ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การข้ามทวีปที่ใช้เวลากว่า 120 ปี

การข้ามทวีปที่ใช้เวลากว่า 120 ปี

การ​ข้าม​ทวีป​ที่​ใช้​เวลา​กว่า 120 ปี

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ออสเตรเลีย

ใน​วัน​ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2004 รถไฟ​ที่​ยาว​เกือบ 1.1 กิโลเมตร​ค่อย ๆ เคลื่อน​ขบวน​เข้า​ไป​ที่​สถานี​รถไฟ​ดาร์วิน​ใน​นอร์เทิร์น​เทร์ริทอรี ดินแดน​ที่​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​ออสเตรเลีย​ซึ่ง​มี​ประชากร​อยู่​น้อย​มาก. ผู้​คน​นับ​พัน​รอ​อยู่​เพื่อ​ฉลอง​ความ​ยินดี​ที่​รถไฟ​ขบวน​นั้น​มา​ถึง. รถไฟ​ที่​เรียก​กัน​ว่า​กัน เพิ่ง​เสร็จ​สิ้น​การ​เดิน​ทาง​เที่ยว​ปฐม​ฤกษ์​เป็น​ระยะ​ทาง 2,979 กิโลเมตร โดย​แล่น​ข้าม​ทวีป​จาก​ทาง​ใต้​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ​เป็น​เวลา 2 วัน.—ดู​กรอบ “ตำนาน​เบื้อง​หลัง​ชื่อ​นี้” หน้า 25.

คน​ที่​รอ​ดู​รถไฟ​ซึ่ง​แบก​กล้อง​มา​ด้วย​มาก​กว่า 2,000 คน​ต่าง​ก็​มา​ยืน​ออ​กัน​อยู่​ข้าง​ทาง​รถไฟ ดัง​นั้น​รถไฟ​ขบวน​นี้​จึง​ต้อง​แล่น​ช้า​ลง​เมื่อ​มัน​ใกล้​จะ​ถึง​เมือง​ดาร์วิน. ผล​คือ รถไฟ​มา​ถึง​ช้า​ไป 30 นาที. แต่​ก็​ไม่​มี​ใคร​บ่น. ประชาชน​รอ​คอย​มา​นาน​กว่า​ร้อย​ปี​แล้ว. ทาง​รถไฟ​จาก​เมือง​แอดิเลด​ถึง​เมือง​ดาร์วิน ซึ่ง​สร้าง​ข้าม​ภูมิภาค​ที่​แห้ง​แล้ง​ที่​สุด, ร้อน​ที่​สุด, และ​อ้างว้าง​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​บน​แผ่นดิน​โลก​นั้น​ต้อง​ใช้​เวลา​ถึง 126 ปี​จึง​แล้ว​เสร็จ.

เหตุ​ที่​จำเป็น​ต้อง​มี​ทาง​รถไฟ

ปลาย​ทศวรรษ 1870 เมือง​แอดิเลด​ที่​เป็น​อาณานิคม​เล็ก ๆ ทาง​ตะวัน​ออก​สุด​ของ​อ่าว​ที่​กว้าง​ใหญ่​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​เกรต ออสเตรเลียน ไบต์ ใฝ่ฝัน​ที่​จะ​เห็น​การ​พัฒนา​ทาง​เศรษฐกิจ​ใน​ภูมิภาค​นั้น​และ​ต้องการ​สร้าง​เส้น​ทาง​การ​ค้า​ที่​ดี​ขึ้น​เพื่อ​จะ​ไป​ถึง​ภูมิภาค​ที่​อยู่​ทาง​เหนือ​สุด​ได้. สหรัฐ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​ข้าม​ทวีป​ของ​ตน​เสร็จ​ใน​ปี 1869. เมื่อ​นึก​ถึง​ทาง​รถไฟ​ที่​คล้าย​กัน​นั้น ราษฎร​ใน​เมือง​แอดิเลด​ก็​ปรารถนา​จะ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​เชื่อม​อาณานิคม​ของ​ตน​ไป​ถึง​เมือง​พอร์ต​ดาร์วิน ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​ที่​เรียก​เมือง​ดาร์วิน​ใน​สมัย​นั้น. ทาง​หลวง​ที่​สร้าง​ด้วย​เหล็ก​กล้า​นี้​ไม่​เพียง​ช่วย​ให้​เข้า​ไป​ถึง​ส่วน​ที่​อยู่​กลาง​ทวีป​ออสเตรเลีย​ได้​ง่าย​ขึ้น แต่​จะ​ช่วย​ย่น​ระยะ​เวลา​ใน​การ​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​ทวีป​เอเชีย​และ​ยุโรป​ได้​มาก​ที​เดียว.

แนว​คิด​นี้​ดู​เหมือน​ง่าย แต่​ทาง​รถไฟ​สาย​นี้​จะ​ต้อง​ข้าม​เส้น​ทาง​ที่​แสน​ยาก​ลำบาก​ทั้ง​ช่วง​ที่​เป็น​ภูเขา​และ​เทือก​เขา​ซึ่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​หิน, พุ่ม​ไม้​ที่​หนา​ทึบ, และ​ทะเล​ทราย​ที่​มี​หิน​ขรุขระ​ปะปน​อยู่ ซึ่ง​บาง​ช่วง​ของ​ทะเล​ทราย​ก็​มัก​จะ​เปลี่ยน​เป็น​โคลน​เลน​ที่​เฉอะ​แฉะ​หรือ​กลาย​เป็น​กระแส​น้ำ​ที่​เชี่ยวกราก​หลัง​ฝน​ตก. นัก​สำรวจ​ที่​ชื่อ​จอห์น สจ๊วต เดิน​ทาง​ข้าม​ภูมิ​ประเทศ​ที่​โหด​ร้าย​นี้​สำเร็จ​ได้​ใน​ที่​สุด ใน​ความ​พยายาม​รอบ​ที่​สาม​ของ​เขา​เมื่อ​ปี 1862. แต่​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​เที่ยว​นั้น ทั้ง​ตัว​เขา​และ​คณะ​ก็​แทบ​จะ​เอา​ชีวิต​ไม่​รอด​เนื่อง​จาก​ขาด​อาหาร​และ​น้ำ.

ความ​ร้อน​ระอุ, พายุ​ทราย, และ​น้ำ​ท่วม​ฉับพลัน

ทั้ง ๆ ที่​มี​อุปสรรค​มาก​มาย ชาว​เมือง​แอดิเลด​ก็​ไม่​ย่อท้อ. ใน​ปี 1878 พวก​เขา​เริ่ม​สร้าง​ราง​รถไฟ​จาก​เมือง​พอร์ต​ออกัสตา. โดย​ใช้​เครื่อง​มือ​ธรรมดา ๆ, ม้า, และ​อูฐ คน​งาน​สร้าง​ทาง​รถไฟ 900 คน​สร้าง​ทาง​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ​ผ่าน​เทือก​เขา​ฟลินเดอร์ส ตาม​เส้น​ทาง​ของ​ชน​เผ่า​พื้นเมือง​อะบอริจินี. เส้น​ทาง​นี้​ได้​ใช้​ประโยชน์​จาก​บ่อ​น้ำ​ไม่​กี่​บ่อ​ที่​มี​อยู่​ใน​ภูมิภาค​นี้ เนื่อง​จาก​รถ​จักร​ไอ​น้ำ​ต้อง​ใช้​น้ำ​ใน​การ​ขับ​เคลื่อน.

ทาง​รถไฟ 100 กิโลเมตร​แรก​ใช้​เวลา​สร้าง​สอง​ปี​ครึ่ง. อุณหภูมิ​ใน​ช่วง​ฤดู​ร้อน​บาง​ครั้ง​สูง​ถึง 50 องศา​เซลเซียส. สภาพ​อากาศ​ที่​แห้ง​แล้ง​เช่น​นี้​ทำ​ให้​เล็บ​มือ​แตก, น้ำ​หมึก​แห้ง​คา​ปลาย​ปากกา​ก่อน​ที่​จะ​เขียน​ลง​บน​กระดาษ, และ​ราง​รถไฟ​ก็​คด​งอ รถไฟ​จึง​ตก​ราง​บ่อย​มาก. หลัง​จาก​พายุ​ทราย​พัด​มา พวก​คน​งาน​ต้อง​ตัก​ทราย​ออก​จาก​ราง​รถไฟ​เป็น​ระยะ​ทาง​หลาย​กิโลเมตร ซึ่ง​ทราย​บาง​กอง​สูง​ถึง​สอง​เมตร. บ่อย​ครั้ง พวก​คน​งาน​ยืน​ดู​ด้วย​ความ​สิ้น​หวัง​เมื่อ​พายุ​อีก​หลาย​ลูก​หอบ​เอา​ทราย​มา​กอง​ทับ​ถม​กัน​บน​ราง​รถไฟ​ของ​พวก​เขา.

แล้ว​ฝน​ก็​มา. ภาย​ใน​ไม่​กี่​นาที ทาง​น้ำ​ที่​ถูก​แดด​แผด​เผา​จน​ขาว​โพลน​ก็​กลับ​กลาย​เป็น​กระแส​น้ำ​เชี่ยวกราก​ซึ่ง​ทำ​ให้​ราง​รถไฟ​คด​งอ แถม​ยัง​ทำ​ให้​งาน​ที่​พวก​เขา​ทำ​มา​เป็น​เดือน ๆ สูญ​สลาย​ไป​หมด​สิ้น และ​ทำ​ให้​รถไฟ​รวม​ทั้ง​ผู้​โดยสาร​ติด​ค้าง​อยู่​ระหว่าง​ทาง. พนักงาน​ขับ​รถไฟ​คน​หนึ่ง​ไป​ล่า​แพะ​ป่า​เพื่อ​จะ​มี​อาหาร​ให้​ผู้​โดยสาร​กิน. หลาย​ปี​ต่อ​มา เครื่องบิน​ต้อง​นำ​อาหาร​ไป​ให้​รถไฟ​ขบวน​ที่​ติด​ค้าง​อยู่​โดย​ทิ้ง​ลง​มา​พร้อม​กับ​ร่ม​ชูชีพ.

หลัง​จาก​ฝน​ตก พืช​ทะเล​ทราย​ก็​กลับ​งอกงาม​ขึ้น​อีก และ​นั่น​ก็​เหมือน​กับ​การ​กวัก​มือ​เรียก​ฝูง​ตั๊กแตน​ให้​แห่​กัน​มา. ระหว่าง​ที่​เกิด​ภัย​ตั๊กแตน​ครั้ง​หนึ่ง ฝูง​แมลง​ที่​ถูก​รถไฟ​ทับ​จน​บี้​แบน​ทำ​ให้​ราง​รถไฟ​ลื่น​มาก​จน​ถึง​กับ​ต้อง​เพิ่ม​หัว​รถ​จักร​อีก​คัน​หนึ่ง​เพื่อ​ดัน​ขบวน​รถไฟ​จาก​ท้าย​ขบวน. ภัย​ร้าย​จาก​หนู​ก็​เป็น​อีก​ปัญหา​หนึ่ง. พวก​หนู​เขมือบ​ทุก​สิ่ง​ที่​มัน​คิด​ว่า​กิน​ได้ ไม่​ว่า​จะ​เป็น​เสบียง​ใน​แคมป์​สำหรับ​คน​งาน, ผ้า​ใบ, เครื่อง​เทียม​สัตว์, และ​แม้​กระทั่ง​รอง​เท้า​บูต. สุสาน​ที่​อ้างว้าง​ซึ่ง​อยู่​ข้าง​ทาง​รถไฟ​เป็น​เครื่อง​เตือน​ใจ​ให้​นึก​ถึง​การ​ระบาด​ของ​โรค​ไทฟอยด์ และ​เป็น​หลักฐาน​ที่​แสดง​ถึง​สภาพ​ชีวิต​ใน​ค่าย​ที่​ไม่​ถูก​สุขอนามัย​ใน​ช่วง​ต้น ๆ ของ​โครงการ​ก่อ​สร้าง​นี้.

สำหรับ​ความ​บันเทิง พนักงาน​บน​รถไฟ​ชอบ​ที่​จะ​เล่น​ตลก​แบบ​แผลง ๆ. ครั้ง​หนึ่ง เมื่อ​พื้น​ที่​บริเวณ​อะลิซ​สปริงส์​มี​ฝูง​กระต่าย​ออก​อาละวาด พวก​พนักงาน​รถไฟ​ได้​ลอบ​นำ​กระต่าย​ขึ้น​ไป​บน​กัน. หนังสือ​เดอะ กัน—จาก​แอดิเลด​ถึง​อะลิซ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า เช้า​วัน​รุ่ง​ขึ้น เมื่อ​ผู้​โดยสาร​เปิด​ประตู​ห้อง​ผู้​โดยสาร​ออก​ไป​เพื่อ​ไป​รับประทาน​อาหาร​เช้า พวก​เขา​ก็​เห็น “กระต่าย​เป็น ๆ วิ่ง​พล่าน​ไป​ทั่ว” ทาง​เดิน. ใน​การ​เดิน​ทาง​อีก​ครั้ง​หนึ่ง บาง​คน​ได้​เอา​เจ้า​จิงโจ้​น้อย​ขึ้น​ไป​ปล่อย​ใน​ตู้​นอน.

บาง​ครั้ง​ชน​เผ่า​พื้นเมือง​อะบอริจินี​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใน​เขต​ที่​ห่าง​ไกล​ก็​เดิน​เข้า​มา​ใกล้​ราง​รถไฟ เมื่อ​รถไฟ​ขบวน​นี้​แล่น​ผ่าน. จาก​ระยะ​ที่​ปลอด​ภัย พวก​เขา​เห็น​ผู้​คน​อยู่​ใน​นั้น. ไม่​แปลก​ที่​ชน​เผ่า​พื้นเมือง​เหล่า​นี้​รู้สึก​ระแวง​สงสัย​หรือ​ไม่​ก็​กลัว​ใน​ตอน​แรก. ที่​จริง บาง​คน​คิด​ว่า “ปิศาจ​งู​ยักษ์” กลืน​ผู้​โดยสาร​เหล่า​นั้น​เข้า​ไป​ทั้ง​เป็น!

พัก​ยาว

หลัง​จาก​ตรากตรำ​ทำ​งาน​มา 13 ปี ราง​รถไฟ​ที่​เหลือ​ราว ๆ 470 กิโลเมตร​ก่อน​จะ​ถึง​เมือง​อะลิซ​สปริงส์​ก็​เป็น​อัน​ต้อง​หยุด​การ​ก่อ​สร้าง​เพราะ​เงิน​ทุน​หมด. วารสาร​ออสเตรเลียน จีโอกราฟิก กล่าว​ว่า “โครงการ​ที่​ใหญ่​โต​ขนาด​นั้น . . . ทำ​ให้​อาณานิคม​ดัง​กล่าว​แทบ​หมด​เนื้อ​หมด​ตัว.” ใน​ปี 1911 รัฐบาล​กลาง​ได้​เข้า​มา​ควบคุม​ดู​แล​โครงการ​นั้น และ​ต่อ​ขยาย​ทาง​รถไฟ​ไป​จน​ถึง​เมือง​อะลิซ​สปริงส์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แผน​งาน​ที่​จะ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​ให้​เสร็จ​ถึง​เมือง​ดาร์วิน ซึ่ง​อยู่​ไกล​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ​อีก 1,420 กิโลเมตร​นั้น​ก็​ถูก​แขวน​ไว้​ก่อน.

เมื่อ​กัน มา​ถึง​เมือง​อะลิซ​สปริงส์​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1929 ประชาชน​ทั้ง​เมือง​ซึ่ง​มี​ราว ๆ 200 คน​ใน​เวลา​นั้น​ก็​มา​ฉลอง​ความ​ยินดี​กัน. ชาว​เมือง​นั้น​รู้สึก​ทึ่ง​เมื่อ​เห็น​ตู้​เสบียง แต่​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​รู้สึก​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​มาก​ที่​สุด​ก็​คือ​ห้อง​อาบ​น้ำ​ที่​โอ่อ่า. ใน​สมัย​นั้น ที่​จะ​มี​อ่าง​อาบ​น้ำ​บน​รถไฟ​ถือ​ว่า​เป็น​ทั้ง​เรื่อง​แปลก​ใหม่​และ​เป็น​สิ่ง​ที่​หรูหรา​มาก. อะลิซ​สปริงส์​ยัง​คง​เป็น​สถานี​ปลาย​ทาง​ที่​อยู่​ทาง​เหนือ​จน​ถึง​ปี 1997. ใน​ปี​นั้น​เอง ดินแดน​นอร์เทิร์น​เทร์ริทอรี​และ​รัฐบาล​กลาง​เห็น​ชอบ​ที่​จะ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​ส่วน​ขยาย​จาก​เมือง​อะลิซ​สปริงส์​ถึง​เมือง​ดาร์วิน​ที่​รอ​คอย​กัน​มา​นาน​ให้​แล้ว​เสร็จ. งาน​นี้​เริ่ม​ขึ้น​ใน​ปี 2001.

มี​การ​ใช้​เครื่องจักร​อัตโนมัติ​ขนาด​มหึมา​ติด​ตั้ง​ราง​รถไฟ​มูลค่า 1 พัน​ล้าน​ดอลลาร์​สหรัฐ​ใน​อัตรา 1.6 กิโลเมตร​ต่อ​วัน โดย​สร้าง​ทาง​รถไฟ​ข้าม​สะพาน​ใหม่ ๆ ที่​ทน​ต่อ​ภาวะ​น้ำ​ท่วม​ได้ ซึ่ง​มี​อยู่​อย่าง​น้อย 90 สะพาน​ตลอด​เส้น​ทาง​นั้น. มี​การ​โฆษณา​ทาง​รถไฟ​สาย​นี้​ว่า​เป็น “โครงการ​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​รัฐ​ใน​ทวีป​ออสเตรเลีย” ทาง​รถไฟ​ที่​ยาว 1,420 กิโลเมตร​นี้​สร้าง​เสร็จ​ใน​เดือน​ตุลาคม 2003 ก่อน​เวลา​ที่​กำหนด​ไว้​และ​อยู่​ใน​งบประมาณ​ที่​ตั้ง​ไว้.

เสน่ห์​ของ​เขต​ที่​ห่าง​ไกล

ปัจจุบัน เมือง​แอดิเลด​ที่​ทัน​สมัย​ยัง​คง​เป็น​สถานี​ต้น​ทาง​ที่​กัน จะ​เคลื่อน​ขบวน​ออก​ใน​ตอน​บ่าย​เพื่อ​เดิน​ทาง​ข้าม​ทวีป. โดย​ทิ้ง​ชาน​เมือง​ไว้​เบื้อง​หลัง หัว​รถ​จักร​สอง​คัน​พร้อม​กับ​ตู้​โดยสาร​ราว 40 ตู้​ก็​แล่น​ไป​ตาม​ทาง​ของ​มัน​ผ่าน​นา​ข้าว​สาลี​ที่​เป็น​เนิน​สูง ๆ ต่ำ ๆ เพื่อ​ไป​ยัง​เมือง​พอร์ต​ออกัสตา ซึ่ง​อยู่​เกือบ 300 กิโลเมตร​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ. ที่​นี่ ทัศนียภาพ​เปลี่ยน​ไป​จน​น่า​ตกตะลึง คือ​มี​แต่​ผืน​ทราย​ที่​แห้ง​แล้ง, ต้น​ซอล์ตบุช, และ​ไม้​พุ่ม​ที่​ขึ้น​ติด​ต่อ​กัน​ยาว​เหยียด​จน​ถึง​สุด​ขอบ​ฟ้า.

เลย​จาก​เมือง​พอร์ต​ออกัสตา กัน ก็​แล่น​ไป​บน​ทาง​รถไฟ​สาย​ใหม่​ที่​ทน​ได้​ทุก​สภาพ​อากาศ ซึ่ง​บาง​ช่วง​อยู่​ห่าง​ออก​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​ราว ๆ 250 กิโลเมตร​จาก​ทาง​รถไฟ​สาย​เก่า​ที่​มัก​จะ​ถูก​น้ำ​ท่วม. ราตรี​กาล​ครอบ​คลุม​เหนือ​ทะเล​ทราย และ​ผู้​โดยสาร​ต่าง​ก็​หลับใหล​ขณะ​ที่​รถไฟ​แล่น​ไป​อย่าง​ราบรื่น​ผ่าน​ทะเลสาบ​น้ำ​เค็ม​ซึ่ง​แห้ง​ขอด​เกือบ​ตลอด​ทั้ง​ปี แต่​ก็​ส่อง​ประกาย​ระยิบระยับ​ใต้​แสง​จันทร์​หลัง​ฝน​ตก. ดวง​ดาว​ดารดาษ​เต็ม​ท้องฟ้า​ที่​ไร้​เมฆ​หมอก. แต่​สิ่ง​ที่​ขาด​หาย​ไป​ก็​คือ​เสียง​กระฉึก​กระฉัก​ของ​รถไฟ​ที่​เคย​ได้​ยิน​กัน​ใน​อดีต เนื่อง​จาก​มี​การ​เชื่อม​ราง​รถไฟ​ต่อ​กัน​เป็น​ราง​ยาว​ราง​เดียว​โดย​ไม่​มี​รอย​ต่อ ทั้ง​นี้​ก็​เพื่อ​ลด​งาน​ซ่อม​บำรุง.

พอ​ฟ้า​สาง ทะเล​ทราย​ใกล้​เมือง​อะลิซ​สปริงส์​ก็​ทอ​ประกาย​ด้วย​แสง​สี​แดง​และ​สี​เหลือง​ทอง​ของ​ดวง​อาทิตย์​ยาม​รุ่ง​อรุณ. ผู้​โดยสาร​คน​หนึ่ง​พูด​ว่า “ภาพ​นี้​ช่าง​น่า​ครั่นคร้าม​เหลือ​เกิน. แม้​แต่​ขณะ​ที่​อยู่​ใน​รถไฟ ผม​ก็​ยัง​สัมผัส​ได้​ถึง​พลัง​ของ​ดวง​อาทิตย์. มัน​สาด​แสง​อยู่​เหนือ​ทะเล​ทราย​ที่​เป็น​ลูก​คลื่น​ต่อ​กัน​เป็น​ผืน​ใหญ่​สุด​ลูก​หู​ลูก​ตา, มี​สี​สัน​สวย​งาม, และ​น่า​สะพรึงกลัว​ใน​ความ​เวิ้งว้าง​ว่าง​เปล่า​ซึ่ง​แผ่​คลุม​ไป​ทั่ว. นี่​เป็น​ที่​ที่​ทำ​ให้​ผม​รู้สึก​ถึง​ความ​กระจ้อยร่อย​ของ​ตัว​เอง.”

จาก​ใจ​กลาง​ประเทศ​ถึง​เขต​ร้อน

หลัง​จาก​จอด​พัก​ที่​เมือง​อะลิซ​สปริงส์​ใน​ช่วง​บ่าย กัน ก็​แล่น​ต่อ​ไป​ถึง​เมือง​แคเทอรีน และ​แล้ว​ก็​ไป​ถึง​เมือง​ดาร์วิน​ใน​เขต​ร้อน ซึ่ง​เป็น​สถานี​ปลาย​ทาง​ที่​อยู่​ทาง​ตอน​เหนือ. แลรีย์ เยอเรส ผู้​จัด​การ​รถไฟ​ขบวน​ที่​เดิน​ทาง​ข้าม​ทวีป​เที่ยว​ปฐม​ฤกษ์​ของ​กัน กล่าว​ว่า ตู้​โดยสาร​ที่​มี​การ​ติด​ตั้ง​เครื่อง​ปรับ​อากาศ​ไว้​ภาย​ใน​อย่าง​มิดชิด​ทำ​ให้ “ผู้​โดยสาร​บน​กัน เดิน​ทาง​ได้​อย่าง​แสน​สำราญ.” เมื่อ​มอง​ออก​ไป​นอก​หน้าต่าง พวก​เขา​ก็​ได้​แค่​นึก​ภาพ​ถึง​อันตราย​และ​ความ​ยาก​ลำบาก​ต่าง ๆ ที่​ผู้​บุกเบิก​รุ่น​แรก ๆ ได้​ประสบ.

นอก​จาก​จะ​ช่วย​พัฒนา​ด้าน​การ​ค้า​และ​เป็น​การ​เดิน​ทาง​โดย​รถไฟ​ที่​ดี​เยี่ยม​ที่​สุด​สาย​หนึ่ง​ของ​โลก​แล้ว กัน ยัง​นำ​ความ​เจริญ​ของ​โลก​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​เข้า​ไป​ถึง​ใจ​กลาง​ประเทศ​ด้วย. หญิง​สาว​ชาว​อะบอริจินี​วัย 19 ปี​ซึ่ง​เห็น​การ​เดิน​ทาง​เที่ยว​ปฐม​ฤกษ์​ของ​รถไฟ​ขบวน​นี้​ใน​เดือน​กุมภาพันธ์​ปี 2004 บอก​ว่า “ฉัน​ไม่​เคย​เห็น​รถไฟ​มา​ก่อน​ใน​ชีวิต. มัน​ช่าง​สวย​งาม​เหลือ​เกิน.”

[กรอบ/ภาพ​หน้า 25]

ตำนาน​เบื้อง​หลัง​ชื่อ​นี้

กัน​เป็น​คำ​ที่​ย่อ​มา​จาก​ชื่อ​เล่น​อัฟกัน เอกซเพรส. รถไฟ​ขบวน​นี้​ถูก​เรียก​ตาม​ชื่อ​ของ​คน​ขี่​อูฐ​ชาว​อัฟกัน​ได้​อย่าง​ไร​นั้น​ไม่​เป็น​ที่​ทราบ​แน่ชัด. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ชื่อ​เล่น​นี้​ชวน​ให้​นึก​ถึง​ผู้​อพยพ​ที่​ทรหด​อด​ทน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​ช่วย​แผ้ว​ถาง​ทาง​ให้​เข้า​ไป​ถึง​ใจ​กลาง​ประเทศ​ออสเตรเลีย​ได้. ใน​กลุ่ม​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ชาว​อัฟกัน​นั้น ที่​จริง​หลาย​คน​มา​จาก​ที่​ต่าง ๆ กัน​อย่าง​เช่น บาลูชิสถาน, อียิปต์, ทาง​เหนือ​ของ​อินเดีย, ปากีสถาน, เปอร์เซีย, และ​ตุรกี.

อูฐ​ของ​พวก​เขา​กลาย​เป็น​พาหนะ​ใน​แถบ​ใจ​กลาง​ประเทศ พวก​มัน​คุกเข่า​ลง​หรือ​ยืน​ขึ้น​อย่าง​ว่า​ง่าย​เมื่อ​ได้​ยิน​คำ​สั่ง​ว่า “ฮูชตา!” ขบวน​อูฐ​ซึ่ง​อาจ​มี​ถึง 70 ตัว​ได้​ขน​ส่ง​ผู้​คน​และ​สินค้า​ด้วย​ความ​เร็ว​ที่​สม่ำเสมอ​ประมาณ 6 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง. เมื่อ​การ​สร้าง​ถนน​และ​ทาง​รถไฟ​ทำ​ให้​ขบวน​อูฐ​ไม่​จำเป็น​อีก​ต่อ​ไป ชาว​อัฟกัน​จึง​ปล่อย​พวก​มัน​เป็น​อิสระ. ปัจจุบัน​นี้ มี​ลูก​หลาน​ของ​อูฐ​เหล่า​นั้น​จำนวน​หลาย​แสน​ตัว​ท่อง​ไป​ทั่ว​พื้น​ที่​ตอน​กลาง​ของ​ออสเตรเลีย.—ดู​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) 8 เมษายน 2001 หน้า 16-17.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 23]

Northern Territory Archives Service, Joe DAVIS, NTRS 573

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 25]

Train photos: Great Southern Railway