมาย​ถึง​เหล็ก​กล้า​คุณภาพ​เยี่ยม. ทั้ง​กองทัพ​ของ​ฮันนิบาล​รวม​ถึง​กอง​ทหาร​โรมัน​ต่าง​ก็​ใช้​ดาบ​เหล่า​นี้​ซึ่ง​ถูก​ทำ​ขึ้น​ที่​โตเลโด. ศตวรรษ​ต่อ ๆ มา ช่าง​ฝีมือ​ชาว​มุสลิม​ได้​เริ่ม​นำ​วิธี​แกะ​สลัก​แบบ​ที่​ใช้​คร่ำ​เงิน​คร่ำ​ทอง​ฝัง​เป็น​ลวด​ลาย​ต่าง ๆ บน​ดาบ​และ​ชุด​เกราะ​โตเลโด​ของ​ตน. ภาพ​ดาบ​โตเลโด​จำลอง​ซ้าย​มือ​นี้​เป็น​ตัว​อย่าง​ของ​ดาบ​ดัง​กล่าว. (ดู​บทความ “ลวด​ลาย​ทองคำ​บน​เหล็ก” ใน​ตื่นเถิด! ฉบับ 22 มกราคม 2005, ภาษา​อังกฤษ) ทุก​วัน​นี้ ร้าน​ขาย​ของ​ที่​ระลึก​ส่วน​ใหญ่​ใน​เมือง​นี้​จะ​มี​ดาบ​ชุด​ใหญ่​ไว้​ให้​ลูก​ค้า​เลือก​รวม​ถึง​ชุด​เกราะ. นอก​จาก​ดาบ​เหล่า​นี้​จะ​เป็น​ของ​ที่​ระลึก​สำหรับ​นัก​สะสม​แล้ว ดาบ​เหล่า​นี้​ยัง​อาจ​พบ​เห็น​ใน​ภาพยนตร์​ไม่​ใช่​ใน​สนาม​รบ.

อีก​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​สืบ​ทอด​กัน​มา​นาน​ใน​โตเลโด​คือ​การ​ทำ​ขนม​มาร์ซิแพน ซึ่ง​แหล่ง​ที่​มา​ของ​ขนม​ชนิด​นี้​ย้อน​ไป​ถึง​สมัย​ที่​ชาว​อาหรับ​ยึด​ครอง​เมือง​นี้. สเปน​มี​ทุ่ง​อัลมอนด์​มาก​มาย​อยู่​แล้ว​ตอน​ที่​มุสลิม​มา​ถึง แต่​น้ำตาล​ซึ่ง​เป็น​ส่วน​ผสม​สำคัญ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​กำลัง​ขาด​แคลน. ใน​ช่วง 50 ปี​ที่​มุสลิม​ยึด​ครอง มี​การ​ทำ​สวน​อ้อย​ทาง​ตอน​ใต้​ของ​สเปน. พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 11 มาร์ซิแพน​ก็​กลาย​เป็น​ขนม​หวาน​ชนิด​พิเศษ​ของ​โตเลโด​และ​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​ของ​นัก​ชิม​นับ​แต่​นั้น​มา. ปัจจุบัน​นี้ มี​ร้าน​ค้า​หลาย​แห่ง​ใน​โตเลโด​ที่​ทั้ง​ร้าน​จะ​ขาย​แต่​มาร์ซิแพน​เท่า​นั้น ซึ่ง​มัก​จะ​ทำ​เป็น​รูป​ปั้น​เล็ก ๆ. ถ้า​คุณ​ยัง​ไม่​ได้​ชิม​ของ​หวาน​รส​เลิศ​ชนิด​นี้​ก็​ถือ​ว่า​คุณ​มา​ไม่​ถึง​เมือง​โตเลโด.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Agustín Sancho

[แผนที่​หน้า 16]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

โปรตุเกส

สเปน

มาดริด

โตเลโด

[ภาพ​หน้า 18]

สะพาน​ซาน มาร์ติน