คัมภีร์ไบเบิลในภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน
คัมภีร์ไบเบิลในภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน
“ถ้าท่านทั้งหลายเชื่อว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำที่พระเจ้าตรัสกับมนุษย์ นั่นก็หมายความว่าพระเจ้าทรงสื่อความ กับเรา. . . . ถ้าศาสนาที่คุณนับถือส่งผลกระทบชีวิตคุณทั้งชีวิต ภาษาที่ใช้เขียนคัมภีร์ไบเบิลก็ต้องเป็นภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน.” นี่เป็นถ้อยคำที่อลัน ดัตที เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลต่าง ๆ และวิธีเลือกฉบับแปลเหล่านั้น (ภาษาอังกฤษ).
บรรดาผู้รักพระคำของพระเจ้าเห็นพ้องกับคำกล่าวนั้นอย่างเต็มใจ. พวกเขาเชื่อมั่นว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและมีประโยชน์เพื่อการสอน การว่ากล่าว การจัดการเรื่องราวให้ถูกต้อง การตีสอนด้วยความชอบธรรม.” (2 ติโมเธียว 3:16) คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่หนังสือคร่ำครึล้าสมัย แต่เป็นหนังสือที่ “มีชีวิต ทรงพลัง” ช่วยให้รู้วิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างแท้จริง. (ฮีบรู 4:12) แต่ถ้าจะให้ผู้อ่านเข้าใจและปฏิบัติตามหนังสือศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ หนังสือนี้ต้องใช้ภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน. ดังนั้น พระคัมภีร์คริสเตียนที่เรียกกันว่าพันธสัญญาใหม่จึงไม่เขียนด้วยภาษากรีกโบราณที่พวกนักปราชญ์อย่างเพลโตใช้กัน แต่เขียนด้วยภาษากรีกสามัญที่เรียกว่าคีนิซึ่งคนทั่วไปใช้กันในชีวิตประจำวัน. ใช่แล้ว คัมภีร์ไบเบิลเขียนขึ้นด้วยภาษาอย่างนั้นแหละเพื่อให้คนทั่วไปอ่านและเข้าใจได้.
เพื่อจุดประสงค์นี้ จึงมีการจัดทำคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลภาษาสมัยใหม่ขึ้นหลายฉบับในหลายภาษา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นประโยชน์มาก. ผู้คนส่วนใหญ่หาพระคัมภีร์อ่านได้ง่ายขึ้น. แต่น่าเสียดายที่เนื่องจากความลำเอียง ฉบับแปลใหม่ ๆ หลายฉบับจึงแปลอย่างที่ไม่ถูกต้องและไม่เสมอต้นเสมอปลาย. ตัวอย่างเช่น บางฉบับมักทำให้คำสอนที่ชัดเจนในคัมภีร์ไบเบิลคลุมเครือ เช่น คำสอนเกี่ยวกับสภาพคนตาย ลักษณะเฉพาะของมนุษย์ และพระนามของพระเจ้าเที่ยงแท้.
ดังนั้น บรรดาผู้รักพระคำของพระเจ้าจึงรู้สึกยินดีที่มีการออกพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาไทย. พยานพระยะโฮวาประกาศการออกฉบับแปลภาษาไทยที่เป็นภาษาสมัยใหม่นี้ ณ การประชุมภาคในประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2007. เนื่องจากผู้แปลฉบับแปลโลกใหม่ ไม่ถูกโน้มน้าวให้แปลสอดคล้องกับหลักข้อเชื่อของศาสนาใด ฉบับแปลนี้จึงโดดเด่นในการถ่ายทอดความหมายอย่างถูกต้อง ทำให้ผู้อ่านเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นซึ่งเมื่อก่อนผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาโบราณคงไม่อาจเข้าใจได้อย่างนั้น. แต่คุณอาจสงสัยว่าใครเป็นผู้ดำเนินการให้มีฉบับแปลที่ดีเยี่ยมนี้?
ผู้แปลที่ยกย่องสรรเสริญพระเจ้า
แม้ว่าพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ อาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนที่พูดภาษาไทย แต่ที่จริงแล้วฉบับแปลโลกใหม่ มีมาตั้งแต่ปี 1950 แล้ว. ตอนนั้นฉบับแปลโลกใหม่ ออกเป็นภาษาอังกฤษโดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ ซึ่งเป็นสมาคมคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติที่มีความเป็นมายาวนานในการจัดพิมพ์คัมภีร์ไบเบิล. ชื่อของฉบับแปลฉบับใหม่นี้แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากฉบับแปลที่แบ่งคัมภีร์ไบเบิลตามแบบเดิมเป็นภาคพันธสัญญา “เดิม” และ “ใหม่” นี่เป็นเพียงลักษณะหนึ่งในหลาย ๆ ลักษณะที่แสดงว่าฉบับแปลนี้ไม่เหมือนฉบับแปลอื่น ๆ. วารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 กันยายน 1950 บอกว่า “คนที่ประกอบเป็นคณะกรรมการแปลได้แสดงความต้องการ . . . ว่าไม่ประสงค์ให้บอกชื่อของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ต้องการให้มีการบอกชื่อของตนทั้งในขณะที่มีชีวิตอยู่และหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว. วัตถุประสงค์ของฉบับแปลนี้คือเพื่อยกย่องพระนามพระเจ้าเที่ยงแท้ผู้ทรงพระชนม์อยู่.”
พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษที่ประกอบด้วยคัมภีร์ไบเบิลครบชุดในเล่มเดียวถูกจัดพิมพ์ออกมาในปี 1961. และแม้ว่ายังคงไม่มีการเปิดเผยชื่อพวกผู้แปลจนทุกวันนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรน่าสงสัยในเรื่องเจตนาหรือระดับการทุ่มเทตัวของพวกเขา. คำนำของพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ฉบับ 1984 กล่าวว่า “การแปลพระคัมภีร์บริสุทธิ์หมายถึงการถ่ายทอดพระดำริและคำตรัสของพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นอีกภาษาหนึ่ง . . . ผู้แปลพระคัมภีร์ซึ่งยำเกรงและรักพระเจ้าผู้ประพันธ์พระคัมภีร์บริสุทธิ์สำนึกว่าพวกเขามีความรับผิดชอบต่อพระองค์เป็นพิเศษที่จะถ่ายทอดพระดำริและคำแถลงของพระองค์อย่างถูกต้องแม่นยำเท่าที่จะทำได้.”
อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจอันดีเท่านั้นไหมที่เป็นคุณสมบัติที่ทำให้คณะกรรมการแปลทำงานนี้ได้? ผู้คงแก่เรียนที่ไม่พอใจบางคนโต้แย้งว่า หนังสือที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้แปลและหนังสือรับรองทางวิชาการควรถูกตัดสินไม่รับพิจารณาเนื่องจากเป็นผลงานของมือสมัครเล่น. แต่ไม่ใช่ผู้คงแก่เรียนทุกคนมีความคิดเห็นที่ไร้เหตุผลอย่างนั้น. อลัน เอส. ดัตที เขียนว่า “ถ้าเรารู้ว่าผู้แปลหรือผู้จัดพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลฉบับหนึ่งเป็นใคร นั่นจะช่วยเราให้ตัดสินได้ไหมว่าฉบับแปลนั้นดีหรือไม่ดี? อาจจะช่วยได้บ้าง. แต่ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะตรวจดูลักษณะเฉพาะของฉบับแปลแต่ละฉบับ.” *
ผู้อ่านนับหมื่นนับแสนคนทำเช่นนั้น. จนถึงเดี๋ยวนี้ มีการพิมพ์ฉบับแปลโลกใหม่ ครบชุดหรือบางส่วนออกแล้วประมาณ 139 ล้านเล่มใน 62 ภาษา. ผู้อ่านจำนวนมากพบว่าฉบับแปลนี้เป็นอย่างไร?
ฉบับแปลที่ทำให้พระนามพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์
ที่มัดธาย 6:9 พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกให้อธิษฐานดังนี้: “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.” แต่ในฉบับแปลส่วนใหญ่ พระเจ้าทรงเป็นบุคคลที่ไม่มีพระนาม มีการระบุตัวพระองค์ด้วยคำระบุตำแหน่งว่า “พระเจ้า” หรือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” เท่านั้น. อย่างไรก็ตาม แต่เดิมไม่ได้เป็นอย่างนี้. ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมีการระบุตัวพระเจ้าอย่างชัดเจนด้วยพระนามเฉพาะว่า “ยะโฮวา” เกือบ 7,000 ครั้ง. (เอ็กโซโด 3:15; บทเพลงสรรเสริญ 83:18) ในเวลาต่อมา ความกลัวในเรื่องโชคลางทำให้ชาวยิวเลิกใช้พระนามพระเจ้า. หลังจากเหล่าอัครสาวกของพระเยซูสิ้นชีวิต แนวคิดในเรื่องโชคลางเช่นนั้นก็แพร่เข้ามาในประชาคมคริสเตียน. (เทียบกับกิจการ 20:29, 30; 1 ติโมเธียว 4:1.) พวกผู้คัดลอกพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกเริ่มใช้คำภาษากรีกคีรีออส และเทออส ซึ่งหมายความว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” และ “พระเจ้า” มาใส่แทนที่ “ยะโฮวา” พระนามเฉพาะของพระเจ้า.
แต่น่ายินดีที่ฉบับแปลโลกใหม่ ได้จัดการเอาพระนามยะโฮวามาใส่ในที่เดิมในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกซึ่งมีพระนามนี้ถึง 237 ครั้ง. การใส่พระนามพระเจ้าไว้ในที่เดิมนี้ไม่ได้ทำตามความคิดของผู้แปลเอง แต่ทำตามข้อมูลทางวิชาการที่สมเหตุสมผลและอย่างรอบคอบ. ตัวอย่างเช่น ลูกา 4:18 ยกข้อความในยะซายา 61:1 มากล่าว ซึ่งตามข้อความเดิมในภาษาฮีบรูมีพระนามยะโฮวาอยู่ในหนังสือยะซายาห์ข้อนี้. * ดังนั้น ฉบับแปลโลกใหม่ จึงแปลลูกา 4:18 อย่างเหมาะสมว่า “พระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่บนข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน.”
นอกจากนี้ การแปลเช่นนี้ยังช่วยผู้อ่านให้เห็นว่าพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นคนละองค์กับพระเยซูคริสต์พระบุตรองค์เดียวของพระองค์ด้วย. ตัวอย่างเช่น ฉบับแปลส่วนใหญ่แปลมัดธาย 22:24 ว่า “พระเจ้าตรัสกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า.” แต่ในข้อนี้ ใครกำลังพูดกับใคร? ที่จริง ข้อนี้ยกข้อความจากบทเพลงสรรเสริญ 110:1 มากล่าว ซึ่งในข้อความภาษาฮีบรูมีพระนามพระเจ้าอยู่. ดังนั้น ฉบับแปลโลกใหม่ จึงแปลข้อนี้ว่า “พระยะโฮวา ตรัสกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าว่า ‘จงนั่งด้านขวามือของเราจนกว่าเราจะทำให้เหล่าศัตรูของเจ้าอยู่ใต้เท้าเจ้า.’ ” การเข้าใจความแตกต่างระหว่างพระยะโฮวาพระเจ้ากับพระบุตรของพระองค์ที่พระคัมภีร์แสดงให้เห็นนี้ไม่ใช่เรื่องวิชาความรู้. (มาระโก 13:32; โยฮัน 8:17, 18; 14:28) นี่เป็นเรื่องสำคัญมากต่อความรอดของคนเรา. กิจการ 2:21 บอกว่า “ทุกคนที่ทูลอ้อนวอนโดยออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด.”
ถูกต้องและชัดเจน
ฉบับแปลโลกใหม่ ยังมีลักษณะเด่นอื่น ๆ อีก. ข้อความภาษากรีกเดิมที่ขัดเกลาอย่างดียิ่งโดยเวสต์คอตต์และฮอร์ตถูกเลือกมาเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ. มีการเพียรพยายามอย่างยิ่งเพื่อแปลภาษากรีกเดิมอย่างถูกต้องและตามตัวอักษรเท่าที่จะทำได้ให้เป็นภาษาสมัยใหม่ที่เข้าใจง่าย. การทำเช่นนี้ไม่เพียงรักษาอรรถรสของข้อความเดิมในคัมภีร์ไบเบิลไว้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิลอย่างมากด้วย.
ตัวอย่างเช่น ข้อความในโรม 13:1 ที่อัครสาวกเปาโลสนับสนุนคริสเตียนให้ “ยอมเชื่อฟังผู้มีอำนาจปกครอง” หรือคณะผู้ปกครองฝ่ายโลก. ฉบับแปลหลายฉบับบอกต่อไปว่าคณะผู้ปกครองที่กล่าวถึงนั้น “พระเจ้าก็ได้ทรงตั้งไว้” หรือ “พระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น.” (ฉบับแปลเก่า, ฉบับแปลใหม่, ฉบับ 2002) ผู้มีอำนาจปกครองบางคนใช้ความหมายของการแปลเช่นนี้เพื่อทำให้การปกครองแบบเผด็จการของตนกลายเป็นเรื่องถูกต้อง. แต่ฉบับแปลโลกใหม่ แปลข้อนี้ตามตัวอักษรด้วยความถูกต้องว่า “ผู้มีอำนาจปกครองนั้นอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า.” * ตอนนี้จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า แม้พระเจ้าไม่ได้เลือกผู้ปกครองฝ่ายโลกเอง แต่พระองค์ทรงอนุญาตให้คนเหล่านั้นมีอำนาจตามตำแหน่งสูงต่ำ แต่ต่ำกว่าพระองค์เสมอ.
อีกประการหนึ่ง ฉบับแปลโลกใหม่ พยายามถ่ายทอดความหมายที่แตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคำกริยาภาษากรีก. ในภาษาสมัยใหม่หลายภาษา มีการเปลี่ยนรูปคำกริยาเพื่อบอกเวลา (กาล) ของการกระทำของกริยา เช่น อดีต, ปัจจุบัน, หรืออนาคต. ในภาษากรีก คำกริยายังแสดงด้วยว่าการกระทำนั้น ๆ มีการกระทำแบบไหนเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าเป็นการกระทำชั่วขณะ, การกระทำที่เสร็จสมบูรณ์, หรือการกระทำที่ดำเนินอยู่. ขอพิจารณาคำตรัสของพระเยซูที่มัดธาย 6:33. คำกริยาภาษากรีกที่หมายความว่า “แสวงหา” ถ่ายทอดการกระทำที่ต่อเนื่อง. ดังนั้น ผลกระทบจากคำตรัสของพระเยซูจึงถูกถ่ายทอดออกมาอย่างครบถ้วนในคำแปลที่ว่า “จงแสวงหา ราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วพระองค์จะทรงให้สิ่งทั้งปวงนี้แก่พวกเจ้า.” ทำนองเดียวกัน มีการแปลมัดธาย 7:7 ว่า “จงขอต่อ ๆ ไป แล้วจะได้รับ จงหาต่อ ๆ ไป แล้วจะพบ จงเคาะต่อ ๆ ไป แล้วจะเปิดให้.”—ดูโรม 1:32; 6:2; กาลาเทีย 5:15 ด้วย.
ฉบับแปลโลกใหม่ พยายามเป็นพิเศษเพื่อแปลคำสำคัญ ๆ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย. ตัวอย่างเช่น ฉบับแปลโลกใหม่ แปลคำภาษากรีก สเตารอส ว่า “เสาทรมาน” ทุกครั้งที่มีคำนี้. ดังนั้น ผู้อ่านจึงเข้าใจทันทีว่าพระเยซูไม่ได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนซึ่งเป็นไม้สองท่อนวางไขว้กันเป็นมุมฉากที่เป็นเครื่องหมายของพวกนอกรีต อย่างที่สอนกันทั่วไปในคริสต์ศาสนจักร แต่พระองค์สิ้นพระชนม์บนหลักหรือเสาที่ตั้งตรงซึ่งเป็นความหมายพื้นฐานของคำสเตารอส.—มัดธาย 27:40; โยฮัน 19:17; ฟิลิปปอย 2:8; ฮีบรู 12:2.
การทำให้พระคำของพระเจ้า
หาอ่านได้ทั่วโลก
การออกพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกในภาษาไทยนี้เป็นแค่การเริ่มต้น. มีการวางแผนจะแปลคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มในวันข้างหน้า. แต่ผู้อ่านทั้งหลายจะแน่ใจได้ไหมว่าฉบับแปลภาษาไทยจะถูกต้องแม่นยำและเสมอต้นเสมอปลายเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ?
แน่ใจได้แน่นอน เพราะงานแปลนี้อยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดของคณะกรรมการฝ่ายการเขียนของคณะกรรมการปกครอง. มีการตัดสินใจอย่างสุขุมให้การแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาต่าง ๆ ทำกันเป็นทีม. ดังนั้น ทีมแปลคัมภีร์ไบเบิลจึงถูกตั้งขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก. มีการตั้งแผนกช่วยเหลือการแปลขึ้นที่สำนักงานกลางของพยานพระยะโฮวาที่บรุกลิน รัฐนิวยอร์ก เพื่อให้การช่วยเหลือทีมแปลเหล่านั้นตามความจำเป็น เพื่อตอบคำถาม และเพื่อให้แน่ใจว่าฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาต่าง ๆ มีความสอดคล้องกัน. นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเครื่องมือที่เป็นประโยชน์มากขึ้นอย่างหนึ่งด้วย นั่นคือ ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยผู้แปลคัมภีร์ไบเบิล. แน่นอน งานแปลยังคงต้องอาศัยความพยายามของมนุษย์มากทีเดียว. แต่ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยทำให้การบรรลุเป้าหมายอันสูงส่งนั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับทีมแปลคัมภีร์ไบเบิลซึ่งจะต้องแปลฉบับแปลโลกใหม่ ด้วยความถูกต้องแม่นยำและเสมอต้นเสมอปลายเช่นเดียวกับฉบับแปลภาษาอังกฤษ. ประโยชน์อย่างหนึ่งคือ ระบบการแปลด้วยคอมพิวเตอร์บอกว่าคำภาษาฮีบรูและคำภาษากรีกแต่ละคำได้รับการแปลอย่างไรในฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งช่วยผู้แปลได้มากทีเดียวในการเลือกคำแปลในภาษาไทย.
ผลสำเร็จของการดำเนินงานนี้เห็นได้จากผลที่ออกมา. เราสนับสนุนคุณให้ตรวจดูพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่. คุณจะรับพระคัมภีร์ฉบับแปลนี้ได้จากผู้จัดพิมพ์วารสารนี้. นอกจากนี้ คุณจะได้เห็นลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น ตัวพิมพ์ที่ชัดเจนอ่านง่าย, ข้อความบอกสาระสำคัญของหน้าซึ่งช่วยคุณให้หาข้อคัมภีร์ที่คุ้นเคยได้เร็วขึ้น, แผนที่ที่ให้รายละเอียด, และเนื้อหาในภาคผนวกที่ดึงดูดใจให้อ่าน. ที่สำคัญที่สุดคือ คุณจะอ่านคัมภีร์ไบเบิลนี้ด้วยความมั่นใจว่าเป็นหนังสือที่ถ่ายทอดคำตรัสของพระเจ้าด้วยภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 น่าสนใจ ที่กระดาษหุ้มพระคัมภีร์ฉบับแปลนิว อเมริกัน สแตนดาร์ด ไบเบิล มีข้อความว่า “เราไม่ได้ใช้ชื่อนักวิชาการคนใดเพื่ออ้างอิงหรือแนะนำ เพราะเราเชื่อว่าผู้คนจะประเมินค่าพระคำของพระเจ้าด้วยคุณค่าของพระคำนั้น.”
^ วรรค 13 เป็นความจริงที่ว่าฉบับแปลเซปตัวจินต์ภาษากรีกเป็นพื้นฐานสำหรับการยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมากล่าวในพระคัมภีร์ที่เรียกกันว่าภาคพันธสัญญาใหม่. เนื่องจากสำเนาฉบับหลัง ๆ ของฉบับแปลเซปตัวจินต์ ไม่มีพระนามพระเจ้า ผู้คงแก่เรียนหลายคนจึงอ้างว่าควรตัดพระนามนี้ออกจากพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. แต่สำเนาฉบับเก่าที่สุดของฉบับแปลเซปตัวจินต์ ที่มีอยู่นั้นมีพระนามยะโฮวาในรูปภาษาฮีบรูโบราณ. ข้อนี้จึงเป็นข้อสนับสนุนที่หนักแน่นสำหรับการใส่พระนามยะโฮวาไว้ในที่เดิมในพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก.
^ วรรค 17 ดูหนังสือคู่มือพจนานุกรมภาษากรีกสำหรับพันธสัญญาใหม่ โดย จี. แอ็บบอต-สมิท และพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษ โดยลิดเดลล์และสกอตต์. โดยอาศัยหนังสือเหล่านี้และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่เชื่อถือได้ คำภาษากรีกคำนี้มีความหมายตามตัวอักษรว่า “จัดเป็นระเบียบ, จัดไว้ตามตำแหน่ง.”
[รูปภาพ]
ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลอย่างอัครสาวกเปาโลเขียนด้วยภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน
ลักษณะเด่นของฉบับแปลโลกใหม่
มีการเพียรพยายามอย่างยิ่งเพื่อแปลภาษากรีกเดิมอย่างถูกต้องและตามตัวอักษรเท่าที่จะทำได้ให้เป็นภาษาสมัยใหม่ที่เข้าใจง่าย
ตัวหนังสือที่อ่านง่าย
ทำให้อ่านเพลิน
ข้อความบอกสาระสำคัญของหน้าซึ่งช่วยคุณให้หาข้อคัมภีร์ที่คุ้นเคยได้เร็วขึ้น
แผนที่ที่ให้รายละเอียดช่วยผู้อ่านให้เข้าใจสภาพภูมิศาสตร์ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้น
“ฉบับแปลโลกใหม่” ที่ชัดเจนเข้าใจง่ายเป็นประโยชน์มากในงานเผยแพร่ของคริสเตียน
[รูปภาพ]
พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่
1 ติโมเธียว 3:16 ตามที่ปรากฏในโคเดกซ์ไซนายติคุส ศตวรรษที่ 4 สากลศักราช.
พระคริสต์เยซู. 19 อย่าดับพระวิญญาณ. 20 อย่าดูหมิ่นคำพยากรณ์. 21 จงตรวจดูทุกสิ่งให้แน่ใจ สิ่งที่ดีนั้นจงยึดไว้ให้มั่น. 22 จงละเว้นการชั่วทุกอย่าง.
23 ขอให้พระเจ้าแห่งสันติสุขทรงทำให้ท่านทั้งหลายเป็นคนบริสุทธิ์ในทุกด้าน และขอทรงรักษาทั้งจิตใจ ชีวิต * และกายของพวกท่านให้ปราศจากตำหนิในคราวการประทับ *ของพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา. 24 พระองค์ผู้ทรงเรียกท่านทั้งหลายนั้นสัตย์ซื่อ และพระองค์จะทรงทำเช่นนั้น.
25 พี่น้องทั้งหลาย จงอธิษฐานเพื่อเราต่อ ๆ ไป.
26 ขอให้พวกท่านทักทายพี่น้องทุกคนด้วยการจูบอย่างบริสุทธิ์ใจ.
27 ข้าพเจ้าขอสั่งท่านทั้งหลายในนามองค์พระผู้เป็นเจ้าให้อ่านจดหมายฉบับนี้ให้พี่น้องทั้งหลายฟัง.
28 ขอให้พระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเยซูคริสต์เจ้าของเราจงมีแก่ท่านทั้งหลายเถิด.
ดูภาคผนวก 7ก.
ดูภาคผนวก 5.