หนีไปเที่ยวที่วานูอาตู
หนีไปเที่ยวที่วานูอาตู
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในนิวแคลิโดเนีย
เครียดไหม? อยากหนีไปไกล ๆ ไหม? ถ้าอยาก ขอให้นึกภาพการพักผ่อนบนเกาะเขตร้อนที่มีแสงแดดเจิดจ้า. ให้นึกภาพว่าคุณว่ายน้ำเล่นในน้ำทะเลสีคราม, เดินสำรวจป่าดิบชื้นอันเขียวชอุ่ม, หรือสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมแปลก ๆ. แดนอุทยานอย่างนี้ยังมีเหลืออยู่ในโลกไหม? มีสิ! ที่หมู่เกาะวานูอาตูอันไกลโพ้นนี่เอง.
หมู่เกาะวานูอาตูอยู่ราว ๆ กึ่งกลางระหว่างออสเตรเลียกับฟิจิ และมีเกาะเล็กเกาะน้อยราว ๆ 80 เกาะเรียงรายกันเป็นรูปตัววาย (Y) ทอดตัวอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก. นักธรณีวิทยาบอกว่า แผ่นเปลือกโลกขนาดมหึมาที่เคลื่อนมาชนกันตรงจุดนี้ ทำให้เกิดเทือกเขาสูงตระหง่านซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใต้น้ำ. ยอดเขาที่สูงที่สุดหลายยอดในเทือกเขานี้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเป็นหมู่เกาะที่มีโขดหินอันขรุขระของวานูอาตู. ทุกวันนี้ แรงบดและการเสียดสีทางธรณีทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งย่อย ๆ หลายครั้ง และเกิดเป็นภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่อีกเก้าลูก. นักท่องเที่ยวใจกล้าสามารถเข้าไปดูลาวาหลอมเหลวในระยะใกล้ ๆ ด้วยซ้ำ.
ป่าดิบชื้นอันเขียวชอุ่มมีอยู่มากมายในหมู่เกาะนี้. นี่คือดินแดนของต้นไทรอันยิ่งใหญ่ ใบที่เป็นพุ่มบนเรือนยอดอาจแผ่คลุมพื้นที่ได้กว้างมาก. กล้วยไม้มากกว่า 150 ชนิดและเฟิร์นมากกว่า 250 ชนิดประดับประดาพื้นดินกันอย่างแน่นขนัด. หาดทรายอันงดงามและหน้าผาที่ขรุขระเป็นพรมแดนของน้ำทะเลที่ใสบริสุทธิ์ซึ่งมีปลาและปะการังสีสันสดใสอยู่มากมาย. นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อมาว่ายน้ำเล่นกับพะยูนที่มีนิสัยอ่อนโยนแต่ขี้เล่นที่เกาะเอปี. *
มนุษย์กินคนและลัทธิสินค้า
นักสำรวจชาวยุโรปเดินทางมาถึงวานูอาตูครั้งแรกเมื่อปี 1606. * ชนเผ่าพื้นเมืองที่ดุร้ายหลายเผ่าอาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ และหลายเผ่ามีธรรมเนียมการกินคน. ในตอนนั้น ป่าไม้จันทน์ ไม้เนื้อหอมที่มีค่าสูงยิ่งในเอเชีย ขึ้นปกคลุมพื้นที่ทั่วไป. เมื่อได้กลิ่นผลกำไร พ่อค้าชาวยุโรปก็ปล้นเอาต้นไม้นี้ไปอย่างเป็นระบบ. จากนั้นพวกเขาก็เริ่มหันไปสนใจพวกแรงงานที่เป็นชนพื้นเมือง.
มีการเกณฑ์แรงงานชาวพื้นเมืองมาทำงานในไร่อ้อยและไร่ฝ้ายในหมู่เกาะซามัว, หมู่เกาะฟิจิ, และออสเตรเลีย. ในทางทฤษฎี คนงานเซ็นสัญญาจ้างงานด้วยความสมัครใจสำหรับการทำงานเป็นเวลาสามปี. แต่ในทางปฏิบัติแล้วคนงานแทบทั้งหมดถูกลักพาตัวมา. ช่วงที่การค้าเฟื่องฟูที่สุดคือตอนปลายศตวรรษที่ 19 มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรชายวัยผู้ใหญ่บนเกาะบางเกาะในวานูอาตูทำงานอยู่นอกประเทศ. ส่วนใหญ่พวกเขาไม่ได้กลับบ้านอีกเลย. แค่ในออสเตรเลียเพียงแห่งเดียว มีชาวเกาะแปซิฟิกเกือบ 10,000 คนเสียชีวิต ส่วนใหญ่เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บ.
โรคที่มาจากชาวยุโรปยังสร้างความหายนะแก่หมู่เกาะวานูอาตูด้วย. ชาวเกาะแทบไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคหัด, อหิวาตกโรค, ไข้ทรพิษ, และโรคอื่น ๆ. หนังสืออ้างอิงเล่ม
หนึ่งกล่าวว่า “ไข้หวัดธรรมดาก็สามารถกวาดล้างประชากรจนหมดสิ้นได้.”มิชชันนารีของคริสต์ศาสนจักรมาถึงวานูอาตูในปี 1839 และถูกเชิญมาในงานเลี้ยงทันทีซึ่งหมายความว่าพวกเขาถูกกิน! มิชชันนารีรุ่นต่อ ๆ มาหลายคนก็พบจุดจบที่น่าเศร้าสลดเช่นเดียวกัน. อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปคริสตจักรโปรเตสแตนต์และคาทอลิกก็ตั้งมั่นได้ตลอดทั่วหมู่เกาะ. ทุกวันนี้ มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้อาศัยในวานูอาตูอ้างว่าตนเป็นสมาชิกของโบสถ์. ถึงกระนั้น นักเขียนชื่อพอล ราฟฟาเอเล กล่าวว่า “ชาวเกาะหลายคนยังคงนับถือหมอผีประจำหมู่บ้าน ใช้หินที่มีผีสิงทำพิธีเวทมนตร์ซึ่งสามารถทำเสน่ห์, ช่วยให้หมูอ้วนขึ้นหรือฆ่าศัตรูได้.”
นอกจากนี้ วานูอาตูเป็นหมู่เกาะหนึ่งที่มีลัทธิสินค้าที่คงอยู่ยาวนานที่สุด. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารสหรัฐห้าแสนคนเดินทางผ่านวานูอาตูเพื่อไปยังสมรภูมิรบในแปซิฟิก. ชาวเกาะตื่นตาตื่นใจกับทรัพย์สินมากมายมหาศาล หรือ “สินค้า” ที่พวกทหารนำมาด้วย. เมื่อสงครามจบลง ทหารอเมริกันได้แต่เก็บกระเป๋าและจากไป. วัสดุและอุปกรณ์เหลือใช้มูลค่าหลายล้านดอลลาร์ถูกทิ้งลงทะเล. กลุ่มศาสนาที่เรียกกันว่า ลัทธิสินค้า สร้างท่าเรือและลานบิน และทำการฝึกซ้อมโดยใช้อาวุธสงครามปลอม ๆ เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนกลับมาอีก. แม้แต่ในทุกวันนี้ ชาวบ้านหลายร้อยคนในเกาะทันนาก็ยังคงสวดอ้อนวอนถึงจอห์น ฟรัม “วิญญาณมาซีฮาชาวอเมริกัน” ซึ่งชาวบ้านอ้างว่าวันหนึ่งเขาจะกลับมาโดยนำสินค้าที่มีค่ามหาศาลมาให้พวกเขา.
ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ภาษาและประเพณีของประเทศที่เป็นเกาะแห่งนี้มีความหลากหลายอย่างน่าทึ่ง. หนังสือนำเที่ยวเล่มหนึ่งกล่าวว่า “วานูอาตูอ้างว่ามีสัดส่วนจำนวนภาษาที่ใช้พูดกันต่อจำนวนประชากรมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศในโลก.” มีภาษาอย่างน้อย 105 ภาษาและภาษาถิ่นอีกมากมายที่พูดกันตลอดทั้งหมู่เกาะนี้. บิสลามา ซึ่งเป็นภาษากลางของชาติ รวมทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสล้วนเป็นภาษาราชการ.
แต่ตลอดทั่วหมู่เกาะนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนกันหมด นั่นคือพิธีกรรมจะควบคุมวิถีชีวิตทุกแง่มุม. พิธีกรรมโบราณที่ทำเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในเกาะเพนเทคอสต์ถึงกับทำให้การกระโดดบันจีจัมป์เป็นสิ่งที่คลั่งไคล้กันไปทั่วโลก. ทุกปีเมื่อถึงช่วงการเก็บมันเทศ พวกผู้ชายและเด็กผู้ชายจะกระโดดลงมาจากหอไม้สูง 20 ถึง 30 เมตร. มีเพียงเถาวัลย์ยาว ๆ ที่มัดติดข้อเท้าของพวกเขาเท่านั้นที่ช่วยไม่ให้พวกเขาประสบความตายซึ่งคงจะเป็นเรื่องแน่นอนถ้าไม่มีอะไรยึดไว้. โดยใช้ศีรษะแตะพื้นดินเบา ๆ นักกระโดดเหล่านี้หวังจะทำให้แผ่นดิน “อุดมสมบูรณ์” เพื่อพืชผลในปีถัดไป.
ในเกาะมาเลคูลา ก็มีหมู่บ้านบางแห่งที่เพิ่งเปิดให้คนภายนอกเข้าไปได้ไม่กี่ปีมานี้เอง. เผ่าที่เรียกกันว่า นัมบาสใหญ่และนัมบาสน้อยอาศัยที่เกาะนี้. เมื่อก่อนคนในเผ่าเหล่านี้เคยเป็นมนุษย์กินคนที่ดุร้าย มีรายงานว่าพวกเขากินเหยื่อคนสุดท้ายเมื่อปี 1974. คล้ายกัน ธรรมเนียมของพวกเขาที่จะรัดศีรษะของทารกเพศชายให้แน่นจนทำให้หัวกะโหลกมีรูปยาวรีซึ่งว่ากันว่า “งาม” ก็เลิกไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน. ทุกวันนี้ ชาวเผ่านัมบาสมีนิสัยเป็นมิตรมากและเล่าเรื่องวัฒนธรรมของตนที่สืบทอดกันมาให้นักท่องเที่ยวฟัง.
ผู้คนในแดนอุทยาน
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาที่วานูอาตูเพื่อพักผ่อนช่วงสั้น ๆ. แต่พยานพระยะโฮวามาถึงที่นี่ประมาณ 70 ปีที่แล้วเพื่อช่วยผู้คนให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้า. ความพยายามของเหล่าพยานฯ ใน “ที่สุดปลายแผ่นดินโลก” นี้เกิดผลที่ดี. (กิจการ 1:8) (ดูกรอบ “จากผู้ติดคาวามาเป็นคริสเตียน.”) ในปี 2006 ประชาคมของพยานฯ ห้าประชาคมในประเทศนี้ได้ใช้เวลามากกว่า 80,000 ชั่วโมงในการแบ่งปันข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลเรื่องอุทยานบนแผ่นดินโลกที่กำลังใกล้เข้ามา. (ยะซายา 65:17-25) น่าดีใจ อุทยานที่จะมีมาในอนาคตจะขจัดความกดดันและความกังวลของชีวิตสมัยใหม่ออกไปอย่างถาวร!—วิวรณ์ 21:4.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในทะเลซึ่งกินพืชเป็นอาหาร. มันอาจโตขึ้นจนมีความยาวถึง 3.4 เมตรและหนักกว่า 400 กิโลกรัม.
^ วรรค 7 วานูอาตูถูกเรียกว่าหมู่เกาะนิวเฮบรีดีสก่อนจะได้รับเอกราชเมื่อปี 1980.
[กรอบ/ภาพหน้า 17]
หมู่เกาะแห่งความสุข
เมื่อปี 2006 วานูอาตูถูกจัดให้อยู่ในอันดับหนึ่งในดัชนีความสุขของโลก. ดัชนีนี้จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิเศรษฐกิจใหม่ สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในบริเตน ซึ่งได้จัดอันดับประเทศต่าง ๆ 178 ประเทศตามความสุขของชาติ, ความยืนยาวของชีวิต, และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม. หนังสือพิมพ์วานูอาตู เดลี โพสต์ กล่าวว่า “[วานูอาตู] ถูกจัดให้อยู่ในอันดับหนึ่งเพราะผู้คนที่นี่มีความสุข, มีอายุยืนจนถึงเกือบ 70 ปี และแทบไม่ได้ทำให้โลกเสียหายเลย.”
[รูปภาพ]
ชุดพื้นเมือง
[ที่มาของภาพ]
© Kirklandphotos.com
[กรอบ/ภาพหน้า 17]
จากผู้ติดคาวามาเป็นคริสเตียน
วิลลี ชาวเกาะเพนเทคอสต์คนหนึ่ง ดื่มคาวาอย่างหนักตั้งแต่เป็นวัยรุ่น. เครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เหมือนยากล่อมประสาทนี้หมักจากรากของต้นพริกไทยที่นำมาบด. ทุกคืน เขาจะเดินโซเซกลับบ้านเมื่อออกจากร้านขายคาวา. เขามีหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. เขามักจะก้าวร้าวและตบตีไอดาภรรยาของเขาบ่อย ๆ. ต่อมา เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาชวนวิลลีศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. วิลลีตอบรับ. ในตอนแรกไอดาไม่เห็นด้วยที่สามีศึกษา. แต่เมื่อความประพฤติของสามีเธอดีขึ้นเรื่อย ๆ เธอก็เปลี่ยนความคิดและเริ่มศึกษาด้วย. เขาทั้งสองคนก้าวหน้าอย่างดีในด้านความเชื่อ. ต่อมา วิลลีก็เลิกนิสัยเสพติดได้. เขากับไอดารับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวาในปี 1999.
[แผนที่หน้า 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
นิวซีแลนด์
ออสเตรเลีย
มหาสมุทรแปซิฟิก
ฟิจิ
[ภาพหน้า 16]
นักกระโดดทำสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งนี้เนื่องจากถือว่าเป็นส่วนของพิธีกรรมที่ทำเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์
[ที่มาของภาพ]
© Kirklandphotos.com
[ที่มาของภาพหน้า 15]
© Kirklandphotos.com
[ที่มาของภาพหน้า 15]
© Kirklandphotos.com
[ที่มาของภาพหน้า 16]
© Kirklandphotos.com