การอยู่ร่วมกันระหว่างสองวัฒนธรรม—ฉันจะทำอย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
การอยู่ร่วมกันระหว่างสองวัฒนธรรม—ฉันจะทำอย่างไร?
“ครอบครัวผมเป็นชาวอิตาลี ซึ่งมักแสดงความรักและความอบอุ่นอย่างเปิดเผย. ตอนนี้เราอยู่ในอังกฤษ. คนที่นี่ดูมีระเบียบและสุภาพมาก. ผมรู้สึกว่าผมวางตัวไม่ถูก ไม่ว่าจะวัฒนธรรมไหน เพราะผมเป็นคนอิตาลีมากกว่าที่จะเป็นคนอังกฤษและเป็นคนอังกฤษมากกว่าที่จะเป็นคนอิตาลี.”—จีโอซูแอะ, อังกฤษ.
“ที่โรงเรียนครูบอกผมให้มองหน้าครูขณะที่ท่านพูด. แต่เมื่อผมสบตาพ่อตอนที่ท่านพูด ท่านกลับบอกว่าผมไร้มารยาท. ผมรู้สึกกระอักกระอ่วนที่อยู่ระหว่างสองวัฒนธรรม.”—แพทริก, ชาวแอลจีเรียที่ย้ายไปอาศัยในฝรั่งเศส.
พ่อหรือแม่ของคุณเป็นคนที่ย้ายถิ่นฐานไหม?
□ ใช่ □ ไม่ใช่
เมื่อคุณไปโรงเรียน ภาษาหรือวัฒนธรรมที่นั่นแตกต่างจากที่บ้านไหม?
□ ใช่ □ ไม่ใช่
แต่ละปี มีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานหลายล้านคน และหลายคนต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ ๆ หลายประการ. จู่ ๆ พวกเขาก็ต้องอยู่ร่วมกับคนที่มีภาษา, วัฒนธรรม, และการแต่งกายที่ต่างออกไป. ผลคือ บ่อยครั้งคนต่างด้าวจึงมักตกเป็นเป้าของการดูถูกเหยียดหยาม—นี่เป็นข้อเท็จจริงที่เด็กสาวชื่อนูร์ได้ประสบ. เธอได้ย้ายถิ่นฐานจากจอร์แดนพร้อมกับครอบครัวมายังอเมริกาเหนือ. เธอเล่าว่า “เสื้อผ้าของเราไม่เหมือนกับของคนอื่น ผู้คนจึงล้อเลียนเรา. และเราไม่เข้าใจอารมณ์ขันของคนอเมริกันเลย.”
นัดยาหญิงสาวคนหนึ่งพบกับปัญหาคนละแบบ. เธอเล่าว่า “ฉันเกิดในเยอรมนี. เนื่องจากพ่อแม่เป็นชาวอิตาลี ฉันจึงพูดภาษาเยอรมันด้วยสำเนียงแปร่ง ๆ เด็ก ๆ ที่โรงเรียนจึงเรียกฉันว่า ‘คนต่างชาติจอมโง่.’ แต่เมื่อไปอิตาลี ฉันกลับพบว่าฉันพูดภาษาอิตาลีด้วยสำเนียงเยอรมัน. ฉันไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนชาติอะไรกันแน่. ทุกที่ที่ไป ฉันกลายเป็นคนต่างชาติ.”
ปัญหาอะไรอื่นอีกที่เด็ก ๆ ในครอบครัวซึ่งย้ายถิ่นฐานต้องประสบ? พวกเขาจะใช้สภาพการณ์ของตนให้เป็นประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร?
ช่องว่างทางวัฒนธรรมและอุปสรรคด้านภาษา
แม้กระทั่งที่บ้าน เยาวชนที่พ่อแม่ย้ายถิ่นฐานมักจะเห็นช่องว่างทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น. เป็นไปได้อย่างไร? เด็ก ๆ มักจะรับเอาวัฒนธรรมใหม่ ๆ ได้เร็วกว่าพ่อแม่. ยกตัวอย่าง อันนา ย้ายมาอังกฤษกับครอบครัวเมื่ออายุได้ 8 ขวบ. เธอเล่าว่า “ฉันและน้อง ๆ ปรับตัวเข้ากับลอนดอนได้เกือบจะโดยอัตโนมัติ. แต่ไม่ง่ายสำหรับพ่อแม่ ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะเล็ก ๆ ของโปรตุเกสชื่อมาเดรามาเป็นเวลานานมาก.” เวินน์ อายุ 3 ขวบตอนที่พ่อแม่ของเธอซึ่งเป็นชาวกัมพูชาย้ายไปออสเตรเลีย เล่าว่า “พ่อแม่ของดิฉันปรับตัวไม่ค่อยได้. ที่จริง พ่อมักหัวเสียและโกรธเพราะดิฉันไม่เข้าใจทัศนะและวิธีคิดของท่าน.”
ช่องว่างทางวัฒนธรรมนี้อาจเป็นเสมือนคูเมืองที่แยกเยาวชนให้อยู่กันคนละฝั่งกับพ่อแม่. ต่อมา อุปสรรคทางภาษาซึ่งเปรียบเสมือนกำแพงที่สร้างตามแนวคูเมืองก็อาจแบ่งแยกครอบครัวยิ่งขึ้นไปอีก. พื้นฐานของอุปสรรคนี้เกิดขึ้นเมื่อเด็ก ๆ เรียนภาษาใหม่ได้เร็วกว่าพ่อแม่. อุปสรรคนี้ขยายตัวขึ้นเมื่อเด็ก ๆ เริ่มลืมภาษาเดิมทำให้การสื่อความยากขึ้นเป็นลำดับ.
เอียน ตอนนี้อายุ 14 ปี มองเห็นอุปสรรคเช่นนี้เกิดขึ้นระหว่างตัวเขาเองกับพ่อแม่หลังจากครอบครัวได้ย้ายจากเอกวาดอร์มายังนิวยอร์ก. เขาเล่าว่า “ตอนนี้ผมพูดภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาสเปน. ครูที่โรงเรียนพูดภาษาอังกฤษ เพื่อน ๆ พูดภาษาอังกฤษ และผมเองก็พูดภาษาอังกฤษกับน้องชาย. หัวของผมเต็มไปด้วยภาษาอังกฤษซึ่งเข้ามาแทนที่ภาษาสเปน.”
คุณมีประสบการณ์คล้าย ๆ กับเอียนไหม? ถ้าครอบครัวคุณย้ายถิ่นตอนที่คุณยังเด็กมาก ๆ คุณอาจไม่รู้ว่าภาษาเดิมของคุณอาจเป็นประโยชน์ในภายหลัง. คุณอาจไม่สนใจและลืมมันไปก็ได้. นูร์ที่ได้อ้างถึงข้างต้นกล่าวว่า “พ่อพยายามอย่างหนักให้เราใช้ภาษาที่ท่านพูดเมื่ออยู่บ้าน แต่เราไม่ต้องการพูดภาษาอาหรับ. สำหรับเราแล้ว การเรียนภาษาอาหรับเป็นเหมือนภาระหนักที่ไม่จำเป็น. เพื่อน ๆ ของเราพูดภาษาอังกฤษ. รายการโทรทัศน์ที่เราดูทั้งหมดก็เป็นรายการภาษาอังกฤษ. แล้วทำไมเราจะต้องพูดภาษาอาหรับล่ะ?”
อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณอายุมากขึ้นอีกหน่อย คุณอาจเริ่มตระหนักว่าการพูดภาษาของตนเองได้ดีมีประโยชน์หลายอย่าง. แต่คุณอาจรู้สึกว่ายากที่จะจดจำบางคำที่เคยใช้ได้คล่อง. ไมเคิล วัย 13 ปี ซึ่งพ่อแม่ได้ย้ายจากประเทศจีนมายังประเทศอังกฤษได้กล่าวว่า “ผมสับสนกันระหว่างสองภาษา.” ออร์เนล วัย 15 ปี ซึ่งย้ายมาจากคองโก (กินชาซา) มายังลอนดอน บอกว่า “ฉันพยายามจะพูดอะไรบางอย่างกับแม่เป็นภาษาลิงกาลา แต่ฉันทำไม่ได้เพราะฉันคุ้นเคยกับการพูดภาษาอังกฤษมากกว่า.” ลี ซึ่งเกิดในออสเตรเลียโดยที่พ่อแม่เป็นชาวกัมพูชา รู้สึกเสียใจเนื่องจากเธอพูดภาษาของพ่อแม่ได้ไม่คล่อง. เธออธิบายว่า “เมื่อฉันพูดกับพ่อแม่และต้องการอธิบายรายละเอียดว่าฉันรู้สึกอย่างไรในบางเรื่อง ฉันรู้สึกว่าตัวเองพูดภาษาของท่านได้ไม่ดีพอ.”
เหตุผลที่จะต้องลดช่องว่าง
หากคุณหลงลืมภาษาเดิมของคุณไปบ้างก็อย่าท้อใจ. คุณสามารถสร้างทักษะด้านภาษาขึ้นมาใหม่ได้. ก่อนอื่นคุณต้องมองเห็นประโยชน์ของการทำเช่นนั้นจริง ๆ. ผลประโยชน์มีอะไรบ้าง? จีโอซูแอะ ซึ่งอ้างถึงตอนต้นกล่าวว่า “ผมเรียนภาษาของพ่อแม่เพราะผมต้องการใกล้ชิดกับท่านทางด้านอารมณ์และที่สำคัญคือผมต้องการรับใช้พระเจ้าด้วยกันกับท่าน. การเรียนภาษาของท่านช่วยผมให้เข้าใจว่าพวกท่านรู้สึกอย่างไร. อีกทั้งช่วยให้พวกท่านเข้าใจผมด้วย.”
คริสเตียนหนุ่มสาวหลายคนกำลังฝึกภาษาของพ่อแม่เพราะพวกเขาต้องการบอกคนอื่น ๆ ที่ย้ายมาจากถิ่นเดียวกันเกี่ยวกับข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) ซาโลมัว วัย 21 ปีซึ่งย้ายมาลอนดอนเมื่ออายุได้ 5 ขวบ บอกว่า “การที่สามารถอธิบายพระคัมภีร์ได้สองภาษาเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง! ผมเกือบลืมภาษาเดิมของผม แต่ตอนนี้ผมรับใช้ในประชาคมที่ใช้ภาษาโปรตุเกส ผมพูดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาโปรตุเกสได้อย่างคล่องแคล่ว.” โอเลกวัย 15 ปี ตอนนี้อยู่ในประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า “ผมมีความสุขที่สามารถช่วยคนอื่น. ผมสามารถอธิบายพระคัมภีร์กับคนที่พูดภาษารัสเซีย, ภาษาฝรั่งเศส, หรือภาษามอลโดวา.” นูร์เห็นความจำเป็นที่จะมีผู้ประกาศในเขตงานที่ใช้ภาษาอาหรับ. เธอกล่าวว่า “ตอน นี้ดิฉันกำลังเรียนภาษาและพยายามรื้อฟื้นสิ่งที่ดิฉันลืม. ทัศนะของดิฉันเปลี่ยนไป. ตอนนี้ดิฉันต้องการ ที่จะได้รับการแก้ไขเมื่อพูดผิด. ดิฉันต้องการ เรียนค่ะ.”
คุณจะทำอะไรได้เพื่อจะพูดภาษาของบิดามารดาได้คล่องขึ้น? บางครอบครัวพบว่า เด็ก ๆ จะเรียนสองภาษาได้ดีถ้าพวกเขาตั้งใจจริง ๆ ที่จะพูดแต่ภาษาเดิมของตนเองเท่านั้น เมื่ออยู่บ้าน. * คุณอาจขอบิดามารดาให้ช่วยสอนวิธีเขียนด้วย. สเตลิส ซึ่งเติบโตในเยอรมนีแต่ภาษาเดิมของเขาคือภาษากรีก กล่าวว่า “พ่อแม่ผมเคยพิจารณาข้อคัมภีร์กับผมทุกวัน. พวกท่านจะอ่านออกเสียง แล้วผมก็จะเขียนข้อคัมภีร์. ตอนนี้ผมสามารถอ่านและเขียนได้ทั้งภาษากรีกและเยอรมัน.”
แน่นอนว่า ถ้าคุณคุ้นเคยกับวัฒนธรรมสองแบบและสามารถพูดได้สองภาษาหรือมากกว่านั้นก็นับว่าคุณมีข้อได้เปรียบจริง ๆ. ความรู้ของคุณทั้งสองวัฒนธรรมจะช่วยให้คุณสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้คนได้ดียิ่งขึ้นและสามารถตอบคำถามของพวกเขาเรื่องพระเจ้า. พระคัมภีร์เขียนไว้ว่า “คำตอบที่เหมาะสมย่อมนำความยินดีมาสู่ผู้กล่าว; และถ้อยคำที่กล่าวเหมาะกับกาลเทศะก็ประเสริฐนัก!” (สุภาษิต 15:23) ปรีติ ชาวอินเดีย ซึ่งเกิดในอังกฤษ อธิบายดังนี้: “เนื่องจากดิฉันเข้าใจทั้งสองวัฒนธรรม ดิฉันจึงรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อออกประกาศ. ดิฉันเข้าใจประชาชนจากทั้งสองวิถีชีวิตทั้งในสิ่งที่พวกเขาเชื่อและทัศนคติของพวกเขา.”
“พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด”
หากคุณรู้สึกว่าตนเองอยู่ระหว่างสองวัฒนธรรมก็อย่าท้อใจ. สถานการณ์ของคุณคล้ายคลึงกับของหลาย ๆ คนในคัมภีร์ไบเบิล. ยกตัวอย่าง โยเซฟซึ่งถูกพาออกจากวัฒนธรรมฮีบรูตั้งแต่วัยเด็กและใช้ชีวิตอยู่ในอียิปต์จนกระทั่งสิ้นชีวิต. แต่ปรากฏว่า ท่านไม่เคยลืมภาษาเดิมของท่าน. (เยเนซิศ 45:1-4) ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวของท่านได้.—เยเนซิศ 39:1; 45:5.
ติโมเธียวซึ่งเดินทางเป็นระยะทางไกลมากร่วมกับอัครสาวกเปาโลมีบิดาเป็นชาวกรีก และมารดาเป็นชาวยิว. (กิจการ 16:1-3) แทนที่จะให้ภูมิหลังจากสองวัฒนธรรมขัดขวางท่านไว้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านสามารถใช้ความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมเพื่อช่วยคนอื่นขณะที่ท่านทำงานเป็นมิชชันนารี.—ฟิลิปปอย 2:19-22.
ทำนองเดียวกันคุณจะมองสภาพการณ์ของตนเองเป็นข้อได้เปรียบแทนที่จะเป็นอุปสรรคไหม? จงจำไว้ว่า “พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.” (กิจการ 10:34, 35) พระยะโฮวารักคุณเพราะสิ่งที่คุณเป็นไม่ใช่เพราะว่าคุณมาจากที่ไหน. เช่นเดียวกับเยาวชนคนอื่น ๆ ที่อ้างถึงในที่นี้ คุณจะใช้ความรู้และประสบการณ์ของคุณเพื่อช่วยคนอื่นที่มีภูมิหลังเป็นเชื้อชาติเดียวกับคุณให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักใคร่และไม่ลำเอียงได้ไหม? การทำดังกล่าวจะทำให้คุณพบความสุขที่แท้จริง!—กิจการ 20:35.
ถ้าต้องการอ่านบทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า” เพิ่มเติม ให้ดาวน์โหลดตื่นเถิด! ฉบับอื่น ๆ จากเว็บไซต์ www.pr418.com
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 21 สำหรับข้อเสนอแนะที่ใช้การได้ โปรดดูบทความ “การเลี้ยงดูบุตรในต่างประเทศ—ปัญหาต่าง ๆ และผลตอบแทน” ใน หอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2002.
สิ่งที่พึงใคร่ครวญ
▪ ช่องว่างทางวัฒนธรรมหรืออุปสรรคด้านภาษาอะไรที่คุณเผชิญอยู่?
▪ คุณจะเอาชนะปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 20]
การพูดภาษาของบิดามารดาสามารถเสริมสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว