ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จากหมู่บ้านชาวประมงสู่มหานครอันยิ่งใหญ่

จากหมู่บ้านชาวประมงสู่มหานครอันยิ่งใหญ่

จาก​หมู่​บ้าน​ชาว​ประมง​สู่​มหา​นคร​อัน​ยิ่ง​ใหญ่

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ญี่ปุ่น

ใน​วัน​ที่​อากาศ​แจ่ม​ใส​ของ​ฤดู​ร้อน​วัน​หนึ่ง​ใน​เดือน​สิงหาคม 1590 อิเอยาซุ โทะกุงะวะ (ขวา) ผู้​ซึ่ง​ต่อ​มา​ได้​กลาย​มา​เป็น​โชกุน​คน​แรก​แห่ง​ตระกูล​โทะกุงะวะ * ได้​เดิน​ทาง​มา​ถึง​หมู่​บ้าน​ชาว​ประมง​แห่ง​หนึ่ง​ชื่อ​เอโดะ​ที่​อยู่​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ออก​ของ​ญี่ปุ่น. ใน​สมัย​นั้น “เอโดะ​มี​บ้าน​ผุ ๆ พัง ๆ ไม่​กี่​ร้อย​หลังคา​เรือน ส่วน​ใหญ่​เป็น​กระท่อม​ของ​ชาว​ไร่​ชาว​นา​และ​ชาว​ประมง” หนังสือ​นคร​แห่ง​โชกุน—ประวัติศาสตร์​ของ​โตเกียว (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ไว้. ใน​บริเวณ​นั้น​มี​ป้อม​ปราการ​ร้าง​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​สร้าง​ไว้​ก่อน​หน้า​นั้น​มาก​กว่า​ร้อย​ปี.

หมู่​บ้าน​นี้​ซึ่ง​ไม่​มี​ใคร​รู้​จัก​มา​เป็น​เวลา​หลาย​ร้อย​ปี ไม่​เพียง​แต่​กลาย​มา​เป็น​กรุง​โตเกียว​นคร​หลวง​ของ​ประเทศ​ญี่ปุ่น​เท่า​นั้น แต่​ยัง​เจริญ​รุ่งเรือง​ขึ้น​จน​เป็น​มหา​นคร​ที่​มี​ผู้​คน​พลุกพล่าน​ซึ่ง​มี​ประชากร​อาศัย​อยู่​มาก​กว่า 12 ล้าน​คน. โตเกียว​จะ​กลาย​มา​เป็น​เมือง​ที่​มี​อิทธิพล​ใน​เวที​โลก​ทั้ง​ทาง​ด้าน​เทคโนโลยี, การ​สื่อสาร, คมนาคม, และ​การ​ค้า รวม​ทั้ง​เป็น​ที่​ตั้ง​ของ​สถาบัน​การ​เงิน​ชั้น​นำ​หลาย​แห่ง. การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​น่า​ทึ่ง​เช่น​นี้​เกิด​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร?

จาก​หมู่​บ้าน​ชาว​ประมง​สู่​นคร​แห่ง​โชกุน

ใน​ช่วง​หนึ่ง​ร้อย​ปี​หลัง​จาก​ปี 1467 เหล่า​ขุนนาง​ศักดินา​ซึ่ง​ทำ​สงคราม​กัน​ได้​แบ่ง​ญี่ปุ่น​ออก​เป็น​แคว้น ๆ. ใน​ที่​สุด ฮิเดโยชิ โทโยโตมิ ขุนนาง​ศักดินา​ผู้​มี​ภูมิหลัง​ที่​ต่ำต้อย ได้​รวบ​รวม​แคว้น​ต่าง ๆ ใน​ประเทศ​เข้า​ด้วย​กัน​บาง​ส่วน และ​ได้​กลาย​มา​เป็น​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​แทน​องค์​จักรพรรดิ​ใน​ปี 1585. ตอน​แรก อิเอยาซุ​ต่อ​สู้​กับ​ฮิเดโยชิ​ผู้​ทรง​อำนาจ แต่​ต่อ​มา​ก็​เข้า​ร่วม​เป็น​พันธมิตร​กัน. ทั้ง​สอง​คน​ร่วม​มือ​กัน​ล้อม​และ​ยึด​ปราสาท​โอ​ดา​วาระ​ได้ ซึ่ง​เป็น​ที่​มั่น​ของ​ตระกูล​โฮ​โจ​ที่​ทรง​อำนาจ และ​เมื่อ​ทำ​อย่าง​นั้น​ก็​เป็น​การ​พิชิต​แคว้น​คันโตะ​ใน​ภาค​ตะวัน​ออก​ของ​ญี่ปุ่น.

ฮิเดโยชิ​มอบ​เขต​แดน​อัน​กว้าง​ใหญ่​ใน​แปด​จังหวัด​ของ​แคว้น​คันโตะ​ให้​แก่​อิเอยาซุ ซึ่ง​เขต​แดน​เหล่า​นั้น​ส่วน​ใหญ่​เคย​เป็น​อาณา​เขต​ของ​ตระกูล​โฮโจ​มา​ก่อน โดย​วิธี​นี้​จึง​ทำ​ให้​อิเอยาซุ​ต้อง​ย้าย​ออก​จาก​อาณา​เขต​เดิม​ของ​เขา​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก. ดู​เหมือน​ว่า​นี่​เป็น​แผนการ​ที่​คิด​ไว้​ล่วง​หน้า​เพื่อ​ให้​อิเอยาซุ​อยู่​ห่าง ๆ จาก​กรุง​เกียวโต ซึ่ง​เป็น​ที่​พำนัก​ของ​จักรพรรดิ ผู้​ซึ่ง​ปกครอง​ญี่ปุ่น​แต่​เพียง​ใน​นาม​เท่า​นั้น และ​ไม่​มี​อำนาจ​ใด ๆ อย่าง​แท้​จริง. แม้​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น​อิเอยาซุ​ก็⁠ยอม​ทำ​ตาม และ​ไป​ถึง​หมู่​บ้าน​เอโดะ​ดัง​ที่​พรรณนา​ไว้​ตอน​ต้น​ของ​บทความ​นี้. เขา​เริ่ม​ต้น​เปลี่ยน​แปลง​หมู่​บ้าน​ชาว​ประมง​อัน​ต่ำต้อย​นี้​ให้​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​แห่ง​เขต​แดน​ของ​เขา.

หลัง​จาก​ฮิเดโยชิ​สิ้น​ชีวิต อิเอยาซุ​ก็​นำ​กอง​กำลัง​ผสม​ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​มา​จาก​ภาค​ตะวัน​ออก​ของ​ญี่ปุ่น มา​สู้​รบ​กับ​กอง​กำลัง​ฝั่ง​ตะวัน​ตก และ​ใน​ปี 1600 เขา​ก็​ได้​รับ​ชัย​ชนะ​ภาย​ใน​วัน​เดียว. ใน​ปี 1603 อิเอยาซุ​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​โชกุน ซึ่ง​เป็น​ผู้​ปกครอง​ตัว​จริง​ของ​ประเทศ. ตอน​นี้​เอโดะ​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​บริหาร​ปกครอง​แห่ง​ใหม่​ของ​ญี่ปุ่น.

อิเอยาซุ​สั่ง​พวก​ขุนนาง​ศักดินา​ทั้ง​หลาย​ให้​ส่ง​กำลัง​คน​และ​วัสดุ​มา​เพื่อ​สร้าง​ปราสาท​ขนาด​มหึมา. คราว​หนึ่ง มี​การ​ใช้​เรือ​ราว ๆ 3,000 ลำ​เพื่อ​ขน​หิน​แกรนิต​ก้อน​ใหญ่ ๆ ซึ่ง​ตัด​มา​จาก​หน้าผา​ใน​คาบสมุทร​อิซุ ห่าง​ออก​ไป​ทาง​ใต้​ราว ๆ 100 กิโลเมตร. เมื่อ​หิน​แกรนิต​ถูก​ขน​ขึ้น​จาก​เรือ คน​งาน​กลุ่ม​ละ​ราว ๆ หนึ่ง​ร้อย​คน​หรือ​มาก​กว่า​นั้น​จะ​ลาก​หิน​ไป​ยัง​สถาน​ที่​ก่อ​สร้าง.

ปราสาท​แห่ง​นี้​ซึ่ง​ใหญ่​กว่า​ปราสาท​อื่น ๆ ทั้ง​หมด​ใน​ญี่ปุ่น เสร็จ​สมบูรณ์​ใน​อีก 50 ปี​ต่อ​มา ระหว่าง​การ​ปกครอง​ของ​โชกุน​ลำดับ​ที่​สาม และ​เป็น​สัญลักษณ์​อัน​น่า​ทึ่ง​ของ​การ​ปกครอง​ของ​ตระกูล​โทะกุงะวะ​ที่​ทรง​อิทธิพล. เหล่า​ซามูไร​หรือ​ขุน​ศึก​ซึ่ง​รับใช้​โชกุน​เข้า​มา​อาศัย​อยู่​รอบ ๆ ปราสาท. โชกุน​สั่ง​ให้​พวก​ขุนนาง​ศักดินา​มี​คฤหาสน์​ใน​เอโดะ​ด้วย นอก​เหนือ​จาก​การ​มี​ปราสาท​ใน​อาณา​เขต​ของ​ตน​เอง.

เพื่อ​จะ​จัด​หา​ดู​แล​ความ​จำเป็น​ของ​ประชากร​หลัก​ซึ่ง​เป็น​เหล่า​ซามูไร กลุ่ม​พ่อค้า​และ​ช่าง​ฝีมือ​ที่​มี​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ จึง​หลั่งไหล​มา​จาก​ทุก​สาร​ทิศ. พอ​ถึง​ปี 1695 หรือ​ราว ๆ หนึ่ง​ร้อย​ปี​หลัง​จาก​อิเอยาซุ​เดิน​ทาง​มา​ถึง​บริเวณ​นี้ ประชากร​ของ​เอโดะ​ก็​มี​จำนวน​เพิ่ม​ขึ้น​เป็น​หนึ่ง​ล้าน​คน! เอโดะ​จึง​เป็น​เมือง​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก​ใน​เวลา​นั้น.

จาก​มีด​ดาบ​สู่​ลูก​คิด

รัฐบาล​โชกุน​มี​ประสิทธิภาพ​มาก​ใน​การ​รักษา​ความ​สงบ​จน​เหล่า​ขุน​ศึก​ไม่​ค่อย​มี​อะไร​ทำ. แน่นอน เหล่า​ซามูไร​ยัง​คง​ภูมิ​ใจ​ใน​ฐานะ​ของ​ตน แต่​อำนาจ​ดาบ​ของ​เหล่า​ขุน​ศึก​ก็​จำ​ต้อง​ค่อย ๆ หลีก​ทาง​ให้​กับ​อำนาจ​ลูก​คิด​ของ​พวก​พ่อค้า. ช่วง​เวลา​แห่ง​สันติภาพ​คง​อยู่​นาน​กว่า 250 ปี. พลเมือง​โดย​ทั่ว​ไป โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง พวก​พ่อค้า รุ่งเรือง​มั่งคั่ง​ขึ้น​และ​มี​สิทธิ​เสรีภาพ​มาก​ขึ้น​ด้วย. วัฒนธรรม​ที่​ไม่​เหมือน​ใคร​ก็​ค่อย ๆ พัฒนา​ขึ้น.

ประชาชน​ต่าง​พา​กัน​ไป​ชม​ละคร​คาบูกิ (ละคร​อิง​ประวัติศาสตร์), บุงรากุ (ละคร​หุ่น​เชิด), และ​รากุโกะ (การ​เล่า​นิทาน​ชวน​หัว). ใน​ตอน​เย็น ๆ ของ​ฤดู​ร้อน ผู้​คน​พา​กัน​ไป​ที่​ริม​แม่น้ำ​ซุมิดะ​ที่​เย็น​ฉ่ำ ซึ่ง​ไหล​ผ่าน​เมือง​เอโดะ. พวก​เขา​ชม​ดอกไม้​ไฟ ซึ่ง​เป็น​ประเพณี​ที่​ยัง​คง​มี​อยู่​เรื่อย​มา​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม โลก​ภาย​นอก​ยัง​ไม่​รู้​จัก​เอโดะ. เป็น​เวลา​กว่า 200 ปี รัฐบาล​ห้าม​การ​ติด​ต่อ​กับ​คน​ต่าง​ชาติ​โดย​มี​ข้อ​ยก​เว้น​แต่​เฉพาะ​กับ​ชาว​ดัตช์, ชาว​จีน, และ​ชาว​เกาหลี​เท่า​นั้น. แต่​แล้ว​วัน​หนึ่ง เหตุ​การณ์​ที่​ไม่​คาด​ฝัน​ก็​ทำ​ให้​เมือง​นี้​และ​ประเทศ​นี้​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง.

จาก​เอโดะ​สู่​โตเกียว

นอก​ชายฝั่ง​เอโดะ จู่ ๆ ก็​ปรากฏ​มี​เรือ​รูป​ร่าง​ประหลาด​หลาย​ลำ​ซึ่ง​ปล่อย​ควัน​ดำ​ลอย​ขึ้น​ไป. ด้วย​ความ​ตระหนก ชาว​ประมง​คิด​ว่า​เรือ​เหล่า​นั้น​เป็น​ภูเขา​ไฟ​ลอย​น้ำ! ข่าว​ลือ​แพร่​สะพัด​ไป​ทั่ว​ใน​เอโดะ ซึ่ง​ทำ​ให้​ชาว​บ้าน​จำนวน​มาก​พา​กัน​อพยพ​หนี​ออก​จาก​เมือง.

เรือ​สี่​ลำ​นี้​บัญชา​การ​โดย​ผู้​บังคับ​การ​แมททิว ซี. เพอร์รี แห่ง​กองทัพ​เรือ​สหรัฐ ได้​ทอด​สมอ​ใน​อ่าว​เอโดะ​เมื่อ​วัน​ที่ 8 กรกฎาคม 1853 (ซ้าย). เพอร์รี​ต้องการ​ให้​รัฐบาล​โชกุน​เปิด​ประเทศ​ญี่ปุ่น​เพื่อ​ทำ​การ​ค้า​กับ​ประเทศ​ของ​ตน. จาก​เหตุ​การณ์​นี้ ชาว​ญี่ปุ่น​จึง​มา​รู้​ตัว​ว่า​ญี่ปุ่น​ล้า​หลัง​ประเทศ​อื่น ๆ ไป​มาก​เพียง​ใด​ใน​เรื่อง​การ​ทหาร​และ​เทคโนโลยี.

เหตุ​การณ์​นี้​ทำ​ให้​เกิด​เหตุ​การณ์​ต่อ​เนื่อง​อื่น ๆ อีก​หลาย​อย่าง​ตาม​มา ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​ทำ​ให้​การ​ปกครอง​ของ​ตระกูล​โทะกุงะวะ​ล่ม​สลาย​และ​มี​การ​ฟื้นฟู​การ​ปกครอง​ของ​จักรพรรดิ​ขึ้น​มา​ใหม่. ใน​ปี 1868 เอโดะ​ถูก​เปลี่ยน​ชื่อ​ใหม่​เป็น​โตเกียว หมาย​ถึง “นคร​หลวง​ตะวัน​ออก” ซึ่ง​หมาย​ถึง​ตำแหน่ง​ที่​ตั้ง​ของ​เมือง​นี้​เมื่อ​เทียบ​กับ​เกียวโต. จักรพรรดิ​ย้าย​ที่​พำนัก​จาก​ราชวัง​ใน​เกียวโต​มา​ยัง​ปราสาท​เอโดะ ซึ่ง​ต่อ​มา​ถูก​เปลี่ยน​เป็น​พระ​ราชวัง​อิมพีเรียล​แห่ง​ใหม่.

ภาย​ใต้​อิทธิพล​ของ​วัฒนธรรม​ตะวัน​ตก รัฐบาล​ใหม่​เริ่ม​ต้น​โครงการ​เปลี่ยน​ญี่ปุ่น​ให้​ทัน​สมัย​ขึ้น. มี​งาน​อีก​มาก​ที่​ต้อง​ทำ​เพื่อ​จะ​ตาม​ประเทศ​อื่น ๆ ให้​ทัน. บาง​คน​กล่าว​ขาน​ถึง​ช่วง​นี้​ว่า​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​น่า​อัศจรรย์. ใน​ปี 1869 มี​การ​เริ่ม​ใช้​งาน​สาย​โทรเลข​ระหว่าง​โตเกียว​กับ​โยโกฮามา. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น ก็​มี​การ​วาง​ทาง​รถไฟ​สาย​แรก​ระหว่าง​ทั้ง​สอง​เมือง​นี้. อาคาร​อิฐ​ผุด​ขึ้น​มาก​มาย​ท่ามกลาง​บ้าน​ไม้. มี​การ​สร้าง​ธนาคาร, โรงแรม, ห้าง​สรรพ​สินค้า, และ​ภัตตาคาร. มี​การ​ก่อ​ตั้ง​มหาวิทยาลัย​แห่ง​แรก. มี​ถนน​ลาดยาง​มา​แทน​ที่​ถนน​ดิน. และ​มี​เรือ​กลไฟ​แล่น​ขึ้น​ล่อง​ตาม​แม่น้ำ​ซุมิดะ.

แม้​แต่​ผู้​คน​ก็​เปลี่ยน​ไป. คน​ส่วน​ใหญ่​ยัง​สวม​ชุด​กิโมโน​แบบ​ดั้งเดิม แต่​ชาว​ญี่ปุ่น​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ทดลอง​ใส่​เสื้อ​ผ้า​แบบ​ชาว​ตะวัน​ตก. ผู้​ชาย​ไว้​หนวด​สวม​หมวก​ทรง​สูง​และ​ถือ​ไม้เท้า ส่วน​ผู้​หญิง​บาง​คน​สวม​ชุด​ที่​ประดับ​ประดา​อย่าง​หรูหรา และ​เรียน​เต้น​รำ​จังหวะ​วอลซ์.

เบียร์​กลาย​มา​เป็น​เครื่อง​ดื่ม​ยอด​นิยม​เคียง​ข้าง​เหล้า​สาเก และ​เบส​บอล​ก็​แข่งขัน​กับ​ซูโม่​เพื่อ​จะ​เป็น​กีฬา​ยอด​นิยม​ของ​ชาติ. ราว​กับ​ฟองน้ำ​ขนาด​ยักษ์ โตเกียว​ดูด​ซับ​แนว​คิด​ทาง​วัฒนธรรม​และ​ทาง​การ​เมือง​ที่​เฟื่องฟู​ใน​ยุค​สมัย​นั้น​และ​รับ​เอา​มา​เป็น​ของ​ตน​เอง. เมือง​นี้​ใหญ่​ขึ้น​เรื่อย ๆ จน​วัน​หนึ่ง​หายนะ​ก็​มา​เยือน.

ฟื้น​ขึ้น​จาก​เถ้า​ถ่าน

ใน​วัน​ที่ 1 กันยายน 1923 ขณะ​ที่​หลาย​คน​กำลัง​เตรียม​อาหาร​เที่ยง​อยู่​นั้น เกิด​แผ่นดิน​ไหว​อย่าง​รุนแรง​ใน​เขต​คันโตะ และ​ตาม​มา​ด้วย​แผ่นดิน​ไหว​ย่อย ๆ อีก​หลาย​ร้อย​ครั้ง รวม​ทั้ง​การ​สั่น​สะเทือน​อย่าง​รุนแรง​ใน​อีก 24 ชั่วโมง​ต่อ​มา. แม้​ว่า​แผ่นดิน​ไหว​จะ​ก่อ​ผล​เสียหาย​อย่าง​รุนแรง​มาก แต่​ไฟ​ไหม้​ที่​เกิด​ขึ้น​หลัง​จาก​นั้น​รุนแรง​มาก​กว่า ซึ่ง​ทำ​ให้​พื้น​ที่​ส่วน​ใหญ่​ของ​กรุง​โตเกียว​ถูก​เผา​ผลาญ​จน​เหลือ​แต่​เถ้า​ธุลี. รวม​ทั้ง​หมด​แล้ว​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​กว่า 100,000 คน ซึ่ง​เฉพาะ​ใน​โตเกียว​มี​กว่า 60,000 คน.

ผู้​คน​ใน​โตเกียว​เริ่ม​งาน​สร้าง​เมือง​ใหม่​ซึ่ง​เป็น​งาน​อัน​ใหญ่​โต. หลัง​จาก​บูรณะ​ฟื้นฟู​ขึ้น​มา​ได้​ระดับ​หนึ่ง เมือง​นี้​ก็​ประสบ​กับ​ความ​หายนะ​ครั้ง​ใหญ่​อีก​ครั้ง นั่น​คือ​การ​ระดม​ทิ้ง​ระเบิด​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2. การ​โจมตี​ที่​สร้าง​ความ​เสียหาย​มาก​เป็น​พิเศษ​คือ​ระเบิด​ราว ๆ 700,000 ลูก​ที่​ทิ้ง​ใน​คืน​วัน​ที่ 9/10 มีนาคม 1945 ตั้ง​แต่​เที่ยง​คืน​จน​ถึง​ราว ๆ ตี​สาม. ตอน​นั้น​อาคาร​ส่วน​ใหญ่​สร้าง​ด้วย​ไม้ และ​ลูก​ระเบิด เช่น ระเบิด​นาปาล์ม​และ​ระเบิด​เพลิง​ชนิด​ใหม่ ๆ ซึ่ง​มี​แมกนีเซียม​และ​น้ำมัน​คล้าย​วุ้น ทำ​ให้​ไฟ​ไหม้​ย่าน​กลาง​เมือง​ที่​มี​ผู้​คน​อาศัย​อยู่​หนา​แน่น จึง​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​มาก​กว่า 77,000 คน. การ​โจมตี​ครั้ง​นั้น​เป็น​ปฏิบัติการ​ทิ้ง​ระเบิด​ครั้ง​ใหญ่​ที่​สุด​ซึ่ง​ไม่​ได้​ใช้​อาวุธ​นิวเคลียร์​ใน​ประวัติศาสตร์.

แม้​จะ​ประสบ​ความ​หายนะ​เหล่า​นี้ แต่​โตเกียว​ยุค​หลัง​สงคราม​ก็​ฟื้น​ขึ้น​จาก​เถ้า​ถ่าน​จน​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ใหม่​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน. พอ​ถึง​ปี 1964 หรือ​ไม่​ถึง 20 ปี​ให้​หลัง เมือง​นี้​ก็​ฟื้น​ตัว​มาก​ถึง​ขั้น​ที่​สามารถ​เป็น​เจ้าภาพ​จัด​การ​แข่งขัน​กีฬา​โอลิมปิก​ฤดู​ร้อน​ได้. ใน​ช่วง​สี่​สิบ​ปี​หลัง​นี้​เกิด​มี​การ​ก่อ​สร้าง​อย่าง​ต่อ​เนื่อง ขณะ​ที่​ป่า​คอนกรีต​ได้​ขยาย​ขอบ​เขต​กว้าง​มาก​ขึ้น​และ​สูง​ยิ่ง​ขึ้น.

เจตคติ​แบบ​ชาว​โตเกียว

เมือง​ซึ่ง​ตอน​นี้​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​โตเกียว​มี​อายุ 400 ปี​แล้ว และ​ไม่​ถือ​ว่า​เก่า​เลย​เมื่อ​เทียบ​กับ​เมือง​ใหญ่ ๆ ของ​โลก. แม้​ว่า​บาง​ส่วน​ใน​เมือง​มี​บรรยากาศ​แบบ​เก่า ๆ แต่​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​มี​อาคาร​บ้าน​เรือน​จาก​สมัย​อดีต​หลง​เหลือ​อยู่​น้อย​มาก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​พิจารณา​อย่าง​ละเอียด​มาก​ขึ้น เรา​ก็​จะ​เห็น​แบบ​แผนที่​มี​มา​ตั้ง​แต่​สมัย​เอโดะ​โบราณ.

ใจ​กลาง​ของ​มหา​นคร​นี้​มี​พื้น​ที่​สี​เขียว​ขนาด​ใหญ่. พระ​ราชวัง​อิมพีเรียล​และ​พื้น​ที่​โดย​รอบ​ใน​ตอน​นี้​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​เดิม​ของ​ปราสาท​เอโดะ​ดั้งเดิม. จาก​ที่​นี่ มี​ถนน​หลัก​แผ่​รัศมี​ออก​จาก​เมือง​ไป​ทุก​ทิศ​ทาง​ราว​กับ​ใย​แมงมุม ซึ่ง​ยัง​คง​ยึด​ถือ​ผัง​เมือง​พื้น​ฐาน​ใน​สมัย​เอโดะ. แม้​แต่​แนว​ถนน​ที่​คดเคี้ยว​ไป​มา​ราว​กับ​เขา​วงกต​ทั่ว​เมือง​นี้​ก็​ทำ​ให้​นึก​ถึง​ภาพ​ของ​เอโดะ​ยุค​เก่า. ที่​จริง ถนน​ส่วน​ใหญ่​ไม่​มี​ชื่อ​ด้วย​ซ้ำ! แทน​ที่​จะ​มี​บล็อก​ขนาด​เท่า ๆ กัน​เหมือน​เมือง​ใหญ่ ๆ ทั่ว​โลก โตเกียว​มี​แปลง​ที่​ดิน​รูป​ทรง​และ​ขนาด​ต่าง ๆ กัน​ซึ่ง​มี​หมาย​เลข​กำกับ.

แต่​สิ่ง​ที่​ยัง​หลง​เหลือ​อยู่​ซึ่ง​สำคัญ​ที่​สุด​คือ​เจตคติ​แบบ​ชาว​โตเกียว นั่น​คือ​ความ​สามารถ​ที่​จะ​ดูด​ซับ​สิ่ง​ใหม่ ๆ โดย​เฉพาะ​แนว​คิด​ของ​ชาว​ต่าง​ชาติ และ​ความ​ทรหด​และ​ความ​มุ่ง​มั่น​ที่​จะ​ก้าว​หน้า​ต่อ​ไป​แม้​จะ​เผชิญ​แผ่นดิน​ไหว, สภาวะ​เศรษฐกิจ​ถดถอย, และ​ปัญหา​เรื่อง​ประชากร​ล้น. เชิญ​มา​เยือน​และ​ดู​เจตคติ​แบบ​ชาว​โตเกียว​ด้วย​ตา​ของ​คุณ​เอง เพราะ​นี่​คือ​หมู่​บ้าน​ชาว​ประมง​เล็ก ๆ ที่​เจริญ​รุ่งเรือง​ขึ้น​จาก​ที่​ไม่​มี​ใคร​รู้​จัก​จน​กลาย​มา​เป็น​เมือง​ที่​มี​ความ​สำคัญ​ใน​ระดับ​นานา​ชาติ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 โชกุน​คือ​ตำแหน่ง​ผู้​บัญชา​การ​กองทัพ​ญี่ปุ่น​ซึ่ง​สืบ​ทอด​กัน​ใน​ตระกูล​และ​มี​อำนาจ​อย่าง​เบ็ดเสร็จ​ภาย​ใต้​การ​นำ​ของ​จักรพรรดิ.

[แผนที่​หน้า 11]

(ดู​ราย​ละเอียด​ใน​วารสาร)

ญี่ปุ่น

โตเกียว (เอโดะ)

โยโกฮามา

เกียวโต

โอซากา

[ภาพ​หน้า 12, 13]

โตเกียว​ใน​ทุก​วัน​นี้

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Ken Usami/photodisc/age fotostock

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 11]

© The Bridgeman Art Library

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 13]

The Mainichi Newspapers