การมองในแง่ดีจะช่วยให้สุขภาพคุณดีขึ้นได้ไหม?
การมองในแง่ดีจะช่วยให้สุขภาพคุณดีขึ้นได้ไหม?
“ใจที่ร่าเริงเป็นเหมือนโอสถวิเศษ” กษัตริย์ผู้ฉลาดสุขุมแห่งอิสราเอลได้เขียนถ้อยคำดังกล่าวไว้เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว. (สุภาษิต 17:22) ทุกวันนี้ บรรดาแพทย์ยอมรับสติปัญญาในถ้อยคำที่มีขึ้นโดยการดลใจนี้. แต่พวกเราหลายคนใช่ว่าจะมี “ใจที่ร่าเริง” เป็นคุณสมบัติประจำตัว.
มีพวกเราไม่กี่คนที่สามารถหลีกเลี่ยงความกดดันในชีวิตประจำวันซึ่งอาจทำให้ข้องขัดใจและมองโลกในแง่ร้าย. กระนั้น การศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า แม้จะเผชิญความยากลำบาก แต่ก็คุ้มค่าที่จะปลูกฝังการมองในแง่ดี.
การมองในแง่ดีได้รับการพรรณนาว่าเป็น “ภาวะทางอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความหวัง และแนวโน้มในการคาดหมายว่าจะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้น.” เมื่อคนที่มองในแง่ดีพบอุปสรรค เขารู้สึกอย่างไร? เขาไม่ได้มองว่าอุปสรรคนั้นจะมีอยู่ตลอดไป. นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาปฏิเสธความเป็นจริง. ตรงกันข้าม เขายอมรับสภาพและตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น. แล้วเมื่อสภาพการณ์เอื้ออำนวย เขาจึงลงมือเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น.
ในทางตรงกันข้าม คนที่มองในแง่ร้ายมักตำหนิตนเองเมื่อเกิดความทุกข์ยาก. เขาคิดเอาเองว่าเหตุการณ์ร้าย ๆ จะมีอยู่ตลอดไปและเกิดขึ้นเพราะความโง่เขลา, การไร้ความสามารถ, หรือความไม่มีเสน่ห์ของตนเอง. ผลก็คือเขารู้สึกเป็นคนล้มเหลว.
การมองในแง่ดีส่งผลต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของเราไหม? ใช่แล้ว. ที่คลินิกมาโยแห่งเมืองโรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยกับคนไข้มากกว่า 800 คนเป็นเวลา 30 ปีได้พบว่าคนที่มองในแง่ดีมีสุขภาพดีกว่าและมีอายุยืนยาวกว่าคนอื่น ๆ. นักวิจัยยังสังเกตว่า คนที่มองในแง่ดีรับมือกับความกดดันได้ดีกว่าและมีโอกาสจะเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่า.
อย่างไรก็ตาม การมองในแง่ดีไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปในโลกที่ดูเหมือนเต็มไปด้วยปัญหา. ไม่น่าแปลกใจ หลายคนพบว่ายากที่จะมองในแง่ดี. อะไรจะช่วยให้รับมือกับปัญหานี้ได้? ที่กรอบในบทความนี้ คุณจะพบข้อแนะที่ดีบางประการที่อาจช่วยคุณได้.
แม้อารมณ์ที่เบิกบานไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่างให้หมดไป แต่ก็สามารถช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีความพึงพอใจในชีวิตมากขึ้น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “วันเวลาทั้งหมดของคนรับทุกข์เป็นที่เศร้าหมอง; แต่คนที่มีใจชื่นบานเปรียบเหมือนมีการเลี้ยงอยู่เสมอ.”—สุภาษิต 15:15.
[กรอบ/ภาพหน้า 26]
ข้อแนะบางประการเพื่อให้เป็นคนมองในแง่ดีมากขึ้น *
▪ เมื่อคุณคิดว่าตัวเองไม่ชอบอะไรบางอย่างหรือคิดว่าจะทำงานบางอย่างไม่สำเร็จ ให้สลัดความคิดนั้นออกไป. ให้คิดแต่เรื่องดี ๆ.
▪ พยายามทำงานอย่างมีความสุข. ไม่ว่าจะทำงานอะไร ให้มองหาสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกอิ่มใจพอใจ.
▪ หาเพื่อนที่มีทัศนะในแง่บวก.
▪ จัดการกับสถานการณ์ที่คุณสามารถควบคุมได้ พยายามยอมรับสิ่งที่คุณทำไม่ได้.
▪ ทุก ๆ วันให้เขียนสิ่งดี ๆ สามอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 ข้อแนะข้างต้นนี้เป็นส่วนที่อยู่ในสิ่งพิมพ์ซึ่งจัดทำโดยคลินิกมาโย.