เครื่องนำทางที่ยอดเยี่ยมกว่าสัญชาตญาณ
เครื่องนำทางที่ยอดเยี่ยมกว่าสัญชาตญาณ
“ถ้าหากศีลธรรมส่วนบุคคลเป็นแต่เพียงการเลือกตามอำเภอใจ และไม่มีหลักการใด ๆ ที่จะช่วยตัดสินว่าการเลือกนั้น ๆ ถูกต้องตามหลักศีลธรรมหรือไม่ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้กฎหมายเพื่ออุดช่องว่างทางศีลธรรมที่เกิดขึ้น.”—ดร. แดเนียล คัลลาฮัน.
น่าเศร้า สิ่งที่คัลลาฮันเป็นห่วงได้เกิดขึ้นจริง ๆ เนื่องจากช่องว่างหรือสภาพไร้ศีลธรรมที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศทำให้รัฐบาลจำต้องออกกฎหมายมากมายนับไม่ถ้วนเพื่อพยายามควบคุมอาชญากรรมไม่ให้มีมากขึ้น. ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยเรื่องมารดาชาวไนจีเรียที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ประธานาธิบดีไนจีเรียกล่าวแสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่งในเรื่องอนาคตของชาติ. สิ่งที่เขาเป็นห่วงไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือความยากจน แต่เป็น “ปัญหาที่ร้ายแรงยิ่งกว่ามากนัก” นั่นคือ “ความเสื่อมที่มีอยู่อย่างแพร่หลายของ . . . ค่านิยมที่เป็นรากฐานสำคัญภายในวงครอบครัว, ในที่ทำงาน, ในชุมชนและในระดับชาติ.”
ในบริเตน การสำรวจมารดา 1,736 คนพบว่า “หน่วยครอบครัวแบบดั้งเดิมกำลังเสื่อมสลายไปเนื่องจากค่านิยมทางศีลธรรมเสื่อมลงเร็วมากและพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแต่เพียงลำพังก็เพิ่มมากขึ้น.” ในประเทศจีนก็เช่นกัน ศีลธรรมกำลังเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว. วารสารไทม์ รายงานว่า ชาวจีนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่น้อยลงและมีคู่นอนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน. หญิงสาวชาวจีนคนหนึ่งซึ่งโอ้อวดว่ามีคู่นอนมากกว่า 100 คนแล้วกล่าวว่า “นี่คือชีวิตของฉัน และฉันจะทำอะไรกับชีวิตของฉันก็ได้ตามที่ฉันต้องการ.”
ความเสื่อมทางศีลธรรมยังส่งผลกระทบต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย. ยาเวด อักบาร์ กล่าวในหนังสือพิมพ์โทรอนโต สตาร์ ของแคนาดาว่า “ประชาชนไม่ได้ยึดถือเหล่าผู้นำของตนในฐานะแบบอย่างทางศีลธรรมอีกต่อไปแล้ว.” เขากล่าวว่า นักการเมือง, ผู้บริหารในบริษัท, และแม้แต่ผู้นำทางศาสนา “ดูเหมือนขาดความเข้มแข็งด้านศีลธรรม.”
ทำไมศีลธรรมจึงเสื่อมลง?
มีหลายสิ่งผลักดันให้เกิดแนวโน้มของความเสื่อมนี้. อย่างหนึ่งคือผู้คนทั่วไปเริ่มมีแนวโน้มที่จะขัดขืนค่านิยมแบบดั้งเดิม. ตัวอย่างเช่น การสำรวจความคิดเห็นครั้งหนึ่งที่ทำในภาคใต้ของสหรัฐแสดงให้เห็นว่า นักศึกษาระดับวิทยาลัยที่ตอบคำถามครั้งนี้ส่วนใหญ่รู้สึกว่า “เรื่องถูกผิดเป็นเรื่องของความเห็นส่วนตัว.”
นักเขียนบทความทางการเมืองชื่อ ซบิกเนียฟ เบรชินสกี กล่าวถึงปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง. เขาเขียนว่า สังคมทุกวันนี้ “ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นเรื่องการสนองตามความปรารถนาของปัจเจกบุคคลในทันที เป็นสภาพการณ์ที่คติสุขารมณ์ของปัจเจกบุคคลและของผู้คนโดยรวมกลายเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญที่ควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ.” * การตัดสินใจเลือกเอาเองด้านศีลธรรม, ความโลภ, และการมุ่งแต่จะสนองความต้องการของตัวเองอาจดูน่าดึงดูดใจอยู่บ้าง แต่สิ่งเหล่านี้ทำ ให้เกิดความสุขแท้, ความอิ่มใจพอใจ, และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคนอื่นไหม?
พระเยซูตรัสว่า “สติปัญญาก็ปรากฏว่าชอบธรรมโดยผลแห่งสติปัญญานั้น.” (มัดธาย 11:19, ล.ม.) ผู้คนมีความสุขและรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นจากการที่ค่านิยมทางศีลธรรมเสื่อมทรามลงไหม? ขอให้คิดถึงผลที่เกิดขึ้นบางอย่างต่อไปนี้: ความไม่ไว้วางใจกันที่มีมากขึ้น, ความรู้สึกไม่ปลอดภัย, ความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้น, เด็ก ๆ เติบโตขึ้นโดยไม่มีพ่อหรือแม่, การระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงปรารถนา, การติดยาเสพติด, และความรุนแรง. เห็นได้ชัดว่า ความเป็นจริงเหล่านี้ไม่ได้แสดงถึงความอิ่มใจพอใจและความสำเร็จ หากแต่ชี้ถึงความทุกข์และความล้มเหลว.—ฆะลาเตีย 6:7, 8.
เมื่อได้เห็นปัญหาคล้าย ๆ กันในสมัยของท่าน ยิระมะยาผู้พยากรณ์คนหนึ่งของพระเจ้า ได้กล่าวถ้อยคำต่อไปนี้ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจ: “โอ้พระยะโฮวา, ข้าพเจ้ารู้อยู่ว่าทางที่มนุษย์จะไปนั้นไม่ได้อยู่ในตัวของตัว, ไม่ใช่ที่มนุษย์ซึ่งดำเนินนั้นจะได้กำหนดก้าวของตัวได้.” (ยิระมะยา 10:23) ใช่แล้ว พระเจ้าไม่ได้สร้างเราให้แยกตัวเป็นเอกเทศจากพระองค์ หรือให้เลือกเอาเองว่าอะไรถูกอะไรผิด. สิ่งที่เราคิดว่าดี ที่จริงแล้วอาจก่อความเสียหายอย่างมากก็ได้. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ในสุภาษิต 14:12 ว่า “มีทางหนึ่งซึ่งดูเหมือนบางคนเห็นว่าเป็นทางถูก; แต่ปลายทางนั้นเป็นทางแห่งความตาย.”
ศัตรูที่อยู่ภายในตัวเรา!
เหตุผลข้อหนึ่งที่ว่าเราจำต้องรับการชี้นำในเรื่องทางศีลธรรมคืออะไร? เหตุผลก็คือหัวใจของเราอาจหลอกตัวเราเองได้. คัมภีร์ไบเบิลที่ยิระมะยา 17:9 (ล.ม.) กล่าวว่า “หัวใจทรยศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและสิ้นคิด. ใครจะรู้จักหัวใจได้เล่า?” ถ้าคุณรู้จักใครสักคนที่เป็นคนทรยศและสิ้นคิด คุณจะไว้ใจเขาไหม? ไม่อย่างแน่นอน! กระนั้น เราแต่ละคนมีหัวใจที่สามารถแสดงนิสัยเหล่านี้ออกมาทีเดียว. ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงเตือนเราอย่างตรงไปตรงมาแต่ก็เปี่ยมด้วยความรักดังนี้: “ผู้ที่วางใจหัวใจของตนเองก็เป็นคนโฉดเขลา แต่ผู้ซึ่งดำเนินด้วยปัญญาคือผู้ที่จะหนีพ้น.”—สุภาษิต 28:26, ล.ม.
พระคัมภีร์แสดงว่าเราต้องทำอะไร: แทนที่จะวางใจในความสามารถที่ไม่สมบูรณ์ของตัวเอง เราต้องดำเนินตามยาโกโบ 1:5.
สติปัญญาของพระเจ้า และโดยวิธีนั้นจึงช่วยตัวเราให้รอดพ้นจากหลุมพรางที่มีอยู่มากมายได้. ยิ่งกว่านั้น สติปัญญาที่ล้ำค่าก็มีอยู่พร้อมสำหรับทุกคนที่ต้องการสติปัญญานั้นด้วยใจจริง. “ถ้าผู้ใดในพวกท่านขาดสติปัญญา ก็ให้คนนั้นขอแต่พระเจ้า, ผู้ทรงโปรดประทานให้แก่คนทั้งปวงด้วยเต็มพระทัยและมิได้ทรงติว่า.”—วางใจในพระเจ้า “ด้วยสุดใจของเจ้า”
คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงพระผู้สร้างของเราดังนี้: “พระองค์เป็นศิลา, กิจการของพระองค์ดีรอบคอบ; เพราะทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม: พระองค์เป็นพระเจ้าแห่งความจริงปราศจากความอสัตย์, เป็นผู้ชอบธรรมและซื่อสัตย์.” (พระบัญญัติ 32:4) ใช่แล้ว พระยะโฮวาเป็นเช่นเดียวกับศิลาอันใหญ่โตมั่นคง. เราสามารถหมายพึ่งในพระองค์อย่างเต็มที่เพื่อจะได้รับการชี้นำที่เหมาะสมทางศีลธรรมและทางศาสนาไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรรอบตัวเรา. สุภาษิต 3:5, 6 กล่าวว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.”
จริงทีเดียว ใครจะให้การชี้นำได้ดีไปกว่าพระผู้สร้างของเรา ผู้ที่นับ ‘ผมของเราทุกเส้น’? (มัดธาย 10:30) ยิ่งกว่านั้น พระองค์ได้ทรงพิสูจน์แล้วว่าเป็นมิตรแท้ เป็นผู้ที่รักเรามากพอที่จะพูดกับเราอย่างตรงไปตรงมาตลอดเวลา แม้แต่เมื่อความจริงอาจเป็นเรื่องที่เราจะต้องกล้ำกลืนยอมรับอย่างยากลำบากก็ตาม.—บทเพลงสรรเสริญ 141:5; สุภาษิต 27:6.
ขอสังเกตด้วยว่าพระยะโฮวาไม่บังคับเราให้ยอมทำตามการชี้นำของพระองค์. แต่พระองค์กระตุ้นเราด้วยความรัก. “เราคือยะโฮวา . . . ผู้สั่งสอนเจ้า, เพื่อประโยชน์แก่ตัวของเจ้าเอง, และผู้นำเจ้าให้ดำเนินในทางที่เจ้าควรดำเนิน. โอ้ถ้าเจ้าได้เชื่อฟังคำสั่งของเราแล้ว, ความเจริญของเจ้าก็จะเป็นดังแม่น้ำไหล, และความชอบธรรมของเจ้าก็จะมีบริบูรณ์ดังคลื่นในมหาสมุทร.” (ยะซายา 48:17, 18) คุณรู้สึกอยากเข้าใกล้ชิดพระเจ้าเช่นนี้มิใช่หรือ? นอกจากนั้น พระองค์ทำให้สติปัญญาของพระองค์เป็นสิ่งที่เราสามารถหาอ่านได้ง่ายโดยทางพระคำของพระองค์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ นั่นคือคัมภีร์ไบเบิลบริสุทธิ์ หนังสือที่จำหน่ายกันอย่างแพร่หลายที่สุดในโลก!—2 ติโมเธียว 3:16.
ยอมให้พระคำของพระเจ้าส่องแสงนำทางเรา
ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนเกี่ยวกับพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ดังนี้: “พระวจนะของพระองค์เป็นโคมสำหรับเท้าของข้าพเจ้า, และเป็นแสงสว่างตามทางของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:105) โคมสำหรับเท้าของเราเผยให้เห็นอันตรายที่อยู่ใกล้ตัว ส่วนแสงสว่างตามทางของเราเผยให้เห็นเส้นทางเดินข้างหน้า. พูดง่าย ๆ พระคำของพระเจ้าสามารถชี้นำเราให้ดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยโดยช่วยเราให้ทำการตัดสินใจที่สุขุมและถูกต้องตามหลักศีลธรรมในทุก ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องที่มีผลต่อเราในปัจจุบันและอนาคต.
ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาคำเทศน์บนภูเขา. ในคำเทศน์สั้น ๆ ซึ่งถูกบันทึกไว้ที่มัดธายบท 5 ถึง 7 พระเยซูคริสต์ตรัสเกี่ยวกับความสุข, ความรัก, ความเกลียด, ความกรุณา, ศีลธรรม, การอธิษฐาน, การมุ่งแสวงหาความร่ำรวย, และเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่องซึ่งใช้ได้ในทุกวันนี้เช่นเดียวกับในสมัยก่อน. คำตรัสของพระองค์ลึกซึ้งมากจน “ประชาชนทั้งปวงก็อัศจรรย์ใจด้วยคำสั่งสอนของพระองค์.” (มัดธาย 7:28) เชิญใช้เวลาสักครู่อ่านคำเทศน์นั้นด้วยตัวคุณเองดู คุณคงจะรู้สึกประทับใจเช่นกัน.
“จงขอ” ความช่วยเหลือจากพระเจ้าต่อ ๆ ไป
จริงอยู่ การทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระเจ้าไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลเปรียบการต่อสู้กับบาปในตัวเราเหมือนกับสงคราม. (โรม 7:21-24) อย่างไรก็ตาม ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า เราจะเป็นฝ่ายชนะในสงครามนั้นได้. พระเยซูตรัสว่า “จงขอแล้วจะได้, จงหาแล้วจะพบ . . . เพราะว่าทุกคนที่ขอก็จะได้, ทุกคนที่แสวงหาก็จะพบ.” (ลูกา 11:9, 10) ใช่แล้ว พระยะโฮวาจะไม่หันหนีจากใครก็ตามที่พยายามดำเนินในทางแคบซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ด้วยความจริงใจ.—มัดธาย 7:13, 14.
ขอสังเกตตัวอย่างของแฟรงก์ ซึ่งติดบุหรี่ตอนที่เขาเริ่มศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวา. หลังจากอ่าน 2 โกรินโธ 7:1 และลงความเห็นอย่างถูกต้องว่านิสัยของเขาเป็น ‘มลทินแห่งเนื้อหนัง’ ในสายพระเนตรของพระเจ้า แฟรงก์ก็ตัดสินใจว่าจะเลิกสูบบุหรี่. อย่างไรก็ตาม การทำตามการตัดสินใจของเขานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย. ครั้งหนึ่งเขาถึงกับคลานไปรอบ ๆ ห้องเพื่อหาก้นบุหรี่เก่ามาจุดสูบ!
พฤติกรรมที่ไร้ศักดิ์ศรีนี้ทำให้แฟรงก์เข้าใจแจ่มแจ้งว่าเขาเป็นทาสบุหรี่มากเพียงไร. (โรม 6:16) ดังนั้น เขาจึงอธิษฐานอย่างแรงกล้าเพื่อขอ ความช่วยเหลือ, ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการคบหาที่ดีซึ่งมีอยู่ในประชาคมคริสเตียนของพยานพระยะโฮวา, และเอาชนะนิสัยที่ไม่ดีของเขาได้.—เฮ็บราย 10:24, 25.
สนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของคุณ
ประสบการณ์ของแฟรงก์เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ประสบการณ์ที่แสดงว่าคัมภีร์ไบเบิลให้การชี้นำทางศีลธรรมและทางศาสนาที่เหนือกว่า รวมทั้งให้แรงกระตุ้นที่จะทำตามการชี้นำนั้น. ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่พระเยซูตรัสว่า “มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่ด้วยบรรดาโอวาทซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า.”—มัดธาย 4:4.
เมื่อเรายอมรับความจริงอันล้ำค่าของพระเจ้าด้วยใจจริง เราได้รับประโยชน์ทุกทาง—ทางจิตใจ, อารมณ์, ฝ่ายวิญญาณ, และร่างกาย. บทเพลงสรรเสริญ 19:7, 8 กล่าวว่า “กฎหมายของพระยะโฮวาดีรอบคอบ, เป็นที่ให้จิตต์วิญญาณฟื้นตื่นขึ้น. . . . ข้อสั่งสอนของพระยะโฮวานั้นเที่ยงตรง, ทำให้จิตต์วิญญาณได้ความชื่นบาน ข้อบัญญัติของพระยะโฮวาก็บริสุทธิ์, กระทำให้ดวงตากระจ่างสว่างไป [ด้วยความหวังและภาพที่ชัดเจนของพระประสงค์ของพระเจ้า].”
โดยทางพระคำของพระองค์ พระยะโฮวาไม่เพียงช่วยเราปรับตั้งเข็มทิศด้านศีลธรรมของเราให้ถูกต้องและดำเนินชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในทุกวันนี้เท่านั้น. แต่พระองค์ยังฉายแสงส่องนำอนาคตของเราด้วย. (ยะซายา 42:9) ดังที่บทความถัดไปจะแสดงให้เห็น ทุกคนที่ยอมรับการชี้นำจากพระเจ้าจะมีอนาคตที่สดใสจริง ๆ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 คติสุขารมณ์คือความเชื่อที่ว่าความสนุกเพลิดเพลินคือจุดมุ่งหมายสำคัญในชีวิต.
[กรอบ/ภาพหน้า 4, 5]
“เข็มทิศ” ทางศีลธรรมของคุณ
มนุษย์มีพรสวรรค์อันล้ำค่าอย่างหนึ่ง นั่นคือความสามารถที่จะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด. ด้วยเหตุนี้ ชนทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ อีกทั้งทุกยุคทุกสมัย ล้วนเคยมีกฎเกณฑ์ด้านความประพฤติที่คล้ายคลึงกันมาก. (โรม 2:14, 15) อย่างไรก็ตาม สติรู้สึกผิดชอบนี้ไม่ใช่เครื่องนำทางที่ผิดพลาดไม่ได้; สติรู้สึกผิดชอบอาจถูกครอบงำโดยความเชื่อทางศาสนาเท็จ, ปรัชญาของมนุษย์, อคติ, และความปรารถนาผิด ๆ. (ยิระมะยา 17:9; โกโลซาย 2:8) ด้วยเหตุนี้ เช่นเดียวกับที่นักบินต้องปรับตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการนำร่อง เราก็ต้องตรวจสอบ และหากจำเป็นเราก็ต้องปรับตั้งเข็มทิศทางศีลธรรมและทางศาสนาของเราตามมาตรฐานอันชอบธรรมของ “ผู้บัญญัติกฎหมายของเรา” พระยะโฮวาพระเจ้า. (ยะซายา 33:22, ล.ม.) ไม่เหมือนกับมาตรฐานด้านความประพฤติของมนุษย์ ซึ่งอาจเปลี่ยนไปจากคนรุ่นหนึ่งถึงอีกรุ่นหนึ่ง มาตรฐานอันสมบูรณ์ของพระเจ้ายืนยงตลอดกาล. พระองค์ตรัสว่า “เรายะโฮวา, ไม่กลับกลอก.”—มาลาคี 3:6.
[กรอบหน้า 7]
เครื่องนำทางสู่ความสำเร็จและความสุข
การพบความสุข
“ความสุขมีแก่ผู้ที่รู้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน.”—มัดธาย 5:3, ล.ม.
“การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35.
“คนทั้งหลายที่ได้ยินคำของพระเจ้า, และได้ถือรักษาคำนั้นไว้, ก็เป็นสุข.”—ลูกา 11:28.
การสร้างความไว้วางใจ
“จงต่างคนต่างพูดตามความจริงกับเพื่อนบ้าน.”—เอเฟโซ 4:25.
“คนที่เคยลักขโมยก็อย่าให้ลักขโมยอีกต่อไป.”—เอเฟโซ 4:28.
“จงให้การสมรสนั้นเป็นที่นับถือแก่คนทั้งปวง, และให้ที่นอนปราศจากมลทิน.”—เฮ็บราย 13:4.
การพยายามพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี
“สิ่งสารพัตรซึ่งท่านปรารถนาให้มนุษย์ทำแก่ท่าน, จงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.”—มัดธาย 7:12.
“[สามี] ทุกคนจงต่างคนต่างรักภรรยาของตนเหมือนรักตัวเอง และภรรยานั้นก็จงยำเกรงสามีของตน.”—เอเฟโซ 5:33.
“จงยกโทษให้กันและกัน.”—โกโลซาย 3:13.
การหลีกเลี่ยงและการแก้ไขความขัดแย้ง
“อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย.”—โรม 12:17.
“ความรักอดกลั้นไว้นานและแสดงความกรุณา. . . . ไม่จดจำความเสียหาย.”—1 โกรินโธ 13:4, 5, ล.ม.
“อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่.”—เอเฟโซ 4:26.