การปวดฟัน—เรื่องราวของความทรมาน
การปวดฟัน—เรื่องราวของความทรมาน
ในตลาดบริเวณจัตุรัสประจำเมืองในยุคกลาง นักต้มตุ๋นที่แต่งกายอย่างหรูหราคนหนึ่งได้อวดอ้างว่า เขาสามารถถอนฟันได้โดยไม่เจ็บปวดเลยแม้แต่น้อย. ผู้สมรู้ร่วมคิดกับเขาแกล้งทำเป็นลังเล, ก้าวออกมา, และหมอเถื่อนก็แกล้งทำเป็นถอนฟันและชูฟันกรามที่มีคราบเลือดติดให้ทุกคนดู. ไม่ช้า บรรดาคนที่ปวดฟันก็ยินดีจ่ายเงินเพื่อให้ถอนฟันของตน. มีการประโคมเสียงกลองและเป่าแตรเสียงดังลั่นกลบเสียงกรีดร้องเพื่อไม่ให้คนอื่น ๆ ได้ยิน. ไม่กี่วันถัดมา หลายคนเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงในบางครั้ง แต่ตอนนั้นหมอเถื่อนก็หนีไปนานแล้ว.
ในทุกวันนี้ มีคนที่ทุกข์ทรมานเพราะการปวดฟันเพียงไม่กี่คนที่จำต้องหันไปพึ่งคนขี้โกงเช่นนี้. หมอฟันในปัจจุบันสามารถรักษาอาการปวดฟัน และบ่อยครั้งพวกเขาช่วยป้องกันการสูญเสียฟันได้ด้วย. กระนั้น หลายคนรู้สึกกังวลเมื่อต้องไปหาหมอฟัน. การพิจารณาว่าหมอฟันเรียนรู้วิธีช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้คนไข้เป็นครั้งแรกได้อย่างไรนั้นอาจช่วยเราให้รู้สึกขอบคุณวงการทันตแพทย์ศาสตร์ในปัจจุบัน.
อาจกล่าวได้ว่า ฟันผุเป็นโรคที่คุกคามมนุษยชาติเป็นอันดับสองรองจากไข้หวัด. มันไม่ได้เป็นโรคที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยปัจจุบัน. บทกวีของกษัตริย์ซะโลโมเผยให้เห็นว่า ในอิสราเอลโบราณ ความยากลำบากอันเกิดจากการที่มีฟันเหลืออยู่ไม่กี่ซี่เป็นสิ่งที่คาดหมายได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ.—ท่านผู้ประกาศ 12:3.
แม้แต่กษัตริย์ก็ไม่เว้น
แม้เอลิซาเบทที่ 1 ทรงเป็นราชินีแห่งอังกฤษ พระนางก็ไม่อาจหนีเรื่องการปวดฟันไปได้. อาคันตุกะชาวเยอรมันซึ่งสังเกตเห็นฟันสีดำของพระนางได้รายงานว่า นี่เป็น “ผลพวงจากการที่ชาวอังกฤษดูเหมือนบริโภคน้ำตาลมากเกินไป.” ในเดือนธันวาคม 1578 ราชินีผู้นี้ทนทุกข์ทรมานเพราะทรงปวดฟันทั้งวันทั้งคืน. แพทย์ที่ถวายการรักษาแนะว่าต้องถอนฟันซี่ที่ผุออกไป แต่พระนางปฏิเสธ ซึ่งอาจเป็นเพราะกลัวความเจ็บปวด. เพื่อโน้มน้าวใจพระนาง จอห์น อัลเมอร์ บิชอปแห่งลอนดอน ได้ยอมให้ถอนฟันของตนซี่หนึ่ง ซึ่งอาจเป็นซี่ที่ผุ ต่อหน้าพระพักตร์พระนาง ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญมาก เนื่องจากชายชราผู้นี้มีฟันเหลืออยู่ไม่กี่ซี่เท่านั้น!
ในสมัยนั้น คนทั่ว ๆ ไปที่จำเป็นต้องถอนฟันจะไปหาช่างตัดผมหรือแม้กระทั่งช่างตีเหล็ก. แต่เมื่อผู้คนมากขึ้นเริ่มมีเงินซื้อน้ำตาล การปวดฟันก็เพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุที่ต้องมีช่างถอนฟันที่ชำนาญ. ด้วยเหตุนั้น หมอทั่วไปหรือหมอผ่าตัดบางคนจึงเริ่มสนใจที่จะรักษาโรคฟัน. อย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญต่างหวงเคล็ดลับวิชาชีพของตน. นอกจากนั้น ตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีไม่มาก.
หนึ่งศตวรรษต่อมาหลังยุคของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบทที่ 1 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส. พระองค์ทนทุกข์ทรมานเพราะการปวดฟันเกือบตลอดพระชนม์ชีพ และในปี 1685 ฟันบนซีกซ้าย
ของพระองค์ถูกถอนออกทั้งหมด. บางคนอ้างว่าเป็นเพราะการติดเชื้อในช่องปากของกษัตริย์นั่นเองที่ทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยอย่างที่ยังผลเป็นความหายนะในปีนั้น โดยการลงพระนามเพิกถอนราชกฤษฎีกาที่ให้สิทธิเสรีภาพในการนมัสการในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดคลื่นแห่งการข่มเหงอย่างโหดเหี้ยมทารุณต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนา.กำเนิดทันตแพทย์ศาสตร์สมัยใหม่
อิทธิพลของการใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งมีต่อสังคมชั้นสูงในปารีส นำไปสู่การถือกำเนิดวิชาชีพด้านทันตกรรม. เพื่อจะประสบความสำเร็จในราชสำนักและสังคมชั้นสูงได้นั้น ขึ้นอยู่กับการปรากฏตัวอย่างดี. ความต้องการฟันปลอมที่มีมากขึ้น เพื่อความงามมากกว่าเพื่อการรับประทานอาหาร ส่งผลให้มีหมอผ่าตัดกลุ่มใหม่เกิดขึ้น นั่นคือหมอฟันสำหรับสังคมชั้นสูง. หมอฟันชั้นแนวหน้าในกรุงปารีสคือ ปิแอร์ โฟชาร์ ซึ่งเรียนวิชาศัลยกรรมจากกองทัพเรือฝรั่งเศส. เขาตำหนิพวกศัลยแพทย์ที่ปล่อยให้การถอนฟันเป็นหน้าที่ของช่างตัดผมและหมอเถื่อนที่ไม่มีความชำนาญ และเขาเป็นคนแรกที่เรียกตัวเองว่าทันตแพทย์.
ธรรมเนียมการเก็บความลับทางวิชาชีพก็ถึงจุดสิ้นสุด เมื่อโฟชาร์ได้เขียนตำราในปี 1728 เพื่ออธิบายขั้นตอนการทำฟันที่เขารู้ทั้งหมด. ผลก็คือ เขาได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งทันตแพทย์ศาสตร์.” เขาเป็นคนแรกที่ให้คนไข้นั่งเก้าอี้ทำฟันแทนที่จะนั่งบนพื้น. โฟชาร์ยังพัฒนาเครื่องมือห้าชิ้นที่ใช้สำหรับการถอนฟัน แต่เขาไม่ได้เป็นแค่คนถอนฟันเท่านั้น. เขาพัฒนาเครื่องกรอฟันและวิธีอุดฟัน. เขาเรียนรู้วิธีอุดโพรงรากฟันและวิธียึดฟันปลอมเข้ากับรากฟัน. ฟันปลอมที่เขาทำขึ้นจากงาช้างมีลวดสปริงอันหนึ่งที่ช่วยให้ฟันปลอมด้านบนเข้าที่. โฟชาร์เป็นผู้ทำให้วิชาทันตแพทย์ศาสตร์กลายเป็นวิชาชีพหนึ่ง. อิทธิพลของเขาแพร่ไปไกลถึงอเมริกาด้วยซ้ำ.
ความทุกข์ทรมานของประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก
ประมาณหนึ่งศตวรรษหลังสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในอเมริกา จอร์ช วอชิงตันทนทุกข์ทรมานเพราะการปวดฟัน. เขาต้องถอนฟันเกือบทุกปีตั้งแต่อายุ 22. ลองนึกภาพว่าเขาจะต้องทนความลำบากขนาดไหนในช่วงที่ต้องเป็นผู้นำกองกำลังแห่งทวีป! พอถึงปี 1789 เมื่อเขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐ เขาไม่มีฟันเหลืออยู่เลย.
ประธานาธิบดีวอชิงตันยังต้องทุกข์ทรมานใจเพราะใบหน้าที่ผิดรูปเนื่องจากไม่มีฟันและฟันปลอมที่ไม่พอดีกับปาก. เขาเป็นห่วงการปรากฏตัวมากเพราะเขาต้องการสร้างภาพลักษณ์ในการเป็นประธานาธิบดีของประเทศเกิดใหม่อย่างสหรัฐ. ในสมัยนั้น ฟันปลอมไม่ได้หล่อจากรอยพิมพ์ฟันแต่แกะจากงาช้าง การทำฟันปลอมให้พอดีกับปากจึงทำได้ยาก. เหล่าสุภาพบุรุษชาวอังกฤษก็รู้สึกลำบากไม่แพ้ประธานาธิบดีวอชิงตัน. ว่ากันว่าตลกหน้าตายแบบอังกฤษก็เกิดมาจากการที่พวกเขาต้องระวังไม่หัวเราะเสียงดังจนเห็นฟันปลอมของตน.
เรื่องที่เล่ากันว่าประธานาธิบดีวอชิงตันใส่ฟันปลอมที่ทำจากไม้นั้นปรากฏว่าไม่เป็นความจริง. เขามีฟันปลอมที่ทำจากฟันมนุษย์, งาช้าง, และตะกั่ว แต่ไม่ใช่ไม้. บางที หมอฟันของเขาอาจได้ฟันมาจากพวกโจรที่ปล้นหลุมศพ. นอกจากนั้น ช่างทำฟันปลอมจะติดตามกองทหาร และจะเลาะฟันจากศพและคนที่ตายหลังการสู้รบ. ด้วยเหตุนั้น ฟันปลอมจึงเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับคนรวย. จนกระทั่งทศวรรษ 1850 เมื่อมีการค้นพบยางวัลคะไนซ์ซึ่งถูกนำมาทำเป็นฐานฟันปลอมแล้วเท่านั้นคนทั่วไปจึงมีโอกาสใช้ฟันปลอมได้. แม้หมอฟันของประธานาธิบดีวอชิงตันจะเป็นมืออาชีพชั้นแนวหน้า แต่พวกเขาก็ยังไม่เข้าใจอย่างเต็มที่ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ปวดฟัน.
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปวดฟัน
นับตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้คนคิดว่าหนอนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดฟัน ซึ่งทฤษฎีนี้ยังคงมีอยู่จนถึงศตวรรษที่ 18. ในปี 1890 วิลลาเบ มิลเลอร์ หมอฟันชาวอเมริกันซึ่งทำงานในมหาวิทยาลัยเบอร์ลินประเทศเยอรมนี ได้ระบุว่าโรคฟันผุเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปวดฟัน. แบคทีเรียชนิดที่เจริญเติบโตได้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีน้ำตาลจะผลิตกรดออกมาทำลายฟัน. แต่จะป้องกันฟันผุได้อย่างไร? คำตอบได้มาโดยบังเอิญ.
เป็นเวลานานหลายสิบปีที่หมอฟันในโคโลราโด สหรัฐอเมริกา สงสัยว่าเหตุใดฟันของหลายคนจึงตกกระ. ในที่สุดก็พบว่าสาเหตุเกิดจากการที่มีฟลูออไรด์ในน้ำประปามากเกินไป. แต่ขณะที่กำลังศึกษาปัญหาดังกล่าว นักวิจัยได้ค้นพบข้อเท็จจริงหนึ่งโดยบังเอิญซึ่งมีความสำคัญต่อการป้องกันการปวดฟันได้ทั่วโลก นั่นคือ คนที่เติบโตในที่ที่น้ำดื่มมีฟลูออไรด์น้อยจะมีโอกาสฟันผุมากกว่า. ฟลูออไรด์ ซึ่งน้ำประปาหลายแห่งมีอยู่ตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเคลือบฟัน. เมื่อประชาชนใช้น้ำประปาที่ไม่มีฟลูออไรด์ได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากพอ การเกิดฟันผุก็ลดลงราว 65 เปอร์เซ็นต์.
ด้วยเหตุนั้นความลับก็ถูกเปิดเผย. การปวดฟันส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากฟันผุ. น้ำตาลทำให้ฟันผุ. ฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุ. แน่นอนว่า ฟลูออไรด์ไม่อาจมาแทนที่การแปรงฟันและการขัดฟันที่ดีได้.
หาวิธีทำฟันโดยไม่เจ็บ
ก่อนที่จะมีการค้นพบยาระงับความรู้สึก การทำฟันสร้างความเจ็บปวดทรมานแก่คนไข้. หมอฟันจะขุดส่วนที่ผุและเสียวให้เป็นโพรงด้วยเครื่องมือคม ๆ แล้วเทโลหะร้อน ๆ ลงไปในโพรงเพื่ออุดฟัน. เนื่องจากไม่มีการรักษาด้วยวิธีอื่น หมอฟันจะนาบโพรงฟันที่ติดเชื้อโดยการแยงแท่งเหล็กลนไฟเข้าไปในโพรงรากฟัน. ก่อนที่จะมีการพัฒนาเครื่องมือพิเศษและยาชา การถอนฟันก็เป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวอย่างยิ่งเช่นกัน. ผู้คนจะยอมรับการรักษาด้วยวิธีที่ทรมานเช่นนั้นก็ต่อเมื่อทนปวดฟันต่อไปไม่ไหวแล้ว. แม้มีการใช้สมุนไพร เช่น ฝิ่น, กัญชาอินเดีย, และต้นแมนเดรกมานานหลายศตวรรษ แต่สมุนไพรเหล่านี้ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้เล็กน้อยเท่านั้น. หมอฟันจะสามารถผ่าตัดโดยไม่เจ็บเลยได้ไหม?
หลังจากที่นักเคมีชาวอังกฤษชื่อโจเซฟ พริสลีย์ได้เตรียมไนตรัสออกไซด์หรือแก๊สหัวเราะครั้งแรกในปี 1772 มีคนสังเกตเห็นว่า สารประกอบนี้มีคุณสมบัติที่ช่วยระงับความรู้สึกได้. แต่ไม่มีใครใช้แก๊สนี้เป็นยาระงับความรู้สึกจนกระทั่งปี 1844. ในวันที่ 10 ธันวาคมปีนั้นเอง โฮเรส เวลส์หมอฟันจากฮาร์ทฟอร์ด รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา ได้เข้าร่วมฟังการบรรยายซึ่งผู้ฟังได้รับความบันเทิงจากแก๊สหัวเราะ. เวลส์สังเกตว่าเมื่อคนที่อยู่ภายใต้ฤทธิ์ของแก๊สนี้เอาหน้าแข้งไปครูดกับม้านั่งยาวแข็ง ๆ เขาก็ไม่แสดงอาการเจ็บปวดแม้แต่น้อย. เวลส์เป็นคนที่เห็นอกเห็นใจ และรู้สึกไม่สบายใจเวลาที่ทำให้คนไข้เจ็บ. เขานึกขึ้นได้ทันทีว่าจะใช้แก๊สนี้เป็นยาระงับความรู้สึก. แต่ก่อนที่จะให้ยานี้แก่คนอื่น เขาตัดสินใจใช้กับตัวเองก่อน. วันรุ่งขึ้นนั้นเอง เขานั่งที่เก้าอี้ผ่าตัดของตัวเองและสูดแก๊สจนหมดสติ. แล้วเพื่อนร่วมงานของเขาได้ถอนฟันคุดที่ปวดออกไป. นี่เป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ทีเดียว. ในที่สุด การทำฟันโดยไม่เจ็บปวดได้เกิดขึ้นแล้ว! *
นับแต่นั้นมาวิชาทันตกรรมได้พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นหลายอย่าง. ฉะนั้น คุณคงจะรู้สึกว่าการไปหาหมอฟันในปัจจุบันดีกว่าแต่ก่อนมากทีเดียว.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 22 ปัจจุบันนี้ มีการใช้ยาชาเฉพาะที่มากกว่าใช้ไนตรัสออกไซด์.
[ภาพหน้า 28]
ฟันปลอมที่ทำจากงาช้างของจอร์ช วอชิงตัน ประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of The National Museum of Dentistry, Baltimore, MD
[ภาพหน้า 29]
ภาพวาดการทำฟันครั้งแรกที่ใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์เป็นยาสลบในปี 1844
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of the National Library of Medicine
[ที่มาของภาพหน้า 27]
Courtesy of the National Library of Medicine