คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร?
คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร?
บางคนมองว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ เนื่องจากพระคัมภีร์บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าปฏิบัติต่อมนุษยชาติไว้หลายพันปี. ส่วนบางคนถือว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือเกี่ยวกับจริยธรรม. พวกเขาชี้ว่าพระคัมภีร์เป็นบันทึกเกี่ยวกับกฎหมายและข้อบัญญัติต่าง ๆ มากกว่า 600 ข้อในเรื่องการพิพากษา, ครอบครัว, ศีลธรรม, และศาสนาที่พระเจ้าประทานให้แก่ชาติอิสราเอล. ในขณะที่บางคนถือว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่ให้การชี้นำทางฝ่ายวิญญาณซึ่งได้เปิดเผยพระทัยประสงค์ของพระเจ้า.
ที่จริง คำพรรณนาทั้งหมดนี้ถูกต้อง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและมีประโยชน์เพื่อการสอน การว่ากล่าว การจัดการเรื่องราวให้ถูกต้อง การตีสอนด้วยความชอบธรรม เพื่อคนของพระเจ้าจะมีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกเตรียมไว้พร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.” (2 ติโมเธียว 3:16, 17) จริงทีเดียว ทุกเรื่องในพระคำของพระเจ้า รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์, กฎหมาย, และคำแนะนำทางฝ่ายวิญญาณ ล้วนมีคุณค่าทั้งสิ้น.
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เป็นแค่ข้อมูลฉบับรวมเล่มที่มีประโยชน์. เฉพาะคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้นที่เป็นเรื่องราวซึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าทรงเปิดเผย. พระคัมภีร์ให้คำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าซึ่งใช้ได้ผลสำหรับการดำเนินชีวิต. นอกจากนี้พระคัมภีร์ยังเปิดเผยพระประสงค์ของพระยะโฮวาสำหรับแผ่นดินโลกและมนุษยชาติ อีกทั้งวิธีที่พระเจ้าจะขจัดสาเหตุแห่งความทุกข์ของมนุษย์ให้หมดไป. ที่สำคัญยิ่ง คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่ามีการจงใจบิดเบือนอย่างผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้า และบอกวิธีที่พระองค์จะจัดการประเด็นสากลนี้.
พระเจ้าถูกเรียกว่าผู้มุสาและผู้ปกครองที่ไม่ดี
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระเจ้าสร้างอาดามและฮาวามนุษย์คู่แรกให้เป็นคนสมบูรณ์ทั้งจิตใจและร่างกาย และให้พวกเขาอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีเยี่ยม. พระองค์มอบหมายให้พวกเขาดูแลแผ่นดินโลกและอาณาจักรสัตว์. (เยเนซิศ 1:28) ฐานะบุตรของพระเจ้า อาดามและฮาวามีโอกาสที่จะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก โดยพวกเขาจะต้องเชื่อฟังพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพวกเขา. พระองค์วางกฎข้อเดียวเท่านั้นแก่พวกเขา. พระยะโฮวาตรัสว่า “บรรดาผลไม้ทุกอย่างในสวนนี้เจ้ากินได้ทั้งหมด; เว้นแต่ต้นไม้ที่ให้รู้ความดีและชั่วผลของต้นนั้นเจ้าอย่ากินเป็นอันขาด; ถ้าเจ้าขืนกินในวันใด, เจ้าจะตายในวันนั้นเป็นแน่.”—เยเนซิศ 2:16, 17.
อย่างไรก็ตาม กายวิญญาณที่คัมภีร์ไบเบิลระบุว่าเป็นซาตานพญามารกลับพูดตรงกันข้ามโดยบอกว่า “เจ้าจะไม่ตายจริงดอก.” (เยเนซิศ 3:1-5) โดยขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับพระเจ้า ซาตานไม่เพียงแต่กล่าวหาว่าพระผู้สร้างตรัสมุสา แต่ยังบอกเป็นนัย ๆ ว่าแนวทางการปกครองของพระองค์นั้นผิด มนุษย์สามารถทำได้ดีกว่านี้โดยไม่ต้องพึ่งอาศัยพระเจ้า. ซาตานทำให้ฮาวาเชื่อว่าการไม่เชื่อฟังพระเจ้าจะทำให้เธอมีเสรีภาพและตัดสินได้เองในเรื่องศีลธรรม. ซาตานบอกว่าเธอจะ “เป็นเหมือนพระเจ้า”! ซาตานจึงโจมตีชื่อเสียงและพระประสงค์ของพระยะโฮวา.
การสนทนากันในครั้งนั้นก่อผลเสียหายใหญ่หลวง. ที่จริง พระประสงค์ของพระยะโฮวาที่จะลบล้างคำตำหนิออกจากพระนามและชื่อเสียงของพระองค์เป็นอรรถบทหรือใจความสำคัญในคัมภีร์ไบเบิล. เรื่องนี้มีสรุปในคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซู ซึ่งมักจะเรียกกันว่าคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้า. พระเยซูสอนเหล่าสาวกของพระองค์ให้อธิษฐานดังนี้: “ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลก.”—มัดธาย 6:9, 10.
วิธีที่พระเจ้าทำให้พระนามพ้นจากคำตำหนิ
ซาตานยกประเด็นพื้นฐานบางประเด็นขึ้นมา นั่นคือ ใครกันแน่ที่พูดความจริง—พระยะโฮวาหรือซาตาน? การปกครองของพระยะโฮวาเหนือสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงสร้างขึ้นนั้นยุติธรรมและดีพร้อมไหม? พระองค์มีสิทธิที่จะคาดหมายการเชื่อฟังจากมนุษย์ไหม? สภาพการณ์ของมนุษยชาติจะดีกว่าถ้าพวกเขาปกครองตนเองไหม? เพื่อจะมีคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ พระยะโฮวาทรงยอมให้มนุษย์ปกครองตนเองชั่วคราว.
ผลเป็นเช่นไร? นับตั้งแต่การโกหกครั้งแรกในสวนเอเดน ประวัติศาสตร์มนุษย์เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าซาตานเป็นจอมมุสาที่โหดเหี้ยมและการเป็นเอกเทศจากพระเจ้ามีแต่ความเสียหาย. อย่างไรก็ตาม ด้วยความรักและสติปัญญาอันไม่มีขีดจำกัดของพระยะโฮวา พระองค์ทรงประสงค์จะทำให้พระนามของพระองค์พ้นจากคำตำหนิโดยการขจัดความทุกข์ยากทั้งสิ้นที่เริ่มต้นในสวนเอเดน. พระองค์จะทำให้สำเร็จโดยทางราชอาณาจักรมาซีฮา. ราชอาณาจักรนั้นคืออะไร?
ราชอาณาจักร—ทางแก้ของพระเจ้า
ผู้คนหลายล้านท่องคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นประจำ. เราขอเชิญคุณให้ใช้เวลาสักครู่คิดถึงความหมายของคำอธิษฐานนั้น. ขอพิจารณาวลีที่ว่า “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด.” (มัดธาย 6:10) ราชอาณาจักรนี้ไม่ได้เป็นแค่สภาพนามธรรมในหัวใจดังที่หลายคนลงความเห็น. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ดังที่คำ “ราช” บ่งชี้ไว้ นี่หมายถึงรัฐบาลในสวรรค์ที่อยู่ในพระหัตถ์ของพระเยซูคริสต์ผู้เป็น “กษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย.” (วิวรณ์ 19:13, 16; ดานิเอล 2:44; 7:13, 14) คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าพระองค์จะทรงปกครองเหนือแผ่นดินโลกทั้งสิ้น ทำให้เกิดสันติสุขและความปรองดองถาวรท่ามกลางมนุษย์และกำจัดความชั่วให้หมดไปจากแผ่นดินโลก. (ยะซายา 9:6, 7; 2 เทสซาโลนิเก 1:6-10) โดยวิธีนี้ ราชอาณาจักรของพระเจ้า ไม่ใช่รัฐบาลใด ๆ ของมนุษย์จะทำให้คำตรัสของพระเยซูสำเร็จเป็นจริงที่ว่า “ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลก.”
เพื่อให้แน่ใจว่าถ้อยคำเหล่านั้นจะสำเร็จเป็นจริง พระเยซูทรงประทานชีวิตของพระองค์เป็นค่าไถ่เพื่อไถ่ถอนลูกหลานของอาดามจากบาปและความตาย. (โยฮัน 3:16; โรม 6:23) ฉะนั้น ภายใต้ราชอาณาจักรของพระเจ้า ทุกคนที่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาของพระคริสต์จะได้เห็นผลกระทบจากบาปของอาดามถูกขจัดออกไป และความสมบูรณ์ของมนุษย์ก็จะค่อย ๆ กลับคืนมา. (บทเพลงสรรเสริญ 37:11, 29) ความบกพร่องต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เจ็บปวดหรือเศร้าหมอง โดยเฉพาะเมื่อเราอายุมากขึ้น จะไม่มีอีกต่อไป. แม้แต่ความบอบช้ำทางอารมณ์ซึ่งเป็นผลจากความเจ็บป่วยและความตายของมนุษย์ก็จะ “ไม่มีอีกเลย.”—วิวรณ์ 21:4.
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคำสัญญาต่าง ๆ ของพระองค์จะเป็นจริง? เหตุผลหนึ่งคือ คำพยากรณ์หลายร้อยข้อที่พบในคัมภีร์ไบเบิลได้สำเร็จเป็นจริงแล้ว. (ดูหน้า 9.) ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าความเชื่อในคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่ความเชื่อที่งมงายหรือเป็นเพียงเพราะอยากจะเชื่ออย่างนั้น แต่เป็นความเชื่อที่มีเหตุผลและมีพยานหลักฐานมากมาย.—ฮีบรู 11:1.
คำแนะนำที่ใช้ได้จริงในสมัยของเรา
นอกจากจะให้หลักฐานที่หนักแน่นสำหรับความหวังในอนาคต คัมภีร์ไบเบิลยังช่วยเราให้มีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้นในปัจจุบันนี้ด้วย. ตัวอย่างเช่น พระคำของพระเจ้ามีคำแนะนำที่ล้ำเลิศอย่างไม่มีใดเปรียบได้ซึ่งใช้ได้ผลจริงในเรื่องชีวิตสมรส, ชีวิตครอบครัว, มนุษยสัมพันธ์, การพบความสุข, และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย. ขอพิจารณาบางตัวอย่าง.
▪ คิดก่อนพูด. “คำพูดพล่อย ๆ ของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่; แต่ลิ้นของคนมีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย.”—สุภาษิต 12:18.
▪ หลีกเลี่ยงความอิจฉาเล็ก ๆ น้อย ๆ. “ใจที่สงบเป็นความจำเริญชีวิตฝ่ายกาย; แต่ความอิจฉาริษยาคือความเปื่อยเน่าของกะดูก.”—สุภาษิต 14:30.
▪ ตีสอนลูก. “จงฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น: และเมื่อแก่ชราแล้วเขาจะไม่เดินห่างจากทางนั้น.” “แต่เด็กที่ถูกละเลยนั้นเป็นเหตุกระทำให้มารดาของตนได้ความละอาย.”—สุภาษิต 22:6; 29:15.
▪ ให้อภัย. พระเยซูตรัสว่า “คนที่เมตตาก็มีความสุข เพราะเขาจะได้รับความเมตตา.” (มัดธาย 5:7) กษัตริย์ซะโลโมผู้ฉลาดสุขุมเขียนว่า “แต่ความรักย่อมปกปิดสรรพความผิด.” (สุภาษิต 10:12) หากบางคนทำบาปร้ายแรงมากกับคุณจนไม่อาจให้อภัยและลืมได้ง่าย ๆ คัมภีร์ไบเบิลแนะนำว่า “จงไปแจ้งความผิดนั้นกับเขาสองต่อสอง.”—มัดธาย 18:15.
▪ หลีกเลี่ยงการรักเงิน. “การรักเงินเป็นรากของสิ่งที่ก่อความเสียหายทุกชนิด และเนื่องจากการขวนขวายหาเงิน บางคนจึง . . . ได้ทิ่มแทงตัวเองทั่วทั้งตัวด้วยสิ่งที่ก่อความทุกข์มากมาย.” (1 ติโมเธียว 6:10) โปรดสังเกตว่าคัมภีร์ไบเบิลตำหนิ “การรักเงิน” ไม่ใช่เงิน.
“จดหมาย” จากพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์
ดังนั้นแล้ว คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงเรื่องต่าง ๆ มากมาย. ดังที่เราเห็นแล้ว ส่วนมากพระคัมภีร์กล่าวถึงพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์. แต่พระคัมภีร์ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเรา—มนุษยชาติ—และวิธีที่เราสามารถมีชีวิตที่มีความสุขตอนนี้และตลอดไปภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. ในแง่หนึ่ง คัมภีร์ไบเบิลเป็นเหมือนจดหมายจาก ‘พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์.’ (มัดธาย 6:9) โดยทางคัมภีร์ ไบเบิล พระยะโฮวาทรงเผยให้เรารู้พระดำริอันล้ำเลิศของพระองค์ และทรงเปิดเผยทั้งพระประสงค์และบุคลิกภาพอันยอดเยี่ยมของพระองค์.
โดยการอ่านคัมภีร์ไบเบิลและการคิดรำพึงเกี่ยวกับพระคำนั้น เราเริ่ม “เห็น” พระเจ้าอย่างที่พระองค์ทรงเป็นจริง ๆ. หัวใจที่ตอบรับของเราจะถูกดึงดูดให้มาหาพระองค์ด้วยสายใยแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความรัก. (ยาโกโบ 4:8) แน่นอนว่า คัมภีร์ไบเบิลเป็นมากกว่าประวัติศาสตร์, คำพยากรณ์, และกฎหมาย. พระคัมภีร์ยังกล่าวถึงสัมพันธภาพส่วนตัว—สัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า. นั่นทำให้หนังสือนี้ไม่มีใดเหมือนและมีค่าสูงยิ่งจริง ๆ.—1 โยฮัน 4:8, 16.
[คำโปรยหน้า 19]
อรรถบทของคัมภีร์ไบเบิลสรุปได้ด้วยประโยคแรก ๆ ของคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซู
[กรอบ/ภาพหน้า 21]
วิธีอ่านคัมภีร์ไบเบิล
คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่น่าประทับใจอย่างยิ่งเมื่อได้อ่าน. ที่จริง เรื่องราวและบทเรียนทางศีลธรรมในพระคัมภีร์เป็นที่ทราบกันดีว่ามีบทบาทสำคัญในวงการวรรณกรรมหลายภาษา. คัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้รู้จักพระยะโฮวาพระเจ้า พระผู้สร้างของเรา. ทั้งยังเป็นแหล่งแห่งสติปัญญาที่ลึกซึ้งและใช้ได้ผลจริง. สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “สติปัญญาเป็นหลักเอก. จงได้มาซึ่งสติปัญญา; และพร้อมกับสรรพสิ่งที่เจ้าได้มา จงได้มาซึ่งความเข้าใจ.” (สุภาษิต 4:7, ล.ม.) คุณจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร?
พยายามกำหนดตารางการอ่านของคุณในช่วงเวลาปกติที่คุณพร้อมมากที่สุด. และอย่าเพียงแต่อ่านผ่าน ๆ เท่านั้น. เป้าหมายของคุณคือการบรรจุความคิดของพระเจ้าไว้ในจิตใจของคุณและซึมซับสิ่งเหล่านั้น. แต่ละครั้งที่อ่านจบ ให้ใคร่ครวญสิ่งที่คุณอ่าน และเปรียบเทียบกับสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว. นี่จะช่วยให้คุณมีความเข้าใจและเกิดความหยั่งรู้ค่ามากขึ้น.—บทเพลงสรรเสริญ 143:5.
บางคนอาจสงสัยว่า ‘ฉันจะเริ่มอ่านคัมภีร์ไบเบิลตรงไหนดี?’ แน่นอน คุณสามารถเริ่มอ่านได้ตั้งแต่หน้าแรก. อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านครั้งแรกบางคนรู้สึกว่า ง่ายกว่าที่จะเริ่มอ่านพระธรรมกิตติคุณก่อน ซึ่งได้แก่ มัดธาย, มาระโก, ลูกา, และโยฮัน ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซู. จากนั้น บางคนก็จะอ่านพระธรรมที่มีลักษณะเป็นบทกวีซึ่งเขียนอย่างไพเราะและเปี่ยมด้วยสติปัญญา เช่น พระธรรมบทเพลงสรรเสริญ, สุภาษิต, และท่านผู้ประกาศ. หลังจากนั้น คุณอาจสนใจมากขึ้นที่จะอ่านส่วนอื่น ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล. (ดูข้างล่าง.) และอย่ารับเอาความคิดผิด ๆ ที่ว่าคุณต้องอ่านเฉพาะส่วนที่เรียกกันว่าคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่. จำไว้ว่า “พระคัมภีร์ทุกตอน มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและมีประโยชน์.”—2 ติโมเธียว 3:16.
วิธีที่บังเกิดผลเป็นพิเศษในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลคือการศึกษาเป็นเรื่อง ๆ ไป. ตัวอย่างเช่น หนังสือคู่มือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? ที่พยานพระยะโฮวาใช้ในการประกาศ มีหัวเรื่องที่ทันสมัย เช่น “วิธีทำให้ชีวิตครอบครัวของคุณมีความสุข,” “การนมัสการที่พระเจ้าทรงยอมรับ,” และ “คนตายแล้วไปไหน?”—ดูกรอบหน้า 18.
[กรอบหน้า 21]
การอ่านคัมภีร์ไบเบิลตามหัวเรื่อง
ต้นกำเนิดของชีวิตและการตกเข้าสู่สภาพบาปของมนุษย์ เยเนซิศ
การกำเนิดชาติอิสราเอลโบราณ เอ็กโซโดถึงพระบัญญัติ
เรื่องราวที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น ยะโฮซูอะถึงเอศเธระ
บทกวีและเพลงที่น่าประทับใจ โยบ, บทเพลงสรรเสริญ, บทเพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม
สติปัญญาเพื่อการดำเนินชีวิต สุภาษิต, ท่านผู้ประกาศ
คำพยากรณ์และการชี้นำทางศีลธรรม ยะซายาถึงมาลาคีและวิวรณ์
เรื่องราวชีวิตและคำสอนของพระเยซู มัดธายถึงโยฮัน
การก่อตั้งและการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ กิจการ
จดหมายถึงประชาคมต่าง ๆ โรมถึงยูดา