ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อินเดียนแดงแห่งบราซิลจวนจะสูญสิ้นแล้วไหม?

อินเดียนแดงแห่งบราซิลจวนจะสูญสิ้นแล้วไหม?

อินเดียน​แดง​แห่ง​บราซิล​จวน​จะ​สูญ​สิ้น​แล้ว​ไหม?

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บราซิล

อุทยาน​แห่ง​ชาติ​ชิง​กู​ตั้ง​อยู่​ใน​รัฐ​มาตูโกรสซู ประเทศ​บราซิล. อุทยาน​แห่ง​นี้​มี​พื้น​ที่​ประมาณ 27,000 ตาราง​กิโลเมตร หรือ​เกือบ​เท่า​กับ​ขนาด​ของ​ประเทศ​เบลเยียม. มี​ชาว​อินเดียน​แดง​ราว ๆ 3,600 คน​ใน 14 เผ่า​อาศัย​อยู่​ที่​นี่. ถ้า​ดู​จาก​ภาพ​ถ่าย​ดาว​เทียม อุทยาน​นี้​เป็น​เหมือน​เกาะ​อัน​เขียว​ขจี​ที่​ตั้ง​อยู่​กลาง “โต๊ะ​บิลเลียด​ขนาด​ยักษ์.” เนื่อง​จาก​ป่า​โดย​รอบ​ถ้า​ไม่​ถูก​เผา​จน​โล่ง​เตียน​เพื่อ​เปิด​ทาง​ให้​พวก​คน​ทำ​ไม้​เข้า​ไป​ตัด​ต้น​ไม้​ที่​มี​ราคา​สูง ก็​ถูก​หัก​ร้าง​ถาง​พง​จน​กลาย​เป็น​ทุ่ง​หญ้า​สำหรับ​เลี้ยง​ฝูง​ปศุสัตว์​ขนาด​ใหญ่.

ใน​ทศวรรษ 1960 รัฐบาล​บราซิล​เริ่ม​ก่อ​ตั้ง​เขต​สงวน​สำหรับ​ชาว​อินเดียน​แดง. ส่วน​ใหญ่​เขต​สงวน​เหล่า​นี้​อยู่​ใน​ภูมิภาค​แอมะซอน และ​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​ราว ๆ 12 เปอร์เซ็นต์​ของ​อาณา​เขต​ประเทศ​บราซิล. การ​ตั้ง​เขต​สงวน​เหล่า​นี้​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​น่า​ทึ่ง นั่น​คือ​ประชากร​อินเดียน​แดง​ใน​บราซิล​กลับ​มี​จำนวน​เพิ่ม​ขึ้น​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​รอบ 500 ปี! ประมาณ​กัน​ว่า​ตอน​นี้​มี​อินเดียน​แดง​อยู่​ราว ๆ สาม​แสน​คน​ใน​บราซิล. แต่​นั่น​ก็​เป็น​เพียง​เศษ​เสี้ยว​ของ​ประชากร​อินเดียน​แดง​ใน​ปี 1500 ซึ่ง​เคย​ประมาณ​กัน​ว่า​อยู่​ระหว่าง​สอง​ล้าน​ถึง​หก​ล้าน​คน.

นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า ใน​รอบ 500 ปี​ที่​ผ่าน​มา “ได้​เกิด​มี​โศกนาฏกรรม​ที่​น่า​สยดสยอง​ครั้ง​ใหญ่​ทาง​ด้าน​ประชากร.” อะไร​ทำ​ให้​ประชากร​อินเดียน​แดง​ลด​ลง​มาก​ถึง​ขนาด​นั้น? การ​เพิ่ม​จำนวน​ใน​ช่วง​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​แสดง​ว่า​ชาว​อินเดียน​แดง​แห่ง​บราซิล​รอด​พ้น​จาก​การ​สูญ​สิ้น​เผ่า​พันธุ์​แล้ว​ไหม?

การ​ยึด​ครอง​เป็น​อาณานิคม​เริ่ม​ต้น​อย่าง​ไร?

ช่วง 30 ปี​แรก​นับ​ตั้ง​แต่​ที่​โปรตุเกส​อ้าง​สิทธิ์​เหนือ​บราซิล​ใน​ปี 1500 ความ​สนใจ​ใน​อาณานิคม​แห่ง​นี้​รวม​จุด​อยู่​ที่​การ​ค้า​ไม้​บราซิล​วูด ไม้​เนื้อ​แข็ง​ชนิด​หนึ่ง​ซึ่ง​ใช้​ใน​การ​ผลิต​สี​ย้อม​สี​แดง. ชื่อ​ประเทศ​บราซิล​ได้​มา​จาก​ต้น​ไม้​ชนิด​นี้​เอง. ไม้​นี้​มี​ค่า​สูง​มาก​ใน​ยุโรป และ​ชาว​ยุโรป​นำ​ของ​กระจุกกระจิก​เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่​ไม่​มี​ราคา​ค่า​งวด​มา​แลก​เปลี่ยน​กับ​ไม้​บราซิล​วูด.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม จาก​นั้น​ไม่​นาน​ก็​มี​การ​ค้น​พบ​ว่า​ต้น​อ้อย​ที่​ใช้​ทำ​น้ำตาล​เติบโต​ได้​ดี​ใน​ภูมิอากาศ​ของ​บราซิล. แต่​เรื่อง​นี้​มี​ข้อ​เสีย​อย่าง​หนึ่ง. การ​ปลูก​อ้อย​เป็น​งาน​หนัก​ที่​ต้อง​ใช้​แรงงาน​มาก. แรงงาน​ทาส​จึง​เริ่ม​เป็น​ที่​ต้องการ​มาก​ขึ้น. และ​ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ก็​ไม่​ต้อง​ไป​เสาะ​หา​แรงงาน​ทาส​จาก​ที่​อื่น​ไกล! ชาว​อินเดียน​แดง​พื้นเมือง​ที่​มี​อยู่​เป็น​จำนวน​มาก​นั่น​เอง.

ความ​เป็น​ทาส​เกิด​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร?

ชาว​อินเดียน​แดง​คุ้น​เคย​กับ​การ​เกษตร​แบบ​พอ​มี​พอ​กิน. โดย​ทั่ว​ไป​พวก​ผู้​ชาย​จะ​ล่า​สัตว์​และ​หา​ปลา. พวก​ผู้​ชาย​จะ​เป็น​ผู้​ทำ​งาน​หนัก​ใน​การ​ถาง​ป่า. ส่วน​พวก​ผู้​หญิง​จะ​ทำ​การ​เพาะ​ปลูก, เก็บ​เกี่ยว, และ​ทำ​อาหาร. ผู้​คน​ใน​แวดวง​นัก​คิด​นัก​เขียน​แห่ง​ยุโรป​ชื่นชม​ชาว​อินเดียน​แดง​ที่​ไม่​สนใจ​ความ​มั่งคั่ง​ร่ำรวย​และ​ไม่​เป็น​คน​ละโมบ​โลภ​มาก. แต่​ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​อีก​หลาย​คน​กลับ​มอง​ว่า​ชาว​อินเดียน​แดง​เป็น​คน​เกียจ​คร้าน​ที่​สุด.

มี​การ​ชักชวน​ชาว​อินเดียน​แดง​เผ่า​ที่​เป็น​มิตร​ให้​ย้าย​เข้า​มา​อยู่​ใกล้ ๆ ชุมชน​ชาว​โปรตุเกส​เพื่อ​ไว้​ใช้​เป็น​แรงงาน​และ​เพื่อ​ปก​ป้อง​ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน. คณะ​เยสุอิต​และ​คณะ​ของ​ศาสนา​อื่น ๆ มัก​มี​ส่วน​สำคัญ​ใน​ขั้น​ตอน​นี้. พวก​เขา​ไม่​รู้​เลย​ว่า​การ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กัน​เช่น​นี้​จะ​นำ​ผล​ร้าย​มา​สู่​ชาว​อินเดียน​แดง​มาก​สัก​เพียง​ไร. แม้​ว่า​กฎหมาย​จะ​รับรอง​สิทธิ​ใน​ดินแดน​และ​เสรีภาพ​ของ​ชาว​อินเดียน​แดง แต่​ใน​ภาค​ปฏิบัติ​แล้ว​พวก​เขา​ถูก​บังคับ​ให้​ทำ​งาน​เยี่ยง​ทาส​แก่​ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน. ชาว​อินเดียน​แดง​แทบ​ไม่​เคย​ได้​รับ​ค่า​จ้าง​หรือ​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​เพาะ​ปลูก​ใน​ที่​ดิน​ของ​ตัว​เอง​เลย.

รัฐบาล​ภาย​ใต้​กษัตริย์​แห่ง​โปรตุเกส​พยายาม​จะ​สั่ง​ห้าม​การ​ใช้​แรงงาน​ทาส​แต่​ไม่​ประสบ​ผล​สำเร็จ. ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​มัก​จะ​หา​ช่อง​โหว่​ใน​กฎหมาย​ที่​สั่ง​ห้าม​การ​ใช้​แรงงาน​ทาส​ได้​เสมอ ๆ. โดย​ทั่ว​ไป ถือ​กัน​ว่า​เป็น​เรื่อง​ที่​ยอม​รับ​ได้​ทาง​ศีลธรรม​ที่​จะ​จับ​ตัว​ชาว​อินเดียน​แดง​ที่​ว่า​กัน​ว่า​เป็น​พวก​ศัตรู โดย​จับ​ตัว​พวก​เขา​มา​จาก “สงคราม​ที่​ชอบธรรม” เพื่อ​ใช้​เป็น​ทาส​หรือ​นำ​ไป​ขาย​เป็น​ทาส. นอก​จาก​นี้ สามารถ​ซื้อ​หรือ “ไถ่” เชลย​ชาว​อินเดียน​แดง​ที่​ถูก​เผ่า​อื่น​จับ​ตัว​ไว้​ได้​เพื่อ​เอา​ไว้​ใช้​เป็น​ทาส​ด้วย.

ใน​ที่​สุด​แล้ว อุตสาหกรรม​น้ำตาล​ก็​ทำ​ให้​พอ​เห็น​ทาง​ที่​อาณานิคม​จะ​ให้​ผล​ตอบ​แทน​ที่​คุ้มค่า. และ​อุตสาหกรรม​น้ำตาล​ใน​สมัย​นั้น​ก็​ต้อง​พึ่ง​อาศัย​แรงงาน​ทาส. ดัง​นั้น รัฐบาล​ของ​กษัตริย์​แห่ง​โปรตุเกส​จึง​จำ​ใจ​ต้อง​ฝืน​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​ตน​เพื่อ​รับ​ทรัพย์​เข้า​คลัง.

นัก​ล่า​อาณานิคม​ต่อ​สู้​กัน—โปรตุเกส​ปะทะ​ฝรั่งเศส​และ​ฮอลแลนด์

ชาว​อินเดียน​แดง​เป็น​ผู้​ที่​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​มาก​ที่​สุด​จาก​การ​ที่​เหล่า​ประเทศ​นัก​ล่า​อาณานิคม​ต่อ​สู้​กัน. พวก​ฝรั่งเศส​และ​พวก​ดัตช์​พยายาม​จะ​แย่ง​ชิง​บราซิล​จาก​เงื้อม​มือ​ของ​โปรตุเกส. พวก​เขา​แข่งขัน​กับ​พวก​โปรตุเกส​เพื่อ​จะ​ให้​ชาว​อินเดียน​แดง​มา​ช่วย​ฝ่าย​ของ​ตน. ชาว​อินเดียน​แดง​มอง​ไม่​เห็น​ว่า​เจตนา​ที่​แท้​จริง​ของ​ชาว​ต่าง​ชาติ​พวก​นี้​คือ​จะ​ยึด​ครอง​ดินแดน​ของ​ตน. แต่​พวก​เขา​กลับ​ถือ​ว่า​การ​ต่อ​สู้​กัน​นี้​เป็น​โอกาส​ที่​จะ​แก้แค้น​ศัตรู​ของ​ตน​เอง ซึ่ง​ก็​คือ​ชาว​อินเดียน​แดง​เผ่า​อื่น ๆ และ​ด้วย​เหตุ​นี้​พวก​เขา​จึง​เต็ม​ใจ​เข้า​ร่วม​ใน​การ​ต่อ​สู้​ระหว่าง​ชาว​ต่าง​ชาติ.

ตัว​อย่าง​เช่น ใน​วัน​ที่ 10 พฤศจิกายน 1555 นีโกลา เดอ วีย์เกญยง ชาว​ฝรั่งเศส​ผู้​สูง​ศักดิ์​คน​หนึ่ง ได้​ขึ้น​ฝั่ง​ที่​อ่าว​กัวนาบารา (ปัจจุบัน​คือ​รี​โอ​เด​จา​เนโร) และ​สร้าง​ป้อม​ปราการ​ขึ้น​ที่​นั่น. เขา​สร้าง​พันธมิตร​กับ​อินเดียน​แดง​เผ่า ตาโมโย ใน​ท้องถิ่น. พวก​โปรตุเกส​ได้​พา​เผ่า ตูปีนัมบา มา​จาก​บาเยีย​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​โจมตี​ป้อม​ปราการ​ที่​ดู​เหมือน​จะ​เจาะ​ทำลาย​ไม่​ได้​นั้น​ใน​เดือน​มีนาคม 1560. พวก​ฝรั่งเศส​หนี​ไป​แต่​ยัง​คง​ค้า​ขาย​กับ​เผ่า​ตาโมโย​ต่อ​ไป​และ​ปลุก​เร้า​พวก​เขา​ให้​โจมตี​พวก​โปรตุเกส. หลัง​จาก​สู้​กัน​หลาย​ครั้ง ใน​ที่​สุด​เผ่า​ตาโมโย​ก็​พ่าย​แพ้. มี​รายงาน​ว่า​ใน​การ​สู้​รบ​ครั้ง​หนึ่ง มี​ถึง 10,000 คน​ถูก​ฆ่า​และ 20,000 คน​ถูก​จับ​เป็น​ทาส.

โรค​ที่​น่า​รังเกียจ​จาก​ยุโรป

ชน​พื้นเมือง​ที่​ได้​ติด​ต่อ​กับ​ชาว​โปรตุเกส​เป็น​ครั้ง​แรก​ดู​เหมือน​เป็น​คน​ที่​มี​สุขภาพ​แข็งแรง​มาก. นัก​สำรวจ​รุ่น​แรก​เชื่อ​กัน​ว่า​ชาว​อินเดียน​แดง​ที่​สูง​อายุ​หลาย​คน​มี​อายุ​เกิน​หนึ่ง​ร้อย​ปี. แต่​ชาว​อินเดียน​แดง​ไม่​มี​ภูมิ​คุ้ม​กัน​โรค​ที่​มา​จาก​ยุโรป​และ​แอฟริกา. เรื่อง​นี้​อาจ​เป็น​ปัจจัย​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ซึ่ง​ทำ​ให้​พวก​เขา​เกือบ​สูญ​สิ้น​เผ่า​พันธุ์.

ประวัติ​บันทึก​ของ​ชาว​โปรตุเกส​เต็ม​ไป​ด้วย​เรื่อง​ราว​อัน​น่า​กลัว​ของ​โรค​ระบาด​ซึ่ง​ทำ​ให้​ประชากร​อินเดียน​แดง​ลด​ลง​อย่าง​น่า​ใจ​หาย. ใน​ปี 1561 โรค​ฝี​ดาษ​ระบาด​ใน​โปรตุเกส​และ​แพร่​ข้าม​มหาสมุทร​แอตแลนติก​มา​ที่​บราซิล. ผล​คือ​ความ​หายนะ. ลีโอนาร์โด โด เวเล แห่ง​คณะ​เยสุอิต เขียน​ใน​จดหมาย​ลง​วัน​ที่ 12 พฤษภาคม 1563 ซึ่ง​พรรณนา​ความ​น่า​สยดสยอง​ของ​โรค​ระบาด​ใน​บราซิล​เอา​ไว้​ว่า “โรค​นี้​เป็น​โรค​ฝี​ดาษ​ชนิด​หนึ่ง​ที่​น่า​รังเกียจ​และ​เหม็น​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​ไม่​มี​ใคร​ทน​กลิ่น​ที่​โชย​ออก​มา​จาก [ตัว​ผู้​ป่วย] ได้. เพราะ​เหตุ​นี้ หลาย​คน​จึง​ตาย​ไป​โดย​ไม่​มี​ใคร​เหลียว​แล เพราะ​ถูก​กัด​กิน​จาก​หนอน​ที่​เติบโต​ใน​แผล​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ใน​ร่าง​กาย​ของ​ตน​เอง​ซึ่ง​มี​จำนวน​มาก​มาย​และ​มี​ขนาด​ใหญ่​มาก​จน​ทำ​ให้​ผู้​ที่​พบ​เห็น​ต้อง​ตกตะลึง​และ​รู้สึก​สยดสยอง.”

การ​แต่งงาน​ต่าง​เชื้อชาติ​ทำ​ให้​พวก​เยสุอิต​ตกตะลึง

การ​แต่งงาน​ต่าง​เชื้อชาติ​ก็​ทำ​ให้​อินเดียน​แดง​หลาย​เผ่า​สูญ​สิ้น​ไป. หนังสือ​ทองคำ​แดง—การ​พิชิต​ชาว​อินเดียน​แดง​แห่ง​บราซิล (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ทั้ง​ชาว​โปรตุเกส​และ​ชาว​พื้นเมือง​ใน​บราซิล​ต่าง​ก็​ไม่​รังเกียจ​การ​แต่งงาน​กับ​คน​ต่าง​เชื้อชาติ.” ชาว​อินเดียน​แดง​ถือ​ว่า​เป็น​การ​แสดง​น้ำใจ​ไมตรี​ที่​จะ​เสนอ​ผู้​หญิง​ให้​กับ​คน​แปลก​หน้า บ่อย​ครั้ง​เป็น​ลูก​สาว​ของ​ตน​เอง. เมื่อ​พวก​เยสุอิต​มา​ถึง​บราซิล​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1549 พวก​เขา​ตกตะลึง​กับ​สิ่ง​ที่​เห็น. มา​นูเวล ดา นูเบรกา ซึ่ง​เป็น​สมาชิก​คณะ​เยสุอิต​คน​หนึ่ง โอด​ครวญ​ว่า “พวก​เขา [พวก​นัก​เทศน์] บอก​พวก​ผู้​ชาย​ว่า​ไม่​ผิด​ที่​จะ​อยู่​กิน​ใน​ความ​บาป​กับ​ผู้​หญิง​ผิว​สี​ที่​ตน​เป็น​เจ้าของ . . . พวก​ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ใช้ [ทาส] ที่​เป็น​ผู้​หญิง​ชาว​อินเดียน​แดง​ทุก​คน​เป็น​นาง​บำเรอ.” มี​ผู้​ทูล​กษัตริย์​แห่ง​โปรตุเกส​ว่า ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ชาว​โปรตุเกส​คน​หนึ่ง ‘มี​ลูก, หลาน, เหลน, และ​ผู้​สืบ​เชื้อ​สาย​มาก​เสีย​จน [ผู้​พูด​บอก​ว่า] ข้าพเจ้า​ไม่​กล้า​จะ​ทูล​ฝ่า​บาท​ว่า​มี​มาก​เท่า​ไร.’

พอ​ถึง​กลาง​ศตวรรษ​ที่ 17 ชาว​อินเดียน​แดง​ซึ่ง​เคย​มี​อยู่​มาก​มาย​ใน​ที่​ราบ​ชายฝั่ง​ของ​บราซิล​ถ้า​ไม่​ตาย​ก็​ถูก​จับ​เป็น​ทาส​หรือ​ถูก​กลืน​เนื่อง​จาก​การ​แต่งงาน​กับ​คน​ต่าง​เชื้อชาติ. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน​เหตุ​การณ์​ทำนอง​เดียว​กัน​ก็​เกิด​ขึ้น​กับ​อินเดียน​แดง​แถบ​แอมะซอน.

ไม่​นาน​หลัง​จาก​ชาว​โปรตุเกส​เข้า​มา​ใน​แอมะซอน​ก็​เกิด​มี “ฤดู​ล่า” คน​พื้นเมือง​ที่​อาศัย​ใน​เขต​แอมะซอน​ตอน​ล่าง​อย่าง​ที่​แทบ​จะ​ไม่​มี​การ​ควบคุม. ตาม​คำ​กล่าว​ของ​มานูเอล เท​เช​รา อุป​สังฆราช​แห่ง​มา​รัน​เยา ภาย​ใน​ไม่​กี่​สิบ​ปี พวก​โปรตุเกส​สังหาร​ชาว​อินเดียน​แดง​ใน​มา​รัน​เยา​และ​ปา​รา​ไป​เกือบ​สอง​ล้าน​คน! ตัว​เลข​นี้​อาจ​จะ​เกิน​จริง​ไป​บ้าง แต่​การ​กวาด​ล้าง​และ​ความ​ทุกข์​ทรมาน​เป็น​เรื่อง​จริง​แน่นอน. ต่อ​มา​แอมะซอน​ตอน​บน​ก็​เผชิญ​การ​กวาด​ล้าง​เช่น​เดียว​กัน. พอ​ถึง​กลาง​ศตวรรษ​ที่ 18 ภูมิภาค​แอมะซอน ยก​เว้น​เขต​โดด​เดี่ยว​บาง​พื้น​ที่ ได้​สูญ​เสีย​ประชากร​อินเดียน​แดง​พื้นเมือง​ไป​เกือบ​ทั้ง​หมด.

การ​ปรับ​ปรุง​พัฒนา​พื้น​ที่​อัน​ห่าง​ไกล​หลาย​ส่วน​ใน​ภูมิภาค​แอมะซอน​ช่วง​ปลาย​ศตวรรษ​ที่ 19 และ​ศตวรรษ​ที่ 20 ค่อย ๆ เปิด​โอกาส​ให้​คน​ผิว​ขาว​ได้​ติด​ต่อ​สัมพันธ์​กับ​อินเดียน​แดง​เผ่า​ต่าง ๆ ที่​ยัง​เหลือ​รอด​อยู่. การ​ค้น​พบ​ของ​ชาลส์ กู๊ดเยียร์​เรื่อง​กระบวนการ​วัลคะไนส์​ยาง​เมื่อ​ปี 1839 และ​การ​คิด​ค้น​ยาง​รถยนต์​หลัง​จาก​นั้น​ทำ​ให้​มี​การ​อพยพ​ครั้ง​ใหญ่​เพื่อ​หา​ประโยชน์​จาก​ยาง. พวก​พ่อค้า​พา​กัน​หลั่งไหล​ไป​ใน​ภูมิภาค​แอมะซอน​ซึ่ง​เป็น​แหล่ง​ผลิต​ยาง​ดิบ​เพียง​แห่ง​เดียว. นี่​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​ขึ้น​ชื่อ​ใน​เรื่อง​ความ​รุนแรง​ของ​การ​แสวง​ประโยชน์​จาก​ชน​พื้นเมือง ซึ่ง​ทำ​ให้​จำนวน​ของ​คน​เหล่า​นี้​ลด​ลง​อย่าง​ฮวบฮาบ.

ศตวรรษ​ที่ 20 ส่ง​ผล​ต่อ​ชาว​อินเดียน​แดง​อย่าง​ไร?

ใน​ปี 1970 รัฐบาล​บราซิล​ตัดสิน​ใจ​จะ​ใช้​แผนการ​รวม​ประเทศ​ให้​เป็น​หนึ่ง​เดียว​ซึ่ง​รวม​ไป​ถึง​การ​สร้าง​ถนน​หลวง​เชื่อม​ต่อ​ไป​ยัง​ส่วน​ที่​อยู่​ห่าง​ไกล​ของ​แอมะซอน. ถนน​หลาย​สาย​ตัด​ผ่าน​ดินแดน​ของ​ชาว​อินเดียน​แดง​และ​ไม่​เพียง​แต่​ทำ​ให้​พวก​เขา​เสี่ยง​ต่อ​การ​ถูก​โจมตี​จาก​ผู้​แสวง​หา​ประโยชน์​เท่า​นั้น แต่​ยัง​เสี่ยง​ที่​จะ​ติด​โรค​ที่​ทำ​ให้​ถึง​ตาย​ด้วย.

ตัว​อย่าง​เช่น ขอ​คิด​ถึง​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​ชน​เผ่า​ปา​นา​ราส. เผ่า​นี้​กลับ​ลด​จำนวน​ลง​อย่าง​ฮวบฮาบ​เนื่อง​จาก​สงคราม​และ​การ​ถูก​จับ​ตัว​ไป​เป็น​ทาส​ใน​ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 18 และ 19. คน​ใน​เผ่า​นี้​ที่​เหลือ​รอด​อยู่​เพียง​จำนวน​เล็ก​น้อย​ได้​หนี​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ เข้า​ไป​ใน​ป่า​ลึก​ของ​รัฐ​มาตูโกรสซู. จาก​นั้น​ทาง​หลวง​สาย​กุยาบา-ซานตาเรม​ก็​ตัด​ผ่าน​กลาง​เขต​แดน​ของ​พวก​เขา.

การ​ติด​ต่อ​กับ​คน​ผิว​ขาว​ทำ​ให้​หลาย​คน​ต้อง​ตาย​ไป. ใน​ปี 1975 คน​เผ่า​นี้​ซึ่ง​เคย​มี​จำนวน​มาก​มาย​ก็​เหลือ​อยู่​เพียง 80 คน. มี​การ​อพยพ​คน​เผ่า​ปา​นา​ราส​ไป​อยู่​ใน​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​ชิง​กู. ภาย​ใน​อุทยาน​แห่ง​นั้น​พวก​เขา​พยายาม​เสาะ​หา​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​มี​ลักษณะ​คล้าย​กัน​กับ​ป่า​ใน​ถิ่น​กำเนิด​ของ​ตน แต่​ก็​ไม่​พบ. แล้ว​เผ่า​ปา​นา​ราส​จึง​ตัดสิน​ใจ​กลับ​ไป​ยัง​บ้าน​เกิด​ของ​ตน​เอง. ใน​วัน​ที่ 1 พฤศจิกายน 1996 รัฐมนตรี​ยุติธรรม​ของ​บราซิล​ประกาศ​ให้​พื้น​ที่ 4,950 ตาราง​กิโลเมตร​เป็น “สมบัติ​ของ​คน​พื้นเมือง​อย่าง​ถาวร.” ดู​เหมือน​ว่า​เผ่า​ปา​นา​ราส​ได้​รับ​การ​ช่วย​ให้​รอด​พ้น​การ​สูญ​สิ้น​ไป​ได้.

อนาคต​ของ​พวก​เขา​จะ​ดี​กว่า​นี้​ไหม?

เขต​สงวน​จะ​ช่วย​ชน​เผ่า​อินเดียน​แดง​ที่​เหลือ​อยู่​ให้​รอด​พ้น​จาก​การ​สูญ​สิ้น​ไหม? ใน​ปัจจุบัน การ​สูญ​สิ้น​ของ​ชน​เผ่า​อินเดียน​แดง​ใน​บราซิล​ดู​เหมือน​ไม่​น่า​จะ​เกิด​ขึ้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม บ่อย​ครั้ง​ดินแดน​ของ​พวก​เขา​มี​แหล่ง​ทรัพยากร​ธรรมชาติ​อัน​มี​ค่า​อยู่​มาก. มี​การ​คำนวณ​ว่า​แร่​ต่าง ๆ รวม​ทั้ง​ทองคำ, แพลทินัม, เพชร, เหล็ก​และ​ตะกั่ว ซึ่ง​มี​มูลค่า​ราว ๆ หนึ่ง​ล้าน​ล้าน​ดอลลาร์​สหรัฐ (ประมาณ 35 ล้าน​ล้าน​บาท) ซ่อน​อยู่​ใต้​ดิน​ใน​เขต​ที่​เรียก​กัน​ว่า ลีกัลแอมะซอเนีย ซึ่ง​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​เก้า​รัฐ​ทาง​เหนือ​และ​ตอน​กลาง​ของ​ภาค​ตะวัน​ตก​ของ​บราซิล. ดินแดน​ของ​ชาว​อินเดียน​แดง​ประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์​อยู่​ใน​ภูมิภาค​นี้. การ​ขุด​หา​แร่​อย่าง​ผิด​กฎหมาย​เกิด​ขึ้น​แล้ว​ใน​เขต​แดน​บาง​ส่วน​ของ​พวก​อินเดียน​แดง.

ประวัติศาสตร์​แสดง​ว่า​ชาว​อินเดียน​แดง​มัก​จะ​เสีย​เปรียบ​อยู่​เสมอ ๆ เมื่อ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คน​ผิว​ขาว. พวก​เขา​ยอม​แลก​ทองคำ​กับ​กระจกเงา​และ​แลก​ไม้​บราซิล​วูด​กับ​ของ​เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่​ไม่​มี​ราคา และ​พวก​เขา​ต้อง​หนี​เข้า​ป่า​ไป​ยัง​พื้น​ที่​อัน​ห่าง​ไกล​เพื่อ​จะ​ไม่​ถูก​จับ​ตัว​ไป​เป็น​ทาส. ประวัติศาสตร์​จะ​ซ้ำ​รอย​อีก​ไหม?

ชาว​อินเดียน​แดง​หลาย​คน​ได้​เรียน​วิธี​ใช้​เครื่อง​มือ​เครื่อง​ไม้​ต่าง ๆ ใน​ยุค​แห่ง​เทคโนโลยี​นี้ เช่น เครื่องบิน, เรือ​ยนต์, และ​โทรศัพท์​มือ​ถือ. แต่​เวลา​เท่า​นั้น​ที่​จะ​บอก​ได้​ว่า​พวก​เขา​สามารถ​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​ของ​ศตวรรษ​ที่ 21 นี้​ได้​หรือ​ไม่.

[แผนที่​หน้า 15]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

■ อุทยาน​แห่ง​ชาติ​ชิงกู

□ เขต​สงวน​อินเดียน​แดง

บราซิล

บราซิเลีย

รีโอเดจาเนโร

เฟรนช์เกียนา

ซูรินาเม

กายอานา

เวเนซุเอลา

โคลัมเบีย

เอกวาดอร์

เปรู

โบลิเวีย

ปารากวัย

อุรุกวัย

[ภาพ​หน้า 15]

พวก​พ่อค้า​แสวง​หา​ประโยชน์​จาก​ชาว​อินเดียน​แดง​โดย​จับ​ตัว​ไป​เป็น​ทาส​ใน​ไร่​ยาง​ของ​ตน

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Jacques Jangoux/Peter Arnold, Inc.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 12]

Line drawing and design: From the book Brazil and the Brazilians, 1857