การนมัสการพระเจ้าจะยังความยินดีได้ไหม?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
การนมัสการพระเจ้าจะยังความยินดีได้ไหม?
สตรีผู้หนึ่งที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนเขียนว่า “ฉันเชื่อพระเจ้าและรักพระองค์. แต่ . . . ฉันเบื่อที่ต้องไปโบสถ์เป็นประจำ.” คุณรู้สึกอย่างนี้ไหม? ข้อเท็จจริงคือ ความเบื่อหน่าย ความไม่อิ่มใจพอใจ และความคับข้องใจนั่นเองเป็นสาเหตุที่ทำให้บางคนคิดหาแนวทางในแบบของตัวเองเพื่อนมัสการพระเจ้า.
หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเรียกปรากฏการณ์การคิดหาแนวทางนมัสการในแบบของตัวเองว่าเป็น “ศาสนาที่คิดขึ้นเอง.” แต่สำหรับผู้ที่ปรารถนาจะได้รับความสุขความยินดีจากการนมัสการพระเจ้า การคิดหาแนวทางเช่นนี้คงไม่ประสบความยินดี. เพราะเหตุใด? เพราะความผิดหวังอันเป็นเหตุให้พวกเขาเลิกไปโบสถ์อาจจะหวนกลับมาสร้างความผิดหวังซ้ำอีก.
นี่ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า การดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลน่าเบื่อ และไม่มีความชื่นชมยินดีเสียเลยไหม? ไม่เป็นเช่นนั้นแน่นอน! ยกตัวอย่าง ขอพิจารณาถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญคนหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “มาเถิด, ให้เราทั้งหลายร้องเพลงถวายความสรรเสริญแก่พระยะโฮวา . . . มาเถิด, ให้เราทั้งหลายอ่อนน้อมกายลงนมัสการ; ให้คุกเข่าลงตรงพระยะโฮวาผู้ทรงสร้างพวกเรา.”—บทเพลงสรรเสริญ 95:1, 6.
ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญในคัมภีร์ไบเบิลอีกท่านหนึ่งได้ร้องเพลงสรรเสริญขอบพระคุณพระยะโฮวาดังนี้: “พระองค์ผู้เดียวผู้ทรงพระนามว่ายะโฮวาทรงเป็นพระผู้สูงสุดเหนือแผ่นดินโลกทั้งสิ้น.” ในพระคัมภีร์ พระยะโฮวาได้รับการขนานนามว่า “พระเจ้าผู้มีความสุข” และผู้นมัสการพระองค์ ทั้งในอดีตและปัจจุบันก็มักแสดงออกเสมอว่าพวกเขามีความชื่นชมยินดี.—บทเพลงสรรเสริญ 83:18, ล.ม; 1 ติโมเธียว 1:11, ล.ม.
หลักสำคัญที่จะได้มาซึ่งความยินดี
หลักสำคัญที่ทำให้พวกเราได้มาซึ่งความยินดีอย่างแท้จริงในการนมัสการนั้นคือ การตระหนักถึงสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทำไปแล้วเพื่อสำแดงความรักของพระองค์ต่อพวกเรา. และสิ่งนั้นคืออะไร? “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลกมากถึงกับทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียว [พระเยซูคริสต์] ของพระองค์ เพื่อทุกคนที่สำแดงความเชื่อในพระองค์นั้นจะไม่ถูกทำลายแต่มีชีวิตนิรันดร์.”—โยฮัน 3:16, ล.ม.
ดังคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า พระทัยประสงค์ของพระเจ้าคือ “ให้คนทุกชนิดได้ความรอด และบรรลุความรู้ถูกต้องเรื่องความจริง.” (1 ติโมเธียว 2:3, 4, ล.ม.) ทั้งนี้ไม่ใช่แค่รู้เฉพาะสิ่งที่กล่าวในคัมภีร์บางข้อเท่านั้น. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราต้อง “เข้าใจ” สิ่งที่เราอ่าน ซึ่งรวมถึงการศึกษาอย่างถี่ถ้วนและด้วยความจริงใจ. (มัดธาย 15:10) บำเหน็จคือ ‘เจ้าจะพบความรู้ของพระเจ้า.’ นั่นช่างน่ายินดีเสียจริง ๆ!—สุภาษิต 2:1-5.
ในศตวรรษแรก ประชาชนชาวมาซิโดเนียแห่งเมืองเบรอยะได้ประสบความยินดีดังกล่าว. เมื่ออัครสาวกเปาโลกิจการ 17:11, ล.ม.
สอนพระคำของพระเจ้าแก่พวกเขา “เขาได้รับเอาถ้อยคำนั้นด้วยใจกระตือรือร้นอย่างยิ่ง และตรวจค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบทุก ๆ วัน เพื่อดูว่าข้อความนั้นจะจริงดังกล่าวหรือไม่.” พวกเขาคงไม่ต้องกระตือรือร้นมากถึงเพียงนั้น ถ้าการศึกษาพระคัมภีร์เป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายและไม่น่าชื่นชมยินดี.—พระเยซูตรัสดังนี้: “บุคคลผู้ใดหิวกระหายความชอบธรรมก็เป็นสุข, เพราะว่าเขาจะได้อิ่มบริบูรณ์.” (มัดธาย 5:6) เช่นเดียวกันกับคนอดอยากที่เพิ่งมีอาหารกินเป็นประจำ ผู้คนมากมายในเวลานี้ก็มีความยินดีที่พบว่าความหิวกระหายฝ่ายวิญญาณของพวกเขาได้รับการตอบสนองอย่างจุใจ. ดังนั้น เหมือนชาวเมืองเบรอยะ “มีหลายคนในพวกเขาได้ [มา] เชื่อถือ.”—กิจการ 17:12.
แนวทางชีวิต
ผู้นมัสการแท้สมัยศตวรรษแรกได้ยึดถือ “ทางนั้น” คำนี้ในกิจการ 9:2 พาดพิงถึงแนวทางชีวิตใหม่ที่คริสเตียนรุ่นแรกปฏิบัติตาม. ปัจจุบัน บรรดาผู้ที่ต้องการประสบความยินดีในการนมัสการพระเจ้าก็ต้องปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน. พวกเขาต้องยอมให้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลมีอิทธิพลต่อการคิดและการประพฤติของพวกเขาในแต่ละวัน.
ด้วยเหตุนี้ อัครสาวกเปาโลจึงกระตุ้นเตือนชาวเมืองเอเฟโซส์ให้ “ละทิ้งบุคลิกภาพเก่าซึ่งเป็นไปตามแนวทางการประพฤติเดิมของท่าน.” อย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องทำมากกว่านั้น ดังที่เปาโลกล่าวต่อไปว่า “และควรสวมบุคลิกภาพใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความภักดีที่แท้จริง.”—เอเฟโซ 4:22-24, ล.ม. *
เมื่อเราปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น และปรับเปลี่ยนชีวิตให้ประสานกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า เราจะมีโอกาสประสบความอิ่มใจพอใจและความยินดีเหลือล้น. นั่นหมายถึงอะไร? เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองโกโลซายว่าพวกเขาต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่างในชีวิต “เพื่อจะดำเนินอย่างที่คู่ควรกับพระยะโฮวา เพื่อทำให้พระองค์พอพระทัยทุกประการ.” (โกโลซาย 1:10, ล.ม.) แน่นอน การรู้ว่าพระเจ้าเที่ยงแท้พอพระทัยการดำเนินชีวิตของเราเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความยินดี! ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าทรงทำให้การเป็นผู้ที่พระองค์พอพระทัย “ทุกประการ” เป็นสิ่งที่เป็นไปได้. อย่างไรล่ะ? โดยการให้อภัย.
พวกเราแต่ละคนเป็นคนบาป พวกเราทุกคนจำต้องได้รับการอภัยบาปจากพระเจ้า. เปาโลกล่าวดังบันทึกไว้ที่ 1 ติโมเธียว 1:15 (ล.ม.) ว่า “พระคริสต์เยซูเข้ามาในโลกเพื่อช่วยคนบาปให้รอด.” เมื่อพระเยซูได้สละชีวิตเพื่อเรา พระองค์ทรงทำให้พวกเรามีโอกาสได้รับการอภัยบาป. ดังนั้น ผู้นมัสการแท้ของพระเจ้าจึงรู้สึกโล่งใจ เนื่องจากความรู้สึกผิดเสมือนภาระหนักนั้นถูกยกออกไปจากใจเขา. เขาสามารถมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดและมีความปลาบปลื้มยินดีเพราะมั่นใจได้ว่า ตราบใดที่เขาตั้งใจประพฤติตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าอย่างจริงจัง เขาจะได้รับการอภัยบาป.
เหตุแห่งความยินดีอีกประการ
เมื่อคนหนึ่งเริ่มนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ เขาจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว. ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญในคัมภีร์ไบเบิลเขียนดังนี้: “ข้าพเจ้ารู้สึกปีติยินดีเมื่อเขาทั้งหลายกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า ‘ให้เราไปยังราชนิเวศของพระยะโฮวาเถิด.’” (บทเพลงสรรเสริญ 122:1, ล.ม.) ที่จริง การประชุมเป็นประจำกับผองเพื่อนผู้นมัสการแท้ได้เพิ่มพูนความยินดีแก่เรามากทีเดียว.
หลังจากร่วมการประชุมของพยานพระยะโฮวา ชายคนหนึ่งเขียนดังนี้: “พวกเราได้รับการต้อนรับอย่างกรุณาและเป็นประโยชน์ซึ่งแสดงให้เห็นถึง ‘ความรู้สึกสนิทสนมกลมเกลียว’ ของผู้เข้าร่วมการประชุม. ความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของหนุ่มสาวหลายคนคงเป็นแหล่งที่ทำให้พวกเขาและพ่อแม่ของเขารู้สึกภูมิใจ. ผมอยากขอบคุณที่ผมได้รับเชิญไปสัมผัสประสบการณ์ที่น่าปลื้มใจจริง ๆ.”
คุณก็เช่นเดียวกัน อาจมีหลายโอกาสจะนมัสการพระยะโฮวาด้วยความชื่นชมยินดี อย่างที่ดาวิดเคยประสบนานมาแล้ว. ท่านกระตุ้นเตือนดังนี้: “จงปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยใจชื่นชม จงเข้ามาเฝ้าพระองค์ด้วยร้องเพลง.” (บทเพลงสรรเสริญ 100:2) ทุกคนที่รับใช้พระเจ้าเที่ยงแท้ด้วยเจตคติที่ถูกต้องย่อมคาดหวังได้ว่าการนมัสการจะเป็นสิ่งน่าชื่นชมยินดี.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 14 โดยการอ่านเอเฟโซบท 4 และโกโลซายบท 3 คุณจะเข้าใจดีขึ้นว่าการเปลี่ยนบุคลิกภาพนี้เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง.
คุณเคยสงสัยไหม?
▪ อะไรเป็นพื้นฐานของการนมัสการแท้?—1 ติโมเธียว 2:3-6.
▪ เครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์มีบทบาทสำคัญอะไรที่ช่วยเรามีความชื่นชมยินดี?—1 ติโมเธียว 1:15.
▪ การประชุมคริสเตียนมีส่วนช่วยให้เราเกิดความชื่นชมยินดีในการนมัสการได้อย่างไร?—บทเพลงสรรเสริญ 100:1-5.
[ภาพหน้า 10]
การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลร่วมกับคนอื่น ๆ อาจเป็นประสบการณ์ที่น่ายินดี