“เครื่องจักรทำลายล้าง” ที่เล็งเห็นล่วงหน้า
“เครื่องจักรทำลายล้าง” ที่เล็งเห็นล่วงหน้า
“ความฉลาดอันชั่วร้ายของมนุษย์มักจะพยายามหาวิธีใช้ความสามารถของตนเพื่อจับเพื่อนมนุษย์มาเป็นทาส, ทำลายหรือฉ้อโกงเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง.”—โฮเรส วอลโพล นักเขียนชาวอังกฤษแห่งศตวรรษที่ 18.
การบินทำคุณประโยชน์มากมายให้แก่มนุษยชาติ. กระนั้น ถ้อยคำข้างต้นของโฮเรส วอลโพล เป็นจริงสักเพียงไร! แม้แต่ก่อนที่มนุษย์จะสามารถสร้างเครื่องจักรที่บินได้ มนุษย์ก็ได้คิดหาวิธีต่าง ๆ ที่จะใช้เครื่องบินเพื่อเป็นอาวุธสงคราม.
ในปี 1670 มากกว่า 100 ปีก่อนจะมีการบินโดยใช้บอลลูนที่มีคนบังคับเป็นครั้งแรก ฟรานเชสโก ลานา ชาวอิตาลีแห่งคณะเยสุอิตกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ “พระเจ้าจะไม่มีวันยอมให้มีการสร้างเครื่องจักรอย่าง [เรือบิน] ขึ้นมาได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหลายสิ่งหลายอย่างที่จะรบกวนระบบการเมืองการปกครองของมนุษย์.” อย่างไรก็ตาม เขาสามารถคาดการณ์บางอย่างล่วงหน้าได้ จึงกล่าวเสริมว่า “เพราะใครเล่าจะไม่ตระหนักว่าจะไม่มีเมืองใดปลอดภัยจากการโจมตีแบบจู่โจม โดยที่เรือบินอาจปรากฏขึ้นในเวลาใดก็ได้เหนือจัตุรัสกลางเมืองพอดีและส่งลูกเรือลงไว้ที่นั่น? สิ่งเดียวกันอาจเกิดขึ้นในลานบ้านส่วนตัวและบนเรือที่กำลังแล่นข้ามมหาสมุทร . . . แม้แต่จะไม่ลงจอด เรือบินก็อาจโยนเหล็กลงมาซึ่งจะทำให้เรือจมและมีคนเสียชีวิต และอาจเผาเรือนั้นด้วยไฟและลูกระเบิด.”
ในที่สุดเมื่อมีการคิดค้นบอลลูนลมร้อนและบอลลูนไฮโดรเจนขึ้นในตอนปลายศตวรรษที่ 18 วอลโพลกลัวว่าภายในเวลาไม่นานบอลลูนนั้นจะกลายมาเป็น “เครื่องจักรที่ใช้ทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์.” ผลปรากฏว่า ตอนสิ้นปี 1794 บอลลูนไฮโดรเจนถูกใช้โดยนายพลแห่งกองทัพฝรั่งเศสเพื่อสอดแนมหลังแนวรบของข้าศึกและชี้นำการเคลื่อนพลได้. มีการใช้บอลลูนในสงครามกลางเมืองอเมริกันและสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซียในทศวรรษ 1870. และระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้งในศตวรรษที่ผ่านมา มีการใช้บอลลูนเป็นจำนวนมากโดยกองทัพอเมริกัน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, และเยอรมันเพื่อการลาดตระเวน.
บอลลูนกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้สังหารผู้คนในสงครามโลกครั้งที่ 2 จริง ๆ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นส่งบอลลูนที่ไม่มีคนบังคับซึ่งบรรทุกระเบิดมากถึง 9,000 ลูกให้ลอยไปทางสหรัฐ. มีบอลลูนมากกว่า 280 ลูกที่บรรทุกระเบิดอยู่ได้ลอยไปถึงอเมริกาเหนือ.
เรือบินรบดังที่คาดไว้
ตั้งแต่มีการคิดค้นเครื่องบินได้ เครื่องบินก็เช่นกันที่ถูกมองว่าอาจใช้เป็นเครื่องจักรเพื่อทำสงคราม. อะเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ กล่าวในปี 1907 ว่า “มีเพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าอเมริกาจวนจะแก้ปัญหาข้อหนึ่งได้แล้วซึ่งจะช่วยปฏิรูปการทำสงครามตลอดทั่วโลกได้มากทีเดียว—ข้าพเจ้าหมายถึงการสร้างเรือบินรบที่ใช้งานได้จริง.” ในปีเดียวกันนั้น หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ยกคำพูดของนักบอลลูนชื่อนาวาเอกโทมัส ที. เลิฟเลซ ขึ้นมาที่ว่า “ภาย
ในเวลาสองถึงห้าปี ชาติใหญ่ ๆ ทุกชาติจะมีเรือบินสำหรับทำสงครามและเครื่องทำลายเรือบินเช่นเดียวกับที่ตอนนี้พวกเขามีเรือตอร์ปิโดและเครื่องทำลายเรือตอร์ปิโด.”เพียงสามเดือนต่อมา สองพี่น้องตระกูลไรต์ได้รับสัญญาจากกรมสื่อสารทหารแห่งสหรัฐให้สร้างเครื่องบินลำแรกให้กองทัพ. บทความในหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ฉบับวันที่ 13 กันยายน 1908 อธิบายเรื่องที่กองทัพสนใจเครื่องบินดังนี้: “เครื่องบินสามารถหย่อนลูกระเบิดลงในปล่องควันของเรือรบ ซึ่งจะทำความเสียหายอย่างหนักแก่เครื่องจักรและทำลายเรือทั้งลำโดยทำให้หม้อต้มน้ำในเรือระเบิด.”
สมจริงตามคำกล่าวของเบลล์ เครื่องบินได้ “ปฏิรูปการทำสงครามตลอดทั่วโลก.” พอถึงปี 1915 ผู้ผลิตเครื่องบินได้พัฒนาปืนกลที่ชี้ไปข้างหน้าซึ่งตั้งให้ยิงลอดใบพัดเครื่องบินออกไปตามจังหวะการหมุนของใบพัด. ต่อมาไม่นาน นอกจากเครื่องบินขับไล่แล้วก็มีเครื่องบินทิ้งระเบิด ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นและทรงพลังมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถึงสงครามโลกครั้งที่ 2. ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 บี-29 ปราการลอยฟ้า ได้ทิ้งลูกระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ใช้ในการสงคราม ทำลายล้างเมืองฮิโรชิมาในญี่ปุ่นจนราบเรียบและสังหารผู้คนไป 100,000 คน.
เพียงสองปีก่อนหน้านั้น ในปี 1943 ออร์วิลล์ ไรต์ ได้กล่าวไว้เป็นการส่วนตัวว่าเขาเสียใจที่เครื่องบินถูกประดิษฐ์ขึ้นมา. เขากล่าวว่าในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้งเครื่องบินได้กลายมาเป็นอาวุธที่ร้ายกาจ. ตั้งแต่นั้นมา เมื่อมีการผลิตจรวดนำวิถีด้วยเลเซอร์และระเบิดสมาร์ตบอมบ์ ความร้ายแรงของมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะ ‘ชาติลุกขึ้นต่อสู้ชาติ.’—มัดธาย 24:7, ล.ม.
[ภาพหน้า 22, 23]
1. บอลลูนที่ไม่มีคนบังคับซึ่งใช้บรรทุกระเบิด
2. บอลลูนป้องกัน
[ที่มาของภาพ]
Library of Congress, Prints & Photographs Division, FSA/OWI Collection, LC-USE6-D-004722
3. บี-29 ปราการลอยฟ้า
[ที่มาของภาพ]
USAF photo
4. เครื่องบินขับไล่โจมตีเอฟ/เอ-18ซี ฮอร์เน็ต
5. เอฟ-117เอ เครื่องบินขับไล่ไนต์ฮอว์กสเตลท์
[ที่มาของภาพ]
U.S. Department of Defense