ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ยอมรับความรู้สึกของลูก

ยอมรับความรู้สึกของลูก

ขั้น​ที่ 6

ยอม​รับ​ความ​รู้สึก​ของ​ลูก

ทำไม​ขั้น​ตอน​นี้​จึง​สำคัญ? เด็ก ๆ ต้องการ​และ​จำเป็น​ต้อง​มี​ผู้​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​ชีวิต​ของ​ตน คือ​พ่อ​และ​แม่​รับ​รู้​ว่า​ตน​รู้สึก​อย่าง​ไร. ถ้า​พ่อ​แม่​ชอบ​คัดค้าน​เมื่อ​ลูก​เริ่ม​เผย​ความ​รู้สึก​ออก​มา เด็ก ๆ ก็​มัก​จะ​ไม่​ค่อย​เปิด​เผย​ความ​รู้สึก​กับ​พ่อ​แม่ และ​อาจ​ถึง​กับ​เริ่ม​สงสัย​ว่า​ตน​สามารถ​จะ​รู้สึก​และ​คิด​อะไร​เอง​ได้​หรือ​ไม่.

ปัญหา: เด็ก ๆ มี​แนว​โน้ม​จะ​เผย​ความ​คิด​และ​อารมณ์​ความ​รู้สึก​โดย​ใช้​คำ​พูด​ที่​เกิน​จริง​ไป​มาก. จริง​อยู่ บาง​เรื่อง​ที่​เด็ก​พูด​อาจ​ทำ​ให้​พ่อ​แม่​ไม่​สบาย​ใจ​เมื่อ​ได้​ยิน. ตัว​อย่าง​เช่น เด็ก​ที่​รู้สึก​คับข้อง​ใจ​อาจ​พูด​ว่า “หนู​เกลียด​ชีวิต​ของ​หนู.” * พ่อ​แม่​อาจ​ตอบ​ไป​ตาม​สัญชาตญาณ​ว่า “ลูก​ไม่​ได้​รู้สึก​อย่าง​นั้น​หรอก!” พ่อ​แม่​อาจ​กังวล​ว่า​ถ้า​เขา​ยอม​รับ​ความ​รู้สึก​และ​ความ​คิด​ใน​แง่​ลบ​ของ​ลูก​ก็​เท่า​กับ​เป็น​การ​ยอม​ให้​ลูก​รู้สึก​อย่าง​นั้น.

ทาง​แก้: จง​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ให้ “ว่องไว​ใน​การ​ฟัง, ช้า​ใน​การ​พูด, ช้า​ใน​การ​โกรธ.” (ยาโกโบ 1:19) ขอ​ให้​สังเกต​ว่า พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​ยอม​รับ​ความ​รู้สึก​ใน​ด้าน​ลบ​ของ​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​หลาย​คน​โดย​ทรง​ให้​บันทึก​เรื่อง​ของ​คน​เหล่า​นั้น​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. (เยเนซิศ 27:46; บทเพลง​สรรเสริญ 73:12, 13) ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​โยบ​ประสบ​การ​ทดลอง​อย่าง​แสน​สาหัส ท่าน​พูด​ว่า​ท่าน​อยาก​ตาย.—โยบ 14:13.

เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ความ​คิด​และ​ความ​รู้สึก​บาง​อย่าง​ของ​โยบ​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​แก้ไข. แต่​แทน​ที่​จะ​ปฏิเสธ​ความ​รู้สึก​ของ​โยบ​หรือ​ห้าม​ไม่​ให้​ท่าน​พูด พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​เกียรติ​โยบ​โดย​ปล่อย​ให้​ท่าน​ระบาย​ความ​ใน​ใจ​ออก​มา​และ​รับ​ฟัง​อย่าง​อด​ทน. หลัง​จาก​นั้น​พระ​ยะโฮวา​จึง​แก้ไข​ทัศนะ​ของ​ท่าน​อย่าง​กรุณา. บิดา​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​กล่าว​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้​ว่า “เนื่อง​จาก​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยอม​ให้​ผม​ระบาย​ความ​ใน​ใจ​ได้​เมื่อ​อธิษฐาน​ถึง​พระองค์ ผม​จึง​คิด​ว่า​มี​เหตุ​ผล​สมควร​ที่​ผม​จะ​ยอม​ให้​เด็ก ๆ ได้​ระบาย​ทั้ง​ความ​รู้สึก​ที่​ดี​และ ไม่​ดี​ให้​ผม​ฟัง.”

คราว​หน้า​ถ้า​คุณ​รู้สึก​อยาก​จะ​พูด​กับ​ลูก​ว่า “ลูก​ไม่​ได้​รู้สึก​อย่าง​นั้น​จริง ๆ หรอก” หรือ “ลูก​ไม่​ได้​คิด​อย่าง​นั้น​จริง ๆ หรอก” ก็​ขอ​ให้​นึก​ถึง​กฎ​ทอง​ของ​พระ​เยซู​ที่​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​ปรารถนา​จะ​ให้​เขา​ทำ​แก่​ท่าน​อย่าง​ไร ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​กระทำ​อย่าง​นั้น​แก่​เขา​เหมือน​กัน.” (ลูกา 6:31) ตัว​อย่าง​เช่น สมมุติ​ว่า​มี​คน​ปฏิบัติ​ต่อ​คุณ​อย่าง​ไม่​กรุณา​ใน​ที่​ทำ​งาน​หรือ​คุณ​อาจ​รู้สึก​ผิด​หวัง​เนื่อง​จาก​อะไร​บาง​อย่าง อาจ​เป็น​เพราะ​ข้อ​บกพร่อง​ของ​คุณ​เอง​ก็​ได้. คุณ​ระบาย​ความ​รู้สึก​คับข้อง​ใจ​กับ​เพื่อน​สนิท​คน​หนึ่ง และ​บอก​ว่า​คุณ​ไม่​สามารถ​จะ​รับมือ​กับ​งาน​ที่​ทำ​อยู่​ได้. คุณ​อยาก​ให้​เพื่อน​ทำ​อย่าง​ไร? คุณ​อยาก​ให้​เขา​บอก​ว่า​คุณ​ไม่​ได้​รู้สึก​อย่าง​นั้น​จริง ๆ แล้ว​ก็​รีบ​ชี้​ให้​เห็น​ทันที​ว่า ไม่​ว่า​จะ​อย่าง​ไร​ปัญหา​ก็​เกิด​จาก​ความ​ผิด​ของ​คุณ​เอง​อย่าง​นั้น​ไหม? หรือ​คุณ​จะ​ชอบ​มาก​กว่า​ถ้า​เพื่อน​บอก​ว่า “ปัญหา​อย่าง​นั้น​คง​แก้​ไม่​ได้​ง่าย ๆ. วัน​นี้​เธอ​คง​ต้อง​ทุกข์​ใจ​มาก​สิ​นะ”?

ทั้ง​เด็ก​และ​ผู้​ใหญ่​ดู​เหมือน​จะ​รับ​ฟัง​คำ​แนะ​นำ​ได้​ง่าย​กว่า​มาก​ถ้า​พวก​เขา​รู้สึก​ว่า​คน​ที่​ให้​คำ​แนะ​นำ​เข้าใจ​พวก​เขา​และ​ความ​ยุ่งยาก​ที่​พวก​เขา​เผชิญ​อยู่​จริง ๆ. พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​กล่าว​ว่า “หัวใจ​ของ​คน​มี​ปัญญา​เป็น​เหตุ​ให้​ปาก​ของ​เขา​สำแดง​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ และ​เพิ่ม​แรง​โน้ม​น้าว​ใจ​ให้​แก่​ริมฝีปาก​ของ​เขา.”—สุภาษิต 16:23, ล.ม.

คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ลูก​ฟัง​คำ​แนะ​นำ​ของ​คุณ​อย่าง​จริงจัง?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 อย่า​มอง​ว่า​คำ​พูด​ของ​เด็ก​เกี่ยว​กับ​การ​จบ​ชีวิต​ของ​ตัว​เอง​เป็น​เรื่อง​เล่น ๆ.

[คำ​โปรย​หน้า 8]

“ผู้​ที่​ให้​คำ​ตอบ​ก่อน​ได้​ยิน​เรื่อง, ก็​เป็น​การ​โฉด​เขลา​และ​เป็น​ความ​น่า​อาย แก่​ตน.”—สุภาษิต 18:13