การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
▪ “โดยเฉลี่ยแล้วเมื่ออายุถึงหกขวบ เด็กในบริเตนจะใช้เวลาไปแล้วหนึ่งปีเต็มในการดูโทรทัศน์ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กอายุสามขวบมีทีวีในห้องนอน.”—หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์, บริเตน.
▪ จากการสำรวจความคิดเห็นในประเทศจีน พบว่า 31.4 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปบอกว่าตนเองเป็นคนเคร่งศาสนา. หากคนเหล่านี้เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ ผลการสำรวจครั้งนี้จะบ่งชี้ว่า “มีประมาณ 300 ล้านคนเป็นคนเคร่งศาสนา . . . ซึ่งต่างกันมากกับตัวเลขอย่างเป็นทางการจำนวน 100 ล้านคน.”—หนังสือพิมพ์ไชนา เดลี, จีน.
ข้อเสียมากกว่าข้อดี
เมื่อไม่กี่ปีก่อน นักการเมืองและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวดัตช์เคยคิดกันว่าพวกเขาได้พบทางออกสำหรับการอนุรักษ์พลังงานแล้ว นั่นคือการนำเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันปาล์ม มาใช้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า. หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ กล่าวว่า ความหวังของพวกเขากลับกลายเป็น “ฝันร้ายของสิ่งแวดล้อม.” “ความต้องการน้ำมันปาล์มที่เพิ่มสูงขึ้นในยุโรปทำให้มีการถางป่าดิบชื้นผืนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินความจำเป็น.” สวนปาล์มซึ่งเกิดจากการถ่ายน้ำออกแล้วเผาป่าพรุได้ปล่อยก๊าซคาร์บอน “ปริมาณมหาศาล” เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ. ไทมส์ กล่าวว่า ผลคือ อินโดนีเซียกลายเป็น “ประเทศที่ผลิตก๊าซคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นอันดับสามของโลก ซึ่งก๊าซดังกล่าวนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเป็นตัวการที่ทำให้โลกร้อนขึ้น.”
“นาฬิกาวันโลกาวินาศ” เร็วกว่าเดิม
นาฬิกาวันโลกาวินาศ ซึ่งจดหมายข่าวของนักวิทยาศาสตร์ปรมาณู (บีเอเอส) คิดทำขึ้นเพื่ออธิบายว่ามนุษย์อยู่ใกล้ความหายนะจากนิวเคลียร์มากแค่ไหน ได้ถูกปรับให้เร็วกว่าเดิมสองนาที โดยเหลือเพียงห้านาทีก่อนเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลา “ที่สมมุติให้เป็นอวสานของความศิวิไลซ์.” นาฬิกาดังกล่าวถูกปรับมาแล้วเพียง 18 ครั้งตั้งแต่เริ่มมีขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว. การปรับครั้งสุดท้ายมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2002 หลังตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์กถูกถล่ม. แถลงการณ์ครั้งหนึ่งของบีเอเอส กล่าวว่า อาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่และพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งความล้มเหลวในการทำให้วัตถุนิวเคลียร์มีความปลอดภัย เป็น “สัญญาณของความล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่เกิดจากเทคโนโลยีที่มีอานุภาพทำลายล้างมากที่สุดในโลก.” อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์นั้นกล่าวต่อไปว่า “อันตรายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็เลวร้ายพอ ๆ กับอันตรายจากอาวุธนิวเคลียร์.”
ความเครียดในระหว่างตั้งครรภ์
การศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานี้แสดงว่า ความเครียดของสตรีมีครรภ์ซึ่งเป็นผลจากการทะเลาะกับคู่ของตนหรือถูกคู่ของตนทำร้ายอาจก่อผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กในครรภ์. ศาสตราจารย์วิเว็ต กลอฟเวอร์ จากวิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน กล่าวว่า “เราพบว่าถ้าผู้หญิงถูกคู่ของเธอทำให้เจ็บช้ำน้ำใจระหว่างที่ตั้งครรภ์ จะก่อผลกระทบมากจริง ๆ ต่อพัฒนาการของทารกในอนาคต. ผู้เป็นพ่อมีบทบาทสำคัญมาก.” เธออธิบายว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและแม่ “มีผลต่อความสมดุลของฮอร์โมนและเคมีในร่างกายของแม่ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กด้วย.”
ขับรถตามความเคยชินหรือ?
มิคาเอล เชร็คเคนแบร์ก นักวิทยาศาสตร์ด้านการจราจรประจำมหาวิทยาลัยดุยสบูร์ก-เอสเซน เยอรมนี กล่าวว่า ผู้ที่ขับรถไปทำงานโดยใช้เส้นทางเดิมทุกวันมักจะขับรถโดยไม่ได้ใช้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดอย่างมีสติ. เมื่ออยู่บนเส้นทางที่คุ้นเคย ผู้ขับขี่มักง่วนอยู่กับสิ่งอื่นแทนที่จะจดจ่ออยู่กับสภาพการจราจร. ผลคือ ผู้ขับขี่จะสำนึกถึงอันตรายช้ากว่าปกติ. เชร็คเคนแบร์กแนะนำให้ผู้ที่ขับรถไปทำงานโดยใช้เส้นทางเดิมเป็นประจำตื่นตัวอยู่เสมอและไม่ปล่อยให้สิ่งอื่นมาดึงความสนใจไปจากการขับรถ.