อ่าวชาร์กเบย์—ดินแดนมหัศจรรย์ทางทะเล
อ่าวชาร์กเบย์—ดินแดนมหัศจรรย์ทางทะเล
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
อ่าวชาร์กเบย์เป็นทางน้ำเข้าตื้น ๆ ขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ที่ปลายสุดทางตะวันตกของออสเตรเลีย ห่างจากเมืองเพิร์ทขึ้นไปทางเหนือราว ๆ 650 กิโลเมตร. ในปี 1629 นักสำรวจชาวดัตช์ชื่อฟรังซัว เพลซาร์ต เรียกเขตซึ่งเป็นทะเลทรายแห่งนี้ว่า “ดินแดนที่แห้งแล้งและถูกสาป ปราศจากซึ่งพืชพันธุ์หรือหญ้า.” ผู้มาเยือนในยุคต่อมาได้จารึกความรู้สึกของตนไว้โดยตั้งชื่อต่าง ๆ ให้ เช่น ช่วงลำน้ำโฮปเลสส์ (สิ้นหวัง), ทางน้ำเข้ายูสเลสส์ (ไร้ประโยชน์), และอ่าวดิสแอปพอยท์เมนต์ (ผิดหวัง).
แต่ทุกวันนี้มีคนมากกว่า 120,000 คนพากันหลั่งไหลไปที่อ่าวชาร์กเบย์ทุกปี. พื้นที่อันอยู่ห่างไกลนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจมากเสียจนมันถูกรวมอยู่ในบัญชีรายชื่อมรดกโลกตั้งแต่ปี 1991. *
ทุ่งหญ้าที่เต็มไปด้วยชีวิต
เพลซาร์ตคงจะพบทุ่งหญ้าอย่างที่เขาหวังไว้ถ้าเขามองลงไปใต้น้ำ เนื่องจากอ่าวชาร์กเบย์มีทุ่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดและหลากหลายที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 4,000 ตารางกิโลเมตร. เนินหญ้าทะเลวูราเมล ซีกราสส์ แบงก์ เพียงแห่งเดียวก็ทอดยาวประมาณ 130 กิโลเมตรเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวชาร์กเบย์.
หญ้าทะเลนั้น ซึ่งอันที่จริงแล้วอยู่ในจำพวกพืชดอก ได้ค้ำจุนสิ่งมีชีวิตในทะเลหลากหลายชนิด. ตัวอ่อนกุ้ง, ปลาตัวเล็ก ๆ, และสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกนับไม่ถ้วนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีหญ้าทะเลปกคลุมอยู่. นอกจากนี้ ทุ่งหญ้าทะเลยังเป็นแหล่งอาหารอันอุดมของพะยูนหรือวัวทะเลที่อาศัยอยู่ที่นี่ราว ๆ 10,000 ตัว. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีนิสัยอ่อนโยนและอยากรู้อยากเห็นนี้ซึ่งอาจมีน้ำหนักมากถึง 400 กิโลกรัม พากันเล็มหญ้าอยู่เงียบ ๆ ในทุ่งหญ้าใต้ทะเลอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งบางครั้งพวกมันอยู่รวมกันเป็นฝูงกว่า 100 ตัว. ทางภาคเหนือของออสเตรเลีย ตั้งแต่อ่าวชาร์กเบย์ทางตะวันตกไปจนถึงอ่าวโมเรตันทางตะวันออกอาจเป็นถิ่นอาศัยของพะยูนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้. *
สมกับชื่อของมัน อ่าวชาร์กเบย์ (อ่าวฉลาม) เป็นที่
อาศัยของฉลามจำนวนมากมายในสิบกว่าชนิด. ฉลามเหล่านี้มีทั้งฉลามเสือที่น่าเกรงขาม และฉลามวาฬที่มีขนาดมหึมาแต่ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ซึ่งจัดว่าเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก. ฉลามอาศัยอยู่ในน่านน้ำบริเวณนี้ร่วมกับโลมา ซึ่งเป็นการหักล้างความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าที่ใดมีโลมาที่นั่นจะไม่มีฉลาม. ที่จริง นักวิจัยพบว่าโลมาราว ๆ 70 เปอร์เซ็นต์ในแถบนี้มีแผลเป็นจากการถูกฉลามทำร้าย. สัตว์หลากหลายชนิดที่อยู่ในอ่าวนี้ยังรวมไปถึงวาฬหลังค่อมหลายพันตัวที่มาแวะพักที่นี่ขณะที่มันอพยพลงใต้ในแต่ละปี และเต่าทะเลจำนวนพอ ๆ กันที่มาวางไข่ในแต่ละปีตามชายหาด.มันเป็นหินจริง ๆ หรือ?
ไม่เหมือนกับส่วนอื่น ๆ ในอ่าวชาร์กเบย์ แอ่งแฮเมลิน พูล ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ทางใต้สุดของอ่าว ดูร้างเปล่าและไร้ชีวิต. เนื่องจากมีอัตราการระเหยสูงมาก เขตน้ำตื้นเหล่านี้จึงมีความเค็มมากกว่าน้ำทะเลปกติถึงสองเท่า. มีสิ่งที่ดูเหมือนหินสีเทาหม่น ๆ กระจายอยู่ตามที่ตื้นริมฝั่งของแอ่ง. อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูใกล้ ๆ ปรากฏว่า “หิน” เหล่านี้จริง ๆ แล้วเป็นสโตรมาโตไลต์ ซึ่งเป็นผลิตผลของกลุ่มจุลชีพเซลล์เดียวที่เรียกว่า ไซอันโนแบคทีเรีย (cyanobacteria) หรือสาหร่ายสีเขียวแกมฟ้า. มันอยู่กันอย่างหนาแน่นถึงราว ๆ สามพันล้านตัวในทุก ๆ 1 ตารางเมตรทีเดียว!
จุลชีพที่ทรหดเหล่านี้เอาเมือกเหนียว ๆ ผสมกับวัสดุที่สกัดจากน้ำทะเลเพื่อสร้างเป็นซีเมนต์ ซึ่งมันค่อย ๆ สร้างต่อเติมบ้านที่ดูเหมือนหินของมันขึ้นทีละชั้น. กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นช้ามาก. ที่จริง เมื่อสโตรมาโตไลต์สูงขึ้นหนึ่งฟุต มันก็อาจมีอายุเกือบ 1,000 ปีแล้ว!
สระแฮเมลิน พูลมีสโตรมาโตไลต์ในทะเลมากที่สุดและหลากหลายที่สุดในโลก. ยิ่งกว่านั้น มันเป็นที่มั่นสุดท้ายของสโตรมาโตไลต์ที่เหลืออยู่ไม่ว่าที่ใดในโลกนี้.
ดาวเด่นของอ่าวชาร์กเบย์
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในอ่าวชาร์กเบย์คือโลมาปากขวดแห่งหาดมังคีไมอา ซึ่งเป็นชายหาดที่ปลายคาบสมุทรเดนแฮม. หาดมังคีไมอาเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งในโลกนี้ที่โลมาที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติเข้ามาที่ชายหาดเป็นประจำเพื่อติดต่อสัมพันธ์กับมนุษย์. ไม่มีใครรู้แน่ว่าพวกโลมาเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับมนุษย์ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไร.
บางคนเล่าเรื่องที่โลมาต้อนฝูงปลาเข้ามาในเขตน้ำตื้นเมื่อทศวรรษ 1950—ซึ่งเป็นสิ่งที่มันยังทำกันอยู่แม้แต่ในทุกวันนี้. ผู้คนอาจฉวยโอกาสนี้ให้อาหารและเล่นกับโลมา. ในปี 1964 ชาวประมงหญิงคนหนึ่งโยนปลาลงไปให้โลมาตัวหนึ่งที่กำลังกระโดดน้ำเล่นรอบ ๆ เรือของเธอที่หาดมังคีไมอา. โลมาตัวนั้น ซึ่งผู้คนตั้งชื่อให้ว่า
เจ้าชาร์ลี กลับมาในคืนถัดไปและกินปลาจากมือของเธอโดยตรง. ไม่นานเพื่อน ๆ ของเจ้าชาร์ลีก็มาร่วมวงด้วย.ตั้งแต่นั้นมา โลมาสามรุ่นก็ได้ทำให้นักท่องเที่ยวหลายล้านคนชื่นชอบ. พวกมันยังทำให้นักชีววิทยาชื่นชมด้วย เพราะคนเหล่านี้มากกว่า 100 คนจากหลายประเทศได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับสัตว์พวกนี้ ทำให้พวกมันเป็นโลมาที่มีคนศึกษามากที่สุดในโลก.
ปัจจุบัน ฝูงโลมาว่ายเข้ามาที่หาดมังคีไมอาแทบทุกเช้า บ่อยครั้งพร้อมกับลูก ๆ ของมัน. นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่รู้สึกตื่นเต้นรอคอยให้พวกมันว่ายเข้ามา แต่มีเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสให้อาหารมัน. ทำไม? เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติต้องการทำให้แน่ใจว่าพวกมันจะหากินเองได้โดยไม่ต้องพึ่งอาศัยอาหารที่มนุษย์ให้. อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่ไปดูก็เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน. ผู้หญิงคนหนึ่งพูดด้วยความดีใจว่า “ถ้ามนุษย์สามารถใกล้ชิดกับสัตว์ทุกชนิดอย่างนี้ได้ก็จะดีสิ!”
คัมภีร์ไบเบิลเผยว่าความปรารถนาเช่นนั้นสะท้อนพระประสงค์แรกเดิมของพระเจ้าสำหรับมนุษย์ที่ให้ดูแลสัตว์ทั้งปวงที่อยู่ใต้อำนาจด้วยสันติ. (เยเนซิศ 1:28) ถ้าคุณรักสัตว์ คุณคงดีใจที่รู้ว่าความสำเร็จของพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งแม้จะถูกขัดจังหวะชั่วคราวโดยบาป จะเป็นจริงอย่างเต็มที่เมื่อราชอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งเป็นรัฐบาลทางภาคสวรรค์ที่พระเยซูคริสต์เป็นผู้นำ จะได้ปกครองแผ่นดินโลก.—มัดธาย 6:9, 10; วิวรณ์ 11:15.
ภายใต้ราชอาณาจักรของพระเจ้า แผ่นดินโลกทั้งสิ้นจะเป็นเขตอนุรักษ์เพื่อความงามตามธรรมชาติซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตและสภาพที่สมบูรณ์. อีกไม่นาน สถานที่เช่นอ่าวชาร์กเบย์อาจมีสิ่งที่น่าสนใจสำหรับมนุษย์มากกว่าที่มีในปัจจุบันนี้เสียอีก.—บทเพลงสรรเสริญ 145:16; ยะซายา 11:6-9.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติเพิ่มชื่อสถานที่ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมหรือธรรมชาติเข้าไว้ในรายชื่อมรดกโลก.
^ วรรค 7 แม้ว่าพะยูนจะอยู่ในตระกูลเดียวกับมานาที แต่มันก็เป็นสัตว์คนละชนิดกัน. มานาทีมีหางโค้งมน ส่วนพะยูนมีหางแหลม เหมือนกับโลมา.
[แผนที่หน้า 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ออสเตรเลีย
อ่าวชาร์กเบย์
[ภาพหน้า 16, 17]
ภาพถ่ายทางอากาศของหาดมังคีไมอา
[ภาพหน้า 16, 17]
พะยูน หรือวัวทะเล ผู้อ่อนโยน
[ที่มาของภาพ]
© GBRMPA
[ภาพหน้า 16, 17]
จุลชีพหลายพันล้านตัวสร้างสโตรมาโตไลต์
[ภาพหน้า 17]
โลมาที่อาศัยตามธรรมชาติได้ว่ายเข้ามาที่หาดมังคีไมอาเป็นประจำ
[ที่มาของภาพหน้า 15]
© GBRMPA; satellite map: Jeff Schmaltz, MODIS Rapid Response Team, NASA/GSFC
[ที่มาของภาพหน้า 17]
All images, except dugong, supplied courtesy Tourism Western Australia