“การเป็นคนดี” เพียงพอแล้วไหม?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
“การเป็นคนดี” เพียงพอแล้วไหม?
หญิงสาวชื่อแอลลิสันกล่าวว่า “ฉันดำเนินชีวิตอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้และพยายามจะเป็นคนดี.” เช่นเดียวกับเธอ หลายคนเชื่อว่าการดำเนินชีวิตอย่างนั้นแหละที่พระเจ้าทรงเรียกร้อง.
คนอื่น ๆ รู้สึกมั่นใจว่าถึงแม้เขาทำบาปร้ายแรง พระเจ้าก็ไม่ทรงนำพาตราบใดที่รูปแบบชีวิตโดยรวมของเขายังดีอยู่. เขาเชื่อว่าพระเจ้ามีแนวโน้มที่จะให้อภัยมากกว่าจะตำหนิ.
แน่นอน คำจำกัดความของ “การเป็นคนดี” สำหรับแต่ละคนไม่เหมือนกัน. แต่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไรในเรื่องนี้? เราต้องทำอะไรเพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย? การเป็นคนดีในสายพระเนตรของพระเจ้าหมายความเช่นไร?
การยอมรับการชี้นำจากพระผู้สร้างของเรา
ในฐานะพระผู้สร้างของเรา พระยะโฮวาพระเจ้าทรงมีสิทธิ์ที่จะให้คำแนะนำทางด้านศีลธรรมแก่เรา. (วิวรณ์ 4:11) ในคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าทรงจัดเตรียมกฎหมายและหลักการต่าง ๆ ไว้เพื่อชี้นำเราทั้งในเรื่องความประพฤติและการนมัสการ. พระเจ้าตรัสแก่ประชาชนของพระองค์ว่า “จงฟังเสียงของเราและจงกระทำทุกอย่างที่เราบัญชาเจ้าไว้ เจ้าจึงจะเป็นประชากรของเราและเราจะเป็นพระเจ้าของเจ้า.”—ยิระมะยา 11:4, ฉบับแปลใหม่.
ดังนั้น “การเป็นคนดี” ตามทัศนะของพระเจ้าเรียกร้องให้เราเรียนรู้ว่ามาตรฐานของพระองค์เป็นเช่นไรแล้วปรับเปลี่ยนชีวิตเราให้เข้ากับมาตรฐานนั้น. สมมุติว่าคุณต้องการเป็นเพื่อนกับใครสักคน. โดยปกติคุณคงอยากทราบว่าเขาต้องการให้คนอื่นปฏิบัติต่อเขาอย่างไร แล้วคุณก็คงจะปฏิบัติอย่างที่เขาพอใจ. คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่า เช่นเดียวกับอับราฮามปฐมบรรพบุรุษ เราสามารถเป็นมิตรของพระยะโฮวาได้—นั่นคือ เป็นผู้ที่พระองค์ทรงพอพระทัย. (ยาโกโบ 2:23) ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากพระเจ้ามีมาตรฐานสูงกว่าเรามากนัก เราจึงไม่อาจคาดหมายให้พระองค์เปลี่ยนแปลงมาตรฐานของพระองค์ให้เข้ากับมาตรฐานของเราเอง.—ยะซายา 55:8, 9.
ความสำคัญของการเชื่อฟัง
พระเจ้าจะไม่พอพระทัยเราจริง ๆ ไหมหากเราเพิกเฉยต่อพระบัญชา “เล็ก ๆ น้อย ๆ”? บางคนอาจคิดว่าการเชื่อฟังพระบัญชา “เล็ก ๆ น้อย ๆ” บางข้อนั้นไม่สำคัญ. อย่างไรก็ดี กฎหมายที่พระเจ้าตั้งขึ้นไม่มีข้อใดที่อาจถือได้ว่าไม่สำคัญ. ขอสังเกตว่า ที่ 1 โยฮัน 5:3 (ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้แยกความสำคัญเมื่อกล่าวว่า “นี่แหละหมายถึงความรักต่อพระเจ้า คือที่เราปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์.” เมื่อเราพยายามสุดความสามารถที่จะปฏิบัติตามกฎหมายทั้งสิ้นของพระเจ้า เราพิสูจน์ความรักแบบไม่เห็นแก่ตัวที่เรามีต่อพระองค์.—มัดธาย 22:37.
พระยะโฮวาไม่ใช่ผู้ที่เรียกร้องความสมบูรณ์พร้อมในทุกสิ่ง. หากเราเสียใจอย่างแท้จริงในความผิดพลาดของเราและพยายามอย่างจริงจังที่จะไม่ทำผิดซ้ำอีก พระองค์ก็เต็มพระทัยจะให้อภัยเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 103:12-14; กิจการ 3:19) แต่หากเราจงใจละเลยกฎหมายบางข้อ โดยคิดว่าจะชดเชยด้วยการเชื่อฟังในเรื่องอื่น ๆ แทนจะได้ไหม? ตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าเราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้.
กษัตริย์ซาอูลแห่งอิสราเอลเลือกที่จะเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าเพียงบางข้อ. เมื่อสู้รบกับชาติอะมาเล็ค ท่านได้รับพระบัญชาว่าไม่ควรไว้ชีวิตฝูงสัตว์ของพวกเขา. ท่านต้อง “ฆ่า” สัตว์เหล่านั้นให้หมด. ถึงแม้ซาอูลปฏิบัติตามพระ1 ซามูเอล 15:2-9.
บัญชาข้ออื่น แต่ท่านก็ไม่เชื่อฟังและไว้ชีวิต “ฝูงแกะแพะโคอย่างดี.” เพราะเหตุใด? ท่านกับประชาชนคนอื่น ๆ ต้องการเอาสัตว์เหล่านี้ไว้เสียเอง.—เมื่อผู้พยากรณ์ซามูเอลถามซาอูลว่าทำไมท่านไม่เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า ซาอูลค้านและอ้างว่าท่านได้เชื่อฟัง. ท่านแจกแจงสิ่งดี ๆ หลายอย่าง ที่ท่านและประชาชนได้ทำ รวมทั้งเครื่องบูชาที่พวกเขาได้ถวายแด่พระเจ้า. ซามูเอลถามว่า “พระยะโฮวาทรงพอพระทัยในเครื่องเผาบูชาเครื่องถวายเสมอเหมือนกับการเชื่อฟังพระดำรัสของพระองค์หรือ? ดูกรท่าน, การเชื่อฟังก็ประเสริฐกว่าเครื่องบูชา, และการสดับฟังนั้นประเสริฐกว่ามันแกะตัวผู้อีก.” (1 ซามูเอล 15:17-22) ดังนั้น เราไม่สามารถทดแทนการไม่เชื่อฟังพระเจ้าในบางเรื่องด้วยการถวายเครื่องบูชาหรือโดยทำการดีในเรื่องอื่น ๆ.
มาตรฐานของพระเจ้า—หลักฐานที่แสดงถึงความรักของพระองค์
ด้วยความรักพระยะโฮวามิได้ปล่อยให้เราเดาสุ่มเอาว่าจะทำให้พระองค์พอพระทัยได้อย่างไร. ในคัมภีร์ไบเบิลพระองค์ทรงให้คำแนะนำทางด้านศีลธรรมที่ชัดเจน ที่แท้แล้วพระองค์ตรัสว่า “ทางนี้แหละ; เดินไปเถอะ!” (ยะซายา 30:21) เมื่อเราปฏิบัติตามคำแนะนำของพระองค์ เราก็ไม่ต้องประสบกับความข้องขัดใจและความไม่มั่นใจในการเลือกเฟ้นแนวคิดทางด้านศีลธรรมที่ขัดแย้งกันของมนุษย์. และเรามั่นใจได้ว่าการชี้นำของพระเจ้าเป็นประโยชน์ต่อเราเสมอ พระองค์ ‘สั่งสอนเราเพื่อประโยชน์แก่ตัวของเราเอง.’—ยะซายา 48:17, 18.
มีอันตรายเช่นไรในการเลือกเอาเองว่า “การเป็นคนดี” นั้นต้องทำอะไรบ้าง? เราทุกคนมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติอย่างที่เห็นแก่ตัว. หัวใจของเราเองอาจหลอกเราได้. (ยิระมะยา 17:9) เป็นเรื่องง่ายที่เราอาจลดความสำคัญของข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของพระเจ้าซึ่งเราถือว่าเป็นเรื่องยุ่งยากหรือเข้มงวด.
ตัวอย่างเช่น คนสองคนที่ยังไม่แต่งงานกันอาจเลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์ โดยคิดว่าเนื่องจากเรื่องนี้ไม่มีคนอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นเรื่องส่วนตัวแท้ ๆ. เขาทั้งสองอาจตระหนักว่าการกระทำของตนไม่ตรงกับมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล แต่ก็อาจสรุปว่าตราบใดที่ “ไม่มีใครได้รับความเสียหาย” พระเจ้าก็คงจะไม่ขัดข้อง. ความปรารถนาของเขาอาจทำให้เขามองไม่เห็นความสำคัญและผลพวงทั้งสิ้นจากการกระทำของเขา. คัมภีร์ไบเบิลเตือนว่า “มีทางหนึ่งซึ่งดูเหมือนบางคนเห็นว่าเป็นทางถูก; แต่ปลายทางนั้นเป็นทางแห่งความตาย.”—สุภาษิต 14:12.
กฎหมายทั้งสิ้นของพระยะโฮวาสะท้อนถึงความรักที่พระองค์มีต่อมนุษย์และแสดงว่าพระองค์ทรงปรารถนาจะให้เราพ้นจากความทุกข์. การหลบเลี่ยงไม่ยอมทำตามมาตรฐานของพระเจ้าในเรื่องศีลธรรมทางเพศหรือความประพฤติในด้านอื่น ๆ ไม่ได้ทำให้ผู้คนมีความสุขหรือประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น. สำหรับหลายคน การทำเช่นนั้นกลับทำให้ชีวิตของเขายุ่งยากมากขึ้นทีเดียว. ในทางตรงข้าม การปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ของพระเจ้าช่วยเสริมกำลังเราให้ดำเนินชีวิตที่ดีมีศีลธรรม และหลีกเลี่ยงการก่อความเสียหายโดยไม่จำเป็นแก่ตัวเราเองและคนอื่น.—บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11.
หากคุณปรารถนาอย่างจริงใจที่จะเป็นคนดีตามทัศนะของพระเจ้า จงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของพระองค์. คุณจะประสบด้วยตัวเองว่า “บัญญัติของ [พระยะโฮวา] ไม่เป็นภาระหนัก.”—1 โยฮัน 5:3, ล.ม.
คุณเคยสงสัยไหม?
▪ ทำไมเราควรยอมรับการชี้นำจากพระผู้สร้างของเรา?—วิวรณ์ 4:11.
▪ เราต้องเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าทุกข้อไหม?—1 โยฮัน 5:3.
▪ ทำไมไม่ฉลาดที่เราเลือกมาตรฐานด้านศีลธรรมของเราเอง?—สุภาษิต 14:12; ยิระมะยา 17:9.
[ภาพหน้า 21]
คุณมีทัศนะเหมือนพระเจ้าในเรื่องศีลธรรมไหม?