ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กองเรือรบอาร์มาดาแห่งสเปน—การเดินทางที่จบลงด้วยความเศร้าสลด

กองเรือรบอาร์มาดาแห่งสเปน—การเดินทางที่จบลงด้วยความเศร้าสลด

กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​แห่ง​สเปน—การ​เดิน​ทาง​ที่​จบ​ลง​ด้วย​ความ​เศร้า​สลด

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​สเปน

เมื่อ​กว่า​สี่​ศตวรรษ​ที่​แล้ว กอง​เรือ​รบ​สอง​กอง​ได้​สู้​รบ​กัน​ใน​ช่องแคบ​อังกฤษ. การ​รบ​ครั้ง​นั้น​เป็น​การ​ห้ำหั่น​กัน​ระหว่าง​ชาว​โปรเตสแตนต์​กับ​ชาว​คาทอลิก และ​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​การ​ต่อ​สู้​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่ 16 ระหว่าง​กองทัพ​ของ​ราชินี​เอลิซาเบท​ที่ 1 แห่ง​อังกฤษ​ซึ่ง​เป็น​ชาว​โปรเตสแตนต์​กับ​กองทัพ​ของ​กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 แห่ง​สเปน​ซึ่ง​เป็น​ชาว​โรมัน​คาทอลิก. หนังสือ​ความ​พ่าย​แพ้​ของ​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​แห่ง​สเปน (ภาษา​อังกฤษ) อธิบาย​ว่า “สำหรับ​คน​สมัย​นั้น การ​ต่อ​สู้​ระหว่าง​กอง​เรือ​อังกฤษ​และ​กอง​เรือ​สเปน​ใน​ช่องแคบ​อังกฤษ​ถือ​เป็น​การ​รบ​ขั้น​แตก​หัก​ระหว่าง​กอง​กำลัง​แห่ง​ความ​สว่าง​และ​กอง​กำลัง​แห่ง​ความ​มืด.”

ชาว​อังกฤษ​ที่​เห็น​เหตุ​การณ์​ใน​คราว​นั้น​พรรณนา​กอง​เรือ​อาร์มาดา​ของ​สเปน หรือ​กอง​เรือ​รบ​อัน​เกรียง​ไกร ไว้​ว่า​เป็น “กอง​กำลัง​ทาง​ทะเล​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​เท่า​ที่​พวก​เขา​เคย​เห็น​ใน​ท้อง​ทะเล.” แต่​การ​เดิน​ทาง​ของ​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​กลับ​กลาย​เป็น​ความ​ผิด​พลาด​อัน​น่า​สลด​ใจ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​หลาย​พัน​คน​ที่​ต้อง​สูญ​เสีย​ชีวิต​ไป. เป้าหมาย​ของ​กอง​เรือ​รบ​นี้​คือ​อะไร และ​เหตุ​ใด​จึง​ล้มเหลว?

เหตุ​ใด​สเปน​พยายาม​รุกราน?

ใน​ตอน​นั้น​โจร​สลัด​ชาว​อังกฤษ​ปล้น​เรือ​สินค้า​ของ​สเปน​มา​หลาย​ปี​แล้ว และ​ราชินี​เอลิซาเบท​แห่ง​อังกฤษ​ก็​สนับสนุน​ฝ่าย​กบฏ​ชาว​ดัตช์​อย่าง​เต็ม​ที่​ให้​ต่อ​ต้าน​การ​ปกครอง​ของ​สเปน. นอก​จาก​นี้ กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 ซึ่ง​เป็น​ชาว​คาทอลิก​รู้สึก​ว่า​ตน​มี​พันธะ​ที่​จะ​ต้อง​ช่วย​ชาว​คาทอลิก​ใน​อังกฤษ​ให้​ขจัด “คน​นอก​ศาสนา” ชาว​โปรเตสแตนต์​ที่​กำลัง​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น​ให้​หมด​ไป​จาก​ประเทศ. เพื่อ​บรรลุ​วัตถุ​ประสงค์​นั้น กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​จึง​นำ​บาทหลวง​และ​ที่​ปรึกษา​ทาง​ศาสนา​ราว ๆ 180 คน​ไป​ด้วย. แม้​แต่​ตอน​ที่​ลูกเรือ​ของ​กอง​เรือ​รบ​นี้​มา​รวม​พล ผู้​ชาย​แต่​ละ​คน​ต้อง​สารภาพ​บาป​ต่อ​บาทหลวง​และ​รับ​ศีล​มหา​สนิท.

บรรยากาศ​ทาง​ศาสนา​ของ​สเปน​และ​ความ​รู้สึก​ของ​กษัตริย์​เอง​สามารถ​เห็น​ได้​จาก​คำ​กล่าว​ของ​เปโดร เดอ ริบาเดเนรา สมาชิก​คณะ​เยสุอิต​ที่​มี​ชื่อเสียง​ชาว​สเปน ซึ่ง​กล่าว​ว่า “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้าของ​เรา ซึ่ง​เรา​กำลัง​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์​และ​ปก​ป้อง​ความ​เชื่อ​อัน​บริสุทธิ์​ยิ่ง​ใน​พระองค์​นั้น จะ​นำ​หน้า​เรา​ไป และ​เนื่อง​จาก​เรา​มี​จอม​ทัพ​เช่น​นี้ เรา​จึง​ไม่​ต้อง​เกรง​กลัว​สิ่ง​ใด.” ส่วน​ฝ่าย​อังกฤษ​ก็​หวัง​ว่า​ชัย​ชนะ​อย่าง​เด็ดขาด​จะ​ช่วย​ปู​ทาง​ให้​แนว​คิด​แบบ​โปรเตสแตนต์​แผ่​ขยาย​ไป​ทั่ว​ยุโรป.

แผน​รุกราน​ของ​กษัตริย์​สเปน​ดู​เหมือน​เป็น​แผนที่​ตรง​ไป​ตรง​มา. กษัตริย์​สั่ง​ให้​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​เคลื่อน​ขึ้น​ไป​ทาง​ช่องแคบ​อังกฤษ​และ​ไป​รวม​พล​กับ​ดุ๊ก​แห่ง​ปาร์​มา​และ​ทหาร​ชาญ​ศึก 30,000 นาย​ของ​เขา​ซึ่ง​ประจำการ​อยู่​ใน​แฟลนเดอส์. * จาก​นั้น​กอง​กำลัง​ผสม​นี้​จะ​ข้าม​ช่องแคบ​อังกฤษ ขึ้น​บก​ที่​ชาย​หาด​ใน​แขวง​เอสเซกซ์ แล้ว​ยก​ทัพ​บุก​ลอนดอน. ฟิลิป​คิด​เอา​เอง​ว่า​ชาว​คาทอลิก​ใน​อังกฤษ​คง​จะ​ทอดทิ้ง​ราชินี​ชาว​โปรเตสแตนต์​ของ​ตน และ​เข้า​มา​สมทบ​จน​ทำ​ให้​กองทัพ​ของ​พระองค์​ใหญ่​ขึ้น​อีก.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม แผนการ​ของ​ฟิลิป​มี​จุด​อ่อน​ที่​ร้ายแรง​มาก. ขณะ​ที่​กษัตริย์​ทึกทัก​เอา​ว่า​พระเจ้า​จะ​ทรง​สนับสนุน แต่​พระองค์​มอง​ข้าม​อุปสรรค​สำคัญ​สอง​อย่าง นั่น​คือ​ความ​เข้มแข็ง​ของ​กองทัพ​เรือ​อังกฤษ​และ​ความ​ยาก​ลำบาก​ใน​การ​ไป​รวม​พล​กับ​กองทัพ​ของ​ดุ๊ก​แห่ง​ปาร์​มา​เนื่อง​จาก​ไม่​มี​ท่า​เรือ​น้ำ​ลึก​ที่​เหมาะ​สม​ซึ่ง​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​จะ​พบ​กัน​ได้.

กองทัพ​เรือ​ที่​ใหญ่​แต่​ควบคุม​ได้​ยาก

ฟิลิป​แต่ง​ตั้ง​ดุ๊ก​แห่ง​เมดินา-ซิโดเนีย ให้​บังคับ​บัญชา​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา. แม้​ว่า​ดุ๊ก​ผู้​นี้​มี​ประสบการณ์​ใน​การ​เดิน​เรือ​น้อย แต่​เขา​เป็น​นัก​บริหาร​ที่​มี​ประสิทธิภาพ และ​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​นาน​เขา​ก็​ได้​รับ​ความ​ร่วม​มือ​จาก​เหล่า​กัปตัน​ใน​กอง​เรือ​ที่​มี​ประสบการณ์. พวก​เขา​ร่วม​กัน​สร้าง​กอง​กำลัง​และ​จัด​หา​อาหาร​และ​น้ำ​สำหรับ​กอง​เรือ​อัน​ใหญ่​โต​อย่าง​เต็ม​ความ​สามารถ​ของ​ตน​เอง. พวก​เขา​กำหนด​สัญญาณ​การ​สื่อสาร​ต่าง ๆ ด้วย​ความ​ละเอียด​รอบคอบ รวม​ทั้ง​ลำดับ​และ​ตำแหน่ง​ใน​ขบวน​เรือ ซึ่ง​จะ​รวม​กอง​กำลัง​ที่​มี​หลาย​ชาติ​หลาย​ภาษา​ของ​ตน​เข้า​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน.

ใน​ที่​สุด เรือ 130 ลำ, ทหาร​เกือบ 20,000 นาย, และ​ลูกเรือ​อีก 8,000 คน​ที่​รวม​กัน​เป็น​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​ก็​ออก​เดิน​ทาง​จาก​ท่า​เรือ​กรุง​ลิสบอน​ใน​วัน​ที่ 29 พฤษภาคม 1588. แต่​ลม​และ​พายุ​ที่​โหม​กระหน่ำ​อย่าง​หนัก​ทำ​ให้​พวก​เขา​ต้อง​แวะ​ที่​เมือง​ลาคอรุนญา ใน​ภาค​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​สเปน เพื่อ​ซ่อมแซม​และ​รับ​เสบียง​และ​น้ำ​เพิ่ม. เนื่อง​จาก​กังวล​เกี่ยว​กับ​อาหาร​และ​น้ำ​ที่​มี​ไม่​พอ​เพียง และ​ความ​เจ็บ​ป่วย​ของ​เหล่า​ทหาร​และ​ลูกเรือ ดุ๊ก​แห่ง​เมดินา-ซิโดเนีย​จึง​เขียน​ไป​ยัง​กษัตริย์​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​เกี่ยว​กับ​ความ​กังวล​ของ​เขา​ใน​ภารกิจ​ทั้ง​หมด​นี้. แต่​ฟิลิป​ยืนกราน​กับ​ผู้​บัญชา​การ​ของ​พระองค์​ให้​ทำ​ตาม​แผน​เดิม. ดัง​นั้น กอง​เรือ​ที่​ใหญ่​แต่​ควบคุม​ได้​ยาก​นี้​จึง​เดิน​ทาง​ต่อ​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​ไป​ถึง​ช่องแคบ​อังกฤษ​หลัง​จาก​ออก​เดิน​ทาง​จาก​ลิสบอน​มา​สอง​เดือน.

การ​รบ​ใน​ช่องแคบ​อังกฤษ

เมื่อ​กอง​เรือ​รบ​สเปน​มา​ถึง​นอก​ชายฝั่ง​เมือง​พลีมัท ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​อังกฤษ กองทัพ​เรือ​อังกฤษ​ก็​รอ​อยู่​แล้ว. ทั้ง​สอง​ฝ่าย​มี​เรือ​จำนวน​พอ ๆ กัน แต่​รูป​แบบ​ของ​เรือ​ไม่​เหมือน​กัน. เรือ​สเปน​ลอย​สูง​จาก​ระดับ​น้ำ และ​ดาดฟ้า​เรือ​มี​ปืน​ใหญ่​ระยะ​ใกล้​อยู่​หลาย​กระบอก. เนื่อง​จาก​มี​หอ​ขนาด​ใหญ่​อยู่​ที่​หัว​เรือ​และ​ท้าย​เรือ มัน​จึง​ดู​เหมือน​ป้อม​ปืน​ลอย​น้ำ. ยุทธวิธี​ของ​กองทัพ​เรือ​สเปน​คือ​ให้​ทหาร​บุก​ขึ้น​เรือ​ข้าศึก​และ​พิชิต​ศัตรู. เรือ​อังกฤษ​ลอย​อยู่​ต่ำ​กว่า​และ​แล่น​ได้​เร็ว​กว่า แถม​มี​ปืน​ใหญ่​ที่​ยิง​ได้​ระยะ​ไกล​จำนวน​มาก​กว่า. กัปตัน​ของ​ฝ่าย​อังกฤษ​วาง​แผนที่​จะ​ไม่​ประชิด​เรือ​ข้าศึก แต่​จะ​ยิง​ถล่ม​เรือ​สเปน​จาก​ระยะ​ไกล.

เพื่อ​ตอบ​โต้​ความ​คล่องตัว​และ​วิถี​การ​ยิง​ของ​กอง​เรือ​อังกฤษ ผู้​บัญชา​การ​สเปน​จึง​คิด​ขบวน​แถว​การ​รบ​แบบ​ตั้ง​รับ​ซึ่ง​เป็น​รูป​จันทร์​เสี้ยว. เรือ​ที่​แข็ง​แกร่ง​ที่​สุด​ซึ่ง​ยิง​ปืน​ได้​ไกล​สุด​จะ​อยู่​ที่​ปลาย​ขบวน​ทั้ง​สอง​ด้าน. ไม่​ว่า​ข้าศึก​จะ​เข้า​มา​จาก​ทิศ​ทาง​ไหน กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​ก็​จะ​หัน​หน้า​ประจัน​กัน​กับ​ข้าศึก​เหมือน​ควาย​ป่า​หัน​เขา​ของ​มัน​ให้​กับ​สิงโต​ที่​พยายาม​จะ​เข้า​มา​ใกล้.

กอง​เรือ​รบ​ทั้ง​สอง​ยิง​ตอบ​โต้​กัน​ประปราย​ตลอด​ช่องแคบ​อังกฤษ​และ​รบ​กัน​ครั้ง​ย่อม ๆ สอง​ครั้ง. การ​ตั้ง​ขบวน​เรือ​แบบ​ตั้ง​รับ​ของ​สเปน​ดู​เหมือน​ได้​ผล และ​การ​ยิง​ปืน​ระยะ​ไกล​ของ​อังกฤษ​ไม่​สามารถ​ทำ​ให้​เรือ​สเปน​จม​ลง​ได้​แม้​แต่​ลำ​เดียว. เหล่า​กัปตัน​ชาว​อังกฤษ​จึง​ลง​ความ​เห็น​ว่า พวก​เขา​ต้อง​ทำลาย​ขบวน​เรือ​สเปน​โดย​วิธี​ใด​วิธี​หนึ่ง​และ​พยายาม​เข้า​ไป​ให้​ใกล้​มาก​ขึ้น. โอกาส​ของ​พวก​เขา​มา​ถึง​ใน​วัน​ที่ 7 สิงหาคม.

ดุ๊ก​แห่ง​เมดินา-ซิโดเนีย​ทำ​ตาม​คำ​สั่ง​ที่​เขา​ได้​รับ​มา​และ​นำ​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​ไป​ยัง​จุด​นัด​พบ​กับ​ดุ๊ก​แห่ง​ปาร์​มา​และ​กองทัพ​ของ​เขา. ขณะ​ที่​รอ​ฟัง​ข่าว​จาก​ดุ๊ก​แห่ง​ปาร์​มา​อยู่​นั้น ดุ๊ก​แห่ง​เมดินา-ซิโดเนีย​สั่ง​ให้​กอง​เรือ​ของ​เขา​ทอด​สมอ​อยู่​นอก​เมือง​กาเลส์ ซึ่ง​อยู่​บน​ชายฝั่ง​ของ​ฝรั่งเศส. ใน​ขณะ​ที่​กอง​เรือ​สเปน​จอด​ทอด​สมอ​และ​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ถูก​โจมตี​ได้​ง่าย​นั้น พวก​อังกฤษ​ส่ง​เรือ​แปด​ลำ ซึ่ง​บรรทุก​สาร​ไว​ไฟ​อยู่​เต็ม​ลำ​และ​จุด​ไฟ​บน​เรือ​นั้น แล้ว​ปล่อย​ให้​ลอย​ไป​หา​พวก​สเปน. ด้วย​ความ​ตื่น​ตระหนก กัปตัน​เรือ​สเปน​ส่วน​ใหญ่​รีบ​นำ​เรือ​ของ​ตน​หนี​ออก​ไป​กลาง​ทะเล​ให้​พ้น​จาก​อันตราย. จาก​นั้น​ลม​ที่​พัด​แรง​และ​กระแส​น้ำ​ก็​พัด​เรือ​ของ​พวก​เขา​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ.

ตอน​รุ่ง​สาง​วัน​ต่อ​มา การ​รบ​ครั้ง​สุด​ท้าย​ก็​เกิด​ขึ้น. กอง​เรือ​อังกฤษ​ยิง​ปืน​ใหญ่​เข้า​ใส่​เรือ​สเปน​ใน​ระยะ​ใกล้ ทำ​ให้​เรือ​อย่าง​น้อย​สาม​ลำ​จม​ลง​และ​ทำ​ความ​เสียหาย​แก่​เรือ​อีก​หลาย​ลำ. เนื่อง​จาก​พวก​สเปน​มี​กระสุน​ปืน​ใหญ่​อยู่​น้อย พวก​เขา​จึง​ต้อง​เผชิญ​กับ​การ​โจมตี​อย่าง​หนัก​โดย​ที่​ช่วย​ตัว​เอง​ไม่​ได้.

พายุ​ที่​รุนแรง​ทำ​ให้​พวก​อังกฤษ​ต้อง​พัก​การ​โจมตี​จน​กระทั่ง​วัน​ถัด​มา. เช้า​วัน​นั้น กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​จัด​ขบวน​เรือ​เป็น​รูป​จันทร์​เสี้ยว​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​แล้ว​หัน​หน้า​ไป​ทาง​ข้าศึก​และ​เตรียม​ตัว​จะ​สู้​ทั้ง ๆ ที่​มี​กระสุน​ปืน​ใหญ่​เหลือ​อยู่​เพียง​น้อย​นิด. แต่​ก่อน​ที่​พวก​อังกฤษ​จะ​เปิด​ฉาก​ยิง เรือ​สเปน​กลับ​ถูก​ลม​และ​กระแส​น้ำ​ที่​พัด​ไม่​หยุดหย่อน​พา​ลอย​เฉ​ไป​ทาง​ชายฝั่ง และ​จวน​จะ​ถึง​ความ​หายนะ​ที่​ดอน​ทราย​ใต้​น้ำ​ซี​แลนด์ บริเวณ​ชายฝั่ง​เนเธอร์แลนด์.

ใน​ตอน​ที่​ดู​เหมือน​จะ​สิ้น​หวัง​แล้ว​นั้น ลม​ก็​เปลี่ยน​ทิศ​และ​พัด​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ​จน​อยู่​ใน​ระยะ​ที่​ปลอด​ภัย​ใน​ทะเล. แต่​เส้น​ทาง​กลับ​ไป​เมือง​กาเลส์​ถูก​กอง​เรือ​อังกฤษ​ขวาง​ไว้ และ​กระแส​ลม​ก็​ยัง​คง​พัด​พา​เรือ​สเปน​ที่​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​อย่าง​หนัก​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ​เรื่อย ๆ. ดุ๊ก​แห่ง​เมดินา-ซิโดเนีย​ตัดสิน​ใจ​ว่า​เขา​ไม่​มี​ทาง​เลือก​อื่น​นอก​จาก​จะ​ยก​เลิก​ปฏิบัติการ​และ​รักษา​เรือ​กับ​กำลัง​คน​ไว้​ให้​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​เป็น​ไป​ได้. เขา​ตัดสิน​ใจ​กลับ​สเปน​โดย​อ้อม​ไป​ทาง​สกอตแลนด์​และ​ไอร์แลนด์.

พายุ​และ​เรือ​อับปาง

เรือ​ที่​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​อย่าง​หนัก​ของ​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​ต้อง​เดิน​ทาง​กลับ​สเปน​อย่าง​ยาก​ลำบาก. อาหาร​จวน​จะ​หมด และ​เนื่อง​จาก​ถัง​น้ำ​รั่ว น้ำ​จึง​เหลือ​น้อย. การ​โจมตี​ของ​พวก​อังกฤษ​ทำ​ให้​เรือ​หลาย​ลำ​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​อย่าง​หนัก และ​มี​เรือ​ไม่​กี่​ลำ​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ปลอด​ภัย​แก่​การ​เดิน​เรือ. ครั้น​มา​ถึง​นอก​ชายฝั่ง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​ไอร์แลนด์ กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​ก็​ถูก​พายุ​ที่​รุนแรง​โหม​กระหน่ำ​เป็น​เวลา​ถึง​สอง​สัปดาห์. เรือ​บาง​ลำ​สูญ​หาย​ไป​อย่าง​ไร้​ร่องรอย! ส่วน​เรือ​บาง​ลำ​ก็​อับปาง​อยู่​แถว ๆ ชายฝั่ง​ของ​ไอร์แลนด์.

ใน​ที่​สุด เรือ​ลำ​แรก​ของ​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​ที่​เดิน​ทาง​อย่าง​ทุลักทุเล​ก็​ไป​ถึง​เมือง​ซานตานเดอร์ ทาง​เหนือ​ของ​สเปน เมื่อ​วัน​ที่ 23 กันยายน. เรือ​ราว ๆ 60 ลำ​และ​กำลัง​คน​เพียง​ครึ่ง​หนึ่ง​ที่​ออก​จาก​ลิสบอน​สามารถ​กลับ​มา​ได้. หลาย​พัน​คน​จม​น้ำ​ตาย. อีก​หลาย​คน​ตาย​เพราะ​บาดเจ็บ​จาก​การ​สู้​รบ​หรือ​เพราะ​โรค​ร้าย​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​กลับ. แม้​แต่​ใน​เหล่า​ผู้​รอด​ชีวิต​ที่​กลับ​มา​ถึง​ชายฝั่ง​สเปน ความ​ลำบาก​ก็​ยัง​ไม่​ยุติ.

หนังสือ​ความ​พ่าย​แพ้​ของ​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​แห่ง​สเปน กล่าว​ว่า “[ทหาร​และ​ลูกเรือ] ใน​เรือ​บาง​ลำ​ไม่​มี​อาหาร​เหลือ​เลย​และ​ค่อย ๆ เสีย​ชีวิต​ไป​เนื่อง​จาก​การ​ขาด​อาหาร​อย่าง​หนัก” แม้​ว่า​พวก​เขา​จะ​จอด​อยู่​ใน​ท่า​เรือ​ของ​สเปน​ก็​ตาม. หนังสือ​นั้น​กล่าว​ว่า​ใน​ท่า​เรือ​ลาเรโด​ของ​สเปน เรือ​ลำ​หนึ่ง​เกยตื้น “เนื่อง​จาก​ไม่​มี​กำลัง​คน​เหลือ​พอ​ที่​จะ​ลด​ใบ​เรือ​และ​ทอด​สมอ​ได้.”

นัย​สำคัญ​ของ​การ​พ่าย​แพ้​ครั้ง​นี้

ความ​พ่าย​แพ้​ของ​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​ทำ​ให้​ชาว​โปรเตสแตนต์​แห่ง​ยุโรป​เหนือ​เกิด​ความ​มั่น​ใจ แม้​ว่า​สงคราม​ศาสนา​ยัง​คง​ดำเนิน​ต่อ​ไป​อย่าง​ไม่​ละลด. ข้อ​ที่​ว่า​ชาว​โปรเตสแตนต์​เชื่อ​ว่า​ชัย​ชนะ​ของ​ตน​เป็น​ข้อ​พิสูจน์​ของ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระเจ้า​เห็น​ได้​จาก​เหรียญ​ของ​อังกฤษ​ที่​ทำ​ขึ้น​เพื่อ​ระลึก​ถึง​เหตุ​การณ์​นี้. คำ​จารึก​ใน​เหรียญ​นั้น​เขียน​ว่า Flavit יהוה et dissipati sunt 1588 ซึ่ง​แปล​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป่า​และ​พวก​เขา​ก็​กระจัด​กระจาย​ไป ปี 1588.”

ต่อ​มา บริเตนใหญ่​ได้​ก้าว​ขึ้น​มา​เป็น​มหาอำนาจ​โลก ดัง​ที่​หนังสือ​ยุโรป​ยุค​ใหม่​จน​กระทั่ง​ปี 1870 (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ไว้​ว่า “ใน​ปี 1763 บริเตนใหญ่​ผงาด​ขึ้น​เป็น​มหาอำนาจ​ด้าน​การ​ค้า​และ​ด้าน​อาณานิคม​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก.” ที่​จริง “ใน​ปี 1763 จักรวรรดิ​อังกฤษ​ครอบครอง​โลก​ราว​กับ​โรม​ที่​ถูก​ฟื้นฟู​และ​ขยาย​ใหญ่​ขึ้น” หนังสือ​กองทัพ​เรือ​และ​จักรวรรดิ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ไว้. หลัง​จาก​นั้น บริเตนใหญ่​ก็​ร่วม​มือ​กับ​สหรัฐ​อเมริกา​ซึ่ง​เป็น​อดีต​อาณานิคม​ของ​ตน​แล้ว​รวม​ตัว​กัน​เป็น​มหาอำนาจ​โลก​แองโกล-อเมริกัน.

นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​พบ​ว่า​การ​รุ่งเรือง​และ​การ​ล่ม​สลาย​ของ​มหาอำนาจ​โลก​เป็น​เรื่อง​น่า​ทึ่ง​มาก. เรื่อง​นี้​เป็น​เพราะ​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​มี​ข้อมูล​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​รัฐบาล​โลก​ที่​สืบ​ทอด​อำนาจ​ต่อ​กัน​มา ซึ่ง​ก็​คือ​อียิปต์, อัสซีเรีย, บาบิโลน, มิโด-เปอร์เซีย, กรีซ, โรม, และ​สุด​ท้าย มหาอำนาจ​โลก​แองโกล-อเมริกัน. ที่​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ล่วง​หน้า​ไว้​นาน​แล้ว​เรื่อง​การ​รุ่งเรือง​และ​การ​ล่ม​สลาย​ของ​มหาอำนาจ​เหล่า​นี้​หลาย​ชาติ.—ดานิเอล 8:3-8, 20-22; วิวรณ์ 17:1-6, 9-11.

เมื่อ​มอง​ย้อน​ไป เห็น​ได้​ชัด​ว่า​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ฤดู​ร้อน​ปี 1588 ใน​คราว​ที่​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา​พยายาม​พิชิต​อังกฤษ​แต่​ไม่​สำเร็จ​นั้น​เป็น​เหตุ​การณ์​ที่​สำคัญ​มาก. เกือบ 200 ปี​ภาย​หลัง​จาก​ความ​พ่าย​แพ้​ของ​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา บริเตนใหญ่​ก็​ขึ้น​มา​โดด​เด่น​ใน​โลก และ​ใน​ที่​สุด​ก็​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​ทำ​ให้​คำ​พยากรณ์​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​สำเร็จ​เป็น​จริง.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 8 ตอน​นั้น​แฟลนเดอส์​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​เนเธอร์แลนด์​แห่ง​สเปน ซึ่ง​สเปน​ยึด​ครอง​อยู่​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 16. เขต​นี้​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​ชายฝั่ง​ของ​ฝรั่งเศส, เบลเยียม, และ​ฮอลแลนด์.

[แผนภูมิ/แผนที่​หน้า 26]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

การ​เดิน​ทาง​ของ​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา

​——⁠เส้น​ทาง​การ​รบ

––เส้น​ทาง​กลับ

X การ​สู้​รบ

สเปน

ลิสบอน

ลาคอรุนญา

ซานตานเดอร์

แฟลนเดอส์

กาเลส์

เนเธอร์แลนด์​แห่ง​สเปน

ยูไนเต็ด เนเธอร์แลนด์

อังกฤษ

พลีมัท

ลอนดอน

ไอร์แลนด์

[ภาพ​หน้า 24]

กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Biblioteca Nacional, Madrid

[ภาพ​หน้า 24]

ราชินี​เอลิซาเบท​ที่ 1

[ภาพ​หน้า 24, 25]

ดุ๊ก​แห่ง​เมดินา-ซิโดเนีย​เป็น​ผู้​บัญชา​การ​ของ​กอง​เรือ​รบ​อาร์มาดา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Cortesía de Fundación Casa de Medina Sidonia

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 25]

Museo Naval, Madrid